Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

สิ่งที่ไม่ยาก

อาทิตย์ 21 พ.ค. 2017 5:06 am

"...เพราะว่าพระ ไม่ใช่เอาพระอรหันต์มาบวช เอาปุถุชนมาบวช โดยมากมันไหลไปทางกิเลส ไปทางต่ำ แต่บวชเข้ามาใหม่ๆ ก็เออ! เป็นผู้มุ่งหวังอรรถธรรม หวังทางพ้นทุกข์

แต่พออยู่ต่อมาน่ะ มองเห็นน่ะ มองเห็น"อดิเรกลาภ" มองเห็น "ศรัทธา" คนที่มานับถือเลื่อมใส พอมาเห็นจุดนี้แล้วก็นั่น พอจะได้สิ่งของอะไรก็แนะนำบอกกล่าวเขา ผลที่สุดก็นั่นแหล่ะ ศรัทธาญาติโยมก็ศรัทธา ผิดหรือถูกก็ไม่รู้เหมือนกันศรัทธาน่ะ

อย่างพระเจ้าอชาตศัตรูน่ะ ศรัทธาพระเทวทัตน่ะ พระเทวทัตบอกอะไรเชื่อหมด บอกให้ฆ่าพระพุทธเจ้าก็เอา จะต้องการนายขมังธนูหรอ เอ้า! จัดให้ ปล่อยช้างนาฬาคิริงหรอ เอ้าให้ อย่างนี้ล่ะเพราะว่า "ศรัทธา"

ศรัทธาคำนี้น่ะน่ากลัวนะ ถ้าศรัทธาไม่สัมปยุตด้วยปัญญา ศรัทธาที่ไม่รอบคอบ มีแต่ศรัทธาอย่างเดียวน่ากลัว ถ้าศรัทธานี่สัมปยุตด้วยปัญญา อันไหนผิดอันไหนถูก อันไหนควร มิควร อย่างไร นี่แหละ ถ้ามีสัมปยุตด้วยปัญญาแล้วก็ดี..."

เทศนาธรรมคำสอน..
พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก
วัดป่านาคำน้อย บ้านนาคำน้อย ต.บ้านก้อง อ.นายูง จ.อุดรธานี





"...สิ่งที่ให้ร้ายได้ที่สุดก็คือคำพูด ให้ดีที่สุดก็คือคำพูด ต้องระมัดระวังกันอย่างมาก เป็นสิ่งที่ให้โทษให้คุณมากที่สุดก็คือคำพูด

ท่านจึงว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ทั้งนี้้ก็เพราะปากเป็นหนึ่งในการแสดงออกแก่ผู้อื่นและสังคมนั่นเอง อย่าไปว่าคนอื่นเขา ตัวเรานั้น ดีแล้วหรือ..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน






“... ปุตฺตาคีเว บุตรบ่วงหนึ่งเกี่ยวพันคอ

ธนํปาเท ทรัพย์สมบัติผูกบาทากรอเหนี่ยวไว้

ภริยาหตฺเถ ภรรยาเยี่ยงอย่างปอรึงรัดมือนา

สามบ่วงนี้ ใครแก้ได้ จึงจะพ้นสงสาร ...”

โอวาทธรรมคำกลอน..
องค์หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ







"...ผู้ที่จะได้บรรลุธรรมในชาตินี้มีเหตุ ๓ ประการด้วยกัน

๑. ปุพเพกตปุญญตา พร้อมแล้วในบารมีที่ได้บำเพ็ญมาในชาติก่อน

๒. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ ในหมวดธรรมที่นำมาปฏิบัติถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้

๓. สัมมาวายามะ มีความเพียรต่อเนื่องกันในอริยาบททั้งสี่

ถ้าผู้มีเหตุ ๓ ประการนี้พร้อมแล้ว ผู้นั้นจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าขั้นใดขั้นหนึ่งในชาตินี้..."

โอวาทธรรมคำสอน...
องค์หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ







หลวงพ่อวัดท่าซุงตอบปัญหาธรรม
ตายมือกำพระ

ผู้ถาม :: หลวงพ่อเจ้าขา รถคว่ำตายไปในมือก็กำพระแน่นอยู่ วันนี้ลูกได้ถวายสังฆทาน จะมีโอกาสได้รับหรือเปล่าเจ้าคะ
หลวงพ่อ :: ตายเขาไปสวรรค์ก่อนแล้ว มือถือพระจิตนึกถึงพระอย่าลืมล่ะ ถึงแม้ไม่ถืออยู่ ถ้าออกจากบ้าน ก่อนออกจากบ้านก็กราบพระสัก ๓ ครั้ง ไม่ว่าอะไรเลย กราบพระด้วยความเคารพเฉยๆนะ หรือกราบไม่ทันแต่ยกมือไหว้ด้วยความเคารพแล้วก็ไป แล้วก็ลืมเรื่องล่ะ คุยกันเรื่องเฉื่อยไป แล้วไปตายแบบนั้นจะไปสวรรค์ทันที เพราะอารมณ์กุสลตอนเช้าที่ทำมันยังฝังใจอยู่ นั่นเขาถือพระอย่างนั้นไม่มีทางล่ะ ไปลิ่วเลย
ผู้ถาม :: บางทีมือซ้ายถือของอยู่ มือขวาไหว้มือเดียวได้ไหมครับ.?
หลวงพ่อ :: สองมือยกไม่ขึ้น ใจเคารพยังใช้ได้เลย






..=>คำสอนหลวงพ่อเรื่อง "คุณของพระกรรมฐาน"<=..

.. นี่การทรงฌานของเรานี่เราทรงได้
ทุกวัน ถ้าปฏิบัติแบบนี้ เราตื่นขึ้นมาเวลา
เช้ามืด ยังพอมีเวลา ยังไม่ต้องลุกขึ้นมา
อิริยาบถนั้นเปลี่ยนมันจะเคลื่อนจาก
สมาธิ "ก็จับองค์ภาวนาหรือพิจารณา
ต่อไป" จิตใจจะชุ่มชื่น

ถ้ามีอารมณ์แนบสนิททรงสมาธิได้ดี
วันนั้นทั้งวัน "ท่านจะมีแต่ความสุขใจ"
ท่านจะมีความเฉลียวฉลาดเป็นพิเศษ
การตอบปัญหาเฉพาะหน้าใดๆ จะได้
อย่างคล่องแคล่วอย่างคาดไม่ถึง

นี่ผลในการภาวนาและพิจารณา
มีผลอย่างนี้ นี่พูดให้ฟังถือว่า "การทรง
ฌานทุกวัน เราทำได้" ไม่ใช่ทำไม่ได้
ทำแบบนี้ได้ทุกๆ วัน เพราะการงานมาก
ไม่ต้องไปนั่ง การนั่งก็เหมือนกัน

ไปนั่งเก้าอี้ นั่งห้อยขา นั่งบนเตียง
นั่งที่ไหนมันก็ได้ ไม่ต้องไปเลือกอิริยาบถ
ไม่ต้องไปเลือกอาการของการนั่ง ไม่ใช่
ต้องไปนั่งพับเพียบ หรือว่านั่งขัดสมาธิ
เสมอไป อันนี้ไม่จำเป็น

นี่หากเวลานั่งอยู่ ถ้าเราเมื่อย
ถ้าพับเพียบก็เปลี่ยนจากขวาไปซ้าย
ซ้ายไปขวา อย่างนี้ก็ทำได้ หรือจะนั่ง
ขัดสมาธิ นั่งขัดสมาธิไม่ชอบใจ
มานั่งพับเพียบ นั่งพับเพียบมันไม่ไหว
ร่างกายมันทำงานมาทั้งวัน

มันต้องการพักผ่อนก็ไปนั่งบน
เก้าอี้นอนเหยียดขาสบาย เอนกายลงไป
"ใจจับอยู่ในด้านสมาธิ หรือวิปัสสนา
ญาณ" อย่างนี้ก็มีผลเหมือนกัน เพราะ
"เราไม่ได้ฝึกกายนี่เราฝึกใจ"

เราฝึกใจฝึกไปไหนล่ะ "นี่จุดที่เราฝึก
เพื่อตายกัน" เพราะว่าถ้าจิตเราเป็นสมาธิ
เราทรงอยู่ในด้านวิปัสสนาญาณอย่างใด
อย่างหนึ่ง ถ้าตายแล้วจิตมันก็คบเอา
อารมณ์นี้ไปด้วย

มันคบอารมณ์สมถภาวนาและ
วิปัสสนาไปจิตมันก็ลงต่ำไม่ได้ มันไป
เบื้องสูง

"อย่างเลวที่สุดเราก็เป็น เทวดา
ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นฌานเราก็เป็น พรหม
ถ้าจิตวาง อวิชชา คือ ขันธ์ ๕ เสียได้
แล้วเราก็ไป พระนิพพาน"

มันก็ไม่ยาก ความจริงมันไม่มีอะไร
ยาก นี่สำหรับการเจริญกรรมฐาน ..

(พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
ที่มาจาก.. ธัมมวิโมกข์ เล่มที่ ๔๒๒ หน้าที่ ๗๕-๗๖





" เขาจะอยู่ เขาจะตาย เขาจะดี เขาจะชั่ว
... เขาจะทำอะไรให้กับเรา
... หรือไม่ทำอะไรให้กับเรา
... ก็ไม่ใช่เรื่องของเรา

... เรื่องของเราก็คือ ...
เราอย่าไปอยากได้อะไรจากเขาก็แล้วกัน
ถ้าเราไม่ต้องการ ไม่อยากได้อะไรจากเขา...เราก็จะไม่ทุกข์กับเขา "

โอวาทธรรม : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ตอบกระทู้