คุณอารณธรรม อาจจะกำลังบีซี่อยู่ฮะ
เด็กลึกลับ เลยไปค้นหามาให้พี่ๆอ่านไปพลางๆก่อนฮะ
จากเว็บ
http://www.cm77.org/board/archiver/?tid-132.htmlความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวล้านนา เชื่อกันว่าก่อนจะมาปฏิสนธิ ดวงวิญญาณจะกลายสภาพเป็นดาวก่อนแล้วร่วงลงสู่โลก เมื่อเห็นดาวตก จะมีการห้ามว่ามิให้ใช้มือชี้ เพราะจะทำให้ดวงวิญญาณนั้นไม่ได้เกิด
ดาวแห่งดวงวิญญาณเมื่อร่วงลงมาจะไปสถิต ณ พระเจดีย์ ประจำปีเกิดระยะหนึ่ง แล้วไปอยู่เหนือกระหม่อมของบิดา จากนั้นจึงเคลื่อนสู่ครรภ์มารดาเป็นการปฏิสนธิ พระเจดีย์ ประจำปีเกิดชาวล้านนาเรียกว่า พระธาตุ ซึ่งระบุไว้ ดังนี้
- พระธาตุจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สำหรับคนเกิดปีชวด
- พระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง สำหรับคนเกิดปีฉลู
- พระธาตุช่อเเฮ อ.เมือง จ.แพร่ สำหรับคนเกิดปีขาล
- พระธาตุแช่เเห้ง อ.เมือง จ.น่าน สำหรับคนเกิดปีเถาะ
- พระธาตุพระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สำหรับคนเกิดปีมะโรง
- พระเจดีย์มหาโพธิ์ ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สำหรับคนเกิดปีมะเส็ง
- พระธาตุตะโก้ง (ชะเวดากอง) ประเทศพม่า สำหรับคนเกิดปีมะเมีย
- พระธาตุดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สำหรับคนเกิดปีมะเเม
- พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม สำหรับคนเกิดปีวอก
- พระธาตุหริภุญไชย อ.เมือง จ.ลำพูน สำหรับคนเกิดปีระกา
- พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สำหรับคนเกิดปีจอ
- พระธาตุดอยตุง อ.เเม่สาย จ.เชียงราย สำหรับคนเกิดปีกุน
พระธาตุต่าง ๆ ดังกล่าว นอกจากจะเป็นสถานที่สถิตของดวงวิญญาณแล้ว ยังเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิประจำตัว ครั้งคราวใดที่ชีวิตตกอับหรือเคราะห์ร้าย หากได้ไปกราบไหว้สักการะบูชาพระธาตุประจำปีเกิด แม้เพียงครั้งเดียวก็เชื่อว่าจะสามารถพ้นจากภาวะวิกฤติของชีวิตเลยทีเดียว ดังนั้นผู้คนจึงนิยมหาโอกาสไปกราบไหว้สักการะบูชาอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่เนื่องจากบางแห่งอาจอยู่ไกลหรือสุดวิสัยที่จะเดินทางไปได้ ก็จะไปบูชาพระเจดีย์ในวัดที่มีลักษณะใกล้เคียงแทน เช่น ไปบูชาพระเจดีย์วัดเจ็ดยอด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แทนพระเจดีย์มหาโพธิ์ ณ พุทธคยา เพราะรูปทรงพระเจดีย์ได้ต้นแบบมาจากอินเดีย หรือไปไหว้พระเจดีย์วัดเกตุ อ.เมือง จ.เชียงใหม่แทนพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะมีชื่อพ้องเสียงกัน
อย่างไรก็ตาม ทุกคนคงไม่สามารถไปบูชาพระธาตุได้เหมือนกันหมด จึงมีการวาดรูปพระธาตุเจดีย์ต่างๆ บรรจุกรอบกระจกจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านต่างนิยมซื้อไปแขวนไว้ในบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว ตามความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิม.
บทความ จาก
สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คำถามต่อมาคือ เหตุใดพระธาตุประจำปีเกิดจึงต้องอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ? ในสมัยก่อน อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และพม่า ต่างเป็นแว่นแคว้นข้างเคียงที่มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกันมาก่อน การกำหนดให้มีการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด จึงเป็นกลไกอย่างหนึ่งของการเดินทางติดต่อกันทำให้คนแต่ละเมืองที่อยู่ในเขตวัฒนธรรมเดียวกัน มีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันได้อย่างใกล้ชิดขึ้น
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนต่างก็ให้ความสำคัญต่อ พระบรมสารีริกธาตุ หรือ กระดูกของพระพุทธเจ้า ซึ่งมักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า พระบรมธาตุ หรือ พระธาตุ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก เป็นเศษส่วนจากพระวรกายที่เหลืออยู่ไม่มากนัก จึงทำให้ต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
ในสมัยโบราณ มีการประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ใต้เนินดินรูปครึ่งวงกลม แล้วปักฉัตรไว้ด้านบน เพื่อยกย่องและแสดงเกียรติยศของผู้ตายตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศก ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดและแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุออกไปบูชายังเมืองต่าง ๆ ทำให้มีการสร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุขึ้นทั่วไป โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละ้ท้องถิ่น
สถูปเจดีย์สำคัญของบ้านเมืองต่าง ๆ ล้วนได้รับการอธิบายว่าเป็นสถานที่บรรจุพระบรมธาตุ ฉะนั้นบางครั้งจึงนิยมเรียกสถูปเจดีย์เหล่านั้นว่า พระธาตุ ซึ่งหมายถึง พระบรมธาตุซึ่งบรรจุอยู่ภายในสถูปเจดีย์นั่นเอง
ดังนั้น การไหว้สถูปเจดีย์ ไม่ว่าจะมีรูปทรงงดงามแปลกพิศดารเพียงใดก็ตาม แต่หัวใจของการไหว้ที่แท้จริงแล้ว ก็คือ การกราบ พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้าที่บรรจุอยู่ภายในสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น ดังนั้น การสักการะจึงควรกระทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลศตัณหา และที่สำคัญ ต้องระลึกเสมอว่า พระบรมธาตุไม่ใช่ผู้บันดาลสิ่งต่าง ๆ จึงไม่ควรขอสิ่งใดนอกจากสวัสดิมงคล
ข้อสงสัยว่าทำไมต้องห้ามผู้หญิงขึ้นบริเวณรอบพระธาตุเจดีย์ เนื่องจากในสมัยโบราณนิยมบรรจุพระบรมธาตุไว้ในกรุที่อยู่ใต้เจดีย์ เมื่อมีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์จากการมีรอบเดือน ทำให้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงอยู่เหนือพระบรมธาตุ แม้ในระยะผิวดินด้านบนก็ตาม ไม่เช่นนั้น จะทำให้พระบรมธาตุเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และไม่แสดงปาฏิหาริย์อีกต่อไป
การห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปบริเวณรอบพระธาตุเจดีย์นั้น เป็นข้อปฏิบัติที่เข้าใจกันดีในหมู่ชาวล้านนา ป้ายที่ติดไว้ตามศาสนสถานสำคัญ ๆ ของชาวล้านนา จึงมีไว้เตือนคนต่างถิ่นให้ทราบและปฏิบัติตาม
การถวายของ และกัณฑ์เทศน์ เป็นพุทธบูชาตามปีเกิด
ปีเกิด ชวด
ถวายสิ่งของ ศาลา บ่อน้ำ
ถวายกัณฑ์เทศน์ เตมีย์
ปีเกิด ฉลู
ถวายสิ่งของ โรงสีไฟ
ถวายกัณฑ์เทศน์ เวสสันดร
ปีเกิด ขาล
ถวายสิ่งของ ศาลาบาตร
ถวายกัณฑ์เทศน์ สุทธนู
ปีเกิด เถาะ
ถวายสิ่งของ ปราสาท
ถวายกัณฑ์เทศน์ เนมิราช
ปีเกิด มะโรง
ถวายสิ่งของ เจดีย์
ถวายกัณฑ์เทศน์ สมพมิตร
ปีเกิด มะเส็ง
ถวายสิ่งของ ดอกไม้ทอง
ถวายกัณฑ์เทศน์ ภูริทัต
ปีเกิด มะเมีย
ถวายสิ่งของ แท่นสงฆ์
ถวายกัณฑ์เทศน์ สุธน
ปีเกิด มะแม
ถวายสิ่งของ ร่ม ฉัตร
ถวายกัณฑ์เทศน์ ฉัททันต์
ปีเกิด วอก
ถวายสิ่งของ กำแพง
ถวายกัณฑ์เทศน์ มโหสถ
ปีเกิด ระกา
ถวายสิ่งของ ส้วมพระ
ถวายกัณฑ์เทศน์ สิทธัตถะ
ปีเกิด จอ
ถวายสิ่งของ ธรรมมาสน์
ถวายกัณฑ์เทศน์ กุสราช
ปีเกิด กุญ (กุน)
ถวายสิ่งของ ห้องน้ำ
ถวายกัณฑ์เทศน์ สุตะสม