อังคาร 23 มี.ค. 2010 12:17 pm
- chmai-203-1.jpg (20.31 KiB) เปิดดู 1194 ครั้ง
บังอบายเบิกฟ้า พระเจ้ากาวิละสำคัญไฉน โดย เปลว สีเงิน จากไทยโพสต์ 21 มีนาคม 2553จาก
http://www.thaipost.net/sunday/210310/19642---------------------------------------
การนำเลือดมาสาดมาขว้างปาเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุนแรง ยิ่งกระทำต่อบ้านเรือนเอกชนหรือปัจเจกบุคคล ย่อมเป็นความผิดกฎหมายเข้าข่ายละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล
ส่วนที่กระทำต่อสถานที่ราชการนั้น ก็ไม่ควรทำ และเป็นเรื่องน่าอายต่อประชาคมโลก ซึ่งไม่มีใครทำกัน
แต่การกระทำต่ออนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละโดยอลัชชีตามรูปศัพท์ที่สะท้อนการประพฤติธรรมต่างจากคำสอนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งหนักหนาสาหัสในความประพฤติ ไม่เพียงค่ายทหารเสียหาย สารวัตรทหารสามนายที่ถูกเลือดสาดเสียหาย จนนายทหารพระธรรมนูญได้พาเข้าแจ้งความกับตำรวจแล้ว
ผู้ที่เสียหายยิ่งกว่านั้น แต่ยังไม่ได้เข้าแจ้งความ คือ เจ้านายฝ่ายเหนือและผู้สืบเชื้อสายพระเจ้ากาวิละ เพราะถูกดูหมิ่นสายสกุล พระเจ้ากาวิละทรงเป็นต้นสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ ลำพูน และเชื้อเจ็ดฅน
ลานนาไทยมีเจ้าเมืองเหนือสองราชวงศ์สำคัญ คือ ราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1839-2121) กับราชวงศ์กาวิละ (พ.ศ.2325-2482)
ราชวงศ์กาวิละมีพระเจ้ากาวิละทรงเป็นต้นราชวงศ์ พระเจ้ากาวิละเป็นวีรบุรุษและทรงกอบกู้เชียงใหม่จากที่เคยตกเป็นประเทศราชของพม่า กระทั่งเคยเป็นเมืองร้าง เมื่อเชียงใหม่กลับฟื้นคืนดำรงความเจริญในกาลต่อมา จึงควรที่ชาวเชียงใหม่และคนลานนาทั้งปวงที่พ้นจากความเป็นทาสพม่า ผ่านพ้นการกดขี่ของพม่าข้าศึก พึงรำลึกและเคารพเทิดทูนต่อพระเจ้ากาวิละอย่างยิ่ง มิใช่เห็นชอบกับการที่มีคนเมืองจำนวนหนึ่งนำเลือดสกปรกไปกระทำคุณไสยต่ออนุสาวรีย์ของพระองค์ เป็นการเนรคุณและทำลายเกียรติภูมิชาวเชียงใหม่
แล้วเราก็มาดูประวัติศาสตร์สำคัญของระยะประวัติศาสตร์นี้
ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 หรือระหว่าง พ.ศ.2260 ถึง 2300 เศษ ลานนาไทยอันประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย เชียงแสน และหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง ตกอยู่ใต้อำนาจพม่า ถูกกดขี่เดือดร้อนไปทั่ว จนราชวงศ์มังรายล่มสลาย
ที่ลำปาง มีการร่วมกันคิดว่าจะหาผู้นำมาต่อสู้เพื่อพ้นจากพม่า และในที่สุดก็ได้หนานทิพย์จักร หรือหนานทิพย์ช้าง นายพรานแห่งบ้านปางยางคก รับอัญเชิญเป็นเจ้าพญาสุละวะฤๅไชยสงคราม ผู้ครองนครลำปาง ที่มีผลต่อการไม่ขึ้นต่อพม่าและไทยภาคกลาง ท่านเป็นต้นวงศ์ของพระเจ้ากาวิละ
หนานทิพย์ช้างปกครองอยู่ 27 ปี ลุปีพุทธศักราช 2303 ถึงแก่พิราลัย
สิ้นหนานทิพย์ช้าง ท้าวลินก่านบุตรเจ้าเมืองคนเก่าที่ลี้ภัยได้กลับมาชิงเมืองคืน เจ้าชายแก้วและเจ้าพ่อเรือน ซึ่งเป็นบุตรหนานทิพย์ช้าง พยายามต่อสู้จนเจ้าพ่อเรือนเสียชีวิต เมื่อเจ้าชายแก้วสู้ไม่ได้ก็ไปพึ่งโป่อภัยคามินี จากนั้นได้พาเจ้าชายแก้วไปเฝ้าพระเจ้าวังวะที่พม่า ทางพม่าสั่งให้ปราบเจ้าลินก่านและจับฆ่าเสีย จากนั้นพม่าแต่งตั้งเจ้าชายแก้วเป็นเจ้าฟ้าชายแก้วให้ครองลำปาง เมื่อ พ.ศ.2307 ส่วนนายขนานกาวิละ ขณะอายุ 22 ปี กับนายดวงทิพย์ อายุ 16 ปี บุตรเจ้าฟ้าชายแก้ว พม่าให้ไปในกองทัพพม่าเพื่อเข้าตีเวียงจันทน์จนได้เวียงจันทน์
ตั้งแต่นั้นมาลานนาโดยเฉพาะเชียงใหม่ตกแก่พม่าเด็ดขาด ชาวบ้านถูกกดขี่จนแทบทนไม่ไหว จึงมีหลายครัวเรือนอพยพหลบหนีเข้าป่า พระเจ้ากาวิละขณะยังเป็นนายขนานกาวิละคิดจะต่อสู้ขับไล่พม่า หากยังไม่เป็นโอกาส เพราะพม่ายังมีกำลังกล้าแข็ง
ล่วงมาถึง พ.ศ.2312 โป่อภัยคามินีเจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่กรรม พม่าจึงให้แมงแงคามินีมาเป็นเจ้าเมืองคนต่อไป หม่องคนนี้ชอบโพกผ้าขาว ชาวบ้านจึงเรียกโป่หัวขาว ขณะนักเรียนประวัติศาสตร์ไทยย่อมรู้จักเขาจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองว่า โป่มะยุง่วน
เพราะในเวลาที่พม่าเข้มแข็ง ขุนศึกที่มารบชนะกรุงศรีอยุธยามักจะรับปูนบำเหน็จให้ปกครองหัวเมืองลานนา พม่าเมื่อปกครองลานนาก็พยายามครอบงำด้วยธรรมเนียนตน เช่น บังคับให้ผู้ชายสักขาดำและผู้หญิงเจาะหู
ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชแล้ว ได้เสด็จขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อทำพระราชสงครามขับไล่พม่าข้าศึก พระยาจ่าบ้านผู้มีศักดิ์เป็นน้าของกาวิละ เห็นว่าเป็นไทยด้วยกันก็มีใจคิดสามิภักดิ์ แต่ยังอำพรางอยู่เป็นบริวารพม่า
การเสด็จงานพระราชสงครามคราวนั้น ทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ (นายบุญมา) ผู้เป็นแม่ทัพกองหน้าในทัพหลวงตีค่ายพม่าแตก แต่ไม่สามารถหักด่านเข้าเมืองเชียงใหม่ ประกอบกับขาดเสบียงอาหาร ทัพไทยจึงตัดสินใจถอยทัพ หากถูกกองหลังข้าศึกตีรบกวน ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงเสด็จเข้าตะลุมบอนกับข้าศึก ทำให้ถอนกำลังกลับกรุงธนบุรีได้สำเร็จ
ระหว่างนี้พระยาจ่าบ้านผู้คิดจะพึ่งพระบารมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แต่งหนังสือแอบส่งไปชักชวนกาวิละให้เห็นด้วย เพื่อร่วมกันปลดปล่อยลานนาจากพม่า ทางกาวิละได้หารือกับน้องชายทุกคน ทั้งหมดค้านด้วยความห่วงบิดาที่ตกอยู่ในกำมือพม่า เพราะอยู่ที่เชียงใหม่
กาวิละเห็นว่าชาติบ้านเมืองสำคัญยิ่งสิ่งใด ส่วนชีวิตบิดานั้นเป็นสิ่งที่ต้องปลงและเสียสละหากจะเป็นอะไรไป จึงตอบรับร่วมมือกับพระยาจ่าบ้าน คำตอบที่พระยาจ่าบ้านได้รับจึงขยายผลคิดกลอุบายให้พม่าตายใจ เมื่อกองทัพไทยยกพลขึ้นเชียงใหม่อีกครั้ง เจ้าพระยาจักรี (นายทองด้วง) ได้ตั้งทัพที่กำแพงเพชรก็รับข่าวจากพระยาจ่าบ้านว่าชาวลานนาพร้อมให้ความร่วมมือโค่นพม่า
ทัพไทยยกมาตีพม่าคราวนี้ตรงกับ พ.ศ.2317 ขณะกาวิละอายุ 32 ปี พม่าที่แตกไปหวนตลบมาตีเชียงใหม่ที่พระยาจ่าบ้านปกครองอยู่ กาวิละยกกำลังมาช่วยและติดอยู่ในเมือง ด้วยการขาดแคลนเสบียงและพม่าล้อมเมืองอยู่ 8 เดือน กาวิละกับบริวารจึงจับพม่าที่มีอยู่ในเมือง 7 คนฆ่ากินประทังชีวิต จวบจนทัพเจ้าพระยาจักรี (นายทองด้วง) ขึ้นมาตีพม่าที่รายล้อมแตกไปในที่สุด
การที่เชียงใหม่ผจญศึกหลายครั้งจนไม่มีเวลาทำการผลิต ชาวบ้านหนีภัยสงครามและความอดอยากพากันเข้าป่า เชียงใหม่จึงเป็นเมืองร้าง กว่าจะฟื้นฟูได้ต้องผ่านอุปสรรคและอาศัยเวลา
อย่างไรก็ดี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากาวิละขึ้นเป็นพระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ อินทรศักดิ์สุริยะศักดิ์ ชาติราไชยสวรรค์ เจ้าขัณฑสีมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี เป็นใหญ่ในลานนา 57 หัวเมือง แต่ชาวลานนานิยมเรียกพระเจ้ากาวิละ ประกาศสถาปนานี้ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 4 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จุลศักราช 1161 ตรงกับ พ.ศ.2315
พระเจ้ากาวิละทรงครองเชียงใหม่มิใช่สบายเพราะมีอำนาจ เนื่องจากสภาพเหมือนเมืองร้างนั้นต้องเกลี้ยกล่อมคนที่ลี้ภัยในป่ากลับคืนเมือง บ้างต้องใช้กำลังตีกวาดต้อนคน เพราะถ้าเมืองขาดกำลังคนจะมีความยากลำบากในการป้องกันเมือง ไม่เพียงเท่านั้นสภาพเหมือนเมืองร้าง ยังต้องฟื้นฟูการผลิตอาหารเลี้ยงคน ตลอดจนการปฏิสังขรณ์วัดและเวียงวัง
พระเจ้ากาวิละทรงครองเชียงใหม่ถึงสิ้นปี พ.ศ.2358 ก็ทรงประชวรและถึงแก่พิราลัยเมื่อพระชนมายุ 74 ปี
ราชวงศ์กาวิละ (พ.ศ.2325-2482) ลำดับได้ดังนี้
เจ้าพญาสุลวะลือไชยสงคราม เจ้าฟ้าชายแก้ว (ทิพย์ช้าง)
1.พระยากาวิละ (พ.ศ.2325-2358)
2.พระยาช้างเผือกธรรมลังกา (พ.ศ.2358-2364)
3.เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝัน (พ.ศ.2364-2366)
4.เจ้าหลวงพุทธวงศ์ (พ.ศ.2366-2389)
5.เจ้ามโหตรประเทศ (พ.ศ.2390-2397)
6.เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.2397-2413)
7.เจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ.2413-2440)
8.เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.2440-2452)
9.พลตรีเจ้าราชบุตร (พ.ศ.2452-2482)
ราชการไทยเชิดชูเกียรติพระเจ้ากาวิละที่ทรงเป็นวีรบุรุษและกอบกู้เชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระนามเป็นชื่อค่ายทหารจังหวัดทหารบกเชียงใหม่และกรมผสมที่ 7 ณ ค่ายทหารแห่งนี้ได้สร้างอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ เริ่มจากการริเริ่มของพันเอก (พิเศษ) การุณ บุญบันดาร ผบ.กรมผสมที่ 7 โดยสร้างขึ้นบริเวณหน้ากองบังคับการ ถนนสายลำพูน ทั้งนี้ พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) เป็นประธานการก่อสร้าง
ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้เอง ที่ถูกคนเสื้อแดงกลุ่มคนฮักเจียงใหม่ 51 นำโดยพระครูแห่งหนองหอย พากันนำเลือดมากระทำความเปรอะเปื้อน
ฮักเจียงใหม่แต้ก๊า.
---------------------------------------
ท่านสามารถไปดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเจ้ากาวิละ และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
http://www.chiangmai-thailand.net/king/king.htm