เสาร์ 20 ก.ย. 2008 5:04 pm
หลวงพ่อดำ พระพุทธปฏิมาที่ไม่ปรารถนาสีทอง
แห่ง วัดตะคร้ำเอน ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรีโดย รณธรรม ธาราพันธุ์พระพุทธรูปทั้งหลายทั่วโลกนี้ ล้วนถูกพุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นด้วยปรารถนาจะกราบไหว้พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยใจเคารพเอื้อเฟื้อ แม้ไม่มีพระองค์จริงมาอยู่ต่อหน้าขอเพียงสักการะรูปเคารพแทนตัวก็ยังดี ทำนองคนคิดถึงแฟนไม่ได้เห็นหน้าเพียงเห็นรูปถ่ายก็สุขใจ
พระพุทธรูปเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เพราะเมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปจำพรรษาเพื่อโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตลอดกาล 3 เดือน อันเป็นพรรษาที่ 7 ภายหลังจากพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เลื่อมใสและเคารพผูกพันในพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก เกิดความคิดถึงพระพุทธองค์สุดบรรยาย จึงให้ช่างหลวงทำการแกะไม้จันทน์ท่อนใหญ่ขึ้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าในอิริยาบถประทับนั่งอย่างที่พระองค์เคยเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไว้กราบไหว้ให้หายคิดถึง
ครั้นเมื่อครบไตรมาสออกพรรษาแล้ว พระบรมศาสดาก็เสด็จกลับลงมาและเสด็จไปเยี่ยมพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดำเนินไปไกล้พระพุทธรูปไม้จันทน์ พระไม้หอมนั้นก็กระทำอภินิหารด้วยการทำกิริยาประหนึ่งว่าจะลุกขึ้นมาแสดงความเคารพ พระบรมศาสดาทอดพระเนตรดังนั้นก็ทรงยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นห้ามเสีย พระไม้จันทน์นั้นก็ประทับนั่งลงดังเดิม
จึงเกิดพระปางห้ามพระแก่นจันทน์
พระพุทธรูปแต่ละองค์ ๆ หากสร้างด้วยใจศรัทธามุ่งมั่นต่อพระศาสนาโดยแท้แล้ว แม้ไม่ต้องอาศัยฤกษ์ยามคำนวณใด ๆ หรืออาศัยแผ่นยันต์ 108 และชนวนมวลสารเป็นตัวเร่งขลัง ก็มีอานุภาพ มีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้เช่นกัน
ทั้งนี้ด้วยอำนาจเทวดา
ครูบาอาจารย์ทุกรูปที่ปฏิบัติถึงจริง กล่าวเป็นเรื่องเดียวกันหมดว่าพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นเพราะเทวานุภาพของเทพอารักษ์ผู้สถิตอยู่ประจำองค์พระ เป็นเทพผู้มีมเหศักข์มากก็ขลังมาก มเหศักข์น้อยก็ขลังน้อย มีจำนวนองค์เทพมากก็ขลังมาก จำนวนเทพน้อยก็ขลังน้อย
เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่พระเถระผู้มี ‘ตาใน’ จะเห็นและสัมผัสได้ อย่างองค์หลวงพ่อพุทธโสธร ที่เมืองฉะเชิงเทรา มีคนกราบไหว้บนบานล้วนสำเร็จมากกว่าไม่สำเร็จ แผ่บารมีได้ไพศาลดังแสงพระอาทิตย์น่าอัศจรรย์ นั่นก็เพราะหลวงพ่อโสธรมีเทพบดีผู้ทรงมเหศรศักดาเดชสถิตคุ้มครองอยู่ถึง 16 พระองค์ ไม่นับเทพบริวารอีกไม่รู้เท่าไร ผู้นั่งเห็นและติดต่อได้คือ
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธัมโม)วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา เคยกล่าวกับผมว่า
“หลวงพ่อโสธรนั้นเป็นแค่รูปท่านก็ขลังพอแรงแล้ว ไม่ต้องปลุกเสกอะไร ๆ อีก” นับเป็นประกาศนียบัตรที่หลวงพ่อทั้งสองมีให้หลวงพ่อโสธรอย่างน่าทึ่งใจ และท่านก็ย้ำว่าที่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้นั้นเป็นเพราะมีเทวดาเข้าไปรักษา หลวงพ่อพุธยังบอกอีกว่า
“พระพุทธรูปตามร้านสังฆภัณฑ์ก็มีเทพรักษา อย่าว่าแต่อย่างนี้เลย แม้ในกระดาษหนังสือพิมพ์ ถ้าเป็นรูปของท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าไปรักษาทั้งนั้น”และผมเองก็เคยได้พบอภินิหารจากรูปกระดาษหนังสือพระที่พิมพ์เป็นภาพสีของ องค์-หลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตร วัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งเรื่องนี้เคยเล่าไว้ใน ‘ศักดิ์สิทธิ์’ เล่มก่อนโน้นแล้ว สมดังที่หลวงพ่อพุธรับรองว่า เป็นรูปผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์รักษา
ดังนั้น พระพุทธรูปที่เราได้ยินข่าวความอัศจรรย์ต่าง ๆ นานาก็พึงทราบได้ว่าเป็นเรื่องของเทพดาจะบันดาลให้เป็นไป เราจึงพบเห็นได้เนือง ๆ ถึงการแก้บนพระพุทธรูปโดยวิธีพิสดาร เช่น พระแก้วมรกต ต้องแก้บนด้วยไข่ต้มและข้าวเหนียวกับปลาร้า หลวงพ่อโสธร ชอบไข่ต้มกับข้าวต้มมัด หลวงพ่อวัดไร่ขิง ชอบว่าวกับประทัด หลวงพ่อวัดเขาตะเคราก็โปรดประทัดเช่นกัน
เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของเทวดาผู้มาสิงสถิตย์ในองค์พระ หาใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะมีพระประสงค์ในสิ่งหยาบ ๆ เหล่านี้ก็เปล่า แม้เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ก็ประกาศเสมอ ๆ ว่า สำหรับพระองค์นั้นไม่ปรารถนาการบูชาพระองค์ด้วย ข้าวของ เงินทอง ดอกไม้ ธูปเทียน หรือสิ่งไร ๆ ก็ตามที่ประกอบด้วยวัตถุ อันเป็น
‘อามิสบูชา’ แต่พระองค์จะทรงยินดีมากหากพวกเราพากันประพฤติธรรม โดยการ ละชั่ว ทำดี และมุ่งชำระจิตให้ผ่องใส เข้าถึงภาวะ ‘จิตเดิมแท้’ ซึ่งไม่ปรุงแต่งและยึดเหนี่ยวเกี่ยวเกาะกับเรื่องใด ๆ พระองค์ตรัสเรียกพฤติอย่างนี้ว่า
‘ปฏิบัติบูชา’ ทรงยกย่องและให้คะแนนสูงกว่าอามิสบูชามากนัก
เนื่องเพราะเหตุที่พระพุทธองค์ทรงละเสียได้จากความยึดมั่นถือมั่นสิ้นเชิง พระองค์จึงไม่ปรากฏความอยากนั้น อยากนี้ ไม่อยากอย่างนั้น ไม่อยากอย่างนี้ รูปเคารพของพระองค์ก็ปราศจากอารมณ์จิตอย่างนี้เช่นกัน
การที่พระพุทธรูปองค์ใดไปเข้าฝันหรือแสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ศรัทธาทั้งปวงทราบว่าท่านชอบสิ่งนั้นไม่ชอบสิ่งนั้น หรือแสดงอภินิหารช่วยเหลือประการใด พึงทราบว่าเป็นเรื่องของเทพเจ้าผู้ดูแลพระพุทธรูปองค์นั้น ๆ จะบันดาลให้เป็นไป
ดัง
หลวงพ่อดำ วัดตะคร้ำเอน

- img049.jpg (54.26 KiB) เปิดดู 3725 ครั้ง
หลวงพ่อดำ วัดตะคร้ำเอน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างราว 45 นิ้ว ศิลปะเป็นแบบผสมระหว่างอู่ทองกับสุโขทัย แท้จริงหลวงพ่อดำเป็นพระพุทธรูปที่มีอายุการสร้างไม่นานนัก เมื่อเทียบกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่เลื่องชื่ออย่างที่เคยรู้จักกัน
แต่หลวงพ่อดำถูกสถาปนาขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2498 นี้เอง โดยคหบดีผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวดคือ คุณทองห่อ เช็งสุทธา ซึ่งท่านปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างรูปเคารพแห่งพระบรมศาสดาให้ได้จำนวน 113 องค์ในช่วงวันวิสาข์ หมายใจให้เป็นพุทธบูชาแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในวโรกาสฉลองกึ่งพุทธกาลปี พ.ศ. 2500
หลวงพ่อดำเป็นพระหนึ่งใน 113 องค์
หากพูดแบบไม่เกรงใจก็ต้องว่าท่านเป็น
‘พระโหล’ เพราะไม่ได้หล่ออย่างให้ความสำคัญสุดยอดทุ่มลงไปที่พระองค์เดียว แต่เทหล่อแบบ
‘งานช่าง’ อย่างรับเหมาทีหนึ่งเป็นร้อย ๆ องค์ แล้วก็แจกจ่ายไปตามอาวาสที่มีอุโบสถแต่ขาดพระประธาน หรือบางวัดก็ต้องการนำไปสักการะบนศาลาการเปรียญ พระทั้ง 113 องค์ ก็กระจายกันออกไปแผ่พุทธบารมี
สำหรับหลวงพ่อดำนั้น ถูกอัญเชิญมาที่วัดตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี โดย ท่านพระครูประกาศสุนทรกิจ (หลวงพ่อสนธิ์) เจ้าอาวาส ในงานฉลองกึ่งพุทธกาลปี พ.ศ. 2500และอาราธนาเข้าประดิษฐานในอุโบสถเพื่อให้เป็นพระประธาน จากนั้นหลวงพ่อสนธิ์ก็ได้จัดให้มีการปิดทององค์ท่าน
แต่เดิมหลวงพ่อดำเป็นพระเนื้อทองเหลืองหล่อ เมื่อมีการปิดทองก็จำต้องลงรักที่องค์พระเสียก่อนจึงจะปิดทองติด เบื้องแรกองค์พระจึงมีสีดำ ต่อเมื่อปิดทองเสร็จสมบูรณ์ตามขั้นตอนแล้ว หลวงพ่อดำก็งามนัก มีสีทองสุกใสสว่างงดงามเป็นที่สุด เย็นตาเย็นใจแก่ผู้พบเห็น ราวกับได้เข้าเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์พระพุทธองค์ เด่นเป็นสง่าสมเป็นพระประธานในอุโบสถวัดตะคร้ำเอน
รูปการน่าจะจบลงที่ความสบายใจและยุติงานทุกอย่างได้ แต่ก็มิได้เป็นดังนั้น เมื่อตกมาถึงช่วงปี พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2504 ระหว่างนี้หลวงพ่อสนธิ์ได้เกิดนิมิตขึ้นว่า พระประธานไม่ประสงค์จะอยู่ในโบสถ์ แต่อยากจะอยู่หน้าโบสถ์มากกว่า นิมิตนี้นับวันก็จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าประหลาด
ที่สุดหลวงพ่อเจ้าอาวาสจึงต้องทำพิธีอัญเชิญองค์พระประธานออกมาประดิษฐานอยู่ที่หน้าอุโบสถเสียให้สมดังนิมิต เมื่อทำตามแล้วนิมิตที่ปรากฏบ่อยครั้งนั้นก็หายไป
หลังจากที่ท่านมาอยู่หน้าอุโบสถได้ไม่นาน ทองที่ปิดองค์ท่านไว้อย่างดีก็เริ่มหลุดล่อนออก ลอกไปเรื่อย ๆ ปลิวกระจายไปทั่วจนจะเห็นเป็นสีดำทั้งองค์ หลวงพ่อสนธิ์จึงดำริจะทำการปิดทองท่านอีกครั้ง
แต่ยังไม่ทันจะดำเนินการใด ๆ ท่านก็เกิดนิมิตว่า หลวงพ่อพระประธานไม่อยากมีสีทองหากประสงค์จะมีสีดำตามสภาพเดิมอย่างนั้นอย่าได้ปิดทองท่านอีกเลย
เมื่อเป็นดังนี้หลวงพ่อพระครูจึงต้องปล่อยให้ท่านมีพระวรกายดำสนิทอยู่อย่างนั้น แม้จะมีคณะศรัทธามาบอกให้ปิด หรือลงมือปิดเองก็ตามที ชั่วเวลาไม่นานทองคำเปลวเหล่านั้นทั้งแท้และเทียมก็มีอันต้องหลุดลอกออกปลิวกระจายไปทั่ว นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ไม่ว่าจะทดลองปิดทองท่านด้วยประการใด ๆ บางทีชั่วข้ามคืนทองที่ปิดไว้ก็จะหลุดลอกจนหมด สมดังที่ท่านมานิมิตบอกไว้ว่าไม่ประสงค์จะมีสีทองแต่อยากให้เป็นสีดำ
เพราะเหตุดังนี้ หลวงพ่อเจ้าอาวาสและชาวบ้านตะคร้ำเอนจึงพร้อมใจกันถวายพระนามตามพุทธลักษณะให้ท่านว่า
หลวงพ่อดำ หลวงพ่อเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ไม่ด้อยไปกว่าพระพุทธรูปเก่า ๆ ที่พวกเรารู้จักกัน คงเป็นด้วยอำนาจราชเดชของปวงเทพเจ้าที่เข้าปกปักรักษาองค์หลวงพ่อดำ หรือจะด้วยวิญญาณท่านผู้ใดก็แล้วแต่ หากเป็นผู้มีสัมมาทิฐิและประสงค์จะอนุเคราะห์แก่ผู้ทุกข์ใจที่มา กราบไหว้ก็เห็นจะเป็นพอ
อภินิหารของท่านที่ได้ยินกันมากคงเป็นเรื่องที่คุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถ ทุกครอบครัวทุกคันรถที่มีรูปเหรียญ หรือพระผงอะไร ๆ ที่เป็นของท่านจะไม่ได้รับอันตรายที่หนักหนาสาหัสเลย อย่างมากก็เพียงฟกช้ำถลอกกันไปตามแรงพลิก
คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยรักษาไม่หายเรื้อรังอยู่เป็นนาน ไปขอน้ำมนต์ท่าน และเอาดอกบัวที่บูชาท่านมาต้มกินเป็นยาวิเศษ ก็หายได้อย่างประหลาด
เรื่องโชคลาภที่ใครหลายคนชอบ ก็ดูเหมือนว่าท่านจะสงเคราะห์ได้แม่นยำ หลวงพ่อดำจึงเป็นที่พึ่งทางใจ และทางกายแก่คนทุกข์คนยากโดยแท้
แม้ท่านจะพูดไม่ได้ ลุกไปไหนก็ไม่ได้ แต่ท่านกลับทำประโยชน์ให้พระศาสนาอย่างใหญ่หลวง สงเคราะห์พระภิกษุ-สามเณรที่กำลังเรียนบาลี รวมไปถึงสงเคราะห์เด็กนักเรียนลูกชาวบ้านที่เรียนดีแต่ยากจน โดยหลวงพ่อชักนำปัจจัยเข้าสู่วัดตะคร้ำเอนและให้เจ้าอาวาสพร้อมทั้งคณะกรรมการวัดเป็นผู้จัดสรรดูแลปัจจัย เพื่อมอบให้เป็นทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน โดยจะมอบทุนนี้ให้ในงานนมัสการหลวงพ่อดำประจำปี ซึ่งตรงกับวันที่ 12 –13 –14 เมษายน ของทุกปี

- img050.jpg (50.23 KiB) เปิดดู 3724 ครั้ง

- img051.jpg (49.7 KiB) เปิดดู 3720 ครั้ง

- img052.jpg (52.83 KiB) เปิดดู 3721 ครั้ง

- img053.jpg (48.94 KiB) เปิดดู 3719 ครั้ง

- img054.jpg (53.87 KiB) เปิดดู 3715 ครั้ง
เห็นได้ว่าแม้ท่านเป็นพระโลหะ แต่ท่านก็บำเพ็ญปรหิตประโยชน์แก่สังคมได้อย่างน่าชื่นใจ ดีเสียกว่าบุคคลตั้งเยอะแยะที่มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ ทำความวุ่นวายเดือดร้อนให้กับทั้งตนเองและสังคมแบบไม่น่าให้เกิดเป็นคน หากมองหลวงพ่อแล้วคิดให้ลึกซึ้ง ก็คงจะได้ละอายใจและคิดปรับปรุงตัวเองเสียใหม่บ้างกระมัง
ท่านที่ศรัทธาผมอยากให้เดินทางไปกราบหลวงพ่อดำ ซึ่งหนทางสะดวกมากครับ ให้วิ่งรถไปถึงทางแยกเข้าอำเภอบ้านโป่งก็ขึ้นสะพานลอยข้ามถนนเพชรเกษมวกเข้าตัวอำเภอ สักพักก็จะพบทางแยกมีป้ายบอกชัดเจนว่าไปกาญจนบุรี วิ่งไปตามทางไม่นานก็จะผ่านอำเภอท่ามะกาก่อน และตลอดทางก็มีป้ายบอกชัดเจนถึงทางไปวัดตะคร้ำเอน ซึ่งวัดก็อยู่ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวจังหวัดกาญจนบุรีครับ
ไม่ไกลอย่างนี้สามารถไปเช้า-เย็นกลับได้สบาย ขากลับแวะกราบหลวงปู่บุญ-หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว หลวงพ่อวัดไร่ขิงได้อีก แวะซื้อของฝากรายทางทั้งของคาวของหวานก็มากมายสบายทั้งใจสบายทั้งท้อง ผมจึงขอเป็นตัวแทนทางวัดเรียนเชิญทุกท่านครับ.
* ขอขอบคุณ คุณคุณานันต์ กนกธร คุณศุภดา กนกธร และคุณปุรเชษฐ์ กนกธร ที่กรุณาเดินทางไปนำวัตถุมงคลและข้อมูลจากทางวัดมาให้ครับ ขออนุโมทนา