อาจารย์ประจวบ คงเหลือ เป็นชาวพัทลุงโดยกำเนิด ท่านเกิดและเติบโตที่บ้านโคกวัด
หมู่ที่ ๓ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
อายุ ๑๒ ปี บรรพชาสามเณรที่วัดสุวรรณวิชัย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพุทธิธรรมธาดา อดีตรองเจ้าคณะจังหวัด
พัทลุงและเจ้าอาวาสวัดสุวรรณวิชัย เป็นพระอุปัชฌาย์
แล้วอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดสุวรรณวิชัยจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก
ท่านมีความสนใจในเรื่องไสยเวทตั้งแต่บวชเป็นสามเณร
เนื่องจากได้อาศัยอยู่กับพระปลัดเล็ก รัตนโชโต ผู้ซึ่งมีความสนใจในเรื่องไสยศาสตร์
และเป็นผู้ที่มีหน้าที่เก็บรักษาตำราไสยศาสตร์ของวัด
สามเณรประจวบได้เรียนภาษาขอมจากท่านปลัดเล็กจนอ่านออกเขียนได้แล้วก็
เริ่มศึกษาไสยเวทย์จากตำราเหล่านั้นสำเร็จวิชาอาคมชั้นสูงต่างๆ ของเมือง
พัทลุงตั้งแต่ในวัยเด็ก
สามเณรประจวบอยู่ที่วัดสุวรรณวิชัยจนอายุครบอุปสมบทก็ได้อุปสมบท
เป็นพระภิกษุที่วัดสุวรรณวิชัยโดยมีพระเดชพระคุณพระพุทธิธรรมธาดาเป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูกรุณานุรักษ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระปลัดเล็ก รัตนโชโต
เป็นพระอนุศาสนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว พระภิกษุประจวบก็ได้ศึกษาไสยเวทตามตำรานั้นสืบต่อมา
จนได้รับการสนับสนุนจากท่านเจ้าคุณพระพุทธิธรรมธาดา เจ้าอาวาส
มอบตำราเก่าที่ท่านเก็บรักษาไว้ให้
อาจารย์ประจวบใช้ชีวิตในเพศภิกษุ ได้ ๒ พรรษา ก็ตัดสินใจลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตคฤหัสถ์
จนต่อมาผู้ใหญ่แดงมารับให้ไปอยู่ที่บ้านของท่านในฐานะบุตรบุญธรรม แล้วจัดการให้สร้าง
ครอบครัวอยู่ที่บ้านดอนนูดใกล้วัดดอนศาลา
เนื่องจากมีจิตใจที่ศรัทธาในไสยเวทย์อยู่แล้ว แม้ลาสิกขาแล้วอาจารย์ประจวบ
ก็ยังไม่เลิกสนใจวิชาอาคมต่างๆ ท่านจึงได้ไปขอศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์ศรีเงิน
วัดดอนศาลา อาจารย์ท่านมีพื้นฐานในเรื่องไสยเวทย์อยู่มากแล้วจึงได้ศึกษาวิชาอาคมต่างๆ
จากพระอาจารย์ศรีเงินจนสำเร็จวิชาอาคมชั้นสูงต่างๆ ของวัดดอนศาลา
และจึงได้ขอพระอาจารย์ศรีเงิน ให้พาไปฝากเรียนวิชาต่างๆ ของวัดเขาอ้อ
อาจารย์ประจวบ จึงได้เรียนวิชาต่างๆ ของวัดเขาอ้อจากศิษย์ปรมาจารย์ทองเฒ่าหลายท่าน
ที่ยังมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้นทั้งพระและฆราวาส เช่น อาจารย์แจ้ง เพชรรัตน์ อาจารย์เปรม นาคสิทธิ์
อาจารย์ประจวบ ศึกษาวิชาเหล่านี้ด้วยความตั้งใจเพียงไม่นานก็มีความชำนาญ
และได้นำวิชาอาคมต่างๆ ของสำนักเขาอ้อมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก
จนถึงปัจจุบันนี้ และเป็นผู้ที่ได้รวบรวมสืบสานวิชชาพุทธาคมแห่งสำนักเขาอ้อ
เป็นเจ้าพิธีแห่งเขาอ้อ ฝ่ายคฤหัสถ์ ในพิธีการสร้างและปลุกเสกอิทธิวัตถุมงคลแห่งเขาอ้ออันเข้มขลัง
การสร้างอิทธิวัตถุมงคลแห่งสำนักเขาอ้อ นิยมกระทำกันภายในวัด จัดหล่อ กดพิมพ์
ก็มักทำกันเองในวัดและทั้งออกแบบพิมพ์ ก็จัดออกแบบกันเองโดยพระอาจารย์แห่งเขาอ้อ
และอาจารย์ประจวบ
อิทธิวัตถุมงคลของสำนักเขาอ้อ ในยุคปัจจุบัน (๒๕๒๐ เป็นต้นมา) ได้รับการออกแบบ หล่อ ปั้ม
โดยอาจารย์ประจวบ คงเหลือ
กล่าวได้ว่า ท่านอาจารย์ประจวบ คงเหลือ เป็นทั้งนักออกแบบด้านพุทธาคมศิลป์ นักสร้าง
โดยการออกแบบ ทำเบ้าหล่อ เบ้าพิมพ์ การหล่อ การปั้ม ท่านกระทำเองทั้งหมดโดยยึดรูปแบบทุกอย่าง
ที่ท่านโบราณาจารย์ทำได้กระทำไว้
การออกแบบท่านจะร่วมกันกับพระอาจารย์ศรีเงิน พระอาจารย์คล้อย และพระอาจารย์พรหม
องค์รูป และเลขยันต์พุทธาคมเขาอ้อ จึงได้สืบทอดเด่นเป็นเอกลักษณ์จากอัตลักษณ์แห่งเขาอ้อ
โดยแท้จริง มาจนถึงปัจจุบันกาล
วิชาที่ท่านอาจารย์ประจวบ คงเหลือ เชี่ยวชาญมีลูกศิษย์นิยมให้ท่านทำให้เสมอ
คือ หุงข้าวเหนียวดำ,กินว่าน กินมัน,แช่ยา,ปรุงยาจินดามณี ฯ
อิทธิวัตถุมงคลที่สร้าง
๑. พระผงมหาว่าน สุวรรณวิชัย ย้อนยุค
๒. ลูกอมเนื้อว่าน
๓. ธงกันขโมย
๔. สีผึ้งเมตตา
๕. ตะกรุดจันทร์เพ็ญ,ตะกรุด ๙ ดอก,ตะกรุดกันปืน,
ตะกรุดบุรุษ ๘ จำพวก,ตะกรุดเมตามหาลาภ
๖. แหวนหล่อราหู,แหวนหล่อพิรอด
๗. อิทธิวัตถุมงคล ชุดราหู - ราหูหล่อโบราณและราหูเนื้อผง
๘. ผ้ายันต์
๙. อิทธิวัตถุมงคล รุ่น ๗๐๐ ปี ศรีวิชัย (พ.ศ. ๒๕๔๘)
จัดสร้างที่วัดสุวรรณวิชัย (วัดกุฎิ) ตำบลควนขนุน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
วัตถุประสงค์เพื่อหารายได้นำไปสมทบทุนสร้างพิพิธภัณฑ์และหอสมุดของวัดสุวรรณวิชัย
ประกอบพิธีพุทธาภิเษก
- วันที่ 23 เมษายน 2548 พิธีบวงสรวง และกดพิมพ์องค์นำฤกษ์ ณ.วัดสุวรรณวิชัย
- วันที่ 22-24 พฤษภาคม 2548 พิธีบวงสรวงเทวดา พิธีมหามงคลพุทธาภิเษก ณ.วัดบ้านสวน จ.พัทลุง
- วันที่ 23 สิงหาคม 2548 พิธีมังคลาพุทธาภิเษก ณ. ถ้ำฉัตทันต์บรรพต วัดเขาอ้อ
- วันที่ 27 สิงหาคม 2548 พิธีมังคลาเทวาภิเษก ณ. วัดสุวรรณวิชัย
อิทธิวัตถุมงคลประกอบด้วย
- เทพราชันย์ รูปเหมือนขนาดบูชา
- เทพราชันย์ หล่อลอยองค์
- พระผงองค์เทพราชันย์
- พระว่านองค์เทพราชันย์
- พระผงองค์เทพราชันย์
ฯลฯ
** ดูภาพได้ที่
http://picasaweb.google.co.th/buddhanormo/Prajauop#