ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์และข้อวัตรเป็นเลิศ ท่านพระอาจารย์สมบูรณ์ กันตสีโล วัดป่าสมบูรณ์ธรรม บ้านห้วยหิน ต.ป่าแดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก โดย...รณธรรม ธาราพันธุ์
“สมัยนี้จะหาพระที่เก่งด้วยดีด้วยยากจริง ๆ ไม่เหมือนสมัยก่อนมีให้กราบเยอะไปหมด” นั่นเป็นคำรำพันแบบไม่หวังคำตอบของเพื่อนผมคนหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดจะตอบอะไร นอกจากจะบอกไปสั้น ๆ
“ยังไม่ได้หาละสิ”
ผมเชื่อมั่นว่าแท้จริงยังต้องมีพระดี คนเก่งอยู่อีกมาก เพียงแต่ท่านเหล่านั้นไม่ประสงค์จะเปิดตัว ด้วยยังไม่ถึงเวลาหรือมิฉะนั้นก็เพราะ “โอกาส” ยังไม่ได้ไปเยือน
ส่วนใหญ่ผู้ดีจริง เก่งจริง ก็ไม่ปรารถนาจะแสดงตนให้คนรู้จักเพราะจะไปขัดกับการประพฤติปฏิบัติเรื่อง ”สงบ” ซึ่งท่านเคยบำเพ็ญมาช้านาน ก้อกว่าจะเอาดีได้ ท่านต้องใช้ความสงบกาย สงบวาจา และสงบใจอยู่ตั้งครึ่งค่อนชีวิต ยิ่งถ้าองค์ไหนมีเป้าหมายที่ “สงบกิเลส” ท่านยิ่งเก็บตัวเข้าไปใหญ่
ดังท่านเจ้าคุณนรฯ
เปิดตัวอีกทีก็เป็นร่มโพธิ์ที่กว้างขวางร่มเย็นให้หมู่สัตว์มาอาศัยได้อย่างมั่นคง ไม่ใช่ประเภทเพิ่งฟักตัวแบบถั่วงอก กิ่งก้านใบยังไม่ทันแตกสาขาก็ลนลานประกาศธรรม ไม่ช้าไม่นานก็เป็นข่าวสนุกเขียน
แต่สะเทือนอ่าน
ดังนั้น การหาพระดีสักองค์หนึ่งจึงต้องเข้าข่าย “แสวงหา” จะรอให้ท่านมา “แสวงเรา” ผมไม่เอาด้วยหรอก กลัวจะเก่งจริง
รัตนชาติอันสูงค่าย่อมเร้นลึกอยู่ในแผ่นดินฉันใด พระผู้ทรงคุณธรรมก็ย่อมเร้นกายอยู่ในป่าเขาฉันนั้น
ท่านพระอาจารย์สมบูรณ์ กันตสีโล เป็นพระเถระอีกรูปหนึ่งซึ่งผมถือว่าเป็นเพชรน้ำเอกในใจของผมตลอดการเดินทางอันยาวนานเพื่อแสวงหาพระดี พระเก่ง ผมต้องใช้ความอดทนและความพยายามมากมายที่จะพิสูจน์ว่า ใครดีแต่ไม่เก่ง, ใครเก่งแต่ไม่ดี, ใครทั้งดี ทั้งเก่ง และ ใครทั้งไม่เก่ง ไม่ดี แนวทางการตัดสินใจของผมถือเอาพระวินัยเป็นหลักประกันความผิดพลาด รวมถึงคำสอนปลีกย่อยของครูบาอาจารย์หรือคำรับรองของท่าน และเครื่องมือส่วนตัว
ลางสังหรณ์
จะเป็นลางสังหอน หรือลางสังเห่า ผมก็ไม่อาจบอกชัด แต่มันช่วยผมให้ได้กราบพระดีและหนีพระปลอมมานักต่อนัก
เพื่อน (เจ้าเก่า) ถามผมว่า “พระดี พระไม่เก่งนั่นหมายถึงอะไร”
ผมแจงว่า พระดีแต่ไม่เก่ง หมายถึงพระที่ปฏิบัติถูกต้องตามพระวินัย ประพฤติชอบมาตลอดเป็นนาบุญที่สมควรทำ แต่ท่านไม่มีฤทธิ์อภิญญา หรือถ้ามีก็ไม่เชี่ยวชาญ เพราะท่านไม่ได้สร้างนิสัยมาทางนั้น ส่วนพระเก่งแต่ไม่ดี ก็คือพระที่ชำนาญฤทธิ์เดชเวทมนต์แสดงปาฎิหาริย์ได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ หากท่านไม่ระวังในข้อวัตรปฏิบัติ จนเกือบจะไม่เป็นพระ
มาถึงพระทั้งดีและเก่ง กับพระไม่เก่งและไม่ดี คงไม่ต้องอธิบายล่ะนะ เพื่อนช่างสงสัยก็พยักหน้าเนือย ๆ อย่างพยายามจะเข้าใจ
ถ้าบังเอิญจะเหมือนอวดรู้ ต้องขออภัยผู้รู้กว่าไว้ ณ ที่นี้
บทพิสูจน์ของผม สรุปลงได้ที่ครูบาอาจารย์ดี ๆ หลายต่อหลายองค์ แต่หนึ่งในนั้นที่ทั้งดี ทั้งเก่ง คือท่านพระอาจารย์สมบูรณ์อย่างสิ้นสงสัย
ท่านพระอาจารย์สมบูรณ์ เป็นคนขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2483 เมื่ออายุพอสมควรได้ไปอยู่เป็นผ้าขาวกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ระยะหนึ่ง จากนั้นก็อุปสมบทและอยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่ฝั้นมาตลอดจวบจนหลวงปู่ฝั้นมรณภาพ
การบำเพ็ญเพียรของท่านอาจารย์นั้น ไม่ใช่ประเภทกินสนุก นอนสบาย ท่านตั้งอกตั้งใจถวายชีวิตบูชาธรรมโดยแท้ นิสัยอันตั้งตรงต่อธรรมนี้ยังคงติดตัวติดใจท่านมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ท่านก็ใช้ผ้า 3 ผืน, บิณฑบาตเป็นวัตร, ห่มสังฆาฏิซ้อนเวลาบิณฑบาต, ฉันมื้อเดียว, ตัด เย็บ ย้อม ผ้าไตรเอง ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความมั่นคงในธรรมของท่าน แม้วันนี้ท่านจะเป็นพระเถระที่มีอายุถึง 57 ปีแล้ว ท่านก็ยังทำทุกอย่างเอง ไม่อยู่สบาย นอนสบายเพราะถือตนว่าเป็นครูบาอาจารย์
นี่คือพระแท้อีกองค์
ครั้งหนึ่งที่ผมไปอยู่ปฏิบัติกับท่าน ท่านเน้นให้นั่งภาวนา และเดินจงกรมให้มาก ถึงผมจะใฝ่ใจในภาวนาแต่มันก็ลิงดี ๆ นี่เอง
ขณะที่ผมเดินจงกรมในเย็นวันนั้น ผมตั้งใจว่าถ้าไม่ครบ 2 ชั่วโมง จะไม่ออกจากทาง เวลาตอนนั้นก็ราวบ่าย 3 โมงแก่ ๆ หากครบ 2 ชั่วโมง ก็ 6 โมงเย็น ไปอาบน้ำแต่งชุดใหม่ขึ้นศาลาทำวัตรเย็นพอดี เดินชั่วโมงแรกแดดก็เปรี้ยงดีอยู่หรอก พอขึ้นชั่วโมงที่ 2 ฝนก็เริ่มเทลงมา
ตกเป็นตกซิ(วะ) เราจะไม่เลิกจนกว่าจะครบกำหนด ใจหนึ่งปักมั่นลงไป เดินได้ไม่กี่ตลบใจเจ้ากรรมก็แฉลบไปว่า เออ...นี่ถ้าใครมาเห็นก็ดีน่ะสิ เขาจะได้เอาไปเล่าลือว่าหมอนี่มันเก่ง ไม่หย่อนความเพียร ฝนตกยังไม่กลัวไข้ ถวายตัวบูชาธรรม
อ้าว! เผลอแผลบเดียวคิดไปโน่นต้องรีบดัดมัน ไอ้บ้านี่ คิดอะไรบ้า ๆ อยู่ในป่าใครเขาจะมาเหลียวแล คิดชั่วเสียแล้ว
แต่มีคนเห็นสมใจ
ท่านอาจารย์ มายืนข้างทางจงกรมเมื่อไรไม่รู้ พอหันไปสบตาท่านก็เอ็ดเปรี้ยง
“เป็นบ้าอะไรฝนตกยังมาเดินอยู่ได้ เดี๋ยวไม่สบายก็เดือดร้อนวุ่นวายอีก”
‘ใส่’ เสร็จก็เดินวูบวาบหายเข้าไปในราวป่า ทิ้งให้ลิงแสมยืนงงเหมือนโดนกะปิ ฝนตกตั้งนานทำไมเพิ่งมา จำเพาะเอาตอนจบความคิดต่ำ ๆ พอดิบพอดี อย่างนี้กระมังที่ท่านเรียกกันว่า
ตีเหล็กตอนร้อน
ก่อนที่ท่านอาจารย์จะลงมาอยู่วัดปัจจุบัน ท่านเคยสร้างวัดอยู่บนเขาชื่อ ‘ภูบันไดม้า’ หรือ ‘โคกผักหวาน’ ในเขตตำบลเดียวกันมาก่อน แต่ทางขึ้นที่ยากลำบากชนิดออกปากได้ไม่เขินว่า ‘สาหัส’ เป็นเหตุให้บรรดาศิษย์ขอร้องท่านให้หาที่อันจะ ‘สาหัส’ พอดี ๆ และด้วยวัดเกิดปัญหากับป่าไม้จังหวัดเรื่องที่ดินติดกับเขตป่าสงวน ท่านจึงลงมาสร้างวัดล่างที่ห่างกันราว 20 กิโลเมตร
สมัยที่ท่านอยู่วัดบน มีครอบครัวหนึ่งในตลาดป่าแดงให้ความเคารพศรัทธาท่านมาก อุปัฏฐากจนสนิทสนมกับท่านอาจารย์ทั้งครอบครัว ผู้เป็นพ่อชื่อดวง เราจึงพร้อมใจกันเรียกพ่อดวง แม่ดวง
วันที่ไม่มีใครลืมก็มาถึง แม่ดวงซ้อนมอเตอร์ไซด์โดยมีลูกสาวเป็นคนขี่ เข้าไปซื้อของในตลาดแล้วขับออกตรงถนนใหญ่ เพราะความที่เป็นต่างจังหวัดถนนไม่มีรถมากเหมือนในเมือง ลูกสาวจึงขาดความรอบคอบพุ่งรถออกจากจุดตัดไปกลางถนนพอดี ตอนนั้นเองที่ทันได้เห็นว่าถนนด้านขวามีรถบัสคันใหญ่พุ่งตรงเข้ามา เลียวไปทางซ้ายก็เป็นรถกระบะวิ่งมาด้วยความเร็วสูง
คนทั้งสองอยู่กลางถนนเสียแล้ว
เสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตายนั้นเอง ผู้เป็นลูกสาวก็ตะโกนออกไปโดยสัญชาตญาณว่า”หลวงพ่อช่วยด้วย” พริบตานั้น เธอก็เห็นพระรูปหนึ่งมีอาการดุจหล่นลงมาจากอากาศ พระองค์นั้นยืนปักหลักอยู่กลางถนนด้านคนขับรถบัส แล้วท่านก็ยกสองมือผลักรถคันใหญ่เต็มแรง รถที่วิ่งมาด้วยความเร็วร่วมร้อยถึงกับหัวปัดออกจากแนวเดิม แล้วพุ่งเฉียดมอเตอร์ไซด์ไปไม่ถึงเมตร เสียงล้อรถบัสเบรกบดถนนดังลากยาว ตามด้วยเสียงตะโกนโหวกเหวกฟังไม่ได้ศัพท์ของโชเฟอร์ ผู้เป็นแม่จึงบอกปากคอสั่นให้เร่งเครื่องหนีไปเลย เพราะกลัวถูกต่อว่าขนานใหญ่
เมื่อพ้นจุดเกิดเหตุ ลูกสาวที่เห็นปรากฎการณ์พิศวงละล่ำละลักถามมารดาว่าเมื่อกี้เห็นอะไรไหม ด้วยเธอเข้าใจว่าตาฝาดไป แต่คำตอบตรึงเธอจนนิ่งงัน เพราะแม่เธอก็เห็นเช่นเดียวกับเธอ และเห็นชัดด้วยว่าพระองค์นั้นเป็น
หลวงพ่อสมบูรณ์
เรื่องนี้ดังสนั่นไปทั่วตำบลในวันเดียว เพราะคนขับรถบัสคันนั้นดันเห็นท่านอาจารย์หล่นลงมาผลักรถเหมือนกัน กลายเป็นข่าวครึกโครมออกตามหาพระลักษณะผอม ๆ สูง ๆ ดำ ๆ ดังคำให้การของโชเฟอร์ อย่างจ้าละหวั่น
ข่าวนี้ล่วงรู้ไปถึงท่านอาจารย์ได้อย่างไรไม่ทราบ แต่เป็นเหตุให้ท่านต้องเก็บบริขารหนีพวกบ้าพระบ้าหวยลงจากเขา เข้าไปพำนักที่วัดเชิงเลน ซอยมูลนิธิพระอาจารย์มั่น ฝั่งธนบุรี อยู่นานนับเดือน ผมผู้ทราบเรื่องตามไปแคะไค้เอากับท่านอาจารย์ในวันหนึ่ง ผมเรียนท่านอ้อมไปอ้อมมาแบบมีเชิง รู้ดีว่าถามตรง ๆ ไม่ได้แอ้มหรอก ก็สงสัยจริง ๆ นี่นาทั้งคู่ไม่ได้แขวนพระท่าน ไม่ได้สวดภาวนาถึงท่าน เพราะเขาไม่รู้ว่าจะไปประสบอุบัติเหตุ
ท่านเองก็ไม่ได้อยู่ในขณะนั่งสมาธิภาวนา เพราะผมเช็คเวลาแล้ว ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาที่ท่านกำลังฉันเช้าอยู่พอดี ท่านเอาเวลาที่ไหน ‘กำหนด’ ไปช่วย ถอดจิตไปหรือ? แล้วร่างที่ฉันข้าวอยู่ล่ะ ?
ครั้นผมซักท่านหนักเข้า ท่านถึงกับลุกจากหมอนอิงจ้องหน้าผมเป๋งแล้วสั่งว่า
“ไหน...ลองคิดถึงวัดท่านอาจารย์ทุยซิ” (คือช่วงเดือนนั้นเป็นเวลาที่ผมอยากจะขึ้นไปอยู่กับหลวงพ่อทุยมาก เพราะวัดท่านสงบร่มเย็นดี)
เมื่อสิ้นเสียงท่าน ผมก็เห็นภาพวัดในความทรงจำได้ชัดเจน ก็คนเคยเห็นมาแล้วนี่ ผมเรียนท่านไปทันทีที่เกือบจะสิ้นเสียงท่านว่า
“เห็นแล้วครับ”
ท่านสวนตูม
“เออ! จิตมันไวไหมล่ะ”
เฮ้อ! หมดเรื่อง คืนนั้นนอนหลับสบายดีจัง หาย ‘คัน’ สนิท”
คราวหนึ่ง ท่านยืนคุมพวกผู้ใหญ่บ้านและคณะศิษย์ที่ใช้เลื่อยยนต์ตัดไม้หลังวัด ขณะที่ใบเลื่อยกำลังหมุนรอบตัวด้วยความเร็วสูง และเริ่มกินเนื้อไม้เข้าไปนั้นเอง ตัวเครื่องเกิดสะบัดอย่างแรงหลุดออกจากมือช่างแล้วพุ่งเข้าไปฟันที่ขาท่านอาจารย์พอดี
อัศจรรย์นัก ใบเลื่อยที่คมกริบไม่อาจกินเข้าไปในเนื้อท่านได้เลย เมื่อกระทบแล้วก็เพียงสะบัดตัวลงไปนอนสิ้นฤทธิ์อยู่ใกล้เท้าท่านท่ามกลางความตกตะลึงของศิษย์ ท่านอาจารย์ก้มลงเอามืดปัดปลายสบงพลางบ่นเสียงดัง
“เฮ่ย! ทำอะไรไม่รู้จักระวัง”
พูดแล้วก็เดินไป ปล่อยให้ทุกคนยืนตาค้างอยู่ที่เดิม
หากจะว่าสิ่งเหล่านี้เป็น ‘ของเล่น’ สำหรับพระอริยะเช่นท่าน ผมก็พร้อมที่จะเป็นเด็กน้อยเพื่อไปเล่นของ ๆ ท่าน
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาอีกมาก ล้วนแต่ทำให้ใคร ๆ อยากได้เครื่องมงคลของท่านทั้งนั้น ทว่าท่านก็มีเพียงแผ่นทองแดงลงอักขระแจก ซึ่งท่านต้องเขียนด้วยมือท่านเอง จึงทำไม่ทันคนขอ
ศิษย์คนหนึ่งเลยขออนุญาตทำพระขึ้นเพื่อแจกจ่ายเป็นที่ระลึก โดยในรอบปีจะทำขึ้นเพียงครั้งเดียว คือวันสรงน้ำทำบุญอายุของท่าน เพราะงานนี้ศิษย์เป็นผู้จัดทำถวายแม้ท่านจะไม่เคยเรียกร้องให้ทำ และในงานแต่ละปีก็จะมีเพียงศิษย์ที่เคารพท่านสุดใจมาร่วมงานเท่านั้น เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะท่านไม่เคยบอกใคร และศิษย์ที่จัดก็ไม่เคยประกาศข่าวคนจะไปต้องสืบเอง
เหตุที่ทำให้ท่านยอมที่จะแจกพระเครื่อง ด้วยเห็นว่ามีเฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้น หากเป็นงานใหญ่ท่านจะไม่แจก ไม่พูดถึงเลย ท่านให้เหตุผลว่าท่านยังเป็นพระผู้น้อย ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านยังไม่มีเลย ท่านจะมีมันก็กระไรอยู่
แต่ห้ามคนห้ามได้ ห้ามลิงห้ามยาก
1. พระผงมงคลอายุรุ่นแรก ปีพ.ศ. 2537
พระรุ่นแรกนี้สร้างเป็นพระปิดตา เนื้อผงพุทธคุณล้วน ๆกระบวนการสร้างเป็นแบบโบราณทุกขั้นตอน ตั้งแต่แกะพิมพ์ โขลกผงด้วยครกหิน ใช้ผงพุทธคุณผสมกับปูน, กล้วยน้ำว้า, น้ำผึ้ง, น้ำมนต์ และผสมเส้นเกศาของท่านเข้าไปในเนื้อพระ ซึ่งจะเห็นได้ในพระทุกองค์ จำนวนสร้างทั้งสิ้น 55 องค์ เท่าอายุของท่านในปีนั้น ท่านอธิษฐานจิตให้บนมือของท่านประมาณ 5 นาที แล้วแจกเลย
2. พระผงมงคลอายุรุ่นสอง ปีพ.ศ. 2538
มีทั้งหมด 3 พิมพ์ คือพระสมเด็จ, พระสิวลี และพระปรกใบมะขาม พระสมเด็จแบ่งออกเป็น 3 เนื้อคือ พระสมเด็จขาว เป็นผงพุทธคุณล้วน พระสมเด็จดำ เป็นผงพุทธคุณ 3 ส่วน และอังคารธาตุท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วบ้านชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร 7 ส่วน พระสมเด็จเขียว เป็นผงพุทธคุณ 7 ส่วน และทรายทองจากสระพญานาคในวัดพระธาตุพนม 3 ส่วน
พระสิวลี และพระปรกใบมะขาม เป็นผงพุทธคุณล้วน พระทุกองค์จะประทับตรายางหมึกสีดำที่ด้านหลัง เป็นคาถาเฉพาะของท่านที่ได้มาเมื่อคราวออกธุดงค์ รวมจำนวนพระทั้งหมด 95 องค์ ท่านอาจารย์ได้แผ่เมตตาให้ตั้งแต่วันที่ 18-20 สิงหาคม พ.ศ. 2538
3. พระผงมงคลอายุรุ่นสาม ปีพ.ศ. 2539
เป็นพิมพ์พระแก้วมรกต เนื้อผงพุทธคุณผสมเส้นเกศา ปีนี้จะทำพระแก้วพิมพ์เดียว แต่มีจำนวนมากถึง 1,000 องค์ ทำเนื้อพิเศษขึ้นมาเพียง 5 องค์ โดยใช้มวลสารเดียวกับที่ทำ ‘พระธรรมจักร’ ของท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ
พระแก้วเนื้อผงนี้ได้นำไปถวายให้ท่านพ่อเมือง พลวัฒโฑ วัดป่ามัชฌิมวาส อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พระเถระที่ทรงอภิญญาเป็นยิ่งอธิษฐานให้ก่อน โดยท่านแผ่เมตตาให้ 10 นาที จากนั้นจึงนำไปถวายท่านอาจารย์ ซึ่งท่านก็ใช้เวลาเพียง 5 นาที แล้วลงมือแจกคณะกฐินที่มาทอดในคราวออกพรรษาปี 38 เป็นประเดิม เมื่อมีผู้รับไปมาก ก็เกิดประสบการณ์มากเป็นที่กว้างขวางไปทั่ว ทำให้มีผู้ถามหาพระแก้วรุ่นนี้อยู่บ่อย ๆ คนสร้างไปไหนก็เดินตัวลีบ เกรงพระจะหมดกรุ
เรื่องราวของท่านพระอาจารย์แท้จริงแล้วควรเก็บงำไว้ไม่น่ากล่าวถึง คนไม่เข้าใจจะหาว่ายกขึ้นให้สูง แต่ผมเห็นว่าท่าน ‘บริบูรณ์’ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมอะไร ปัญญาอย่างผมจะไปเพิ่มไปทอนอะไรท่านได้ เล่าสู่กันฟังก็เพราะอยากให้ได้กราบพระดี พระเก่งโดยแท้
ขวนขวายเข้าเถิด เวลามีพระดีให้สร้างบุญ
บทความนี้ได้ตีพิมพ์เมื่อ วันที่ 16 มิถุนายน 2540
|