โดย รณธรรม ธาราพันธุ์ วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลา 21.00 น. ตรงกับแรม 2 ค่ำ ปีมะเมีย
เด็กชายชาลี นารีวงศ์ ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยอาศัยธาตุจาก นายปาว และ นางพ่วย นารีวงศ์ ผู้เป็นบุพการี ณ บ้านหนองสองห้อง ต.ยางโยภาพ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
เด็กชายชาลี นารีวงศ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน เป็นชาย 5 คน เป็นหญิง 4 คน ครั้นอายุได้ 11 ปี นางพ่วยผู้เป็นมารดาก็ได้ถึงแก่กรรมบรรดาพี่น้องจึงพากันประคับประคองเลี้ยงกันมา อายุ 12 ปีได้เรียนหนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์นายชาลีจึงอุปสมบทในสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2468
บวชแล้วพระชาลีได้ล่วงในอาบัติเล็กน้อยอยู่บ่อยครั้งโดยเหตุที่หมู่เพื่อนพากันทำเป็นประจำ นานเข้าก็เบื่อหน่ายในหมู่คณะดังกล่าว คิดหาทางออกจนถึงพรรษาที่ 2 จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า “เวลานี้ข้าพเจ้ายังมุ่งดี หวังดีต่อพระศาสนาอยู่ ในกาลต่อไปนี้ขอจงให้พบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบภายในสามเดือน”
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2469 พระภิกษุชาลีได้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดบ้านโนนรังใหญ่ ต.ยางโยภาพ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี บังเอิญไปพบพระรูปหนึ่งกำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ โดยเทศนาของท่านนั้นลุ่มลึกไพเราะนัก พระชาลีเกิดความเลื่อมใสในธรรมขององค์ผู้แสดงมาก จึงไต่ถามญาติโยมว่าท่านเป็นใครมาจากไหน
ได้รับคำตอบว่า ท่านชื่อพระอาจารย์บท เป็นลูกศิษย์ของ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ขณะนี้ท่านพักอยู่ในป่ายางใหญ่ห่างบ้านราว 20 เส้น พระชาลีจึงคอยติดตามดูพระอาจารย์บทภายหลังจากเทศน์เสร็จ เฝ้าดูจนพอใจในข้อวัตรและปฏิปทายิ่งนัก ท่านจึงเข้าไปกราบและซักถามสิ่งต่าง ๆ กระทั่งได้คำแนะนำอันมีค่าที่สุด คือให้ไปศึกษากับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น และบอกด้วยว่าขณะนี้ท่านพระอาจารย์ใหญ่อยู่ที่วัดบูรพา จ.อุบลฯ
เดือนอ้ายข้างแรม พระภิกษุชาลีออกเดินทางลำพังรูปเดียว บ่ายหน้าสู่วัดบูรพาอย่างไม่ย่อท้อจนได้พบกับท่านพระอาจารย์มั่นสมปรารถนา ทั้งยังได้รับการอบรมเบื้องต้นจนอิ่มใจ พระชาลีอยู่ปฏิบัติห่าง ๆ ท่านพระอาจารย์ใหญ่ด้วยขณะนั้นท่านกำลังอาพาธพอดี
กระทั่ง 4 เดือนผ่านไปพระชาลีจึงได้รับการอนุญาตจากท่านพระอาจารย์มั่นให้ญัตติเป็นธรรมยุติได้ โดยทำการสวดญัตติใหม่ที่วัดบูรพา อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มี
พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปัญโญ) วัดปทุมวนาราม พระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เพ็ง วัดใต้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้บวชเณรให้ สำเร็จอุปสมบทวิธีเมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 เวลา14.43 น.
ในการอุปสมบทครั้งนี้ท่านได้ทำการญัตติพร้อมกับ
ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร โดยพระอาจารย์กงมาเป็นนาคขวา พระอาจารย์ชาลีเป็นนาคซ้าย ท่านทั้งสองจึงมีความสนิทสนมกันมากแม้เมื่อไปอยู่วัดทรายงามที่ จ.จันทบุรี ท่านก็จำพรรษาและเผยแผ่ธรรมร่วมกัน
ต่อนั้นท่านจึงเที่ยววิเวกปฏิบัติภาวนากับท่าน
พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขันตยาคโม) และ
ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ต่อภายหลังท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้ขอตัวพระอาจารย์ลีจากพระอุปัชฌาย์พาธุดงค์ขึ้น จ.เชียงใหม่ไปด้วยกัน จากการปฏิบัติภาวนาที่
“แลกตาย” ของพระอาจารย์ลีทำให้ท่านเกิดอัศจรรย์ในจิตได้รู้ธรรมเห็นธรรมอันลึกซึ้งเป็นลำดับเสมอมา
วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน พระอาจารย์ลีได้เดินธุดงค์มาจนถึงป่าช้าคลองกุ้ง อ.เมือง จ.จันทบุรี และทายกทายิกาได้พากันนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่เสียที่นี่ นับแต่ท่านเข้าพำนักยังสถานที่นี้ ได้ทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องปฏิบัติธรรมภาวนารักษาศีลแก่คนจันท์เป็นอันมาก นานวันเข้าชื่อเสียงของท่านก็เป็นที่กล่าวขานลั่นระบือ
ลุพรรษาที่สอง พระวัดบ้านกับคนใจบาปสมคบกันป้ายสีพระอาจารย์ลีหลายข้อหา หากทุกข้อไม่มีมูลความเป็นจริง ท่านจึงผ่านได้ไม่ยากเย็น กระทั่งเรื่องไปถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น สุจิตโต) วัดบวรนิเวศวิหาร พระนคร ถึงกับเสด็จมาสอบสวนทวนข้อหาด้วยพระองค์เอง ครั้นวินิจฉัยเสร็จนอกจากจะไม่ทรงเอาโทษแล้ว ยังตรัสกับพระอาจารย์ลีว่า
“เราได้ทราบว่ามีคนนิยมเลื่อมใสเธอมาก เรานึกว่าพระอย่างเธอนี้หายาก” รับสั่งแล้วก็เดินทางกลับพระนคร
การณ์นี้ยิ่งบันลือกิตติคุณในท่านพระอาจารย์ให้กว้างขวางมากขึ้นไปอีก แม้กระทั่ง
นายซองกุ่ยเจ้าของรถยนต์โดยสารในตัวเมืองจันท์ยังประกาศอย่างกล้าหาญว่า
“ถ้าใครนั่งรถยนต์ของฉันมาฟังเทศน์พระอาจารย์ลี ฉันยินดีลดราคาค่าโดยสารให้เป็นพิเศษ” และองค์ท่านเองกับทั้งพระเณรเดินทางไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องเสียค่ารถเลย
กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีและนายอำเภอทุกอำเภอยังเดินทางมากราบและปวารณาตัวเป็นศิษย์ในท่านพระอาจารย์ลีกันทั้งนั้น ด้วยอำนาจแห่งเมตตาและคุณธรรมในองค์ท่านเป็นเหตุให้ชาวจันทบุรีกล่าวนามท่านโดยเคารพยิ่งว่า
ท่านพ่อลีคำเรียกนี้ถือเป็นการถวายความศรัทธาสักการะอย่างสูงสุดของคนภาคตะวันออกทีเดียว หากภาคเหนือจะมี
“ครูบา” ภาคใต้จะมี
“พ่อท่าน” และ ภาคอีสานจะมี
“ญาท่าน” ภาคตะวันออกก็มี
“ท่านพ่อ” ดุจเดียวกัน
ปี พ.ศ. 2482 ท่านได้เดินทางไปประเทศอินเดียโดยทางเรือ ปี พ.ศ. 2494 ท่านไปอินเดียอีกครั้งโดยคราวนี้ไปด้วยเครื่องบินและได้อยู่จำพรรษาที่เมืองสารนาถ ในปีนี้ท่านพ่อลีมีประสบการณ์แปลก ๆ เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุอยู่ไม่น้อย ทั้งยังเกี่ยวโยงไปถึงพระเจ้าอโศกมหาราชผู้เป็นที่มาของการตั้งนามวัดและหล่ออนุสาวรีย์ขึ้นเป็นที่สักการบูชา
และเมื่อท่านกลับมาประเทศไทยแล้ว ในวันพฤหัสบดีกลางเดือน 6 ท่านพ่อลีไปช่วยงานวันวิสาขบูชาที่วัดมณีชลขัณฑ์ ต.พรหมาสตร์ อ.เมือง จ.ลพบุรี คืนนั้นเองท่านได้นั่งสมาธิตลอดรุ่งอธิษฐานขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งจิตว่า พานทั้ง 4 พานขออาราธนาดังนี้
1. ขออัญเชิญพระบรมธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ มีธาตุ หู ตา จมูก ปาก อันเป็นบ่อเกิดของรัศมีแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามีความจริงขอให้เสด็จมาอยู่ในสถานที่บูชาในคืนนี้
2. ขออัญเชิญพระธาตุของพระสารีบุตร ซึ่งเป็นพระสำคัญองค์หนึ่ง
3. ขออัญเชิญพระธาตุของพระโมคคัลลาน์ ซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์เสมอพระพุทธองค์
4. ขออัญเชิญพระธาตุของพระฉิมพลี ซึ่งเป็นผู้มีเมตตาจะไปไหนปลอดภัยทุกเมื่อ ตอกย้ำอีกว่าหากพระธาตุไม่มาปรากฏในคืนนี้ พระธาตุที่มีคนเคยถวายมาให้ก็จะแจกจ่ายให้คนอื่นไปให้หมด
คืนนั้นราวตีสี่ เกิดอัศจรรย์มีแสงสว่างสีแดงวูบวาบพุ่งตรงไปยังพานซึ่งท่านพ่อลีตั้งเอาไว้ทั้งสี่พาน พอสว่างท่านลุกไปดู เห็นพระธาตุปรากฏอยู่ในพานทั้งสี่มีลักษณะแปลกต่างกัน นับจำนวนได้ดังนี้ พระบรมสารีริกธาตุมี 7องค์พระธาตุพระสารีบุตรมี 3 องค์ พระธาตุพระโมคคัลลาน์มี 2 องค์ และพระธาตุพระฉิมพลี(พระสิวลี)มี 3 องค์ ท่านจึงเก็บห่อใส่สำลีบรรจุลงผอบติดองค์ไว้เสมอ
นับแต่นั้นมาก็มีพระบรมธาตุเสด็จมาปรากฏแก่ท่านพ่อลีบ่อย ๆ โดยท่านไม่ต้องอัญเชิญแต่อย่างใด บางวาระมามากถึง 40-50 องค์ก็มี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ท่านพ่อได้มาตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นที่นาแม่ขาว ซึ่งปัจจุบันคือวัดอโศการามดังที่เห็นและริเริ่มโครงการฉลอง 25 พุทธศตวรรษในปี พ.ศ. 2500 ด้วย ในโอกาสมหามงคลนี้ท่านพ่อได้ทำการสร้างพระทั้งองค์บูชาและองค์แขวนคอมากเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะพระองค์เล็กชนิดแขวนท่านถวายนามว่า พระโพธิจักร มีทั้งเนื้อผงพุทธคุณ เนื้อผงเกสรดอกไม้ เนื้อว่าน และเนื้อดินซึ่งมีจำนวนมากที่สุด
พระเครื่องที่เริ่มสร้างแต่ปี พ.ศ. 2498 ทำการนับในปลายปี พ.ศ. 2499 จำนวนพระมีทั้งสิ้น 1 ล้าน 1 แสนองค์เศษ
พระเครื่องบางส่วนทำการแจกจ่ายแก่พุทธบริษัท และส่วนใหญ่ท่านพ่อได้ทำการบรรจุไว้ใน พระธุตังคเจดีย์ ที่ท่านปรารภให้สร้างไว้ก่อนมรณภาพ มีเรื่องแปลกเกี่ยวกับพระเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์องค์นี้อันเกี่ยวพันไปถึงชีวิตของท่านพ่อลี
บรรดาศิษย์ที่จำอายุกาลในท่านพ่อได้ย่อมทราบดีว่าที่ท่านมรณภาพในปี พ.ศ. 2504 ด้วยชนมายุเพียง 55 ปีเท่านั้น นับว่าน้อยมากหากเปรียบกับศิษย์หลวงปู่มั่นหลายต่อหลายองค์
แน่นอนเหลือเกินว่าถ้าท่านยังอยู่ ย่อมเป็นหลักชัยอันยิ่งใหญ่มั่นคงให้กับหมู่พระกัมมัฏฐานที่ขึ้นตรงต่อธรรมได้มากทีเดียว อะไรเป็นสาเหตุให้ท่านต้องละสังขารก่อนกาลอันควรวันนี้ผมจะแจงความลับบางประการที่หาคนรู้ได้น้อยให้ทุกคนทราบกัน
บรรดาศิษย์ฝ่ายสงฆ์ในท่านพ่อลีนั้นที่ถือว่า
มือขวา ต้องถวายให้
ท่านเจ้าคุณพระสุธรรมคณาจารย์ (แดง ธัมมรักขิโต) วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านท่าคันโท ต.ท่าคันโท อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ จากนั้นที่ไม่ด้อยกว่ากันเลยคือ
ท่านพระครูสุทธิธรรมรังสี (เจี๊ยะ จุนโท) วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และ
ท่านพระครูญาณวิศิษฎ์ (เฟื่อง โชติโก) วัดธรรมสถิต ต.กระเฉด อ.เมือง จ.ระยอง
ภายหลังงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษผ่านพ้นไปด้วยดี ท่านพ่อลีก็เริ่มมีอาการอาพาธให้เห็นบ้างเป็นครั้งคราว เมื่อแรกไม่มีใครคิดว่าจะหนักหนาอะไร หากอาการแม้ไม่หนักแต่ก็ทรงตัวและค่อนไปทางทรุด ท่านได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าตลอดมา
คืนวันหนึ่งที่กุฏิ ปุณณสถาน ในวัดอโศการามท่านพ่อลีได้เรียกให้ท่านเจ้าคุณแดงเข้าพบเมื่อเจ้าคุณแดงมาถึงท่านพ่อก็ปรารภว่า “อายุห้าสิบห้าผมต้องตาย ให้ท่านอยู่ช่วยผมที่นี่แหละ เมื่อผมตายแล้วก็ให้พวกเขาได้พึ่งพาอาศัยท่าน”
ท่านเจ้าคุณถึงกับนิ่งไปและเรียนถามว่า “แล้ววัดของผมเล่าครับ ?”
ท่านพ่อว่า “วัดของท่านมันเรื่องเล็ก”
แม้ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธแต่ท่านเจ้าคุณแดงก็ไป ๆ มา ๆ ช่วยงานที่วัดอโศการามตลอด จวบจนท่านพ่อลีเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าในปี 2504 ท่านมีโทรเลขด่วนไปตามท่านเจ้าคุณแดงที่วัด ท่านอาจารย์ก็รีบลงมากรุงเทพเข้ากราบท่านพ่อที่ห้องพักในโรงพยาบาลและเรียนถามว่า “ท่านพ่อโทรเลขด่วนให้ผมรีบกลับมานั้นมีเรื่องอะไรหรือครับ”
ท่านพ่อลีตอบว่า “ผมจะลาตายแล้ว”
“เอ๊ะ ! ทำไมจะตาย”
ท่านว่า “ก็ตายขาดลมหายใจ” แล้วต่ออีกว่า “ผมได้รับนิมนต์เขาแล้ว”
“รับนิมนต์ใคร”
“รับนิมนต์เทวดา เขาอาราธนา” ท่านพ่อตอบ
“เขาอาราธนาไปทำไม”
“เขาอาราธนาไปสอนมนต์ให้”
“ไปสอนมนต์อะไรครับ สอนให้ผมด้วย” เจ้าคุณแดงรุก
ท่านบอก “มนต์ก็ไม่มีอะไรมาก ก็พรหมวิหารสี่ของเรานี้แหละแต่คนอื่นสอนมันไม่ขลัง ต้องเราสอนมันถึงจะขลังเขาบอกอย่างนี้” สักครู่ท่านก็ว่า “เมื่อผมตายแล้วก็ให้ท่านอยู่แทนผม”
ท่านเจ้าคุณแดงจึงรับปากว่า “ครับผม...มาช่วยบารมีท่านพ่อ แต่เมื่อท่านพ่อมรณะไปแล้วผมจะช่วยไหวหรือไม่ไหวก็ไม่รู้ เพราะลูกศิษย์ท่านพ่อปากตะไกรเป็นจำนวนมาก”
ท่านตอบว่า “อย่าไปหัวซา(สนใจ)มัน… ปากหอยปากปู”
ถึงตรงนี้ท่านเจ้าคุณแดงนึกได้ว่าครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าปรินิพพานก็อาศัยเหตุที่พระอานนท์ลืมอาราธนาเป็นสาเหตุหนึ่ง ท่านจึงกราบเรียนท่านพ่อว่า “ผมขออาราธนาท่านพ่อไว้ อย่าพึ่งมรณะหรือตายเลย ผมก็จะอยู่ช่วยอย่างนี้แหละ”
แต่ท่านก็ยืนยันว่า “ได้ตกลงรับอาราธนาเขาแล้ว อยู่ไม่ได้” อึดใจหนึ่งท่านพ่อก็พูดว่า “ในสมัยประชุมคณะกรรมการจะสร้างเจดีย์และโบสถ์ เราปรารภว่าให้สร้างเจดีย์ก่อนเพราะเป็นการช่วยชีวิตของเรา กรรมการที่ประชุมมีความเห็นว่าให้สร้างโบสถ์ก่อน ก็เป็นอันตกลง ซึ่งเขาไม่รู้จักจุดลึกในชีวิตของเราจะมาแก้ในเวลานี้ก็สายเสียแล้ว”
เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านเจ้าคุณก็รู้สึกหมดหวังที่จะยื้อสังขารขันธ์ของท่านพ่อลีอีกต่อไป ครั้นปลงธรรมสังเวชได้จึงกราบเรียนท่านว่า “เมื่อท่านพ่อมรณะไปแล้วก็ขอให้มาช่วยเหลือวัดอโศการาม”
ท่านหัวเราะ หึ..หึ...ตอบว่า “เราก็เป็นห่วงเหมือนกัน คิดว่าจะคายอะไรไว้ให้เขากินกัน แต่ชีวิตก็จวนเสียแล้ว ก็ให้พวกที่ยังอยู่หากินกันไป ถ้าไม่มีปัญญาก็ช่างมัน”
เจ้าคุณแดงเรียนว่า “ท่านพ่อมีคาถาอะไรดี ๆ ก็สอนให้ผมด้วย”
ท่านตอบว่า “คาถานั้นมีอยู่ แต่สู้ใจเราไม่ได้ ให้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรให้สำเร็จคุณธรรม เมื่อเราทำความเพียรอย่างสุดยอดเสียสละชีวิตแล้ว จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีของแต่ละคน”
และเมื่อท่านกลับมาวัดอโศการามไม่นานนักท่านก็ละสังขารไปอย่างสงบในวันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2504 สิริอายุได้ 55 ปี
ครั้นท่านทิ้งขันธ์แล้วปวงสานุศิษย์ยังมีความเชื่อว่าท่านพ่อเพียงถอดจิตไปด้วยกิจบางประการจึงมุ่งหวังให้เก็บสรีระท่านไว้ก่อนไม่ให้ฉีดฟอร์มาลิน แต่เมื่อสองวันผ่านไปก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงในธาตุขันธ์จึงพากันฉีดยารักษาไว้และบรรจุร่างท่านในหีบทองทึบ
ดูเหมือนท่านพ่อลีและท่านพ่อเฟื่องจะเป็นศิษย์ในท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นเพียงสององค์ที่เก็บสรีระไว้ อาจเป็นได้ว่าศิษยานุศิษย์มีความรักใคร่อาลัยในท่านมากจึงปรารถนารักษาไว้เพื่อความอบอุ่นใจคล้ายท่านยังทรงสังขารอยู่ ทว่าลึก ๆ แล้วในความปรารถนาของท่านพ่อลีเองก็มาพ้องกับบรรดาศิษย์จะโดยบังเอิญหรือไรผมไม่อาจทราบได้
ด้วยครั้งหนึ่งท่านปรารภถึง ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย แห่ง วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ว่าท่านมีบารมีสูงส่งนัก คราวที่มาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงท่านเกิดมรณะภาพลงโดยที่สะพานยังไม่แล้วเสร็จ ปรากฏว่าคณะศิษย์มีปัญญาดีนำศพท่านนอนพักบนตั่งที่เตรียมไว้ใกล้สะพาน แล้วประกาศว่าหากศิษยานุศิษย์ทั้งหลายปรารถนาจะถวายเพลิงศพครูบาเจ้าแล้วล่ะก็ ขอจงพากันเร่งสร้างสะพานนี้ให้สำเร็จโดยไวเพื่อถวายกุศลแด่ครูบาศรีวิชัยผู้เป็นที่เคารพรักของเรา
ดังนั้น สะพานนี้จึงสร้างเสร็จได้ด้วยดีโดยอาศัยศรัทธาในองค์ครูบาและปัญญาจากประดาศิษย์ เล่าถึงตรงนี้ท่านพ่อลีก็เปรยว่า
“ในที่สุด ครูบาศรีวิชัยก็นอนเน่าทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้” และสรุปว่า “ฉะนั้น ชีวิตความเป็นมาของตนก็ได้คิดมุ่งอยู่อย่างนี้เรื่อยมา”
ดูเอาเถิดเมตตาธิคุณในครูบาอาจารย์ แม้ใกล้จะมรณภาพแล้วก็หาได้ห่วงอาลัยไยดีในอัตภาพของตนไม่ กลับประหวัดไปถึงสานุศิษย์ที่ยังไม่ได้ หลักใจ ว่าจะอยู่จะกินกันอย่างไร ?
แล้วท่านก็ทิ้งมรดกธรรมไว้มากมายหลายสิ่ง ทั้งรูปธรรมและนามธรรม
อัน "พระธุตังคเจดีย์" ที่เป็นประดุจสายใยชีวิตของท่านพ่อลี ทำไมจึงสำคัญขนาดว่ากุมชะตาชีวิตท่านไว้ได้ ที่มาเป็นอย่างนี้ ในวันมาฆบูชาปี พ.ศ. 2499 ที่วัดเขาพระงาม (วัดสิริจันทนิมิต) อ.เมือง จ.ลพบุรี ท่านได้ถือเนสัชชิกธุดงค์คือการไม่นอนหากนั่งภาวนาตลอดรุ่ง และตอนประมาณตีห้านั้นท่านได้นิมิตเห็นแผ่นดินแตกแยกออก มองลึกลงไปเห็นก้อนอิฐสีแดง ๆ หักพังเกลื่อนกลาดทับถมกันอยู่ใต้ดิน
จิตท่านบอกว่า “นี่คือสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในสมัยก่อน ได้ผุพังจมดินลงไปมากแล้ว ฉะนั้น ท่านต้องเป็นผู้อุปการะช่วยเหลือสร้างพระเจดีย์ เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุต่อไปภายหลังจากงานฉลองสมโภช 25 พุทธศตวรรษ มิฉะนั้นจะไม่หมดกรรมหมดเวร”
ความรู้อันหนึ่งก็ผุดขึ้นมาอีกว่า “ในสมัยก่อนโน้น พระสงฆ์มีธุระประชุมใหญ่กันในประเทศอินเดีย เมื่อได้นัดหมายกันเรียบร้อยแล้วตัวของเรากลับไม่ได้ไปประชุมกับหมู่คณะ การประชุมนี้เนื่องด้วยการฉลองสมโภชพระบรมธาตุของพระศาสดาซึ่งเป็นงานสำคัญยิ่ง แต่เราไม่ได้ไปประชุม เพื่อน ๆ จึงได้ลงโทษว่า ต่อไปท่านต้องเป็นผู้อุปการะรวบรวมพระบรมธาตุบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทต่อไป”
นี่คืออำนาจญาณของท่าน
และท่านก็ไม่ปฏิเสธผลของกรรม
พระธุตังคเจดีย์เป็นเจดีย์ 13 ยอด ซึ่งถือได้ว่าเป็นแห่งแรกในโลก และยอดทั้ง 13 นั้นมีความหมายถึง ธุดงควัตร คือข้อปฏิบัติอันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง 13 ประการ ประกอบด้วย
1. ปังสุกูลิกังคะธุดงค์ (ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรคือผ้าเก็บจากศพหรือเขาทิ้งแล้ว)
2. เตจีวริกังคะธุดงค์ (ถือใช้ผ้าสามผืนคือไตรจีวรเป็นวัตร)
3. สปทานจาริกังคะธุดงค์ (ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร)
4. ปิณฑปาติกังคะธุดงค์ (ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรคือถ้าไม่บิณฑ์ก็ไม่ฉัน)
5. เอกาสะนิกังคะธุดงค์ (ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร)
6. ปัตตปิณฑิกังคะธุดงค์ (ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร)
7. ขลุปัจฉาภิตติกังคะธุดงค์ (ถือห้ามฉันภัตตาหารที่นำมาถวายภายหลังเป็นวัตร)
8. อารัญญิกังคะธุดงค์ (ถืออยู่ป่าเป็นวัตร)
9. รุกขมูลกังคะธุดงค์ (ถืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร)
10. อัพโภกาสิกังคะธุดงค์ (ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร)
11. โสสานิกังคะธุดงค์ (ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร)
12. ยถาสันถติกังคะธุดงค์ (ถือการอยู่ในเสนาสนะอันเขาจัดให้เป็นวัตร)
13. เนสัชชิกังคะธุดงค์ (ถือการนั่งคือไม่เอนลงนอนเป็นวัตร)
นี่แหละธุดงควัตร 13 ประการที่ยังบุคคลธรรมดาให้กลายเป็นอริยบุคคลมานักต่อนัก ในสายของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ดูเหมือนจะถือข้อที่ 2 3 4 5 6 8 และ 12 โดยอัตโนมัติ ธุดงค์ที่ว่านี้ใครไม่ถือปฏิบัติก็ไม่เป็นไรพระพุทธเจ้ามิได้บังคับ ก็มีแต่ท่านผู้ใฝ่ดีที่จะยอมตัวปฏิบัติ ดังเช่นหลวงปู่เกษม เขมโก นั้นท่านถือข้อ 11 ได้อย่างมั่นคง
มาวันนี้พระเจดีย์อันเป็นธรรมานุสรณ์ของท่านพ่อลีได้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ด้วยพื้นที่ของวัดอโศการามนับแต่เริ่มสร้างเป็นดินเลนมาก่อน มีความอ่อนตัวสูง ดังนั้นกาลที่ผ่านมานานร่วม 40 ปี เป็นเหตุให้พระเจดีย์ทรุดตัวลงตั้งแต่ฐานร้าวขึ้นมาเรื่อย มากจนไม่อาจเยียวยาได้ และเป็นอันตรายแก่ผู้เข้าไปสักการะ
ทางวัดจึงมีมติให้ทุบรื้อพระเจดีย์บริวารออกจนหมดคงไว้เพียงพระเจดีย์ใหญ่องค์ประธานที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยท่านพ่อลียังดำรงขันธ์อยู่ จากนั้นก็ลงเสาเข็มวางคานด้วยวิทยาการสมัยใหม่ที่คงทนถาวรกว่าแบบเก่าซึ่งเสาเข็มเป็นไม้ แล้วสร้างพระเจดีย์บริวารทั้ง 12 องค์ขึ้นมาใหม่โดยรักษารูปลักษณ์และศิลปะเดิมเอาไว้ทุกประการ
นี่นับเป็นบุญลาภอันดียิ่งที่พระเจดีย์องค์สำคัญในพระศาสนามาถึงอายุขัยในสมัยเรา พวกเราทั้งหลายจึงจะได้อาศัยโอกาสมงคลเช่นนี้ก่อร่างสร้างพระมหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเชิดชูพระธรรมอันยอดยิ่งคือธุดงควัตร 13 ประการไว้ในคราวเดียว
อีกทั้งองค์พระเจดีย์โดยรอบมีลานเชื่อมต่อถึงกันกว้างขวางดี ท่านพ่อลีบอกว่าเพื่อประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลายได้ใช้ที่แห่งนี้เจริญจิตตภาวนา
นี่ก็พระเมตตาอันหนึ่งของท่าน
สมควรไหมที่เราชาวพุทธทั้งหลาย ทั้งเป็นศิษย์โดยตรงก็ดี ศิษย์ภายหลังก็ดี ควรที่จะรักษาเจดีย์สถานนี้ไว้ให้ยั่งยืนคู่พระพุทธศาสนา ผมอยากเรียนท่านผู้อ่านที่เทอดทูนในพระสุปฏิปันโนทุกท่านว่า นี่คือเวลาแห่งการสั่งสมบารมีอีกคราวที่ไม่ควรพลาดครับ
ท่านพระอาจารย์มั่นยกย่องในภูมิจิตภูมิธรรมของท่านพ่อลีมาก โดยเฉพาะข้อที่ว่า
“ท่านลีนี้นะ กำลังใจดีมาก” กำลังใจ ดังท่านพระอาจารย์มั่นว่าก็คือ พลังจิต ของท่านพ่อลีนั่นเอง ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก หนึ่งในศิษย์ใกล้ชิดท่านพ่อลีได้เคยประจักษ์ถึงจิตตานุภาพของท่านพ่อลีคราวหนึ่งเมื่อท่านสั่งให้นั่งสมาธิอยู่ตรงหน้าท่านคู่กันกับเด็กชายคนหนึ่งชื่อ มนูญ แล้วท่านพ่อลีก็บอกว่า “เอ้า เราจะให้ตัวลอยนะ” แล้วท่านก็ว่า “เอ้า ขึ้น...ขึ้น...” พร้อมกับโบกมือขึ้นข้างบน
น่าอัศจรรย์ เด็กชายมนูญค่อย ๆ ลอยขึ้นจากพื้นได้จริง ๆ สูงขนาดเอามือลอดได้ พักใหญ่ท่านก็ทำให้เด็กลอยลงมา พอเด็กลงถึงพื้นท่านพ่อเฟื่องก็คิดอยู่ในใจว่า “ยังไงท่านก็จะให้เราลอยขึ้นคราวนี้ แต่เราจะไม่ยอม วันนี้ฝืนกัน”
เป็นดังคาด
ท่านพ่อลีหันมาหาแล้วว่า “เอ้า เฟื่อง”
ท่านนึกในใจ “ว่าแล้ว...!”
“เอ้า ขึ้น..ขึ้น...” ท่านพ่อเฟื่องกับหลวงปู่เจี๊ยะค่อนข้างซุกซนเหมือนเด็กน้อยในสายตาของท่านพระอาจารย์มั่นและท่านพ่อลี มาวันนี้ท่านก็ซนอีกแล้วด้วยการ ฝืน...ฝืน..ไว้ไม่ให้มันลอยได้ ท่านเล่าว่า “มันจะขึ้นจริง ๆ ว่ะ เราไม่ให้ขึ้นแต่มันโยกแล้ว มันแปลก ๆ แล้ว เราก็สู้ ๆ”
แต่ปรากฏว่าท่านพ่อเฟื่องแพ้ เพราะเมื่อท่านขืนองค์ไว้หากก้นท่านมีแต่จะยกลอยขึ้น ๆ หน้าก็จะคะมำล่ะสิ ท่านจึงปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่านพ่อลี เสร็จแล้วท่านพ่อลีว่า
“โอ๊ย ! ดื้อ…!!”
นี่คืออำนาจจิตท่าน
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท เคยบอกกับผมว่า
“เปี๊ยก...ท่านพ่อลีน่ะพระทองคำทั้งองค์นะเอ็ง” วันนี้เราสร้างมหาเจดีย์ถวายพระผู้มีภายในเป็น ทองคำ กันเถิด จะเป็นธรรมเนียมของคอลัมน์นี้กระมังที่ต้องชี้ไปยังวัตถุมงคลควบด้วยเพื่อให้สมชื่อคอลัมน์
เมื่อรื้อเจดีย์เก่าออก พบพระเครื่องที่ท่านพ่อลีสร้างไว้เช่นกัน มีบางส่วนที่สร้างหลังจากท่านมรณภาพแล้วแต่เก่าใช่เล่น เช่น เหรียญพระโพธิจักรปี พ.ศ. 2508 ที่ครูบาอาจารย์มาอธิษฐานจิตกันท่วมท้น อาทิ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ เป็นต้น
ส่วนพระผงเกสรยังพอมีให้บูชา พระนี้สร้างในสมัยท่านพ่อลี ท่านเป็นองค์เสกเองไม่ต้องสงสัย ร่วมปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์ละ 1,000 บาท ส่วนเหรียญโพธิจักรปี 2508 ถ้าผมจำไม่ผิดองค์ละ 500 บาท ทั้งนี้ทั้งนั้นติดต่อไปที่วัดเลยจะดีกว่าครับ
สำหรับท่านที่สนใจแต่บุญเพียงอย่างเดียวโอนเงินเข้าบัญชีได้ทันทีครับตามเลขที่ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย สาขาปากน้ำ จ.สมุทรปราการ หมายเลขบัญชี 219-2-07616-9 ชื่อบัญชีคือ “ปฏิสังขรณ์พระธุตังคเจดีย์วัดอโศการาม”
หรือท่านใดสะดวกส่งเป็นธนาณัติก็ได้ครับที่ พระญาณวิศิษฏ์ เจ้าอาวาสวัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ สั่งจ่าย ปณ. สมุทรปราการ ในนาม พระญาณวิศิษฏ์ จะโทรถามก่อนก็ได้ที่ 02-3895151 , 02-3954499 , 02-3950003
เรียนย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นบุญบริสุทธิ์ให้กระทำไว้เป็นอริยทรัพย์แก่พวกเรา ถ้าเจดีย์ไม่ทรุดพวกเราก็ไม่มีโอกาสได้สร้างมหากุศลเช่นนี้ และถ้าเจดีย์เสร็จไปก่อนเราก็ไม่มีโอกาสได้ทำเช่นกันในระหว่าง อย่างนี้แหละครับเป็นช่องว่างแห่งบุณย์ที่เราจะได้เติมให้เต็ม หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
วัดสะแก อยุธยา เคยบอกว่า
“ซ่อม...มีอานิสงส์มากกว่าสร้าง” ขอความปรารถนาของทุกท่านจงสำเร็จตั้งมั่นดุจดังองค์พระมหาเจดีย์ และภพใหม่ต่อไปอีกจงขึ้นสู่ที่สูงดุจดังยอดพระเจดีย์ที่ชี้ขึ้นสู่นภากาศ ทั่วกันเทอญ.
*** เรื่องนี้เมื่อประมาณปี 2547 และพระธุตังคเจดีย์บูรณะเรียบร้อยแล้ว ท่านใดประสงค์จะไปกราบท่านพ่อลี และอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์สายกรรมฐานก็เรียนเชิญฮะ ส่วนวัตถุมงคลก็ไม่ทราบชะตากรรมแล้วฮะ ว่าตอนนี้จะเป็นอย่างไร***