* สรุปความและคัดลอกเป็นบางตอนมาจากหนังสือ ตามรอย ธมฺมวิตกฺโก. พระอรหันต์กลางกรุง
ท่านเจ้าคุณนรฯ (ท่านเจ้าพระคุณธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ หรือ พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต) ได้เคยบอกกับคุณลุงโกศล ปัทมะสุนทร (หลานชาย) ว่า ของบางอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นพระเครื่องก็ศักดิ์สิทธิ์ได้เช่นกัน สมัยก่อน (โบราณ) จะมีลูกอม และอยู่ที่คนนับถือเลื่อมใสต่อสิ่งนั้นด้วย ก็สามารถป้องกันอันตรายได้
อย่างก้อนกรวดนี้ สมัยก่อนก็ทำแจกเพื่อไปรบทัพจับศึก เพื่อป้องกันอันตราย ก้อนกรวดนี้มาจากทราย กว่าก้อนกรวดจะโตต้องใช้เวลานานมากเป็นร้อย ๆ ปี หรือพัน ๆ ปี และก้อนกรวดก็เป็นสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติ
หลังจากที่ท่านเจ้าคุณนรฯ ได้กำชับให้คุณลุงโกศลไปเอาก้อนกรวดมาจาก อำเภอบางบ่อ แล้ว ท่านก็เมตตาอธิษฐานเสก ให้โดยใช้คาถา
"ปลุกธาตุ" ก่อน ขณะท่านสวดพึมพัม ได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง คุณลุงโกศลบอกว่า มีคาถาชินบัญชรด้วย
ท่านเจ้าคุณนรฯ อธิบายว่า
ก้อนกรวดนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์มาก เรียกว่า พระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ หมายความว่า ก้อนกรวดนี้มีจิตเมตตา ถึงใครจะเหยียบย่ำทำสิ่งใดก็ไม่ว่า ประดุจพ่อแม่ที่รักลูก จะมีแต่ความเมตตากรุณาต่อลูกทุกคน แม้ลูกจะกระทำสิ่งใดผิด ก็จะให้อภัยเสมอ ฉะนั้น ก้อนกรวดนี้จึงมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มาก หากจะมอบให้ใคร ก็จงมอบให้แก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาเท่านั้น
เพราะสิ่งของนี้มีค่ายิ่งกว่าเพชรพลอย พระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ มีทั้งหมด ๙ คำ
๑. พระ
๒. พ่อแม่
๓. ธอ
๔. ระ
๕. ณี
๖. ปะ
๗. ฐะ
๘. วี
๙. ธาตุ
ท่านเจ้าคุณนรฯ ยังได้กล่าวสำทับอีกว่า
"ก้อนกรวดนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก สามารถที่จะคุ้มครองป้องกันนิวเคลียร์ และป้องกันไฟได้อีกด้วย" นอกจากนี้ ก้อนกรวดยังมีอานุภาพ ๙ อย่าง คือ
๑. พระเมตตา
๒. พระมหาเสน่ห์
๓. พระมหานิยม
๔. พระอุดมลาภ
๕. พระมหาลาภ
๖. พระมหาอุด
๗. พระอยู่ยงคงกระพันชาตรี
๘. พระแคล้วคลาดอันตราย
๙. พระหายตัวได้ (ศัตรูมองไม่เห็นตัว)
ส่วนวิธีการเลี่ยมนั้น ท่านเจ้าคุณนรฯ ได้เมตตาแนะนำว่า ให้ตัดกระดาษ หรือ โลหะ แผ่นทองเหลือง ทองแดง เงิน หรือทองคำก็ได้ มาตัดเป็น
รูปใบโพธิ์ ให้เขียนอักขระขอมตัว
"อุณาโลม ๙ ชั้น" อยู่ด้านบน หางตัวอุณาโลมชี้ตรงไปจรดปลายใบโพธิ์ ส่วนใต้ตัวอุณาโลม ให้เขียนอักขระภาษาไทยก็ได้ว่า
"น" สำหรับใต้ตัว "น" ลงไป ให้เขียนชื่อ - สกุล ของผู้ที่เป็นเจ้าของก้อนกรวดนั้น แล้วจึงนำก้อนกรวดวางลงตรงกลางใบโพธิ์ที่เขียนแล้วนำไปเลี่ยมห้อยคอ จะเกิดสิริมงคลแก่คนห้อยทุกคน
กราบขอบพระคุณคณะศิษยานุศิษย์ ใน ท่านเจ้าพระคุณธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ