นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 4:46 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 10 พ.ค. 2017 9:17 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
เราปฏิบัติจริงๆได้จริงๆเราพ้นจริง ศาสนาพุทธของเราหลุดพ้นจริงๆ พระพุทธเจ้าหลุดพ้นไปกี่องค์แล้ว เราไปอยู่ไหนล่ะ ทำไมไม่เจอพระองค์ บัดนี้เรามาเจอแล้ว ให้รีบตักตวงเอาเมื่อยังพอมีกำลัง อยู่แก่แล้วทำไม่ได้นะ มันเอาไม่ไหวแล้ว ไม่เหลือวิสัย ไม่เหลือความพยายามหรอก ศรัทธาเป็นหลัก อย่าเป็นศรัทธาหัวเต่า นั่งภาวนาพอมันปวด เวทนาทุกข์ โอ๊ย! ไม่ไหวแล้ว พรุ่งนี้เอาใหม่ พรุ่งนี้ก็เหมือนเดิม สิบปีก็เหมือนเดิม

หลวงปู่แฟ้บ สุภทฺโท
๒๖ มีนาคม ๒๕๔๘




"คนที่ทำดีแต่ไม่ได้ดี
เพราะเหตุผลหลายอย่าง คือ
ทำดีไม่ถึงดี
ทำดีเกินพอดี
ทำดีผิดที่ทำดีเอาหน้า
นึกว่าทำดีแต่จริงๆแล้วไม่ใช่ดี
ทำดีกับคนไม่ดี"

....พระธรรมเทศนาองค์พ่อแม่ครู-บาอาจารย์ องค์หลวงปู่ใหญ่หรือเจ้าคุณปู่พระอุดมญาณโมลี (องค์หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)พระอริยเจ้าผู้มากล้นด้วยเมตตาธรรมหาประมาณมิได้ วัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง ต.หมากเเข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี






การแผ่เมตตาต้องมีทุกวัน เราจะ อะหัง สุขิโต โหมิ นิททุกโข โหมิ อะเวโร โหมิ ก็ได้ หรือ สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ อะเวรา สุขะชีวิโน ก็ได้ แต่เมื่อพูดจบแล้วภาษาใจของเราต้องมีอีก นึกในใจว่า ข้าพเจ้าจงเป็นสุข ผู้อื่นจงเป็นสุข ข้าพเจ้าต้องการความสุขอย่างไร ผู้อื่น สัตว์อื่น วิญญาณอื่น ทั่วไตรโลกธาตุ ขอให้มีความสุขอย่างที่ข้าพเจ้าต้องการ อย่างที่ข้าพเจ้าปรารถนา ทุกๆดวงใจ ทุกๆวิญญาณ ด้วยเทอญ กล่าวออกมาจากใจจริงๆ นึกคำนี้ออกมาจากใจจริง

ข้าพเจ้าจะไม่ผูกพยายาทอาฆาตจองเวรกับใครๆทั้งหมดในพื้นปฐพีนี้ เพราะต่างคนต่างก็มีกรรมของใครของเรา เขาก็มีกรรมของเขา เราก็มีกรรมของเรา กรรมดีกรรมชั่วอยู่กับตัวของเรากับตัวของเขาทุกคน แบกกรรมดีกรรมชั่วของใครของเราอยู่แล้ว เราให้อภัยทุกคน ที่ผ่านๆมาแล้วก็ถือว่าผ่านไป เราไม่ถือโทษโกรธเคืองให้กับเขา เขาจะมาถือโทษโกรธเคือง อันนั้นก็สุดแท้แต่ใจของเขา แต่เราก็ไม่ได้สนใจ ไม่ต่อล้อต่อเถียงตอแยกับเขาอีก เราจะอยู่แบบเป็นธรรม

โอวาทธรรม
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก







"ผู้ใดไม่เห็นทุกข์
ผู้นั้นคือผู้ไม่เห็นธรรม
ผู้ได้รับทุกข์ จนเหลือที่จะอดกลั้นแล้ว
เมื่อหวนกลับเข้ามาถึงตัวนั่นแล
จึงจะรู้จักว่าทุกข์นั้นแล คือ ธรรม"

-:-หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี-:-





"อดีต ปล่อยไว้ตามอดีต
อนาคต ปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้น จะสำเร็จประโยชน์ได้
เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย"

-:-พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต-:-





"ลูกจงจำไว้ว่า เราให้การสงเคราะห์เขา
อย่าไปหวังว่าเขาจักต้องมาตอบแทน
บุญคุณหรือกตัญญูกับเรา เพราะถ้าเราหวังเราจะเสียใจ
จงให้แบบไม่หวังผลตอบแทน
เขาจะเห็นคุณเราหรือไม่
ลูกอย่าสนใจแล้วจะสบายใจ"

หลวงพ่อฤๅษลิงดำ วัดท่าซุง





ผู้แผ่เมตตา จะได้รับคุณแห่งเมตตาด้วยตนเองก่อน

: พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก นี้เป็นธรรม นี้เป็นสัจจะ นี้เป็นสิ่งที่แทบทุกคนเคยได้ยินได้ฟัง และน่าจะเคยพูดออกจากปากตนเองมาแล้วเป็นส่วนมาก แต่จะมีความเข้าใจในความหมายลึกซึ้งเพียงไหน ก็ย่อมไม่เหมือนกัน และที่จะถึงใจในสัจจะนี้เพียงไหนก็ไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องเฉพาะจิตของแต่ละคน

อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่า ทุกคนปรารถนาจะได้รับเมตตา ไม่มีผู้ใดปรารถนาจะให้ผู้อื่นขาดความเมตตาในตน ถ้าทุกคนระลึกถึงความจริงว่า เมตตาเป็นสิ่งที่สวยงามมีค่าสำหรับตนเป็นที่ปรารถนาของตน เมตตาก็เป็นสิ่งสวยงามมีค่าสำหรับผู้อื่นและเป็นที่ปรารถนาสำหรับผู้อื่นเช่นเดียวกัน

ถ้าทุกคนระลึกถึงความจริงว่าดังกล่าวนี้ไว้เสมอ จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจ ก็จะเป็นที่ประจักษ์ชัดจริง ๆ ว่า เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลกแน่นอน โลกก็มิได้หมายถึงอะไรที่ไหน ก็หมายถึงตัวเรานี้แหละป็นสำคัญ ตัวเราของทุกคนนี้แหละคือโลก เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนตัวเราทุกคนนี้แหละ

อันเครื่องค้ำจุนทั้งหลายก็เช่นเดียวกับเมตตา เช่นไม้ค้ำ แม้เป็นไม้เล็กๆ เพียงอันเดียว ก็จะมีกำลังค้ำเพียงนิดเดียว ให้ความปลอดภัยมั่นคงแก่สิ่งที่ค้ำได้เพียงนิดเดียว แม้เป็นไม้ใหญ่หลายอันก็จะมีกำลังค้ำจุนมาก ให้ความปลอดภัยแก่สิ่งที่ค้ำได้มาก

เมตตาก็เช่นเดียวกัน เมตตาเพียงเล็กน้อยก็ให้ความค้ำจุนอบอุ่นปลอดภัยแก่โลก คือตัวเราทุกคนนี้แหละเพียงเล็กน้อย เมตตาอย่างยิ่งก็ให้ความค้ำจุนอบอุ่นปลอดภัยแก่โลก คือตัวเราทุกคนนี้แหละได้มากมาย อันแรงค้ำจุนของเมตตาที่จะให้ความอบอุ่นปลอดภัยร่มเย็นเป็นสุขแก่โลก คือตัวเรานี้นั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยากจะเข้าใจได้ง่ายๆ

และการค้ำจุนของเมตตาก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก ไม่เหมือนกับการค้ำจุนของเครื่องค้ำจุนอันเป็นวัตถุทั้งหลาย อันวัตถุเครื่องค้ำจุนทั้งหลายนั้น เราไปจัดวาง เพื่อค้ำจุนสิ่งใดก็จะค้ำจุนเพียงเฉพาะสิ่งนั้นให้มั่นคงดำรงอยู่ แต่เมตตาเครื่องค้ำจุนนั้นมิได้เป็นแบบเดียวกับวัตถุเครื่องค้ำจุน

เราแผ่เมตตาไปในผู้อื่นสัตว์อื่น ผู้ที่ได้รับผลจากเมตตาเครื่องค้ำจุนก่อนผู้อื่นสัตว์อื่น คือตัวเราผู้แผ่เมตตานั้นเอง แม้ผู้อื่นสัตว์อื่นจะได้รับความค้ำจุนจากเมตตาของเรา แต่ก็จะได้รับที่หลัง จะไม่ได้รับก่อนผู้แผ่เมตตาเป็นอันขาด ฟังแล้วไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นจริงเช่นนี้.




อย่าประมาท
ให้พากันทำสติสัมปชัญญะ ให้รู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ
คือความรู้ในการกระทำ
ก่อนทำอะไรลงไป ให้คิดเสียก่อน
ว่ามันได้ผลดีหรืออย่างไร
ต่อไปข้างหน้าถ้ารู้ว่ามันไม่ดี
ให้ความทุกข์ เราก็ไม่ทำ
ประกอบแต่คุณงามความดี.
…………..
หลวงปู่ขาว อนาลโย





ไม่ใช่ว่าจะมานั่งภาวนาอย่างเดียวให้เป็นอรหันตผล อันนี้มันไม่ได้ เพราะอารมณ์ใจไม่มีการสัมผัสกับฝ่ายที่เป็นตรงกันข้าม ไม่มีการต่อสู้ ทั้งนี้เพราะว่า รู้ตัวอยู่ว่าคนที่หลีกเลี่ยงจากโลกธรรม เวลาอยู่คนเดียวสงบสงัด แต่เวลามาสัมผัสกับโลกธรรมเข้า จิตปลิวหวอย ตั้งสติไม่อยู่
...หลวงพ่อฤาษีลิงดำ






ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชาอบรมพระฝรั่งที่ชอบนั่งสมาธินานๆ ท่านเตือนสติให้ระวัง อย่าหลงว่านั่งยิ่งนานยิ่งดี มันไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป

ท่านเปรียบเหมือนกับไก่ ที่แม้จะนั่งนานสักเท่าใด ปัญญาก็ไม่เกิดสักที เราจะเอาแต่ระยะเวลาที่นั่งเป็นประมาณไม่ได้

ท่านบอกว่ามันไม่ได้อยู่ที่อิริยาบถ มันอยู่ที่ว่าในระหว่างที่นั่งนั้น จิตใจเราอยู่ที่ไหน หากจิตใจไม่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน หรือจิตใจมัวแต่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แม้จะนั่งนานเท่าใด ก็ไม่เกิดประโยชน์

เราจะเอาอิริยาบถเป็นเครื่องวัดการปฏิบัติของเราไม่ได้ ท่านสอนว่า คุณภาพดีกว่าปริมาณ เมื่อจะปฏิบัติก็จงปฏิบัติอย่างมีคุณภาพ ถึงแม้ว่าเมื่ออยู่บ้าน เราจะมีเวลาปฏิบัติได้ไม่นานนัก ก็ทำเวลานั้นให้มีคุณภาพ มีคุณภาพด้วยการตั้งอกตั้งใจ ไม่ใช่สักแต่ว่านั่งพอเป็นพิธีหรือไม่ตั้งใจ ปล่อยจิตให้ไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องอดีตบ้าง หรือปล่อยให้จิตเพ้อฝันเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึงบ้าง นานๆ เข้าเราก็จะรู้สึกท้อแท้ใจ นั่งสมาธิไม่เห็นได้เรื่องเลย

ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่สมาธิ ไม่ได้อยู่ที่คำสั่งสอน และไม่ได้อยู่ที่วิธีการ เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนดีอยู่แล้ว เพราะผู้ที่ใช้คำสั่งสอนและวิธีการของพระพุทธองค์ เป็นเครื่องมือในการฝึกอบรมจิตจนเกิดผลมีมากมายนับไม่ถ้วน

หากการปฏิบัติของเรามักจะไม่ได้ผล เพราะขาดความต่อเนื่องหรือความสม่ำเสมอในการปฏิบัติ ซึ่งขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเรา คนบางคนขยันก็ปฏิบัติ ขี้เกียจขี้คร้านก็ไม่ปฏิบัติ จิตใจสบายก็นั่งสมาธิบ้าง จิตใจวุ่นวายกลัดกลุ้ม ซึมเศร้าก็ไม่นั่ง เหตุผลที่ไม่นั่งเพราะคิดว่าถ้านั่งก็คงไม่สงบ นี่เป็นความคิดผิด เพราะถ้าเราไม่ฝึกนั่ง ย่อมไม่มีวันที่เราจะสามารถชนะจิตใจของตนเอง ไม่มีวันที่เราจะได้พ้นจากความวุ่นวาย

แต่ถ้าเราอดทน จะสงบหรือไม่สงบช่างมัน เราจะต้องนั่งให้ได้ ถ้าเรานั่งอยู่กับอารมณ์ที่ว้าวุ่นขุ่นมัว ก็พยายามปล่อยๆๆๆๆ เหมือนกับตุ๊กตาล้มลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ไม่ยอมเบื่อ ในที่สุดแล้วเราจะได้พบวันที่จิตใจพ้นจากอารมณ์นั้นได้ ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่สำคัญและมีอานิสงส์มากในชีวิต เพราะหลังจากนั้น เราจะไม่เชื่ออารมณ์เหมือนแต่ก่อน เราจะมีสัญญาจำได้หมายรู้ว่า ครั้งหนึ่งเราเคยทุกข์มาก นั่งสมาธิแล้วไม่คิดว่าจะได้ผลดีอะไร แต่ก็นั่งเพียงเพราะครูบาอาจารย์ท่านสอน อย่างนั้น ก็พยายามนั่งอยู่อย่างนั้น

แต่ไม่น่าเชื่อที่จิตใจมันพลิก พลิกจากความวุ่นวายที่สุดเป็นสงบนิ่ง ไม่รู้ว่าเป็นไปได้อย่างไร เมื่อเรามีประสบการณ์อย่างนี้แล้ว จะทำให้เรามีกำลังใจ เวลาจิตใจวุ่นวาย เราจะไม่พึ่งสิ่งอื่น เราจะไม่หนีจากอารมณ์ของตัวเอง แต่จะกล้าเผชิญหน้ากับอารมณ์นั้น

การไม่กล้าเผชิญหน้ากับอารมณ์ของตนเอง เป็นการส่งเสริมความอ่อนแอของจิตใจ

เมื่อเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ก็ จะหาวิธีกลบเกลื่อนอารมณ์ด้วยกาม คือดูทีวีบ้าง ไปพูดคุยกับใครบ้าง หรือกินอะไรสักอย่าง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกาม หรือเป็นเครื่องกลบอารมณ์

***********************
จากหนังสือ อักษรส่อสาร ชยสาโรภิกขุ หน้าที่ ๕-๗






"...มรรค อยู่ที่ กายกับจิต คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ รวมเป็น ๖ ลิ้น ๑ เป็น ๗ กาย ๑ เป็น ๘ มาพิจารณารู้เท่าสิ่งทั้ง ๘ นี้

ไม่หลงไปตาม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อันมาถูกต้องตนของตน จิตไม่หวั่นไหวโลกธรรม ๘ เป็นคู่ปรับกับมรรค ๘

เมื่อรู้เท่าส่วนทั้งสองนี้แล้ว เจริญมรรคให้บริบูรณ์เต็มที่ ก็แก้โลกธรรม ๘ ได้ ก็เป็นผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺ มงฺคลมุตฺตมํ

คือ โลกธรรมถูกต้องจิตผู้ใดแล้ว จิตของผู้นั้นไม่หวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหวก็ไม่เศร้าโศก เป็นจิตปราศจากเครื่องย้อม เป็นจิตเกษมจากโยคะ จัดว่าเป็นมงคลอันอุดมเลิศ ฉะนี้แล..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต







"...การที่มนุษย์ปุถุชนทั้งหลายไม่ต้องการความพ้นทุกข์ ในวัฏฏสงสาร ก็เพราะความมืดเข้าครอบงำสันดาน ให้เป็นผู้มืดผู้หลงงมงายอยู่ในวัฏฏสงสารตลอดไป

เมื่อกำจัดความมืดให้ขาดจากสันดาน ของตนไม่ได้อยู่ตราบใด ตนก็ยังจะต้องเป็นผู้มืดผู้หลงอยู่อย่างนั้นตลอดไป เพราะอำนาจอุปาทาน ที่ถือเอาความมืดความแจ้งของโลก มาทำความสนุกของตนนั่นเอง

จึงเป็นเหตุสั่งสมกองทุกข์กองกิเลส ให้มากมายใหญ่โตขึ้นจนเต็มโลก เต็มแผ่นดิน จะหนีจากกองทุกข์กองกิเลสก็หนีไม่พ้น จำเป็นก็ต้องถือเอากองทุกข์กองกิเลสเป็นสมบัติของตน เสวยทุกขเวทนาอยู่ในโลกตลอดไป..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม







"ความสุขแบบที่ไม่ต้องมีอะไร"

ถ้าเราใช้พุทโธนี้มันก็จะว่าง จะเย็นจะสบาย ถ้าท่องที่เป็นเรื่องเป็นราว มันก็จะทำให้เกิดเรื่องราวภายในใจได้อยู่ ถ้าท่องในสิ่งที่ไม่มีเรื่อง มันก็จะไม่มีเรื่องปรากฏขึ้นมา ท่องพุทโธๆ ไปเวลาที่เราไม่ต้องใช้ความคิด ชีวิตเรานี้ไม่ได้คิดตลอด ไม่ต้องใช้ความคิดตลอดเวลา แต่เราคิดกันตลอดเวลา คิดกับเรื่องไร้สาระ คิดเรื่องเพ้อเจ้อ คิดกับเรื่องของกิเลสตัณหา ความโลภ ความอยากต่างๆ ที่มันไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจ มีแต่จะทำให้จิตใจเราว้าวุ่นขุ่นมัว ทำให้จิตใจไม่สุข ไม่อิ่ม ไม่พอ ถ้าเรามีพุทโธๆ ไปนี้ ความคิดต่างๆ มันก็จะเกิดขึ้นมาไม่ได้ แล้วใจเราก็จะว่าง จะเย็นจะสบายมีความสุข เราหัดมาเจริญพุทโธกัน ถ้าใช้คำบริกรรมก็พุทโธ หรือใช้คำอื่นก็ได้ ธรรมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งคอยกั้นเพื่อไม่ให้เกิดความคิดต่างๆ ขึ้นมา ความคิดของเราส่วนใหญ่มันเป็นความคิดไปในทางที่ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ที่ไม่ดี อารมณ์ทำให้เกิดอารมณ์ร้อนขึ้นมา โลภก็ร้อน โกรธก็ร้อน หลงก็ร้อน นานๆ เราจะคิดไปในทางที่ดีสักครั้งหนึ่ง ส่วนใหญ่จะคิดไปในทางที่ไม่ดี ทำให้เราหิว ทำให้เราอยาก ทำให้เรารำคาญ ทำให้เราหงุดหงิด ทำให้เราว้าเหว่ ทำให้เราเศร้าสร้อยหงอยเหงา ทำให้เราท้อแท้เบื่อหน่าย เกิดจากความคิดของเราทั้งนั้น อารมณ์เหล่านี้เราคิดแบบให้มีกำลังใจ คิดแบบให้เบิกบาน คิดไม่เป็นกัน ชอบคิดให้เศร้าหมองกัน เราจึงต้องมาหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่จะสอนให้เราคิดไปในทางที่ดี หรือถ้าคิดไปในทางที่ไม่ดีก็ให้หยุดมัน หยุดมันแล้วก็บังคับให้มันคิดไปในทางที่ดี คิดไปในทางที่ดีแล้ว มันก็จะมีความสดชื่นเบิกบานมีความสุข ความสุขนี้มันมีอยู่ในใจของเราแล้ว เราไม่ต้องไปหาสิ่งต่างๆ มาให้ความสุขกับเรา แต่เราไม่รู้กัน เราไม่รู้ว่าเราสามารถผลิตความสุขให้กับเราได้โดยที่ไม่ต้องไปหาสิ่งต่างๆ มาให้เรามีความสุข เราก็เลยไปหาสิ่งต่างๆ มาให้ความสุขกับเรา ที่เป็นความสุขชั่วคราว ที่เป็นความสุขปลอม เพราะความสุขที่เราได้จากสิ่งต่างๆ พอได้มาปั๊บเดี๋ยวมันก็หายไปแล้ว พอหายไปความทุกข์ก็เข้ามา ต้องไปหามา มาดับความทุกข์ใหม่ เพราะสิ่งต่างๆ ที่เราได้มามันเป็นของชั่วคราว ได้มาแล้วก็หมดไป อยากจะไปดูอะไร อยากจะไปฟังอะไร อยากจะไปเที่ยวที่ไหน พอไปดูไปฟังไปเที่ยวก็มีความสุขกัน แต่พอกลับมาบ้าน มันก็หายไปหมดแล้ว กลายเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันไม่มีอะไรให้ดูให้ฟังให้เที่ยวก็รู้สึกเหงาขึ้นใหม่ รู้สึกว้าเหว่อยากจะออกไปเที่ยวใหม่ อยากจะออกไปดูไปฟังใหม่ นี่ไม่ใช่เป็นวิธีหาความสุข เพราะมันเป็นการ ทำให้ใจเราติดกับการหาความสุขแบบนี้ แล้วพอเราไม่สามารถหาความสุขแบบนี้ได้ เราก็เศร้า เคยไปเที่ยวได้พอวันไหนไม่มีเงินไปเที่ยว วันนั้นก็เศร้า เคยมีเพื่อนพอวันไหนไม่มีเพื่อนก็เหงา สู้เรามาหาความสุขแบบที่เราไม่ต้องมีเพื่อน ไม่ต้องไปเที่ยวดีกว่า คือมาทำใจเราให้ว่าง อย่าให้คิดใช้พุทโธๆไป พอเราไม่คิดถึงเพื่อนไม่คิดถึงสถานที่ท่องเที่ยว เราก็ไม่รู้สึกเหงา ไม่รู้สึกว้าเหว่ แต่พอคิดปั๊บก็อยากจะเจอเพื่อน ก็อยากจะไปเที่ยวพอไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้ไปเที่ยวก็ว้าเหว่ เงียบเหงาขึ้นมา ถ้าเรารู้จักใช้พุทโธๆ นี้พอเกิดอารมณ์อย่างนี้ขึ้นมาก็พุทโธๆๆๆ ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสักพักหนึ่งอารมณ์มันก็หายไป เพราะมันหยุดคิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ว้าเหว่ขึ้นมา

นี่แหละประโยชน์ของการเจริญสติ ใช้พุทโธๆ ไป ท่องไปเรื่อยๆ ลืมตาขึ้นมาตื่นขึ้นมาก็พุทโธไปเลย ไปอาบน้ำแต่งเนื้อแต่งตัวอะไรก็พุทโธไป อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อยอย่าให้คิดไปในทางความโลภทางความอยาก แล้วจะทำให้ใจเราร้อนขึ้นมา พอมีความโลภความอยากนั้นจะทำอะไรต้องรีบทำ เพราะมันไม่ทันใจล่ะ แล้วพอไม่ได้ดั่งใจก็โกรธ เสียใจ ได้มาแล้วเดี๋ยวเดียวความสุขที่ได้มาจากการทำตามความอยาก ได้มาเดี๋ยวเดียวมันก็หมดไปแล้ว เดี๋ยวก็เกิดความอยากในเรื่องอื่นต่อไป อยากได้เรื่องนี้พอได้เรื่องนี้เสร็จแล้วก็อยากได้สิ่งนั้นต่อ อยากได้สิ่งนั้นแล้วก็อยากจะได้เรื่องนั้นต่อ มันก็จะคว้าไปเรื่อยๆ สิ่งที่ได้มาแล้วก็หมดความหมายไป หามาได้เท่าไหร่ก็ไม่อิ่มไม่พอ พอหาไม่ได้ก็ทุกข์ นี่พอเสียสิ่งที่ได้มาไปก็ทุกข์ สู้มาหาความสุขแบบที่ไม่ต้องมีอะไรดีกว่า ทำใจให้ว่าง แล้วใจเราจะมีความสุข อย่าให้คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้ให้อยู่กับพุทโธๆๆ ไป แล้วใจจะเบา ใจจะสบาย ใจจะไม่ร้อน ใจจะเย็น ใจจะอิ่ม จะไม่หิวไม่โหย.

สนทนาธรรมมะบนเขา

วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







ความสงบแบบ "เห็นแจ้ง รู้จริง

ที่ผมปฏิบัตินั้นน่ะ อันนี้...วิธีที่เคลื่อนไหวนี้
ทำประโยชน์ให้ผม ผมจึงนำเรื่องนี้มาเล่าสู่ฟัง

ส่วนที่นั่งหลับตานั้นก็ดี แต่มัน(เป็น)ความสงบ(อีก)แบบหนึ่ง
มันไม่ใช่สงบแบบนี้

อันแบบนี้มันไม่ใช่เป็นความสงบ(แบบนั้น)
เป็นแบบการเห็นแจ้ง การรู้จริง
คือ สงบจากโทสะ สงบจากโมหะ สงบจากโลภ สงบจากกิเลส
สงบจากการยึดมั่นถือมั่น สงบจากสิ่งหลงผิด มันสงบไปอย่างนี้

จะว่าสงบก็ได้ ว่าไม่สงบก็ได้ครับเรื่องนี้ รับรองได้จริงๆ ครับ

ดังนั้น การตรัสรู้หรือการรู้ ที่พระพุทธเจ้ารู้มาจริงๆ นั้น ไม่ได้หายไปไหนครับ
ถ้าหากพวกเราศึกษาและปฏิบัติจริงๆ แล้ว มีอยู่ในคนทุกคน ไม่ยกเว้นครับ

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ






-ความจริงอยู่ตรงที่มันไม่จริง-
:::การปฏิบัติที่ให้ผลเร็ว:::

หลวงพ่อชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร)
วัดหนองป่าพง
ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

การทำกรรมฐาน ถ้าไม่รู้จักแล้วก็จะลำบาก บางคนก็ไม่เคยทำ เมื่อมาทำวันสองวันสามวัน มันก็ไม่สงบ มันก็เลยนึกว่า เราทำไม่ได้ เราต้องคิดว่า เมื่อเราเกิดมาเคยถูกสอนหรือยัง เราเคยทำความสงบหรือเปล่า เราปล่อยมานานแล้ว ไม่เคยฝึกเคยหัดมัน มาฝึกมันชั่วระยะหนึ่งอยากให้มันสงบ อย่างนั้นเหตุมันไม่พอ ผลมันก็ไม่มี เป็นเรื่องของธรรมดา เป็นเรื่องอันตัวเราท่านทั้งหลายจะหลุดพ้น ต้องอดทน การอดทนเป็นแม่บทของการประพฤติ
ให้เห็นกาย ให้เห็นใจ เมื่อรู้จักธรรมตามความเป็นจริงแล้วนั่น ความที่เรายึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) แต่ก่อนๆ มันจึงจะผ่อนออก เห็นตามความเป็นจริงของมัน อุปาทานมั่นหมายในความดีความชั่วทั้งหลายมันจะคลายออก คลายออก เห็นว่ามันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นของไม่แน่ไม่นอน ที่มันเกิดมีในจิตของเราทุกวันนี้นั้น ลองดูซิ ความรักมันแน่ไหม ความเกลียดมันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ ความสุขมันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ ความทุกข์มันแน่ไหม มันก็ไม่แน่ อันไม่แน่นั้น เรียกว่าของไม่จริง เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่ออันนี้มันไม่จริง ของจริงมันอยู่ที่ไหน ของจริงมันอยู่ที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น มันไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น มันจริงแต่สักว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้คือความจริง ความจริงอยู่ตรงที่มันไม่จริง อันความเที่ยงแย่ตรงที่มันไม่เที่ยง เหมือนกันกับของสกปรกมันเกิดมีขึ้น ความสะอาดอยู่ตรงไหน มันอยู่ตรงที่สกปรกนั่นแหละ เอาสกปรกออก ก็เห็นความสะอาดฉันใด จิตใจของเรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น







โยมถาม...หลวงปู่ครับ เป็นเพราะกรรมอันใดหรือ ทำไมหูผมจึงหนวก ผมเคยได้ทำกรรมอะไรไว้บ้างครับ?

หลวงปู่ชอบตอบ....แต่ก่อนเวลาพระกำลังเทศน์ มีญาติโยมนั่งฟังอยู่หลาย ที่ศาลาโรงธรรม แล้วบ่สนใจฟัง ซ้ำยังเป่าแคน ตีฉิ่ง ตีกลอง มารอบศาลาที่พระเทศน์ให้โยมฟังอยู่ แล้วเว้าหยอกผู้สาว เวลาผู้สาวเหลียวมากะพากันเฮ จนพระที่กำลังเทศน์อยู่เสียสมาธิ ทำให้ลืมคำเทศน์ ต้องตั้งนะโมขึ้นใหม่ตั้งเทื่อสองเทื่อ กรรมอันนี้จึงทำให้หูหนวก.


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 209 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO