หลวงปู่คำพันที่ผมรู้จักโดย รณธรรม ธาราพันธุ์ 1...
ตอนสายของวันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2537 โตโยต้าเก๋งสีขาวคันหนึ่งวิ่งฝ่าเปลวแดดที่ร้อนระอุไปตามทางลูกรังสีแดงส้ม ในรถมีคนนั่งอยู่ 3 คน กลางธรรมชาติซึ่งคนเมืองไม่ค่อยได้สัมผัสอย่างนั้น ทำให้สามชีวิตในรถเพลิดเพลินและคิดกันไปเงียบ ๆ
ถ้าไม่ใช่เพราะหนทางที่ยาวไกลจนดูเหมือนผิดปกติ
บุญถนอม การุณยวณิช ผู้หญิงคนเดียวในคณะคงไม่ทำลายความเงียบขึ้น
“ เอ๊ะ ! เราหลงหรือเปล่านี่ “
“ ไม่หรอก...เพราะก่อนเข้ามาเราก็ดูป้ายบอกทางแล้วนะ เขาก็ว่าให้เข้าทางบ้านนามะเขือได้นี่”
ผมตอบเธอไปอย่างให้ความมั่นใจ ทั้งที่ลึก ๆ ในใจคนผู้ไม่เคยเหยียบย่างมาละแวกนี้เลยเช่นผมก็ยังหวั่นไหวกับคำปลอบของตัวเองเหมือนกัน
ทุ่งข้าวสีเขียวสดแลดูเวิ้งว้างถึงขอบฟ้า ทำให้บ้านไม้เก่า ๆ ใต้ถุนสูงเหล่านั้นมองเห็นชัดเพราะตัดกับใบข้าว บ้านที่ขึ้นโดดเดี่ยวและห่างกันเป็นระยะ ทำให้ผมรู้สึกว้าเหว่ไม่ต่างกับรถคันเดียวที่วิ่งอยู่โดยลำพัง
เก๋งสีขาวยังห้อตะบึงแบบไม่ยี่หระกับถนนดินแดงที่แห้งผาก ผมมองฝุ่นสีแดงฟุ้งกระจายขึ้นตัดแสงอาทิตย์ ก่อนจะทิ้งตัวลงช้า ๆ ไปจับอยู่ตามใบข้าว เลยดูเหมือนว่าใบข้าวสีเขียวอมส้มเหล่านั้นกำลังเปลี่ยนสีเพื่อผลัดใบ
จากทุ่งนาที่กว้างใหญ่ ถนนลูกรังเริ่มทอดตัวเข้าสู่ดงไม้ที่ไม่เขียวชอุ่มเอาเสียเลย ใจที่ค่อนข้างแห้งแล้งความหวัง พอมาเจอสภาพเช่นนี้ก็ใจเสีย บุญถนอมจึงเปรยทีเล่นทีจริง
“มาซะไกลขนาดนี้ไม่ใช่พอเจอวัดหลวงปู่ปรากฏว่าทางเข้าอีกทางแค่กิโลเดียวล่ะ”
“ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ทำใจเถอะน่า คนไม่เคยมานี่นา”
อีกพักใหญ่ทีเดียว รถเก๋งสีขาวซึ่งบัดนี้เปลี่ยนเป็นสีแดงไปได้อย่างน่าประหลาดก็แล่นผ่านวัดแห่งหนึ่ง ผมอ่านป้าย
“วัดป่าอรัญญคาม”“เฮ..! จะถึงแล้วย้ง น๋อม วัดนี้เป็นวัดสาขาของท่าน หลวงปู่ท่านใช้ที่นี่สำหรับพักผ่อนและภาวนา”
กำลังใจมาเป็นอักโข
นิวัฒน์ ภูริภาคย์วงศ์ สารถีคนดีของพวกเราก็เร่งรถเป็นการใหญ่ เพราะหวังที่พวกเรามีไม่ใช่เพียงพักกายที่แสนเมื่อยล้าจากการเดินทาง หากปรารถนาจะพบพระที่พวกเราเชื่อว่าดี พระผู้เฒ่าที่เราเดินทางมาด้วยศรัทธากว่า 800 กิโล.
2...
กุฏิหลวงปู่คำพันดูเงียบเชียบตรงข้ามกับอุโฆษในชื่อเสียงที่ควรจะมีใครต่อใครเฝ้าแหนมากกว่าที่เป็นอยู่ ผมเสียวใจขึ้นทันทีด้วยเกรงความผิดหวังว่าหลวงปู่จะไม่อยู่เพราะนิมนต์ของใครต่อใครที่มีก่อนหน้าผม
เราทั้งสามเลียบเคียงไปตามกุฏิท่าน เห็นเพียงชายวัยกลางคนดูแลวัตถุมงคลอยู่ด้านในของตู้ เพราะไม่รู้จักใคร ผมจึงถามศิษย์คนนั้นว่าหลวงปู่ไม่อยู่หรืออย่างไร คำตอบที่ได้เป็นทั้ง
ข่าวดีและข่าวร้าย
นั่นคือหลวงปู่อยู่แน่นอน หากกำลังพักอยู่ในห้อง นี่เป็นข่าวดีที่ชุบใจผมให้พองโต และแตกโพล๊ะในทันทีที่ได้ยินประโยคต่อมา
ท่านจะออกมาอีกทีก็บ่ายสามโมง
นี่เป็นข่าวร้าย...
นาฬิกาที่ข้อมือผมบอกเวลาเที่ยงห้านาที เพราะใจที่ไม่อยากผิดหวังผมมองนาฬิกาบนข้อมือคนโน้นคนนี้ด้วยหวังให้เรือนของผมช้าไปสักสองชั่วโมง
แต่มันก็ตรงดี
ผมเดินเหมือนหมดแรงไปนั่งหน้าประตูห้องท่าน เหลือบไปเห็นไวท์บอร์ดบันทึกกิจนิมนต์ของหลวงปู่คำพันยาวเหยียด นั่นเป็นนิมนต์ตลอดทั้งปีของท่าน ในทุก ๆ เดือน และทุก ๆ วัน มีนัดหมายดำพืดไปหมด ขาวสะอาดอยู่ช่องเดียว วันเดียวในปีนั้น
วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2537นิวัฒน์ และ บุญถนอมเดินดูเครื่องมงคลอย่างไม่รู้จะทำอะไรดี ตอนหนึ่งนิวัฒน์มองเห็นรูปเหมือนบูชาหน้าตัก 5 นิ้วของท่านฐานปั้นแต่งเป็นพญานาคสองตนโอบกอดโดยรอบ เขาเกิดชอบใจขึ้นมาเมื่อถามค่าบูชาก็ 800 บาท แท้จริงไม่แพงเลยหากนึกถึงระยะทางที่อุตสาหะมา
หากศรัทธาในองค์ท่านหรอกที่เป็นอุปสรรคเล็ก ๆ ด้วยขณะนั้นทั้งสองคนรู้จักหลวงปู่คำพันเพียงวาจารับรองจากผมเท่านั้น ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก ย่อมไม่สามารถแลกปัจจัยที่สูงราคาได้ โดยเฉพาะเมื่อยังต้องเดินทางอีกเกือบ 700 กิโล.
เมื่อความอยากกับความศรัทธาต่อสู้กันอยู่ในใจไม่รู้แพ้ชนะ นิวัฒน์จึงตัดสินใจอธิษฐานอย่างเงียบ ๆ ว่า
“หลวงปู่ครับ ถ้าหลวงปู่เก่งจริงอย่างที่ต่อบอก ผมขอให้หลวงปู่ออกมาโปรดด้วยเถอะครับ เพราะผมเดินทางมาไกลเพื่อหลวงปู่โดยเฉพาะ จะไม่ขอรบกวนนานเลยเพียงแค่กราบแค่ถวายช็อคโกแลตและถวายปัจจัยก็จะเดินทางไปอุบลฯต่อเลย ถ้าหลวงปู่ได้ยินและออกมาจริง ๆ ผมจะขอเช่ารูปหล่อองค์นี้ทันที”ไม่มีใครได้ยินเสียงร่ำร้องในใจของนิวัฒน์แม้บุญถนอมผู้ยืนอยู่ข้าง ๆ สำหรับผมที่ชักชวนพวกเขามารู้สึกเหมือนแบกความรับผิดชอบก้อนใหญ่ไว้บนบ่า ค่าที่เป็นคนเริ่มชวนจึงรู้สึกผิดจริง ๆ
ฉะนั้น จึงมิได้มีเพียงเสียงร่ำร้องของนิวัฒน์คนเดียว หากผมก็คร่ำครวญไม่ต่างไปว่า
“ขอเวลานิดเดียวนะครับหลวงปู่ ต่อเชื่อหลวงปู่ว่าจะรู้ได้ถึงความคิดที่มีศรัทธาอย่างนี้ ในเมื่อตลอดทั้งปีไม่มีว่างกิจนิมนต์เลยนอกจากวันนี้วันเดียว ต่อถือว่าเป็นเพราะหลวงปู่เมตตามาแต่ต้นแล้วแน่นอนจึงขอรบกวนอีกสักครั้ง นะครับหลวงปู่...นะครับ...ขอหลวงปู่เมตตา...”
ครืด...
เสียงประตูเลื่อนซึ่งเป็นกระจกติดฟิล์มสีดำเคลื่อนตัว แม้ผมนั่งหลับตาอยู่ใจก็ระทึกขึ้นสุดส่วนด้วยเชื่อเหลือเกินว่าผู้เปิดต้องเป็นท่าน ไม่...แม้จะเผื่อพลาดหวังว่าจะเป็นพระ-เณร
หลวงปู่คำพันจริง ๆท่านอยู่ในชุดที่เรียกว่าห่มดองพาดสังฆาฏิรัดอกอย่างเรียบร้อย ท่านยืนประจันหน้ากับผมห่างกันไม่ถึงเมตร ผมจำสายตานั้นได้ไม่มีวันลืม ตาที่มองมาอย่างเมตตา มองอย่างสงสาร
และมองอย่างรู้ทันผมทำอะไรไม่ถูก ไม่ได้เตรียมใจกับสถานการณ์อย่างนี้ ชั่วลมหายใจเข้าออกที่มองกัน ท่านก็หัวเราะเบา ๆ ในลำคอ “หึ..หึ..”
จากนั้นก็เดินไปหยิบแป้งเจิมและทำอาการอย่างให้รู้ว่า
เตรียมตัว
นิวัฒน์วิ่งไปเปิดประตูรถรอท่า หลวงปู่เดินไล่เจิมรถที่จอดหน้ากุฏิในวันนั้นทุกคันที่ขอให้เจิม สมใจเจ้าของรถเช่นนิวัฒน์เป็นยิ่ง เพราะรถเขายังไม่ได้เจิมและหลวงปู่คำพันก็เป็นเป้าหมายหลักในใจแต่ไม่มีใครกล้าออกปาก ไม่รู้หรอกว่าท่านจะเมตตาปานนั้น
เจิมรถแล้วเราก็รอศรัทธาคนอื่น ๆ คุยกับท่าน ไม่ช้าไม่นานเขาเหล่านั้นก็กลับหมด เหลือเพียงท่านกับเราจริง ๆ
“มาจากไหนล่ะ”
“ชลบุรีครับ”
“อื้อมาไกลนะ เข้ามาวัดหลวงปู่จากทางไหน”
แปลกใจกับคำถามท่านเหมือนกัน แต่ก็เรียนไปว่า
“มาทางนี้ครับ ทางที่ผ่านวัดป่าอรัญญคามน่ะครับ” ตอบไปพลางชี้มือประกอบไป
“โอ้..! ไกลนะ มันอ้อมไกลมาก วันหลังให้มาถนนใหญ่แล้วเข้าทางหน้าวัดนี่นะไม่อ้อมด้วย”
ผมสามคนมองหน้ากัน จึงเรียนถามว่า
“ถ้าเข้าหน้าวัดไกลแค่ไหนครับ”
“กิโลเดียว” ท่านตอบ
เหตุนี้ผมจึงถูกรุมประณามจากเพื่อนทั้งสองมาตลอด พูดถึงหลวงปู่คำพันเมื่อไร ถนนลูกรังสีสดก็จะกลายเป็น ไฮไลท์ ของเรื่องทุกครั้งไป
ตอนหนึ่งของการสนทนาที่ยาวนาน ผมเรียนถามว่าหลวงปู่เป็นศิษย์ในหลวงปู่เสาร์ดังที่เขาว่ากันจริงหรือ ท่านว่า
“เป็นอยู่ แต่เป็นศิษย์ที่ไม่ได้อยู่กับอาจารย์”
ทราบภายหลังว่าท่านเคยพบหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่ก็สอนวิธีการทำกัมมัฏฐานให้ แต่ท่านไม่ได้ติดสอยห้อยตามดังเช่นพระรูปอื่น ๆ
ครั้นได้สัมผัสเมตตาธิคุณในหลวงปู่คำพันอย่างถึงใจ ผมก็อดไม่ได้ที่จะเรียนท่านไปตามความรู้สึกว่าหลวงปู่ใจดีจัง ใจดีเหมือนหลวงพ่อพุธเลย
ท่านมองหน้าผมแล้วยิ้ม เป็นยิ้มที่นอกจากเห็นรอยน้ำหมากแล้วยังได้เห็นน้ำใจนักปฏิบัติเช่นท่านด้วย เมื่อท่านตอบว่า
“หลวงปู่ใจไม่ดีหรอก สู้หลวงพ่อพุธไม่ได้หรอก” เช่นนี้ไหมที่เรียกว่าปล่อยอัตตาให้ลอยหาย ผมไม่ทราบได้ว่าหลวงปู่คำพันเป็นพระชั้นใดภูมิใด แต่เมตตาและมธุรสวาจาเช่นนั้นก็พอแล้วที่จะทำให้คนเขลาอย่างผมเคารพบูชาท่านเป็นที่สุด
เราทั้งสามกราบลาหลวงปู่คำพันอย่างเต็มตื้นในใจ หมายมั่นโดยมิได้นัดว่านับแต่นี้มีท่านเป็นครูบาอาจารย์อย่างยิ่งอีกองค์หนึ่ง และถ้าพร้อมเมื่อใดเราก็จะขึ้นมากราบแทบเท้าหลวงปู่ผู้เป็นยิ่งกว่า ครู อีกเมื่อนั้น
3...
เช้าวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 เสียงโทรศัพท์ปลุกผมให้ตื่นขึ้นเพื่อรับฟังข่าวร้าย ข่าวที่มีแต่ด้านร้ายอย่างเดียวไม่มีข่าวดีอีกด้านให้รับฟังเหมือนอย่างที่กุฏิหลวงปู่
หลวงปู่คำพัน มรณภาพแล้ว ผมจะบอกความรู้สึกอย่างไรได้ ในเมื่อมันเป็นของที่ไม่อาจสาธารณะให้แก่ใคร ๆ และถึงจะพูดไป ความด้อยค่าที่ไม่ได้เป็นก้นกุฏิเช่นผมคงไม่ช่วยให้คำพูดผมกลายเป็นส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสืออนุสรณ์แด่หลวงปู่คำพัน
ผมเคยอยากเขียนสิ่งที่เรียกว่า “คำไว้อาลัย” แต่เมื่อคิดถึง
หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล ผู้มีฉายาว่า
“อนาลโย” ซึ่งแปลแล้วคือ “ผู้ไม่มีความอาลัย” ผมก็ฟุบแฟบในปัญญาที่จะเขียน
ครั้นจะเขียนในสิ่งที่เรียกว่า “คำไว้ทุกข์” ผมก็คิดถึง
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ในธรรมวาจาของท่านที่ว่า “ทุกข์เป็นของควรกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วก็ให้ละเสีย ไปไว้มันทำไม”
ณ ที่นี้ จึงมีเพียงความเคารพเทิดทูนอยู่ในทุกตัวอักษร เพราะผมเชื่อเหลือเกินว่าหลวงปู่คำพันเป็นทั้ง
“ผู้ไม่มีความอาลัย” และเป็น
“ผู้ละทุกข์” เสียได้โดยสมบูรณ์
เคยคิดเสียใจกับการจากไปของท่าน แต่นึกเห็นที่อันท่านจะได้ไปมันก็หายเสียใจได้เอง สิ่งที่เหลืออยู่คือความเสียใจที่ไม่อาจใช้ชีวิตหลังความตายได้อย่างท่าน หลวงปู่ท่านวางภาระทั้งปวงได้แล้วโดยแท้ หากผมยังแบกภาระขันธ์ห้าอยู่อย่างนี้และคงถือมั่นต่อไป คิดเท่านี้ก็เสียใจให้กับตัวเองได้อีกนานแล้ว.