Switch to full style
รวมบทความที่น่าสนใจต่าง ๆ จากนักเขียนชื่อดัง และ ผู้ที่ทรงภูมิความรู้มากมาย
ตอบกระทู้

หลวงพ่อทวดหนอน โพธิสัตว์แห่งเขามะรวด

พุธ 17 ธ.ค. 2008 11:40 am

โดย รณธรรม ธาราพันธุ์

ที่มาแห่งนาม...

คำว่า ‘กรุงศรีอยุธยา’ ไม่สิ้นคนดีนั้นดูจะเป็นจริงเสมอไม่ว่ายุคสมัยใด เมืองปัตตานีที่เคยมีพระระดับสุดยอดผู้ปรารถนาพุทธภูมินาม หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด แห่ง วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี แท้จริงแล้วท่านก็มิใช่คนปัตตานี หากเป็นชาวสงขลาที่เมื่อเจริญวัยแล้วก็ไปศึกษาต่อยังกรุงอโยธยา จากนั้นก็เดินทางกลับมาเผยแผ่พระธรรมยังบ้านเกิด

หลวงพ่อทวดหนอนก็เช่นกัน แต่เดิมท่านจะเป็นคนที่ใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบกันแต่เพียงเลา ๆ ว่าท่านเคยรั้งตำแหน่งเป็นถึงเจ้าคณะสงฆ์ในสมศักดิ์ที่ พระครูอินทรโมฬี แห่ง กรุงศรีอยุธยา แต่ภายหลังเมื่อวัยชราท่านเกิดเบื่อหน่ายในเรื่องการปกครองและยศศักดิ์ต่าง ๆ จึงได้เดินทางเที่ยววิเวกธุดงค์ลงมาทางใต้

กระทั่งมาถึงชายฝั่งทะเลแห่งหนึ่ง ท่านจึงได้ขออาศัยเรือสำเภาของพ่อค้าเดินทางฝ่าคลื่นลมต่อมาจนถึงสถานที่ที่มีภูเขาสูงอยู่ใกล้ทะเลดูน่าอภิรมย์ ท่านพิจารณาเห็นเป็นที่สัปปายะเหมาะแก่การเจริญจิตภาวนา ท่านจึงได้ขอขึ้นฝั่งและเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขาที่ท่านหมายตาไว้ ซึ่งภูเขาลูกนั้นก็คือ เขาบางมะรวด หรือ ภูเขามะรวดนั่นเอง

มีเรื่องเล่าว่าขณะที่ท่านอยู่ในเรือนั้นท่านได้เห็นฝูงปลาแหวกว่ายตามเรือมา ท่านเกิดจิตเมตตาสงสารยิ่งนัก จึงขอยืมมีดของคนเรือเอามาเฉือนเนื้อบางส่วนของท่านตามแขนและขาโยนให้ฝูงปลาเป็นทาน และท่านก็ไม่ยอมรักษาบาดแผลแต่อย่างใด

ภายหลังแผลนั้นเกิดเน่าเปื่อยมีน้ำเลือดน้ำเหลืองซึมออกมา ทำให้ฝูงแมลงวันมาใต่ตอมและวางไข่จนฟักตัวกลายเป็นหนอนดูดกินเลือดเนื้อของท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงความรังเกียจเบียดเบียนพวกมันหรือทำการรักษาแผล คงปล่อยให้พวกมันอาศัยแขนขาของท่านเป็นแหล่งอาหารด้วยเมตตา ครั้นผู้คนเห็นดังนั้นก็พากันโจษจันและพากันขนานนามท่านว่า

หลวงพ่อทวดหนอน

ผู้เปี่ยมเมตตา..สอนสัตว์รู้ความ...

ตลอดเวลาที่ท่านพำนักบำเพ็ญเพียรอยู่บนยอดเขาบางมะรวดนั้น จะมีสุนัขและแมวมาอาศัยอยู่กับท่านเป็นจำนวนไม่น้อย บางวันที่ท่านมีอาพาธมาก ไม่สามารถลงจากเขามาบิณฑบาตในหมู่บ้านได้ สุนัขซึ่งมีอยู่หลายตัว จะพากันคาบย่ามของท่านลงมาขออาหารจากชาวบ้านขึ้นไปถวายท่านอยู่เป็นประจำ นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อยู่ไม่น้อยที่ท่านสามารถเลี้ยงสุนัขให้รู้ความ กลายเป็นสัตว์แสนรู้ได้มากถึงเพียงนั้น

กาลต่อมา หลวงพ่อทวดหนอนท่านทราบล่วงหน้าถึงวาระที่ท่านจะหมดอายุขัย ท่านจึงเดินมานั่งสมาธิเจริญภาวนาอยู่บนพลาญหินใหญ่ใต้ร่มไม้ใหญ่ ริมหน้าผาบนยอดเขามะรวด แล้วถอดจิตทิ้งสังขารโดยที่ร่างท่านยังอยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิอยู่นั่นเอง

ต่อมา ชาวบ้านสังเกตเห็นว่าหลวงพ่อทวดหนอนไม่ลงมาบิณฑบาต อีกทั้งบรรดาสุนัขแสนรู้ก็ไม่เห็นคาบย่ามท่านลงมารับอาหาร เลยพากันปีนเขาขึ้นไปดู จึงพบว่าท่านได้ละสังขารไปแล้วในท่านั่งสมาธิ โดยมีสุนัขแสนรู้ทั้งหลายกับพวกแมวนั่งเฝ้าศพท่านอยู่ จึงพากันขึ้นมาบนเขาแล้วประชุมเพลิงสรีระของท่านให้เรียบร้อย จากนั้นก็พร้อมใจกันก่อสถูปเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ภายใน

พระโพธิสัตว์ผู้ยังอยู่สงเคราะห์โลก...

ตั้งแต่สร้างเจดีย์หลวงพ่อทวดหนอนแล้วเสร็จ พอถึงวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆะบูชา วันอาสาฬหบูชา หรือวันเข้าพรรษา-ออกพรรษา แม้กระทั่งงานกฐิน ผ้าป่า งานฝังลูกนิมิต งานประจำปีของวัดต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ เขาบางมะรวด เช่น วัดเทพนิมิต วัดทุ่งคา วัดบ้านยาว เป็นต้น

ในวันสำคัญเช่นนั้นชาวบ้านจะได้เห็นแสงไฟสีขาวเจิดจ้า สว่างพวยพุ่งขึ้นที่ยอดเขาบางมะรวด และถ้าเป็นงานที่วัด บางครั้งแสงไฟมหัศจรรย์นั้นก็กลับกลายเป็นดวงไฟกลมโตสุกสว่าง ลอยขึ้นเหนือยอดเขาบางมะรวดแล้ววนเวียนเป็นประทักษิณอยู่สักครู่ก็จะพุ่งหายไปยังทิศทางที่ตั้งวัดซึ่งกำลังจัดงานนั้น ๆ อยู่

หรือบางครั้งหมู่บ้านท้องถิ่นบริเวณเขามะรวดมีการจัดงานต่าง ๆ ขึ้น เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานประจำหมู่บ้าน มีการฉายหนังขายยา มีมหรสพสมโภช มีการละเล่นในงาน หากไม่ทำการไต้ธูปจุดเทียนหันไปบอกกล่าวหลวงพ่อทวดหนอนยังยอดเขามะรวดแล้วละก็ เป็นอันว่างานนั้น ๆ ต้องได้เกิดอุปสรรคต่าง ๆ นานา ไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จได้อย่างราบรื่น ต่อเมื่อบอกเล่าท่านแล้วนั้นแล ความสำเร็จก็จักบังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วน่าอัศจรรย์

แสดงให้เห็นว่า แม้ท่านจะมรณภาพไปนานนับร้อยปีแล้วก็ตาม แต่จิตวิญญาณของท่านยังอยู่มิได้ไปไหน ยังแสดงกฤษฎาภินิหารให้เห็นเพื่อบอกเป็นนัยแก่ลูกหลานว่า ตายแล้วไม่สูญท่านเองก็ยังอยู่ ยังเมตตาคอยช่วยเหลือเมื่อลูกหลานผู้มีศรัทธาต่อท่านเป็นทุกข์ ท่านก็พร้อมที่จะช่วยกำจัดทุกข์ กำจัดภัยนั้นให้

เหตุนี้เอง ทำให้ชาวบ้านมีความนับถือในองค์หลวงพ่อทวดหนอนเป็นอย่างยิ่ง แม้มีเรื่องใดที่พวกเขาทุกข์ร้อนใจ ก็จะพากันบานบานขอความช่วยเหลือจากท่าน ว่ากันว่าทุกคนที่บนบอกท่านเป็นต้องได้รับความสำเร็จในสิ่งที่ขอกันทุกคนไป จะเห็นได้ว่าแม้เจดีย์ท่านอยู่สูงถึงยอดเขา การขึ้น-ลงมิได้เป็นไปโดยง่าย แต่ก็มีคนนำผ้าแพรและของแก้บนต่าง ๆ ขึ้นไปไหว้ไปแก้บนอยู่มิได้ขาด แสดงให้เห็นถึงอภินิหารในองค์หลวงพ่อทวดหนอนว่าท่านมีเมตตาสูงสมเป็นพระโพธิสัตว์ และได้ช่วยเปลื้องทุกข์ให้ลูกหลานเสมอมาโดยไม่เลือกรักเลือกชัง

ปูชนียสถานคู่เมือง...

บนยอดเขามะรวดนั้น นอกจากเจดีย์บรรจุอัฐิของหลวงพ่อทวดหนอนแล้ว ยังมีพระเจดีย์สีขาวองค์ใหญ่อยู่อีกองค์หนึ่ง ซึ่งพระเจดีย์ขาวองค์นี้เพิ่งได้รับการก่อสร้างเมื่อราว 90 กว่าปีมานี้เอง โดยผู้เป็นแกนนำในการก่อสร้างคือ ท่านพระอาจารย์เจริญ ซึ่งท่านเป็นพระธุดงค์ที่ได้เที่ยววิเวกมาจนถึงเขามะรวด และได้ก่อตั้งสำนักสงฆ์อยู่ในหมู่บ้านเชิงเขา

สำหรับการสร้างพระเจดีย์องค์นี้ เป็นเหตุให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวบ้านบริเวณเชิงเขามะรวดเป็นอย่างมาก เพราะการสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างที่สุด พวกชาวบ้านต้องมาต่อแถวยาวกันไปจนถึงบริเวณที่จะก่อสร้าง เพื่อช่วยกันลำเลียงส่ง หิน ปูน ทราย อิฐ และอุปกรณ์ในการก่อสร้างต่าง ๆ มากมายขึ้นสู่ยอดเขา

การสร้างพระเจดีย์ใหญ่ใช้เวลาไม่นานนัก เพราะอาศัยพลังศรัทธาและพลังสามัคคีจากชาวบ้านในชุมชนนั้น เมื่อองค์เจดีย์ถูกสร้างเรียบร้อย ท่านพระอาจารย์เจริญก็ทำการบรรจุของมงคลเข้าสู่พระเจดีย์

ภายในองค์พระเจดีย์จะมีขันสัมฤทธิ์ใบใหญ่ตั้งอยู่ ภายในขันนั้นบรรจุด้วยน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จนเต็ม ใจกลางขันเป็นเรือสำเภาทองลอยอยู่บนน้ำมันมะพร้าว ในเรือสำเภามีผอบทองบรรจุอยู่ และในผอบนั้นก็คือ ‘พระบรมสารีริกธาตุ’ ซึ่งท่านอาจารย์เจริญได้มาเมื่อครั้งกำลังเดินธุดงค์

ครั้นพระเจดีย์ขาวแล้วเสร็จ ท่านอาจารย์เจริญและชาวบ้านก็พร้อมใจกันจัดงานสมโภช โดยริเริ่มให้มีประเพณีการเดินขึ้นเขามะรวดเพื่อนมัสการองค์พระเจดีย์ขาวบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และนมัสการสถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวดหนอน ในวันมาฆะบูชาเป็นประจำทุกปี

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในดินแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเขามะรวดนั้นได้กลายเป็นที่ซ่องสุมของบรรดาผู้ก่อการร้าย โจรเรียกค่าไถ่ ทำให้ชาวบ้านที่เป็นไทยพุทธบริเวณรอบ ๆ เขา อาทิ บ้านท่าชะเมา บ้านหัวเขาแก้ว บ้านก่ออิฐ บ้านนาตาหน่อ เป็นต้น ต้องอพยพออกจากท้องถิ่นจนหมด เป็นเหตุให้ประเพณีการเดินขึ้นเขาต้องหยุดชะงักลงไปเป็นเวลานาน

กาลต่อมา มีพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่า ท่านพ่อหลวงน้อย ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่ วัดเทพนิมิต ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ได้เดินขึ้นสู่ยอดเขามะรวดเพื่อแสวงหาสถานที่อันสงบเงียบสำหรับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเดินขึ้นถึงยอดเขาท่านก็พบว่าเจดีย์บรรจุอัฐิของหลวงพ่อทวดหนอนนั้นมีความชำรุดทรุดโทรมลงไปเป็นอันมาก ท่านจึงเกิดความคิดที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์

เมื่อท่านกลับลงมา ท่านก็ได้ชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมกันบูรณะพระเจดีย์ ทำกันอยู่ร่วมเดือนก็แล้วเสร็จ องค์เจดีย์กลับไปอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สวยงามดังเดิม

ครั้นงานปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ผ่านไป ท่านพ่อหลวงน้อยก็ได้ชวนท่านพ่อหลวงคึก แห่ง วัดศรีสุดาจันทร์ ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ทำการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าตักกว้างราว 2 เมตร ปางขัดสมาธิเพชร ด้วยการก่ออิฐถือปูนแล้วทาทอง สถาปนาขึ้นถวายเป็นพุทธบูชายังยอดเขามะรวด ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าติดกับเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุหลวงพ่อทวดหนอน สร้างเสร็จในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 นับเป็นปูชนียวัตถุลำดับที่สามซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยความเคารพศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาและหลวงพ่อทวดหนอนเป็นแรงบันดาลใจ

ผู้มีบุญมาฟื้นฟู...

ต่อมาในปีพ.ศ. 2537 ท่านพระครูพินิจนรัญญู (พ่อท่านทอง) วัดสำเภาเชย ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เจ้าคณะอำเภอปะนาเระ ได้ร่วมกับนายสุนทร ฤทธิ์ภักดี ซึ่งดำรงตำแหน่งนายอำเภอปะนาเระในขณะนั้น ชักชวนผู้นำชุมชนต่าง ๆ พากันตัดถนนขึ้นสู่ยอดเขาบางมะรวด โดยตัดขึ้นจากทางด้านหัวเขาแก้ว และได้ทำการขอที่กับชาวบ้านซี่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมผู้อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งทุกคนก็กรุณาให้ความร่วมมือด้วยเป็นอย่างดี

จากนั้นก็ได้ประสานงานกับทหารช่างทำการตัดถนนขึ้นสู่ยอดเขา ซึ่งถนนก็สำเร็จเสร็จสิ้นลงในปีเดียวกันนั้นเอง โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดทางวัดสำเภาเชยเป็นผู้รับภาระ จากนั้นก็ได้ทำการฟื้นฟูประเพณีเดินขึ้นเขาเพื่อนมัสการพระธาตุเจดีย์และสถูปหลวงพ่อทวดหนอน

จนกระทั่งนายอำเภอสุนทร ฤทธิ์ภักดี ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่จังหวัดอื่น ประเพณีการเดินขึ้นเขาจึงต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งเพราะไม่มีใครสานต่อ

ทำให้ถนนขึ้นเขาในปัจจุบันนี้ไม่มีใครบูรณะดูแล เป็นเหตุให้ถนนบางช่วงถูกตัดขาดเพราะน้ำภูเขากัดเซาะพังหมด ถนนบางช่วงก็เต็มไปด้วยก้อนหินดินโคลนและไม้ล้มลุก พงหญ้าป่าหวาย ไม่สะดวกที่จะขึ้นสู่ยอดเขาอีกต่อไปแม้จะใช้วิธีเดินเท้าก็ตาม

ถึงกระนั้น การที่พ่อท่านทองและท่านนายอำเภอรื้อฟื้นประเพณีการเดินขึ้นเขา ก็ทำให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่ควรรักษาไว้ อาจเป็นแรงกระตุ้นให้ใครอีกคนคิดถึงสิ่งมีค่าอย่างนี้แล้วดำเนินตามรอยบรรพบุรุษที่ได้เคยปฏิบัติมาในสักวันหนึ่งข้างหน้า
รูปเคารพแทนตัว...

วัตถุมงคลของหลวงพ่อทวดหนอนนั้นได้มีการสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2505 โดยท่านพระครูประสิทธิ์ธรรมการ หรือ ท่านพระอาจารย์ลิ่ม เกสโร เจ้าอาวาส วัดดอนตะวันออก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินการสร้าง โดยมีรายการดังนี้

1. รูปเหมือนบูชาเนื้อปูนผสมว่านหน้าตัก 5 นิ้ว

2. พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อทวดหนอนเนื้อว่าน พิมพ์สามเหลี่ยมขอบมน หลังเป็นรูปพระพุทธ มีพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก

3. พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อทวดหนอนเนื้อว่านพิมพ์สี่เหลี่ยม

4. เหรียญรูปเหมือนพิมพ์สี่เหลี่ยม กะไหล่ทอง และ กะไหล่เงิน

5. แหวนรูปหลวงพ่อทวดหนอน

โดยท่านพระอาจารย์ลิ่มได้ประกอบพิธีบวงสรวงสังเวยอย่างยิ่งใหญ่ และถูกต้องตามประเพณีโบราณอีกทั้งพระคณาจารย์ที่มาร่วมพิธีพุทธาภิเษกก็ล้วนแต่ทรงวิทยาคุณ อาทิ พระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธัมมธโร) วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พระราชพุทธิรังสี (ดำ นันทิโย) วัดมุจลินทวาปีวิหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นต้น

และในปีพ.ศ. 2537 นั้น ท่านพระครูพินิจนรัญญู หรือ พ่อท่านทอง วัดสำเภาเชย ก็ได้จัดสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อทวดหนอนขึ้นหลายแบบ อาทิ รูปเหมือนบูชา รูปเหมือนลอยองค์ชนิดบรรจุกริ่งมีหลายเนื้อ เหรียญรูปเหมือนรุ่น 100 ปีอำเภอปะนะเระ เหรียญรูปเหมือนรุ่นสร้างอาคารโรงพยาบาลอำเภอปะนาเระ เป็นต้น

ปัจจุบันหากท่านต้องการขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์ขาวและสถูปเจดีย์หลวงพ่อทวดหนอนท่านต้องขึ้นเขาโดยไปจอดรถไว้ที่บ้านนาตาหน่อและเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขามะรวด แต่เป็นทางที่ค่อนข้างชันอยู่สักหน่อยในบางช่วง สำหรับผู้สูงอายุก็อาจลำบากสักนิด แต่ถ้าใจสู้ก็ไม่น่าเป็นปัญหาเพราะมีกิ่งไม้ ต้นไม้ ให้ยึดเกาะโหนตัวไปได้ไม่ยากนัก

สำหรับผู้มีศรัทธาในองค์หลวงพ่อทวดหนอนอาจเป็นการไม่ง่ายนักที่จะแสวงหาวัตถุมงคลของท่าน เนื่องจากไม่ค่อยมีกลุ่มบุคคลสร้างพระของท่านเป็นที่กว้างขวาง แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการสร้างวัตถุมงคลของท่าน ก็จะได้ยินประสบการณ์จากผู้บูชาซึ่งได้พบอภินิหารที่ไม่น่าเชื่อ ถ้าได้ลงมือเล่าแล้วก็ปลูกศรัทธาให้เกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่งทุกคราวไป ทำให้วัตถุมงคลของท่านเป็นที่แสวงหากันมากโดยเฉพาะในเมืองปัตตานี

ของดียังมีอยู่...

น่ายินดีว่าเมื่อปี พ.ศ. 2547 ท่านเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิต ได้ร่วมกับคณะศิษย์จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อทวดหนอนขึ้นจำนวนหนึ่งประมาณ 10,000 เหรียญ โดยสร้างเพียงเนื้อทองแดงรมน้ำตาล และ เนื้อทองแดงผิวไฟ แต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีเนื้ออื่น ๆ เลย

โดยก่อนสร้างได้นำความไปกราบเรียนปรึกษา ท่านเจ้าคุณพระศีลมงคล (พ่อท่านทอง) วัดสำเภาเชย เจ้าคณะอำเภอปะนาเระ ซึ่งท่านก็เมตตาให้คำแนะนำว่า เหรียญที่เคยสร้างกันไปในครั้งก่อน ๆ โน้นทำรูปได้ไม่เหมือนหลวงพ่อทวดหนอนท่านนะ เพราะแกะพิมพ์ให้รูปท่านอ้วน แท้จริงแล้วท่านเป็นผู้ที่มีลักษณะผอมสูง เมื่อคณะผู้สร้างได้ยินดังนั้นก็เลียบ ๆ เคียง ๆ ว่าพ่อท่านทราบได้อย่างไร ท่านก็เมตตาตอบแบบเลียบ ๆ เช่นกันว่า

“เคยพบกันในนิมิต”

แล้วยังกรุณาอธิบายรูปร่างหน้าตาลักษณะจนเข้าใจกันดี

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คณะผู้สร้างจึงไปทำการบวงสรวงบอกกล่าวหลวงพ่อทวดหนอนที่สถูปบรรจุอัฐิของท่านบนยอดเขามะรวดว่าต้องการสร้างเหรียญรูปท่านเพื่อหาทุนบูรณะอุโบสถวัดเทพนิมิตที่กำลังชำรุดทรุดโทรม จากนั้นก็ไปว่าจ้างช่างให้แกะบล็อคหลวงพ่อทวดหนอนเป็นรูปพระผู้เฒ่าที่มีลักษณะผอมสูงตามนิมิตมงคลที่พ่อท่านทองได้พบเห็นทุกประการ จะถือได้ว่านี้คือเหรียญรูปเหมือน ที่เหมือนหลวงพ่อทวดหนอนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้

ครั้นดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ ก็ได้นำเหรียญไปถวายให้พ่อท่านทองอธิษฐานจิตปลุกเสกที่วัดสำเภาเชยเป็นเวลา 1 ไตรมาส แล้วยังจัดพิธีพุทธาภิเษกที่วัดเทพนิมิตอีกครั้งหนึ่งโดยนิมนต์พ่อท่านทอง วัดสำเภาเชย มาเป็นองค์หลัก มีการโยงสายสิญจน์จากสถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวดหนอนเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรมายังมณฑลพิธีที่วัดเทพนิมิต

และเมื่อพิธีเสร็จสิ้นลง พ่อท่านทองก็ได้ปรารภว่า “หลวงพ่อทวดหนอนท่านมาร่วมเสกด้วย” เป็นเหตุให้ผู้มีศรัทธาในองค์หลวงพ่อทวดหนอนและพ่อท่านทองต่างพากันเช่าบูชาเหรียญรุ่นนี้ไปเป็นจำนวนมาก

แม้เหรียญรุ่นนี้จะสร้างเพียงเนื้อเดียว แต่นับเป็นการดีไปอย่างที่ไม่ต้องปวดหัวหาเหรียญทองเหรียญเงินหรือเหรียญกรรมการกันให้วุ่นวาย ใครได้ใครมีก็เสมอภาคกันคือเป็นทองแดงเหมือนกันหมด ค่าบูชาก็ไม่แพงครับ องค์ละ 100 บาท ปัจจัยที่ทุกท่านบูชาก็ได้บุญมหาศาลเพราะเอาไปบูรณะอุโบสถซึ่งพระสงฆ์ท่านใช้ทำสังฆกรรม เป็นการสร้างวิหารทานที่มีอานิสงส์มากทีเดียวครับ และยังเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ดีเลิศอีกทางหนึ่ง

ท่านที่สนใจกรุณาติดต่อได้สองแห่งคือที่
ท่านเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิต
ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ
จ.ปัตตานี 94130
ธนาณัติสั่งจ่าย ปณ. ปะนาเระ
หรือติดต่อที่
คุณสุธันย์ สุนทรเสวี
สำนักงานสาธารณสุข จ.สมุทรสงคราม
อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 75000
ธนาณัติสั่งจ่าย ปณ. สมุทรสงคราม
สงสัยอะไรโทรสอบถามก่อนได้ครับที่ 081-9812097 ขออนุโมทนากับการสร้างโบสถ์ด้วยครับ

##เดิมๆฮะ ที่มักจะลงท้ายบทความทุกครั้งว่า บทความนี้เมื่อปี 2548 และพระก็น่าจะ หมดไปแล้ว ##

Re: หลวงพ่อทวดหนอน โพธิสัตว์แห่งเขามะรวด

พุธ 17 ธ.ค. 2008 12:00 pm

:grt: :grt: :grt:

:grt: :grt: :grt:

:grt: :grt: :grt:

Re: หลวงพ่อทวดหนอน โพธิสัตว์แห่งเขามะรวด

พุธ 17 ธ.ค. 2008 2:49 pm

อยากได้พระหลวงพ่อทวดหนอน บ้างจัง :hhero:

Re: หลวงพ่อทวดหนอน โพธิสัตว์แห่งเขามะรวด

พฤหัสฯ. 18 ธ.ค. 2008 5:31 pm

:D ขอบพระคุณมากครับ ได้อ่านทุกที และก็เสียใจทุกครั้ง
ตอบกระทู้