ผู้ถาม : "กรรมเวรที่มีติดตัวมาในชาตินี้ จะสามารถชดใช้ให้หมดสิ้นในชาติหนึ่ง หรือไม่? ถ้าไม่สร้างกรรมเวรใหม่ และมีวิธีใดจะชดใช้ ให้หมดสิ้นไปโดยเร็วในชาติหนึ่งๆ"
หลวงปู่ : "โอ้ ญาติโยม เรื่องกรรมเรื่องเวรเนี่ย ปัญหานี้อาตมาไม่อยากให้คิดจะดีกว่า อยากให้มุ่งสร้างความดีเลย ปฏิบัติดีไปเลย กรรมเวรที่สร้างมาทุกภพทุกชาตินี้มีมากมายก่ายกอง อย่าไปคิดถึงมัน
ครูบาอาจารย์ทุกองค์เนี่ย อาตมาถามท่าน ถ้าเราว่าจะใช้ให้มันหมดเนี่ย มันเล่นงานเราทีเดียวเลยนะโยม เล่นงานให้เจ็บป่วยเลย มันรุมใส่เลย
เหมือนเราปฏิบัติ เร่งเดินจงกรม เร่งนั่งภาวนา เร่งปฏิบัติ ขันธ์มาร ในร่างกาย ก็มีการเจ็บป่วย เป็นหวัดเป็นไอ เป็นไข้รบกวน มันไม่อยากให้เราพ้นทุกข์ นี่ก็อย่างหนึ่งมันเป็นมาร
ทีนี้ถ้าเรานึกว่ากรรมเวรทั้งหลาย ทุกชาติที่ทำมาขอจะใช้ ให้มันหมดชาตินี้ มันรุมจนโยมลุกไม่ได้แน่ อย่าไปคิดเลยเรื่องอย่างนี้ รีบพากันทำความดีไปเลย กรรมที่ไม่ดีที่มันจองเวรจองผลาญกัน ที่มันผูกเวรผูกพยาบาท หยุดเลย หยุดเลย พระพุทธเจ้าจึงสอน เวรย่อมไม่ระงับด้วยการผูกเวรเอาไว้
ก็เหมือนเราไปผิดกันโกรธกันเนี่ย แล้วก็ไปเข้าหากันเลยคุยกันให้เลิกไม่มีเวรต่อกันไปเลยดีกว่า หรือใครเป็นเวรเป็นกรรมกับพ่อกับแม่ทำไม่ดีกับพ่อกับแม่ ก็รีบเข้าไปหาเลยยอมรับผิด ลูกทำผิดลูกไม่ดี ให้อโหสิกรรมกันตั้งแต่มีชีวิตอยู่ดีที่สุด
กับเพื่อนกับฝูงเหมือนกันถ้าเราทำผิดอะไรรีบเข้าไปแก้ไขเลย ให้มันสิ้นในชาตินี้อย่าให้มันผูกต่อไปข้างหน้า มันก็หมดเวรหมดกรรมไป ทีนี้กรรมเวรแต่ชาติอดีต เราทำบุญทำกุศลทำความดีอะไรรักษาศีล ภาวนา เราอุทิศส่วนกุศลให้เขาเพื่อให้เขายอมอโหสิกรรมให้เรา
จะให้มันสิ้นหมดทุกอย่างนี่ มันไม่สิ้นนะโยมนะเพราะมันเกิดมาไม่รู้กี่โกฏิกี่ล้านชาติ สร้างทั้งความดีและความชั่ว ถ้าไม่ถึงนิพพานมันไม่หมด ถ้าใครถึงชาตินี้กรรมเวรทั้งหลายมันก็หมดเรื่องกัน ไม่มีติดตาม เหมือนกับโจร ไปปล้นเขาเอาเงินมา ไปงัดร้านทองร้านสิ่งของเขา เอาของเค้าไปแล้วไปขโมยโคกระบือไป แล้วก็ไปฆ่าคนตาย โจรคนเดียวเนี่ยนะ พอตำรวจตามแล้วก็ยิงตาย ก็ไปบอกร้านทอง ก็ไปบอกคนที่เป็นเจ้าของโค คนถูกลักสิ่งของอะไรก็มาดูมันตาย โจรมันตายแล้วจะเข้าห้องขังก็ไม่ได้ ก็หมดแล้วกลายเป็นอโหสิกรรมกันไป
ท่านเปรียบเทียบผู้ที่พ้นไป จิตทั้งหลายที่นิพพานไปกรรมจึงติดตามไม่ได้ ทำไมจึงติดตามไม่ได้? ก็มันไม่มีรูปขันธ์นี่สิ เมื่อไม่มีรูปร่างกายแล้วจะเอาอะไรไปใช้กรรม ถ้ารูปร่างกายอยู่กรรมมันจึงตามได้ ในจิตของคนที่พ้นทุกข์แล้วเนี่ย รูปร่างกายนี้ยังไม่แตกดับไป มันก็ใช้อยู่ ยังใช้กรรมอยู่
เห็นไหมหลวงปู่นั้น หลวงปู่นี้ เดี๋ยวก็เจ็บโน่นเจ็บนี่เข้าโรงพยาบาล แท้ที่จริงจิตท่านหลุดแล้ว แต่ร่างกายมันเป็นของที่รองรับกรรมทั้งหลาย อาตมาจึงไปถามหลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ อาตมาก็ศึกษา หลวงปู่ เวลาหลวงปู่จะหนีเข้านิพพานกรรมมันว่ากันยังไง?
"โอ้ยมันรุมกัน มากันไม่รู้ทางใต้ทางเหนือ มาทุกรูปแบบจะมารบกวน"
ก็จะหนีแล้วนี่ ใครก็อยากใช้ เหมือนญาติโยมเป็นหนี้เขาซัก 10 คน พอขายที่บ้านในกรุงเทพได้หลายล้านให้เจ้าของนี่มีแต่คนจะมาเอา รุมเลย เค้าก็อยากมาเอาค่าหนี้ที่เราติดเค้า ก็เหมือนกับพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านจะเข้านิพพาน
ก็เคยคิดนะบางที ว่าเออกรรมอะไรที่มันมีอยู่มาใช้ให้หมดตอนนี้ซะดีกว่า ไข้เลยนะไม่ถึงสามวัน เอาเลย มาจริงๆ นะ เลยไม่พูดเลยทุกวันนี้..."
( ตัดตอนมาจากบันทึกเทศนา ) หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก เชียงใหม่
ระวัง!! เวรกรรมไม่ต้องรอชาติหน้า!! ประสบการณ์จริง “หลวงปู่จาม
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ได้เมตตาเล่าเรื่องอาการป่วยทางกายที่เกิดจากบุพกรรม หรือกรรมเก่าที่ติตามมาทันในชาตินี้แล้วต้องชดใช้ว่า “…ในกลางพรรษาปี พ.ศ.๒๔๘๖ ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร รักษาด้วยน้ำนมถั่วเหลืองต้มให้สุกทั้งกากทั้งน้ำ แรก ๆ ก็ฉันเฉพาะน้ำได้ ต่อมาได้หลายวันแล้วก็ฉันทั้งกากถั่วด้วย เอาเม็ดถั่วเหลืองแช่น้ำค้างคืนไว้ เช้ามาลอกเปลือกนอกออกแล้ว นำไปตำโขลกให้ละเอียดแล้วน้ำไปต้มให้สุกเจือน้ำตาลทรายแดงนิดหน่อยพอให้ได้รสหวาน ฉันอยู่เช่นนี้จนหาย อาหารหยาบอย่างอื่นไม่ฉัน
อีกอย่างเราก็พิจารณาในบรุพกรรมของตนว่า เป็นกรรมอะไรก็รู้จักว่าได้ว่าเป็นกรรมสมัยเป็นเด็กน้อยไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายแล้วให้อดหญ้าให้อดน้ำจนกว่าจะได้เวลา ๑๔.๐๐ น. จึงจะให้วัวควายได้กินหญ้า หากเลี้ยงแต่เช้ามันจะไม่ค่อยกินหญ้าเท่าใดนัก พอให้กินตอนบ่ายวัวควายมันหิวมันก็กินได้ดี ส่วนเรื่องของการปฏิบัติในทางจิตใจปีนี้ก็กำกับจิตด้วย อิทธิบาท ๔ พอใจ พากเพียร ใจจดจ่อ พิจารณาตนพิจารณาธรรมได้ความดีมาก…”
ธรรมะประวัติองค์หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ผู้มากมีบุญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (วัดหนองน่อง) บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
หลวงปู่ ; การเดินทางสายกลางนั้นตั้ววิธีออกจากการเห็นแก่ตัวแหม มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่าทางสายกลางก็จริง แต่จะแปลอีกนัยหนึ่งคือความพอเหมาะความพอดี การกระทำ การพูด การคิด ใดๆที่พอเหมาะพอดีนั้นเรียกว่าทางสายกลาง
คุณไปเลือกซื้อกางเกง คุณก็เอาตัวที่พอดีกับตัวคุณ ไปเลือกซื้อเสื้อคุณก็เอาพอดีกับตัวคุณ เอาคนอื่นมาเทียบไม่ได้ดอก มันคนละส่วนมันคนละขนาด คนเราตัวเล็กตัวใหญ่ไม่เท่ากัน
คุณชอบเปรี้ยว ชอบหวาน ชอบเค็ม มันก็เป็นทางกลางเป็นความเหมาะของคุณ เอาคนอื่นมาเป็นตัววัดขนาดไม่ได้ คนเรามีความอยากความชอบไม่เท่ากัน ต้องเอาเองเป็นแบบ ไม่เอาคนอื่นเป็นแบบ นั้นเป็นทางกลางของใครของมัน
แต่ในเรื่องการปฏิบัติ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นทางกลาง ต้องเอาองค์มรรคมาเป็นตัวตัดสิน ว่าการปฏิบัติของเราอยู่ในองค์มรรคหรือไม่ คิดชอบ พูดชอบ เลี้ยงชีพชอบ ปัญญาชอบ ทำมาหากินชอบ ตั้งตนไว้ชอบ มีความเพียรชอบ ตั้งสติชอบ นั้นหล่ะทางกลาง
คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบกำลังดำเนินชีวิตด้วยความรักความรับผิดชอบ รักตัวเองรักคนอื่นจึงทำชอบ จึงพูดชอบ จึงคิดชอบ
เกลียดตนเองเกลียดคนอื่น จึงทำชั่ว คิดชั่ว พูดชั่ว คนรักคนอื่นรักตนเองรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นจะเห็นแก่ตัวได้อย่างไร แท้จริงคำสอนของพระบรมครูทรงสอนให้ดำเนินทางนี้เพื่อละตัวละตน คนไม่มีตัวไม่มีตนมันจะเห็นแก่ตัวเห็นแก่ตนยังไง
คนที่ดำเนินทางกลางคือคนดำเนินตามองค์มรรค คนเดินตามองค์มรรคคือคนที่กำลังลดอัตตาลดตัวลดตน คนที่ ลดตัวลดตนมันก็ไม่มีตัวไม่มีตน คนไม่มีตัวไม่มีตนจะเห็นแก่ตัวเห็นแก่ตนได้อย่างไร คนที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ตนไม่ว่าจะเป็นพระเป็นโยมก็กำลังหนีจากมรรคหนีจากทางกลาง หนีจากมัชฌิมาปฏิปทา มันก็เกิดปัญหาเกิดเรื่องเกิดราวนั้นไง เข้าใจนะ
โอวาทธรรม หลวงปู่หา สุภโร
...เทศนาธรรม...
“เป็นของธรรมดา” ..ทั้ง ๆ ที่เราอาศัยร่างกายอยู่นี้ แต่ให้ตำหนิร่างกาย ตำหนิอาการของใจ ไม่ยึดหมาย เราอาศัยเขาอยู่ตลอด นี้ให้จิตใจมันอยู่ในธรรมชาติของจิต จนกว่าจะประพฤติปฏิบัติชำนิชำนาญ แยกกายกับจิต ออกจากกัน ธรรมชาติจิตอยู่แผนกหนึ่ง ร่างกายก็อยู่แผนกหนึ่ง มันเป็นแสงของธาตุ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุทั้ง ๔ แล้วก็มีอากาศธาตุ มีวิญญาณธาตุ เข้ามาแทรก เป็นธาตุ ๖ ธาตุอันนี้มันมีความเกิดขึ้น ก็แปรปรวนในท่ามกลาง ผลสุดท้ายก็แตกดับ ตกอยู่ในที่เรียกว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตกอยู่ในหลักอันนี้ ถ้าหากเรามีสติพินิจพิจารณารู้ของจิตแล้ว ของเหล่านี้ ก็เป็นของธรรมดา..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร เทศนา เรื่อง นิวรณ์ธรรม ๕
"จะนั่งสมาธิได้ผลนี้ต้องเจริญสติให้ได้ก่อน"
ถาม : การพยายามภาวนาพุทโธอยู่ตลอดในทุกๆ กิจกรรมที่ทำตลอดทั้งวันในชีวิตประจำวัน แบบนี้เป็นการปฏิบัติที่ถูกทางแล้วหรือไม่คะ หรือต้องเอาสติจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่ทำคะ และในกรณีที่เราภาวนาพุทโธตลอดทั้งวันในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แบบนี้ยังจำเป็นไหมสำหรับการนั่งสมาธิที่เป็นรูปแบบเหมือนที่นั่งปฎิบัติธรรมในวัดคะ
พระอาจารย์ : อ๋อ จำเป็นการนั่งสมาธินี้เป็นกิจที่จำเป็น แต่ก่อนที่จะนั่งสมาธิได้ผลนี้ต้องเจริญสติให้ได้ก่อน ต้องมีสติกำกับควบคุมใจไม่ปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย ให้ใจอยู่กับคำบริกรรมพุทโธพุทโธไปตลอดเวลา พอมีเวลาว่างก็ให้นั่งเฉยๆ นั่งหลับตา แล้วก็บริกรรมพุทโธต่อไป แล้วใจก็จะเข้าสู่ความสงบเข้าสู่สมาธิได้ ถ้าไม่นั่งสมาธิก็จะไม่ได้สมาธิ จะได้แค่สติ ซึ่งก็ไม่พอเพียงสำหรับการที่จะใช้ในการเจริญปัญญาเพื่อฆ่ากิเลสให้หมดไปจากใจ ฉะนั้นสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ถูกแล้ว เป็นขั้นเริ่มต้น คือฝึกสติคอยกำกับควบคุมใจไม่ให้ลอยไปกับความคิดต่างๆ ให้หยุดความคิดต่างๆ จะเฝ้าดูการงานที่เรากำลังทำอยู่ก็ได้ หรือให้บริกรรมพุทโธพุทโธไปก็ได้ แล้วใจเราจะไม่สามารถไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ใจก็จะว่าง แต่ยังไม่สงบ ว่างจากความคิดหรือความคิดเบาบางลงไป ยังไม่หมด ยังมีความคิดแทรกเข้ามาได้อยู่เรื่อยๆ อยู่ แต่ไม่เหมือนกับตอนที่ไม่มีพุทโธ มันจะมีแต่ความคิดตลอดเวลา ถ้ามีพุทโธก็จะหยุดความคิดในช่วงที่มีพุทโธ พอเผลอไม่ได้พุทโธความคิดก็จะกลับเข้ามา ก็ต้องพยายามทำให้ไม่มีความคิดให้ได้ แล้วให้นั่งเฉยๆ นั่งหลับตา แล้วเฝ้าดูลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียวก็ได้ หรือบริกรรมพุทโธพุทโธไปเพียงอย่างเดียวก็ได้ แล้วใจจะเข้าสู่ความสงบได้ลึกได้สงบมากกว่าตอนที่ไม่ได้นั่งสมาธิ พอที่ได้สมาธิแล้วก็จะมีความสุขใจที่จะใช้ต่อสู้กับความอยากที่จะไปหาความสุขในรูปแบบอื่นได้ ความอยากดื่มกาแฟก็บอกไม่ดื่มก็ได้ มีความสุขในสมาธิ ไม่ดื่มก็ไม่ทรมาน หยุดดื่มกาแฟได้ หยุดสูบบุหรี่ได้ หยุดดื่มสุราได้ หยุดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากทำได้ ถ้ามีสมาธิ ถ้ามีปัญญาบอกว่าการทำตามความอยากนี้ไม่ควรจะกระทำ.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐
อาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"ถ้าใจมีธรรม เป็นที่อยู่แล้ว จะอยู่ที่ไหน ก็อยู่ได้ ไม่มีความเดือดร้อน
แต่ถ้าใจนั้น ไม่มีธรรม เป็นเครื่องอยู่แล้ว ต่อให้นั่ง นอน อยู่ในปราสาททอง ก็ไม่มีความสุข
เพราะไฟกิเลส มันเผาผลาญหัวใจ ให้ได้รับความเดือดร้อน อยู่มิเว้นวาย"
-:- หลวงปู่ชอบ ฐานสโม -:-
"อะไรๆ ก็ไม่สู้การสร้างความดีนะ ความดีนี้ ผู้ใดสร้าง ผู้นั้นย่อมมีความสุข เย็นอก เย็นใจ
การให้อภัยนี้ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบัน โลกเราต้องการคนดี โลกต้องการให้อภัย เพราะนั่นเป็นทางแห่งความสันติสุขนะ
ต้องให้อภัย ทำให้ใจกว้างขวาง จึงจะได้ชื่อว่า เชื่อฟังคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้จริง"
-:- หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ -:-
หลวงปู่กับนางกำนัลพระเจ้าตาก
เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน ตอนที่องค์หลวงปู่ท่านมารักษาอาการอาพาธที่วัดธรรมมงคล ขณะนั้นเป็นตอนเย็นมากแล้ว ท่านกำลังให้โอวาทกับพระ-เณร อุปฐากท่านอยู่นั้นก็มี ชายหญิงคู่หนึ่งมาหาแล้วแนะนำตนเอง
โยม ; โยมเป็นนางกำนัลหรือเป็นอนุภรรยาของพระเจ้าตากสินมีนามว่า............... โยมมาเทียบร่างผู้หญิงคนนี้เพื่อมากราบพระสุปฏิปันโน และนำพาผู้ชายคนนี้ซึ่งเขาเป็นหมอนวดที่มีฝีมือ หลวงปู่จะหายได้ ถ้าชายคนนี้ได้นวดถวาย
หลวงปู่ ; แมนหยังคูบา (เขาว่าอะไรหรือครูบา)
ครูบาอุปฐาก ; โยมว่าเป็นเทวดาที่เคยเป็นเมียพระเจ้าตาก มาสิงแล้วพาหมอนวดมานวดถวายพ่อแม่ครับผม
โยม ; ไม่ใช่ค่ะท่านเณร ถ้าเทพเขาเรียกว่าเทียบร่าง ผีต่างหากที่เรียกว่าสิง (งง!เลย เทพไม่รู้ว่าครูบาท่านเป็นพระหรือเณร)
หลวงปู่ ; อนุโมทนานะคุณนะ แต่อาตมามีหมอแล้ว หมอเขาห้ามไม่ให้รักษากับคนอื่น ปล่อยให้หมอคนนี้เขาใช้ฝีมือให้สุดกำลังเขาก่อน
โยม ; แต่หมอคนนี้เท่านั้นที่จะทำให้หลวงปู่หาย พระพุทธเจ้าท่านเป็นพยานได้ พระพุทธเจ้ากกุสันโธจะมาหาหลวงปู่คืนนี้เที่ยงคืน
หลวงปู่ ; (ท่านชี้มือแล้วทำท่าขึงขัง) มึงผิดแล้ว! พระพุทธเจ้าที่ไหนจะมาหากู ท่านเข้าพระนิพพานไปแล้ว ท่านจะมาหากูทำไม มึงผิดแล้ว หนีๆ หนีจากกุฏิกูเดี๋ยวนี้! ถ้าพระพุทธเจ้ามาหากูได้กูจะสึกกูจะพาหมู่พระเณรกูสึก เพราะพระพุทธเจ้าท่านโกหกกู แต่นี้ท่านก็ไม่ได้มาหากู ท่านไม่ได้โกหกกู หนีๆ หนีเดี๋ยวนี้!
จากนั้นจากโยมที่มาด้วยอาการเรียบร้อยก็ทำหน้าตื่นๆแล้วรีบหนีอย่างรวดเร็วๆ ตอนมาเหมือนโดนเทพทรงมาแต่ตอนกลับ กลับมีอาการเหมือนคนเดินกลับ ไม่รู้เทพออกจากร่างตั้งแต่เมื่อไหร่
หลวงปู่มักสอนพวกเราเสมอว่า... ที่ท่านเคารพรักพระพุทธเจ้าของท่านเพราะพระพุทธเจ้าของท่านเป็น "คน" ไม่ได้เป็น อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ มาจากไหน ถ้าท่านเป็นเทพเที่ยวเหาะไปหาคนนั้นทีคนนี้ที ท่านจะไม่อัศจรรย์ใจไม่เคารพรักพระพุทธเจ้าเลย เพราะถ้าท่านเป็นเทพ สิ่งที่ท่านทำ สิ่งที่ท่านตรัสรู้ พวกเราก็ทำไม่ได้ แต่พระองค์เป็นคน ท่านพัฒนาตนเองมาจากคน เราก็คนเราจึงพัฒนาตนเองได้อย่างท่าน ท่านเข้าพระนิพพานเป็นตัวอย่างพวกเราแล้ว ท่านเป็นได้แค่ตัวอย่าง ท่านมาพาใครไปพระนิพพานด้วยไม่ได้ เราต้องพยายามด้วยกำลังของเรา ทำตามพระองค์จึงจะได้อย่างพระองค์ แบบแผนมี(พระธรรม) ตัวอย่างมี(พระพุทธเจ้า) ผู้ทำตามจนสำเร็จมี(พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย) เมื่อพระองค์เข้าพระนิพพานดับชาติขาดสูญเสียแล้ว ไม่มีอะไรมาอาลัยในโลกนี้แล้ว คนมีกายก็ห่วงกาย มีใจก็ห่วงใจ มีจิตก็ห่วงจิต แต่ในจิตในใจของพระองค์ไม่มีอะไรไม่ห่วงอะไร แล้วจะกลับมาโลกอีกทำไม.
ปฏิปทาธรรมคำสอน.. พระญาณวิสาลเถร (หา สุภโร) หรือ หลวงปู่ไดโนเสาร์
“...ปฏิบัติยาก ไม่ใช่ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าค่อยทำ มันก็จะค่อยไป
เหมือนภาษิตที่ว่า หนทางหมื่นลี้จะไปถึงได้ ก็ด้วยการเริ่มต้นจากการก้าวทีละก้าว
ดังนั้น ยากก็ทำไป ง่ายก็ทำไป แล้วจะสำเร็จเอง...”
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
“...อานิสงค์แผ่เมตตาจิต หลับ-ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย
มนุษย์เทวดารักใคร่ เทวดาย่อมรักษา พิษสาตราวุธทั้งหลายทำร้ายไม่ได้
กลิ่นปากหอม ผิวพรรณวรรณะงาม ไม่หลงตาย ตายแล้วไปพรหมโลก
จิตเป็นสมาธิเร็ว...”
โอวาทธรรมคำสอน.. องค์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
|