พฤหัสฯ. 02 ก.ค. 2009 10:47 pm
เพชรเม็ดงามเมืองน้ำเค็ม
พระครูอุดมวิชชากร (เหมือน อินทโชโต) วัดกำแพง อ.เมือง จ.ชลบุรี
โดย...รณธรรม ธาราพันธุ์ถ้าเอ่ยถึงของดีเมืองชลบุรี ใคร ๆ ก็คงคิดถึงหาดบางแสน หาดพัทยา ความงามของธรรมชาติ และข้าวหลามหนองมนอันลือชื่อ แต่ถ้าเอ่ยถึงพระดีพระขลังก็คงหนีไม่พ้น หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ผู้สร้างสรรพระปิดตาราคาเรือนแสนเป็นแน่แท้ ไม่อย่างนั้นก็คงคิดถึง หลวงพ่ออี๋ พุทธสโร แห่งวัดสัตหีบ หรือ หลวงพ่อโด่ วัดนามะตูม หรือ หลวงปู่ม่น วัดเนินตามาก และอีกหลายต่อหลายองค์ตามแต่จะสดับความกึกก้องของชื่อเสียงและค่านิยมของวัตถุมงคลในแต่ละองค์ ๆ ไปมีสักกี่คน ที่ข้อวัตรอันเคร่งครัดและจริยาวัตรอันอ่อนนุ่มละมุนละไม จะสามารถแทรกซึมลงในหัวใจพอที่จะเกิดศรัทธาปสาทะได้โดยไม่ต้องเอ่ยถึงอุโฆษแห่งวัตถุมงคล ถ้าเป็นดังนั้นได้ ใครคนนั้นก็คงจะมีตานอกและตาในที่เปิดกว้างสว่างพอจะแยกแยะพระปฏิบัติดี กับพระปฏิบัติแย่ ถึงแย่มาก ได้แน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย
หลวงปู่เหมือน อินทโชโต ก็เป็นพระดังว่า ผมไม่สามารถยกยอตัวเองได้ว่ามีตาดีหรือตาร้าย เพราะสองตาคู่นี้ไม่ทันได้ดูองค์ท่านเหมือนกันกับใครหลาย ๆ คน แต่การสดับคุณงามความดีที่ไม่มีวันจางหายไปจากใจคนเมืองชลนั้น ผมรับได้ดีเท่า ๆ กับทุกคน

- พระครูอุดมวิชชากร (เหมือน อินทโชโต)
- 02.jpg (33.19 KiB) เปิดดู 20653 ครั้ง
ความเป็น
หลวงปู่เหมือน ไม่อาจทำให้ท่านโด่งดังได้เฉกเช่น
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ อาจเป็นด้วยจริยาวัตรที่อ่อนโยนไม่มุทะลุดุดันดังเช่นบางอาจารย์หรือไม่ก็เป็นเพราะ
บารมี ของท่านที่สั่งสมมา
แบบเงียบ ๆ อย่างนั้นเอง
แต่ความ
‘ดังเงียบ’ ของท่านก็ดังไกลไปถึงดอยแม่ปั๋ง เมื่อมีคนเมืองชลกลุ่มหนึ่งนำทีมโดยบิดาของเพื่อนผม จัดรถทัวร์หอบลูกน้ำเค็มไปกราบพระภูเขาถึงถิ่น เมื่อพระเลือดอีสานนามลือชาถูกพระอุปัฏฐากเข็นรถออกมา ชาวชลบุรีก็กรูเข้าไปกราบ ครั้นหลวงปู่แหวนทักทายไปสักหน่อย ท่านก็เอื้อนเอ่ยว่า
“มาจากไหน”
ชาวชลบุรีก็ตอบอย่างภาคภูมิใจกับการเดินทางมาราธอนว่า
“มาจากชลบุรี”
คำถามต่อมาคือ
“พระดีเมืองชลก็มี ทำไมมาถึงนี่ ท่านวัดกำแพงน่ะ”
เอ ! ใครคือ ท่านวัดกำแพง คนอะไรชื่อแปล๊ก แปลก พอสติแล่นก็ อ๋อ ! หลวงปู่เหมือน นั่นเอง
ครั้นกลับจากวัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ วัดกำแพงก็คลาคล่ำไปด้วยนักแสวงบุญลูกน้ำเค็มผู้มองไกล จนลืมใกล้
อะไร ? ที่ทำให้หลวงปู่แหวนเอ่ยปากถึง
‘ท่านวัดกำแพง’ ก็ในเมื่อหลวงปู่แหวนไม่เคยมาชลบุรี และ ‘ท่านวัดกำแพง’ ก็ไม่เคยไปเชียงใหม่ ท่านรู้จักกันได้อย่างไร ? ค้นความจริงยากเหลือเกิน ขอโยนเรื่องไปที่ ‘ญาณ’ อันสูงสุดจะคาดเดาของท่านทั้งสองก็แล้วกัน
เมื่อหลวงปู่เหมือน ได้รับการการันตีจากหลวงปู่แหวนเช่นนี้ ‘เสื่อแห่งความศรัทธา’ น่าจะถูกปูลงในใจคุณพอที่จะลงนั่งฟังเรื่องของท่านได้บ้างละกระมัง
หลวงปู่เหมือน ท่านถือกำเนิดในสกุล ถาวรวัฒนะ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 บิดาชื่อนายตึ๋ง มารดาชื่อ นางปุ่น ณ บ้าน ต.มะขามหย่ง อ.เมือง จ.ชลบุรี ท่านอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. 2456 โดยมีพระอธิการจั่น วัดเสม็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยธรรม (ถมยา) วัดกลาง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการหมอน วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับสมณศักดิ์ที่ พระครูอุดมวิชชากร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2495 และเป็นเจ้าคณะตำบลชั้นเอก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2522
หลวงปู่เหมือน เป็นพระที่เรียบง่าย มีวัตรปฏิบัติที่นุ่มนวลเย็นตาเย็นใจแก่ผู้พบเห็นเป็นยิ่งนัก ความเป็นผู้พูดน้อยนี่เอง ทำให้ท่านไม่เคยเอ่ยปากใช้ใครเลย มีกิจอันใดที่องค์ท่านสามารถทำเองได้ ท่านจะทำเองทั้งหมด
แม้กระทั่ง ผ่าฟืน !!ถ้าไม่มีใครไปขอช่วยท่านทำ ท่านก็จะผ่าอยู่นั้นแหละ และถ้าเข้าไปบอกว่า “ผมช่วยไหมหลวงปู่” ท่านจะตอบทันทีว่า “ไม่ต้อง” แล้วท่านก็ทำต่อไป แต่ถ้าเข้าไปขอมีด ท่านก็จะปล่อยให้ทำแล้วท่านก็ไปทำอย่างอื่นต่อไป
โดยนิสัยของหลวงปู่ ถ้าถูกนิมนต์ไปในกิจอันใดก็ตาม แล้วมีผู้คนมาขอวัตถุมงคลท่านก็จะไม่ให้ เพราะท่านถือระเบียบอยู่อย่างหนึ่งว่า จะไม่แจกวัตถุมงคลต่อหน้าพระสงฆ์และประชาชน ใครอยากได้จริงให้ไปรับที่กุฏิ แม้ไปกราบท่านถึงกุฏิ ถ้าไม่เอ่ยปากขอก็เป็นอันไม่ได้อีกเหมือนกัน
ทุกครั้งก่อนท่านจะมอบพระให้ใครก็ตาม ท่านมักจะกล่าวว่า
“การทำความดี พระย่อมคุ้มครอง”แล้วจึงประสิทธิ์ประสาทให้ และจะให้เพียงคนละหนึ่งองค์เท่านั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมเห็นว่าท่านคงไม่ใคร่จะสนับสนุนในด้านวัตถุมงคลนัก ท่านคงอยากให้ทุกคนที่ศรัทธาท่านปฏิบัติธรรมมากกว่า แต่ท่านก็ไม่อาจต้านกระแสโลกที่ยังต้องการพึ่งพาวัตถุภายนอกได้ เหรียญรุ่นแรกจึงถือกำเนิดขึ้นในวันทำบุญอายุของท่านเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 จากนั้นก็ได้ทยอยตามกันออกมาอีกมากรุ่นมากแบบทั้ง ผง ดิน โลหะ ต่าง ๆ ซึ่งผมคงไม่สามารถนำมาเสนอได้หมด จึงมีรูปมาให้ชมเพียงบางส่วน ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้ผู้ที่มีอยู่แล้วแต่มองข้ามไป ได้หวนกลับมามองใหม่ หรือเป็นแว่นส่องทางให้กับผู้ที่คิดจะมองหา
หากหลวงปู่ไม่ดีจริง วัตถุมงคลต่าง ๆ คงไม่เรียงรายกันออกมาจากวัดนับสิบ ๆ รุ่นหรอกครับ และทุกรุ่นก็หาค่อนข้างลำบากในสนามพระเครื่องต่าง ๆ คล้ายกับพระเครื่องของหลวงปู่ดู่ วัดสะแก ที่มีผู้ใจร้ายชอบพูดกันว่า ‘ไม่มีใครเล่น’ แต่ก็หาแทบไม่มีตามสนาม ครั้นบอกให้คนพูดไปหา
เขาก็ยังหาไม่ได้เลยมีเหรียญของหลวงปู่เหมือนอยู่รุ่นหนึ่ง เข้าใจว่าจะสร้างโดยภัตตาคารไต้ฮี้ ซึ่งก็เป็นลูกศิษย์ท่านที่สร้างเหรียญอย่างมือสะอาด เหรียญที่ว่านี้มีลักษณะคล้าย ๆ กับเต่า จึงเป็นที่เรียกขานในวงการว่า ‘เหรียญเต่า’ ผู้สร้างก็สร้างไว้สำหรับแจกกันเองในหมู่ญาติมิตรเพื่อนพ้อง จึงไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก เหรียญเต่านี้มีดีตรงประสบการณ์อันน่าทึ่งอย่างนี้ครับ
เมื่อคณะผู้สร้างได้นำเหรียญไปถวายหลวงปู่ปลุกเสกจนครบตามกำหนดที่ท่านวางไว้ ก็ไปรับกลับมาพร้อมแบ่งถวายท่านไว้แจกเองจำนวนหนึ่ง พอได้เหรียญก็เลี่ยมแขวนกันทั้งผู้ใหญ่ และลูกเล็กเด็กแดง

- ‘เหรียญเต่า’ พระครูอุดมวิชชากร (เหมือน อินทโชโต) เนื้อทองแดง (ด้านหน้า/หลัง)
- ลป.เหมือน_03.JPG (32.26 KiB) เปิดดู 17225 ครั้ง
วันหนึ่ง คณะผู้สร้างได้เดินทางไปธุระที่ อ.ศรีราชาแต่วัน พาหนะในการเดินทางก็คือรถปิกอัพเปิดหลังตามแบบชาวชนบทที่นิยมกัน ครั้นเสร็จธุระก็เป็นเวลามืดค่ำแล้ว บังเอิญว่าเด็กชายคนหนึ่งในคณะอายุราว 10 ขวบ ได้รบเร้าขอนั่งที่กระบะข้างหลัง จะมีผู้ใหญ่นั่งไปด้วยหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจ เพราะผู้เล่าก็มิได้บอก
ขากลับก็ขับรถกลับมาด้วยอัตราความเร็วพอสมควร ด้วยเร่งจะให้ถึงบ้านในตัวเมืองชลบุรีก่อนดึก ทุกท่านก็คงจะทายอยู่ในใจว่า อ๋อ ! รถคงจะชนกันแหลกแล้วคนรอดตายกันราวปาฏิหาริย์ใช่ไหมล่ะ
มิได้ครับ พวกเขาขับรถกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ !!อ้าว ! ถึงตรงนี้คงจะงงว่าแล้วมันจะมาเล่าหาอะไร (วะ) ใจเย็น ๆ ครับ มันเป็นอย่างนี้ ก็เพราะถึงบ้านโดยสวัสดิภาพนี่แหละครับ ถึงได้รู้ว่า ‘เด็กผู้ชายตัวน้อย’ ได้อันตรธานไปจากกระบะหลังเสียแล้ว
จะหล่นจากรถไปตอนไหนก็ไม่มีใครทันสังเกต หรือจะปลิวไปกับลมแรงก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ ผลก็คือต้องรีบตะลีตะลานขับรถย้อนกลับไปตามเส้นทางเดิมด้วยใจที่โหวงเหวงบอกไม่ถูก โธ่ ! ถ้าเป็นลูกเราหายไปทั้งคน หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่จะรู้สึกอย่างไร แล้วนี่ไม่ใช่หายอยู่กับบ้าน ดันหายไปบนรถ
ก้อ...ถ้าตกลงบนถนน แล้วรถวิ่งตามหลังมาพอดี โอย ! ไม่อยากจะคิดทีเดียวรถปิกอัพคันต้นเหตุวิ่งพลางดูพลางไปตลอดทาง ใจก็ภาวนาขอให้ลูกน้อยปลอดภัยจากอุปัทวเหตุทั้งปวงด้วย ชะรอยคำภาวนาจะเป็นผล เมื่อรถวิ่งมาถึงบางพระก็แลเห็นเด็กน้อยคนหนึ่งเดินกระเซอะกระเซิงร้องไห้อยู่ริมถนนอีกฝั่งหนึ่ง ดีใจเหมือนได้แก้ว รีบกลับรถเข้าไปเทียบ ลงไปปลอบประโลมพลางสำรวจตรวจตามร่างกายก็ไม่พบร่องรอยของการบาดเจ็บแต่อย่างใด
พอเด็กเริ่มสงบสติอารมณ์ได้บ้าง คำแรกที่แกพูดออกมาก็คือ
“พระอุ้ม...พระอุ้ม...”จะถามอะไร ๆ คำตอบระคนเสียงสะอื้นก็คือ
“พระอุ้ม” เท่านั้น
ในคอของเด็กน้อยคนนี้ มีเพียงเหรียญรูปเหมือนของท่านพระครูอุดมวิชชากร หรือ หลวงปู่เหมือน แห่งวัดกำแพงอยู่เพียงเหรียญเดียว
คงไม่ต้องบอกกระมังว่า ‘ใครอุ้ม’ยิ่งเรื่องหนึ่งที่ฟังจากปากของคนผู้ถูกมัจจุราชเมินคือ คุณพิชิต สิวะวัฒน์ หรือเปิ้ล เพื่อนคนหนึ่งของผม เขาเล่าว่าบ้านของเขานั้นเป็นร้านขายรถยนต์มือสองอยู่ ต.นาป่า ข้ามสี่แยกบายพาส ‘สี่แยกมหาภัย’ ไปหน่อยเดียว สมัยที่เขายังไม่ได้ขับรถยนต์นั้น ก็มีเพียงมอเตอร์ไซค์คู่ชีพที่ควบข้ามสี่แยกแข่งกับบรรดาสิบล้ออยู่เป็นประจำ
วันหนึ่ง ไม่ทราบว่าพลาดอีท่าไหน สิบล้อคันใหญ่ก็เสยเปรี้ยงเข้าให้เต็มลำ ด้วยอัตราความเร็วที่ ‘รีบแข่งกับไฟเหลือง’ ผลก็คือ มอเตอร์ไซค์คู่ชีพกลายเป็นมอเตอร์ไซค์สิ้นชีพ เพราะแหลกยับไปกลายเป็น ‘ขดเหล็ก’ ก้อนหนึ่งในทันที ตัวคุณเปิ้ลเองก็ลอยละลิ่วลงฟาดกับพื้นถนนแล้วกลิ้งม้วนต้วนไปไม่รู้กี่ตลบ
คนขับสิบล้อพอหยุดรถได้สนิท ก็เผ่นตะโพงไปไม่เหลียวหลังมาแล โอ้ ! ปาฏิหาริย์มีจริง คุณเปิ้ลกลับลุกขึ้นแล้ววิ่งกวดตามคนขับสิบล้อไป พลางร้องตะโกนให้คนช่วยกันจับที ‘ชนคนแล้วหนี’ คนดูก็แสนดีตะครุบตัวไว้ได้ คุณเปิ้ลก็ลากคอมาที่เกิดเหตุ โทรเรียกตำรวจมาดำเนินคดี จีนมุง ไทยมุง ก็พากันเฮโลสาระพามาถามว่า
“เพ่...เพ่...มีอะไรดีหรือ โดนขนาดนี้ถึงยังไม่ตาย” คุณเปิ้ลก็ควักสร้อยออกมาให้ชมเป็นขวัญตา เป็นเหรียญนั่งเต็มองค์รูปหลวงปู่เหมือน สร้างโดยสมาคมศิษย์เก่า ร.ร.ชลราษฎร์บำรุง (ร.ร.ชลชาย) แกะพิมพ์โดยนายช่างเกษม มงคลเจริญ พระนั้นอยู่ในกรอบทองสวยสนิท สร้อยทองเส้นเบ้อเริ่มไม่มีอะไรชำรุดแม้แต่น้อย

- ภาพซ้ายมือ : เหรียญรุ่น 7 รอบ พิมพ์ครึ่งองค์
ภาพขวามือ : เหรียญรุ่นสมาคมศิษย์เก่า ร.ร.ชลราษฎร์บำรุงสร้าง
- ลป.เหมือน_01.JPG (37.79 KiB) เปิดดู 20612 ครั้ง
คุณเปิ้ลบอกกับผมว่า
“แต่นั้นมา หลวงปู่เหมือนก็นั่งอยู่ในใจผมตลอด ไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหนอีกเลย” ว่าแล้วก็ควักสร้อยเส้นโตอวดพระองค์เก่งให้ดู ผมเลยต้องแจ้นไปหามาจนได้ด้วยประการฉะนี้แล
ความขลังของวัตถุมงคลท่านย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้อาราธนาติดตัวอยู่เสมอมา ไม่ว่าจะเป็น ทนมีด อยู่ปืน กันภัย กันเขี้ยวงา สารพัดตามแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทว่า ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์คงไม่พ้น
‘เมตตา’ ที่แน่นอนว่า
‘แรงนัก’ ในเครื่องมงคลของหลวงปู่

- ภาพบน : พระผงรูปเหมือนโรยเกศา ปี 2522
ภาพล่าง : พระผงห้าเหลี่ยมโรยเกศา พิเศษลงรักปิดทอง
- ลป.เหมือน_02.JPG (36.83 KiB) เปิดดู 17207 ครั้ง
ครั้งหนึ่ง ก่อนท่านจะละสังขาร ท่านได้เอ่ยปากคล้ายจะฝากฝังลูกศิษย์ลูกหาของท่านไว้กับองค์อื่นอยู่ในทีว่า
“ต่อไป ท่านวัดเนินตามาก จะมีชื่อเสียง”จากคำพูดนี้ทำให้ศิษย์วัดกำแพงต้องออกไปด้อม ๆ มอง ๆ วัดเนินตามากอยู่หลายคน และเมื่อสิ้นหลวงปู่เหมือน หลายคนก็ยกหลวงปู่ม่น มาเป็นที่พึ่งต่อทันที ซึ่งก็นับว่าไม่ผิดหวังจริง ๆ
หลวงปู่เหมือน อินทโชโต มหาเถระพระสุปฏิปันโน ผู้รัตตัญญูภาพ ได้ดำรงขันธ์มาจนถึงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ท่านก็มีอาพาธเป็นอันมาก จากนั้นท่านก็ปรารภขึ้นท่ามกลางศิษย์ที่อยู่ปรนนิบัติว่า
“อีกสองวันตายแน่”ครั้นล่วงมาถึงเช้า วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ท่านก็ถึงแก่มรณภาพโดยอาการอันสงบไปจริง ๆ ตามคำของท่าน เมื่อเวลา 07.19 น. ณ กุฏิเก่าของท่าน ในวัดกำแพง สิริอายุได้ 91 ปี 6 เดือน 10 วัน
ตามธรรมดาบุคคลเมื่อสิ้นไปแล้วย่อมไม่อาจกำหนดสิ่งใดได้อีก แต่ท่านผู้อยู่เหนือโลกธรรมอย่างเช่นหลวงปู่เหมือนแล้ว ทำให้คนเมืองชลมีลาภกันถ้วนหน้า ด้วยปี 27 ที่ท่านมรณภาพนับว่าเป็นข่าวใหญ่ทีเดียวในปีนั้น เพราะแทบจะไม่มีใครเลยที่ไม่ถูกหวย
วันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ ณ เมรุชั่วคราว ในวัดกำแพง ก็เกิดปรากฏการณ์ประหลาดอันอาจจะเป็นเครื่องยืนยันในคุณธรรมของท่านว่า...
‘ไม่ธรรมดา’เมื่อไฟพระราชทานมาถึงก็บังเกิดเหตุที่ไม่น่าเป็นไปได้ขึ้น ด้วยมีลมพายุอันแรงกล้าพัดกระหน่ำลงในบริเวณวัดอย่างรุนแรง... แรง...ขนาดที่ว่าต้นไม้ใหญ่หน้ายุวพุทธิกสมาคม ชลบุรี ถึงกับถอนรากล้มตึงลงทีเดียว ผู้คนตระหนกตกใจกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าอันไม่ทันตั้งตัวนี่ยิ่งนัก
เมื่อลมร้ายฟาดงวงฟาดงาจนเต็มที่แล้วก็พลันสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว จนไม่อยากจะเชื่อว่าเมื่อกี้นี้มีมหาวาตภัยเกิดขึ้นในวัด ความเสียหายปรากฏอยู่ทั่วบริเวณ แต่ที่น่าอัศจรรย์คือ เครื่องประดับประกอบเมรุไม่มีอะไรเสียหายเลย กระทั่งพวงหรีดหรือดอกไม้บูชาต่าง ๆ ในแจกันก็ไม่ล้มลงเลยแม้แต่อันเดียว
ผมเคยถามพระภาวนาจารย์ผู้เป็นศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านหนึ่งว่า
“เมื่อเทพมาชุมนุมกันมาก ๆ จะเป็นเหตุให้เกิดลมอย่างนั้นหรือ” ท่านตอบทันทีว่า
“ใช่”ก็ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงในพรหมจรรย์ ย่อมเป็นเหตุให้เทพพรหมพึงใจแลเคารพรักยิ่ง เมื่อวันต้องพรากสังขารท่านไปด้วยไฟ ท่านผู้ลี้ลับซึ่งอยู่ต่างภพภูมิจึงแสดงอาการอาลัยอาวรณ์เป็นครั้งสุดท้ายกระมัง
หรือท่านว่าอย่างไร ? บทความนี้ได้ตีพิมพ์เมื่อ วันที่ 16 กรกฎาคม 2539