พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พุธ 12 ก.ค. 2017 5:06 am
"หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง"
ถาม : ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี โดยได้ความสงบระดับปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน คือยังไม่ได้อัปนา หรือ ฌาน๔ นั่นมีหรือไม่ครับ
พระอาจารย์ : ก็ไม่ได้ไปสำรวจดู เราไม่รู้ แต่ถ้าฟังโดยหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ท่านก็ทรงแสดงว่าสมาธิสนับสนุนปัญญา และสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็คืออัปนาสมาธิ ฉะนั้นจะถึงนั่นหรือไม่ถึงนั่นแล้วบรรลุได้หรือไม่ได้ อันนี้เราก็ไม่รู้กัน ถ้าบรรลุได้ก็ดี ไม่เป็นไร อันนี้เป็นเพียงแต่เป็นการแสดงหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นมาตรฐาน แต่ถ้าเราเป็นคนนอกมาตรฐาน เราสามารถที่จะบรรลุได้โดยไม่มีสมาธิ ก็ขออนุโมทนาด้วย ไม่เป็นปัญหาอะไร.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"นรก ทำไมสัตว์นรกจึงยังอยู่ได้"
" .. เพราะเหตุ "คนไม่เห็นกิเลสของตน" อันว่าความยินดียินร้าย "พอใจไม่พอใจนั้นเป็นตัวกิเลสทั้งหมด" พระองค์จึงทรงค้นคว้าพิจารณาเห็นว่า อ้อ! อันนี้เองมันทำให้มนุษย์สัตว์โลกพากันหลงงมงายไปในที่ต่าง ๆ
"เห็นของเลวเป็นของดี เห็นกิเลสเป็นของชอบใจ" มันก็ยากนักที่จะพ้นจากโลกนี้ได้ "เห็นว่ามนุษย์ทั้งหลายวิ่งเลาะอยู่ในขอบเขตอันนั้นแหละ" ไม่มีการไปพ้นได้ เพราะวนเวียนอยู่ไม่กล้าข้ามพ้นได้
เรื่องกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ คนเราทั้งหลายอยู่ด้วยความร้อนเหล่านี้เรียกว่านรก "นรก ทำไมสัตว์นรกจึงยังอยู่ได้" มันก็อย่างนี้แหละ "มันอยู่ได้เพราะเหตุมันชอบใจนั่นเอง" ก็เมื่อใดมันร้อนเต็มที่แล้ว ถึงจะอยู่ไม่ได้นั่น เรียกว่าร้อนเต็มที่ เช่น ..
การเห็นรูปอย่างนี้เป็นต้น "ชอบอกชอบใจ อยู่ที่ไหนก็อยากไป ได้ยินข่าวก็อยากไปชมอยากไปดู"
เสียงก็เหมือนกัน "ได้ยินข่าวว่าเสียงเพราะอยู่ที่ไหนก็อยากฟัง" อยู่ใกล้อยู่ไกลสักเท่าไรก็อุตส่าห์พยายามไป "เพื่อให้จิตใจมันจมลงในนั้น" ไม่ให้มันพ้นขึ้นมาจากนั้นได้
"นั่นแหละจึงว่า สัตว์นรกมันอยู่ได้ด้วยอาการอย่างนี้" .. "
"เห็นกิเลสเป็นของดี"
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
“ฝึกยาก”
..คนทุกวันนี้มันไม่ค่อยสงบหรอก พระบวชใหม่ ๆ เก่า ๆ ก็เหมือนกัน หาแต่วิ่งตามใจตัวเองอยู่ไม่หยุดหย่อน เดี๋ยวอันนั้นเดี๋ยวอันนี้ อยากได้อันนั้น อยากได้อันนี้ แสวงหาข้างหน้า แสวงหาข้างหลังอยู่อย่างนั้น ไปหาเอาแต่ของภายนอกอยู่อย่างนั้น หาสิ่งชอบของใจ ขอแต่ว่ามี คว้าเอามาใส่เลย เลี้ยงดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งฝึกยากเท่านั้น..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง เอาสมาธิเป็นยาแก้ไข้
...พยายาม
ทำการบ้านให้หนักตลอดเวลา
กับ "เรื่องจริงเหตุการณ์จริง"
ขณะที่ดำเนินชีวิตประจำวัน
.
...เฝ้าดูอารมณ์ที่มากระทบ
พยายามวาง "ใจ,จิต"
ความคิดนึกให้เป็นกลาง
"อุเบกขา..เบาสบายๆ"
.
...ต้องต้อนรับกับ..ทุกเรื่องราว
"ที่เข้ามากระทบ"
หลังจากได้พิจารณาแล้ว
สิ่งที่หนัก..ก็วาง
แม้สิ่งที่เบา..เราก็วาง
"ชอบก็..วาง ไม่ชอบก็..วาง"
.......................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา21/7/2557
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
"อย่าไปยุ่งกับเขาดีกว่า "
ถาม : คนติดดีคิดว่าตัวเองทำดี แต่คนอื่นไม่ดี จะตักเตือนท่านอย่างไรดีคะ
พระอาจารย์ : ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ต้องไปตักเตือนนี่ ถ้าเป็นหน้าที่ค่อยตักเตือน ความจริงติดดีมันก็ไม่เสียหายตรงไหน เพียงแต่ว่าอย่าไปหลงคิดว่าตนเองดี ติดดีกับหลงดีมันต่างกันนะ ติดดีก็ชอบทำความดีไม่เสียหาย ชอบทำบุญทำไปเถอะปล่อยเขาทำไป ชอบทำประโยชน์สุขให้แก่ผู้อื่นถึงแม้ตัวเขาจะทุกข์เดือดร้อนแต่เขายินดีจะทำก็ไม่เป็นไร แต่หลงดีเนี่ยคิดว่าตัวเองดี คิดว่าตัวเองเก่งอย่างงี้ แต่ความจริงแล้วไม่ดีไม่เก่ง อย่างงี้เป็นอันตราย เพราะจะทำให้ตัวเองไม่พัฒนาตัวเอง แต่ถ้าไม่ใช่เป็นเรื่องของเราไม่เกี่ยวกับเราก็ปล่อยเขาไป ไปพูดแล้วเดี๋ยวก็อาจจะกลายเป็นเวรเป็นกรรมกัน โกรธเกลียดกันขึ้นมาได้ นอกจากเป็นหน้าที่ของเรา ถึงแม้จะเป็นหน้าที่บางทีไปพูดเขาก็ยังเกลียดเรา เพราะเขาไม่ชอบฟัง มันเป็นสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกนึกคิดของเขา เขาคิดว่าเขาดี แต่เราไปบอกว่าเขาไม่ดีเขาก็ไม่พอใจนะ ฉะนั้นการจะพูดอะไรเกี่ยวกับผู้อื่นนี้ ต้องอยู่ที่ว่าเขามาขอร้องให้เราพูดหรือเปล่าจะดีกว่า ถ้าเขามีปัญหาเขามาขอปรึกษาเราว่าทำไมมีแต่คนเกลียดเราอย่างนี้ เราก็อาจจะบอกเขาว่าก็เพราะคุณทำตัวแบบนี้ๆ เขาถึงเกลียดคุณน่ะสิ แต่ถ้าอยู่ดีๆ ไปบอกเขานี่อย่าไปยุ่งกับเขาดีกว่า แทนที่จะได้บุญกลับจะได้โทษกลับมา เขาอาจจะโกรธเกลียดกัน คบเลิกกันเป็นเพื่อนเลยเลิกคบกันเป็นเพื่อนเลย ไม่อยากจะฟังเสียงของเรา.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
หลวงปู่โชติระลึกชาติ
หลวงพ่อพระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) ได้เล่าถึงเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของท่านว่า เมื่อชาติก่อนท่านมีชื่อว่า “เล็ง ” บิดาชื่อ “วา“ มารดาชื่อ “มา” เกิดที่จังหวัดสุรินทร์เช่นเดียวกับในชาติปัจจุบัน นายเล็งเป็นลูกคนโตของครอบครัวและมีน้องอีกหลายคน แต่น้องคนถัดจากนายเล็งเป็นผู้หญิงชื่อว่า “เหรียญ” ในบรรดาน้องๆ ด้วยกัน นางเหรียญจะคุ้นเคยสนิทสนมกับนายเล็งมากกว่าคนอื่น เพราะมีอัธยาศัยจิตใจต้องกัน จึงห่วงใยกัน มีการงานอะไรก็ช่วยกัน และจะไปไหนก็มักจะไปด้วยกัน ต่อมานายเล็งได้บวช เขาก็บวชอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๐ พรรษา และได้ศึกษาธรรมวินัยภาคภาษาเขมรจนแตกฉาน
ต่อมาลาสึก ขณะนั้นนางเหรียญน้องสาวมีบุตร-ธิดาแล้ว ๗-๘ คน เมื่อนายเล็งสึกจากพระมาก็มีภรรยาชื่อว่า “ปุ่ม” มีลูกสาวด้วยกัน ๓ คน ต่อมาเมื่อปีวอก พ.ศ.๒๔๕๑ นายเล็งอายุได้ ๕๕ ปี ก็เกิดเจ็บป่วยเริ่มตั้งแต่เดือน ๘ จนถึงเดือน ๑๑ ของปีนั้น ครั้นใกล้วันออกพรรษา อาการป่วยก็ทรุดหนัก และในวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๕๑ เวลาดึก นางเหรียญ ได้คลอดบุตรคนที่ ๑๑ ที่บ้านกระทม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
ต่อมาวันรุ่งขึ้น เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ พวกญาติที่มาเยี่ยมนายเล็งซึ่งกำลังป่วยหนักได้ข่าวว่านางเหรียญ คลอดบุตรก็พากันไปเยี่ยมนางเหรียญ ทางด้านนายเล็งซึ่งกำลังป่วยหนัก เมื่อได้ทราบว่านางเหรียญคลอดบุตรก็อยากไปเยี่ยมบ้าง เพราะมีความห่วงใยน้องสาวของตนมาก แต่ก็ไม่มีกำลังจะไป แม้อยากจะถามก็ไม่มีเสียงพูด เพราะอ่อนเพลียเหลือเกิน แล้วทำใจให้เป็นสมาธินอนหลับไป
ทันใดนั้นก็รู้สึกมีอาการคล้ายกับว่าเคลิ้มสบายแล้วผลอยหลับไป ต่อมามีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ยังมานั่งร่วมวงคุยกับญาติมิตรที่มาเยี่ยมไข้ตน แต่ก็แปลก จะพูดจากับใครก็ไม่มีใครพูดด้วย ไม่มีใครหันมามอง คล้ายกับว่าพวกเขาไม่ได้เห็นไม่ได้ยิน นายเล็งพูด สักครู่ใหญ่ญาติคนหนึ่งมาคลำดูที่ปลายเท้านายเล็ง เพื่อจะได้ทราบว่าอาการเป็นอย่างไร ก็ปรากฏว่านายเล็งตายเสียแล้ว จึงร้องไห้กันใหญ่ แต่ตัวนายเล็งเองกับรู้สึกว่าเที่ยวปลอบคนนั้นคนนี้ว่าไม่ต้องร้องไห้เสียใจ เพราะนายเล็งไม่ได้เป็นอะไร สุขสบายดี จะพูดปลอบอย่างไรก็ไม่มีใครได้ยิน
ต่อมาพวกญาติได้ช่วยกันอาบน้ำศพ แต่งงานศพตามประเพณี ตลอดเวลาที่เขาตั้งงานศพ นายเล็งมีความรู้สึกว่าไม่ได้เสียใจอาลัยในร่างเก่าของนายเล็งที่ตายไปแล้ว มีความรู้สึกเฉยๆ คล้ายกับไม่ได้ยินดียินร้ายกับเสื้อผ้าที่ถอดทิ้งไปฉันนั้น แต่ที่รู้สึกแปลกก็คือมีความสามารถพิเศษ คือสามารถมองเห็นผู้คนที่กำลังเดินมางานศพ แม้ยังอยู่ไกลๆ ก็มองเห็นได้ยินอะไรนิดเดียวก็รู้ทันที แล้วเมื่อใดที่ได้ยินหรือได้เห็น ก็จะไปถึงที่นั่นเมื่อนั้นทันที ตัวไว หูไว ตาเร็วเป็นพิเศษ
นายเล็ง ได้คอยรับแขก คอยปลอบโยนแต่ไม่มีใครได้ยิน คอยช่วยเหลือรับสิ่งของที่คนอื่นถือมาช่วยงาน แต่ก็ไม่มีใครส่งให้ นายเล็งตายเมื่อ แรม ๓ ค่ำเดือน ๑๑ เวลา ๑๕ นาฬิกา ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ ๒ วัน ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๑๑ ก็นำไปฌาปนกิจ ในวันนำศพไปป่าช้า นางปุ่ม ภรรยานายเล็งและญาติคนอื่นๆ เดินร้องเคียงข้างไปกับเกวียนลากศพ นายเล็งถึงแม้จะไม่มีใครเห็นตัว แต่คอยเป็นหัวหน้าเป็นเจ้าภาพในงานทำศพไปจนถึงวันฌาปนกิจ คอยปลอบโยนคนโน้นคนนี้แต่ไม่มีใครได้ยิน
เมื่อเผาศพแล้ว พวกญาติก็นำอัฐิไปตั้งทำพิธีทำบุญอีกครั้งหนึ่ง พิธีสิ้นสุดเมื่อประมาณเวลา ๒๐ นาฬิกา จากนั้นพวกญาติก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ส่วนนายเล็งเมื่อร่างถูกเผาแล้ว พิธีต่างๆ สิ้นสุดแล้ว ก็คิดอยากจะไปเยี่ยมนางเหรียญ ซึ่งคลอดลูกกำลังอยู่ไฟ พอนึกเท่านั้นก็ปรากฏว่าไปถึงบ้านนางเหรียญทันที ตามปกติเมื่อเดินไปบ้านนางเหรียญจะต้องผ่านต้นไม้หลายชนิดตามรายทาง แต่แปลกใจไปคราวนี้ไม่ได้ผ่านอะไรเลย เมื่อถึงบ้านก็เห็นนางเหรียญกำลังนอนกกลูกน้อย เมื่อเห็นทารกนายเล็งก็รู้สึกชอบใจอยากเข้าไปกอดจูบให้สมใจ
ในขณะที่ นายเล็ง ยืนดูทารกอยู่นั้น นางเหรียญ ตื่นขึ้นลืมตาเห็นนายเล็งพอดี นายเล็งก็ยิ้มให้ แต่คราวนี้แปลกนางเหรียญกลับเห็นนายเล็งได้นางได้พูดว่า “คุณพี่ไปคนละทิศละทางแล้ว บ้านไหนสบายก็เชิญไปตามสบายเถอะ อย่ามารบกวนน้องเลย” นายเล็งรู้สึกละอายใจมาก เพราะเขาไม่ยินดีตอบรับ จึงตัดสินใจกลับ แต่ยังรู้สึกรักในทารกนั้นมากคิดว่าไหนๆ ก็จะกลับแล้ว ขอให้ดูทารกให้เต็มตาสักครั้งก็ยังดี จึงชะเง้อคอยเพ่งดูทารกจนพอใจแล้วจึงหันหลังกลับออกไป แต่พอกลับตัวเท่านั้นก็รู้สึกหมุนติ้วเหมือนลูกข่าง
ไม่ทราบว่ากี่รอบแล้วก็หมดความรู้สึกไปแค่นั้น มารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อทารกนั้นพลิกคว่ำพลิกหงายได้ แต่ยังพูดจาไม่ได้ แต่เมื่อเห็นใครที่เคยรู้จักในชาติก่อนก็จำได้ อยากจะพูดกับเขา แต่ก็พูดไม่ได้ เพียงแต่ยกมือและพูดอ้อแอ้ได้เท่านั้น ต่อมาเมื่อพูดได้ก็บอกความจริง ว่าตนคือนาย “เล็ง” ไม่ใช่ชื่อ “โชติ” ดังชาติในชาติปัจจุบัน เป็นลูกของ “พ่อวา แม่มา” ไม่ใช่ “แม่เหรียญ พ่อแป๊ะ” ในชาติปัจจุบัน เมื่อมีคนมาถามว่าชื่ออะไร ก็ตอบว่า “ชื่อนายเล็ง” บ้านอยู่ที่ไหนก็ชี้ถูก มีภรรยาชื่ออะไร ก็ตอบว่า “ชื่อปุ่ม” มีลูกกี่คนก็ตอบว่า “สามคน” เป็นหญิงหรือชาย ก็ตอบว่า “หญิงทั้งหมด” เหล่านี้เป็นต้น
เป็นคำตอบคำถามง่ายๆ ได้ถูกหมด อีกทั้งนางเหรียญก็เคยเล่าให้ญาติๆ ฟังว่า เมื่อคืนวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๑๑ หลังจากฌาปนกิจศพของนายเล็งแล้วเมื่อคืนนั้นได้เห็นนายเล็งมาปรากฏตัว จึงทำให้คนเชื่อว่า เด็กชายโชติคือนายเล็งมาเกิด และก็เห็นด้วยเหตุนี้เด็กชายโชติจึงไม่เรียกนางเหรียญว่าแม่แต่เรียกว่าน้อง ส่วนยายก็เรียกว่าแม่ และลูกสาว ๓ คนในชาติก่อน จะเรียกเด็กชายโชติว่าพ่อ ถ้าเรียกว่าน้องเด็กชายโชติจะโกรธถึงกับด่าให้เลย เพิ่งจะมาเปลี่ยนมานับถือแบบชาติปัจจุบันเมื่อได้บวชแล้ว แต่ก็ยังพอใจให้ลูกทั้ง ๓ คนเรียกว่าพ่อในชาติปัจจุบัน
เกร็ดประวัติพระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสัมฺปนฺโน)
วัดวชิราลงกรณวราราม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
จากบทความ
“ท่านพระเทพสุทธาจารย์ ระลึกชาติก่อนได้ 1 ชาติ"
"ความโศกเศร้า มิได้ทำให้ใคร
ได้รับประโยชน์อย่างไร
นอกจากทำให้ศัตรูของเขาดีใจ"
-:-ท่านพุทธทาสภิกขุ-:-
บ้านที่แท้จริง ::บ้านที่ซื้อมา หรือสร้างขึ้นมา หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านเรียกว่าบ้านของโลก หรือ บ้านข้างนอก ไม่ใช่บ้านที่แท้จริงอาศัยอยู่ได้ชั่วคราว แล้วก็ต้องจากไป
บ้านที่สอง คือร่างกาย เราเข้าใจว่าเป็นของเรา ก็ไม่ใช่อีกมันแก่ มันผุพังไปทุกวัน ห้ามก็ไม่ฟังอยากให้มัน คงทนถาวร อยู่ยาวนาน ก็เป็นไปไม่ได้
บ้านที่สาม คือ ตัวอัตตา ที่ความคิดจิตใจสร้างขึ้นแล้วสมมติให้เล่นบท เป็นตัวนั่นตัวนี่มีตำแหน่ง ยศฐาบรรดาศักดิ์ มีฐานะทางสังคมรองรับแต่พอถึงวันเกษียณอายุ บ้านหลังนี้ พังลงในพริบตาจะยื้อยุดอย่างไรก็ไม่ได้บ้านที่แท้จริง คือ ความรู้สึกที่มันสงบอยู่ในส่วนลึกของจิตใจถูกความคิดและอารมณ์ต่างๆปกคลุมไว้ต้องอาศัย...การเจริญสติ ให้เกิดสมาธิ และปัญญาจึงจะมองเห็น และ เข้าไปอาศัยในบ้านหลังนั้นได้
บ้านหลังนี้ เป็นอกาลิโก อยู่ได้ตลอดกาล ไม่มีวันผุพังมีความสมบูรณ์พร้อมในตัว ไม่ต้องการเครื่องเรือนหรือของตกแต่งใดๆเพิ่มเติมคนที่จะเข้าไปได้ ต้องวางทุกอย่างให้หมดเสียก่อนจึงจะเข้าไปอาศัยได้
ชีวิตของเราทุกคน เหมือนการเดินทาง
แวะพักชั่วคราว เข้าบ้านหลังนั้น ออกหลังนี้ เรื่อยไปแต่ไม่เคยสบายใจได้นานเพราะมันไม่สงบ เหมือนได้อยู่บ้านตนเอง บ้านที่แท้จริงของเราอยู่ที่ไหน ?
หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านสอนว่า
"ความสงบ" นั้นแหละ คือบ้านที่แท้จริง
“ความเมตตานี้ทำให้สัตว์ไม่อยากทำร้ายมนุษย์ แล้วทำอย่างไรถึงจะมีเมตตา ก็การ “ให้อภัย” เป็นทานนี้ไง
ทำให้เกิด “ความเมตตา” การให้อภัย ไม่คิดอิจฉา ริษยา อาฆาตร้ายต่อผู้อื่น ใครทำไม่ดีกับเราก็พยายามปล่อยวางให้ได้ พยายามรักทุกคนให้เสมอกันให้ได้ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทำแบบนี้เรื่อย ๆ ความเมตตาจะบังเกิดขึ้นเอง คราวนี้ไปที่ไหนก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะถ้าเราไม่คิดร้ายใคร ใครก็ไม่คิดร้ายเราเช่นกัน"
โอวาทธรรม หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญวัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.