"...ตะกรุดโทนมหาระงับต้องใช้แผ่นทองแดงหนา ที่มีความยาวถึง 9 นิ้ว กว้าง 7 นิ้ว เพราะประกอบด้วยพระยันต์ศักดิ์สิทธิ์ และอักขระวิเศษมากมาย ถ้าแผ่นเล็กจะลงไม่พอ
ยันต์ที่ลงนั้นจำต้องลงกำกับทั้งด้านหน้าและด้านหลังเต็มแน่นหมด โดยหลวงพ่อกำหนดฤกษ์ยามมงคลในการลงทุกขั้นตอน ครั้นม้วนแล้วเสร็จก็ถักด้วยด้ายสายสิญจน์ที่ผ่านการปลุกเสกมาแล้วอย่างดี คลุกด้วยน้ำรักแท้ดำสนิท จากนั้นก็พอกผงวิเศษมหาระงับลงไปบนด้ายอีกที
โดยผงมหาระงับนั้นประกอบด้วย ผงพุทธคุณ 2 ชนิด คือ ผงปถมัง และ ผงมหาราช ซึ่งวิธีการเขียนและเสกผงนี้ กว่าหลวงพ่อสาลีโขจะเรียนจำทำเป็นจนชำนิชำนาญ ท่านใช้เวลาศึกษาถึง 17 ปีเต็ม คิดดูเถิด นี่เฉพาะการทำผงวิเศษ 5 ประการเท่านั้นหนา
ต้องหาใบไม่รู้นอน 7 สิ่งมาบดผสมลงไป ได้แก่ ใบชุมแสง, ใบสมี, ใบระงับ, ใบหิงหาย, ใบกระเฉด, หญ้าใต้ใบ และใบกระถิน ผสมกับไม้งิ้วดำ ผงคัมภีร์ใบลานของวัดสาลีโข ผงพระประธานองค์เก่าในโบสถ์วัดสาลีโข
ยังมีว่านวิเศษที่ท่านเลี้ยงไว้ด้วยน้ำมนต์ในสถานที่เฉพาะ ล้อมสายสิญจน์เป็นปริมณฑล ห้ามสตรีเพศเข้าโดยเด็ดขาด เพื่อนำมาทำตะกรุดโทนโดยตรง ประกอบด้วยว่านมหาจักรพรรดิ, พญาว่าน, จ่าว่าน, ว่านมหาปราบ, ว่านมเหศวร, ว่านมหาระงับ, ว่านพญาหอกหัก, ว่านสามพันตึง, ว่านชมภูหนังแห้ง และว่านเพชรน้อย ว่านเพชรใหญ่
นำของทั้งหมดมาประสมเข้ากับ ผงมูลกัจจายน์, ผงตรีนิสิงเห, ไคลเสมา, เกสรศรีมหาโพธิ์, ชันโรงใต้ดิน, ดินสอกำบัง, รังหมาล่า, ใบไมยราพ, ดอกรักซ้อน, ผงมหาฤาษีจากในถ้ำ, วัตถุสารมงคลต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์เป็นทนสิทธิ์อยู่ในตัว และดินศักดิ์สิทธิ์จากสถานที่มงคลนานา ผนวกด้วยแร่ทรงคุณ 9 ชนิด
สรรพมวลสารมงคลทั้งหมดถูกคลุกคลีด้วยน้ำรักบริสุทธิ์จนเหนียวตัว แล้วปรุงด้วยเครื่องหอมทั้ง 9 คือ จันทร์ขาว, จันทร์แดง, กฤษณา, กลำพัก, ขอนดอกชะมด, พิมเสน, อำพันทอง และน้ำมันหอมชั้นดี จึงนำผงวิเศษที่ปรุงแล้วชะโลมทาลงบนด้าย พอกพูนจนหนาแล้วลงรักทับ รักชั้นที่ 1 แห้ง ก็ลงชั้นที่ 2 ทับอีกเพื่อความคงทน
เมื่อผงต่าง ๆ แห้งสนิทเกาะตัวแน่นดีแล้ว จึงอธิฐานจิตปิดทองเป็นการสมโภช วาระต่อมาจึงประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกขึ้นในโอกาสต่าง ๆ นอกเหนือไปจากการปลุกเสกเดี่ยวทุกวัน ๆ โดยหลวงพ่อสาลีโขตลอดไตรมาส
นี่คือความวิริยะอุตสาหะของหลวงพ่อสาลีโขที่มุ่งมั่นสร้างตะกรุดให้เป็นตะกรุด มิใช่ทำตะกรุดเป็น ‘ตะกรูด’ คือถอยหลังหนีดังกรูด ๆ ดังหลวงพ่อเทียมว่า..."
เอาลงมายั่ว
