Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ยึดมั่นสิ่งใด

พฤหัสฯ. 15 มิ.ย. 2017 5:44 am

"...การลงทุนแต่เพียงเล็กน้อย ด้วยความเสียดายเรี่ยวแรง แต่ต้องการผลกำไรล้นโลกล้นสงสาร นั่นเป็นทางเดินของโมฆบุรุษโมฆสตรี ผู้เตรียมสร้างป่าช้าไว้เผาตัว และนอนจมอยู่ในกองทุกข์..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพระอาจารย์ปู่มั่น ภูริทัตโต





"...ยึดมั่นสิ่งใด! ก็ไม่เห็นความจริงของสิ่งนั้น
เพราะความยึดมั่นปิดบังเสีย

พอเอาความยึดมั่นออก
ความไม่ยึดมั่นก็เป็นปัญญา
ทำให้เห็นความจริง ของสิ่งนั้นทันที..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพุทธทาสภิกขุ






“...ไปวัดนั้นว่าเป็นอย่างนั้น ไปวัดนี้ว่าเป็นอย่างนี้ ไปดูพระองค์นั้นเป็นอย่างนั้น พระองค์นี้เป็นอย่างนี้ ตัวเองเป็นอย่างไรไม่คิดบ้างเลย

มันได้ประโยชน์อะไร ไปหาดูแต่นอกๆ ไม่สนใจดูตัวเอง

เท้าสะดุดรากไม้ หัวตอ อยู่ตลอดเวลา จนล้มลุกคลุกคลาน ไม่ดูเท้าที่สะดุด ดูแต่ต้นไม้ภูเขา ดินฟ้าอากาศโน่น อวกาศโน่น แต่หัวตอ ที่จะให้โดนสะดุดหัวแม่เท้าอยู่ ไม่สนใจดู

ความผิดมันอยู่กับเจ้าของ ไม่ได้อยู่ที่รากไม้หัวตอ จึงควรดูเจ้าของ มากกว่าดูสิ่งอื่นใด...”

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปัณโณ







"...พระพุทธเจ้าว่าสติยับยั้งพญามาร มารคือตัวอวิชชานี่แหละ! คือ สภาพมืด ทุกข์ยิ่งใหญ่ เกิดจากโง่ เพราะจิตเกิดอำนาจมืดมาบัง เหมือนพระอาทิตย์ถูกเมฆบัง ถ้าพระอาทิตย์แจ่มแจ้งแล้ว เมฆบัง เช่นฤดูฝนก็ไม่มี

ถ้าเจริญพุทธธรรมได้ ก็เหมือนกับมีพายุมาปัดเป่าเมฆที่บังให้โล่งแจ้งหมดปัญหา หมดความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความเห็นผิดมันจะหายไป ดับทุกข์ได้สบายเสียแล้ว จะไปสงสัยอะไร..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต






"...กำไรก็ชอบ ขาดทุนก็ไม่ชอบ
ได้เปรียบก็ชอบ เสียเปรียบก็ไม่ชอบ
ชนะก็ชอบ แพ้ก็ไม่ชอบ

มันก็เป็นคู่ๆ ไม่รู้สักกี่ร้อยคู่
เป็นคนที่ติดอยู่ในความหมายของสิ่งที่เป็นคู่
มีจิตใจไม่ปกติ ไม่เป็นอุเบกขา มันก็เป็นทุกข์แหละ..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพุทธทาสภิกขุ





"..อย่าเป็นอะไรเลย สบาย! ความสบายอยู่ตรงที่เราไม่ต้องเป็นอะไร เราไม่ต้องเอาอะไร ภาวนาจนไม่มีความรู้สึกว่าได้กำไรหรือขาดทุนจากการปฏิบัติ มีความรู้สึกราบรื่น

สิ่งภายนอกขึ้น ๆ ลง ๆ แต่เราก็ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตาม เราอยู่ด้วยความวางเฉยของผู้รู้เท่าทัน อาการแห่งความสุขก็มีอยู่ อาการแห่งความทุกข์ก็มีอยู่ แต่มันอยู่ข้างนอก มันไม่ได้เข้าไปถึงใจของเรา.."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพระอาจารย์ชยสาโร







"คนเรานี่ เวลามีภัยคุกคาม
มีทุกข์บีบคั้น ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย
พอสุขสบาย ก็นอนต่อไป

พระพุทธศาสนา
ก็จึงต้องย้ำด้วยความไม่ประมาท
เพราะว่า เมื่อสบายแล้ว คนโน้มเอียง
จะประมาท

ใครทั้งๆ ที่สุขสบาย ก็ไม่ประมาทได้
ก็คนนั้นแหละ เป็นคนที่ปฏิบัติธรรมได้ผล"

-:-สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์-:-







ผมเป็นห่วงหมู่เพื่อน มาอยู่ก็หลายปีหลายเดือน จะไม่ได้อะไรติดจิตติดใจไปเลยมีอย่างเหรอ พยายามแนะนำสั่งสอน ผมถือเป็นสำคัญกับพระ ถึงจะลำบากลำบนแค่ไหนก็ตาม จิตใจผมไม่เคยห่างเหินจากพระจากเพื่อนฝูงที่ได้มาอยู่ด้วย เราเห็นใจที่มาทั้งใกล้ทั้งไกลมาเพื่อเรา เราจึงต้องคิดเพื่อท่านผู้มาทั้งหลายให้สมดุลกันเหมาะสมกัน พอเทศนาว่าการอบรมสั่งสอนในแง่ใดอันใดแล้วเราต้องสั่งสอน ผิดถูกประการใดเราพูดตามเหตุตามผลไปเลย เทศน์ให้เข้าใจเพราะผู้มามาด้วยความตั้งใจ

ไอ้เรื่องโลกๆ เลกๆ อะไร เรื่องที่จะกระทบกระเทือนจิตใจซึ่งกันและกันนั้น เป็นเรื่องโลกไม่เอาเข้ามาเกี่ยวข้องในวงปฏิบัติ ผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมแล้วจะไม่มีเรื่องเหล่านี้เข้ามาอยู่ในใจเลย นอกจากเหตุผล ใครพูดผิดพูดถูกประการใด ยึดเอาตามหลักเหตุผลแล้วเป็นพอ ไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อยไม่สำคัญ สำคัญที่เหตุผลคือหลักธรรม ให้ยึดเอาตรงนั้น เมื่อต่างคนต่างมุ่งต่อธรรมแล้ว ความอยู่ด้วยกันก็สบาย เหมือนอวัยวะเดียวกัน

ใครพูดไม่ได้ถืออะไร ถืออะไร ถือประโยชน์อะไรความถูกต้องมีอยู่ เรามาหาความถูกต้อง ต้องยึดเอาความถูกต้องซิ ใครพูดออกมาก็ตาม ใครแสดงกิริยาอาการอะไรออกมาก็ตาม เมื่อถูกต้องแล้วยึดเอาเลย ตรงนั้นเป็นจุดที่เหมาะสมเป็นจุดที่ถูกต้อง สำหรับผู้มุ่งมาหาอรรถหาธรรม ไม่ได้มุ่งมาหาทิฐิมานะเพื่อสั่งสมกิเลสกระทบกระเทือนซึ่งกันและกัน ดังที่เห็นๆ อยู่นั้น อย่าให้มีสำหรับวัดป่าบ้านตาด เพราะหยาบเหลือเกิน หยาบเกินกว่าที่จะชำระ

ให้ดูเจ้าของนี่ มันเกิดอธิกรณ์อยู่ภายในจิตใจเจ้าของ ให้แก้ตรงนี้ อันนี้แหละเรื่องใหญ่สำคัญ ให้แก้ตรงนี้ อย่าไปให้มันเกี่ยวข้องกระทบกระเทือนกับผู้ใด ที่มันเกี่ยวข้องกับตัวมันก็พอแล้ว ให้แก้ตรงที่มันเกี่ยวข้องกับตน มีการกระทบกระเทือนอะไรภายในตน ระหว่างกิเลสกับธรรม ธรรมมักจะแพ้เสมอ สติไม่ทัน ปัญญาไม่ทัน ดีไม่ดีไม่คิดไม่อ่านไม่พิจารณาว่าตัวผิด วันหนึ่งๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับผู้ใดแหละ ระหว่างผิดนั่นแหละคือกิเลสได้ท่าแล้ว สติปัญญาไม่ทัน เอาให้ทันซิ มันคิดเรื่องอะไรบ้าง เราตามจ้ออยู่ตลอดเวลามันจะไปไหนจิต มันยอมจำนน ยอมจำนนจนได้
เอาละ

พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๑





"เวลาของเรา
เหลือน้อยลงทุกที
อย่าประมาท"

-:-หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน-:-







"ส่วนมาก
เขาจะว่าดี ก็ต่อเมื่อ
เขาได้รับประโยชน์
จากการกระทำของเรา

ถ้าเขาไม่ได้
แต่ไปได้กับผู้อื่น
เราก็เป็นคนดี
ที่เขาไม่ต้องการ"

-:-ท่านพุทธทาสภิกขุ-:-







โลกวิทู รู้แจ้งโลก โลกคืออะไร โลกก็คือโลกแห่งขันธ์นี้เอง กิเลสมีอยู่กับจิต ก็เป็นโลกตามขั้นของโลก ตามขั้นของธรรม เมื่อหมดไม่มีอะไรเหลือภายในจิตแล้ว นั้นแหละหมดแล้วเรื่องโลกเรื่องสมมุติ หมดโดยประการทั้งปวง นี่ท่านอยู่กับสมมุติ พิจารณาไปตามเรื่อง ท่านจึงต้องเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาเพื่อเป็นวิหารธรรม ความอยู่สะดวกสบายระหว่างขันธ์กับจิตที่ครองตัวอยู่ไปเท่านั้น ท่านไม่มีอะไรที่จะต้องถอดถอนกิเลสตัวนั้นตัวนี้เหมือนแต่ก่อนมา เจตนาอันนี้ผิดกัน เป็นวิหารธรรมไปเสีย

เราเคยสงสัยท่านอาจารย์มั่นแต่ก่อน เราถึงได้ยอมไปกราบท่านเสียสนิทเลย ในขณะที่ท่านอยู่บ้านภู่ยังไม่ได้ไปสกลฯเลย บางทีลักษณะเหมือนจะครางอี๊ ๆ แอ๊ ๆ ขณะนี้ท่านอาจารย์ท่านจะมีเผลอบ้างหรือไม่นา จิต คิดนิดหนึ่งนะไม่ได้คิดมาก มีนิดแต่จำได้ไม่ลืม ท่านบางทีเป็นลักษณะเหมือนจะครางอี๊ ๆ แอ๊ ๆ แต่นิด ๆ เท่านั้น พอให้เราจับเอามาพิจารณาเท่านั้น ไม่ได้มากมาย บทเวลาพิจารณาไป ๆ เข้าใจเท่านั้นเอง โอ้โหตาย ๆ ไปกราบท่านอย่างสนิทเลย กราบขอขมาโทษท่าน อันนี้เป็นเรื่องของขันธ์ ที่มีลักษณะอี๊ ๆ แอ๊ ๆ บ้างเป็นเรื่องของขันธ์ คิดดูซิไฟไหม้กอไผ่นั้นเสียงมันระเบิดปึ้งปั้ง ๆ มันเป็นยังไง มันมีหัวใจไหมล่ะ หรือโยนใบไม้สดเข้าใส่ในไฟนี้ เวลามันไหม้มันงอหงิกบิดโน้นบิดนี้เหมือนมีหัวใจ แล้วมันทราบความหมายมันไหม

เรื่องของขันธ์กับทุกขเวทนาที่บีบบังคับกันก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ทุกขเวทนานั้นเป็นเหมือนไฟ ธาตุเช่นปฐวีธาตุ คือกองรูปนี้ก็เหมือนกับฟืน เวลามันบีบบังคับกันเข้าก็มีลักษณะอาการอย่างนั้นบ้างเป็นธรรมดา จิตท่านไม่มีส่วนมาเกี่ยวข้องเลย ลงถึงขั้นนั้นแล้วไม่มีทาง เราเชื่ออย่างนั้น จึงยอมกราบท่าน ที่นี่ โอ้โห เราทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เราขอกราบท่านอย่างสนิทเลย ได้เห็นโทษเห็นภัยของตน แม้แต่คิดต่อครูบาอาจารย์เพียงนิดหนึ่งเท่านั้นก็ตาม แสดงว่าเป็นความผิดของตัวเองแท้ๆ ยอมกราบขอขมาโทษท่านอย่างราบเลย เพราะมันผิดนี่

ไปคิดเอาขันธ์ของท่านไปใส่จิตของท่าน มีปัญหาอะไรกำลังอย่างนั้น จะตายแบบไหนก็ตายซิ เช่น ตกต้นไม้ ควายชน อุบัติเหตุแบบไหนก็แบบเถอะ มันก็เรื่องของขันธ์แตกธรรมดา ความบริสุทธิ์ของใจก็คือความบริสุทธิ์ อรหันต์ก็คืออรหันต์อยู่ที่ใจอยู่ตลอดเวลาอกาลิโกแล้ว จะไปได้ไปเสียอะไรกับเรื่องธาตุขันธ์ตายโดยอาการต่าง ๆ กันอย่างนั้นล่ะ เราเชื่อไม่มีความสงสัย เชื่อในใจนี้ละมันถึงเหมาะดี เอาให้ถึงความจริงแล้วเชื่อได้ด้วยกันทั้งนั้นละไม่มีสะทกสะท้าน ให้เต็มภูมิของมันแล้วไม่สะทกสะท้าน สบาย

ถึงเวลาที่จะพูดจะจาหนักเบากับผู้ใดก็ตามก็พูดไปเสีย เมื่อพูดไปแล้วก็หายพร้อมๆ ไปเสีย ไม่มีความอยากความหิวความโหยกระหายอะไร อยากเทศนาว่าการให้คนนั้นฟังคนนี้ฟังอะไร อยากคิดประกาศศาสนาอย่างโน้นอย่างนี้ มันบ้า ให้เป็นไปตามเหตุตามผลเป็นไปเอง เพราะมีเรื่องความอยากเข้าไป ความอยากคือความบกพร่องนี่ จิตอันนั้นมีความบกพร่องที่ไหน เป็นความเสมอตัวตลอดเวลา เมื่อเป็นไปแล้วด้วยเหตุด้วยผลที่ควรจะพูดหนักเบามากน้อยเพียงไรมันเป็นไป เอง เมื่อจบอันนั้นแล้วก็หายเงียบไปเลย ไม่มีอารมณ์กับสิ่งใดทั้งหมด เพราะฉะนั้นถึงว่าไม่มีอดีตอนาคต เพราะท่านไม่ยึดอะไรทั้งนั้น อดีตก็ไม่ยึด อนาคตก็ไม่ยึด ปัจจุบันก็รู้เท่า ไม่ติดอะไรทั้งหมด นั่นฟังซิ จะไปหลงอะไร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากอะไร ถ้าไม่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจิตตภาวนาเป็นหลักสำคัญ นี่แหละงานนี้เป็นงานสำคัญงานชิ้นเอกของพระเรา ขอให้สนใจงานของตน อย่าลืมงานอันนี้ อย่าลืมตัว ไปไหนอย่าลืมงานอันนี้ งานนี้งานพระพุทธเจ้าทรงชมเชย พระพุทธเจ้าเป็นเอกเพราะงานนี้ สาวกเป็นเอกเพราะงานนี้ ไม่ใช่งานอื่นใดพาให้เป็นเอกวิเศษ

พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๑








“พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัพพะ ปาปัสสะ อะการะนัง อย่าทำบาปทั้งปวงเลยนะ กุสะลัสสู ปะสัมปะทา ให้พากันทำบุญเถิด สะจิตตะ ปะริโยทะนัง ให้พากันทำสมาธิ เอตัง พุทธา นะสาสะนัง นี่แหละ คือคำสอนพระพุทธเจ้า
ขอให้พวกเรา พากันจดจำ ธรรมะคำสั่งสอน ขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพากัน ปฏิบัติตาม ตลอดระยะเวลา เราก็จะได้บุญกุศล ให้แก่ตนเอง และมีความสุข ความสบาย ทุกภพทุกชาติ”

พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)






"ปฏิบัติบูชาอีกข้อหนึ่งที่คนคาดเดาไม่ถึงคือ อย่าทำลายน้ำใจพ่อแม่ อย่าทำลายน้ำใจครูบาอาจารย์ อย่าทำลายน้ำใจผู้มีพระคุณ"
คำสอน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม จากเรื่องธรรมวิสาขบูชา หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๙






ทุกคนย่อมมีเหตุผลของตนเอง
แต่เหตุผลจะไปในรูปไหนทางใด
นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง.
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)
ตอบกระทู้