พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พุธ 05 ก.ค. 2017 4:49 am
"ใช้ปัญญาสร้างความสุข"
ถาม : ผมชอบสวดมนต์นั่งสมาธิอยู่ประจำทุกครั้งที่มีโอกาส แต่ศีลห้าผมยังไม่บริสุทธิ์ ผมยังดื่มสุราอยู่ อย่างนี้ที่สวดมนต์นั่งสมาธิไปจะเกิดผลดีหรือเปล่าครับ
พระอาจารย์ : ก็ไม่รู้ล่ะกินเหล้าแล้วสวดมนต์ได้ก็เก่งแล้ว (หัวเราะ) แต่กินเหล้าแล้วเมา ไม่รู้จะสวดมนต์นั่งสมาธิแล้วมันจะเอาเวลานั่งสมาธิตอนไหน ตอนที่ไม่ได้กินเหรอ ก็ลองอย่ากินเหล้าดูสิ มันจะได้มีเวลานั่งสมาธิได้เยอะกว่า ถ้าเวลาไหนกินเหล้าก็นั่งสมาธิไม่ได้ สวดมนต์ไม่ได้
ถาม: ชีวิตไม่มีความสุขเลยครับ เวลาได้อยู่ในสมาธิ เวลาออกมาคิดเรื่องต่างๆ ความสุขที่ดีของผมมีแต่เฉพาะวันพระวันถือศีลแปด ทำยังไงดีครับกับวันปกติธรรมดาครับ
พระอาจารย์ : ก็ใช้ปัญญาสร้างความสุขขึ้นมาสิ เวลาไม่อยู่ในสมาธิออกมาก็ต้องใช้ปัญญา คิดถึงอสุภะอย่างนี้แล้วจะสุข คิดถึงอนิจจัง ทุกขังอนัตตา แล้วมันจะสุข คิดว่าทุกอย่างที่เรามีอยู่ไม่เที่ยงไม่ใช่ของเราแล้วมันจะสุข มันจะปล่อยวาง มันจะไม่ยึดไม่ติด มันจะไม่เครียดกับอะไรนะ ถ้าไม่ได้นั่งสมาธิ วันธรรมดาก็ให้หมั่นพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาความไม่เที่ยงของลาภยศ สรรเสริญ ของรูป เสียง กลิ่น รส ของคนนั้นคนนี้ ของสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เรื่อยๆ ใจก็จะมีความสุข เหมือนกับได้อยู่ในสมาธิ แล้วดีกว่าด้วย มันจะเป็นความสุขที่ถาวร ต่อไปมันจะไม่ทุกข์กับอะไรเลย ถ้ามีปัญญา
สนทนาธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"...ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ควรที่จะทำแต่ความดี ใช้ชีวิตให้เป็นสาระ
จะต้องต่อสู้กับความไม่ดีงามทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัวเรา เพราะคนตายไม่สามารถทำความดี หรือความชั่วได้เลย..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
"...เมื่อถึงความสงบแล้วยังไม่จบนะ ภพยังไม่สิ้น ชาติยังมีอยู่ พรหมจรรย์ไม่จบ ที่มันไม่จบก็เพราะยังมีทุกข์อยู่ ให้เอาตัวสมถะ ตัวสงบนี่พิจารณาต่อไป ค้นหาเหตุผล จนกระทั่งจิตไม่ติดในความสงบ
เพราะความสงบ ก็เป็นสังขารอันหนึ่ง ก็เป็นสมมุติ ก็เป็นบัญญัติอีก ที่ติดอยู่นี้ ก็ติดสมมุติ ติดบัญญัติ เมื่อติดสมมุติ ติดบัญญัติ ก็ติดภพติดชาติ ภพชาติ ก็คือความดีใจในความสงบนั่นแหละ..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านท่านเจ้าคุณนรฯ (พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ธมฺมวิตกฺโก)
โลกนี้คือกองทุกข์
"...กฎของธรรมดา ธรรมดาของโลก สัตว์โลกก็ดี คนในโลกก็ดี วัตถุธาตุของโลกก็ดี มีอันที่จะต้องฉิบหายไป คือสลายตัวในที่สุด
โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขจริงไม่ได้ เราต้องเข้าใจตามนี้ ให้คิดว่าการเกิดในโลกไม่มีอะไรเป็นสุข มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว ตั้งแต่วันเกิดถึงวันตาย ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์
คนที่คิดว่าสุขก็คือโง่ เป็นคนที่ไร้ปัญญา คือไม่ใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง
ความหิวเป็นปัจจัยของความทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความป่วยไขัไม่สบายก็ทุกข์ การประกอบกิจการงานต่าง ๆ มันเหน็ดเหนื่อยก็ทุกข์ การหากินต่าง ๆ มันเหน็ดเหนื่อยก็ทุกข์ นี่ทุกข์ คือทุกข์มันเกิดจากอยากจะกิน
ความแก่ก็ทุกข์ ความปรารถนาไม่สมหวังก็ทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็ทุกข์ ความตายก็ทุกข์ ก็รวมความว่า โลกนี้มีแต่ทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นสุข
ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาคิดไว้เสมอว่า เวลานี้ เราอยู่ในกองทุกข์..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมยาน) วัดท่าซุง
"...กามนี้มันหมุนรอบโลก มันเป็นเจ้าโลก กามกิเลสนี้แหละ ที่ทำให้เกิดสงครามต่อสู้กัน เกิดก็เพราะกาม รักก็เพราะกาม ชังก็เพราะกาม
กามกิเลสอุปมา เหมือนแม่น้ำธารน้ำน้อยใหญ่ไม่มีประมาณ ไหลลงสู่ทะเลไม่มีเต็ม ฉันใดก็ดี กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหาเป็นแหล่งก่อทุกข์ ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
".. ให้หมั่นทำหมั่นพิจารณา ให้แยบคายว่า ผม ขน เล็ก ฟัน หนัง เนื้อ พิจารณามันลงไปจนถึงมุตตัง น้ำมูตนั้นว่ามันเป็นของไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นธาตุ เป็นอนัตตาอย่างไร มันเป็นของปฏิกูล มันเกิดมาจากอะไร เพราะอาการสามสิบสองมันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากเพ็ชรจากพลอยแก้วแหวนเงินทอง เกิดมาจากกองปฏิกูลนับตั้งแต่ กลละ อัมพุฌชะ ขะนะ เปสิ ปัญจะสาขา คือกามธาตุทั้งนั้น เมื่อเราพิจารณาอยู่อย่างนี้บ่อยๆ จิตมันจะคลายความกำหนัดยินดี ออกจากมันมาเรื่อยๆ เพราะจิตของเรามัน หลงอยู่กับร่างกายนี้ ว่าเป็นเขาเป็นเราอยู่ เพราะขาดจากการพิจารณา มัวเพลิดเพลินจิตใจไปทางอื่น..”
โอวาทธรรม.....หลวงปู่หลุย จันทสาโร
ปลาหนองเดียวกัน
ไม่ว่าปลาเล็กปลาใหญ่ ปลาอะไรก็ชั่ง
เมื่อน้ำแห้ง ย่อมตายหมด เสมอกัน
เวลายังอยู่ด้วยกัน อย่าขัดข้องกันนักเลย
จงทำตัวให้พอเหมาะพอสม
และอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข สงบเถิด.
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)
คนเราเมื่อจิตไม่มีทุกข์ ทุกข์อะไรก็ไม่มี
แต่ว่าถ้าจิตมีทุกข์แล้ว
อะไรทุกอย่างมันเต็มไปด้วยทุกข์
เมื่อย่นย่อเข้ามา ทุกข์ทั้งหลายมันอยู่ที่จิต อยู่ที่ใจ
แล้วก็คือใจมีอุปาทานยึดถือ
เมื่อจิตนี้ยึดถือมากก็ทุกข์มาก
ยึดถือน้อยก็ทุกข์น้อย
ไม่ยึดเสียเลยก็พ้นทุกข์ มันอยู่ที่ตรงนี้
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
"บุญบาป"
"บุญ บาป เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน ใครจะมาว่าเรา เป็นเรื่องปากเขา จิตเรามีหน้าที่ภาวนา ยืนให้มีสติ เดินให้มีสติ ทำอะไร พูดอะไร ให้มีสติ รู้ภายนอกรู้ไปทำไม รู้ภายใน รู้กาย รู้จิต ของตัวเองดีกว่า"
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
“...ใครจะมาว่าเรา ก็เป็นเรื่องของปากเขาว่า จิตเรามีหน้าที่ภาวนา ไม่ต้องไปมัวว่าให้คนโน้นคนนี้ ติคนโน้น ชมคนนี้ ได้ประโยชน์อะไร ภาวนาในใจดีกว่า...”
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
"คำว่ากรรม คือการกระทำของมนุษย์
ที่พร้อมไปด้วยเจตนา คือ ความตั้งใจ
ว่าจะทำ จะพูด จะคิด
ทีนี้ ในเมื่อทำลงไปแล้ว
จิตเขาบันทึกผลงานเอาไว้
โดยธรรมชาติ
บางที เราเผลอทำความไม่ดีลงไป
ภายหลัง เรานึกว่า มันเป็นบาป
เราจะกลับมา เปลี่ยนความคิดว่า
ฉันทำเล่นๆ ฉันไม่ต้องการผลตอบแทน
มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้"
-:- งหลวงพ่อพุธ ฐานิโย-:-
"ทุกข์ในการหาอาหารเลี้ยงชีพนั้น อย่างหนึ่ง
ทุกข์ด้วยจิตใจ อย่างหนึ่ง
คนรวยทุกข์กว่าคนจน ก็มีถมเถไป
ไม่ใช่ว่าคนรวย จะสุขเลยทีเดียว
เหตุนั้น พุทธศาสนา จึงสอนทุกชั้น ทุกหมู่
ทั้งคนจน คนมี ให้มีที่พึ่งทางใจ คือ
หัดทำความสงบอบรมใจ ให้มีเวลาพักผ่อน
ถ้าทุกข์กลุ้มใจอย่างเดียว
ก็ไม่มีหนทาง จะพ้นจากทุกข์ได้
คนถือพุทธศาสนา ถึงแม้จะทุกข์กาย
แต่เขายังเบิกบานใจอยู่
เพราะเขามีที่พึ่งทางใจ"
-:-หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี-:-
" เขาใส่บาตรเรา เขาก็มีน้ำใจ
ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้ว่า พระมาจากไหน
โจรปลอมมาบวช
มาซ่อนอยู่ตรงนี้หรือไม่ เขาก็ไม่คิด
ไปบิณฑบาต เขาก็ใส่บาตรให้ฉัน
เป็นเรื่องที่น่าคิด
ก็คนไม่รู้จักหน้าตา ไม่รู้มาจากไหน
เข้าไปบิณฑบาต เขาก็ใส่บาตรให้ จึงว่า
อำนาจของพระพุทธศาสนาครอบโลกธาตุ
จิตใจของชาวโลก ยอมรับสนิทใจทีเดียว"
-:-หลวงปู่แบน ธนากโร-:-
"เมื่อมีกำลังเรี่ยวแรง ก็รีบทำ
จะทำบุญสุนทาน จะทำอะไร ก็รีบจัดทำกัน
แต่ว่าคนเรา ก็มักจะไปมอบให้แต่คนแก่
จะเข้าวัดศึกษาธรรมะ รอให้แก่เสียก่อน
โยมผู้หญิงก็เหมือนกัน โยมผู้ชายก็เหมือนกัน
ให้แก่เสียก่อนเถอะ ไม่รู้ว่าอะไรกัน
คนแก่นี่มันกำลังดีไหม
ลองไปวิ่งแข่งขันกับคนหนุ่มดูซิ
ทำไมจะต้องไปมอบให้คนแก่ เหมือนไม่รู้จักตาย
พอแก่มาสัก ๕๐ ปี ๖๐ ปี จวนเข้าวัดอยู่แล้ว
หูตึงเสียแล้ว ความจำก็ไม่ดีเสียแล้ว นั่งก็ไม่ทน"
-:-หลวงปู่ชา สุภทฺโท-:-
วิมุติปฏิปทา
การเจริญสติและสัมปชัญญะ .
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ให้ทำความรู้ตัวอยู่กับจิตผู้รู้อย่างสบายๆ ไม่
เพ่งจ้องหรือควานหา ค้นคว้า เข้าไปพิจารณาที่
จิตผู้รู้ เพียงแค่รู้อยู่เฉยๆ เท่านั้น
ต่อมาเมื่อมีความนึกคิดปรุงแต่งอื่นๆ เกิดขึ้นก็จะเห็นความ
เปลี่ยนแปลงของอารมณ์ชชัดเจน เช่น เดิมมีความ
นิ่งว่างอยู่ ต่อมาเกิดคิดถึงคนๆ หนึ่ง แล้วเกิดความ
รู้สึกรักหรือชังขึ้นก็ให้สังเกต รู้ความรักความชัง
นั้น และเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น
ตัวจิต "ผู้รู้" มีอยู่ต่างหาก ให้รู้ตัวไปเรื่อยๆ สิ่งใดเป็นอารมณ์
ปรากฏขึ้นกับจิต ก็ให้มีสติรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏนั้น
ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เผลอส่งจิตเข้าไป
ในอารมณ์นั้น ตรงที่จิตไม่เผลอส่งออกไปนั้นเอง
คือความรู้ตัวหรือสัมปชัญญะ
"...ชีวิต..ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดวง
แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา
อย่ามัวแต่..รอฤกษ์รอเวลา
อยากได้ดี..ก็ต้องสร้างความดี
ไม่ใช่นั่งรอความดี..."
โอวาทธรรม.....หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมโม
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.