Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ยอมตายสู้กับความอยาก

ศุกร์ 05 พ.ค. 2017 5:16 am

"ยอมตายสู้กับความอยาก"

เราหยุดหาเงินมาสี่สิบกว่าปีแล้ว (หัวเราะ) เพราะเรารู้ว่ามันเหนื่อย หามาได้เท่าไหร่ใช้แป๊บเดียวหมดแล้ว ทำงานเดือนนึงได้ไม่กี่พันเอง ไปเที่ยวคืนสองคืนก็หมดแล้ว ฮ้า...แล้วมันหายไปไหนหมดล่ะ พอใช้ไปเกือบหมด ความสุขที่ได้มันหายไปไหนหมดแล้ว หายไปเหมือนควันไฟ เหลืออยู่แต่ความว้าเหว่ ความอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ความอยากจะหาความสุขอีก
หาเท่าไรก็เป็นแบบนี้ ก็เลยรู้ฤทธิ์ของมันแล้วว่าไม่ใช่ทาง ทางที่หาก็คือสู้กับความอยากไป มันอยากจะเอาอะไรก็ไม่ให้มันสักอย่าง ดูสิว่าใครจะตาย ถ้ามันไม่ตาย เราก็ตาย ขอยอมตายสู้กับความอยากดู พอเรายอมตาย ไม่ทำตามความอยาก ความอยากมันตายไปเอง พอมันตายแล้วมัน โอ้โหย..เหมือนกับยกก้อนหินออกจากอก ความอยากนี้มันกดดันเรา บีบคั้นจิตใจเรา จนรู้สึกแทบจะเป็นบ้า เวลาที่มันอยากมากๆ แล้วเราไม่ทำตามความอยาก แต่เรารู้ว่ามันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็ต้องหมดแรงเอง ทีนี้ก็ให้มันตายไปสักข้างหนึ่ง ยอมตายกับการไม่ทำตามความอยากดู รับรองได้เดี๋ยวความอยากมันตาย พอมันตายแล้ว ทีนี้สบาย ไม่มีอะไรมารบกวนใจ ไม่มีอะไรมากดดัน อยู่เฉยๆ ก็มีความสุข.

สนทนาธรรมมะบนเขา

วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





"การคิดดี ไม่ได้หมายถึง
การคิดเรื่องที่เราชอบ
ถึงแม้จะทำให้มีอารมณ์ดี
บางครั้ง ก็ทำให้อารมณ์เสียได้

เมื่อสิ่งที่ชอบเปลี่ยนไป เช่น
คิดถึงแฟนตอนรักกัน ก็มีอารมณ์ดี
พอคิดถึงตอนที่ทะเลาะกัน
ก็จะมีอารมณ์ไม่ดี

ที่ให้คิดดี หมายถึงให้คิดเรื่องธรรมะ
คิดตามความจริง"

-:-พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต-:-





"อย่าลุอำนาจ แก่ความโกรธ
เป็นอันขาด โกรธขึ้นแล้ว มันมืดมิด
ปิดปัญญา จะเอาชนะอย่างเดียว
ทั้งที่จริง มันแพ้ตัวเอง แพ้ความโกรธ
ของตัว"

-:-หลวงปู่ท่อน ญาณธโร-:-






"กรรมดี หรือชั่ว ถ้าได้ทำลงไปแล้ว
ถึงแม้คนอื่นจะไม่รู้เรื่องที่เราทำ
ตัวเรานั้นแหละ รู้ตัวเองดีที่สุด

ถึงจะโกหกคนทั้งโลกได้
แต่เราจะโกหกความจริงไม่ได้

ปากคนเราพูดจริง พูดเท็จได้
แต่จิตไม่เคยบอกเท็จในเรื่องกรรม
พอตายไปแล้ว ยมบาลไม่ต้องถามให้ยาก

จิตเราที่บันทึกกรรมดีชั่ว
จะอธิบายบอกเล่าให้ฟังเอง"

-:-หลวงปู่ชอบ ฐานสโม-:-





ปกติของสามัญชนจะหาทางรู้โทษของกิเลสไม่ได้ โลภก็พอใจโลภเพราะกิเลส พาให้พอใจ ไม่เห็นว่าความโลภนั้นเป็นภัย ไม่เห็นว่าความโลภนั้นเป็นความผิด โลภผู้อื่นโลภได้ แต่เขาโลภเราไม่ชอบ โกรธเขาโกรธได้ดุด่าเขาด่าได้ แต่เขาด่าเราไม่ได้ นี่เรื่องของกิเลสมันให้เป็นอย่างนั้น ทำให้เข้าใจว่าเจ้าของถูกต้องอยู่เสมอทุกกรณี ที่จะระลึกโทษว่าตัวผิดนี้มีน้อยมาก หรือไม่มี ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสล้วนๆ หากไม่มีธรรมเข้าไปแทรกบ้างจะไม่เห็นว่าตนผิดเลย

คำว่ากิเลสจึงไม่เห็นแก่ใคร ไม่มีใครแซงในความเห็นแก่ตัวและความถือตัว ใหญ่เหนืออะไรๆ โลภก็มาก โกรธก็ง่าย การเอารัดเอาเปรียบก็เก่ง ความอาฆาตมาดร้ายก็เร็วและฝังลึกไม่ยอมถอน ความเห็นแก่ตัวกับความตระหนี่ถี่เหนียวใครแตะไม่ได้ สองอย่างนี้เป็นเพื่อนสนิทติดกันจนแกะไม่ออก เสียไปน้อยแต่จะเอาให้ได้มากๆ ไม่ยอมเสียเปรียบใคร นี่แหละโลกจึงแก้ไม่ตก อยู่ด้วยกันจำนวนมากน้อยจึงมักเอารัดเอาเปรียบกัน เบียดเบียนกัน ทำลายกัน กดขี่ข่มเหงกัน ให้ได้รับความกระทบกระเทือนซึ่งกันและกันอยู่เสมอ หาความสงบไม่ได้ ก็เพราะอำนาจของกิเลสมันครอบงำหัวใจนั่นแล จะเป็นอะไรที่ไหนกัน

หากมีธรรมะเป็นเครื่องทดสอบพินิจพิจารณาบ้าง คนเราย่อมอยู่ด้วยกันได้ เพราะยอมรับความจริงซึ่งกันและกัน เราเองก็ยอมรับความจริงของเรา ตรงไหนผิดก็ยอมรับว่าผิดและพยายามแก้ไข คนอื่นผิดก็ยอมรับตามความจริง โลกย่อมอยู่ด้วยกันได้เป็นผาสุก มีธรรมเท่านั้นเป็นคู่แข่งกิเลส เป็นเครื่องแก้กิเลสตัวเสนียดจัญไรต่อโลก หากไม่มีธรรมเลย เราจะไม่เห็นว่ากิเลสนี้เป็นโทษเป็นคุณอะไรต่ออะไรกับตัวของเรา และโลกทั่วๆ ไป จะเห็นเป็นความถูกต้องตามใจชอบไปเสียสิ้น ทั้งๆ ที่มันเป็นโทษ เมื่อนำธรรมะเข้ามาทดสอบเทียบเคียงแล้ว ย่อมทราบที่ได้ที่เสียที่ดีที่ชั่ว ที่ควรละควรส่งเสริม เพราะโลกมีของสองสิ่งคือดีกับชั่วเป็นคู่กัน

เมื่อมีสองสิ่งย่อมเป็นคู่แข่งกัน เช่น คนดีกับคนชั่ว ย่อมเป็นคู่แข่งกันอยู่ในตัว อันเดียวไม่ทราบจะแข่งกับอะไร นี้มันมีแต่กิเลสอย่างเดียวภายในหัวใจ หาคู่แข่งไม่ได้ จึงไม่ทราบว่ากิเลสเป็นความผิด เป็นความไม่ดี ให้โทษแก่ตนอย่างไรบ้าง แม้ทุกข์ขนาดไหนก็ยอมรับ กิเลสพาให้คิดให้ปรุงให้พูดจาให้ทำประการใด ซึ่งส่วนมากเป็นความผิด ก็ต้องทำไปตามอำนาจป่าเถื่อนนั้น เพราะไม่มีอะไรภายในใจมาคัดค้าน เนื่องจากมีอย่างเดียวคือกิเลสเป็นผู้บงการ

เมื่อนำธรรมเข้าไปวินิจฉัย หรือได้ยินได้ฟังอรรถธรรม และอ่านเรื่องอรรถเรื่องธรรมเข้าไป ก็มีความรู้แปลกๆ แฝงขึ้นมา และมีข้อเทียบเคียงฝ่ายผิดฝ่ายถูก จากนั้นก็มีแก่ใจ และพยายามแยกแยะกันออกได้ โดยเห็นว่าธรรมเป็นอย่างนี้กิเลสเป็นอย่างนั้น ความโลภเป็นอย่างนั้นความไม่โลภเป็นอย่างนี้ ความโกรธเป็นอย่างนั้น ความไม่โกรธเป็นอย่างนี้ ความหลงเป็นอย่างนั้น ความไม่หลงเป็นอย่างนี้ ความฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิมเป็นอย่างนั้น ความมีใจสงบเย็นเป็นอย่างนี้ ค่อยเข้าใจไปโดยลำดับ

ทีนี้ก็หาอุบายวิธีแยกแยะและนำออกเป็นสัดเป็นส่วน เป็นดี เป็นชั่ว แยกออกคนละทิศละทางจากตัวเราเอง ตัวเราก็มีที่หลบซ่อนผ่อนคลาย หายจากทุกข์ไปเรื่อยๆ เบื้องต้นต้องอาศัยกำลังวังชาบังคับบัญชาถูไถกันไป เพราะยังไม่เคยเห็นผลของงาน เช่นเดียวกับเด็กทำงานนั่นแหละ ผู้ใหญ่ต้องคอยบังคับบัญชา พอลับตาผู้ใหญ่ เด็กก็เถลไถล เราก็เหมือนกัน เมื่อยังไม่เห็นผลของธรรมเกิดขึ้นที่ใจบ้างเลยก็ขี้เกียจ ต้องอาศัยความบังคับบัญชาตัวเอง สติเป็นของสำคัญ เมื่อใจได้รับความสงบเย็นลงไป นี่เป็นเครื่องวัด เป็นผลของงาน เป็นพยานประจักษ์ขึ้นมา

พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑






การเชื่อพระพุทธเจ้าเชื่ออย่างนี้และทำอย่างนี้ ไม่เหลาะแหละ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญอย่างไร จงเชื่อธรรมท่านและปฏิบัติดำเนินอย่างท่าน จงรักธรรม รักตน และเสียดายตน เสียดายธรรม มากกว่าเสียดายอารมณ์ทั้งหลายที่เคยเกี่ยวข้องกันมานาน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรนอกจากโทษโดยถ่ายเดียว พระสงฆ์สาวกท่านดำเนินอย่างไร เป็นคติตัวอย่างแก่พวกเราได้อย่างดีเยี่ยม บรรดาสาวกอรหันต์ที่เราเปล่งวาจาถึงท่าน ระลึกนึกน้อมถึงท่านทางด้านจิตใจว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ อย่าเพียงระลึกถึงท่านว่าเป็นสรณะเพียงเท่านั้น ให้ระลึกถึงปฏิปทาที่ท่านพาดำเนินมา เพื่อเป็นคติตัวอย่าง และเป็นกำลังใจของเราได้ก้าวเดินตามท่าน อย่างองอาจกล้าหาญไม่สะทกสะท้านต่ออุปสรรคใดๆ ด้วย แม้ไม่ได้แบบท่านทุกกระเบียดก็ยังดี อยู่ในเกณฑ์ของลูกศิษย์ที่มีครูสั่งสอน

กิเลสเป็นสิ่งที่ละเอียดแหลมคม และเป็นสิ่งที่กล่อมจิตใจของโลกได้อย่างสนิทติดจม ทำให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลใฝ่ฝันไปตามมันไม่มีเวลาอิ่มพอ การเห็นโทษย่อมเห็นโทษของมันได้ยาก ถ้าไม่นำสติปัญญาเข้าไปจับ เข้าไปเทียบเคียง เข้าไปพิสูจน์พิจารณา จะไม่มีโอกาสรู้เห็นว่ากิเลสนี้เป็นโทษต่อจิตใจของสัตว์โลกเลย เพราะฉะนั้นสัตว์โลกจึงต้องมีความพอใจในความโลภ ในความโกรธ ในความหลง ความรักความชัง อาการต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส จิตใจของคนและสัตว์มีกิเลสชอบกันทั้งนั้น แต่เรื่องของธรรมซึ่งจะเป็นเครื่องแก้กิเลสไม่ค่อยชอบกัน เพราะถูกกีดกันจากกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อธรรมไม่ให้ชอบธรรม ไม่ให้นำธรรมมาตำหนิมัน ไม่ให้นำธรรมมาแก้มัน มาปราบมัน

ผู้จะพอรู้โทษของกิเลส ต้องเป็นผู้ได้สัมผัสธรรม รู้รสของธรรม รู้คุณค่าของธรรมภายในใจมากน้อยทางด้านปฏิบัติ นำมาเทียบกับกิเลสในแง่ดีชั่วสุขทุกข์ต่าง ๆ และทราบโทษทราบคุณจากระหว่างกิเลสกับธรรมโดยลำดับ การศึกษาธรรมการปฏิบัติบำเพ็ญธรรมย่อมค่อยเป็นไปเอง นับแต่ขั้นล้มลุกคลุกคลาน จนถึงขั้นอาจหาญเกรียงไกร และขั้นหมดอาลัยในกิเลสโลกามิสทั้งมวล อนาลโย เสียได้

ส่วนกิเลสจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจมันก็เป็นกิเลสอยู่เรื่อยไป เพราะในจิตทั้งดวงมันเป็นกิเลสทั้งสิ้นอยู่แล้ว มันจึงมีอำนาจมาก มีกำลังมาก เนื่องจากเคยเสี้ยมสอน และบังคับบัญชาจิตใจของโลกมาเป็นเวลานานแสนนานแล้ว ชนิดที่ว่าโลกกับมันเป็นอันเดียวกัน เรากับกิเลสก็เป็นอันเดียวกัน ไม่ทราบอะไรเป็นกิเลสอะไรเป็นเรา มันกล่อมได้ถึงขนาดนั้น เป็นอวัยวะอันเดียวกันไปหมด (ส่วนจุดหมายอันสำคัญที่เรามุ่งมั่นอยู่เวลานี้คือ เรากับธรรม ธรรมกับเราเป็นอันเดียวกัน)

พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑






สายกลาง นี้มันยากต้องเอาจิตของเราเป็นประมาณ จะเอาตัณหา ของเราเป็นประมาณไม่ได้ จะเป็นสุขก็ต้องปฏิบัติจะเป็นทุกข์ก็ต้องปฏิบัติจะอยู่สบายสบายอย่างนี้ก็ต้องปฏิบัติจะเป็นไข้อยู่ก็ต้องปฏิบัติมันถึงจะถูกแบบ ถ้าเราปฏิบัติเราจะยืนอยู่ก็มีสติเราจะนั่งอยู่ก็มีสติ เราจะเดินอยู่ก็มีสติเราจะนอนก็มีสติอยู่อย่างสม่ำเสมออย่างนี้ คนที่เรียนปริยัติแล้วแต่ไม่ปฏิบัติก็เหมือนกับทัพพีตักแกงที่อยู่ในหม้อมันตักแกงทุกวันแต่มันไม่รู้รสของแกง รวยก็ทุกข์จนก็ทุกข์เป็นเด็กเป็นคนโตก็ทุกข์ทุกข์หมดทุกอย่างเพราะอะไรเพราะว่ามันขาดปัญญา
ถ้าเรามีปัญญาที่ไหนๆ มันก็สบาย...โลกทั้งหลายเขาถูกต้องของเขาหมดแล้ว
ท่านจะไม่พบความสงบเลยถ้าท่านมัวเสียเวลาแสวงหา คนที่ดีพร้อมหรือครูที่ดีพร้อมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราดูที่ธรรมะ ที่สัจธรรมไม่ใช่คอยจับตาดูผู้อื่น การปฏิบัติเป็นเรื่องละ เป็นเรื่องวางเป็นเรื่องถอนเป็นเรื่องเลิก ต้องเข้าใจอย่างนั้นทุกอย่างมันจึงจะเป็นไปได้

ขอให้ดูจิตพยายามอ่านจิตของเจ้าของ
พยามพูดกับจิตของเจ้าของมันจึงจะรู้เรื่องของจิตค่อยๆทำไปถ้ายังไม่ถึงที่ของมัน มันก็เป็นไปอยู่อย่างนั้น
การมาบวชนั้นเป็นของยาก จะต้องตั้งอกตั้งใจ เป็นผู้มีศรัทธา ปฏิบัติไปจนมันรู้ มันเห็นตามความเป็นจริง มันจึงเบื่อ เบื่อนั้นไม่ใช่ชัง ต้องเบื่อทั้งรักทั้งชัง เบื่อทั้งสุขทั้งทุกข์ คือเห็นทุกอย่างไม่เป็นแก่นสารนั้นเอง
...หลวงพ่อชา สุภัทโท







ต้นคือปลาย

เมื่อเราเกิดมาแล้วโยม ก็คือเราตายแล้วนั่นเอง
ความแก่กับความตายมันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ
เหมือนกับต้นไม้ อันหนึ่งต้น อันหนึ่งปลาย
เมื่อมีโคนมันก็มีปลาย เมื่อมีปลายมันก็มีโคน
ไม่โคน ปลายก็ไม่มี มีปลายก็ต้องมีโคน
มีแต่ปลาย โคนไม่มีก็ไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ก็นึกขำเหมือนกันนะ
มนุษย์เราทั้งหลาย เมื่อจะตายแล้วก็โศกเศร้าวุ่นวาย
นั่งร้องไห้เสียใจสารพัดอย่าง
หลงไปสิโยม โยมมันหลงนะ
พอคนตายก็ร้องไห้พิไรรำพัน
แต่ไหนแต่ไรมาไม่ค่อยได้พิจารณาให้ชัดแจ้งนะ
ความเป็นจริงแล้ว อาตมาขอโทษด้วยนะ
อาตมาเห็นว่า ถ้าจะร้องไห้กับคนตายน่ะ
ร้องไห้กับคนที่เกิดมาดีกว่า แต่มันกลับกันเสีย
ถ้าคนเกิดมาแล้วโยมทั้งหลายก็หัวเราะดีอกดีใจกันชื่นบาน
ความเป็นจริงเกิดนั่นล่ะคือตาย ตายนั่นล่ะก็คือเกิด
ต้นก็คือปลาย ปลายก็คือต้น

หลวงปู่ชา สุภทฺโท







โยม : ท่านเป็นพระอรหันต์หรือเปล่าค่ะ???

หลวงปู่ชา สุภทฺโท : ต้นไม้ผลิดอกออกผล มีนกมาเกาะกิ่งไม้ แล้วจิกกินผลไม้นั้น จะหวานหรือเปรี้ยว เป็นเรื่องของนกที่จะรู้ได้ แต่ต้นไม้ไม่รู้อะไรเลย

อย่าเป็นพระพุทธเจ้า อย่าเป็นพระอรหันต์ อย่าเป็นพระโพธิสัตว์ อย่าเป็นอะไรเลย

การ "เป็นอะไร" ก็มีแต่ความทุกข์เท่านั้นแหละ เราไม่มีความจำเป็น ต้องเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง







ในเรื่องของกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส
โผฐฐัพพะ ธรรมารมณ์นั้น
รูปอะไร..ก็ไม่จับใจเท่า "รูปผู้หญิง"
ผู้หญิงรูปร่างบาดตาก็ชวนมองอยู่แล้ว
ยิ่งเดินซ่อกแซ่กๆ ก็ยิ่งมองเพลิน
เสียงอะไรจะมาจับใจเท่า "เสียงผู้หญิง" เป็นไม่มี มันบาดถึงหัวใจ
กลิ่นก็เหมือนกัน กลิ่นอะไรก็ไม่เหมือน "กลิ่นผู้หญิง"
ติดกลิ่นอื่นก็ไม่เท่าติดกลิ่นผู้หญิง..มันเป็นอย่างนั้น
รสอะไรก็ไม่เหมือนรสข้าวรสแกง รสสารพัดก็ไม่เทียบเท่า "รสผู้หญิง"
หลงติดเข้าไปแล้วถอนได้ยาก เพราะมันเป็นกาม
โผฐฐัพพะก็เช่นกัน จับต้องอะไร
ก็ไม่ทำให้มึนเมาปั่นป่วนจนหัวชนกัน
..เหมือนกับ "จับต้องผู้หญิง"
ฉะนั้นเมื่อลูกท้าวพระยาที่ไปเรียนวิชากับตักศิลาจนจบแล้ว
จะลาอาจารย์กลับบ้าน อาจารย์จึงสอนว่า
"เวทมนตร์กลมายาอะไรๆ ก็สอนให้ บอกให้จนหมดแล้ว
เมื่อกลับไปครองบ้านครองเมืองแล้วมีอะไรมาก็ไม่ต้องกลัว
จะสู้ได้หมดทั้งนั้น จะมีสัตว์ประเภทใดมาก็ไม่ต้องกลัว
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์มีฟันอยู่ในปาก หรือมีเขาอยู่บนหัว มีงวง มีงา
ก็คุ้มกันได้ทั้งสิ้น แต่ไม่รับรองอยู่แต่สัตว์จำพวกหนึ่ง
ที่ "เขาไม่ได้อยู่บนหัวแต่หากไปอยู่ที่หน้าอก"
สัตว์ชนิดนี้ไม่มีมนต์ชนิดใดจะคุ้มกันได้ มีแต่จะต้องคุ้มกันตัวเอง"
รู้จักไหม?.."สัตว์ที่มีเขาอยู่หน้าอก" นั่นแหละ
ท่านจึงให้รักษาตัวเอาเอง ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจแล้ว
ทำให้อยากได้เงิน อยากได้ทอง อยากได้สิ่ง อยากได้ของ
ธรรมารมณ์อย่างนั้นไม่พอให้ล้มตาย
แต่ถ้าเป็น "ธรรมารมณ์ที่ชุ่มด้วยน้ำกาม" เกิดขึ้นแล้ว
มันทำให้ลืมพ่อลืมแม่ แม้พ่อแม่เลี้ยงมาก็หนีจากไปได้
โดยไม่คำนึงถึง..พอเกิดขึ้นแล้วรั้งไม่อยู่ สอนก็ไม่ฟัง...

หลวงปู่ชา สุภัทโท
ตอบกระทู้