Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

สักว่าแต่รู้

อาทิตย์ 25 มิ.ย. 2017 5:45 am

...คำว่าสมาธิกับคำว่า
"สักแต่ว่ารู้"..นี้ไม่เหมือนกัน
อยู่ในสมาธิ..ก็สักแต่ว่ารู้
ออกจากสมาธิก็..สักแต่ว่ารู้ได้
.
...คือให้รู้เฉยๆ
เห็นอะไรก็อย่าไปคันไม้คันมือขึ้นมา
เห็นแล้วก็..ปล่อยวางๆ ก็สักแต่ว่ารู้ไป
.
...ใครด่าก็..สักแต่ว่ารู้
ใครชมก็..สักแต่ว่ารู้
"ไม่มีปฏิกิริยากับสิ่งที่รับรู้"
.........................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา วันที่ 7/2/2558
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี








"ไม่ได้อยู่ที่เพศ แต่อยู่ที่ธรรม"

ถาม : หญิงกับชายใครมีโอกาสได้มรรคผลมากกว่าคะ

พระอาจารย์ : ใครมีธรรมะมากกว่า มีกิเลสน้อยกว่า คนนั้นก็มีโอกาสได้มรรคผลมากกว่า ไม่ได้อยู่ที่เพศ แต่อยู่ที่ธรรม ใครมีสติ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญามากกว่า คนนั้นก็มีโอกาสที่จะได้มรรคผลนิพพานมากกว่า เพศนี้ไม่เกี่ยว หญิงก็บรรลุได้ ชายก็บรรลุได้ เด็กก็บรรลุได้ ผู้ใหญ่ก็บรรลุได้ อยู่ที่ว่ามี ศีล สมาธิ ปัญญาหรือไม่.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต








"พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาองค์เอก ท่านทรงเดินจงกรมอยู่ตลอดวันปรินิพพาน มีในตำรับตำรา พระสาวกอรหัตอรหันต์ท่านทั้งๆ ที่ท่านสิ้นกิเลสแล้วทั้งนั้น ท่านก็เดินจงกรมอยู่จนกระทั่งวันปรินิพพานเช่นเดียวกันหมด ไม่มีใครที่จะเห็นว่าได้มรรคได้ผลเป็นที่พอพระทัยและเป็นที่พอใจแล้วการเดินจงกรมไม่จำเป็น ท่านหากจำเป็นของท่านในแง่หนึ่งที่เราผู้เป็นคลังกิเลสไม่สามารถที่จะทราบได้นั้นแล ทราบได้เฉพาะท่านผู้สิ้นกิเลส ว่าการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างไรกับจิตใจและธาตุขันธ์ของท่าน เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่และมีชีวิตอยู่ ท่านทราบของท่านได้ดี และความชุ่มเย็นระหว่างขันธ์กับจิตที่จะสืบต่อกันไปให้ยืดยาวนานพอถึงกาลอายุขัย ขึ้นอยู่กับอะไรท่านก็ทราบ เรื่องการเดินจงกรมนั่งสมาธินี้เป็นโอสถสำคัญทั้งนั้นสำหรับท่านจะดำเนินไม่ละไม่ถอย เป็นเพียงผิดกันกับพวกเราที่มีกิเลสอาสวะหนักเบามากน้อยเท่านั้น
.
ภาวนาของพวกเราเดินจงกรมนั่งสมาธิของคนมีกิเลส จึงต้องเดินเพื่อแก้เพื่อไขเพื่อถอดเพื่อถอนเพื่อชำระกิเลสตามประเภทที่มีอยู่ของตน จนกระทั่งถึงให้ผ่านพ้นไปได้ นี่เจตนามีต่างกันอย่างนี้เท่านั้น สำหรับผู้สิ้นกิเลสแล้ว ท่านไม่มีเจตนาที่จะแก้ไขถอดถอนกิเลสตัวใด เป็นเรื่องระหว่างขันธ์กับจิตปฏิบัติต่อกันเท่านั้น จิตเมื่อจะครองธาตุครองขันธ์ไปนาน ก็ต้องมีการปฏิบัติเยียวยารักษากัน เหมาะสมในทางใดก็ต้องนำทางนั้นมาปฏิบัติ เช่นเดินจงกรมเป็นวิธีการบำบัดรักษาอย่างหนึ่ง นั่งสมาธิภาวนาเป็นวิธีบำบัดรักษาระหว่างขันธ์กับจิตที่อยู่ด้วยกันนี่ประการหนึ่ง สำหรับผู้มุ่งสิ้นกิเลสความเพียรทุกประโยคมีแต่ทุ่มลงไปเพื่อฆ่ากิเลสทั้งนั้น นี่ต่างกันที่ตรงนี้"

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓






“...สังขารา ปรมา ทุกขา สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ตามพระพุทธเจ้าท่านว่า เราไม่มาอีก เพราะสังขารมันเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความแก่ ทุกข์เพราะความเจ็บ ทุกข์เพราะความตาย ไม่มีที่สิ้นสุด แม้เรานั่งอยู่อย่างนี้ก็ยังเป็นทุกข์ ทำงานก็เป็นทุกข์ ได้อะไรมามาก ๆ ก็เป็นทุกข์ ของที่ได้มามันไม่ทุกข์แต่สังขารสิมันเป็นทุกข์ มีที่สิ้นสุดอยู่ตรงไหน ดังนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงได้ผุดขึ้นมาว่า “อนิจจา วะตะ สังขารา” สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง พวกเราที่จะเป็นไปในข้างหน้า เวลาไหนมันจึงจะสิ้นสุด หอบกันไปแล้วก็หอบกันมา หาที่สิ้นสุดไม่ได้เพราะมันยังมีเชื้ออยู่ กรรมเป็นไร่นา วิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็นยาง เป็นเชื้อ บุญกุศลเราก็ทำกัน ทำทาน รักษาศีล ซึ่งมีอานิสงส์ทำให้เราไปเกิดเป็นอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง แต่ความสิ้นสุดแห่งทุกข์มันไม่มี มันบุญต่อบุญ ก็เหมือนพวกเราที่ทำกันนี้ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ไปแล้วกี่พระองค์ เราก็ยังอยู่ตามเคย ยังไม่ได้สำเร็จตามพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสรู้แล้ว ก็เพราะเชื้อมันยังมีอยู่ ก็เพราะยางมันมีอยู่ ก่อนที่มันจะเหือดแห้งไปได้ก็จะต้องอาศัยความตั้งมั่นเป็นสมาธิ เกิดปัญญาญาณที่จะรู้ตามเหตุในผลในตัวของตัวเอง แล้วก็จะได้ดับเหตุ ทำยางอันนั้นให้มันแห้งไป จึงจะสิ้นสุดการไปและการมา....
” พระธรรมเทศนาอบรมภาวนาโดยหลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก







"เฉยๆ แล้วทุกข์จะไม่เกิด"

ความทุกข์ไม่ได้ดับไปจากการที่เราไปทำไปแก้สิ่งที่เราอยาก ถ้าเราไปแก้ที่ความอยาก เราหยุดความอยาก เราปล่อยให้สิ่งที่เราอยาก เป็นอะไรก็เป็นไป จะไปก็ไป จะอยู่ก็อยู่ จะไม่มาอยากให้อยู่หรืออยากให้ไป ใจก็จะไม่ทุกข์ ใจก็ดับทุกข์ได้ เพราะใจเห็นด้วยปัญญาเห็นด้วยมรรค ว่า เขาจะไปก็ไปห้ามเขาไม่ได้ เขาจะอยู่ก็ไปห้ามเขาไม่ได้ เขาจะด่าก็ห้ามเขาไม่ได้ เขาจะชมก็ห้ามเขาไม่ได้ นี่เรามองไม่เห็นตัวนี้ พอใครด่าขึ้นมาปั๊บนี่ ขึ้นเลย พอใครชมปั๊บนี่ ขึ้นเหมือนกัน ขึ้นอีกทาง ลอย ลอยขึ้นไปบนฟ้า ยิ้มแป้น พอใครด่าปั๊บก็หน้าคว่ำหน้างอ เพราะอยากให้เขาไม่ด่า อยากให้เขาชม แต่ถ้าเข้าไปถึงข้างในแล้วจะรู้ว่า อยากไม่ได้ อยากให้เขาชมก็ไม่ได้ อยากให้เขาไม่ด่าก็ไม่ได้ ต้องเฉยๆ ต้องเฉยๆ แล้วทุกข์จะไม่เกิด เขาด่าก็เฉยๆ เขาชมก็เฉยๆ ทุกอย่างก็เหมือนกัน เงินทองก็อยากไม่ได้ อยากให้มาก็ไม่ได้ อยากให้อยู่กับเราไม่จากเราไปก็ไม่ได้ เวลามันจะมามันก็มา เวลามันจะไปมันก็ไป เราต้องเฉยกับการมากับการไปของมัน ถ้าเราไม่เข้าข้างในเราจะเฉยไม่ได้ ถ้าใจเราเข้าข้างในแล้วเราจะเฉยได้ เพราะใจเราสงบใจเรามีความสุข เราไม่ต้องใช้เงิน เราไม่ต้องใช้คนนั้นคนนี้มาให้ความสุขกับเรา เขาจะไปก็ไป เขาจะมาก็มา เรามีความสุขเท่าเดิม เรามีความสุขจากอัปปนาสมาธิ จากความสงบของใจ ที่เป็นความสุขกว่าความสุขที่เราได้จากเงินทอง ความสุขที่เราได้จากคนนั้นคนนี้ ความสุขที่ได้จากยศฐาบรรดาศักดิ์ ความสุขที่ได้จากคำสรรเสริญเยินยอ มันสู้ความสุขที่ได้จากความสงบไม่ได้.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







หลวงปู่ ตอบปัญหา
พระบางรูปสอนว่าพุทโธพาเราไปได้แค่พรหม

โยม : หลวงปู่ครับผมได้ยิน พระบางรูปหรือ
อาจารย์บางท่าน สอนว่าพุทโธพาเราไปได้
แค่พรหมไม่สามารถพาเราไปนิพพานได้
นี่ถูกต้องไหมครับ

หลวงปู่ : คุณดูนั้น (ท่านชี้มือไปที่ต้นสะเดา
ข้างอุโบสถ) คุณว่าต้นมะขามที่ขึ้นอยู่ข้าง
ต้นสะเดา มันจะกลายเป็นต้นสะเดาได้ไหมหล่ะ

โยม : ไม่ได้ครับหลวงปู่

หลวงปู่ : หือ ไม่ได้หรอ เอาใหม่นะ ถ้าต้นมะขาม
ออกใบ ออกดอก ออกผล แล้วร่วงหล่นลงมาที่
โคนของต้นสะเดา ย่อยสลายกลายเป็นธาตุอาหาร
ในดิน รากของต้นสะเดาก็ดูดเอา ปุ๋ยนั้นไปหล่อ
เลี้ยงลำต้น ออกเป็นใบสะเดา ดอกสะเดา ผลสะเดา
ผลสะเดาก็ตกลงมาเป็นต้นสะเดาเล็กๆ หลวงปู่
ถามคุณอีกครั้งว่า มะขามกลายเป็นสะเดาได้ไหม

โยม : ได้ครับผมหลวงปู่

หลวงปู่ : เออ พุทโธ ที่คุณว่า ไม่พาคุณ
ไปนิพพานหรอ แต่คุณต้องอาศัยพุทโธ
พาคุณไปนิพพาน นิพพานหน่ะประตู
ไม่กว้างนะและก็ไม่แคบ พอดีตัวคุณเลยหล่ะ
คุณจะเอาอย่างอื่นเข้าไปด้วยไม่ได้
บุญก็เข้าไม่ได้ บาปก็เข้าไม่ได้ ศีลก็เข้าไม่ได้
ธรรมก็เข้าไม่ได้ พุทโธก็เข้าไม่ได้
คุณต้องทิ้งหมด ทั้งดีทั้งชั่ว เข้าไปแค่
ตัวคุณคนเดียว พุทโธ เป็นบาทเป็นฐาน
เป็นสมถะที่เข้าสู่ วิปัสสนา

วิปัสสนาตัวปัญญานั้นถึงจะพาคุณ
ตัดกิเลสได้ แต่วิปัสนาของคุณต้อง
อาศัยพุทโธ อาศัยสมถะ วิปัสนาเป็นรถ
สมถะเป็นน้ำมัน รถที่ขาดน้ำมัน มันจะวิ่ง
ไหมหล่ะ พองหนอ ยุบหนอก็ดี
นะ มะ พะ ธะ ก็ดี สัมมาอรหังก็ดี
ล้วนแต่เป็นปุ๋ยให้พระนิพพาน
เหมือนกันหมด เหมือนต้นมะขาม
ที่กลายเป็นสะเดานั้นไง เข้าใจนะ

โอวาทธรรม หลวงปู่หา สุภโร








เรื่องการถวายของพระที่ควรศึกษาไว้...

ถาม : การใส่บาตรและการถวายอาหารแด่พระควรเป็นอาหารสด แต่ถ้าบางคนการถวายมาม่าหรือของแห้งที่จะต้องเอาไปประกอบอาหารใหม่จะบาปหรือไม่

ตอบ : ไม่บาปหรอก เพียงแต่ว่าพระท่านเก็บไว้ไม่ได้ อาหารที่เป็นอาหารนี้ ท่านเก็บไว้ได้เพียงแค่ช่วงระยะเที่ยงวันเท่านั้นเอง หลังจากเที่ยงวันแล้ว ส่วนที่เป็นอาหารนี้ ท่านต้องสละไปหมด เพราะพระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้พระสะสมของไว้ในกุฏิของตน แต่ทรงอนุญาตให้สะสมไว้ในคลังของวัดได้ เช่นถ้าญาติโยมอยากจะถวายของให้เก็บไว้นานๆ อย่าไปใส่บาตร อย่าไปประเคนกับมือ

อย่างที่อาตมารับของนี้ ส่วนใหญ่จะให้วางไว้เฉยๆ ถ้าญาติโยมวางไว้เฉยๆนี้ ถือว่าพระยังไม่ได้รับประเคน พระยังเอาไปใช้ไม่ได้ แต่เก็บไว้ได้ตลอดเวลาไม่มีวันหมดอายุ เวลาต้องการจะใช้ก็ให้ลูกศิษย์หยิบมาประเคนให้ จึงจะใช้ได้ แต่ถ้ารับประเคนด้วยมือเอง ของมันจะมีอายุ

ของนี้ท่านแบ่งไว้ ๓ ชนิดด้วยกัน ชนิดอาหารนี้มีอายุแค่ถึงเที่ยงวัน หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ถึงแม้รับตอนนี้ก็หมดอายุทันทีเลย ใครถวายมาม่า ถวายปลากระป๋องมา รับปั๊บนี้ก็ต้องสละแล้ว เก็บไว้กินพรุ่งนี้ไม่ได้ เรียกว่า อาหาร ดังนั้นถ้าของเป็นอาหารอยากจะถวายพระให้เก็บไว้นานๆ เอาวางตั้งไว้เฉยๆ ตั้งไว้ตรงหน้าก็ได้ บอกขอถวาย อันนี้ก็ได้เท่ากับถวายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องทำให้มันถูกพระวินัย พระยังไม่ถือว่าเป็นของของตน เป็นของของส่วนกลางอยู่ ของสงฆ์ แต่เวลาต้องการจะใช้ค่อยให้ลูกศิษย์มาประเคน เอาไปเก็บไว้ที่กุฏิไม่ได้ ต้องเก็บไว้ที่ที่เก็บของของวัด วัดจะมีที่ที่เก็บของส่วนกลางไว้ ของทั้งหมดที่ไม่ได้รับประเคนก็ให้เอาไปไว้ที่นั่น เวลาจะใช้ค่อยให้ลูกศิษย์เอามาประเคนให้อีกที พวกอาหารก็มีอายุเพียงครึ่งวัน เช้าถึงเพล

พวกที่เรียกว่าเภสัช คือพวกน้ำตาล น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส น้ำผึ้งนี้ ท่านอนุญาตถ้ารับประเคนนี้ท่านให้เก็บไว้ได้ ๗ วันและฉันได้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงถือว่าเป็นยา สมัยก่อนเขาคงกินพวกยา พวกนี้รักษาอาการเจ็บท้องปวดท้อง มันคงจะไปเคลือบกระเพาะหรือไปทำอะไร ท่านก็เลยอนุญาตให้มีเภสัช ๕ ชนิดด้วยกัน พวกนี้เก็บไว้ได้ไม่เกิน ๗ วัน พอหลังจาก ๗ วันแล้วถ้ายังมีเหลืออยู่ก็ต้องสละให้คนอื่นไป สละให้กับพระด้วยกันไม่ได้ ต้องสละให้ฆราวาสญาติโยมไป ลูกศิษย์ลูกหาไป หรือเอาไปทำบุญทำทานไป

แล้วชนิดที่ ๓ เรียกว่า ยาจริงๆ เช่นยาแก้ปวดหัว ปวดท้อง ยาอะไรต่างๆ เหล่านี้ รับประเคนแล้วก็เก็บไว้ได้ตลอดเวลาเก็บไว้ที่กุฏิด้วย เพราะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะได้หยิบได้ทันถ่วงที ถ้าเป็นยานี้ถวายได้ตลอดเวลา และเก็บไว้ได้ตลอดเวลาไม่มีวันเสื่อม นอกจากตามที่เขาเขียนไว้ที่ในสลาก เสื่อมไปตามวันที่เขาเขียนไว้ในสลากเท่านั้น

นี่คือเรื่องของการประเคนของให้กับพระ เราต้องรู้จักแยกแยะ แต่สมัยนี้ญาติโยมไม่รู้กันก็เลยรวมกันหมดเลยที่เขาใส่ในกระเเป๋งสีเหลืองนี้ เขาอยากจะถวายให้ครบทั้ง ๔ คือ ปัจจัย ๔ ยาก็ใส่เข้าไป อาหารก็ใส่เข้าไป จีวรก็ใส่เข้าไป ถึงแม้จีวรจะเอามาห่มไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นผ้าเหลืองๆ ชิ้นหนึ่งก็ถือว่าเป็นจีวรแล้ว กระเเป๋งก็คงถือว่า เป็นกุฏิมั๊ง… ไว้ครอบหัวเวลาฝนตก ทำบุญก็อยากจะถวายปัจจัย ๔ ให้ครบ เขาก็เลยใส่มา แล้วมาถึงก็บังคับให้พระรับประเคน ให้วางไว้เฉยๆ ก็กลัวว่าไม่ได้บุญอีก บางทีบางคนขนกลับไปก็มี พอบอกว่าให้วางไว้เฉยๆ ได้ถวายแล้ว ฉันไม่ได้บุญ ท่านไม่รับฉันไม่ได้บุญ ฉันไปดีกว่าไปถวายที่อื่นดีกว่า อย่างนั้นก็มีเพราะการไม่รู้ ไม่มีการสอนไม่มีการบอก แล้วพระที่มาบวชใหม่ทีหลังก็ไม่รู้เรื่อง เขาเอาอะไรมาถวายก็รับประเคนหมด แล้วเขาก็แบบถือว่าไปว่ากันใหม่ คือตอนนี้รับประเคนแบบหลอกๆไปก่อน รับประเคนให้ญาติโยมดีอกดีใจ แล้วค่อยไปแยกแยะของทีหลัง ของที่เป็นอาหารก็เก็บไว้ส่วนหนึ่ง ถ้าอยากจะได้อะไรค่อยให้ลูกศิษย์มาประเคนให้ใหม่ เขาทำกันแบบนี้

ซึ่งทางสายวัดป่าท่านไม่ทำ ท่านทำแบบไม่หลอก ทำแบบจริงๆ เลย บอกประเคนไม่ได้ก็ประเคนไม่ได้ วางไว้ต้องวางไว้ เพื่อจะได้สอนญาติโยมไปในตัว ญาติโยมที่ไปทำบุญที่วัดป่าจึงได้ปัญญาด้วย ได้บุญคือความสุขใจ แล้วก็ได้ปัญญาความเห็น ความรู้ที่ถูกต้องในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพระให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แทนที่จะส่งเสริมให้พระปฏิบัติผิดพระธรรมวินัย เพราะด้วยความเกรงใจญาติโยม

นี่คือเรื่องของการถวายของ ที่เราต้องควรจะศึกษา.

โอวาทธรรม พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







"..ภาวนาก็ทำใจให้สงบบ้างซี การภาวนาสำคัญมากทีเดียว จะเลิศเลอจะเห็นอยู่ที่ใจ เลวร้ายที่สุดก็คือหัวใจ ถ้าดูหัวใจนี้แล้วความเลวร้ายมันจะค่อยเบาลงๆ ความดีความสงบร่มเย็นจะค่อยปรากฏขึ้นในใจของเรา อย่าไปดูภายนอกยิ่งกว่าดูหัวใจที่มันดีดมันดิ้นอยู่นั้น นั่นละนักภาวนา เก็บความรู้สึกไว้ให้ดี อย่าเปาะแปะๆ ออกแล้วๆ ปากปลิ้นปากบอนปากใช้ไม่ได้ พูดออกมาให้เป็นประโยชน์.."
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน






"..ให้ดูหัวใจเจ้าของซิ มาภาวนาไม่ดูหัวใจดูอะไร ดูแต่คนอื่นๆ เจ้าของไม่ดูเจ้าของมันนักภาวนาอะไรอย่างนั้น.."

"...เรื่องโทษเรื่องกรณ์ใครจะไม่มี โลกนี้มีด้วยกันทั้งนั้นแหละ เขาก็มีเราก็มี ไม่ทราบจะไปหยิบยื่นให้ใคร ใครอยากจะรับความนินทา ไม่อยากรับ นี่มันมีแต่เรื่องนินทากัน ไม่เกิดประโยชน์อะไร ภาวนาดูหัวใจเจ้าของอย่าให้มันออก ใจนี้ตัวคึกตัวคะนอง เฒ่าแก่ขนาดไหนความคิดความปรุงมันไม่ได้อ่อนนะ มันไม่มีวัย มันคิดมันปรุงของมันอยู่อย่างนั้น ดูหัวใจเจ้าของให้ดี นักภาวนาต้องดูหัวใจตัวเอง มันคิดเรื่องอะไร ตบปั๊บๆ เลยมันคิดไม่ดี เจ้าของไม่ดีเอง นั่น ไปคิดเรื่องคนนั้นไม่ดีคนนี้ไม่ดี เจ้าของไม่ดีเอง ดูเจ้าของตัวไม่ดีนี้แล้วมันก็สงบ คนนั้นก็ดูคนนี้ก็ดูก็ต่างคนต่างสงบ ไม่มีเรื่องติฉินนินทากาเล ยกโทษยกกรณ์กัน ไม่มี

ดูตัวหัวใจของเรานี้ ตัวนักโทษใหญ่อยู่ที่นี่ ดูตัวนี้อย่าไปดูที่อื่นไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าดูตัวนี้เกิดประโยชน์ พอมันคิดผิดขึ้นมาตีปั๊บเลยๆ มันคิดไม่ได้ มันเป็นความผิดคิดออกไปหาอะไร ความถูกมีอยู่ทำไมไม่คิด ก็มาสร้างความดี เหล่านั้นไม่ใช่ความดี ความผิดความพลาดมีได้ด้วยกันทุกคน ต่างคนต่างเก็บต่างคนต่างรักษา มันก็สงบเงียบไปเท่านั้นเอง.."

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน







"รูปนี้ความจริงเป็นแต่ธาตุ ๔
มิได้เป็นอื่น มิได้เอามาด้วย
และจักไม่เอาไปด้วย
ปล่อยวางคืนแก่โลก
เพราะเป็นของมีอยูประจำโลก"

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ







ธรรมทั้งหลาย ไหลมาจาก "เหตุ"
ให้กำหนดเหตุ รู้เท่าทันเหตุ
เหตุดับลง จิตก็เป็นพุทโธ ก็สบายเท่านั้น
นั่นแหละ คือ ที่สุดของวิบากกรรรม
นั่นแหละ คือ ที่สุดของวัฏฏะ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ






"ไตรลักษณ์ครอบไตรลักษณ์"

ถาม : อะไรคือไตรลักษณ์ครับ?

ตอบ : คือสามัญลักษณะ ๓ ประการ
-อนิจจัง คือ ความไม่แน่นอน
-ทุกขัง คือ การทนสภาพอยู่ไม่ได้
-อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง
รวมลงมาแล้วทั้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงเกิดมา ตั้งอยู่ ดับไป

ถาม : แล้วกฎของไตรลักษณนี้ครอบหมดทุกอย่างเลยหรือเปล่าครับ

ตอบ : ครอบหมดทุกอย่าง

ถาม : ถ้าเป็นเช่นนั้น ไตรลักษณครอบไตรลักษณด้วยหรือเปล่าครับ ?

ตอบ : ไตรลักษณ์ครอบไตรลักษณ์เองด้วย
-อนิจจัง คือทุกสิ่งมันไม่แน่ แล้วความไม่แน่นี้มาครอบอีกทีก็เลยเป็นแน่ คือแน่ที่เป็นอย่างนั้น มันแน่ที่จะมีสภาวะไม่แน่ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็ว่าความไม่แน่เป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด
-ทุกขัง คือการทนสภาพไม่ได้ ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปก็สภาพที่ยั่งยืนนิรันดรก็คือ สภาพที่ต้องเปลี่ยนแปลง
-อนัตตา ไม่มีตัวตนอย่างแท้จริง อนัตตาครอบอนัตตาก็เป็นอัตตา คือมีตัวที่แท้จริงของสภาวะความไม่มีตัวตนของทุกสิ่งทุกอย่างนั่นเอง

ถาม : สรุปแล้วหัวใจสำคัญของการภาวนา คืออะไรครับ ?

ตอบ : “สติ”

พระอาจารย์อนันต์ อกิญจโน
วัดมาบจันทร์ จ.ระยอง
ตอบกระทู้