นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 16 ม.ค. 2025 11:11 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: จัดตารางปฏิบัติ
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 09 ก.ค. 2017 5:48 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
“จัดตารางเวลาปฏิบัติ เจริญสติควบคุมใจไม่ให้คิดเรื่องราวต่างๆ”

ถาม : ฝันไม่ดีค่ะ ฝันเห็นคนมาเอาชีวิต เป็นห่วงลูกค่ะ ลูกคนเล็กยังเล็กอยู่

พระอาจารย์ : ก็ดูแลไป เราไม่จำเป็นจะต้องมาเป็นเหตุให้เราไม่ได้ปฏิบัติ เรื่องการดูแลก็ดูแลไป เรื่องการปฏิบัติเราก็ปฏิบัติไป คือเรื่องลูก เราต้องดูแลเราก็ดูแลไป เราก็มีเวลาที่เราจะปฏิบัติได้ เราทำอย่างอื่นได้ทำไมเรามาปฏิบัติไม่ได้ เราห่วงลูกเราก็ยังไปเที่ยวได้ไม่ใช่หรือ แล้วทำไมเราไปปฏิบัติไม่ได้ ระวังมันจะเป็นอ้างที่ทำให้เราไม่ได้ปฏิบัติกัน เรื่องหน้าที่การงานที่เราต้องทำเราก็ทำของเราไป

ถาม : คิดแบบนี้ค่ะแต่ไม่แน่ใจ

พระอาจารย์ : ก็จัดตารางซิ เวลาดูแลก็ดูแลลูก เวลาที่เรานั่งสมาธิก็นั่งสมาธิไป เวลาดูแลลูกเราก็ปฏิบัติได้พร้อมๆกัน เรามีสติอยู่กับการดูแลลูก คอยควบคุมใจไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ ทำงานอะไรก็ให้อยู่กับงานที่เรากำลังทำอยู่ ให้มีสติจดจ่ออยู่กับงาน เลี้ยงลูกก็เลี้ยงไปด้วยสติ ก็คือได้ปฏิบัติควบคู่กันไป ดูแลลูกด้วยแล้วก็ได้เจริญสติไปด้วย พอเราไม่ต้องดูแลลูกเราก็มานั่งสมาธิได้ แทนที่จะไปเปิดทีวีดู ไปหาขนมกิน เราก็มาหาอาหารให้ใจดีกว่า ใจต้องการอาหาร แต่เราไม่ค่อยได้ให้อาหารกับใจ เรามักจจะให้อาหารกับตัณหาความอยาก อยากกินอะไรก็หามากิน อยากดูอะไรก็หามาดู ยิ่งหาก็ยิ่งหิว เพราะความอยากนี้มันไม่ได้หมดไปกับการหา ความอยากมันกลับเพิ่มมากขึ้น พอได้อย่างนี้แล้วก็อยากจะได้อย่างนั้น ได้อย่างนั้นแล้วก็อยากจะได้อย่างโน้น

ดังนั้นเราอย่าไปหาอะไรตามความอยาก เวลาอยากดูทีวีก็มานั่งสมาธิ เวลาอยากกินอะไรถ้ายังไม่ถึงเวลากิน ก็มานั่งสมาธิ ตัดมันไป เอาเวลามานั่งสมาธิ นั่งหลับตาดูลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หรือไม่เช่นนั้นถ้าใช้พุทโธก็พุทโธไป พุทโธๆๆๆๆไป มีเวลาปฏิบัติเยอะแยะมันไม่ยอมปฏิบัติ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้หมด แต่เวลานั่งสมาธิเอามาทำไม่ได้ เพราะมันไม่ชอบ มันชอบอย่างอื่น ชอบดูทีวี ชอบทำโน่นทำนี่ แต่เวลามาให้อาหารใจให้ของดีๆเรากลับไม่ชอบ.

สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๙

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







“ทำทุกระยะ อย่าประมาท”
..ในระยะที่มีกำลังดี ๆ อยู่อย่างตอนนี้หละ เป็นระยะกระทำแท้ ๆ เราอย่าไปนึกว่า จะไปทำเอาใกล้ ๆ เฒ่า ๆ แก่ ๆ ก่อน หรือใกล้จะตายก่อน หรือให้มั่งมีศรีสุขก่อน อย่าไปนึก ความมี ความทุกข์ ความจน มันเป็นของธรรมดา อยู่ประจำทุกระยะ เพราะมันเป็นของอยู่ในใจของเรา ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งของนะ อยู่ที่ใจของเรานั้นหละ มีเงินน้อยก็ตาม มีเงินมากก็ตาม แม้ไม่มีก็ตาม ความทุกข์ ความสุข มันอยู่ในใจของเรานี้หละ..
..ถ้าหากเราต้องการอยากให้ดี ก็ให้มาแก้จิตใจตัวเอง สิ่งไหนไม่ดี อย่าปล่อยเข้ามาในหัวใจ ให้มีสติสังวร ระมัดระวังไว้ หากสิ่งไหนดี จึงค่อยปล่อยเข้าไป บำเพ็ญให้เกิด ให้มีขึ้น มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี นี้ขอให้พากันเข้าใจอย่างนั้น....

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง สติคือนายประตู





บางทีเวลาทำบุญนั้น
ใจของเราซีกหนึ่งได้บุญ
แต่อีกซีกหนึ่งมีโลภะเป็นต้น ปนอยู่
นึกถึงบุญ แต่ใจมีความโลภดึงไว้
พะวงอยากได้ผลตอบแทนโน่นนี่
อย่างนี้บุญก็ได้ แต่บาปก็พ่วงมาด้วย
เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังเหมือนกัน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)







มาถวายแต่ใบปวารณาหรือ ทำไมไม่ถวายตัวเข้าพรรษาด้วยล่ะ เราไม่ได้ดูถูกญาติโยมนะ เราไม่ได้ภูมิใจที่ญาติโยมถวายใบปวารณา แต่เราภูมิใจกว่า ถ้าญาติโยมเอาใจเข้าหาอรรถเข้าหาธรรมจนได้ธรรมะ ถ้าเราหาเงินเราก็ทุกข์เพราะเงิน แต่ถ้าเราหาธรรม เราจะไม่ทุกข์เพราะธรรม

พระอาจารย์จันมี อนาลโย
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙







คราวหนึ่งมีคนแก่เรียนแก่ปัญหา เข้ามาหาหลวงพ่อเงิน

วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม แล้วก็ตั้งปัญหาถามว่า

"ทำไมพระภิกษุสมัยนี้ จึงไม่มีใครสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เหมือนครั้งพุทธกาล ?"

คล้าย ๆ จะพูดเป็นเชิงสบประมาทว่า หลวงพ่อเงินนี้ถึงจะเก่งยังไง ก็ไม่ใช่พระอรหันต์

หลวงพ่อตอบเรียบ ๆ ว่า

"คนสมัยนี้กับคนโบราณแตกต่างกันด้วยธรรมชาติ คือคนสมัยโบราณร่างกายแข็งแรงกว่า จิตใจเข้มแข็งกว่าคนสมัยนี้

ข้อสอง ศรัทธา ความเชื่อที่คนสมัยก่อนมีศรัทธาเชื่อมั่นมากกว่าคนสมัยนี้

ข้อสาม สติปัญญา คนสมัยก่อนมีสตินำหน้า มีปัญญาตามหลัง คนสมัยนี้มีปัญญานำหน้า มีสติตามหลัง มีความคิดอันฟุ้งซ่าน แต่ไม่มีสติกำกับใจของตนเอง

ข้อสี่ ความเพียร คนสมัยก่อนมีความเพียรมากกว่าคนสมัยนี้และมีขันติ ความอดทนมากกว่าคนสมัยนี้"

หลวงพ่อไม่ได้รับสมอ้างว่าสำเร็จโสดาบัน หรือเป็นพระอริยบุคคลอะไรเลย แต่พูดตามตรงว่า คนสมัยนี้สู้คนสมัยก่อนไม่ได้ในเรื่องคุณสมบัติที่จะเป็นพระอรหันต์

ชีวประวัติและคำสอนหลวงพ่อเงิน
วัดดอนยายหอม (นครปฐม)







น้ำปานะ คือ ...
เครื่องดื่มที่คั้นจากลูกไม้ หรือ น้ำคั้นผลไม้
จัดเป็น "ยามกาลิก" คือ
ของที่พระภิกษุสงฆ์รับประเคนไว้แล้ว
ฉันในช่วงหลังเที่ยงไปได้ทั้งวันทั้งคืนก่อนรุ่งเช้า

ผู้บัญญัติให้เกิดมีการดื่มน้ำปานะขึ้นเป็นท่านแรกคือ
เกณยชฎิล ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎกพระวินัย
เล่มที่ 5 ข้อที่ 86 ว่า

- พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตน้ำปานะ
หรือน้ำดื่ม 8 ชนิดคือ
1. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลมะม่วง
2. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลหว้า
3. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด
4. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด
5. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลมะซาง
6. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลจันทน์ หรือผลองุ่น
7. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลเหง้าบัว
8. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลมะปราง หรือผลลิ้นจี่

- และทรงอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด
ยกเว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก
- น้ำใบไม้ทุกชนิด
เว้นน้ำผักดอง น้ำดอกไม้ทุกชนิด
เว้นน้ำดอกมะซาง
- และทรงอนุญาตน้ำอ้อยสด

สรุปได้ว่า
ในเวลาวิกาลพระท่านสามารถดื่มน้ำผลไม้ได้ทุกชนิด
เว้นผลไม้ที่มีผลใหญ่กว่าผลมะตูม หรือผลมะขวิด

วิธีทำก็ต้องคั้นเอาแต่น้ำ และกรองให้ไม่มีกาก
จะทำให้สุกด้วยแสงอาทิตย์ก็ได้
*.. แต่ห้ามผ่านการสุกด้วยไฟ .. *

*.....น้ำที่ห้ามพระสงฆ์ดื่มใน....ยามวิกาล
- น้ำจากมหาผล คือ...ผลไม้ใหญ่ 9 ชนิด คือ
ผลตาล ผลมะพร้าว ผลขนุน
ผลสาเก น้ำเต้า ฟักเขียว
แตงไทย แตงโม และฟักทอง

- น้ำที่ได้จากธัญชาติ 7 ชนิด มี
ข้าวสาลี ข้าวเปลือก หน้ากับแก้
ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวแดง ข้าวฟ่าง

- น้ำที่ได้จากพืชจำพวกถั่ว
มีถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นต้น

รวมถึงน้ำนมสด ก็ไม่จัดเป็นน้ำปานะ เพราะนมสดถือเป็นโภชนะ (คืออาหาร) อันประณีต
ไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล

- ส่วนโภชนะอันประณีตอีก 5 อย่าง คือ
เนยใส
เนยข้น
น้ำมัน
น้ำผึ้ง
น้ำอ้อย
แม้จะเป็นอาหาร - แต่ก็เป็นเภสัช คือ ยาด้วย
พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ฉันได้ทั้งในกาลและวิกาล
คือฉันได้ไม่จำกัดเวลา

- มาถึงตรงนี้แล้ว ก็เป็นอันเข้าใจได้เลยว่า
ทั้งนม, น้ำเต้าหู้, นมถั่วเหลือง,
โอวัลติน กาแฟ ไม่จัดว่าเป็นน้ำปานะ
ฉะนั้นจะจัดน้ำปานะถวายพระก็ต้องระวังกัน







เห็นว่าการเกิดในโลกเต็มไปด้วย
ความทุกข์ เราจะเกิดกี่ชาติ มีความเกิด
มีความแก่ มีความป่วย มีความไม่สบาย
กาย ไม่สบายใจ มีการพลัดพรากจากของ
รักของชอบใจ มีความตายอย่างนี้ทุกชาติ

เราก็เบื่อการเกิดในเมื่อเบื่อความเกิด
ขึ้นมาเมื่อไร เวลานั้นก็ไปนิพพาน เป็น
อรหันต์ เป็นของไม่ยากนะ ..

(พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
ที่มาจาก.. โอวาทหลวงพ่อฯ เล่ม ๔






เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความตอนหนึ่งว่า

"ท่านทั้งหลายได้อุตส่าห์นำวัตถุปัจจัยต่างๆ มาถวายก็ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ มุ่งถวายเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย และเป็นของใช้สอยยังประโยชน์แก่คณะพระภิกษุสามเณร ที่เรียกกันว่า 'สงฆ์' ซึ่งแปลว่ากลุ่มหรือหมู่คณะ ดังที่เราชาวพุทธเรียกการให้อย่างนี้ว่า 'สังฆทาน'

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญไว้ว่า การถวายสังฆทาน คือการถวายทานให้แก่หมู่คณะสงฆ์อย่างไม่เจาะจงให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นทานอันเลิศ เกิดผลบุญอันมีอานิสงส์สูงส่งยิ่งกว่าการให้เจาะจงต่อใครคนใดคนหนึ่ง ที่เรียกว่า 'ปาฏิบุคลิกทาน' จนถึงแม้กระทั่งเจาะจงถวายต่อพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้อานิสงส์เลิศเท่ากับการถวายแก่หมู่สงฆ์ ซึ่งทรงชี้แจงไว้ว่าได้บุญกุศลสูงส่งกว่า

ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงนัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอานิสงส์ไว้ ย่อมพบคำตอบได้ว่า การคำนึงถึงประโยชน์แห่งหมู่คณะยิ่งกว่าประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดย่อมเป็นวิถีทางที่ถูกที่ควรในการประพฤติปฏิบัติตนของความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

ยิ่งท่านทั้งหลายล้วนมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสุขความทุกข์ของประชาชน หากท่านทำกิจการงานทั้งปวง โดยมีเป้าหมายคือประโยชน์สุขของส่วนรวม กล่าวคือชาติไทยเป็นสำคัญ มิใช่เพื่อความสุข หรือประโยชน์จำเพาะ แก่พวกหนึ่งพวกใด หรือคนหนึ่งคนใดแล้ว การทำงานของท่าน ก็เสมอด้วยการประพฤติธรรม เพราะเท่ากับว่าท่านกำลังทำหน้าที่อยู่ด้วยกุศลเจตนา

'การให้' ไม่ว่าจะด้วยวัตถุสิ่งของ หรือประโยชน์เชิงนามธรรมจากการทำงานอย่างสุจริตของท่าน ก็ย่อมจัดเป็นคุณูปการสำหรับแผ่นดิน เป็นประโยชน์ค้ำจุนคนทั้งชาติร่วมกัน ในลักษณะที่เปรียบได้ดั่งสังฆทาน

แต่ถ้าท่านทำงานโดยมุ่งประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ของพวกพ้องเฉพาะกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แม้จะเป็นผลดีก็ตามที แต่ก็ไม่อาจอำนวยความสุขให้แก่มหาชนในวงกว้าง การทำหน้าที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายในนามรัฐย่อมไม่เกิดประสิทธิผลตามที่ควรจะเป็น เปรียบเสมือนท่านให้เพียงจำเพาะรายบุคคล แบบปาฏิบุคลิกทาน

ส่วนบุคคลใดทำการงานโดยไม่ซื่อสัตย์ โดยทุจริต เป็นอันธพาลที่ปลอมตัวมาในคราบของคนดีเสียแล้ว ก็ไม่ควรจะต้องพูดถึงกัน เพราะไม่ว่าเขาผู้นั้นจะหวังประโยชน์สำหรับใครๆ ก็ล้วนแต่เป็นบาป นำความตกต่ำเสื่อมถอยเป็นที่หมายได้ทั้งในชีวิตนี้และในชีวิตหน้า บุคคลประเภทที่กล่าวสุดท้ายนี้ไม่ควรเป็นตำรวจ และไม่ควรจะเป็นสมาชิกในสังคมเสียเลยด้วยซ้ำ

การถวายสังฆทานของท่านในวันนี้ นอกจากจะได้อานิสงส์มาก เป็นบุญอันเลิศที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญแล้ว จึงยังเตือนใจทุกท่านให้มีอุดมการณ์ เพื่อการทำงาน และการดำรงชีวิต โดยมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์เฉพาะตน หรือเฉพาะบุคคลหนึ่งบุคคลใด ตามหลักการในพระพุทธศาสนา"








พระโอวาท
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก
เนื่องในวันอาสาฬหบูชา
พุทธศักราช ๒๕๖๐

........................................

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระพุทธรัตนะ ได้ทรงแสดงปฐมเทศนาด้วยพระธรรมรัตนะ อันมีนามว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” โปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ก่อกำเนิดพระสังฆรัตนะ ครบถ้วนพร้อมเป็น “พระรัตนตรัย” ณ ดิถีเพ็ญเดือนอาสาฬหะ

เพราะฉะนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นโอกาสสำคัญที่พุทธบริษัทจักได้น้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ย้ำเตือนจิตใจตนให้มุ่งประพฤติตามหนทางแห่งอริยมรรค ตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงไว้เป็นครั้งแรกในดิถีเช่นนี้

ท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธศาสนิกชน คงเคยปฏิญาณตนถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกกันมาแล้วทุกคน ด้วยถ้อยคำภาษาบาลีว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ, สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นต้น

ณ โอกาสคล้ายวันบังเกิดพระรัตนตรัยครบองค์สาม จึงขอเชิญชวนทุกท่านทบทวนความหมายของคำปฏิญาณที่ประกาศตนอยู่เสมอ ว่าแท้จริงแล้วมีสาระลึกซึ้งมากกว่าเพียงแค่พิธีกรรม

ถ้าท่านเป็นผู้มีพระไตรสรณคมน์คอยนำทางชีวิตอยู่ทุกขณะจิต ก็ย่อมมีความเคารพยำเกรงในคำสั่งสอนของพระศาสดา ย่อมมีความละอายชั่วกลัวบาป ไม่กล้าประพฤติล่วงละเมิด “ศีล” ซึ่งเป็นการปิดประตูสู่ความตกต่ำ และย่อมขวนขวายที่จะประพฤติ “ธรรม” ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่ความเจริญงอกงาม

ถ้าทำได้ตามนั้น ความศักดิ์สิทธิ์แห่งคุณพระรัตนตรัยย่อมมีอยู่จริง และย่อมดลบันดาลให้ท่านประสบความสุขความเจริญได้อย่างเห็นแจ้งประจักษ์จริง ด้วยผลจากความดีงามที่ท่านเพียรประพฤติตามพระพุทธธรรมนั่นเอง ไม่ใช่ด้วยอานุภาพลี้ลับซึ่งเหนือการพิสูจน์แต่อย่างใด

ประเพณีการบูชาพิเศษในวันอาสาฬหบูชา บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อเกือบ ๖๐ ปีมาแล้ว บนผืนแผ่นดินไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมควรที่เราชาวไทยจะได้ภาคภูมิใจ และขอจงใช้โอกาสวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา เป็นปฐมฤกษ์แห่งการรักษาสัจจะต่อคำปฏิญาณ ในอันที่จะละเว้นจากบาป พร้อมเร่งบำเพ็ญคุณงามความดีให้เพิ่มพูน เพื่อสันติสุขอันไพบูลย์ในชีวิตของท่าน ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ และโลกนี้สืบต่อไป.






ไหน ๆ ได้มาพบพระพุทธศาสนา
และได้ตั้งศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส
ไว้ในพระพุทธศาสนาแล้ว
ควรจะเตรียมหาเครื่องราง คือ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้
สำหรับป้องกันตัว เพื่อไม่ให้กลัวความตาย...
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)






สัมภเวสี-คนตายก่อนอายุขัย โดยหลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง...สัมภเวสี คือคนที่ตายก่อนอายุขัย เรียกว่ามีกรรมที่เรียกกันว่า อุปฆาตกรรม มาริดรอน ตัดรอนเสียตั้งแต่ยังไม่หมดอายุขัย ท่านพวกนี้เวลาตาย ทางนรกไม่ต้องการ ทางสวรรค์ไม่ต้องการ บุญที่ทำไว้ยังไม่ให้ผล หรือว่าบาปที่เขาทำยังไม่ให้ผล ยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะเรียกไปสอบสวนและจัดการลงโทษ

มีสภาพเหมือนกับคนออกจากบ้านนี้ แล้วไปเข้าบ้านโน้นไม่ได้ จะกลับมาเข้าบ้านนี้ก็ไม่ได้ เดินไปเดินมาอยู่ด้วยความลำบาก อยากจะกินอะไรก็หากินไม่ได้ ผีประเภทนี้เรียกว่าสัมภเวสี แปลว่าพวกแสวงหาที่เกิด

วิธีช่วยคนตายก่อนอายุขัย(สัมภเวสี)

ถ้าญาติของเราตาย ตายด้วยอำนาจของสัมภเวสี คือไม่สิ้นอายุ ฟ้าผ่าตาย คลอดบุตรตาย ถูกฆ่าตาย ถูกยิงตาย รถชนตาย แต่ก็ไม่แน่นักนะบรรดาพวกนี้ถึงอายุขัยก็มี แต่เผื่อเหนียวไว้ก่อน

สมมุติว่าเขาเป็นสัมภเวสี พอตายไปแล้วไม่ต้องทำบุญมาก ทำบุญให้ได้บุญชัดๆ หาอาหารชนิดที่ไม่มีบาป เอาผ้าไตรมา ๑ ไตร เอาพระพุทธรูปมา ๑ องค์ นิมนต์พระมารับสังฆทานที่บ้าน ทำเงียบๆ อย่าให้มีเหล้ายาปลาปิ้ง อย่าทุบแม้แต่ไข่สักหนึ่งฟอง เมื่อทำบุญเสร็จ อุทิศส่วนกุศลให้เฉพาะคนที่ตาย ถ้าทำอย่างนี้ละ ท่านพวกนี้จะมีความสุข ได้รับผลบุญทันที มีความผ่องใส มีความอิ่มเอิบ เมื่อเข้าถึงอายุขัยเมื่อใด ก็เป็นอันว่าพวกนี้จะไปถึงด้านของสวรรค์ก่อน






“เวลาที่จะตายนี่ มันจะควบคุมไม่ได้ แล้วแต่กรรมเวร จะนำไป ไปนรกสวรรค์ อะไรก็แล้วแต่ เลือกไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีสติ ถ้าหากว่า เราทำสมาธิไว้นี่ เวลาเราจะตายนี่ มันเหมือนลืมตา มองเห็นหนทาง ว่าทางไหนเราจะไป
ทางที่มันทุระกันดาร เราก็อย่าไป เราก็ไป ทางที่ราบเรียบ มันเลือกได้ แต่การเลือกนั้นน่ะ มันไม่ได้ ให้เวลาเรา เป็นนาทีชั่วโมง ไม่ได้น่ะ มันแป๊บเดียว มันวินาที ต่อวินาที เพราะฉะนั้น ท่านบอกว่า อย่าประมาทเลย บอกว่า ทำสมาธิ ทำจิตนี้ ให้เข้าภวังค์ตรงนี้”
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
ประธานกรรมการ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันพลังจิตตานุภาพ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร






"ค ว า ม ทุ ก ข์
ของคนประการหนึ่ง

คือต้องการให้คนอื่น
เ ป็ น อ ย่ า ง ที่ ต น เ อ ง คิ ด

ขณะที่ตนก็เป็นอย่างที่คนอื่น
อ ย า ก ใ ห้ เ ป็ น ไ ม่ ไ ด้”

หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป






คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น
เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิต
นั่นเอง

คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะ
กิเลสมีมากมาย

แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียว พระนิพพาน
การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้
มีน้อยนัก หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไป

เราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้
แล้วจะต้องหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนาน
แสนนาน เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้

ดังนั้นเมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว
รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นเสีย มิฉะนั้นจะเสีย
โอกาสอันดีนี้ไป เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูก
ลืม ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่
ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน

* ขอให้ท่านทั้งหลาย สำรวจดูความสุขว่า
ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต
ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แค่ที่เรา
เคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่า
นั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง
แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย
อยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษ
กว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น

พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วน
น้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจาก
ความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความ
สุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย

* ภิกษุเราถ้าปลูกความยินดีในเพศภาวะของ
ตนได้แล้วก็จะมีแต่ความสุข เยือกเย็น

ถ้าตัวเองอยู่ในเพศภิกษุ แต่กลับไปยินดีใน
เพศอื่น ความทุกข์ก็จะทับถมอยู่ร่ำไป

หยุดกระหาย หยุดแสวงหาได้ นั่นคือภิกษุ
ภาวะโดยแท้

ความเป็นพระนั้น ยิ่งจน ยิ่งมีความสุข

* ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เลื้อยคลาน
เล็กน้อยเช่น เหาย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด

จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดการปรุงแต่งแล้ว
ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น

* ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรม
มีสิ่งที่ไม่มี

คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้น
เป็นอยู่ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติจนถึง
สิ่งที่ไม่มีและอยู่กับสิ่งที่ไม่มี

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 159 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO