Switch to full style
รวมบทความที่น่าสนใจต่าง ๆ จากนักเขียนชื่อดัง และ ผู้ที่ทรงภูมิความรู้มากมาย
ตอบกระทู้

เขาอ้อคดีศึกษา ๒

พฤหัสฯ. 16 ต.ค. 2008 9:48 pm

สำนักวัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง : มหาวิชชาไลยพุทธาคม แบบพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายานศรีวิไชยในอดีตกับปัจจุบันที่คงอยู่ในความไหวเปลี่ยน ตอน ๒


(สะ) เขาอ้อคดีศึกษา ๒ : พระอาจารย์และศิษยานุศิษย์


วัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง เป็นแหล่งวิทยาคมทางไสยศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมา ตั้งแต่สมัยโบราณ พระเกจิอาจารย์ผู้สืบต่อวิชาทางไสยศาสตร์ ต่างก็เป็นที่พึ่งที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป เช่น พระอาจารย์
ทอง สมเด็จเจ้าจอมทอง พระอาจารย์พรมทอง พระอาจารย์ไชยทอง พระอาจารย์ทองจันทร์ พระอาจารย์ทองในถ้ำ พระอาจารย์ทองหน้าถ้ำ พระอาจารย์สมภารทอง

จนมาถึงยุครัตนโกสินทร์ พระอาจารย์ที่เป็นบรมครู คือ


พระอาจารย์พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า)


ศิษย์พระอาจารย์ทองเฒ่า ได้แก่
พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม วัดเขาอ้อ
พระครูสิทธยาภิรัต (พระอาจารย์เอียด) วัดดอนศาลา
พระครูรัตนาภิรัต (พระอาจารย์เน) วัดควนปันตาราม
พระอาจารย์มืด วัดป่าตอ
พระอาจารย์เปรม ติสสโร วัดวิหารสูง
พระครูพิศิษฐ์บุญญสาร (พระอาจารย์ปลอด) วัดหัวป่า ระโนด
พระอาจารย์เล็ก วัดประดู่เรียง
พระอาจารย์หมุน วัดเขาแดง
พระครูแก้ว วัดโคกโดน
หลวงปู่ฤทธิ์ อิสสโร วัดบ้านสวน
หลวงพ่อครน วัดลานแซะ

ฯลฯ


และที่เป็นศิษย์คฤหัสถ์ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ได้แก่

พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช
อาจารย์แจ้ง เพชรรัตน์
อาจารย์เปรม ฯลฯ


ศิษย์ที่สืบทอดต่อมา ได้แก่

พระครูพิพัฒน์สิริธร (พระอาจารย์คง สิริมโต) วัดบ้านสวน
พระครูกาชาด (พระอาจารย์บุญทอง) วัดดอนศาลา
พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ วัดดอนศาลา
พระครูสังฆรักษ์เอียด วัดโคกแย้ม
พระครูสิริวัฒนการ (พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร) วัดดอนศาลา
พระครูพิพิธวรกิจ (พระอาจารย์คล้อย อโนโม) วัดภูเขาทอง
พระครูวิโรจน์ศาสนกิจ (พระอาจารย์ช่วง) วัดควนปันตาราม
พระครูวิจิตรธรรมภาณ (พระอาจารย์สลับ) วัดป่าตอ
พระอาจารย์มหาอุทัย วัดดอนศาลา
พระครูขันตยาภรณ์ (พระอาจารย์พรหม ขันติโก) วัดบ้านสวน
พระครูอดุลธรรมกิตติ์ (หลวงพ่อกลั่น) วัดเขาอ้อ
พระครูสุธรรมวัฒน์ วัดพิกุลทอง
พระอาจารย์มหาจรูญ
พระอาจารย์มหาชวน วัดโคกเนียน
พระครูวิจารวรคุณ (พระอาจารย์ประดับ) วัดป่าตอ
พระครูถิรธรรมานันท์ (พระอาจารย์เงิน) วัดโพรงงู
หลวงปู่แก้ว วัดท่าสำเภาใต้


ฯลฯ


และที่เป็นศิษย์คฤหัสถ์ ได้แก่

อาจารย์ชุม ไชยคีรี
อาจารย์เริ่ม เขมะชัยเวช
อาจารย์ประจวบ คงเหลือ
อาจารย์เปลี่ยน หัสสยานนท์ ฯลฯ


มาถึงศิษย์รุ่นใหม่ปัจจุบัน ได้แก่


พระครูปัญญาธรรมนิเทศ (อาจารย์บุญราย) วัดสุวรรณคีรี
พระปลัดสมคิด วัดดอนศาลา
พระอาจารย์มหาศุภกร (อาจารย์ดาว) วัดบ้านสวน
พระครูวิจิตรกิจจาภรณ์ (อาจารย์เสถียร) วัดโคกโดน
พระครูโสภณกิตยาทร (อาจารย์รรรสิริ) วัดบ้านสวน
พระครูโสภณปัญญาสาร (อาจารย์ศัลย์) วัดนิคมพัฒนาราม
พระครูอุทัย อุทโย วัดวิหารสูง
พระครูสมุห์วิชาญชัย วัดพะโค๊ะ
พระอาจารย์มหาสุวรรณ (อาจารย์ทอง) วัดบ้านสวน
หลวงพ่อห้อง วัดเขาอ้อ


ฯลฯ



พระอาจารย์และศิษยานุศิษย์ ที่กล่าวถึงนี้เพียงส่วนหนึ่งเท่าที่ผู้เขียนทบทวนรำลึกได้เท่านั้น เพราะนั่งนับทบทวนเอาตามรายชื่อและเรียงลำดับพระอาจารย์และศิษยานุศิษย์ที่เรียนสืบต่อสายตรงกันมาจากเขาอ้อ และกล่าวได้ว่า ศิษย์สายเขาอ้อ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์มีมากมายจนไม่อาจนับได้ถ้วน ทั้งในจังหวัดพัทลุง จังหวัดใกล้เคียง และอยู่ทั่วในผืนแผ่นดินสยามประเทศไทยและต่างประเทศ เพราะมีการสืบต่อวิชากันทั้งแบบสายตรงและแบบครูพักลักจำ เรียนต่อๆ กันไปจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง

พระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อ ศิษย์สายเขาอ้อ และตำหรับวิชาเขาอ้อ จึงแผ่กระจายไปทั่วทุกสารทิศนับแต่โบราณกาลตราบเท่าจนปัจจุบัน

Re: เขาอ้อคดีศึกษา ๒

พฤหัสฯ. 16 ต.ค. 2008 9:49 pm

รออ่านตอน ๓ นะครับ

Re: เขาอ้อคดีศึกษา ๒

พฤหัสฯ. 16 ต.ค. 2008 10:41 pm

@@...อ่านม่ายทันแย้ววว..ตาชักลายยย.. :roll: :roll:
>>ขอบคุณค่ะ..ได้รู้อีกเยอะเลย ;) ;)

Re: เขาอ้อคดีศึกษา ๒

ศุกร์ 17 ต.ค. 2008 12:01 am

นำภาพพระอาจารย์ทองเฒ่า
มาฝากกันครับ....ไฟล์ขนาดใหญ่โหลดที่นี่ครับ---->
http://picasaweb.google.com/buddhanormo ... _TongTaou#

Re: เขาอ้อคดีศึกษา ๒

ศุกร์ 17 ต.ค. 2008 12:52 am

ประวัติสำนักวัดเขาอ้อ


ได้เกริ่นถึงส่วนของตำนานไปแล้ว ทีนี้มาดูหลักฐานที่ปรากฏเป็นประวัติของวัดเขาอ้อบ้าง อาจารย์ชุม ไชยคีรี ศิษย์เอกทางไสยเวทสำคัญคนหนึ่งของสำนักวัดเขาอ้อ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงประวัติวัดเขาอ้อไว้ในหนังสือ “พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (อาจารย์ทองเฒ่า) อาจารย์ผู้เฒ่าวัดเขาอ้อ” ตอนหนึ่งว่า


“เท่าที่ค้นพบจากพงศาวดาร และจากคำบันทึกของพระเจ้าของตำรา พระอาจารย์ทุกรูปในสำนักวัดเขาอ้อมีความรู้ความสามารถในทางไสยศาสตร์และได้ให้การสั่งสอนแก่ทุกชนทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นเจ้าเมืองและนักรบมาแต่ครั้งโบราณ เริ่มตั้งแต่สมัยศรีวิชัยตลอดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พระอาจารย์ที่ปรากฏองค์ที่ ๑ ชื่อ พระอาจารย์ทอง ในสมัยนั้น ทางฟากตะวันตกของทะเลสาบตรงกับที่วัดพระเกิด ตำบลฝาละมี อำเภอปาก พะยูนปัจจุบันนี้


ครั้งนั้น ตามพงศาวดารเมืองพัทลุง กล่าวว่า ยังมีตายาย ๒ คน ตาชื่อ สามโม ยายชื่อ ยายเพ็ชร์ ตายายมีบุตรและหลานบุญธรรมอยู่สองคน ผู้ชายชื่อ กุมาร ผู้หญิงชื่อ เลือดขาว นางเลือดขาวกล่าวกันว่าเป็นอัจฉริยะมนุษย์คือเลือดในตัวนางมีสีขาว ผิวขาวผิดกับมนุษย์ธรรมดาสามัญ ตาสามโมเป็นนายกองช้างหน้าที่จับช้าง เลี้ยงช้างถวายพระยากรงทอง ปีละ ๑ เชือก เมื่อบุตรธิดาทั้งสองเจริญวัยพอสมควรแล้ว ตายายจึงนำไปฝากให้พระอาจารย์ทอง วัดเขาอ้อ สอนวิชาความรู้ให้ พบบันทึกในตำราว่าเริ่มนำตัวไปถวายพระอาจารย์ทองเมื่อวันพฤหัสบดี ปีกุน เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จุลศักราช ๓๐๑ (พ.ศ.๑๔๘๒) จะศึกษาอยู่นานเท่าใดไม่ปรากฏ ทราบแต่ว่าเป็นผู้มีความรู้ทางอยู่ยงคงกระพัน กำบังกายหายตัว และอื่น ๆ เป็นอย่างดียิ่ง


ต่อมาตายายให้บุตรบุญธรรมทั้งสองแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน พระยากรงทองโปรดให้ได้เป็นเจ้าเมืองชื่อ พระกุมารและนางเลือดขาว ตั้งเมืองอยู่ที่บางแก้วฝั่งทะเลสาบตะวันตก ชื่อเมืองตะลุง ได้สร้างวัดและเจดีย์วัดตะเขียน (วัดบางแก้ว ต. เขาชัยสน จ. พัทลุง เดี๋ยวนี้)


การที่ให้ชื่อเมืองว่าเมืองตะลุง อาจจะเป็นเพราะว่าเดิมเป็นที่หลักล่ามช้าง ต่อมาจึงกลายเป็นเมืองพัทลุง พระกุมารและนางเลือดขาวเป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา สร้างวัดอาราม, พระพุทธรูป, พระเจดีย์ ทั้งในเขตเมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองตรังหลายแห่งด้วยกัน เช่น วัดบางแก้ว วัดสะทังใหญ่ เมื่อปีพ.ศ. ๑๔๙๓ สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดตรัง ๑ วัด (ในพงศาวดารฉบับหนึ่งกล่าวว่า สร้างครั้งสมัยพระเจ้าไสยณรงค์ เป็นเจ้ากรุงสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. ๑๕๐๐ (ผิดพลาดขออภัยด้วย) สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ๑ องค์ พอจะจับเค้ามูลได้ว่าวัดเขาอ้อมีมาก่อนเมืองพัทลุงเพราะพระกุมารมาศึกษาวิชาความรู้ก่อนเป็นเจ้าเมือง”


อีกตอนหนึ่ง “เมื่อจุลศักราช ๙๙๑ (พ.ศ. ๒๑๗๑) พระสามีรามวัดพะโค๊ะ หรือที่เราทราบกันเดี๋ยวนี้ว่าหลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ ซึ่งประชาชนในสมัยนั้นยกย่องถวายนามว่าสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ ท่านได้ไปเรียนพระปริยัติธรรม ณ กรุงศรีอยุธยา เป็นผู้แตกฉานในอรรถธรรม ครั้งนั้นยังมีพราหมณ์เป็นนักปราชญ์มาจากประเทศสิงหล (ลังกา) มาตั้งปริศนาปัญหาธรรมที่แสนยากพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้พระสามีรามเถระแก้ปัญหาธรรมนั้น ๆ จนชนะพราหมณ์ชาวสิงหล จึงพระราชทานยศเป็นพระราชมุนี เมื่อกลับมาเมืองพัทลุงได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระรัตนมหาธาตุไว้บนเขาพะโค๊ะ สูง ๑ เส้น ๕ วา มีระเบียงล้อมรอบพระเจดีย์ (แต่ตามตำนานของวัดพะโค๊ะเองบอกว่า หลวงปู่ทวดมาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์นั้นมาก่อนนั้นแล้วแต่ถูกทำลายเมื่อคราวอุชุตนะ จอมโจรสลัดมาลายูเข้าปล้นบ้านปล้นเมืองและทำลายวัดวาอารามชายฝั่งทะเลแถบภาคใต้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี –เขียน)


ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งฉลองพระเจดีย์นั้น ท่านพระอาจารย์เฒ่า วัดเขาอ้อ พัทลุง องค์หนึ่งชื่อ สมเด็จเจ้าจอมทอง ซึ่งคงจะเป็นชื่อที่ยกย่องเช่นเดียวกับสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ นำพุทธบริษัทไปในงานฉลองพระเจดีย์ทางเรือใบ แสดงอภินิหารวิ่งเรือใบเลยขึ้นไปถึงเขาพะโค๊ะซึ่งไกลจากทะเลมาก ทำให้ประชาชนที่เห็นอภินิหารเคารพนับถือและปัจจุบัน สถานที่ตรงนั้นเรียกกันว่า “ที่จอดเรือท่านอาจารย์วัดเขาอ้อ”


ต่อมา ท่านสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ ให้คนกวนข้าวเหนียวด้วยน้ำตาลโตนดภาษาภาคใต้เรียกว่า เหนียวกวน ทำเป็นก้อนยาวประมาณ ๒ ศอก โตเท่าขา ให้พระนำไปถวายสมเด็จเจ้าจอมทอง วัดเขาอ้อ ครั้นถึงเวลาฉัน ท่านสมเด็จเจ้าจอมทองสั่งให้แบ่งถวายพระทุกองค์ ศิษย์วัดตลอดถึงพระก็ไม่มีใครที่จะแบ่งได้เอามีดมาฟันเท่าใดก็ไม่เข้า ทราบถึงสมเด็จเจ้าจอมทอง ท่านสั่งให้เอามาแล้วท่านจึงเอามือลูบ แล้วส่งให้ศิษย์ตัดแบ่งถวายพระอย่างข้าวเหนียวธรรมดา


อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จเจ้าจอมทองให้พระนำแตงโมใบใหญ่ ๒ ลูกไปถวายสมเด็จเจ้าพะโค๊ะพอถึงเวลาฉันก็ไม่มีใครผ่าออก สมเด็จพะโค๊ะทราบเข้าก็หัวเราะชอบใจ พูดขึ้นว่า สหายเราคงแสดงฤทธิ์แก้มือเรา ท่านรับแตงโมแล้วผ่าด้วยมือของท่านเองออกเป็นชิ้น ๆ ถวายพระ


การแสดงอภินิหารของพระอาจารย์ครั้งโบราณเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ซึ่งมีมากอาจารย์ด้วยกัน ต่อจากนั้นพระอาจารย์วัดเขาอ้อทุก ๆ องค์ ได้แสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ตลอดมา จึงเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทุกชั้น เจ้าเมืองพัทลุงทุกคนต้องไปเรียนวิชาความรู้ที่วัดเขาอ้อ ปัจจุบันก็มีการศึกษากันอยู่


ลำดับพระอาจารย์เท่าที่ทราบชื่อมี ๑๐ ท่าน คือ

๑. พระอาจารย์ทอง
๒. พระอาจารย์สมเด็จเจ้าจอมทอง
๓. พระอาจารย์พรมทอง
๔. พระอาจารย์ไชยทอง
๕. พระอาจารย์ทองจันทร์
๖. พระอาจารย์ทองในถ้ำ
๗. พระอาจารย์ทองนอกถ้ำ
๘. พระอาจารย์สมภารทอง
๙. พระอาจารย์พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (อาจารย์ทองเฒ่า)
๑๐. พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม
(๑๑. พระครูอดุลธรรมกิตติ์ -หลวงพ่อกลั่น เจ้าอาวาสรูปล่าสุด มรณภาพ ๒๕๔๙)


พระอาจารย์วัดเขาอ้อทุก ๆ องค์ มีความรู้ความสามารถคล้ายคลึงกัน เพราะได้ศึกษากันมาไม่ขาดระยะ ตำราและวิชาความรู้ที่เป็นหลัก คือพระอาจารย์สำนักวัดเขาอ้อทุกองค์สอนเวทมนต์คาถาเป็นหลัก เรียนตั้งแต่ธาตุ ๔ ธาตุทั้ง ๕ แม่ธาตุ การตั้งธาตุ หนุนธาตุ แปลงธาตุ และตรวจธาตุ วิชาคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด มหาอุด สอนให้รู้กำเนิดที่มาของเลขยันต์อักขระต่าง ๆ ซึ่งใช้ความพยายามและจะต้องอยู่ปฏิบัติอาจารย์ จนอาจารย์เห็นความพยายามที่รักวิชาของศิษย์จึงจะสอนให้ ศิษย์ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจนทำให้ตามตำราก็มีจำนวนมาก


นอกจากสอนวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์แล้วยังสอนวิชาความรู้เกี่ยวกับยารักษาโรคจนกระทั้งตำรายาของสำนักเขาอ้อมีทั่วไป ทั้งภาคใต้ ตลอดไปถึงมาเลเซีย


วิชาไสยศาสตร์ที่เป็นหลักเดิมเป็นคุณวิเศษประจำอาจารย์ทุกองค์ คือ


๑. เสกน้ำมันงาให้เดือด ให้แข็ง แล้วทำพิธีป้อนให้ศิษย์เป็นคงกะพัน
๒.วิธีอาบว่านแช่ยา เป็นคงกะพันกันโรค
๓. พิธีหุงข้าวเหนียวดำกิน เป็นคงกะพัน กันเจ็บเอว เจ็บหลังเป็นอายุวัฒนะ
๔. พิธีสอนให้สักยันต์ที่ตัวด้วยดินสอหรือมือ เป็นคงกะพันชาตรีเป็นมหาอุด แคล้วคลาด เป็นเมตตามหานิยม
๕. พิธีลงตะกรุด ๑ ดอก ๔ ดอก ๕ดอก ๑๖ ดอก
๖. พิธีลงตะกรุด ๑ ดอก ๔ ดอก ๑๖ ดอก
๗.วิชาความรู้เกี่ยวกับฤกษ์ยาม ตามตำราพิชัยสงคราม
๘.วิชาความรู้ทางยารักษาโรค รักษาคนเป็นบ้า รักษาคนกระดูกหัก กระดูกแตก ต่อกระดูก รักษาโรค ตามตำราเขาอ้อ ต้องรักษาเพื่อการกุศลหายแล้วนำอาหารคาวหนาวไปถวายพระ
๙. พิธีพิเศษและสูงสุดระดับชาติ ระดับศาสนา คือ ทำไม้เท้ากายสิทธิ์ชี้ต้นตาย ชี้ปลายเป็น ช่วย ชาติในคราวคับขัน เป็นปริศนาธรรมให้ชาวพุทธพิจารณาแก้ช่วยกัน แก้ได้ โลกจะกลับคืนเข้าสู่สันติตัวจริง สันติตัวปลอมจะหมดไปจากโลก คือ ให้เจริญภาวนาให้เห็นว่าชี้ต้นนาย ชี้เป็นปลายเป็น เป็นตัวโลกุตรธรรม


ในพงศาวดารยังพูดถึงวัดเขาอ้ออีกครั้ง โดยปรากฏในประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง ดังที่อาจารย์ชุม ไชยศีรี ได้เขียนไว้โดยสังเขปในหนังสือเล่มเดียวกับที่อ้างถึงข้างต้น ความว่า


“... ในพงศวดารกล่าวว่า ครั้งสมัยศรีวิชัย ตอนกลางของแหลมมาลายูปรากฏว่ามีเมืองโบราณเก่าแก่อยู่ ๓ เมือง คือ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองหลวง มีเจ้าผู้ครองนคร ตกอยู่ในอำนาจของศรีวิชัยตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๐๐ ถึง พ.ศ. ๑๘๒๓ ต่อจากนั้นเข้ารวมอยู่กับอาณาจักรสุโขทัยครั้งพ่อขุนรามคำแหงเมืองพัทลุงกับเมืองไชยาเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองนครฯ


เมืองพัทลุงมีอาณาเขตติดต่อกับทะเลตะวันตกและทะเลตะวันออก ในสมัยนั้นมีเมืองขึ้นเล็กๆ หลายเมือง เช่น เมืองปะเหลียน เมืองจะนะ เมืองชะรัด เมืองเทพา เมืองกำแพงเพชร (อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา) เมืองสงขลา เมืองสทิง เมืองสิงห์ (กิ่งอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ในปัจจุบัน- ผู้เขียน) เมืองระโนด เมืองปราน เมืองสีชะนา (ที่ตั้งเมืองพัทลุงปัจจุบัน) ตัวเมืองพัทลุงสมัยนั้นตั้งอยู่ที่บางแก้ว (เขตอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เดี๋ยวนี้)

(ตามหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๕ จดหมายเหตุของหลวงอุดมสมบัติ จดหมายเหตุเรื่อง “สยามกับสุวรรณภูมิ” ของหลวงวิจิตรวามการ, และจาการค้นคว้าจากที่อื่นหลายแห่ง)


เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้งที่พม่ายกมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราชได้เป็นผลสำเร็จแล้วยกทัพตีมาเรื่อย พระยาพัทลุง (ขุน) กับพระมหาช่วย วัดป่าเลไลย์ ชาวบ้านน้ำเลือด ซึ่งเป็นศิษย์อาจารย์วัดเขาอ้อ มีความรู้เชี่ยวชาญในทางไสยศาสตร์ ได้ลงตะกรุดเลขยันต์ผ้าประเจียดให้ไพร่พล แล้วแต่งเป็นกองทัพยกไปคอยรับทัพพม่าอยู่ที่ตำบลท่าเสม็ด(อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน-ผู้เขียน) ทัพพม่ายามาถึงเห็นกองทัพไทยจากพัทลุงมีกำลังมากว่าตน แต่ที่จริงมีกำลังน้อยกว่ากองทัพพม่าหลายเท่า แต่ด้วยอำนาจเวทมนตร์คาถาที่พระมหาช่วยซึ่งนั่งบริกรรมภาวนาอยู่เบื้องหลัง ทำให้ข้าศึกมองเห็นเป็นจำนวนมาก และมีกำลังร่างกายสูงใหญ่ผิดปกติ


กองทัพพม่าไม่กล้ารุกเข้าเขตเมืองพัทลุงจึงหยุดอยู่เพียงคนละฝั่งแม่น้ำเป็นหลายวัน จนกองทัพหลวงก็ยกมาถึง พม่าจึงยกทัพกลับไปพระมหาช่วยมีความชอบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาแล้วโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น พระยาช่วยทุกข์ราษฏร์ เป็นผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง..


ปัจจุบัน พระยาช่วยทุกข์ราษฏร์ผู้นี้ ชาวจังหวัดพัทลุงยกขึ้นเป็นวีรบุรุษประจำเมืองโดยร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ประดิษฐานไว้เป็นที่เคารพบูชา และตั้งเด่นเป็นสง่าราศีแก่เมืองพัทลุงอยู่ที่สามแยกท่ามิหรำ อำเภอเมือง ซึ่งถนนสายสำคัญที่เข้าเมืองพัทลุงต้องผ่านทางนั้น


ประวัติวัดเขาอ้อปรากฏหลักฐานในเอกสารทางราชการอีกแห่งคือ ในสารานุกรมวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ ที่จัดโดยสถาบันทักษิณคดีศึกษาซึ่งได้เขียนประวัติวัดเขาอ้อไว้ย่อๆ ในส่วนของจังหวัดพัทลุง ความว่า


“...วัดเขาอ้อเป็นตั้งอยู่หมู่ ๓ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน วัดเขาอ้อเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในสมัยอยุธยา เดิมเป็นวัดร้างมาก่อน ต่อมา พ.ศ.๒๒๘๔ พระมหาอินทราชมาจากเมืองปัตตานีได้เป็นเจ้าอาวาส จึงทำการบูรณะสิ่งปรักหักพัง เช่น บูรณะพระพุทธรูปในถ้ำ ๑๐ องค์ สร้างอุโบสถ ๑ หลังเสร็จแล้วมีหนังสือถวายพระราชกุศลเข้าไปกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูปหล่อสำริด ๑ องค์หล่อด้วยเงิน ๑ องค์ แก่วัดเขาอ้อ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า


“เจ้าฟ้าอิ่ม เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ”


ต่อมาพระมหาอินทราชได้สร้างพระพุทธบาทจำลองด้วยมณฑปไว้บนเขาอ้อ สร้างพระพุทธไสยาสน์ ๑ องค์ และสร้างเจดีย์ไว้บนเขา ๓ องค์ เสร็จแล้วพระมหาอินทราชไปเสียจากวัด จึงทำให้วัดเสื่อมโทรมลงอีก ปะขาวขุนแก้วเสนา และขุนศรีสมบัติ พร้อมด้วยชาวบ้านใกล้เคียงได้ไปนิมนต์พระมหาคง จากวัดพนางตุงมาเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่นั้นมาวัดก็เจริญขึ้นเรื่อย มีเจ้าอาวาสปกครองวัดต่อ ๆ กันมากมายหลายสิบรูป ล้วนแต่มีความเชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ตราบเท่าทุกวันนี้”


พระพุทธรูปเจ้าฟ้ามะเดื่อที่ว่านี้ ยังมีผู้เล่าประวัติปลีกย่อยออกไปว่าที่เชื่อเช่นนั้นก็เพราะอดีตนายมะเดื่อหรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมัยเมื่อยังเป็นนายมะเดื่อที่เชื่อกันว่าเป็นราชโอรสลับ ๆ ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เดินทางไปศึกษาวิทยากรในสำนักเขาอ้อ โดยยกกันไปทั้งครอบครัว หนึ่งในจำนวนนั้นมีเชื้อพระวงศ์ แต่ไม่แน่ว่าเป็นสายใด มีชื่ออิ่มอยู่ด้วย ครั้นศึกษาได้พอสมควรแล้ว ก็เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เข้ารับราชการจนกระทั้งเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าเสือ ขณะที่อยู่ที่วัดเขาอ้อก็ได้สร้างปูชนียวัตถุไว้เป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่ง คือ พระพุทธรูปที่ว่านั่นเอง


ต่อมาเมื่อชาวบ้านทราบว่าผู้ที่เดินทางไปศึกษาวิทยาคุณในครั้งนั้นถึงเป็นถึงเจ้าฟ้าจึงได้ถวายนามพระพุทธรูปองค์นั้นตามชื่อผู้สร้าง คือ “เจ้าฟ้ามะเดื่อ” เพื่อเป็นอนุสรณ์เพราะสร้างตั้งแต่เป็นเจ้าฟ้ามะเดื่อ


ส่วนเจ้าฟ้าอิ่มนั้นก็เช่นกัน สร้างขึ้นโดยราชวงศ์องค์หนึ่ง ซึ่งมีนามเดิมว่า “อิ่ม” ซึ่งต่อมาได้เป็นใครก็ไม่อาจจะทราบได้ ผลแต่การศึกษาของเจ้าฟ้ามะเดื่อ หรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในทางวิทยาการแต่ในอดีตของสำนักแห่งนี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานบันผู้นำเพียงใดซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาแต่สำนักทิศาปาโมกข์แต่เดิม


สาเหตุที่ทำให้ข้อสันนิษฐานที่ว่า วัดเขาอ้อเคยเป็นสำนักทิศาปาโมกข์ของ พราหมณาจารย์ในอดีตส่วนหนึ่งก็เพราะความที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้นำ เพราะสำนักทิศาปาโมกข์ที่สืบถอดมาแต่ตักศิลาประเทศอินเดีย ส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่ถวายวิทยาการให้กับเชื้อพระวงศ์และลูกหลานผู้นำ เข้าใจกันว่า สำนักเขาอ้อแต่เดิม สมัยที่ยังเป็นสำนักทิศาปาโมกข์นั้น ผู้ที่เป็นศิษย์ของสำนักแห่งนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชนระดับผู้นำ ดังที่ปรากฏรายนามตามประวัติของวัด


วัดเขาอ้อที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวคงจะเป็นการพูดถึงเขาอ้อเพียงสมัยหนึ่ง คือสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่วัดเขาอ้อสร้างมานานกว่านั้นมาก ร้างและเจริญสลับกันเรื่อยมาตราบปัจจุบัน

+

+


(คัดจากหนังสือ “เขาอ้อ วิทยาลัยไสยเวทแห่งสยาม”
เวทย์ วรวิทย์ ค้นคว้า-เรียบเรียง
สำนักพิมพ์ร่มฟ้าสยาม)

Re: เขาอ้อคดีศึกษา ๒

ศุกร์ 17 ต.ค. 2008 9:35 pm

ติดตามอ่าน--

๕ พระอาจารย์อุปัชฌาย์ สายสำนักวัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง (๑)
๕ พระอาจารย์อุปัชฌาย์ สายสำนักวัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง (๒)
ตอบกระทู้