พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 10 ก.ค. 2017 8:22 am
...ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ก็ดี
เป็นอวัยวะก็ดี เป็นร่างกาย
เป็นชีวิตนี้ก็ดี..จะต้อง
มีวัน "สิ้นสุด" ไปนั่นเอง
.
...เวลาที่สิ่งต่างๆเหล่านี้หมดไป
ใจก็จะเดือดร้อน "ถ้าใจยึดสิ่งต่างๆ"
เหล่านี้ เป็นสรณะเป็นที่พึ่ง
.
...แต่ถ้าใจยึด
"ธรรมมัง สรณัง คัจฉามิ" เป็นที่พึ่ง
ใจก็จะ..ไม่เดือดร้อน
.
...ไม่ทุกข์ไปกับ
"ความเสื่อม ความสิ้นสุด"
ของทรัพย์สมบัติ ของเงินทอง
ของอวัยวะ และของชีวิต
.
...นี่แหละคือสิ่งที่ "ใจ" ต้องการ
...คือ "ธรรมะ"...
.............................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา13/6/2558
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
..การบำเพ็ญสมถะ
และวิปัสสนานี้
จะทำสลับกันไป
.
...ขณะที่ทำสมถะ
เราก็จะไม่ทำวิปัสสนา
เพราะสมถะนี้เราต้องการพักใจ
พักความคิดปรุงแต่ง
.
...ส่วนเวลาเราเจริญวิปัสสนานี้
เราต้องการใช้ความคิดปรุงแต่ง
ไปใน"ทางธรรม" .
.....................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 11/7/2558
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
...เวลาว่าง ไม่รู้จะทำอะไร
ก็ "นั่งสมาธิ" ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง
สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา
เป็นอัปปนาสมาธิ
.
...แล้วพอ ออกจากสมาธิ
ก็ใช้ความคิดพิจารณาไปทางปัญญา
พิจารณาร่างกายว่า..ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา
.
...พิจารณาว่า เวทนาความรู้สีก
ก็ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ถ้าไปอยากให้มันเที่ยง
ถ้าไปอยากให้มันเป็นของเรา
........................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 9/7/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
เครื่องรางของขลัง ผู้มีฤทธิ์เดชช่วยได้หรือไม่นั้น ช่วยได้เป็นบางส่วน ช่วยไม่ได้เป็นบางส่วน ...ที่ช่วยได้เป็นบางส่วนนั้น คือหมายความว่ากรรมของผู้นั้น (ผู้ถูกช่วย) ไม่หนักหนาอะไร ก็พอช่วยได้บ้าง เช่นกรรมหนักอย่างพระเทวทัต พระอรหันต์จำพวกใดก็ช่วยไม่ได้ เช่นผู้โทษถึงประหารชีวิต และกรรมเก่าของเขาแต่ชาติก่อนตามมาด้วยก็ช่วยไม่ได้อีกเหมือนกัน
เหตุฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงเน้นว่าการหวังพึ่งตนเองเป็นชั้นที่หนึ่ง ส่วนท่านผู้อื่นที่เราหวังพึ่งนั้น จัดไว้เป็นชั้นที่สอง สาม สี่ ไปซะ
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
อานิสงส์ของการเดินจงกรมมี
(๑) เดินทางบ่มีเจ็บแข้งเจ็บขา
(๒) ทำให้อาหารย่อย
(๓) ทำให้เลือดลมเดินสะดวก
(๔) เวลาเดินจงกรมไป ๆ มา ๆ จิตจะลงเป็นสมาธิได้
ถ้ามันรวมลงเวลาเดินจงกรมได้ สมาธิของผู้นั้นไม่เสื่อม
(๕) เทพยดาถือพานดอกไม้มา สาธุ ๆ มาอนุโมทนา
.
นี่เป็นอานิสงส์ของการเดินจงกรม บางวันเมื่อครั้งอยู่กุฏิเก่าตรงข้างเจดีย์ อาตมาเดินจงกรม มันหอม ๆ หมด ทั่วหมด หอมอิหยังนี่มันไม่เหมือนดอกไม้บ้านเรา มันแม่นเทพยดามาอนุโมทนา ถือพานดอกไม้มาอนุโมทนา
.
เรื่องเดินนี่มันเรื่องหัดสติ จะใช้นึกพุทโธไปพร้อมกันกับเท้าที่ก้าวไปก็ได้ ยังไงก็ได้ อย่าให้จิตมันออกไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ทั้งอดีตและอนาคต ให้อยู่ที่จิตเท่านั้น อาตมากำหนดพุทโธ ๆ อยู่ที่จิต เท้าก็เดินไป กำหนดอยู่ที่จิต ไม่ให้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ใด ๆ ส่วนทางเดินจงกรม ก็ไม่เลือกทิศเลือกทาง ได้หมด แล้วแต่มันจำเป็น ในที่เหมาะสม เดินไปเพื่อแก้ทุกข์เวทนา
.
ท่านอาจารย์มั่น ท่านว่าให้เดินตัดกระแสของโลก จากทิศตะวันออกไปตะวันตก ท่านว่าตัดกระแสของสมุทัย ให้ตัดกระแส แต่ถ้ามันจำเป็น มันยังไม่มีบ่อนที่เหมาะสม ก็ไม่เป็นไร เดินมันไปอย่างนั้นเพื่อแก้ทุกขเวทนาดอก
.
หลวงปู่ขาว อนาลโย
ธุดงค์นี้ต้องหาเที่ยวตามป่าตามเขา ที่นั่น ที่นี่ ถ้าจะพูดอย่างหนึ่งคือเราไม่รู้จักธุดงค์ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเลย การธุดงค์ไม่ได้หมายถึงเราต้องไปที่นั่นที่นี่ ตามป่า ตามเขา อันนี้ให้เราเข้าใจ ธุดงค์นี้มันเรื่องขูด เรื่องเกลา เรื่องแก้อารมณ์ เรื่องรู้จักอารมณ์ เรื่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ที่เราไปธุดงค์ตามป่าตามเขา ก็เพื่อจะได้เปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อจะได้สัมผัสกับธรรมชาติ อย่างนี้เป็นต้น เป็นเหตุปัจจัยให้เราคลายเครียด ไม่อยากสึก อย่างนี้เป็นต้น บางทีมันก็เห็น อนิจจัง เห็นการเปลี่ยนแปลง บางทีเดินทางไปหลายวัน เวลามันผ่านไป 4-5 เดือน อายุเราก็มากขึ้น พรรษามากขึ้น รู้อะไรมากขึ้น เราก็หมดโอกาสที่จะสึก
แต่ที่จริงแล้วการธุดงค์ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนหมายถึง ข้อปฏิบัติที่รัดกุม เพื่อแก้ไขทางจิตใจโดยตรง อันนี้ไม่ได้ว่า! อยู่ที่ไหนก็ต้องแก้จิตแก้ใจที่นั่น เป็นผู้มักน้อยสันโดษ เป็นผู้ยินดีในหลักธรรมวินัย 8 ประการ เพื่อละตัว ละตน เพื่อทำจิตใจให้มันสงบ ให้วัฏฏสงสารมันใกล้เข้ามา สั้นเข้ามา อันนี้ให้เข้าใจนะ
การธุดงค์ในป่านี้มันไม่ดีหรือ มันก็ดี พระองค์ไหนที่ไม่ไปธุดงค์ ไม่ไปป่า ไปเขา ไปเผยแผ่ส่วนมากก็จะได้นอนแผ่ ... การที่เรารู้จักความคิดรู้จักอารมณ์ในชีวิตประจำวัน คือธุดงค์ที่เราต้องแก้ไขสิ่งเหล่านั้น เวลาปรมัตถ์เกิดขึ้นแก่เรา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้นแก่เรา อันนี้คือสิ่งที่เราต้องรู้จัก เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ละทิ้งตัว ละทิ้งตน มักน้อยสันโดษ ตามขั้นตอน บางทีเราก็มองไปไกลเกิน มันเลยไม่มีข้อวัตรปฏิบัติที่จะไปสู้ ไปเอาชนะกิเลสมันได้ อย่าไปคิดว่าธุดงค์ไป อะไรไป มันจะหมดกิเลส ทำอย่างนั้นมันไม่หมดนะกิเลส ถ้าเราไม่แก้ไข ไม่ปรับปรุงจิตใจ อยู่นานก็อย่างนั้น มันไม่มีอะไรดีขึ้นเพราะเราไม่แก้ไข ก็เลยคิดว่าทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะเราปล่อยโอกาสให้ผ่านไป สิ่งที่จะละตัว ละตนเราไม่ทำกัน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็มีแต่ความเห็นแก่ตัว เทศน์อยู่ สอนอยู่ ก็มีแต่ความเห็นแก่ตัว ก็ต้องเข้าใจว่าจุดนี้เราต้องรีบแก้ไข รีบปรับปรุงตัวเอง......
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
ปีพุทธศักราช ๒๕๓๘
ในปี พ.ศ. 2493 หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เดินทางธุดงค์นำพระสงฆ์สามเณร ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ทอง หลวงปู่เพียร หลวงบุญเพ็ง หลวงปู่ลี สามเณรภูบาลฯ ไปจำพรรษาที่บ้านห้วยทราย ก่อนที่หลวงตาพระมหาบัวจะไปอยู่ที่วัดบ้านห้วยทรายนี้ ขณะที่คุณแม่ชีแก้วนั่งภาวนาได้เกิดนิมิตเห็นว่ามีเดือนตกลงมาที่วัดป่าบ้านห้วยทราย จากนั้นดวงดาวที่ล้อมรอบก็ตกลงมาด้วย คุณแม่ชีแก้วก็พยากรณ์ว่า จะมีครูบาอาจารย์องค์สำคัญและพระสงฆ์ไม่ต่ำกว่า 10 รูปมาที่บ้านห้วยทราย ต่อมาไม่นานหลวงตาพระมหาบัวก็ได้เดินทางมาที่บ้านห้วยทรายจริง ๆ ดังนิมิตของท่าน ทำให้ท่านเกิดความปีติยินดีมาก เพราะจะได้พบพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนท่านดังที่หลวงปู่มั่นได้บอกไว้ ในเวลานั้นนับได้ว่าเป็นมงคลกาลอีกสมัยหนึ่ง ของชาวบ้านห้วยทราย
การจำพรรษาที่บ้านห้วยทรายนี้ ท่านหลวงตาพระมหาบัวและสามเณรภูบาลได้ไปจำพรรษาอยู่ในถ้ำบนภูเขา ห่างจากบ้านห้วยทรายไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร ส่วนพระภิกษุท่านอื่น ๆ ก็จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทรายนั่นเอง
เมื่อคุณแม่ชีแก้วได้รับคำเตือนจากหลวงปู่มั่นเกี่ยวกับการภาวนาแล้วท่านก็ภาวนาด้วยความระมัดระวัง แต่ก็มีลักษณะเป็นนิมิตออกรู้ ออกเห็นภายนอก ลักษณะส่งจิตออกนอกจนกระทั่งคุณแม่ได้พบหลวงตาพระมหาบัว ซึ่งก็เป็นไปดังคำพยากรณ์ของหลวงปู่มั่น และคุณแม่ก็มั่นใจว่าได้พบครูบาอาจารย์องค์สำคัญแล้ว ท่านจึงได้เร่งทำความเพียรขึ้นมาอีกครั้ง
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงคุณแม่ชีแก้ว ในหนังสือหยดน้ำบนใบบัว ว่า
“พอวันพระหนึ่ง ๆ พวกเขาจะไป ไปพร้อมกันไปละ ไปทั้งวัดเขาเลยแหละ พวกแม่ชีขาวหลั่งไหลกันไป ขึ้นบนภูเขาหาเรา ตอนบ่าย 4 โมงเย็นเขาก็ไป ตอนจวน 6 โมงเย็นเขาก็กลับลงมา พอไปถึงแกก็เล่าให้ฟัง ขึ้นต้นก็น่าฟังเลยนะ พอแกขึ้นต้นก็น่าฟังทันที”
“นี่ก็ไม่ได้ภาวนา เพิ่งเริ่มมาภาวนานี่แหละ** ญาท่านมั่นไม่ให้ภาวนา” แกว่าอย่างนั้น “ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา”
เราก็สะดุดใจกิ๊ก มันต้องมีอันหนึ่งแน่นอน ลงหลวงปู่มั่นห้ามไม่ให้ภาวนานี้ต้องมีอันหนึ่งแน่นอน จากนั้นแกก็เล่าภาวนาให้ฟังนี้ โถ ไม่ใช่เล่น ๆ พิสดารเกินคาดเกินหมาย เราก็จับได้เลยทันที “อ๋ออันนี้เองที่ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา” พอไปอยู่กับเรา...ไปหาเราก็ภาวนาพูดตั้งแต่เรื่องความรู้ความเห็น ไปโปรดเปรตโปรดผีอะไรต่ออะไร นรกสวรรค์ แกไปหมด รู้หมด แกรู้ ทีนี้เวลาภาวนา มันก็เพลินแต่ชมสิ่งเหล่านี้ ครั้นไปหาเรานานเข้า ๆ เราก็ค่อยห้ามเข้าหักเข้ามาเป็นลำดับลำดา ห้ามไม่ให้ออก ต่อไปห้ามไม่ให้ออกเด็ดขาด นี่แหละเอากันตอนนี้ ทีแรกให้ออกได้ ให้ออกก็ได้ไม่ออกก็ได้ ได้ไหมเอาไปภาวนาดู?”
ครั้นต่อมา “ไม่ให้ออก” ต่อมาตัดเลยเด็ดขาด “ห้ามไม่ให้ออกเป็นอันขาด” นั่นเอาขนาดนั้นนะทีนี้ ให้แกรู้ภายใน อันนั้นเป็นรู้ภายนอก ไม่ใช่รู้เรื่องแก้กิเลส จะให้แกเข้ามารู้ภายในเพื่อจะแก้กิเลส แกไม่ยอมเข้า เถียงกัน แกก็ว่าแกรู้ แกก็เถียงกันกับเรานี่แหละ ตอนมันสำคัญนะ พอมาเถียงกับอาจารย์อาจารย์ก็ไล่ลงภูเขา ร้องไห้ลงภูเขาเลย
"ไป...จะไปที่ไหน...ไป สถานที่นี่ไม่มีบัณฑิตนักปราชญ์ มีแต่คนพาลนะ ใครเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ให้ไป ลงไป...”
ไล่ลงเดี๋ยวนั้น ร้องไห้ลงไปเลย เราก็เฉย น้ำตานี้ ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร เราเอาตรงนั้น ไล่ไป “อย่าขึ้นมานะ แต่นี้ต่อห้าม” ตัดเด็ดขาดกันเลย ไปได้ 4-5 วัน โผล่ขึ้นมาอีก
“...ขึ้นมาทำอะไร !!!...”
เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน” แกว่า
"มันอะไรกัน นักปราชญ์ใหญ่” เราว่าอย่างนั้นนะ ว่านักปราชญ์ใหญ่
แกว่า “เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อนๆ” แกจึงเล่าให้ฟังคือไปมันหมดหวัง แกก็หวังจะพึ่ง ก็พูดเปิดอกเสียเลย แกหวังว่า
“จะพึ่งอาจารย์องค์นี้ ชีวิตจิตใจมอบไว้หมดแล้วไม่มีอะไร แล้วก็ถูกท่านไล่ลงจากภูเขา เราจะพึ่งที่ไหน? แล้วเหตุที่ท่านไล่ ท่านก็มีเหตุผลของท่านว่า เราไม่ฟังคำท่าน ท่านไล่นี่ ถ้าหากว่า เราจะถือว่าท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ แล้วทำไมจึงไม่ฟังคำของท่าน เพราะเราอวดดี แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร ทีนี้ก็เลยเอาคำของท่านมาสอนมาปฏิบัติมันจะเป็นยังไง? เอาว่าซิ มันจะจมก็จมไปซิ”
คราวนี้แกเอาคำของเราไปสอนบังคับไม่ให้ออกอย่างว่านั่นแหละ แต่ก่อนมีแต่ออก ๆ ห้ามขนาดถึงว่าไล่ลงภูเขา แกไม่ยอมเข้า มีแต่ออกรู้อย่างเดียวพอไปหมดท่าหมดทางหมดทีพึ่งที่เกาะแล้ว ก็มาเห็นโทษตัวเอง
“ถ้าว่าเราถือท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ทำไมไม่ฟังคำท่าน ฟังคำท่านซิ ทำลงไปแล้วเป็นยังไงให้รู้ซิ”
เลยทำตามนั้น พอทำตามนั้นมันก็เปิดโล่งภายในซิ ทีนี้จ้าขึ้นเลยเชียวนี่ก็สรุปความเอาเลย นี่แลหะที่กลับขึ้นมา กลับขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ทีนี้ได้รู้อย่างนั้น ๆ ละทีนี้ รู้ตามที่เราสอนนะ
“เออ เอาละ ทีนี้ขยำลงไปนะตรงนี้ ทีนี้อย่าออก อย่ายุ่ง ยุ่งมานานแล้วไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร เหมือนเราดูดินฟ้าอากาศ ดูสิ่งเหล่านั้นน่ะ ดูสิ่งเหลานั้นน่ะ ดูเปรตดูผีดูเทวบุตรเทวดา มันก็เหมือนตาเนื้อเราดู สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ถอนกิเลสตัวเดียวก็ไม่ได้ นี่ตรงนี้ ตรงถอนกิเลส”
เราก็ว่าอย่างนี้ “เอ้า ดูตรงนี้นะ” แกก็ขยำใหญ่เลย เอาใหญ่เลย ลงใจไม่นานนะก็ผ่านไป แกบอกแกผ่านมานานนะ...
พ.ศ. 2494 เราไปจำพรรษาที่ห้วยทราย ในราวสัก 2495 ละมัง แกก็ผ่าน...” (บรรลุธรรม)
นอกจากนี้ หลวงตายังได้เล่าถึงคุณแม่ชีแก้วว่ามีความรู้พิสดาร รู้เห็นแม่นยำมาก เช่น เมื่อหลวงตาออกจากวัด คุณแม่ชีแก้วก็จะทราบว่าหลวงตาไปแล้วเพราะจะรู้สึกเย็นๆ ทั้ง ๆ ที่หลวงตาไม่ได้บอกใครล่วงหน้า หรือเมื่อหลวงตากลับมาที่วัดคุณแม่ชีแก้วก็จะทราบล่วงหน้าเช่นกัน ด้วยรู้สึกถึงกระแสความอบอุ่น คุณแม่ชีแก้วก็จะจัดเตรียมหุงข้าว เตรียมหมาก ให้แม่ชีนำมาถวาย ไม่มีพลาดสักครั้ง จึงทำให้หลวงตาแปลกใจมาก
และอีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือเมื่อหลวงปู่มั่นมรณภาพ คุณแม่ชีแก้วก็ทราบก่อนที่จะมีการประกาศข่าวมรณภาพของหลวงปู่มั่นทางวิทยุ เพราะเมื่อคุณแม่ชีแก้วเข้าที่ภาวนา หลวงปู่มั่นก็มาเร่งให้คุณแม่ชีแก้วไปวัดป่าบ้านหนองผือเพราะท่านอาพาธหนักและจวนจะมรณภาพแล้ว จนถึงวันที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ คุณแม่ชีแก้วก็ทราบในนิมิตภาวนาของท่าน
ตลอดเวลา 4 ปีที่หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จำพรรษาอยู่ที่บ้านห้วยทรายนั้น ชาวบ้านห้วยทรายให้ความเคารพนักและเทิดทูนหลวงตาเป็นที่สุดอย่างหาที่เปรียบมิได้ และเมื่อหลวงตาไปสร้างวัดป่าบ้านตาด อยู่ที่บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ชาวบ้านห้วยทรายก็เดินทางไปกราบนมัสการหลวงตาอยู่เสมอไม่เคยขาด
ประวัติคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ
" ไม่เพลินในสุข ไม่จมในทุกข์ "
ใช่หรือไม่ว่า หากเพลินในสุข ถึงเวลาที่สุขนั้นเจือจางหรือสลายไป ใจก็เป็นทุกข์ทันที (ยังไม่ต้องพูดถึงสุขส่วนใหญ่ ที่หากไม่รู้จักความพอดี ก็ทำให้เดือดร้อนทั้งกายและใจ) ส่วนความทุกข์นั้น แม้ผู้คนไม่ชอบ แต่พอเกิดขึ้นทีไร ใจก็จมหมกมุ่นในสิ่งนั้น แม้จะผ่านไปแล้วก็ตาม บางครั้งทุกข์ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ แต่ก็ชอบครุ่นคิดจนวิตกกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และไม่ยอมถอนใจออกมารับรู้ความสุขที่อยู่ตรงหน้า ลองฝึกใจให้ไม่เพลินในสุข และไม่จมในทุกข์ ก็จะรู้จักความสงบเย็นที่มีอยู่แล้วในใจเรา
เสียงธรรมจากพระอ.ไพศาล วิสาโล
เราทุกคนมีกรรมดีกรรมชั่วติดตัวมาตั้งแต่อดีตชาติ ผลของกรรมเหล่านั้น ก็ทำให้เราเกิดในครอบครัวต่าง ๆ จน มี ดี ชั่ว ฉลาด โง่ สวย ไม่สวย
ความพิการทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ จะเป็นผลของกรรมเช่นกัน เพราะไม่มีใครเกิดมาอยากพิการ หูหนวก ตาบอด แขนด้วน ง่อยเปลี้ย จิตใจไม่ปกติ ไม่สมประกอบ หรือปัญญาอ่อน เป็นต้น
...เมื่อเราเข้าใจและเชื่อในท่านผู้รู้ (พระพุทธเจ้า) ว่าที่เราเป็นอย่างนี้ ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็เพราะกรรมที่เราได้ทำมา ก็ควรพยายามทำกรรมดี เพื่อความสุขความเจริญของเราในภายหน้า...
ผู้ที่ประกอบกรรมดีอย่างหนักและบ่อย ๆ กรรมดีนี้อาจชนะกรรมชั่วที่เบาที่ได้ทำไว้ในอดีต
กรรมที่สำคัญที่ ๑ คือ ทางใจ ควรฝึกใจให้มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่ให้มีอิจฉาริษยา ไม่เบียดเบียน ไม่นินทา ไม่พยาบาท เป็นต้น การกระทำที่ไม่ดีทางกาย และทางวาจา ก็จะลดน้อยลงจนหมด มีจิตใจการปฏิบัติสะอาด นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง
:: สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
"ธรรมะเป็นสี่งประเสริ
หากแม้น ธรรมะประดิษฐ์
อยู่กลางดวงจิต. ดวงใจ
ของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะได้รับ
ความอบอุ่นใจมีที่พึ่งอันถาวร
สมบูรณ์ ทุกประการ จะไม่มีสี่ง
ใดๆในโลก ที่จะให้ความอบอุ่น
ยิ่งกว่าธรรมมะ"
(โอวาทหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
บุญที่ถูกลืม พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
“คุณนายแก้ว” เป็นเจ้าของโรงเรียนที่ชอบทำบุญมาก เป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าทอดกฐินอยู่เนือง ๆ ใครมาบอกบุญสร้างโบสถ์วิหารที่ไหน ไม่เคยปฏิเสธ
เธอปลื้มปิติมากที่ถวายเงินนับแสนสร้างหอระฆังถวายวัดข้างโรงเรียน แต่เมื่อได้ทราบว่านักเรียนคนหนึ่งไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนค้างชำระมาสองเทอมแล้ว เธอตัดสินใจไล่นักเรียนคนนั้นออกจากโรงเรียนทันที
-----------------
“สายใจ”พาป้าวัย ๗๐ และเพื่อนซึ่งมีขาพิการไปถวายภัตตาหารเช้าที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเจ้าอาวาสเป็นที่ศรัทธานับถือของประชาชนทั่วประเทศ
เช้าวันนั้นมีคนมาทำบุญคับคั่ง จนลานวัดแน่นขนัดไปด้วยรถ เมื่อได้เวลาพระฉัน ญาติโยมก็พากันกลับ สายใจพาหญิงชราและเพื่อนผู้พิการเดินกะย่องกะแย่งฝ่าแดดกล้าไปยังถนนใหญ่เพื่อขึ้นรถประจำทางกลับบ้าน ระหว่างนั้นมีรถเก๋งหลายสิบคันแล่นผ่านไปแต่ตลอดเส้นทางเกือบ ๓ กิโลเมตร ไม่มีผู้ใจบุญคนใดรับผู้เฒ่าและคนพิการขึ้นรถ
เพื่อไปส่งถนนใหญ่เลย
-----------------
เหตุการณ์ทำนองนี้ มิใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาดในสังคมไทย
“ชอบทำบุญแต่ไร้น้ำใจ” เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่ชาวพุทธ
ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า คนไทยนับถือพุทธศาสนากันอย่างไร จึงมีพฤติกรรมแบบนี้กันมาก เหตุใดการนับถือพุทธศาสนา จึงไม่ช่วยให้คนไทยมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่ทุกข์ยาก
การทำบุญ ไม่ช่วยให้คนไทยมีเมตตา กรุณาต่อผู้อื่นเลยหรือ หากสังเกตจะพบว่า การทำบุญของคนไทย มักจะกระทำต่อสิ่งที่อยู่สูงกว่าตน เช่น พระภิกษุสงฆ์ วัดวาอาราม พระพุทธเจ้า เป็นต้น แต่กับสิ่งที่ถือว่าอยู่ต่ำกว่าตน เช่น คนยากจน หรือสัตว์น้อยใหญ่ เรากลับละเลยกันมาก (ยกเว้นคนหรือสัตว์ที่ถือว่าเป็น “พวกกู” หรือ “ของกู”)
แม้แต่เวลาไปทำบุญที่วัด เราก็มักละเลยสามเณรและแม่ชี แต่กุลีกุจอเต็มที่กับพระสงฆ์
อะไรทำให้เราชอบทำบุญกับสิ่งที่อยู่สูงกว่าตน
ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะเราเชื่อว่า สิ่งสูงส่งเหล่านั้น สามารถบันดาลความสุข หรือให้สิ่งดี ๆ ที่พึงปรารถนา
แก่เราได้ เช่น ถ้าทำอาหารถวายพระ บริจาคเงินสร้างวัด หรือพระพุทธรูป ก็จะได้รับความมั่งมีศรีสุข มีอายุ วรรณะ
สุข พละ เป็นต้น หรือช่วยให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ มีความสุขสบายในชาติหน้า
ในทางตรงข้าม สิ่งที่อยู่ต่ำกว่าเรานั้น ไม่มีอำนาจที่จะบันดาลอะไรให้เราได้ หรือไม่ช่วยให้เราสุขสบายขึ้น เราจึงไม่สนใจที่จะช่วยเหลือเผื่อแผ่ให้แก่สิ่งเหล่านั้น นั่นแสดงว่าที่เราทำบุญกันมากมาย ก็เพราะหวังประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ
ดังนั้น ยิ่งทำบุญด้วยท่าทีแบบนี้ ก็ยิ่งเห็นแก่ตัวมากขึ้น ผลคือจิตใจยิ่งคับแคบ ความเมตตา กรุณาต่อผู้ทุกข์ยาก มีแต่จะน้อยลง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การทำบุญแบบนี้ กลับจะทำให้ได้บุญน้อยลง
แน่นอนว่า ประโยชน์ย่อมเกิดแก่ผู้รับอยู่แล้ว เช่น หากถวายอาหาร อาหารนั้น ย่อมทำให้พระสงฆ์ มีกำลังในการศึกษา ปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น แต่อานิสงส์ที่จะเกิดแก่ผู้ถวายนั้น
ย่อมไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเจือด้วยความเห็นแก่ตัว ยิ่งถ้าทำบุญ ๑๐๐บาท เพราะหวังจะได้เงินล้าน บุญที่เกิดขึ้นย่อมน้อยลงไปอีก เพราะใช่หรือไม่ว่า
นี่เป็นการ “ค้ากำไรเกินควร”
บุญที่ทำในรูปของการถวายทานนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือเงินก็ตาม จุดหมายสูงสุด
อยู่ที่การลดความยึดติดถือมั่น ในตัวกูของกู ยิ่งลดได้มากเท่าไร
ก็ยิ่งเข้าใกล้นิพพาน อันเป็นประโยชน์สูงสุด ที่เรียกว่า “ปรมัตถะ” ซึ่งสูงกว่าสวรรค์ในชาติหน้า (สัมปรายิกัตถะ) หรือความมั่งมีศรีสุขในชาตินี้ (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) แต่หากทำบุญเพราะหวังแต่ประโยชน์ส่วนตน อยากได้เข้าตัวมาก ๆ แทนที่จะสละออกไป ก็ยิ่งห่างไกลจากนิพพาน หรือกลายเป็นอุปสรรค ขวางกั้นนิพพานด้วยซ้ำ
อันที่จริง อย่าว่าแต่นิพพานเลย แม้แต่ความสุขในปัจจุบันชาติ ก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะจิตที่คิดแต่จะเอานั้น เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ ในทานมหัปผลสูตร อังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระสารีบุตรว่าทาน
ที่ไม่มีอานิสงส์มากได้แก่ “ทานที่ให้อย่างมีใจเยื่อใย ให้ทานอย่างมีจิตผูกพัน ให้ทานอย่างมุ่งหวังสั่งสมบุญ” รวมถึงทานที่ให้เพราะต้องการเสวยผลในชาติหน้า เป็นต้น
พิจารณาเช่นนี้ ก็จะพบว่า ทานที่ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ทำกันนั้น หาใช่ทานที่พระองค์สรรเสริญไม่ นอกจากทำด้วยความมุ่งหวังประโยชน์
ในชาติหน้าแล้ว ยังมักมีเยื่อใยในทานที่ถวาย
กล่าวคือทั้ง ๆ ที่ถวายให้พระสงฆ์ไปแล้ว ก็ยังไม่ยอมสละสิ่งนั้นออกไปจากใจ แต่ใจยังมีเยื่อใยในของชิ้นนั้นอยู่ เช่น เมื่อถวายอาหารแก่พระสงฆ์แล้วก็ยังเฝ้าดู
ว่าหลวงพ่อจะตักอาหาร “ของฉัน”หรือไม่
หากท่านไม่ฉัน ก็รู้สึกไม่สบายใจ คิดไปต่าง ๆ นานา นี้แสดงว่ายังมีเยื่อใย ยึดติดผูกพันอาหารนั้นว่า
เป็นของฉันอยู่ ไม่ได้ถวาย ให้เป็นของท่านอย่างสิ้นเชิง
เยื่อใยในทานอีกลักษณะหนึ่งที่เห็นได้ทั่วไป ก็คือ การมุ่งหวังให้ผู้คนรับรู้ว่าทานนั้น ๆ ฉันเป็นผู้ถวาย ดังนั้นตามวัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วประเทศ ของใช้ต่าง ๆ ไม่ว่า ถ้วย ชาม แก้วน้ำ หม้อ โต๊ะ เก้าอี้ ตลอดจนขอบประตูหน้าต่างในโบสถ์ วิหารและศาลาการเปรียญ จึงมีชื่อผู้บริจาค
อยู่เต็มไปหมด กระทั่งพระพุทธรูปก็ไม่ละเว้น ราวกับจะยังแสดงความเป็นเจ้าของอยู่ หาไม่ก็หวังให้ผู้คนชื่นชมสรรเสริญตน
การทำบุญอย่างนี้ จึงไม่ได้ละความยึดติดถือมั่นในตัวตนเลย หากเป็นการประกาศตัวตนอีกแบบหนึ่งนั่นเอง การทำบุญแบบนี้แม้จะมีข้อดีตรงที่ช่วยอุปถัมภ์
วัดวาอารามและพระสงฆ์ให้ดำรงอยู่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ส่งเสริมให้ผู้คน
มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากหรือไร้อำนาจวาสนา
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่เมืองไทยมี
วัดวาอารามใหญ่โต และสวยงามมากมาย แต่เวลาเดียวกัน ก็มีคนยากจน และเด็กถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก ไม่นับสัตว์อีกนับไม่ถ้วน ที่ถูกละเลย หรือถูกปลิดชีวิตแม้กระทั่งในเขตวัด อันที่จริงถ้ามองให้กว้างกว่าการทำบุญ ก็จะพบปรากฏการณ์ในทำนองเดียวกัน
นั่นคือ คนไทยนิยมทำดีกับคนที่ถือว่าอยู่สูงกว่าตน แต่ไม่สนใจที่จะทำดีกับคนที่ถือว่าต่ำกว่าตน เช่น ทำดี กับเจ้านาย คนรวย ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ทั้งนี้ก็เพราะเหตุผลเดียวกันคือ คนเหล่านั้นให้ประโยชน์แก่เราได้ (หรือแม้เขาจะให้คุณได้ไม่มาก แต่ก็สามารถให้โทษได้) ประโยชน์ในที่นี้ ไม่จำต้องเป็นประโยชน์ทางวัตถุ อาจเป็นประโยชน์ทางจิตใจ ก็ได้ เช่น คำสรรเสริญ หรือการให้ความยอมรับ
ประการหลังคือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยขวนขวาย
ช่วยเหลือฝรั่งที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างเต็มที่ แต่กลับเมินเฉย หากคนที่เดือดร้อนนั้นเป็นพม่า มอญลาว เขมร
หรือกะเหรี่ยง ใช่หรือไม่ว่า คำชื่นชมของพม่า
หรือกะเหรี่ยง ความหมายกับเราน้อยกว่า
คำสรรเสริญของฝรั่ง
บุคคลจะได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญ ไม่ใช่เพราะนิยมทำบุญกับสิ่งที่อยู่สูงกว่าตนเท่านั้น หากยังยินดีที่จะทำบุญกับสิ่งที่เสมอกับตน หรืออยู่ต่ำกว่าตนอีกด้วย แม้เขาจะไม่สามารถให้คุณ ให้โทษแก่ตนได้ ก็ช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ ทั้งนี้เพราะมิได้หวังผลประโยชน์ใด ๆ นอกจากความปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ นี้คือกรุณาที่แท้ในพุทธศาสนา
การทำดีโดยหวังผลประโยชน์ หรือยังมีการแบ่งแยก และเลือกปฏิบัติอยู่ ย่อมไม่อาจเรียกว่า ทำด้วยเมตตากรุณาอย่างแท้จริง จะว่าไปแล้ว ไม่เพียงความใจบุญ หรือความเป็นพุทธเท่านั้น แม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ก็วัดกันที่ว่า
เราปฏิบัติอย่างไร กับคนที่อยู่ต่ำกว่าเรา หรือมีอำนาจน้อยกว่าเรา หาได้วัดที่การกระทำต่อคนที่อยู่สูงกว่าเราไม่
ถ้าเรายังละเลยเด็กเล็ก ผู้หญิง คนชรา
คนยากจน คนพิการ คนป่วย
รวมทั้งสัตว์เล็กสัตว์น้อย แม้จะเข้าวัดเป็นประจำ บริจาคเงินให้วัด อุปถัมภ์พระสงฆ์มากมาย ก็ยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นคนใจบุญ เป็นชาวพุทธ หรือเป็นมนุษย์ที่แท้
ไม่ผิดหากจะกล่าวว่า นี้เป็นเครื่องวัดความเป็นศาสนิกที่แท้ใน
ทุกศาสนาด้วย แม้จะปฏิบัติตามประเพณี พิธีกรรมทางศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่เมินเฉยความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์
หรือยิ่งกว่านั้นคือ กดขี่บีฑาผู้คนในนามของพระเจ้า ย่อมเรียกไม่ได้ว่าเป็นศาสนิกที่แท้ จะกล่าวไปใยถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ในแง่ของชาวพุทธ การช่วยเหลือผู้ที่
ทุกข์ยากเดือดร้อน ทั้ง ๆ ที่เขาไม่สามารถให้คุณให้โทษแก่เราได้ เป็นเครื่องฝึกใจให้มีเมตตากรุณา และลดละความเห็นแก่ตัวได้เป็นอย่างดี
ยิ่งทำมากเท่าไร จิตใจก็ยิ่งเปิดกว้าง อัตตาก็ยิ่งเล็กลง ทำให้มีที่ว่างเปิดรับความสุขได้มากขึ้น ยิ่งให้ความสุขแก่เขามากเท่าไร เราเองก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น สมดังพุทธพจน์ว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข” เป็นความสุขที่ไม่หวังจะได้รับ แต่ยิ่งไม่อยาก ก็ยิ่งได้ ในทางตรงข้ามยิ่งอยาก ก็ยิ่งไม่ได้
เมื่อใจเปิดกว้างด้วยเมตตากรุณา เราจะพบว่าไม่มีใครที่อยู่สูงกว่าเราหรือต่ำกว่าเรา ถึงจะเป็นพม่า มอญ ลาว เขมร กะเหรี่ยง ลัวะ ขมุ เขาก็มีสถานะเสมอเรา คือเป็นเพื่อนมนุษย์ และเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย กับเรา แม้แต่สัตว์ก็เป็นเพื่อนเราเช่นกัน จิตใจเช่นนี้คือจิตใจของชาวพุทธ และเป็นที่สถิตของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
การทะนุบำรุงพุทธศาสนาที่แท้ ก็คือการบำรุงหล่อเลี้ยงจิตใจเช่นนี้ให้
เจริญงอกงามในตัวเรา ในลูกหลานของเรา และในสังคมของเรา หาใช่การทุ่มเงินสร้างโบสถ์วิหารราคาแพง ๆ หรือสร้างพระพุทธรูปให้ใหญ่โตที่สุดในโลกไม่
ดังนั้น เมื่อใดที่เราเห็นคนทุกข์ยาก ไม่ว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน เชื้อชาติอะไร
ต่ำต้อยเพียงใด อย่าได้เบือนหน้าหนี ขอให้เปิดใจรับรู้ความทุกข์ของเขา แล้วถามตัวเองว่า เราจะช่วยเขาได้หรือไม่ และอย่างไร เพราะนี้คือโอกาสดีที่เราจะได้ทำบุญ ลดละอัตตาตัวตน และบำรุงพระศาสนาอย่างแท้จริง
โดย… พระไพศาล วิสาโล
"มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ไม่ใช่ว่า
พอเกิดแล้วปั๊บ เราประเสริฐทันที
เราจะประเสริฐได้ ก็ด้วยการฝึก"
-:-พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ-:-
"คนโง่ เอาใจไว้ที่ปาก
คนฉลาด เอาปากไว้ที่ใจ"
-:- พระสุพรหมยานเถร (พรหมา พฺรหฺมจกฺโก) -:-
"ก้อนหินที่วางนิ่งอยู่ไม่หนัก
มันจะหนักต่อเมื่อ
เราอยากได้ เอาใจไปยกมัน"
-:-หลวงปู่ชา สุภัทโท-:-
"การทำผิด เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์
ถ้าค้นพบความผิด แล้วแก้ไข
และตั้งใจไม่ทำอีก เป็นซ้ำสอง
น่ายกย่องนับถือยิ่งนัก"
-:- หลวงปู่แหวน สุจิณโณ -:-
" เผลอๆ หลงๆ ลืมๆ ขาดสติ แล้วจะเอาปัญญาที่ไหน ปัญญาไม่เกิด ปัญญาจะเกิดต้องอยู่ด้วยความนิ่งเสียก่อน เหมือนดั่งน้ำนิ่ง ถ้าน้ำมันกระเพื่อมอยู่ มันก็ดูเงาตัวเองไม่ได้ไม่ชัด จะดูอะไรๆ ก็ไม่ชัด แม้ธรรมะก็คิดปรุงไปหมด เป็นวิปลาสคลาดเคลื่อน ไม่เป็นของจริง ต้องให้มันนิ่ง ก็ดูเงาได้ชัดเจนฉันใด ถ้าใจเราไม่จดจ่อ ดูอะไรก็ไม่ชัด ถ้าใจนิ่งเห็นอะไรๆชัด เห็นสังขารตามความจริง มีโอกาสสิ้นสงสัย "
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
มีสติแนบกับความรู้
ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
พิจารณาลมหายใจเป็นไตรลักษณ์ หรือพิจารณากายคตาสติ
คือ พิจารณาร่างกายมองกระดูก
เอามันจุดเดียวก็ได้ ไม่ต้องนึกต้องคิด
มันจะแจ้งมันเอง
เห็นหมดในร่างกาย
แจ้งในความไม่มีอะไรเป็นเรา มีแต่ของสกปรก
เอาให้เห็นความโง่
บรมโง่ของเรา
ของมันเน่า มันเปื่อย
มีแต่ของสกปรก เราหลงรักหลงยึด
จนจะตายกับของไม่เที่ยง
แถมไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
มีแต่ของโสโครก
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.