อังคาร 22 ก.ย. 2009 10:36 am
4-5ก่อนหลังจากที่ไหว้พระสวดมนต์เสร็จสิ้นยังมีเวลาเหลือจึงได้หยิบกล่องกำมะหยี่สีน้ำเงินลงมาดูว่าเป็นพระเครื่องที่ไหนจำไม่ได้เห็นวางตรงหน้าหิ้งมานานหลายปีเมื่อเปิดออกจึงนึกได้ว่าเป็นพระเครื่องที่ได้มาจากงานพระราชทานเพลิงศพของคุณอาประกอป กำเนิดพลอย ซึ่งแจกให้กับผู้ที่ไปร่วมงานในครั้งนั้นและเป็นเหรียญของพ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง หลัง ภปร.ปี 2521 จึงเป็นชนวนทำให้ผมอยากนำประวัติของท่านมาลงเพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของหลวงปู่(พ่อท่านคลิ้ง) มายังเวปแห่งนี้ครับ

- img023.jpg (72 KiB) เปิดดู 6305 ครั้ง
ย้อนหลังไปเมื่อ 123 ปี ท่านเกิดที่บ้านถลุงทอง ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ ตรงกับวันจันทร์ เดือน 9 ขึ้น 10 ค่ำ ปีจอ พ.ศ. 2429 บิดาชื่อ นายแก้ว มารดาชื่อ นางทุ่ม ฉิมแป้น ท่านเกิดในตระกูลของชาวนา ลักษณะเด่นคือเป็นคนที่ยิ้มตลอดเวลา สุขุม เยือกเย็น ต่อมาในปี พ.ศ.2438 บิดานำไปฝากอุปัชฌาย์ขำ วัดถลุงทอง ให้ศึกษาเล่าเรียน กอ ขอ นอ มอ จนอ่านออกเขียนได้ เมื่ออายุได้ 9 ปี อุปัชฌาย์ขำเห็นว่าหน่วยก้านความอดทนดี ว่านอนสอนง่าย มีความจำแม่นยำดี จึงพาไปฝากท่านเจ้าคุณศรีธรรมราช วัดพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช ท่านเจ้าคุณพิจารณาดูโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เห็นว่าเป็นคนที่มีบุญวาสนาดีจึงรับไว้ในความอุปถัมภ์ของท่าน ท่านฝากอุปัชฌาย์ขำนำกลับไปสู่บ้านถลุงทอง รอให้อายุครบ 12ปีก่อนจึงจะให้บวชเป็นสามเณร กาลเวลาผ่านไปจนถึงปีพ.ศ.2441 ท่านเจ้าคุณศรีธรรมราชจึงให้การบรรพชาเณรน้อยเมื่ออายุได้ 12 ปี สามเณรคลิ้งคงจำพรรษาอยู่ ณ วัดถลุงทอง คอยปรนนิบัติอุปัชฌาย์ด้วยความกัตญญููสืบมา อุปัชฌาย์ขำรักใคร่มากจึงอบรมสั่งสอนกรรมฐานและวิปัสสนาธุระให้ตามลำดับขั้น พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาคาถาอาคมสารพัดอย่างให้ตามพอใจ ยิ่งนานวันสามเณรน้อยยิ่งมีราศีเปล่งปลั่ง สมกับเป็นคนมีบุญญาธิการที่จะได้ช่วยพระศาสนามากยิ่งขึ้่น
ในปีพ.ศ.2461 อายุครบ 20ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ หลวงพ่อเอียด เป็นพระอุปัชฌายะ หลังจากบวชเป็นพระแล้วท่านได้ศึกษาวิชาความรู้จากพ่อท่านเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะวิชารดน้ำมนต์แบบพิศดาร ตลอดจนการดูฤกษ์ยามตามกาลสมัยนิยม เพื่อสงเคราะห์สาธุชนทั้งหลาย ภายหลังที่อุปัชฌาย์ขำและหลวงพ่อเอียดสิ้นบุญแล้ว ประชาชนและพระภิกษุ-สามเณรได้นิมนต์ให้ท่านรับตำแหน่งสมภารวัดถลุงทองสืบมา ตำราความรู้ต่างๆ ท่านนำมาช่วยเหลือประชาชนตามเขตถิ่นทุรกันดาร โดยไม่เคยแตะต้องกับปัจจัยเงินทองเลย ชีวิตไม่เคยใช้เงินไม่รู้ว่าเงินมีค่ามากน้อยอย่างไร การบำเพ็ญเพียรทางศาสนากิจเคร่งครัด เวลายิ่งผ่านไปหลายปี ชื่อเสียงของท่านก็เริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนในเมืองนครศรีธรรมราช

- 0310-071597.jpg (74.92 KiB) เปิดดู 6307 ครั้ง
หลวงปู่คลิ้งคงบำเพ็ญเพียรฝึกสมาธิจิตและวิปัสสนาตลอดมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใด ท่านจะสวดมนต์ไหว้พระทุกค่ำเช้ามิเคยขาดแม้บางครั้งท่านได้รับนิมนต์ไปทางรถยนต์ ท่านก็สวดมนต์ภาวนาไปตลอดทางจนถึงจุดหมายปลายทาง ประชาชนในเขตนครศรีธรรมราชจะนิมนต์ท่านไปในงานมงคลอยู่เสมอมิได้ขาด เพราะเชื่อกันว่า หากผู้ใดได้รับพรจากท่านแล้ว ชีวิตจะประสบแต่ความสุขความเจริญเป็นทวี
ในสมัยที่พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน ตลาดจันดี อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ยังมีชีวิตอยู่ ท่านมักจะพูดให้ผู้ศรัทธาฟังเสมอว่า ท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง ท่านเก่ง เป็นพระที่บริสุทธิ์ ควรแก่การกราบไหว้บูชายิ่ง ด้วยคำพูดประโยคสั้นๆแต่มีความหมายลึกซึ้ง ทำให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายเริ่มรู้จักหลวงปู่คลิ้งและบางคนที่เคยไปกราบไหว้มาแล้ว ก็เพิ่มศรัทธาในตัวหลวงปู่มากขึ้น ประกอบกับการปฏิบัติของหลวงปู่เคร่งครัด ไม่จับต้องเงินทองเลย การปฏิบัติต่อผู้ที่ไปหาท่านเสมอเหมือนกันไม่เลือกชั้นวรรณะ การรดน้ำมนต์ของหลวงปู่ก็แปลกกว่าพระอาจารย์ทั้งหลาย ท่านจะให้ทุกคนสวดมนต์ไหว้พระ รับศีล 5 เสร็จแล้วขอกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม หลังจากนั้นหลวงจะสอนให้ทุกๆคนว่าให้รู้จักการทำดีละเว้นทำชั่ว เสร็จแล้วหลวงปู่จึงรดน้ำมนต์ให้ ใช้เวลายาวนานถึง 30 นาที ทุกคนที่ไปให้ท่านรดน้ำมนต์ท่านจะปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกันหมด

- 1231061781.jpg (64.85 KiB) เปิดดู 6301 ครั้ง
เมื่อครั้งพระอาจารย์นำ ชินวโร วัดดอนศาลา พัทลุงยังมีชีวิตอยู่ท่านได้พูดถึงพ่อท่านคลิ้งหรือหลวงปู่คลิ้ง กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล อยู่เสมอว่า หากสิ้นฉันแล้วก็ยังมีพระที่น่านับถืออยู่อีกองค์หนึ่ง ขอให้ได้ไปหาท่านเถิด ท่านชื่อคลิ้ง อยู่วัดถลุงทอง เมืองนครฯ ครั้นเมื่อพระอาจารย์นำสิ้นบุญลงแล้ว พระเจ้าวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้เป็นประธานในการจัดงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์นำ และในงานนี้ได้จัดสร้างเหรียญพระอาจารย์นำ ภปร ขึ้นเป็นที่ระลึกในงาน จึงได้นึกถึงคำของพระอาจารย์นำได้จึงให้คณะกรรมการไปนิมนต์พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง มาทำการปลุกเสกเหรียญ และมาร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์นำ ชินวโร ที่ วัดดอนศาลา พัทลุง นั้นด้วย
ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์นำ ชินวโร วัดดอนศาลา พัทลุง นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพร้อมทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ได้เสด็จไปพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง หลวงปู่คลิ้งจึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและได้สนทนาธรรมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เป็นเวลานานถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยหลวงปู่คลิ้งเป็นอย่างมาก พร้อมกันนั้นทรงถวายปัจจัยให้หลวงปู่คลิ้งถึง 20,000 บาท เนื่องจากมีความศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง หลวงปู่คลิ้งได้ถวายน้ำพระพุทธมนต์ในวันนั้นแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์ นับว่าหลวงปู่คลิ้งได้มีโอกาสอย่างดียิ่งในการเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดครั้งนั้น

- img024.jpg (91.62 KiB) เปิดดู 6306 ครั้ง
เมื่อคณะกรรมการจัดงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์นำ พาหลวงปู่คลิ้งไปส่งถึงวัดถลุงทอง ได้เห็นว่าศาลาโรงธรรมที่วัดถลุงทองชำรุดทรุดโทรมาก จึงนำเรื่องมาเล่าให้ พระเจ้าวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ปรึกษาหารือกับกรรมการวัดแล้ว จึงได้บอกบุญผู้มีศรัทธาทั้งหลายให้ร่วมสร้างศาลา ก็ปรากฏว่ามีผู้ร่วมทำบุญมาก โดยมีพระเจ้าวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เป็นประธานในงานนี้ จึงได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกแจกแก่ผู้ทำบุญ ซึ่งได้ทุนทรัพย์ถึง 460,000 บาท ใช้สร้างศาลาโรงธรรม ขนาด กว้าง 9 เมตร ยาว 23 เมตร ขึ้นได้อย่างงดงาม
เมื่อครั้งหลวงปู่คลิ้งเดินทางเข้ากรุงเทพฯได้ปรารภกับพระเจ้าวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ถึงเรื่องการสร้างสะพาน ซึ่งหลวงปู่รอคอยความหวังนี้มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ที่จะไดด้เห็นสะพานถาวรเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะเกิดประโยชน์แก่ภิกษุ-สามเณรแล้ว ยังจะก่อประโยชน์แก่ท้องถิ่นอีกอย่างใหญ่หลวง หลวงได้บอกแก่ผู้ที่มีศรัทธามากราบท่านทุกคน เมื่อครั้งท่านมากรุงเทพฯในคราวนั้น ก็ปรากฏว่ามีผู้ร่วมศรัทธาจำนวนมาก และในโอกาสนั้นหลวงจึงได้ขอให้ พระเจ้าวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เป็นประธานในการจัดสร้างสะพานถวายท่าน พระเจ้าวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ก็รับด้วยความศรัทธาในหลวงปู่ และเห็นว่าการใช้งบประมาณในการสร้างสะพานนั้นมีมูลค่าถึง 2ล้านบาท หากจะให้ประชาชนทั่วไปร่วมทำบุญแล้วก็จะทำให้ประชาชนทั้งหลายได้กุศลกันเป็นจำนวนมาก จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร จารึกประทับหลังเหรียญพ่อท่านคลิ้ง ซึงคณะกรรมการวัดสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการตอบแทนผู้ที่ร่วมทำบุญในครั้งนี้และนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อหลวงปู่คลิ้งเป็นอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ห้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระปรมาภิไธย ภปร ให้

- 1224814742.jpg (31.91 KiB) เปิดดู 6300 ครั้ง
“เหรียญของพ่อท่านคลิ้ง” รุ่นนี้ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” มิได้เสด็จฯทรงประกอบพิธีแต่ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อ “พ่อท่านคลิ้ง” ได้ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิม “โลหะธาตุมหามงคล” แล้วพระราชทานให้นำมาหล่อหลอมผสมกับแผ่นทองลงอักขระเลขยันต์ของ “พ่อท่านคลิ้ง” นับเป็นร้อย ๆ แผ่นและโลหะสัมฤทธิ์เก่าสมัยบ้านเชียงที่มีอายุกว่า ๔,๐๐๐ ปี รวมถึงโลหะสัมฤทธิ์อันเป็น ชิ้นส่วนของพระพุทธรูปโบราณหลายสมัย เช่น ลพบุรี, ทวารวดี, สุโขทัย ฯลฯ
และจากพิธีสร้างที่ดีเยี่ยมนี้เองจึง เป็นเหรียญพ่อท่านคลิ้ง ที่มีประสบการณ์มากมายอย่างเช่น “นายสุนทร บุญชอุ่ม” ชาวตำบลคานโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล ได้เล่าให้ฟังว่า ตัวเขานั้นมีอาชีพเป็น “ไต้ก๋งเรือ” ประมงขนาดเล็กที่ออกหาปลาในแถบ “ทะเลอันดามัน” โดยมีลูกเรือเพียง ๕ คน ซึ่งช่วงที่พบประสบการณ์นั้น “นายสุนทร” จำได้แม่นว่าเป็นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เพราะเป็นฤดูมรสุมทางภาคใต้โดยขณะนำเรือออกหาปลาช่วงเวลาประมาณสองทุ่มเศษ ปรากฏคลื่นขนาดยักษ์ถล่มเรือประมงของเขาอับปางลง “นายสุนทร” พร้อมลูกเรือต่างกระจัดกระจายไปคนละทิศละทางโดย “นายสุนทร” ที่เคยเป็นลูกเรือมาก่อนจึงช่วยเหลือตัวเองด้วยการเกาะเศษไม้จากเรือที่ อับปางคอยพยุงตัวเองลอยคออยู่กลางทะเลถึง “๒ วัน ๒ คืน” โดยขณะนั้นได้แต่ภาวนาให้ “พ่อท่านคลิ้ง” ช่วยเหลือเนื่องจากในคอแขวน “เหรียญพ่อท่านคลิ้งหลัง ภปร” เพียงเหรียญเดียว กระทั่งเช้าตรู่วันที่สาม ขณะจวนจะหมดแรงอยู่แล้ว ก็มีเรือประมงขนาดใหญ่มาช่วยไว้และหลังจากฟังเรื่องราวของ “นายสุนทร” ทุกคนบนเรือประมงที่มาช่วยต่างสงสัยไปตาม ๆ กันว่า “นายสุนทร” รอดได้อย่างไรเพราะเป็นที่รู้กันดีในหมู่ชาวประมงหากเรือประมงขนาดเล็ก อับปางลงยังกลางทะเล ยากที่จะมีคนรอดได้แม้จะเก่งด้านว่ายน้ำแค่ไหนก็ตาม เพราะการว่ายน้ำข้ามวันข้ามคืนจะทำให้หมดแรงไปเองซึ่งตัว “นายสุนทร” เองก็ไม่รู้เช่นกันว่ารอดได้อย่างไรเพราะช่วงที่ลอยคออยู่ในทะเลนั้น คลื่นแรงมากปะทะหน้าอกเจ็บระบมไปหมดจึงได้แต่ภาวนาขอให้ “เหรียญพ่อท่านคลิ้ง ภปร” ที่แขวนอยู่ในคอช่วยแล้วกัดฟันว่ายน้ำไป

- 1231046570.jpg (62.82 KiB) เปิดดู 6285 ครั้ง
ส่วนอีกเรื่อง “นายฉลอง สง่าวงศ์” อาชีพทำไร่อยู่บ้านเลขที่ ๕๕๑ หมู่ ๔ ต.ไร่ใหม่ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าว่าตัวเขาชนะคดีความพิพาทกับเพื่อนบ้านเรื่องที่ดิน จึงถูกเพื่อนบ้านผู้นั้นเจ็บแค้นมาตลอด วันหนึ่งในเดือน มิ.ย. ๒๕๔๗ เวลาประมาณสามทุ่มเศษ ขณะ “นายฉลอง” เดินไปตามถนนในหมู่บ้านที่ทั้งมืดและเปลี่ยวปรากฏมีมือปืนมาซุ่มยิงด้วย “ปืนลูกซองกระสุนลูกโดด” (ปกติลูกซองจะเป็นกระสุนลูกปราย) สองนัดปรากฏว่าลูกกระสุนโดนลำตัวนายฉลองอย่างจังแต่นายฉลองกลับไม่เป็นอะไร มือปืนจึงยิงอีก ๒ นัด แต่กระสุนปืนก็ทำอะไรนายฉลองไม่ได้เช่นเคย มือปืนที่ซุ่มยิงจึงวิ่งเข้าหานายฉลองแล้วใช้ด้ามปืนตีท้ายทอยนายฉลอง ที่ยืนงงอยู่กับที่ถึงกับสลบเหมือดแล้วมือปืนจึงหนีไป กระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้นจึงมีคนมาพบจึงพยุงนายฉลองกลับบ้าน ปรากฏว่านายฉลองโดนยิงลำตัวถึง ๓ นัด แต่กระสุนไม่เข้าเป็นเพียง “รอยช้ำแดง” เท่านั้นนายฉลองจึงเชื่อมั่นว่าเป็นเพราะ “เหรียญพ่อท่านคลิ้ง หลัง ภปร” ที่ใส่ตลับสเตนเลสแขวนคอไว้เพียงเหรียญเดียวช่วยไว้...
เมื่อวันเฉลิมพระชนพรรษา 5 ธันวาคม 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสมนศักดิ์ให้หลวงปู่คลิ้ง จน̣ทสิริ เป็นที่ พระครู ภาวนาภิรมย์ พัดวิปัสสนาสีขาว ลำดับที่ 93 เท่ากับอายุ 93 ปี ของหลวงปู่คลิ้งพอดี นับว่าเป็นพระกรุณาธิคุณสูงสุดสำหรับหลวงปู่คลิ้ง หลวงปู่ได้สร้างสมบารมีมานานถึง 93 ปี เกือบถึงศตวรรษแล้ว หากได้ร่วมสร้างสะพานกับท่าน ก็เท่ากับได้ร่วมสร้างกุศลธรรมอันสูงสุดของชีวิต

- 1231062816.jpg (68.87 KiB) เปิดดู 6274 ครั้ง
เรื่องราวแห่งภิกษุชราวัย 93 ปี ซึ่งสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของสังคมมาในระยะเวลาอันยาวนาน ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนเช่นนี้ นับเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่งและควรแก่การนำมาเผยแพร่ เพื่อเกียรติคุณของท่านจะได้แผ่ไพศาล ควรค่าแก่การเป็นปูชนียบุคคลที่ระลึกถึงด้วยความเคารพกันต่อไป.

- CIMG4316.jpg (122.2 KiB) เปิดดู 6268 ครั้ง
หลวงปู่คลิ้ง ท่านได้ละสังขาร เมื่อ 21 มกราคม พ.ศ.2533 รวมสิริอายุ 104 ปี 84 พรรษา นับว่าเป็นคณาจารย์ที่อายุยืนนานอีกองค์หนึ่ง
ประวัติของหลวงปู่คลิ้ง วัดถลุงทอง นี้ผมได้พิมพ์คัดลอกมาจากหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของคุณ ประกอป กำเนิดพลอย ส่วนประสบการณ์ของเหรียญ หลัง ภปร คัดลอกมาจาก
http://www.tumsrivichai.com/index.php?l ... 82&Ntype=5 ขอขอบพระคุณครับ.