Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

จิตรวมลงเป็นสมาธิ

เสาร์ 08 ก.ค. 2017 5:01 am

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความตอนหนึ่งว่า

"ท่านทั้งหลายได้อุตส่าห์นำวัตถุปัจจัยต่างๆ มาถวายก็ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ มุ่งถวายเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย และเป็นของใช้สอยยังประโยชน์แก่คณะพระภิกษุสามเณร ที่เรียกกันว่า 'สงฆ์' ซึ่งแปลว่ากลุ่มหรือหมู่คณะ ดังที่เราชาวพุทธเรียกการให้อย่างนี้ว่า 'สังฆทาน'

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญไว้ว่า การถวายสังฆทาน คือการถวายทานให้แก่หมู่คณะสงฆ์อย่างไม่เจาะจงให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นทานอันเลิศ เกิดผลบุญอันมีอานิสงส์สูงส่งยิ่งกว่าการให้เจาะจงต่อใครคนใดคนหนึ่ง ที่เรียกว่า 'ปาฏิบุคลิกทาน' จนถึงแม้กระทั่งเจาะจงถวายต่อพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้อานิสงส์เลิศเท่ากับการถวายแก่หมู่สงฆ์ ซึ่งทรงชี้แจงไว้ว่าได้บุญกุศลสูงส่งกว่า

ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงนัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอานิสงส์ไว้ ย่อมพบคำตอบได้ว่า การคำนึงถึงประโยชน์แห่งหมู่คณะยิ่งกว่าประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดย่อมเป็นวิถีทางที่ถูกที่ควรในการประพฤติปฏิบัติตนของความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

ยิ่งท่านทั้งหลายล้วนมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสุขความทุกข์ของประชาชน หากท่านทำกิจการงานทั้งปวง โดยมีเป้าหมายคือประโยชน์สุขของส่วนรวม กล่าวคือชาติไทยเป็นสำคัญ มิใช่เพื่อความสุข หรือประโยชน์จำเพาะ แก่พวกหนึ่งพวกใด หรือคนหนึ่งคนใดแล้ว การทำงานของท่าน ก็เสมอด้วยการประพฤติธรรม เพราะเท่ากับว่าท่านกำลังทำหน้าที่อยู่ด้วยกุศลเจตนา

'การให้' ไม่ว่าจะด้วยวัตถุสิ่งของ หรือประโยชน์เชิงนามธรรมจากการทำงานอย่างสุจริตของท่าน ก็ย่อมจัดเป็นคุณูปการสำหรับแผ่นดิน เป็นประโยชน์ค้ำจุนคนทั้งชาติร่วมกัน ในลักษณะที่เปรียบได้ดั่งสังฆทาน

แต่ถ้าท่านทำงานโดยมุ่งประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ของพวกพ้องเฉพาะกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แม้จะเป็นผลดีก็ตามที แต่ก็ไม่อาจอำนวยความสุขให้แก่มหาชนในวงกว้าง การทำหน้าที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายในนามรัฐย่อมไม่เกิดประสิทธิผลตามที่ควรจะเป็น เปรียบเสมือนท่านให้เพียงจำเพาะรายบุคคล แบบปาฏิบุคลิกทาน

ส่วนบุคคลใดทำการงานโดยไม่ซื่อสัตย์ โดยทุจริต เป็นอันธพาลที่ปลอมตัวมาในคราบของคนดีเสียแล้ว ก็ไม่ควรจะต้องพูดถึงกัน เพราะไม่ว่าเขาผู้นั้นจะหวังประโยชน์สำหรับใครๆ ก็ล้วนแต่เป็นบาป นำความตกต่ำเสื่อมถอยเป็นที่หมายได้ทั้งในชีวิตนี้และในชีวิตหน้า บุคคลประเภทที่กล่าวสุดท้ายนี้ไม่ควรเป็นตำรวจ และไม่ควรจะเป็นสมาชิกในสังคมเสียเลยด้วยซ้ำ

การถวายสังฆทานของท่านในวันนี้ นอกจากจะได้อานิสงส์มาก เป็นบุญอันเลิศที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญแล้ว จึงยังเตือนใจทุกท่านให้มีอุดมการณ์ เพื่อการทำงาน และการดำรงชีวิต โดยมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์เฉพาะตน หรือเฉพาะบุคคลหนึ่งบุคคลใด ตามหลักการในพระพุทธศาสนา"







“ถ้าจิตรวมลงเป็นสมาธินั่นแหละถึงจะเป็นความจริง”

ถาม : มีคนพิการปฏิบัติธรรม ด้วยการเจริญสติดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำตั้งแต่เช้าจนเย็น พยายามเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เจริญสตินั้นเขาแยกกายแยกใจได้ ใจมองเห็นร่างกายกำลังทำอะไร อย่างนี้ไม่ใช่สมาธิใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : เป็นจินตนาการ เป็นความคิดปรุงแต่งแยกแยะ ไม่ได้เป็นความจริง ถ้าจิตรวมลงนั่นแหละถึงจะเป็นความจริง เหมือนกับนั่งดูโทรทัศน์ แล้วก็แยกว่าภาพกับจอเป็นคนละส่วนกัน ถ้าจะแยกจริงๆต้องปิดโทรทัศน์ ภาพจะหายไป เหลือแต่จออย่างเดียว ตอนนั้นจะแยกกันอย่างชัดเจน ต้องนั่งสมาธิจนจิตรวมลง ขันธ์ ๕ จะหายไปหมด เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ เหลือแต่ผู้รู้ อย่างนี้ถึงจะแยกกันจริงๆ เห็นกันจริงๆ

ถาม : เขาว่าเป็นผู้รู้ที่เห็น แต่ไม่ได้เป็นร่างกาย

พระอาจารย์ : เป็นจินตนาการ ยังดับกิเลสไม่ได้ กิเลสไม่หยุดทำงาน เพราะความคิดปรุงแต่งยังไม่หยุด ยังถูกกิเลสใช้เป็นเครื่องมืออยู่

ถาม : การเจริญสติเพื่อนั่งสมาธิให้ได้ผล

พระอาจารย์ : ให้จิตรวมลง

ถาม : พอมีสมาธิปัญญาจะพิจารณาได้นานขึ้น คือแทนที่จะพิจารณา เกิดแก่เจ็บตายแวบเดียว แล้วไปที่อื่น พอมีสมาธิจะทำให้การพิจารณาทางปัญญายาวนานขึ้น

พระอาจารย์ : ใช่ จะติดเป็นนิสัยไป จะคิดแต่แก่เจ็บตายไป มากกว่าอยากจะอยู่ไปนานๆ อยากจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย อยากจะไม่ตาย ที่เป็นความคิดของปุถุชน ไม่มีใครอยากแก่อยากเจ็บอยากตายกัน ปัญญาต้องทวนกระแสของกิเลส ต้องคิดว่าต้องแก่แน่ๆ ต้องเจ็บแน่ๆ ต้องตายแน่ๆ คิดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระแสของกิเลสถูกกระแสของปัญญาดันกลับไป จะเห็นแต่แก่เจ็บตาย พอใครมาเล่าว่าคนนั้นแก่คนนั้นเจ็บคนนั้นตาย ก็จะไม่ตื่นเต้นอย่างไร ไม่เหมือนพวกเรา พอได้ข่าวว่าคนนั้นไม่สบายหน่อย ตื่นเต้นกันใหญ่ พอคนนี้ตายเป็นเรื่องใหญ่โต เป็นข่าวใหญ่โตขึ้นมา

ถาม : เพราะไม่ได้เตรียมใจไว้ ไม่ได้คิดอยู่ตลอดเวลา

พระอาจารย์ : ไม่ได้คิดอยู่ตลอด ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าไม่มีสมาธิจะถูกกิเลสดึงไปคิดเรื่องอื่น คิดได้ปั๊บเดียวก็จะไม่คิดแล้ว ไม่สนุก คิดเรื่องอื่นดีกว่าสนุกกว่า คิดไปเที่ยวไหนดี ไปหาใครดี ไปซื้ออะไรดี จะคิดไปทางนั้น ถ้ามีสมาธิเวลาสั่งให้คิดอะไร จะไม่มีกิเลสมาดึงไป จะคิดตามที่เราสั่ง พอคิดไปเรื่อยๆ ก็จะติดเป็นนิสัยเหมือนท่องสูตรคูณ ตอนต้นก็ต้องท่อง ๒ คูณ ๒ เป็น ๔ ๒ คูณ ๓ เป็น ๖ ท่องไปเรื่อยๆก่อน พอขึ้นใจแล้วก็ไม่ต้องท่อง พอเห็น ๒ คูณ ๓ ก็รู้ว่าเป็นเท่าไหร่ การพิจารณาก็เหมือนกัน พอพิจารณาจนเป็นนิสัยแล้ว พอเห็นใครก็รู้ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แม้แต่เด็กแรกเกิด ก็รู้ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย จะคิดอย่างนี้.

กัณฑ์ที่ ๔๐๘ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๓ (จุลธรรมนำใจ ๒๐)

“ความจำ ความจริง”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต









"ให้พิจารณากาย"

" .. "กายของเรานี้มีธรรมอยู่พร้อมเบ็ดเสร็จทุกอย่าง" จะพิจารณาให้เป็นอสุภก็ได้ ให้เป็นกรรมฐานอะไรได้หมด "เป็นที่ตั้งทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย" จะพิจารณาให้เห็นโทษเห็นทุกข์ เห็นเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนก็ได้

"อย่าทิ้งกายอันนี้ก็แล้วกัน" จะทิ้งไม่ได้ ไปฝากใครไว้จะขายให้ใคร ถึงขายตัวเราไปมันก็อยู่ที่นี่แหละ จะฝากคนอื่นไว้ก็ยังเป็นตัวตนของเราอย่างเดิมนี่แหละ ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อตัวเราเองอยู่ทุกประการ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นที่สุดที่จะต้องยกกายนี่ขึ้นมาพิจารณา "ผู้ต้องการเห็นทุกข์โทษในวัฏสงสาร ต้องยกกายนี้ขึ้นมาพิจารณา" เพราะเป็นของมีอยู่ "กัมมัฏฐานทั้งปวงล้วนมีอยู่ในกายนี้ทั้งนั้น" เลือกเอามาพิจารณา ไม่ใช่เอาของไม่มีมาพิจารณา .. "

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี







"ดวงจิตของเรา ซึ่งตามธรรมชาติธรรมดาย่อมจมอยู่กับกิเลสอาสวะ อันติดมาแต่กำเนิดเสียเป็นส่วนมาก

เมื่อเรามุ่งชำระล้างออก ก็ต้องอาศัยความพยายาม ถ้าไม่เช่นนั้นจิตของเราก็จะถูกดูดเลื่อนลอยไปตามกระแสของมัน

ดวงจิตธรรมชาติเป็นดวงจิตที่แก้ไขดัดแปลงได้ ไม่เหลือความสามารถของใคร

ถ้ามุ่งจริง เพียรจริง ทำจริง"

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร








"วิธีของคนฉลาด"

ถ้าเราอยากจะใช้เงินให้เป็นประโยชน์กับจิตใจ พระพุทธเจ้าสอนให้เราใช้เงินไปกับการทำบุญทำทาน เพราะการทำบุญทำทานนี้ จะไปสกัดความอยากต่างๆ เช่นอยากจะไปเที่ยว เอาเงินที่จะไปเที่ยวนี้ไปทำบุญดีกว่า อยากจะไปซื้อกระเป๋ารองเท้าที่ไม่จำเป็นจะต้องซื้อ เอาไปทำบุญ แล้วรับรองได้ว่าผลลัพธ์นี้จะต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน เหมือนนรกกับสวรรค์เลย นี่เขาเรียกทำบุญได้ขึ้นสวรรค์ เพราะทำบุญแล้วใจเย็นใจ มีความสุข ทำตามความโลภทำตามความอยากแล้ว ใจร้อนขึ้นมา ใจร้อนใจหิว ได้มากน้อยเพียงไรก็ไม่อิ่มไม่พอ มีแต่อยากจะได้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ นี่วิธีของคนฉลาด คนฉลาดถ้ามีเงินเหลือไม่ต้องเก็บเอาไว้ ก็เอาไปทำบุญ คนโง่ถ้ามีเงินเหลือบางทีเงินไม่เหลือก็ยังไปใช้ตามความอยากต่างๆ แล้วก็มาสร้างความรุ่มร้อนให้กับจิตใจ สร้างความเครียดสร้างความโกรธเกลียด ความเคียดแค้น อาฆาตพยาบาท เพราะว่าเวลาไม่ได้ดั่งใจอยาก ก็จะโกรธ นี่คือสิ่งที่พวกเราจะต้องเข้าใจ

เพราะใจของพวกเรานี้ ไม่ได้เย็นไปกับความเจริญของทางด้านวัตถุ ไม่ได้ร่มเย็นเป็นสุขไปกับความเจริญในลาภยศสรรเสริญ ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ใจของพวกเราเย็นด้วยการทำบุญทำทาน เย็นด้วยการรักษาศีล เย็นด้วยการภาวนา ถ้าเราอยากจะติดเครื่องปรับอากาศให้กับใจ เรา ต้องติดด้วยการทำบุญทำทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการภาวนา อย่าไปติดด้วยการไปเที่ยว ไปหาข้าวของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ เพราะมันจะทำให้ใจเราร้อน อันนี้เป็นความจริงไม่เชื่อลองสังเกตุดู ดูใจของเรา เวลาที่เราทำบุญรักษาศีลภาวนา กับเวลาที่เราไปแสวงหาลาภยศสรรเสริญ แสวงหารูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ความรู้สึกมันเป็นอย่างไร มันร้อนหรือมันเย็น มันสุขหรือมันทุกข์ นี่คือใจของเรา

ใจของพวกเรานี้ไม่ต้องการลาภยศสรรเสริญ ไม่ต้องการรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แต่ต้องการทานศีลภาวนา ทานศีลภาวนานี่แหละจะทำให้ใจเราร่มเย็นเป็นสุข ทำให้ใจเราปราศจากความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ ฉะนั้นขอให้เรามาหัดทำทานกันดีกว่า หัดรักษาศีลกันดีกว่า หัดภาวนากันดีกว่า.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







"ต้องเตรียมตัวคิดไว้ก่อน "

ถาม : การพิจารณาในสิ่งต่างๆที่มากระทบจิตใจ เมื่อสงบลงแล้วใจอยู่ว่างๆ นิ่งๆ ไม่พิจารณาอะไร อยู่กับพุทโธ จนกว่าจะมีเรื่องใหม่เข้ามา จึงพิจารณาใหม่ ลูกทำแบบนี้ถูกต้องไหมคะ หรือต้องทำอะไรต่อไปคะ

พระอาจารย์ : ก็ถูกต้องในระดับชีวิตของเรา แต่มันจะไม่เจริญก้าวหน้าไปกว่านี้ เพราะเรายังมีปัญหาที่ยังไม่เกิด ที่เราอาจจะต้องเตรียมตัวคิดไว้ก่อน เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคมะเร็งอย่างนี้ หมอบอกรักษาไม่ได้ เรายังจะทำใจได้หรือเปล่า หรือว่าเราจะต้องตาย เราจะต้องเดินข้ามถนนโดนรถชนตายไปอย่างนี้ เราเตรียมตัวเตรียมใจรับกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้หรือยัง หรือว่าเราสูญเสียคนที่เรารักไป เสียสามีเสียภรรยาเสียลูก หรือเสียข้าวของเงินทองไป เสียบ้านช่องไฟไหม้บ้าน เสียสิ่งต่างๆ ไปนี้ เรารับได้หรือยัง ถ้ายังรับไม่ได้ ก็จงรีบพิจารณาเตรียมตัวไว้ก่อน เผื่อเวลามันเกิดขึ้นมาเราจะได้ไม่เดือดร้อน ไม่สะเทือนใจ.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





อะไรที่ไม่ดี อะไรที่ไม่ถูกต้องก็อย่าไปแตะ

ดูอย่างถ่านสิ แม้เราเอามือไปจับนิดเดียว
มันก็ยังเปื้อนเลย ... อุปมาฉันใดก็ฉันนั้น
แบบเดียวกัน ... สิ่งไหนที่ไม่ดี
อย่าไปแตะต้องมันเด็ดขาด ... ห่างไว้ให้ไกลที่สุด "

หลวงปู่บุญส่ง ฐิตสาโร
วัดสันติวนาราม จ.จันทบุรี





การทำบุญที่หลวงปู่มั่นสรรเสริญ

การ ถวายทานในงานบุญต่าง ๆ ท่านก็ไม่นิยมให้กล่าวคำถวายเช่นกัน ท่านอธิบายว่า "
บุญนั้น ผู้ถวายได้ถวายได้แล้ว สำเร็จแล้วตั้งแต่ ตั้งใจ หรือเจตนาในครั้งแรก ตลอดจนนำมาถวายสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรอีก
เพียงแต่ตั้งเจตนาดี เป็นกุศลหวังผล คือความสุข การพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเท่านี้ก็พอแล้ว
นั่นมันเป็นพิธีการหรือกฏเกณฑ์อย่าง หนึ่งของเขา ไม่ต้องเอาอะไรทุกขั้นทุกตอนดอก "
เจ๊กไฮ เชื้อสายจีน จังหวัดสกลนคร เป็นหัวหน้านำผ้ากฐินมานั้น เมื่อวางจัดผ้ากฐินพร้อมทั้งของอันเป็นบริวารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว นั่งสักครู่ เห็นว่ายังไม่มีอะไร จึงพากันกราบพระประธาน ( เจ๊กไฮ ก็กราบเหมือนกัน
ท่าทางเหมือนคนจีนทั่วไปเขากราบนั่นแหละ ) แล้วเขาก็ลง จากศาลาไปเดินเลาะเลียบชมวัดวาอาราม
เฉยอย่างสบายอารมณ์ จนกระทั่งพระเณรกลับจากบิณฑบาตรแล้ว ขึ้นบนศาลาเตรียมจัด แจงอาหารลงบาตรจนเสร็จสรรพเรียบร้อยทุกองค์

ท่านพระอาจารย์มั่นจึงให้เรียกเจ๊กไฮมาเพื่อจะได้อนุโมทนารับพร

" ทำไมไม่รับพรด้วย " เขาบอกว่า

" อั๊วได้บุญแล้ว ไม่ต้องรับพรก็ได้ การกล่าวคำถวายก็ไม่ต้องว่า เพราะอั๊วได้บุญตั้งแต่อั๊วตั้งใจจะทำบุญทีแรกแล้ว ฉะนั้นอั๊วจึงไม่ต้องรับพรและคำกล่าวถวายใดๆ เลย "

ภายหลังฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นได้พลิกวิธีคำว่า "ผ้ากฐิน" มาเป็น "ผ้าบังสุกุล"

ท่านได้เทศน์ฉลองยกย่องผ้าบังสุกุลของเจ๊กไฮเป็นการใหญ่เลย ท่านกล่าวถึงผ้ากฐินนั้นได้รับอานิสงส์น้อยเพียง แค่ ๔ เดือนเท่านั้นไม่เหมือนกับผ้าบังสุกุลซึ่งได้อานิสงส์ตลอดไป คือ ผู้ใช้สามารถใช้ได้ตลอดไม่มีกำหนดเขตใช้จนขาดหรือใช้ไม่ได้จึงจะทำอย่างอื่นต่อไป และสุดท้ายท่านกล่าวอีกว่า

"ใครทำบุญก็ไม่เหมือนเจ๊กไฮทำบุญ เจ๊กไฮทำบุญ ได้บุญมากที่สุด พรเขาก็ไม่ต้องรับ คำถวายก็ไม่ต้องว่าเขาได้บุญตั้งแต่เขาออกจากบ้านมา บุญเขาเต็มอยู่แล้ว ไม่ตกหล่นสูญหายไปไหน บุญเป็นนามธรรมอยู่ที่ใจ อย่างนี้จึงเรียกว่า ทำบุญได้บุญแท้.. "

โอวาทธรรม : หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต







"การให้ทานรักษาศีลนี้
ไม่ใช่ของใคร คนใดคนหนึ่ง
คือ ถ้าใครทำ ก็ได้รับผลด้วยกัน
อย่าเลือกเวลา การทำความดี
ทำได้ทุกเวลาสถานที่ ทุกเพศวัย
ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ คนหนุ่ม คนสาว
ทำได้หมด ให้รีบทำความดีเสีย
เดี๋ยวจะตายก่อน ไม่ได้ทำนะ"

-:-หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต-:-







"ถ้ามีใจอยู่กับพุทโธ ให้เป็นกลาง ๆ
ไม่สอดส่ายไปที่ไหน นั่นหมายความว่า
ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง
ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใดๆ ในโลก"

-:-หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ-:-






"บุญนั้น หมั่นทำไว้ ปฏิบัติไว้
คนไหนที่เขาว่า ทำได้ดี
ได้เห็นอะไรก็ตาม โมทนาไปเลย
ไม่มีเสีย มีแต่ได้ อย่าไปขัดเขา"

-:-หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ-:-







ความสุขกายสบายจิต อยู่ที่ความพอเท่านั้น
สิ่งใดที่เราพอแล้ว
สิ่งนั้นไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนใจมาให้เลย
ถ้าเราไม่พอในสิ่งใด ชื่อว่าเรายังจนอยู่ในสิ่งนั้น.
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท
ตอบกระทู้