อังคาร 17 ก.พ. 2009 9:13 pm
อมตะสงฆ์จีน ไต้ฮงกงโจวซือมหาเถระ
สุปฏิปันโนผู้ก่อตั้ง “ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง”
โดย...รณธรรม ธาราพันธุ์
- re1.jpg (27.23 KiB) เปิดดู 3648 ครั้ง
สุปฏิปันโน แปลว่า ผู้ปฏิบัติดี ใครก็ได้ไม่จำเพาะว่าจะต้องเป็น พระสงฆ์ เณรก็ได้ อุบาสกก็ได้ อุบาสิกาก็ได้ ผู้ใหญ่ เด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย ไม่เป็นประมาณพระสงฆ์ฝ่ายจีนนิกายที่ปฏิบัติดีประพฤติชอบก็มีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก เพราะท่านเกิดในจีน มรณภาพในจีน ถ้าองค์ไหนมีชื่อระบือไกลข้ามประเทศได้แสดงว่าบารมีสูงจริง
- re2.jpg (72.07 KiB) เปิดดู 3646 ครั้ง
“ไต้ฮงกง” หรือ
“หลวงปู่ไต้ฮง” เป็นพระจีนนิกายที่แน่นอนว่ามีบารมีสูงส่ง คำนี้ใช่ว่าจะได้มาด้วยการยกยอ แต่เป็นเพราะการบำเพ็ญสมณธรรมที่จริงจัง และการออกโปรดสัตว์ แผ่เมตตาอย่างไม่เลือกชนชั้น ทำให้หลวงปู่ไต้ฮงเป็นที่แซ่ซ้องไปทุกทิศานุทิศ
หลวงปู่ไต้ฮง ถือกำเนิดในตระกูล
“ลิ้ม” ชื่อเดิมว่าอย่างไรไม่ปรากฏ ท่านเกิดในราวปี พ.ศ.1638 หรือเมื่อ 900 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับรัชสมัยของราชวงศ์ซ้อง
เมื่อเติบใหญ่ท่านได้เข้าสอบไล่จนถึงชั้นสูงเท่ากับระดับปริญญา มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า
“จิ้นสือ” ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอเซียวเฮง มณฑลจิกกัง ทว่าท่านรับราชการได้ไม่นาน คะเนอายุได้ราว 30 ปี ก็ลาออกจากราชการ ด้วยเหตุผลที่ว่าเบื่อหน่ายในชีวิตทางโลกนัก
ดังนั้นท่านจึงเข้าอุปสมบทในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้รับฉายาว่า
“ไต้ฮงภิกขุ” ซึ่งคนจีนพากันเรียกขานท่านด้วยความเคารพว่า “ไต้ฮงโจวซือ” แปลว่า พระอาจารย์ไต้ฮง หรือหลวงพ่อไต้ฮงนั่นเอง
- re3.jpg (16.56 KiB) เปิดดู 3645 ครั้ง
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ไม่ช้าไม่นานท่านไต้ฮงก็ออกจาริกแสวงบุญไปเรื่อย ๆ จากมณฑลฮกเกี้ยนธุดงค์รอนแรมไปจนถึงอำเภอเตี้ยเอี้ย แคว้นแต้จิ๋ว ท่านได้พบภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่าเขา “ปักซัว” ดูสงบเงียบร่มรื่นเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนายิ่งนัก ท่านจึงปีนป่ายขึ้นไป
ปรากฏว่าบนนั้นมีวัดร้างแห่งหนึ่งซึ่งเก่าแก่ทรุดโทรมขาดคนบูรณะมาช้านาน วัดนี้มีชื่อว่าวัด
“เมี่ยนอัน” ท่านจึงเข้าพำนักยังวัดร้างแห่งนี้ และได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น พร้อมทั้งเผยแผ่พุทธธรรมอบรมชาวบ้านให้ประพฤติดี
จากนั้นท่านก็เริ่มขยายผลระยะไกลด้วยการออกพัฒนาท้องถิ่น พร้อมทั้งสงเคราะห์ช่วยเหลือราษฎรที่ทุกข์ยากลำบากโดยประการต่าง ๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นลำดับลำดา ด้วยความวิริยะอุตสาหะไม่ท้อถอย ด้วยเมตตาที่ไม่มีประมาณของหลวงปู่ไต้ฮง ทำให้ชื่อเสียงของท่านเริ่มระบือไปทุกทิศ มีคนเลื่อมใสศรัทธามาถวายตัวเป็นศิษยานุศิษย์จำนวนมากมาย
จวบจนถึงวันสำคัญวันหนึ่งในชีวิตท่าน เมื่อเกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรงขึ้น ผู้คนพากันล้มตายเพราะพิษไข้เป็นใบไม้ร่วง หันไปทิศใดปรากฏแต่ซากศพเกลื่อนเมือง เมื่อศพไม่ได้ถูกฝังหรือเผาให้ถูกสุขลักษณะ พอฝนตกลงมาก็ชะเอาเชื้อโรคลงสู่แม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ผู้นำไปดื่มกินก็ติดโรคต่อ ๆ กันไป เกิดเป็นหายนะภัยอันใหญ่หลวง
หลวงปู่ไต้ฮงจึงได้รวบรวมศิษย์ขึ้นจำนวนหนึ่ง ออกช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้วยการเก็บศพอนาถาไร้ญาติไปฝัง และเจียดยาแจกจ่ายแก่ผู้ป่วยไข้เพราะโรคร้ายอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย โดยไม่มีความรังเกียจในโรคภัยนั้น ๆ แต่ประการใด
จนทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ชื่อเสียงของหลวงปู่ไต้ฮง จึงยิ่งแพร่สะพัดกว้างขวางเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ผู้คนต่างพากันเดินทางมากราบสักการะท่านไม่หยุดหย่อน เมื่อมีคนศรัทธามากท่านจึงบอกบุญเชิญชวนคณะศิษย์ทั้งหลายให้ร่วมบริจาคปัจจัยและทรัพย์สินในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมหาภัย
“เหลียงเจียง”
- .jpg (3.48 KiB) เปิดดู 3647 ครั้ง
โดยเหตุที่แม่น้ำมีความกว้างราว 1 กิโลเมตร หนำซ้ำยังมีกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากตลอดวัน ประชาชนที่จำเป็นต้องสัญจรด้วยเรือแพข้ามแม่น้ำ จึงจำใจต้องเสี่ยงภัย และบ่อยครั้งที่ได้ประสบอุบัติเหตุจนผู้คนล้มตายกันไปมาก บางครั้งก็เกิดพายุพัดเอาเรือล่มจมลงกลางลำน้ำ ราษฎรจึงหวั่นกลัวกับแม่น้ำเหลียงเจียงเป็นที่สุด
หลวงปู่ไต้ฮงจึงดำริที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพราะเหตุนี้ และไม่นานนักเงินทุนอีกทั้งกำลังคนก็พร้อมสรรพ คงมีอุปสรรคเพียงกระแสน้ำเชี่ยว ซึ่งขัดขวางการวางตอม่อสะพานอันเป็นหัวใจสำคัญของการสร้าง ในครั้งนี้เองที่มหาชนต่างได้ประจักษ์ตาในบุญญาภินิหารอันน่าอัศจรรย์พันลึกจนเหลือจะกล่าวของท่าน
เมื่อหลวงปู่ไต้ฮงเข้าสมาธิสงบจิตลงสู่องค์ฌาน เพ่งจิตที่ทรงกำลังระงับการขึ้นลงของแม่น้ำมหาภัยทั้งสายให้สงบนิ่งเป็นระยะเวลายาวนานถึง 7 วัน 7 คืน กระทั่งการวางรากฐานสะพานหินเสร็จสิ้นลง แม่น้ำเหลียงเจียงจึงฟื้นคืนจากหลับ ไหลเชี่ยวกรากต่อไปได้อย่างน่าประหลาด
ด้วยบุญฤทธิ์อันชวนตื่นตะลึงนี้เอง เป็นเหตุให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงปู่ไต้ฮงยิ่งระบือลือลั่นไปไกล มหาชนต่างพากันบ่ายหน้ามาขอพึ่งบารมีจากท่านทุกวัน ทำให้สะพาน
“ฮั่วเพ้ง” เสร็จลงได้โดยเร็วพลัน และยังคงยืนยงมาตราบจนทุกวันนี้ แม้จะมีอายุถึง 900 กว่าปี ก็ยังดีเฉยไม่เคยต้องซ่อมแซมเลยแม้แต่ครั้งเดียว
- 2.jpg (6.23 KiB) เปิดดู 3643 ครั้ง
นับวัน พลังอภิญญาของหลวงปู่ไต้ฮงก็ยิ่งโดดเด่นปรากฏชัดเรียกศรัทธาจากคนนับแสนได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่นคราวหนึ่ง ท่านต้องการจะข้ามแม่น้ำไปทำธุระอีกฝั่ง แต่คนแจวเรือกลับไม่ยอมให้ท่านลงเรือ เพราะเห็นท่านเป็นพระ เกรงว่าจะไม่มีเงินจ่ายค่าเรือ จากนั้นก็แจวหนีท่านไป
หลวงปู่ไต้ฮงจึงเอาร่มกระดาษสาที่ท่านถือไปด้วยกางขึ้น แล้วหงายร่มเอายอดจิ้มลงน้ำ จากนั้นก็ก้าวขึ้นไปยืนต่างเรือ พลันเรือจำเป็นก็ทะยานออกสู่ท้องน้ำวิ่งละเลียดคลื่นไปจนถึงอีกฝั่ง ในขณะที่เรือจ้างลำอวดดียังมาได้เพียงครึ่งแม่น้ำเท่านั้นเองเรื่องนี้ยิ่งกระพือชื่อท่านให้โหมหนักเข้าไปอีก
- 1.jpg (46.43 KiB) เปิดดู 3641 ครั้ง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถนนทุกสายจะไม่พุ่งตรงเข้าสู่วัดเมี่ยนอัน ท่านจึงบำเพ็ญศาสนกิจอย่างเต็มกำลัง ตราบจนวันสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านได้มาถึง มหาชนต่างพากันเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ถึงท่านยิ่งนัก จึงประกอบพิธีศพท่านอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ทำฮวงซุ้ยที่งดงามไว้เป็นเครื่องบูชา และพร้อมใจกันสร้างกุศลศาลา รวมทั้งรูปเหมือนจำลองของหลวงปู่ไต้ฮงไว้กราบสักการะ
- re5.jpg (21 KiB) เปิดดู 3640 ครั้ง
เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีขององค์ท่านจึงตั้งชื่อกุศลศาลาสำคัญนี้ว่า “ป่อเต็กตึ๊ง” แปลว่า “คุณานุสรณ์”
- re1.jpg (19.8 KiB) เปิดดู 3639 ครั้ง
แม้หลวงปู่จะมรณภาพจากไปแล้ว แต่ศิษยานุศิษย์ที่เจริญรอยตามท่านยังมีอยู่มากมาย จึงพากันบำเพ็ญกุศลในรูปแบบต่าง ๆเพื่ออุทิศถวายหลวงปู่ด้วยการประกอบสาธารณประโยชน์ สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวยังผลให้เกิดความสงบสุขและสิริมงคลนานานประการแก่ผู้บำเพ็ญ
จึงมีการสืบสานงานสร้างกุศลสถาน
“ป่อเต็กตึ๊ง” ขึ้นมากมายทั่วทุกถิ่น ซึ่งนับถึงปัจจุบันนี้มีกว่า 500 แห่งทั่วแผ่นดินจีน นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีในความมีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แล้ววันหนึ่งในปี พ.ศ. 2439 ณ บ้านย่านวัดเลียบ มีชาวจีนอำเภอเตี้ยเอี้ยคนหนึ่งนามว่า
“เบ๊จุ่นเชียง” หรือ
“เบ๊ยุ่น” ผู้อพยพมาจากจีนเพื่อชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในแผ่นดินสยาม ได้อัญเชิญรูปเหมือนจำลองของหลวงปู่ไต้ฮงมาจากแผ่นดินเกิด และประดิษฐานไว้ที่บ้านเพื่อกราบไหว้บูชา
ทว่า ประชาชนชาวจีนที่รู้ข่าวต่างก็พากันหลั่งไหลไปขอสักการะด้วย เมื่อสาธุชนมากขึ้น ๆ บ้านน้อย ๆ ก็รับภาระไม่ไหว จึงต้องเชิญหลวงปู่ไต้ฮงไปประดิษฐานยังที่แห่งใหม่คือ
ร้านกระจกข้างสมาคมกว๋องสิว ถนนเจริญกรุงด้วยความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารนานาประการที่หลวงปู่ไต้ฮงได้บำบัดปัดเป่าเคราะห์ภัยให้สาธุชน ทำให้ประชาชนทั้งชาวจีนและชาวไทยพากันไปบูชาท่านมากขึ้นเรื่อย ๆ
- re1.jpg (20.07 KiB) เปิดดู 3638 ครั้ง
ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2445 จึงมีคหบดีผู้มีศรัทธาในหลวงปู่ไต้ฮง 12 ท่าน โดยมี
พระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวาณิช) เป็นผู้นำ ดำเนินการจัดซื้อที่ดินสร้างศาลาใหญ่ประดิษฐานรูปเคารพของหลวงปู่ไว้เป็นที่เฉพาะ
- re6.jpg (7.02 KiB) เปิดดู 3632 ครั้ง
ปี พ.ศ. 2453 การสร้างอาคารป่อเต็กตึ๊งได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เหนือทางเข้าตัวตึกด้านหน้าได้สลักอักษรจีนอ่านว่า
“ฮุกกวงโพ่วเจี่ย” มีความหมายว่า
“แสงธรรมส่องทั่วหล้า” ภายในตัวตึกประดิษฐานรูปจำลองของหลวงปู่ไต้ฮงองค์ปฐมที่อัญเชิญมาจากเมืองจีน
สถานที่นี้เองที่ใช้เป็นสำนักงานดำเนินงานสาธารณกุศล เช่น เก็บศพไม่มีญาติ แจกยารักษาโรค ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และชนชั้น
ลุถึงปัจจุบันนับได้ว่ามูลนิธิ
“ป่อเต็กตึ๊ง” ได้บำเพ็ญกุศลอันยิ่งใหญ่ไว้มากมายหลายประการ ด้วยอานิสงส์ที่กระทำไว้พร้อมมูลเชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องในงานสาธารณกุศลอย่างจริงจังและจริงใจ ย่อมได้บุญอันไพบูลย์เต็มปรี่ ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของทุกท่าน โดยเฉพาะ
“ไต้ฮงกง” พระมหาเถระที่ทรงคุณอันยิ่งใหญ่
- re7.jpg (32.7 KiB) เปิดดู 3639 ครั้ง
- ทอง นาค ทองแดง.jpg (34.26 KiB) เปิดดู 3639 ครั้ง
- re4.jpg (35.54 KiB) เปิดดู 3640 ครั้ง
ในเรื่องของวัตถุมงคล ไม่ว่าจะเป็นรูปเหมือนขนาดบูชา 5 นิ้ว และ 7 นิ้ว รูปลอยองค์ชนิดแขวนคอ และเหรียญรูปเหมือนต่าง ๆ ได้มีการสร้างพร้อมทำพิธีดีเยี่ยมให้เช่าบูชามานานแล้ว ถ้าประสงค์จะเช่าที่มูลนิธิ ก็ให้หาเบอร์โทรติดต่อดู หากไม่มีเหลือให้บูชา ลองติดต่อไปที่สำนักงานกลาง วัดหัวลำโพง เข้าใจว่าน่าจะยังมีเหลืออยู่ เพราะคราวนั้นสร้างไว้มากมายหลายอย่างเหมือนกัน
- หน้า re1.jpg (12.64 KiB) เปิดดู 3598 ครั้ง
- หลังre2.jpg (12.62 KiB) เปิดดู 3600 ครั้ง
- re8.jpg (12.99 KiB) เปิดดู 3635 ครั้ง
ขอให้โชคดีครับ
บทความนี้ได้ตีพิมพ์เมื่อ วันที่ 16 ธันวาคม 2540