โดยรณธรรม ธาราพันธุ์พระไตรภาคี เป็นพระเครื่องดียิ่งชุดหนึ่งในยุทธจักรนักนิยมพระ ถูกสถาปนาขึ้นโดย
ยุวพุทธิกสมาคม ชลบุรี ซึ่งมีคุณ
อธึก สวัสดีมงคล อดีตนายกฯเป็นแกนนำ ในวาระแรกพระไตรภาคีสร้างเพื่อถวายให้
ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต หรือ
ท่านธัมมวิตักโกภิกขุ แห่งวัดเทพศิรินทราวาส เป็นองค์อธิษฐานจิต
ในไม่ช้าไม่นาน ความงามของศิลปะซึ่งฉายประกายออกจากองค์พระโดยฝีมือช่างเล้ง บวกกับพระกิตติคุณอันวิเศษในองค์ท่านเจ้าคุณนรฯ ก็หนุนส่งพระเครื่องชุดนี้ให้ก้าวขึ้นสู่ความนิยมในระดับแนวหน้าอย่างไม่ยากเย็น
ส่งผลไปในทุกทาง ทั้งความหายาก ทั้งประสบการณ์ ทั้งการประกวดประชัน และ...
ทั้งราคา..!
ณ ปัจจุบันพระไตรภาคีที่ยุวพุทธฯเรียกว่าเป็นรุ่นแรกนั้นแพงมาก เหตุเพราะได้รับการอธิษฐานจิตจากท่านเจ้าคุณนรฯ ไม่เป็นอื่น และมิใช่เพิ่งจะแพงหากแพงและปลอมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 โน่นแล้ว ในปีเดียวกันนั้นเอง ยุวพุทธิกสมาคม ชลบุรี จึงตัดสินใจสร้างพระไตรภาคีชุดที่ 2 ขึ้นโดยอาศัยเค้าโครงเดิม
คุณอธึกเล่าว่า พระชุดสองนี้นำแม่พิมพ์เดิมมาสร้างทั้งหมด นัยว่าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ถวิลหาพระเจ้าคุณนรฯ เป็นนักหนา โดยนำผงพุทธคุณของท่านเจ้าประคุณ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเขาบางทราย ชลบุรี กับผงอธิษฐานของท่านเจ้าคุณนรฯ มาเป็นเนื้อหลัก
ในเมื่อสมัยแห่งอุโฆษของ
หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ กำลังระบือก้อง ยุวพุทธฯ จึงนำความขึ้นกราบเรียนขออนุญาตจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อแดง ซึ่งท่านก็เมตตาประทานอนุญาตให้สร้างได้ กับทั้งมอบผงวิเศษให้ประสมเนื้อพระด้วย
พระไตรภาคี รุ่น 2 ซึ่งประกอบด้วย พระพิมพ์พระแก้วมรกต พระพุทธชินราช และพระพุทธสิหิงค์ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยเว้นพิมพ์รูปเหมือนของท่านเจ้าคุณนรฯ ไปเสีย
การประกอบพิธีสร้าง ยุวพุทธฯ พยายามที่จะคงความศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม ตั้งแต่การบวงสรวง การรับศีลและแต่งชุดขาวของประดาช่าง กดพิมพ์ในพระอุโบสถวัดเขาบางทราย โดยใช้ผงดังกล่าวข้างต้นผสมกับผงหลวงพ่อแดง
ทว่า การสร้างพระในครั้งก่อน ยุวพุทธฯ มิได้ปรุงแต่งสีสันอะไรลงไปในเนื้อพระเลย พระไตรภาคีครั้งแรกจึงมีเนื้อขาวอมเหลืองนวลซึ่งยิ่งเก่าก็ยิ่งสวยซึ้งตา หากพระไตรภาคีรุ่นสองหมายใจจะให้เป็นพระของหลวงพ่อแดง และเหตุที่ใช้แม่พิมพ์เดิมมาสร้างจึงต้องผสมสีแดงลงไปในเนื้อพระเพื่อให้เกิดความแตกต่าง กับทั้งให้หมายถึง “หลวงพ่อแดง” ดังนั้น พระชุดนี้จึงมีความแตกต่างตรงสีสันวรรณะเท่านั้น ส่วนมวลสารเหมือนเดิม
ครั้นกดพิมพ์แล้วเสร็จได้ทำการตรวจนับพระทั้ง 3 พิมพ์ ปรากฏจำนวนทั้งสิ้นพิมพ์ละ 2,514 องค์ ซึ่งไตรภาคีคราวนี้ไม่ได้ทำแบบพิเศษขึ้นดังชุดก่อน ซึ่งเป็นพระลงรักปิดทอง โรยผงตะไบทองคำและเส้นเกศาท่านธัมมวิตักโก คงมีเพียงพระเนื้อธรรมดาสีแดงอย่างสีอิฐมอญเท่านั้น
คนชอบเนื้อพิเศษผมเสียใจด้วย
คณะกรรมการยุวพุทธฯ นำพระพิมพ์ทั้งหมดเดินทางขึ้นไปถวายหลวงพ่อแดงถึงวัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี ในวันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2514 ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่อแดงมีชนมายุได้ 94 ปี และเป็นช่วงปีที่ท่านกำลังมีชื่อเสียงกึกก้องไปทั้งประเทศ คำว่า “เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อแดง” ดูจะเป็นคำขลังพอที่สยบคนชอบพระกรุในยุคนั้นได้ไม่น้อย
เหตุเพราะนักนิยมพระกรุ มักไม่ค่อยนิยมพระเกจิอาจารย์รุ่นใหม่ ไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยเล่นหา จึงไม่ทราบเลยว่าพระสมัยใหม่ใครบ้างเก่งไม่เก่ง ในใจมีแต่พระกรุพระเก่าจนลืมพระคนแต่เกียรติคุณขลังและประสบการณ์ที่ออกปากได้ว่าโชกโชนจากเหรียญรุ่นแรกปี พ.ศ. 2503 ของท่าน เป็นเหตุให้เซียนที่ลืมพระสงฆ์ต้องหันหลังกลับมาแลหลวงพ่อแดงและล่วงเลยไปถึงซุ่มเก็บพระเครื่องท่านอย่างกว้างขวาง
ถือว่าท่านพลิกรูปแบบการสะสมก็ไม่ผิดหลวงพ่อแดงเริ่มอธิษฐานจิตปลุกเสกพระเครื่องทั้งหมดของยุวพุทธฯ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 24 เมษายน เรื่อยมาและประกอบพิธีเสกเป็นสำคัญอีกครั้งหนึ่งในวันวิสาขบูชาตรงกับวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 ทว่า ยุวพุทธฯ ก็ยังมิได้นำพระเครื่องกลับแต่อย่างใด หากขอเมตตาหลวงพ่ออธิษฐานพรให้อีกตลอดพรรษาปี 2514
หนึ่งไตรมาสนั่นแหละจวบจนวันออกพรรษาแล้วอีกหลายวัน คณะกรรมการยุวพุทธฯ จึงได้ขึ้นไปกราบนมัสการขอรับพระเครื่องคืน เรียกได้ว่าเป็นการเสกอย่างยาวนานในชีวิตหลวงพ่อแดงได้ไม่เคอะเขิน ด้วยเวลาการเสกทั้งสิ้น 5 เดือนเศษ หย่อนอีกไม่กี่วันก็ครบครึ่งปี
พระสงฆ์ขนาดหลวงพ่อแดงเสกพระทุกวัน ๆ เป็นเวลาห้าเดือน คิดเอาเถิดว่าน่าแขวนแค่ไหน ก็เพียงไม่มีค่านิยมที่ถูกตั้งโดยเซียนแต่พระพุทธคุณที่สถิตย์ในองค์พระ ผมเชื่อว่าไม่ด้อยไปกว่าเหรียญรุ่นแรกหรือรุ่นไหน ๆ ของท่านก็แล้วกัน
ลำพังผงวิเศษของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และผงวิเศษของท่านเจ้าคุณนรฯ มาผสมรวมกันนั้น จะกล่าวไปใยถึงพุทธาภิเษก ผมอยากบอกว่าเอาปั้นเป็นเม็ดกลมอย่างที่เรียกว่า “ลูกอม” แล้วให้แขวนเลย ผมก็แขวนได้สบายใจแล้วครับ
ไม่ต้องรบกวนหลวงพ่อแดงซ้ำไป
เมื่อนำพระกลับมาทำการบรรจุซองที่ยุวพุทธฯ ชลบุรี แล้ว คณะกรรมการหารือกันเห็นว่าควรตั้งราคาบูชาที่องค์ละ 10 บาท เพื่อนำปัจจัยที่ได้ไปสมทบกองทุน “สินอุปการะ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สมเด็จเมืองชล)” ณ มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
และพระชุดนี้ก็หมดพรึ่บเช่นเคย
ถ้าอยากจะหาไว้คุ้มตัว ผมเชื่อว่าวันนี้ยังไม่เป็นของยากจนเกินกำลัง ในตัวเมืองชลบุรีแหล่งกำเนิดก็ยังพอหาได้ สนนราคาก็ตามแต่จะตกลงกันโดยมากอยู่ที่ 50-100 บาท ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขียนแล้วจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า
ณ วันนี้เป็นยุคสมัยแห่งการแข่งขันและยุคที่คนลวงมากกว่าคนจริง ผมไม่ใช่คนดีแต่อยากทำหน้าที่คนจริงให้สมเป็นศิษย์ครูบาอาจารย์ที่สุดแสนดีอย่าง
หลวงปู่หลุย หลวงปู่ดู่ หลวงพ่อพุธ และอีกหลาย ๆ องค์
ก็ในเมื่อเทศนาของพระที่ว่า
“จงปล่อยวาง” ไม่อาจทำให้ผมหรือชาวเราวางมือจากการเช่าพระ หน้าที่ตรงนี้จึงมีเพียงบอกกล่าวถึงพระเครื่องที่ดีแท้ดีจริงให้หากัน
แม้จะดูเหมือนยั่วให้เสียตังค์
ผู้หวังดีบางท่านกล่าวเตือนเบา ๆ เมื่อเห็นผมเช่าพระว่ามีเยอะแล้วนะ บางท่านกล่าวเตือนหนัก ๆ ว่าโลภมากไม่รู้จักพอไม่รู้จักวาง เข้าวัดไปทำไม
นั่นสิ เข้าวัดไปทำไม ?
ผมมองผู้เตือนทุกท่านอย่างอยากจะขอบคุณแต่กล่าวไม่ออก ในเมื่อเห็นท่านเหล่านั้นยังขวนขวายกับหน้าที่การงาน ตำแหน่งในวงราชการหรือบริษัท ท่านพยายามหาเงินซื้อบ้านหลังใหญ่ที่ทำความสะอาดแสนลำบาก ซื้อรถยนต์คันโตที่นั่งไม่ทั่วคัน
และธนบัตรที่กองซ้อนไม่เกี่ยงความหนา
ท่านหาแบบโลก ๆ ไม่ผิด ผมหาแบบวัด ๆ ผิด ถ้าการเก็บพระไว้กราบไหว้บูชาของผมผิดหรือเป็นบาป เอาล่ะผมจะแช่บาปอย่างนี้ไปจนตาย และจะอธิษฐานว่าทุกชาติไปถ้ายังไม่นิพพาน ขอเจอคนเสกบาปเก่ง ๆ ไปทุกชาติเลยแล้วกัน ใครจะไปนิพพานในกองเงิน-ทองก็อนุโมทนาไม่ว่ากัน คนชอบพระว่าไง ?
ไปกับผมไหมล่ะ.