จันทร์ 30 มี.ค. 2009 10:06 pm
ราชาอุตตโม พระปิดตายันต์ยุ่งรุ่นแรกของ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
โดย...รณธรรม ธาราพันธุ์ในช่วงปี พ.ศ. 2517-2519 เป็นยุคที่มีการสร้างพระปิดตามหาอุดยันต์ยุ่งกันมากที่สุด นัยว่าเพื่อทดแทนของเก่าที่มีจำนวนไม่พอกับความต้องการของประชาชนพระปิดตายันต์ยุ่งที่ลือเลื่องกันมากในสมัยนั้นก็มีของ หลวงพ่อเมือง วัดท่าแหน จ.ลำปาง, พระครูภาวนาภิรัต (ทิม อิสริโก) วัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง, หลวงปู่เกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ อ.เมือง จ.ลำปาง, พ่อหลวงสงฆ์ จันทสโร วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย อ.เมือง จ.ชุมพร, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ฯลฯ
รวมถึงของหลวงปู่สิมนี้ด้วย

- หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
- .สิม 01-1.jpg (49.88 KiB) เปิดดู 6700 ครั้ง
พระปิดตาราชาอุตตโม ถือกำเนิดขึ้นด้วยดำริของพระอาจารย์เฉลิมชัย ฉันทสีโล รองเจ้าอาวาสวัดปากคลองบางหลวงแพ่ง ในขณะนั้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งเป็นทุนช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งกะงบประมาณไว้คร่าว ๆ ราว 150,000 บาท
2. เพื่อนำปัจจัยไปสร้างศาลาที่พักสำหรับญาติโยมที่เดินทางขึ้นมาพักภาวนา และมากราบนมัสการหลวงปู่สิมที่วัดถ้ำผาปล่องอันเป็นสิ่งที่หลวงปู่สิมได้เคยปรารภไว้
เมื่อนำเรื่องเข้ากราบเรียนปรึกษากับหลวงปู่สิม ท่านก็เมตตาอนุญาตให้ด้วยดี โดยมีการทำหนังสือรับรองลงนามกันอย่างเป็นหลักเป็นฐาน เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2518
อันว่าพระปิดตาในแบบปางปาฏิหาริย์ คือ มีมือถึง 3 คู่ เอื้อมไปปิดทวารต่าง ๆ อันได้แก่ ตา, จมูก, ปาก (1 คู่), หู (1 คู่) และทวารหนัก-ทวารเบา (1 คู่)
จึงเป็นที่เชื่อกันว่าย่อมปรากฏฤทธานุภาพทางด้าน “มหาอุด” คือ อุดหมด ปิดปากกระบอกปืนจนปืนแตกว่างั้นเถอะ เชื่อจนเละเทะไปถึงว่าถ้าเอาไว้ในบ้านสตรีมีครรภ์จะคลอดไม่ออกเลยทีเดียว เหตุเพราะพระไปอุดไว้
เอาเข้าไปเพื่อนผมคนหนึ่งเล่าว่า ตัวเองท้องผูกเป็นประจำ พอมีคนทักเรื่องนี้เลยเอาพระปิดตาออกจากบ้านไปให้คนอื่นหมด ผลคือท้องไส้ค่อยดีขึ้นมาหน่อย
บ้าเกินจะกู่กลับพระท่านไม่เสียจริตพอจะมานั่งทำเรื่องพิเรนทขนาดนั้นดอกครับ ใครเล่าให้ฟังก็จงอย่าเชื่อเลยเดี๋ยวจะเสียพระดี ๆ หมด แต่ถ้าจะทิ้งเพราะเชื่อจริง ๆ บอกผมก่อนนะ ผมจะไปรับภาระต่อเอง
ทีนี้เมื่อผู้สร้างปักใจมั่นว่าพระรุ่นปิดตาปางปาฏิหาริย์นี้เป็นพระที่มีอานุภาพทางมหาอุด และอยู่ยงคงกระพันเป็นเลิศ จึงได้ไปกระซิบกระซาบบอกหลวงปู่สิมเอาไว้ก่อนเลยว่า
ขอให้การประจุพุทธคุณในคราวนี้ หลวงปู่จงปลุกเสกแต่ทางด้านมหาอุด และเน้นเรื่องอิทธิฤทธิ์เป็นสำคัญ เพื่อให้คงเอกลักษณ์ของพระพิมพ์มหาอุดยันต์ยุ่งที่มีมาแต่โบราณนั้นไว้ทุกอย่าง

- พระปิดตาราชาอุตตโม เนื้อนวโลหะ (ด้านหน้า)
- 01-01.jpg (24.84 KiB) เปิดดู 6701 ครั้ง

- พระปิดตาราชาอุตตโม เนื้อนวโลหะ (ด้านหลัง)
- 02-01.jpg (25.78 KiB) เปิดดู 6701 ครั้ง
นับว่าผู้สร้างคณะนี้มีความละเอียดอ่อนยิ่งนัก ไม่เพียงลำพังแบบของพระปิดตาจะสวยงามแล้ว ยังเน้นไปถึงพุทธคุณอันเป็นของจับต้องไม่ได้อีกด้วย ถือว่ารอบคอบดี
พระปิดตาราชาอุตตโม ของหลวงปู่สิมนั้นมีความงดงามในเอกลักษณ์มาก อักขระเลขที่ลงไว้รอบองค์พระก็ล้วนแต่ส่งเสริมให้พระมีพุทธคุณยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
ขนาดขององค์พระ หน้าตักกว้างราว 1.5 ซม. สูงราว 1.9 ซม. เป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับพระปิดตายันต์ยุ่งของหลายพระอาจารย์ที่กล่าวมา จึงสามารถแขวนรวมเป็นชุดได้อย่างสวยงาม
จำนวนสร้างมีดังนี้
1. เนื้อทองคำ สร้าง 9 องค์
2. เนื้อเงิน สร้าง 199 องค์
3. เนื้อนวโลหะ สร้าง 2,518 องค์
มวลสารของเนื้อนวโลหะนั้นเน้นด้วยแผ่นยันต์ และทองชนวนพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ที่สำคัญ ๆ ทั้งของพระเกจิอาจารย์แต่เก่าก่อน และพระสุปฏิปันโนที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นมากมายด้วยกันจำแนกได้ดังนี้
1.
แผ่นทองลงพระยันต์บังคับ 108 แผ่น ตามตำรับการสร้างพระกริ่งของวัดสุทัศน์ฯ ซึ่งพระอาจารย์ทองเจือ ธัมมธีโร วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นผู้ลง และได้ถวายหลวงปู่แหวน สุจิณโณ แผ่เมตตาอธิษฐานจิตพร้อม ๆ กับ
“พระกริ่งอรหัง” และยังทิ้งไว้กับหลวงปู่อีกนานกว่า 6 เดือน จึงไปรับกลับ
อันที่จริงแผ่นยันต์ชุดนี้ ได้ลงไว้เพื่อจัดสร้าง
“พระกริ่งกังสดาล” ต่อจากพระกริ่งอรหัง แต่เกิดความจำเป็นบางอย่าง ทำให้โครงการนี้ต้องระงับไป คณะผู้สร้างจึงได้นำแผ่นยันต์ทั้งหมดมาหล่อหลอมเป็นพระปิดตาชุดนี้ นับเป็นความโชคดีของผู้มีศรัทธาในหลวงปู่สิมยิ่งนัก
2.
ชนวนพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ อรหัง หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
3.
ชนวนพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ ชินบัญชร หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
4.
ชนวนพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ โพธิญาณ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
5.
ชนวนพระชัยวัฒน์ ท่านเจ้ามา วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) กรุงเทพมหานคร
6.
ชนวนพระกริ่ง พระศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์ ยติธโร) วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร
ถือได้ว่าเป็นพระปิดตาเนื้อโลหะที่มีมวลสารมากมายเมื่อเทียบกับหมู่พระปิดตายันต์ยุ่งด้วยกัน นายช่างผู้ดำเนินการหล่อนั้นได้มอบหมายให้ช่างสมร รัชชนะธรรม ผู้เคยมีผลงานในพระกริ่งอรหัง พระกริ่งหลวงปู่เกษม และพระกริ่งหลวงปู่ทิม
วิธีการหล่อพระปิดตาราชาอุตตโมนี้ คณะผู้สร้างให้ดำเนินการหล่อแบบเทหล่ออย่างโบราณ มิได้ใช้วิธีฉีดตามแบบสมัยใหม่แต่ประการใด ดังนั้นความงดงามแบบเก่า ๆ จึงมีอยู่มากในพระปิดตารุ่นนี้ โดยเฉพาะเนื้อนวโลหะ มีความสวยทั้งพิมพ์ทรง และเนื้อหาเป็นอย่างมาก
ขณะที่ดำเนินการสร้างพระปิดตาอยู่นั้น คณะผู้สร้างก็เกิดความคิดที่จะหาของสมณาคุณแก่ผู้ที่จองพระปิดตาราชาอุตตโมไปด้วย จึงดำริสร้างพระปรกใบมะขามขึ้นจำนวนหนึ่งมอบให้นายช่างสมร เป็นผู้ออกแบบ โดยใช้ต้นแบบเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก สมัยลพบุรี อันเลื่องชื่อลือชาในความสวยงาม
ดังนั้น เมื่อพระนาคปรก สำเร็จเรียบร้อยจึงสวยงามเป็นอย่างยิ่ง จำนวนการสร้าง มีดังนี้
1. เนื้อทองคำ สร้าง 9 องค์
2. เนื้อเงินสร้าง 200 องค์
3. เนื้อนวโลหะ สร้าง 300 องค์
4. เนื้อทองแดง สร้าง 10,000 องค์
กำหนดไว้ว่าเมื่อเหลือจากการแถมไปพร้อมกับพระปิดตาแล้ว ก็จะนำมาจัดเป็นชุดออกให้บูชา จำนวนทั้งหมด 100 ชุด ใน 1 ชุดประกอบด้วย พระนาคปรกชนิดกะไหล่ทอง 1 องค์, เงินบริสุทธิ์ 1 องค์, นวโลหะ 2 องค์ และทองแดง 2 องค์ รวมเป็น 6 องค์
แต่ถ้าจะเช่าบูชาแบบเดี่ยว ก็ให้เฉพาะเนื้อทองแดงอย่างเดียวในราคา องค์ละ 10 บาท
เมื่อถึงวันนี้ผมก็ไม่ทราบว่าราคาเท่าไหร่เข้าไปแล้ว เพราะไม่ได้เดินสนามพระเลย เมื่อก่อนเดินบ่อย ๆ เดี๋ยวนี้เดินไม่ได้เพราะเดินแล้ว
“คัน”….
บทความนี้ได้ตีพิมพ์เมื่อ วันที่ 1 เมษายน 2540