อาจารย์ธรรมนูญ บุญธรรม สำนักบัวแปดกลีบ ตอนรอยสักกับการสอนคนให้เป็นคนดีโดย ศิษย์กวง
เกือบสามสิบปีแล้วที่สำนักสักยันต์เล็กๆ ในบ้านทาวเฮาส์ชั้นเดียวอยู่ในซอยหลังโรงภาพยนตร์เพชรสยาม จังหวัดชลบุรี เปิดให้บริการกับบุคคลที่นิยมและสนใจในเรื่องของการสักยันต์ หรือวัตถุมงคลของสำนัก แต่สิ่งที่อาจแตกต่างไปจากบรรยากาศของสำนักสักยันต์ใหญ่ๆในเมืองไทยที่มีค่อนข้างมากในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของที่เป็นวัดหรือตำหนักต่างๆ ก็คือบรรยากาศของการสักยันต์ที่สบายๆ เหมือนมาพบปะพูดคุยปรับทุกข์กันไปกับอาจารย์ฆราวาสเจ้าของสำนัก...”บัวแปดกลีบ”...ซึ่งก็คือ “อาจารย์ธรรมนูญ บุญธรรม หรืออาจารย์นูญ” ชื่อที่กลุ่มคนที่มีคตินิยมด้านรอยสักในเมืองชลเรียกกันติดปาก.....
อาจารย์ธรรมนูญ บุญธรรม เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๕ ปัจจุบันท่านอายุ ๖๖ ปี เป็นประชากรของเมืองชลโดยกำเนิด สถานที่เกิดคือ “ตำหนักน้ำ” (ใกล้ศาลากลางจังหวัดชลบุรี-ปัจจุบัน) บิดาของท่านชื่อคุณพ่อสัมฤทธิ์ บุญธรรม โดยนามสกุล”บุญธรรม” ได้รับเกียรติจากท่านพระยาพิพิธอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นผู้ตั้งให้เนื่องจากท่านพระยาพิพิธอำพลได้กรุณารับคุณพ่อสัมฤทธิ์ไว้เป็นบุตรบุญธรรม ตัวของอาจารย์ธรรมนูญเองมีความชอบในเรื่องของไสยศาสตร์ ตลอดจนการสักเสกเลขยันต์ตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่ม และทำงานที่เทศบาลจังหวัดชลบุรี โดยอาศัยช่วงวันหยุดสากลและวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะเป็นวันที่ท่านอาจารย์ลงเข็มให้กับลูกศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือในศาสตร์นี้..
ถึงแม้เรื่องราวในการก้าวเข้ามาเป็นอาจารย์สักยันต์ของอาจารย์ธรรมนูญ จะไม่ค่อยหวือหวาหรือชวนติดตามแต่อย่างใด นั่นก็คือมุมมองจากคนทั่วไปแต่สำหรับลูกศิษย์และกลุ่มชนที่นิยมคติแนวนี้จะทราบกันว่า “ความเป็นมาที่ไม่ธรรมดา” สำหรับผมแล้วคำว่า “ไม่ธรรมดา” น่าจะมีสาเหตุมาจาก “ปฐมอาจารย์ของสำนัก” ซึ่งก็คือ “ท่านอาจารย์พ่วง พงษ์แพทย์ หรือท่านปู่พ่วง….”
ท่านปู่พ่วงเป็นฆราวาสที่ทรงวิทยาคุณเอกอุ สามารถทำปาฏิหาริย์ได้อย่างน่าทึ่ง ตามที่ท่านอาจารย์ธรรมนูญ ได้กรุณาเล่าให้พวกเราฟังว่า “ท่านปู่พ่วง” คืออาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาให้กับท่านหลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่อาจารย์ธรรมนูญ ยกมาเป็นจุดชูประเด็นความน่าสนใจของสำนัก...โดยอาจารย์ธรรมนูญกล่าวว่า
“เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องในอดีต ผมเองก็เกิดไม่ทันท่านปู่พ่วง ก็ได้รับทราบกิตติคุณจากอาจารย์ของผมคือท่านอาจารย์ทองหล่อ พงษ์แพทย์ ซึ่งเป็นบุตรชายของท่านปู่พ่วง”
เพื่อนๆ บางท่านอาจจะแย้งว่าในเมื่อ “ไม่เคยเห็นแล้วจะเชื่อได้ยังไงว่าเป็นความจริง” ..อยากให้พวกเราลองเปิดใจและคิดดูให้ดีครับว่า สมัยของพวกเรา เพื่อนๆ ทันเห็นคุณปู่ของพวกเราไหมครับ แล้วคุณปู่ของคุณปู่ล่ะครับ เคยเห็นไหม ผมเชื่อว่าทุกท่านคงไม่เคยเห็น....ในเมื่อไม่เคยเห็นแล้วเพื่อนๆ เชื่อไหมล่ะครับว่าคุณปู่ของคุณปู่เรามีจริง แน่นอนเรายอมเชื่อก็เพราะมันเป็นเรื่องของบรรพบุรุษ เป็นเรื่องของตระกูลเรา ...บางอย่างนะครับ “ไม่เห็นไม่ใช่ว่าไม่มี” “ไม่เห็นไม่ใช่ว่าไม่มีอยู่จริง” ก็อย่างที่อาจารย์ธรรมนูญพูดเสมอๆ...
“อะไรที่ไม่เคยเห็นมีเยอะแยะมากมายไป”(ยิ้ม)
ผมจะขอละถึงการเขียนนอกบริบทของสำนัก โดยขอย้ายความต่อเนื่องทางความคิดเข้ามาอยู่ในกรอบของ “สำนักบัวแปดกลีบ” จากที่เกริ่นถึง “ปฐมอาจารย์” ท่านปู่พวงมีลูกศิษย์เอกซ้ายและลูกศิษย์เอกขวา คือ ท่านอาจารย์สำรวย (ไม่ทราบนามสกุล) และท่านอาจารย์รอด สำเนียงเพราะ (บุตรบุญธรรมของท่านปู่พ่วง) สายสืบต่อการสักของทั้งสองอาจารย์นี้นัยว่าน่าจะอยู่แถวพระประแดง...
สำหรับบุตรชายของท่านปู่พ่วงที่รับสายวิชาคือ “ท่านอาจารย์บุญรอด พงษ์แพทย์”(พี่ชาย) และ”ท่านอาจารย์ทองหล่อ พงษ์แพทย์”(น้องชาย) ภายหลังท่านอาจารย์ทองหล่อได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุรพล พงษ์แพทย์”...
สำหรับตัวของอาจารย์ธรรมนูญเองได้รับตำราคาถาอาคมมาจากท่านอาจารย์บุญรอด พงษ์แพทย์ และการขึ้นกรรมฐานกับครอบมือจากท่านอาจารย์ทองหล่อ พงษ์แพทย์ โดยได้ทำพิธีกันในโบสถ์วัดเนินสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีท่านพระครูพิศิษฐ์ชโลปการ หรือหลวงปู่เกลี้ยง (เจ้าอาวาส) พระเกจิอาจารย์อีกองค์หนึ่งที่คนชลบุรีให้ความเคารพนับถือเป็นผู้อนุญาติให้ทำพิธีเนื่องจากมีความคุ้นเคยและยอมรับในสายวิชาของท่านอาจารย์ทองหล่อ ... ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์ทองหล่อ ได้เปิดสำนักอยู่ที่ “ซอยคูกำพล(สะพานแดง)” อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี “คนคอเดียวกันยอมรู้คอกัน เช่นเดียวกับผู้สนใจในศาสตร์ประเภทเดียวกันย่อมรู้กัน”
สำนักสักยันต์ “บัวแปดกลีบ” ถึงแม้จะเป็นสำนักเล็กๆ สมถะและขนาดของพื้นที่ในตัวสำนักจะค่อนข้างคับแคบ แต่ลูกศิษย์หรือผู้ที่เคารพศรัทธากลับรู้สึกดีและปลอดภัยมากกว่าหลายๆที่ ความรู้สึกที่ดีและปลอดภัย เกิดจากประสบการณ์ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ผมไปเยี่ยมอาจารย์ธรรมนูญ ได้พบกับ “คุณหวอ” หรือที่กลุ่มลูกศิษย์เรียกกันติดปากว่า “พี่หวอ” ..
พี่หวอได้กรุณาเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็มีมากมายอย่างที่ว่า เลยต้องขออนุญาตเพื่อนๆ ตัดเรื่องให้กระชับขึ้นครับ ประสบการณ์ด้านรถยนต์ เกิดกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิไตรคุณธรรมขณะรีบบึ่งรถไปรับคนเจ็บแล้วถูกรถเก๋งตัดหน้า ผลคือรถพังยับเยิน คนขับและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ซึ่งล้วนเป็นลูกศิษย์ปลอดภัย ประสบการณ์ด้านการถูกยิงโดยปืน .๓๕๗ ในระยะต่ำกว่า ๕๐ เมตร แต่ไม่โดนและการถูกปล้นเงินค่าแรงคนงานของคุณพิเชียร พาณิชย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งโดนคนร้ายเข้าประกบแล้วยิง แต่ไม่ถูกเช่นกัน เหตุการณ์หรือประสบการณ์นี้เกิดขึ้นกับพวกเขาที่มี “รอยสักและตะกรุดนารายณ์แปลงรูป” ของอาจารย์ธรรมนูญที่ได้จัดทำขึ้น
ครับเรื่องราวประสบการณ์เหล่านี้หากเราสนทนาในกลุ่มคนแนวคิดเดียวกันแล้ว เขาเชื่อกันอย่างมาก และหากเราได้ลองย้อนความคิดนี้มาสู่ใจของเรา ถามใจเราดูซิครับ “เราเชื่อไหม” สำหรับเรื่องที่เฉียดตายแบบนี้ “เพราะอะไรเราถึงเชื่อ หรือ ไม่เชื่อ” ผมไม่มีความคิดเห็นใดๆ เพื่อนๆ คงต้องใช้วิจารณญาณกันเอาเอง
แต่ถ้านำความคิดนี้ไปถามกับ นาวาอากาศตรีธนิต พรหมสถิต กัปตันขับเครื่องบินบริษัทการบินไทย เขาคงตอบเพื่อนๆ อย่างไม่ลังเลใจว่า “เชื่อครับ” เพราะเหตุการณ์หลายๆอย่างที่พี่กัปตันได้ประสบมา ทำให้คนที่เคยแสวงหาอาจารย์หรือความเชื่อมั่นทางจิตใจจากหลายๆ สำนักต้องมายุติลงกับฆราวาสที่มีอายุเกือบเจ็ดสิบท่านนี้ ...
คนเราทั่วไปมองเห็นอะไรได้บ้างจากวัตถุสิ่งของชิ้นหนึ่งที่วางอยู่ตรงหน้า “รูปทรง ขนาด พื้นผิว ประโยชน์จากการใช้สอย” ไม่ว่าพวกเราหรือคนอื่นจะมองอย่างไรไม่อาจทราบได้แต่สำหรับ “ลูกศิษย์หรือคนที่ชอบคติแนวนี้” พวกเขาสามารถมองถึงสัมผัสรับรู้ไปถึงอุปนิสัยใจคอ และความถูกต้องแม่นยำของคนที่เป็นอาจารย์ ดังนั้นลวดลายการสักจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนความเป็น “อาจารย์สัก” ออกมา ถึงแม้มันอาจจะบอกได้ไม่หมดว่าอาจารย์ท่านนั้นเป็นคนอย่างไร จิตใจเป็นแบบไหน หรือมีความคิดอะไร..มั่วหรือเปล่า... ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะว่ารอยสักที่อาจารย์ธรรมนูญได้วางเข็มลงไป ไม่ได้เกิดจากความคิดฝันไปเอง หากแต่เป็นภูมิความรู้ที่ได้มาจากการคลุกคลีและเติบโตมากับศาสตร์เหล่านั้น....ซึ่งอาจารย์ชอบกล่าวติดตลกเสมอว่า..
“ผมได้เปรียบเพราะผมเป็นยี่ห้อเก่า” (หัวเราะ)
แต่ความเป็นยี่ห้อเก่าของอาจารย์ธรรมนูญนั้น เพื่อนๆ เชื่อไหมครับว่ามันเก่ามานานกว่า “ร้อยปี” ผ่านเจ้าสำนักมาหลายท่าน ระยะเวลาที่ยืนยาวนานขนาดนี้ บวกกับชื่อเสียง การยอมรับ น่าจะเป็นบทพิสูจน์ถึงความมีคุณภาพของสำนักแห่งนี้…”ชื่อเสียง”มันอาจจะเป็นนามธรรมที่ยากจะจับต้องเกินไป
แต่ถ้าหากเอา”ความถี่”ของการรับเป็นเจ้าพิธีในงานพุทธาภิเษกหรือการตั้งศาลพระพรหม ฯลฯ คงพอที่จะอนุมานได้บ้าง...ผมขอยกเฉพาะที่คุ้นหูคุ้นตา เช่นของหลวงปู่โทน วัดเขาน้อยคีรีวันหรืองานพุทธาภิเษกของศาลหลักเมืองจังหวัดชุมพร ฯลฯ
ปัจจุบันสำนักสักยันต์มีเกิดขึ้นมากมายเป็นจำนวนมาก บางสำนักได้ใช้วิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งๆที่ไม่ได้มีสรรพคุณตามที่โปรโมทไว้เลย..ผลที่ตามมาคือการทำให้วิชาการที่มีมาแต่โบราณกาลเหล่านี้เสื่อมเสียทำให้รอยสักจึงเหมือนเสื่อมความขลังลงไปมาก ดังนั้นหากเพื่อนๆ ท่านใดสนใจในศาสตร์ของการสักยันต์ที่เน้นความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์มากกว่าความสวยงามตามแฟชั่น จึงควรใช้วิจารณาญาณในด้านตัวของผู้เป็นอาจารย์สักด้วย ข้อสำคัญคือ “คุณธรรม”
คุณธรรมตามที่ผมว่านี้ คงจะดูเบื้องต้นได้จากกฎกติกามารยาทของสำนัก จริงอยู่ว่าข้อห้ามที่เป็นสากลของแต่ละสำนักคือการห้ามละเมิดศีลห้า ข้ออื่นปลีกย่อยออกมาก็แล้วแต่ว่าสำนักไหนจะกำหนดอย่างไร แต่เท่าที่พวกผมศึกษามาไม่เคยพบว่ามีสำนักใดสั่งสอนให้ลูกศิษย์ประพฤติชั่วเลย จะมีการยกเว้นบ้างก็ในส่วนของการกำหนดให้เหมาะกับยุคสมัย ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นเรื่องของอาหารการกินมากกว่า เช่นอดีตเคยห้ามทานอาหารในงานศพ ปัจจุบันข้อห้ามเหล่านี้ก็ได้รับการยกเว้น ....
ครับ”ยกเว้นเป็นบางเรื่อง”แต่”เรื่องที่ยอมไม่ได้”สำหรับสำนักของอาจารย์ธรรมนูญ คือทุกคนที่จะเข้ารับการสักจะต้องร่วมดื่มน้ำสาบานต่อหน้าพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในสำนัก อาทิ หลวงพ่อขาว พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ซึ่งองค์จริงอยู่ที่วัดปราสาท จังหวัดอยุธยา ฯลฯ
“ข้าพเจ้านาย......ขอให้คำสัตย์วาจาว่า ข้าพเจ้าจะไม่คิดคดทรยศต่อชาติ ศาสนา องค์พระมหากษัตริย์ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ศิษย์ร่วมสำนัก ไม่เสพ ไม่ค้า ไม่ขายยาเสพติด ไม่ค้ามนุษย์ ไม่ผิดลูกผิดเมียชาวบ้าน หากข้าพเจ้าผิดสัตย์วาจาครั้งนี้ ขอให้บังเกิดความฉิบหาย ต้องอสุนิบาต ต้องอาวุธ ต้องวิกลจริต เป็นบ้า...”
จากคำสาบานบทนี้ ผลของการสาบานทำให้ลูกศิษย์บางท่านที่ไม่ยอมปฏิบัติตามเช่นแอบค้ายา เสพยา ต้องถูกแรงครูเข้าทวงถามจนกลายเป็นคนสติไม่ครบบาท บางคนก็ล้มหายตายจากไป ยกเว้นอย่างเดียวที่อาจารย์ธรรมนูญบอกว่ายังไม่เคยปรากฏคือถูกฟ้าผ่าตาย ครับแต่สิ่งที่ว่าไม่มีในยุคสมัยท่าน มันเคยเกิดขึ้นแล้วในยุคอาจารย์ของท่าน..
ดังนั้นเพื่อนๆ ท่านใดที่เคยสักหรือสนใจรอยสักของสำนักนี้ โปรดเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม หรือผู้ที่มีแล้วก็จงได้พึงสังวรไว้อย่าได้ประมาท โอกาสโดนยังมี วันเปิดก็ยังคงมีเสมอสำหรับ ผู้ที่ชอบแหกกฎ....
สำหรับพวกผมแล้วเชื่อว่าคนเรามีวุฒิภาวะและความมั่นคงทางจิตใจแตกต่างกัน...ดังนั้นหากคนที่มีรอยสักของสำนักนี้ติดตัว และได้ยึดถือปฏิบัติดีแล้ว รอยสักนั้นก็จะมีพลานุภาพตามความเชื่อตลอดไป แต่ถ้าหากเขาเหล่านั้นทำผิดในข้อหนึ่งข้อใด รอยสักที่ว่าเคยศักดิ์สิทธิ์นั้นก็สามารถเสื่อมลงได้ ซึ่งผมคิดว่ากุศโลบายแบบนี้ มีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้กับคนที่มีรอยสักเป็นคนดีขึ้นโดยไม่รู้ตัว...อย่างที่ผมเคยบอกครับว่าเรื่องบางเรื่องมันเหมาะสำหรับคุยกันกับคนคอเดียวกัน เพราะอาจารย์ธรรมนูญได้ให้ความเห็นในเรื่องของรอยสักด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า...
“รอยสักคือรอยสัก รอยสักไม่เคยสร้างความเดือนร้อน ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นมาจากคน สังคมปัจจุบันตราหน้ากลุ่มคนที่มีรอยสัก เป็นการเอาเปรียบกันไปหรือเปล่า”
เมื่อพูดมาถึงตอนนี้บางท่านอาจจะกล่าวว่า บุคคลใดก็แล้วแต่หากได้รับการสัก จะมีความฮึกเหิม ร้อนวิชา ประพฤติตัวเกเร เป็นนักเลง ฯลฯ
ตอบคำถามเหล่านี้ อาจารย์ธรรมนูญ ท่านได้อธิบายตามแนวคิดของท่านอย่างชัดเจน ลองฟังกันครับ...
“พูดถึงเรื่องความฮึกเหิม แน่นอน..ต้องมีเพราะความฮึกเหิมคือธรรมชาติของคนเรา แต่เราสามารถบอกพวกเขาได้ไหม ให้เขาเป็นคนดีได้ไหม...
ตัวอย่างของคนที่ผิดศีล ละเมิดคำสัตย์เป็นอย่างไร ตัวอย่างมีให้เห็นชัดเจน เดินบ้าบออยู่แถวนี้ โดนอย่างอื่นผมพอแก้ได้ แต่โดนแรงครูแรงคำสาบานมันแก้ไม่ได้ ผมเป็นอาจารย์ ผมดื่มน้ำมนต์พร้อมพวกเขา ผมผิดกฎ ผมก็ต้องรับโทษ เป็นบ้าบอเหมือนพวกเขา..
ผมชี้ให้พวกลูกศิษย์ของผมดูภาพชีวิตจริงๆ นั้น ที่มันอยู่ตรงหน้า..ก็ไม่เห็นมีใครถอยหลังกลับ .ผมอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ผมเสมอให้เป็นคนดี คำว่านักเลง ผมชอบ...ผมอยากให้ลูกศิษย์ผมเป็นนักเลง
แต่ที่เราเห็นอยู่พวกที่ชอบสร้างความเดือดร้อน ลักขโมย ไม่ใช่นักเลงแต่เป็นอันธพาล เราเรียกว่าพวกรกโลก นักเลงตามความหมายของผมคือคนจริง คนที่สุภาพพร้อมลุกขึ้นให้เด็ก คนแก่นั่งบนรถ พวกคุณลองทบทวนกฎของสำนักซิครับ มีคำไหนที่ผมสนับสนุนพวกรกโลก..........เพราะฉะนั้นผมจึงมั่นใจว่า ลูกศิษย์ของผมเป็นคนดีทุกคน......”
หากส่วนหนึ่งของการเป็นคนดีคือ “การสามารถระงับยับยั้งชั่งใจ” ภาพที่ผมเห็นระหว่างสนทนากับอาจารย์ธรรมนูญ ก็น่าจะเป็นการบอกถึงนัยยะนั้น…เด็กวัยรุ่นสองคนซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์กันมา จอดหน้าสำนักฯแล้วรีบลงมาไหว้อาจารย์ สอบถามได้ความว่าเด็กทั้งสองคนนี้มีเรื่องชกต่อยกัน ระหว่างนั้นเหลือบมองเห็นว่า “ข้อมือ” มีรอยสักของสำนักฯปรากฏอยู่ จึงได้หยุดชก เมื่อทราบว่าเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกันแล้วจึงรีบบึ่งรถมาที่สำนักฯ เพื่อขอขมาอาจารย์ ด้วยกลัวว่ายันต์ที่พวกเขาสักไปจะเสื่อม..หลังจากนั้นทั้งคู่ก็จับมือเป็นเพื่อนกัน อาจารย์ธรรมนูญยังสอนต่อว่าให้ไปบอกกับกลุ่มเพื่อนๆ อย่าทะเลาะกันอีก ซึ่งผมก็คิดว่า “โอกาสความเป็นไปได้สูง” คิดๆดูแล้ว “รอยสัก” มันก็มีเสน่ห์แปลกๆนะครับ ครั้งหนึ่งผมเองเคยลองเอาสติ๊กเกอร์แปะต้นแขนแล้วบอกคุณแม่ว่า ผมไปสักมา แม่ผมบอกว่า “น่ารักดี” พอเอาไปให้คุณพ่อดู ท่านกลับบอกว่า “ทำไปได้ยังไง” ...
หากเรามองย้อนไปซักนิด..จะว่าไปแล้วการสักในประเทศไทยจากหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏน่าจะมีมานานแต่โบราณกาล แต่จะเริ่มมีในสมัยใดผมเองก็ไม่ทราบ หรือบางทีอาจจะเป็นผลสืบเนื่องจากการทำสงครามก็เป็นไปได้ดังที่พวกเราทราบกันทั่วไป
แต่ไม่ว่าพวกเราจะจินตนาการอย่างไรก็ตามทีเหตุผลที่ “การสักยันต์” ยังคงมีอยู่คือ “ความเชื่อ” ที่ว่าการสักยันต์จะทำให้มีโชคดีและอยู่ยงคงกระพัน ลักษณะหรือสัญลักษณ์บางอย่างของรอยสัก เช่น ยันต์หรือรูปสัตว์ สามารถทำให้ผิวหนังของคนธรรมดาเหนียวขึ้นมาได้ ทำนองว่ายิงไม่ออก ฟันไม่เข้า ...ซึ่งใครจะมีเหตุผลอย่างไรก็แล้วแต่......ตัวผมเองเชื่อว่า “รอยสัก” ยังคงมีผลถาวรกับการสร้าง “ความเชื่อมั่นของจิตใจ”
เห็นอาจารย์ธรรมนูญสักยันต์และขมังเวทย์ปานนี้ ทำให้หลายท่านแวะเวียนเข้ามาขอรอยสักหรือไม่ก็บูชาวัตถุมงคลเท่านั้น ผมอยากให้เพื่อนๆได้มองไปหลังไมค์บ้างว่า นอกเหนือจากการมานั่งสักยันต์หลังขดหลังแข็งแล้ว วันๆ อาจารย์ธรรมนูญทำอะไรบ้าง และมีมุมมองต่อคนที่เข้ามาหาท่านอย่างไร...
กิจวัตรประจำวันของอาจารย์ธรรมนูญคือตื่นแต่เช้าตรู่ นั่งสวดมนต์ทำสมาธิจนถึงประมาณ ๑๐.๐๐ น. หลังจากนั้นจึงเริ่มรับแขกหรือไม่ก็ออกไปเป็นเจ้าพิธีตามแต่ใครจะเชิญท่านไป ยามว่างของอาจารย์ท่านจะนั่งจารตะกรุดเพื่อให้ลูกศิษย์ไว้บูชา ซึ่งก็ว่ากันไปทำมากได้มากทำน้อยได้น้อย.....มีตัวเองเป็นนายของกิจการ...แต่ส่วนมากแล้วไม่ค่อยพอกับความต้องการ จนต้องใช้หลักใครมาก่อนได้ก่อน มาพบอาจารย์ก็ได้ของ เห็นของแต่ไม่พบอาจารย์ก็อดไป ซึ่งอาจารย์บอกผมว่าครอบครัวของท่านไม่เคยห้ามและไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว ดังนั้นวิชาอาคมต่างๆจึงตกทอดไปยังลูกศิษย์...
ซึ่งอาจารย์ธรรมนูญ บอกย้ำกับผมว่า “ลูกศิษย์ต้องเก่งกว่าอาจารย์” เหตุผลประกอบคือว่า วิชาอาคมมันก็ยังอยู่คงที แต่ตัวผู้รับไปในสภาพสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยมลภาวะต่างๆ สามารถลุ่มหลงได้ง่าย ซึ่งถ้าพวกเขาเหล่านั้นทำได้นั่นแหละคือ “ความเก่ง” ตามความหมายของท่าน..
ผมยิงคำถามตรงๆ “คำว่าศิษย์คิดล้างครู หรือปีกกล้าขาแข็ง” มีบ้างไหม...คำตอบคือ “มีเยอะแยะ” (ยิ้ม)
“ผมว่าการเป็นครูบาอาจารย์คน นอกจากจะมีพรหมวิหารสี่คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วสำหรับผมเองเพิ่มคำว่า อภัย ให้ด้วย...พวกคุณกินข้าว ผมก็ไม่ได้กินกับคุณ คุณหิวข้าว ผมก็ไม่ได้หิวกับคุณ ผมจึงไม่รู้ว่าจะไปโกรธคุณทำไม แต่พวกคุณมาสักกับผม ดื่มน้ำมนต์กับผม อย่างไหนล่ะที่เรียกว่าลูกศิษย์หรืออาจารย์ ผมไม่เคยคิดโกรธพวกเขาหรอกครับ” (ยิ้ม)
“คุณรู้ไหม สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดในชีวิตนอกจากได้เป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์ทองหล่อ พงษ์แพทย์แล้วคืออะไร (ยิ้ม)
คือการสอนให้คนเป็นคนดี ...ทุกวันนี้เมื่อมีคนมาให้ผมสักผมสอนคนหนึ่งคน ผมพูดหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย ว่าพวกคุณรับไปต้องเป็นคนดี ยึดมั่นในพระรัตนตรัยนะ ยึดมั่นในครูบาอาจารย์นะ เป็นคนดีของสังคมนะ...มาหนึ่งพูดหนึ่ง มาสองพูดสอง มาสามพูดสาม ผมพูดกับทุกคนที่เข้ามา” (ยิ้ม)
และถ้าความทรงจำของผมไม่เลอะเลือนไปนัก ผมจำได้ว่า “พระพุทธเจ้าของเรา ไม่ได้สอนให้เรายึดมั่นถือมั่นในวัตถุ” ซึ่งในความหมายตามบันทึกน้อยของผมคือพระเครื่องหรือเครื่องราง “แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ห้าม” ...และท่านก็ได้อนุโลมให้สำหรับคนที่ยังคงต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตอยู่
“รอยสัก” ไม่ได้ต่างไปจากพระเครื่องหรือเครื่องรางทั่วไป โดยเฉพาะรอยสักของ “สำนักบัวแปดกลีบ” ที่จารึกรอยสักลงบนผิวหนังของลูกศิษย์ เป็นนามของพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์
ผมคิดดูแล้วมันต่างกันตรงไหนครับ “แขวนพระซึ่งเป็นสัญญลักษณ์แทนองค์พระศาสดา” ...กับ...”สักยันต์เป็นชื่อของนามของพระพุทธเจ้า” มันคงไม่มีรูปแบบใดกับชีวิตเรา “ตายตัว” หรอกครับ เจตนาหรือวัตถุประสงค์ที่เราได้ตั้งไว้ต่างหาก..มันจะเป็นตัวที่บอกเราว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี”
ครับ..ชีวิตของคนเราที่ดำเนินไปแต่ละวัน เราจะพบว่ามีผู้คนผ่านเข้ามาและผ่านออกไปจำนวนมาก..ซึ่งก็มีทั้งผ่านเข้ามาอย่างมีความหมายและผ่านเข้ามาอย่างไม่มีความหมาย ...เช่นเดียวกันผ่านเข้าย่อมมีผ่านออก...ผ่านออกไปอย่างมีความหมายและไม่มีความหมาย...แต่ผมเชื่อมั่นว่า...การเข้ามาพบหรือการผ่านเข้ามา..มีความหมายและน่าสนใจกว่าการผ่านออกไป...เหมือนกับฆราวาสไสยเวทย์ท่านนี้ ซึ่งภูมิใจกับการสอนคนที่เข้ามาหาท่านให้เป็น”คนดี” มากกว่าจะไปจดจำกับสิ่งที่ผ่านออกไปว่าใครที่ “ไม่ดี” หรือ “ทำร้าย” ท่าน..ผมว่าสิ่งนี้แหละครับคือหัวใจของการเป็น..“ครูบาอาจารย์”....สวัสดีครับ