ครูบาเจ้าศรีวิไชย สิริวิชโย กับเหรียญที่ดีที่สุดในยุคกึ่งพุทธกาล
โดย รณธรรม ธาราพันธุ์อันที่จริงคำว่า
“ครูบาเจ้า” นั้นโดยศัพท์ทางวิชาการของภาคเหนือจะใช้เรียกพระเถระผู้พร้อมด้วยคุณธรรมนานาประการ เช่น วัยวุฒิ คุณวุฒิ และที่สำคัญต้องมี
‘เชื้อ’ จะเป็นเชื้อเจ้าเชื้อพระวงศ์หรือสมศักดิ์อันสูงก็ดี ล้วนแต่ให้ใช้คำว่า
“ครูบาเจ้า” นำหน้าชื่อได้ทั้งสิ้น นอกนั้นแล้วใช้ได้แค่
‘ครูบา’ เฉย ๆ
เว้นไว้เพียงครูบาเจ้าศรีวิไชยเพียงองค์เดียว แม้ท่านมิได้ถือกำเนิดในตระกูลอันสูงและมิได้ถือครองสมณศักดิ์ที่ลอยเด่นเป็นสง่า แต่อรรถธรรมในดวงใจท่านสูงล้ำเลอค่าเสียยิ่งกว่าสิ่งที่สังคมชาวโลกยกย่องโปรดปราน ด้วยความดีที่ท่านสั่งสมอบรมมา ด้วยน้ำใจที่งดงามเบิกบานไปกับการยินดีในทานบารมี ด้วยเมตตาที่มีต่อสรรพชีวิตแม้กระทั่งคนที่มุ่งเอาชีวิตท่าน ท่านก็มิได้ถือโทษโกรธเคือง คงแผ่เมตตาไปทั่วหน้ากันอย่างไม่มีประมาณ
เพราะคุณสมบัติต่าง ๆ ที่พร้อมแล้วในองค์ท่านดังนี้ จึงไม่ต้องรอทางการให้แต่งตั้งอะไร ชาวเหนือทั้งหลายก็พร้อมใจกันยอยกท่านเป็น
“ครูบาเจ้า” ของพวกเขาตลอดมา
และจะตลอดไป...ดังที่รู้กันไปทั่วว่าครูบาศรีวิไชยนั้นโปรดการสร้างและซ่อมเสนาสนะ สถูป วิหาร ลาน เจดีย์ ฯลฯ อยู่เสมอ ไม่ว่าที่ไหน จะนิมนต์หรือไม่ หากท่านเห็นควรที่จะซ่อม-สร้างแล้ว ท่านก็ไม่รีรอที่ลงมือทำทันที
ด้วยเหตุนี้ ตลอดชีวิตของท่านจึงไม่ค่อยได้ข้องแวะกับกิจอันนอกเหนือไปจากงานนว-กรรมคือการก่อสร้างเลย แม้ใคร ๆ จะเคารพท่านมากมายจนอยากได้เครื่องมงคลของท่าน ได้ยินมาว่าก็เหลวกันเสียหมด อีกกระแสก็ว่า
‘เหรียญข้างบัว’ นั้นแลที่ทันชนม์ชีพ ซ้ำท่านยังได้อธิษฐานจิตปลุกเสกให้เสียอีกด้วยมิได้ทำหลังท่านมรณภาพ... นี้ก็ว่ากันไป
ใครจะอยู่ข้างไหน จะเชื่ออย่างใดผมคงต้องยกให้เป็นวินิจฉัยในแต่ละท่านเอง ด้วยผมก็เกิดไม่ทันครูบาเจ้าและไม่เคยคุยกับใครที่สนิทสนมกับท่าน จึงต้องขออภัย
แต่ถ้าให้พูดถึงพระเครื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยหลังเมื่อท่านวายชนม์แล้วเป็นอันว่าต้องได้คุยกันยาว เพราะเริ่มแต่ท่านมรณภาพพระเครื่องในท่านก็ถือกำเนิดทันทีที่งานเผาศพ เป็นเหรียญที่รู้จักกันดีในนาม
‘เหรียญรุ่นแรกปี พ.ศ. 2482’ จากนั้นก็เป็น
‘พระเกศาครูบาศรีวิไชย’ ซึ่งเป็นพระผงคลุกรักผสมเส้นเกศา มีทั้งพิมพ์พระรอดและพระคง ทั้งว่ากันว่ายังมีอีกมากหลากพิมพ์แต่คนทั่วไปไม่ค่อยได้พบจึงไม่รู้จัก ปล่อยให้นักนิยมพระชาวเหนือผู้รู้ตื้นลึกหนาบางคว้าไปนอนกอดอย่างน่าอิจฉาเป็นที่สุด
พระเครื่องดังกล่าวแล้วคือสิ่งที่สมาคมคนรักและศรัทธาครูบาศรีวิไชยจ้องหากันตาเป็นมัน นอกนั้นก็เหรียญวัดบ้านปางบ้าง วัดหริภุญไชยบ้าง ฯลฯ หากันไปตามอัชฌาศัย ซึ่งของดังว่าในทุกวันนี้ไม่หนีหลักหมื่น ถ้าพบหลักพันก็มีสองอย่างคือโชคดีกับซวยสุด ๆ เพราะเจอของปลอม !
จะได้เล่นเกมวัดดวงอย่างไม่ตั้งใจ แต่สำหรับคนไม่คิดจะ
‘เล่น’ พระ หากคิด
‘นับถือ’ พระอย่างจริงใจมิใช่สะสม ผมอยากให้มองบรรทัดต่อไปนี้ช้า ๆ ทำอย่างกวาดสายตาพิจารณาสาวเมื่อยามแรกจะเข้าไปคุย ดูให้ถ้วนถี่อ่านให้ดีแล้วทบทวน ก่อนจะเข้าไปกระซิบเบา ๆ ว่า
“เช่าเถอะครับ” !? อันว่าดอยสุเทพกับเมืองเชียงใหม่ดูจะเป็นของคู่กัน คู่กระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองไปโดยปริยาย มิหนำยังกลายเป็นคำขวัญและคำขู่ควบคู่กันว่า ไปเชียงใหม่ถ้าไม่ได้ขึ้นดอย สุเทพก็เหมือนไปไม่ถึงเชียงใหม่
ขนาดนั้นเชียว และที่เชิงดอยสำหรับคนกลัวคำขู่ เมื่อไปถึงก็จะเห็นอนุสาวรีย์ของครูบาศรีวิไชยยืนถือไม้เท้าเด่นเป็นสง่าอยู่ใต้สัปทนแบบล้านนา จะมีทั้งไทย ฝรั่ง จีน และแขกมุงกันกราบไหว้ปิดทองอยู่อลหม่าน กลิ่นธูปควันเทียนลอยเคล้ามากับกลิ่นเกสรดอกไม้เมืองเหนือที่บานสะพรั่งพาให้สุขใจนัก หากบางคราวก็โชยระคนมากับกลิ่นคาร์บอนมอนน๊อกไซด์ของรถนานาชนิดที่มาส่งผู้โดยสารชวนให้ชื่นใจผสมมึน
คนเคยศึกษารู้ดีว่าที่ต้องมีรูปเหมือนของครูบาเจ้าสถิตอยู่ ณ ทางขึ้นดอยเพราะเหตุใด ไม่ต้องใบ้หรือใช้ตัวช่วยอย่างเกมเศรษฐีก็ตอบได้ไม่ลังเลว่า ครูบาเจ้าท่านมีส่วนในการสร้างทาง ซึ่งที่จริงจะว่ามีส่วนก็ยังไม่ตรงทีเดียวนัก ต้องว่าท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างและดำเนินการจนแล้วเสร็จอย่างน่าอัศจรรย์ชนิดที่รัฐบาล (ยุคไหน ๆ) ก็ไม่มีทางทำได้แน่นอน
การขึ้นดอยสุเทพในสมัยปี พ.ศ. 2460 นั้นนับได้ว่าเป็นการยากลำบากอย่างที่สุด คนที่มีศรัทธาแก่กล้าจริง ๆ เท่านั้นจึงจะสามารถปีนป่ายหนทางอันลาดชันและรกเรื้อเพื่อขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุดอยสุเทพได้ ยุคนั้นหากมีอายุอยู่ในวัยหนุ่มสาวการขึ้นดอยที่ต้องปีนหน้าผาและโหนเถาวัลย์จะใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงจึงถึงยอดดอย หากเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ก็ทำได้เพียง...
ฝากกราบ ต่อมาไม่นาน
คุณหลวงศรีประกาศข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ก็แสดงเจตนารมณ์ว่าเห็นสมควรเดินสายไฟเพื่อนำไฟฟ้าไปติดบนยอดพระเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา หาก
ครูบาเจ้าแสดงเจตนาที่แน่วแน่ไปกว่านั้นด้วยการประกาศสร้างทางขึ้นดอยเลยทีเดียว
ปรารภในพระครูบาเจ้าศรีวิไชยนั้นเป็นดั่งกลองมโหระทึกที่กระหน่ำตีตลอดวันคืนอย่างไม่ยั้ง จากปากต่อปากแพร่สะพัดข่าวไปแสนไกลดุจไฟลามทุ่ง ข่าวที่สร้างความศรัทธาตื่นเต้นถึงขีดสุดและสร้างความฉงนอย่างถึงใจแก่ชาวบ้านไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
เพราะเหตุใด ? ก็ในปี พ.ศ. 2460 พระมหาอุปราชแห่งมณฑลพายัพคือ
พระองค์เจ้าบวรเดช ได้มีรับสั่งจะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ แต่เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการสร้างแล้วตกเป็นเงินถึง
สองแสนบาทซึ่งหากเปรียบกับยุคนี้ก็หนีไม่พ้น 25 ล้านบาทแน่นอน
พระองค์เจ้าบวรเดชจึงทรงล้มโครงการนี้ไป แม้ภายหลังจะมีผู้คิดทำอยู่บ่อยครั้งก็ไม่เห็นมีผู้ใดจะทำได้ ด้วยติดที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลนี่เอง
แล้วครูบาศรีวิไชยจะเอาปัจจัยมาจากไหน ? ทว่าเมื่อครูบาเจ้ามีประสงค์จะแผ้วทาง แม้เสียงพูดของท่านจะดังพอฟังกันเพียงสองสามคนในกลุ่ม หากกลับกระหึ่มก้องและมีการตอบรับเสียงปรารภของครูบาสนั่นหวั่นไหว บรรดาผู้เลื่อมใสในองค์ท่านที่มีปัจจัย พากันเร่งพิมพ์ใบปลิวเชิญชวนศรัทธามหาชนทั่วภาคเหนือมาร่วมสร้างมหาบารมีกับท่านเป็นจำนวนถึง 5 หมื่นใบปลิว
จากนั้นก็เป็นการบอกข่าวอย่างปากต่อปาก มหาชนทั่วมณฑลอุดร 5 จังหวัด มีจอบคว้าจอบ มีเสียมคว้าเสียม มีมีดคว้ามีด อาหารการกินต่างพากันขนของสดของแห้งแบกกันมาเอง มาเพื่อร่วมลงขันสร้างบุญใหญ่กับครูบาศรีวิไชย
ถนนทุกสาย รอยเท้าทุกรอย ล้วนมุ่งหน้าสู่ดอยสุเทพราวกับมดปลวก ข้างผู้ชายครั้นมาถึงก็ตรงเข้าถางทางดายหญ้าเป็นโกลาหล ทุบไม้ ตีหิน กันสนั่นลั่นไป หากพลาญหินมีขนาดใหญ่ท่านก็ให้เอาผ้าชุบน้ำมันควั่นเป็นแนวตามที่จะตัดแล้วจุดไฟ เมื่อหินร้อนจัดก็ราดน้ำแล้วทุบออกหินก็จะขาดเป็นบริเวณตามที่กำหนด
ข้างผู้หญิงและเด็กก็เข้าเพิงเข้าที่ พากันหุงข้าวต้มแกงหม้อใหญ่เลี้ยงคณะศรัทธาที่ขนเอาปัจจัยและอาหารนานาชนิดมาทำบุญ ทั้งยังเป็นกำลังหลักในการทำอาหารให้พระ-เณร และกองช่างอาสาทุกคน ว่ากันว่าอาหารสดอาหารแห้งประดามี ทั้งข้าวสารหอมกระเทียมกะปิน้ำปลา ล้นหลามจนผู้มาทำบุญต้องได้เข้าของติดมือกลับไปทุกคน
กล่าวคือเอาสิ่งนี้มาทำทาน พวกโรงทานก็ให้สิ่งนั้น สิ่งโน้นที่ขาดแคลนกลับไป บางพวกเอามาไม่เท่าไรด้วยยากจนข้นแค้น ครั้นเดินทางกลับก็ได้อาหารติดไม้ติดมือไปมากกว่าขามาเสียอีก เห็นอานิสงส์ในการที่พากันสร้างทานบารมีทันตาไม่ต้องรอชาติหน้าด้วยบุญญาภินิหารในองค์ครูบาเจ้าศรีวิไชยโดยแท้
คณะศิษย์นำโดย
พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ เป็นผู้ทำพิธีลงจอบแรกเพื่อเบิกฤกษ์ ตามด้วย
หลวงศรีประกาศ เจ้าราชภาคินัย ขุนกันชนะนนท์ นายศรีเรือง ตนะพงษ์ และ
เถ้าแก่โหงว เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 เวลา 10.00 น.
ต่อนั้นก็ลงมือกันอย่างสามัคคีแข็งขันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เบียดเสียดเยียดยัดแย่งกันทำจนแทบจะไม่มีที่ให้เหวี่ยงจอบลงเสียม เห็นจะเป็นด้วยความเคารพในองค์ครูบาเจ้าและเชื่อมั่นแน่นแฟ้นในบุญกุศลนั่นเองที่เป็นพลังสำคัญ
ส่วนครูบาเจ้าศรีวิไชยนั้นเล่าก็เป็นผู้นำบัญชาการแผ้วทางไปแนวนั้นทิศนี้ตามความชำนาญในเชิงช่างของท่าน ครั้นว่างจากงานโยธาก็มุ่งหน้ามารับคณะศรัทธาที่แห่แหนกันเดินทางมามืดฟ้ามัวดินเพื่อกราบไหว้ครูบาและมาช่วยงาน
ท่านต้องนั่งรับแขกอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวคณะนี้ไป เดี๋ยวคณะนั้นมา เสียงให้พรยถาสัพพี ฯ จากปากท่านดังอยู่ไม่ขาดระยะ
ในเหตุการณ์ตอนนี้แม้องค์
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อครั้งจาริกไปแสวงธรรมยังเมืองเชียงใหม่ ก็ได้มาพบกับ
ครูบาศรีวิไชยขณะสร้างทาง ได้รู้ได้เห็นในขันติปรมัตถบารมีที่ครูบาได้กระทำบำเพ็ญอย่างอุกฤษณ์ ด้วยการนั่งรับแขกทั้งวันโดยมิได้เปลี่ยนอิริยาบถลุกไปไหนเลย แม้ท่านจะเป็นโรคริดสีดวงทวารที่สร้างความทรมานให้ท่านเป็นอย่างมากก็ตามที
ถึงตรงนี้ท่านพระอาจารย์มั่นได้ปรารภว่า
“ท่านครูบาศรีวิไชยเป็นผู้มากด้วยขันติธรรมโดยแท้เป็นเราคงทำไม่ได้อย่างท่าน” ก็ด้วยความอดทนอันเป็นตบะอย่างยิ่งของทั้งศิษย์และอาจารย์นี้เอง เป็นเหตุให้ถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพอันใคร ๆ ก็ไม่อาจนึกฝันว่าจะแล้วเสร็จลงได้ ก็สามารถสำเร็จสมประสงค์ของครูบาและปวงศิษย์ได้อย่างหมดจดเมื่อ
วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478 รวมระยะเวลาในการสร้างทางได้ 5 เดือน 22 วัน การณ์นี้ยังความมหัศจรรย์ใจให้กับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและประชาชนทั่วไปยิ่งนัก แม้แต่หลวงศรีประกาศเองยังตกตะลึงไม่นึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นความจริง เพราะตนคาดการณ์ไว้ว่าอย่างน้อยถนนสายนี้ต้องใช้เวลาสร้างอย่างต่ำที่สุดคือ
8 เดือน !! และใน
วันที่ 30 เมษายน นั้น ก็ถือเป็นวันสำคัญในการเปิดเส้นทางเป็นครั้งแรก โดยเถ้าแก่โหงวนำรถเก๋งส่วนตัวมารับครูบาศรีวิไชยจากตีนดอยแล่นขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นการนำฤกษ์ ถือเป็นมหามงคลแก่ประชาชนยิ่งนัก
อันผลงานที่เปี่ยมด้วยคุณค่าและบุญคุณแก่ลูกหลานชาวไทยซึ่งครูบาเจ้าศรีวิไชยได้ทำไว้นั้น สิริรวมผลงานหลักที่ทั้งสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ได้ 51 แห่งด้วยกัน ทว่า ผลงานที่อาจเรียกได้ว่าเป็นโบว์แดงคือ การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนี้เอง เพราะเป็นมงคลสถานที่ใคร ๆ ต่างก็ต้องมาพึ่งพาอาศัยเพื่อขึ้นไปนมัสการองค์ธาตุจึงทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญคือ
เป็นงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตท่าน เมื่อครูบาสร้างทางเสร็จในปี 2478 ท่านก็ถูกจับกุมเข้ากรุงเทพอีกครั้ง เมื่อพ้นมลทินได้กลับมายังวัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ท่านก็อาพาธหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ท่านก็ได้เรียกศิษย์เข้ามาพร้อมกันแล้วสั่งความให้ช่วยกันสร้างสิ่งที่ท่านดำริไว้และภายในหนึ่งชั่วโมงนี้ท่านจะต้องลาทุกคนไปแล้ว เมื่อท่านมรณภาพให้เอาน้ำผึ้งหนึ่งขวดกรอกศพท่านไว้เพื่อรักษามิให้เน่าเปื่อยไปก่อนเวลาอันควร เพราะท่านเชื่อว่าคณะศิษย์จะต้องเก็บสรีระท่านไว้นาน
จากนั้นท่านก็สำรวมกิริยาและผ่อนลมหายใจลงจนประหนึ่งคนนอนหลับ ศิษย์ที่จับตาดูอาการอยู่ก็พบว่าที่สุดแล้วครูบาเจ้าศรีวิไชย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้มรณภาพทิ้งขันธ์ไปเมื่อเวลาเที่ยงคืนห้านาที แล้วเสียงร่ำไห้ก็ระงมขึ้นจนทั่วหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นการไว้อาลัยที่ยิ่งไปกว่าวาจาใด ๆ ...
ดังกล่าวแล้วว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ครูบาศรีวิไชยไม่ใคร่ข้องแวะกับวัตถุมงคลแต่อย่างใด อาจไม่ใช่เพราะท่านไม่ชอบ แต่คงเป็นเพราะไม่มีเวลาให้กับการนี้มากกว่า ดังนั้น เมื่อท่านมรณภาพ ด้วยความอาวรณ์ที่ประชาชนมีต่อท่าน จึงได้พากันสร้างของที่ระลึกขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของท่าน เป็นอนุสรณ์แก่คุณงามความดีของท่าน ก็ด้วยความเคารพเป็นล้นพ้นนั้นเอง
แต่เหรียญทั้งหลาย พระผงทั้งปวง ไม่มีใครยืนยันที่มาได้อย่างชัดเจน แม้มีข้อมูลแต่ก็ขาดหลักฐานพอจะย้ำน้ำหนักให้เอนเอียงไปข้างจะเชื่อได้ ทว่ามีอยู่เหรียญหนึ่ง ที่ตลอดการสร้างบริสุทธิ์ชัดเจน และมีพิธีกรรมซึ่งถูกต้องเป็นที่สุด อีกทั้งครูบาอาจารย์ที่มาร่วมเสกก็เป็นศิษย์ในท่านครูบาศรีวิไชยเกือบทั้งหมด ไม่ต้องสงสัยว่าการอธิษฐานจิตปลุกเสกจะหนักแน่นมั่นคงขนาดไหน จะเชื้อเชิญดวงวิญญาณและมหาบารมีในองค์พระครูบามาได้หรือไม่ ผมไม่สงสัยเลยจริง ๆ กับเหรียญ...
50 ปีถนนศรีวิไชยรำลึกเนื่องจากวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 จะเป็นวันครบรอบ 50 แห่งการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพที่ภายหลังได้ใช้ชื่อทางว่า
“ถนนศรีวิไชย” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พระครูบาเจ้าในฐานะประธานการสร้างที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น คณะกรรมการของศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น วัดบุพพาราม ถ.ท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก็ได้มีมติตรงกันว่าเห็นควรจัดงาน “วันกตัญญู เชิดชูเกียรติคุณ ฉลองสมโภช 50 ปี สร้างทางขึ้นดอยสุเทพของครูบาศรีวิไชย” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของครูบาศรีวิไชยและบรรพชนที่เสียสละกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ ทำการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญมั่นคง
โดยได้มอบใบประกาศเชิดชูเกียรติคุณให้แก่ทายาทของบุคคลผู้นำสำคัญในการสร้างทางครั้งนั้นตามที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติเป็นเอกฉันท์แล้ว ได้แก่
1. ครูบาศรีวิไชย สิริวิชโย
2. ครูบาเถิ้ม โสภโณ
3. ครูบาบุญมา สุนทโร
4. เจ้าแก้วนวรัฐ ณ เชียงใหม่
5. อำมาตย์เอก พระยาอนุบาลพายัพกิจ
6. หลวงศรีประกาศ
7. หลวงอนุสารสุนทร
8. พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์
9. พญาไชยธาตุ
10. ขุนกันชนะนนท์
11. ขุนเปาเปรมประชา
12. นายโหงว เตียวเมี่ยงไถ่
โดยคณะกรรมการได้ดำเนินการจัดหาทุนด้วยการสร้างรูปเหมือนครูบาศรีวิไชย ให้ประชาชนสักการะและเช่าบูชา ดังต่อไปนี้
1. รูปเหมือนครูบาศรีวิไชยแบบอนุสาวรีย์ ขนาดเท่าองค์จริงเทด้วยทองเหลืองในอิริยาบถนั่งเก้าอี้ มือซ้ายถือพัดขนนกยูง มือขวาถือไม้เท้า
2. รูปเหมือนครูบาศรีวิไชยแบบบูชาอิริยาบถเดียวกัน ขนาดหน้าตัก 7 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว สูง 12 นิ้ว ทำจากซิลิก้าผสมด้วยผงเกสรดอกไม้ 108 และผงพุทธคุณทั้ง 5 ทาทองบรอนซ์
3. เหรียญรูปไข่ มี 2 ขนาด คือ พิมพ์ใหญ่กับพิมพ์เล็ก ด้านหน้าเป็นครูบาเจ้าศรีวิไชยและข้อความที่ระลึก 50 ปี ด้านหลังอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ล้อมรอบด้วยพระคาถาชนะมารอ่านว่า “สัมพุทธานุภาเวนะ สัพพะสันตาปะวัตถิโต สัพพะสมัตถะสัมปันโน สิระภูโตสะทาภะวะ” สร้าง 3 เนื้อด้วยกันคือ ทองคำ เงิน และ ทองผสม ซึ่งทองผสมทั้งพิมพ์ใหญ่และเล็กมีแบบกะไหล่เงิน กะไหล่ทอง และ กะไหล่ทองลงยาสีน้ำเงินด้วย
กำหนดการมังคลาภิเษกได้จัดขึ้นที่ วัดศรีโสดา ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อันเป็นวัดที่ครูบาเจ้าได้สร้างไว้ด้วยองค์ท่านเองและอยู่พำนักตลอดเวลาที่ท่านใช้ชีวิตในตัวเมืองเชียงใหม่ ครูบาเจ้าสร้างวัดนี้เพราะมุ่งให้เป็นที่ปฏิบัติธรรมและเป็นศูนย์กลางในการประกอบกรณียกิจของท่าน เป็นสถานที่รับถวายปัจจัยไทยทานจากสาธุชน เป็นคลังเสบียงที่ใช้แจกจ่ายเครื่องอุปโภค-บริโภคแก่ผู้ยากไร้ขาดแคลน เป็นสถานที่เก็บรวบรวมเครื่องใช้ไม้สอยในการก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามในเมืองเชียงใหม่ของท่าน ฯลฯ ดังนั้น...
สถานที่นี้จึงเป็นมงคลที่สุดคณะกรรมการได้นิมนต์พระเถรานุเถระที่เป็นทั้งศิษย์สายตรงในครูบาเจ้าและที่เกี่ยวเนื่องในท่านทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามมาร่วมมังคลาภิเษก มีรายนามดังต่อไปนี้
1.
พระครูจันทสมานคุณ (ครูบาหล้า จันโทภาโส) วัดป่าตึง ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
2.
พระครูวิมลวรเวท (ครูบาบุญมี) วัดท่าสะต๋อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่
3.
พระครูวรเวทวิศิษฐ์ (ครูบาธรรมชัย ธัมมชโย) วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
4.
ครูบาสิงหวิชัย วัดฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่
5.
พระครูมงคลคุณาทร (ครูบาคำปัน) วัดหม้อคำตวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่
6.
ครูบาอิ่นแก้ว อนิญชโน วัดวาฬุการาม (วัดป่าแงะ) อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
7.
ครูบาจันทร์แก้ว คันธวังโส วัดดอกเอื้อง อ.เมือง จ.เชียงใหม่
8.
ครูบาโสภา วัดผาบ่อง อ.เมือง จ.เชียงใหม่
9.
ครูบาสิงห์แก้ว วัดปากกอง อ.สารภี จ.เชียงใหม่
10.
ครูบาอ้าย วัดศาลา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
11.
ครูบาอิ่นคำ วัดข้าวแท่นหลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่
12.
ครูบาคำตั๋น วัดสันทรายหลวง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
13.
ครูบาญาณวิลาศ วัดต้นหนุน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
14.
พระครูวิมลสีลาภรณ์ (ครูบาสุรินทร์ สุรินโท) วัดหลวงศรีเตี้ย ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
15.
ครูบามูล วัดต้นผึ้ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
16.
ครูบาศรีนวล วัดช้างค้ำ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
17.
ครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน
18.
ครูบาอินตา วัดห้วยไซ อ.เมือง จ.ลำพูน
19.
ครูบาศรีนวล วัดเจริญเมือง อ.พาน จ.เชียงราย
พิธีมหามังคลาภิเษกเริ่มขึ้นในวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 เวลา 15.19 น. พระเดชพระคุณพระธรรมโมลี เจ้าคณะภาค 7 เป็นองค์จุดเทียนชัย พระมหาเถระที่นิมนต์มาสวดพุทธาภิเษกเจริญพระพุทธมนต์ ทันใดนั้นเอง ท้องฟ้าก็เริ่มพยับเมฆมืดครึ้มลงอย่างน่าอัศจรรย์ ชั่วเวลาไม่นานฝนก็เริ่มตกลงมาอย่างที่เรียกว่า
‘ฝนพรำ’ นับแต่ยอดดอยสุเทพเรื่อยมาจนถึงเชิงดอย และบังเกิดกระแสลมเย็น พัดลงมาจากยอดเขาเข้าสู่วิหารวัดศรีโสดา ทำให้บรรยากาศในวิหารหลวงเกิดความเยือกเย็นและเงียบสงบอย่างน่าประหลาด
เหตุเหล่านี้ทำให้ประชาชนนับพันที่นุ่งขาวห่มขาวเข้าร่วมพิธีต่างนั่งทำสมาธิพร้อมกันไปด้วยความปีติเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อพิธีเจริญพระพุทธมนต์ดำเนินไปจนถึงเวลา 19.19 น. บรรดาพระอาจารย์ผู้มีอาวุโสซึ่งเป็นศิษย์ในครูบาเจ้าศรีวิไชยจำนวน 18 รูป ได้ประกอบพิธีสวดมนต์ไหว้พระตามแบบอย่างที่ได้เคยปฏิบัติเมื่อครั้งอยู่ร่วมกับครูบาเจ้าศรีวิไชย ซึ่งพิธีนี้อยู่นอกเหนือกำหนดการ นับเป็นมหามงคลแก่มงคลวัตถุและประชาชนในพิธียิ่งนัก
จากนั้นพระเถราจารย์ทุกรูปก็เข้าที่นั่งภาวนาอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุในมณฑลพิธีจนครบเวลานั่งปรกรอบแรก เมื่อพระเถระที่นั่งปรกรอบแรกเดินทางกลับ ครูบาอิ่นแก้ว อนิญชโน วัดป่าแงะ ผู้อยู่ในวาระปรกรอบแรกได้แวะกราบอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิไชยที่ห้วยแก้ว แล้วท่านก็นำสาธุชนกล่าวอุทิศผลบุญที่ได้จัดงานนี้น้อมถวายเป็นกุศลแก่ครูบาศรีวิไชยและบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว จากนั้นก็กรวดน้ำหยาดลงสู่แผ่นดิน
วินาทีนั้นเองฝนก็ตกพรำลงมาได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และกระจายวงออกไปจนชุ่มฉ่ำทั่วบริเวณ และที่สุดก็ตกไปทั่วเมืองเชียงใหม่ราวกับครูบาเจ้าและเหล่าเทพยดาได้ร่วมกันประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ลูกหลานทุกคน
ครั้นได้เวลามังคลาภิเษกรอบสอง ฝนที่ตกพรำมาตลอดก็หยุดลงทันที ท้องฟ้ากลับแจ่มใสไร้เมฆสมกับที่เป็นฤดูหนาว และไม่นานก็เกิดพระจันทร์ทรงกลดจนเกือบหมดเวลาในการปลุกเสกชุดที่สอง นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยทีเดียว
เมื่อพิธีเสร็จสมบูรณ์ก็มีการแสดงพระธรรมเทศนาต่อเนื่อง 4 กัณฑ์ สวดเบิกฉลองสมโภชแบบล้านนาโบราณจนใกล้อรุณ จากนั้นก็ทำวัตรเช้าสวดมนต์ไหว้พระพร้อมกัน ครั้นได้อรุณก็มีพิธีถวายข้าวมธุปายาสที่หุงขึ้นเป็นพิเศษเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
เป็นอันว่าเหรียญที่ระลึก 50 ปีถนนศรีวิไชยก็ผ่านพิธีศักดิ์สิทธิ์มาครบถ้วนบริบูรณ์อย่างไม่มีใดต้องติ พระภิกษุที่มาปลุกเสกก็ล้วนแต่เก่งกล้าสามารถในองค์เองอยู่แล้ว บางรูปเหรียญรุ่นแรกหากันเป็นพันเป็นหมื่นก็มี
แต่ที่มองข้ามไม่ได้คือ
ครูบาอิ่นแก้ว อนิญชโน ท่านผู้นี้เป็นพระ ‘สำคัญ’ รูปหนึ่งในเชียงใหม่ทีเดียว จิตตานุภาพของท่านนั้นนับว่าหาได้ยากกับพระที่เก่งจริงแต่อยู่อย่างไร้ชื่อ เมื่อท่านมาเสกพระชุดนี้ก็เป็นวาสนาของชาว ‘ศักดิ์สิทธิ์’ แล้วที่จะหามาใส่คอ ผมแนะนำไม่ได้หรอกว่าให้ไปหาที่ไหน แต่เคยพบเห็นตามแผงพระบ่อยไป ราคาก็ไม่แพง ยิ่งเทียบกับพุทธคุณแล้วมันคนละเรื่องกันเลย ฉะนั้นถ้าเจอจงเก็บเสีย วันนี้ไม่แพงหรอกครับแต่วันหน้าไม่แน่
หมายเหตุ – ขอบคุณ
คุณพาชัย มงคลปรีดาชัย ที่กรุณานำพระมาให้เพื่อประกอบเรื่องนะครับ ขออวยพรให้ได้เหรียญทองคำก็แล้วกัน