พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 14 ส.ค. 2017 9:37 am
"โลก ไม่มีดี ไม่มีเลวในตัวของมันเอง
มองโลกให้เป็นกลาง จึงจะเห็นความจริง
ความเลว หรือความดีของสิ่งใดๆ
อยู่ที่ใจไปแยกแยะกำหนด
เมื่อใดที่จิตว่าง จึงจะได้เห็นโลกทั้งหลาย
ไร้ความหมาย ด้วยประการทั้งปวง"
-:-หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต-:-
"ความดีนั้น เราต้องทำอยู่เสมอ
ให้เป็นที่อยู่ของจิต เป็นอารมณ์ของจิต
ให้เป็นมรรค คือ ทางดำเนินไปของจิต
มันจึงจะเห็นผลของความดี
ไม่ใช่เวลาใกล้จะตาย จึงนิมนต์พระไปให้ศีล
ให้ไปบอกพุทโธ หรือตายไปแล้ว ให้ไปรับศีล
เช่นนี้ เป็นการกระทำที่ ผิดทั้งหมด
เหตุว่าคนเจ็บ จิตมัวติดอยู่กับเวทนา
ไฉนจะมาสนใจไยดี กับศีลได้
เว้นไว้แต่ ผู้ที่รักษาศีลมาเป็นปกติเท่านั้น
จึงจะระลึกได้ เพราะตนเองเคยทำมา
จนเป็นอารมณ์ของจิตแล้ว
-:-หลวงปู่แหวน สุจิณโณ-:-
"ฝืนความอยาก ไม่ทำตามความอยาก"
ถ้านั่งสมาธิแล้วจิตไม่สงบ ก็แสดงว่าไม่มีสติคอยกำกับใจ นั่งสมาธิอย่านั่งเฉยๆ ไม่ใช่นั่งหลับตาแล้วก็ดูความว่างดูอะไรไป เดี๋ยวจิตมันก็หลอกเรา เดี๋ยวจิตมันก็หลอกสร้างภาพมาหลอกเรา เรานั่งเพราะเราต้องควบคุมจิตไม่ให้มันสร้างภาพ ไม่ให้มันคิดปรุงแต่ง ไม่งั้นมันก็จะไม่สงบนั่นเอง นี่คือเรื่องของการปฎิบัติ ต้องมีความพยายามต้องมีความอดทน
ข้อที่ ๑. ต้องมีความตั้งใจ ตั้งใจว่าต่อไปนี้จะฝึกสติเรื่อยๆ
ข้อที่ ๒. ต้องมีความจริงใจกับการตั้งใจ ไม่ใช่ตั้งใจพอถึงเวลาไม่ทำเลย ตื่นขึ้นมาก็ลุกพรวดพราดเข้าห้องน้ำ รีบคิดว่าวันนี้วันอะไรจะไปทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ คิดอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้อยู่กับร่างกายเลย อยู่ก็เฉพาะแค่แว๊บๆ จะแปลงฟันก็แปลงไปปั๊บสองสามที ก็ไปคิดเรื่องนึงแล้ว ล้างหน้าสองสามทีก็ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติแล้ว ไม่มีสัจจะ ไม่มีความจริงใจที่จะทำตามที่ตั้งใจเอาไว้ ถ้าตั้งใจเอาไว้ว่าจะมีสติอยู่กับร่างกาย ก็ต้องดึงใจกลับมาอยู่ที่ร่างกาย แต่ใจนี้มันไวมาก มันไวกับการทิ้งร่างกายให้อยู่เดียวดาย มันชอบทิ้งร่างกายแล้วก็ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันเลยติดเป็นนิสัย ฉะนั้นเราต้องดึงมันกลับมา ด้วยการอาจจะทำอะไรให้มันช้าๆ หน่อย อย่าให้มันเร็วเกินไปมันจะได้ต้องคอยดูว่ากำลังทำอะไรอยู่ ต้องมีสัจจะ แล้วก็ต้องมี ขันติ ความอดทน เพราะเดี๋ยวมันเผลอ เผลอไปเรื่อย เวลาเผลอก็ท้อแท้เบื่อหน่าย ต้องมีความขยัน ขยันทำขยันตั้งสติ ถ้ามีสี่ข้อนี้ก็จะสามารถที่จะทำงานให้สำเร็จได้ สร้างสติขึ้นมาได้ ฉะนั้นอย่าลืมความตั้งใจ ข้อแรกอย่าลืมความตั้งใจ ๒. เมื่อตั้งใจแล้วก็ต้องทำตามที่เราตั้งใจไว้ ๓. เราต้องขยันทำอยู่เรื่อย ขยันเฝ้าดูร่างกายไปเรื่อยๆ หรือขยันพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ๔. ต้องอดทน ทำแล้วรู้สึกอึดอัดรู้สึกยากลำบาก ก็ต้องอดทนเอา ขอให้คิดถึงผลที่จะได้จากการมีสติต่อไปว่าจะทำให้เรามีความสุข จะทำให้เราไม่มีความทุกข์
จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ก็ต้องมีสติเป็นผู้นำไป ถ้าไม่มีสติก็จะไม่สามารถที่จะหยุดความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดจากความอยากของใจได้ ความทุกข์ต่างๆ มันไม่ได้เกิดจากอะไรหรอก เกิดจากความอยากของเราเอง พออยากแล้วมันก็ทำให้เราทุกข์แล้ว อยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว พออยากจะดื่มกาแฟนี้ก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ อยากจะสูบบุหรี่ก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องไปหาบุหรี่มาสูบ ต้องไปหากาแฟมาดื่ม ถ้าไม่ได้สูบไม่ได้ดื่มก็ทุกข์ อึดอัดรำคาญใจ แต่ถ้าเราหยุดความอยากได้ ไม่ทำตามความอยาก เดี๋ยวความอยากมันก็หมดกำลังเอง พอความอยากมันหยุดมันหมดกำลัง ความทุกข์ที่เกิดจากความอยากจะหายไป แล้วต่อไปความอยากนั้นก็ไม่กลับมา เพราะมันหมดกำลัง เหมือนต้นไม้ที่เราไม่รดน้ำให้มัน ถ้าเราไม่รดน้ำให้ต้นไม้ สักพักเดี๋ยวมันก็ตาย มันก็เฉาตายไป ความอยากก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ทำตามความอยาก ต่อไปความอยากมันก็จะหมดกำลังไป แล้วมันจะไม่รู้สึกอยากกาแฟ ไม่รู้สึกอยากสจะสูบบุหรี่ ก็ดูคนที่สูบบุหรี่กับคนที่ไม่สูบบุหรี่ ใครสบายกว่ากัน คนสูบบุหรี่ก็ต้องคอยหาบุหรี่มาสูบอยู่เรื่อยๆ เวลาไม่สูบก็อึดอัดหงุดหงิดรำคาญใจ แต่คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็ไม่เดือดร้อนเลย นี่คือความแตกต่างของคนที่อยากกับคนที่ไม่อยาก คนที่อยากนี้มันพออยากอะไรขึ้นมาแล้วมันหงุดหงิดขึ้นมาทันที อึดอัดขึ้นมาทันที กระวนกระวายกระสับกระส่ายขึ้นมาทันที ใจสั่นขึ้นมาทันที แต่คนที่ไม่มีความอยาก เฉย สบาย
อย่างตอนนี้ญาติโยมนั่งอยู่ตรงนี้ ไม่มีความอยากอะไร สบายไหม สบาย แต่ถ้าเกิดอยากขึ้นมา ไม่สบายแล้ว เดี๋ยวนั่งเฉยๆ ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวต้องไปทำตามความอยากแล้ว ฉะนั้นเรามาสร้างสติกันขึ้นมา เพราะสตินี้เราสามารถหยุดความอยากได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นการหยุดชั่วคราว แต่ก็ทำให้เราหยุดความทุกข์ลดความทุกข์ได้ แล้วเราจะได้ใช้ปัญญามาหยุดมันอย่างถาวรต่อไปได้ ถ้ายังหยุดชั่วคราวไม่ได้ เราจะไม่สามารถใช้ปัญญามาหยุดความอยากได้อย่างถาวรได้ ขั้นต้นต้องหยุดชั่วคราวก่อน พอหยุดชั่วคราวแล้วก็สอนใจว่า การทำตามความอยากนี้มันทำให้เราไม่สบายใจ แล้วมันจะทำให้เราต้องทำไปจนไม่มีวันสิ้นสุด ตายจากชาตินี้ไปความอยากก็ยังไม่หมดจากใจ มันก็จะลากให้เรากลับมาเกิดใหม่ มามีร่างกายอันใหม่ แล้วก็มาแก่ มาเจ็บ มาตายใหม่ ถ้าเราเห็นโทษของความอยากด้วยปัญญา เวลาเกิดความอยากเราจะได้พยายามฝืนมัน พยายามไม่ทำตามมัน โดยใช้สติช่วย พออยากก็พุทโธๆ ไป เดี๋ยวความอยากก็จะหมดกำลังไป ถ้าเราไม่ทำตามความอยาก นี่คือเรื่องของการปฎิบัติธรรม.
สนทนาธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"แนวทางแรก"
ถาม : ลูกเพิ่งมาปฏิบัติใหม่จะขอความเมตตา ขอแนวทางในการปฏิบัติด้วยเจ้าค่ะ
พระอาจารย์ : ก็แนวทางแรกก็คือการเจริญสติ สิ่งที่เราจะต้องหมั่นฝึกอยู่ตลอดเวลาในขณะที่เราตื่นนี้ก็คือสติ ให้ควบคุมจิตอย่าให้ไปคิดปรุงแต่งถึงเรื่องราวต่างๆ ให้อยู่กับปัจจุบันด้วยการบริกรรมพุทโธพุทโธก็ได้ หรือด้วยการจดจ่อเฝ้าดูการกระทำของทางร่างกาย ร่างกายเรากำลังทำอะไรก็ให้เฝ้าดู กำลังเดินก็ให้รู้กำลังเดิน กำลังก้าวเท้าซ้ายก็ให้รู้ว่ากำลังก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวาก็ให้รู้ว่าก้าวเท้าขวา ให้รู้เท่านี้ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้ นี่คือการควบคุมความคิดด้วยสติ ถ้าเรามีสติเวลาเรานั่งเราก็จะสามารถควบคุมให้จิตเฝ้าดูลมหายใจเข้าออกอย่างต่อเนื่อง หรือให้อยู่กับพุทโธอย่างต่อเนื่อง ให้อยู่กับพุทโธหรือลมหายใจอย่างต่อเนื่อง จิตก็จะรวมเข้าสู่ความสงบ แล้วเราก็จะพบกับความสุขที่มหัศจรรย์ใจ ที่จะทำให้เราสามารถที่จะปล่อยความสุขแบบเดิมที่เราเคยแสวงหาได้.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
" ให้มีสติรักษาจิตให้ดี ระลึกพร้อมอยู่เป็นนิจ เมื่อพิจารณาเห็นว่าสังขารา อนิจจา แปรปรวน เปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง ความตายรอสังหารอยู่เบื้องหน้า เมื่อความตายมาถึงแล้วสิ่งที่มุ่งหวังคือความดี และความดีที่จะเกิดขึ้นนั้นเพราะทำความเพียร สวดมนต์ ภาวนา มีความอดทน ชนะตน เป็นตบะ แผดเผาเสียซึ่งกิเลสให้สิ้นไป "
_______________
หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ
วัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
“เร่งประพฤติปฏิบัติ”
..ของทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อมีความเกิดแล้ว ก็ต้องมุ่งหน้าไปสู่ความดับเหมือนกันหมด เป็นมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว หลายชั่วอายุพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะไปขวางไว้คนเดียว มันจะขวางได้เหรอ ของเขาจะไปอยู่แล้ว ทำจนจิตใจมันเห็นชัดขนาดนั้น มันก็ไม่ตื่นตระหนกตกใจอะไรมากมาย ให้เราเร่งการประพฤติปฏิบัติ ให้มันเกิดขึ้นมา ให้รู้ให้เห็น ไม่ใช่ผู้รู้ธรรม ให้เป็นผู้เห็นธรรมไปพร้อม..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
การประพฤติปฏิบัติธรรม หลวงปู่ใหญ่ หลวงปู่มั่น ท่านเปรียบเทียบเอาไว้ คล้าย ๆ กับการปลูกผลไม้ จะเป็นฟักทอง แตง หรืออะไรก็ตาม เพียงแต่เราบำรุงเหตุ คือเอาใส่ดินที่มันมีปุ๋ย แล้วก็ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด ถึงกาลเวลาเข้ามันเป็นของมันเอง ผลิดอก ออกผลมาเอง แล้วก็เจริญเติบโตไปตามลักษณะอาการของมัน จะมีดอก มีผล ผลน้อยผลใหญ่ตลอดถึงสุก เป็นเรื่องของเขาเอง เราไม่ได้ไปดึง ไปถอดขึ้น
อันนี้ฉันใดก็ดี การประพฤติปฏิบัติธรรม บำรุงแต่เหตุอย่างเดียว คือ มีการกระทำ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ประฏิบัติพากเพียรภาวนา ผลที่เกิดขึ้นมันไปของมันเอง คือ มีความสงบ จิตมีสติ มีสมาธิ เป็นของมันเอง แล้วแต่ว่าเหตุที่กระทำนั้น มากน้อยแค่ไหน
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
(พระเทพวิสุทธิมงคล)
วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง) ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด
ถ้าเราไม่เห็นทุกข์ เราจะแก้ทุกข์ไม่ได้
ยกตัวอย่างหนามปักเท้า ถ้าหากเราไม่เห็นหนาม เราก็เอาออกไม่ได้เหมือนกัน ทุกข์เป็นของควรรู้ สมุทัยเป็นของควรละ รู้แล้วก็ต้องละ เพราะเป็นของไม่ดีก็ต้องละ ส่วนนิโรธมันก็รู้แจ้งเลยล่ะ การประพฤติปฏิบัติมันก็เรียกว่าเป็นมรรคไปในตัว คือการกระทำนี่ ความจริงก็เป็นของนิดเดียวแค่นี้ แต่มันอยู่ในตัวของเรานี้ไม่ได้อยู่ไกล ไม่ได้อยู่บ้านนั้นบ้านนี้เมืองนั้นเมืองนี้ อยู่ในตัวของเรานี้ เรียกว่า ใจเป็นธรรม ทั้งหลายแหล่รวมอยู่ที่ใจ จะประเสริฐจะเลิศจะดี
ก็รวมอยู่ที่ใจของแต่ละคน เอาธรรมะของพระพุทธองค์มาสอนใจของเรา
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
(พระเทพวิสุทธิมงคล)
วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง)
ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด
"การไม่ทำนั่นก็ผิดอยู่ในตัวแล้ว"
...คนทำผิด นั้นดีกว่า คนไม่ทำ ทำผิดยังแก้ให้ถูกได้ แต่คนไม่ทำนี่สิไม่รู้จะไปแก้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าตนเป็นคนผิดหรือคนถูก....การไม่ทำนั่นก็ผิดอยู่ในตัวแล้ว.
"ท่านพ่อลี ธมฺมธโร"
...สู้ให้หยุด "ความอยาก"
แล้วให้ตั้งอยู่ใน..ความสงบ..ดีกว่า
.
...อยู่ในสมาธิ อยู่ในความสงบ
อยู่ใน..ความไม่มีความอยาก
จะดีกว่า
.
...เพราะเวลา "ใจไม่มีความอยาก"นี้
ใจจะสงบ และมีความสุข
มากกว่าความสุขที่ได้จาก
"การทำตามความอยาก"
....................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 13/8/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ
สติธรรม – ปัญญาธรรม
ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา โยมก็นึกได้ ถ้าโยมไปมัวเล่นอยู่อันอื่นซะ ทุกข์เกิดขึ้นมาโยมก็เป็นทุกข์ เพราะสติโยมไม่มี สัมปชัญญะไม่อยู่ เหมือนกันกับบ้านของเรา โยมก็หนีไปซะ ไม่ปิดประตูไว้ สุนัขก็เข้ากินข้าวสาร ขโมยก็มาขโมยเอาของหมดเท่านั้นแหละ เหมือนกับเราไม่มีสติ
มีสติอยู่ก็มีสติไปอย่างอื่น เหมือนโยมออกจากบ้านไป โยมก็อยู่ อยู่ แต่ว่าโยมไม่อยู่ในบ้าน โยมไปอยู่ที่อื่น อันนี้ก็เหมือนกัน สติโยมก็มีอยู่ แต่สติของโยมไม่อยู่ในที่นี้ ขโมยมาขโมยของที่นี้ ก็โยมไม่อยู่ โยมไปอยู่ที่อื่น สติโยมไปทำงานอยู่แห่งอื่นโน้น ไม่ทำอยู่ที่นี้
ถ้าโยมทำอยู่ที่นี้ มีความรู้สึกอยู่ เมื่อกระทบอารมณ์ขึ้น มันชอบใจ โยมก็รู้ ก็เห็นว่ามันเป็นอนิจจัง อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันเลย มันจะตกทุกข์ขึ้นมา โยมก็เห็นว่า อันนี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ที่นั่น
ก็แปลว่าโยมกำลังปฏิบัติธรรมะ
ฉะนั้น ผู้ประพฤติปฏิบัตินี่จึงมีสติความระลึกได้อยู่เสมอ ในการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ของเรา
สัมปชัญญะรู้ตัวอยู่เสมอว่าบัดนี้เราทำอะไรอยู่ อย่างนี้โยมก็จะมีหนทางที่จะบรรลุธรรมะ
โยมจะมีโอกาสขับสุนัขตัวนั้นออกหนีได้ โยมก็จะมีโอกาสไล่โจรที่มันมาขโมยของนั้นได้ เพราะโยมอยู่ที่นั่น โอกาสโยมที่จะไม่เสียของก็เกิดมีขึ้น
***********
จาก หนังสือ ความผิดในความถูก พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) หน้าที่ ๑๓๐
"เกิดมา ต้องเป็นทุกข์แน่โยม
จะต่างกัน ก็ทุกข์มากทุกข์น้อย
เท่านั้นแหละ
การทำบุญ ต้องส่งไปให้ชาติหน้าแน่
ของเราทำแล้วจะไปไหน
การทำบุญไม่ใช่หนทางพ้นจากทุกข์โดยตรง
แต่เป็นทางทำทุกข์ให้น้อยลง
การภาวนานั้นซี เป็นทางนำทุกข์ให้หมดไป"
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
หัวใจตัวเอง...เราไม่เคยอบรมสักที
แล้วมันจะเกิดสมาธิเกิดปัญญาได้อย่างไร
เวลานั่งภาวนาก็คิดไปแต่เรื่องอื่น คิดไป กวนไปอยู่อย่างนั้น
สติไม่เพียงพอแล้ว มันก็ไม่เกิดนะธรรมะ...วิ่งตามอารมณ์อยู่อย่างนั้น
เวลานั่งลงปั๊บ ก็อยากเห็นสวรรค์อยากเห็นนิพพาน
คาดหมายไปแล้ว โอ๊ย...ของเก่าทั้งนั้น
หากบริกรรมบทใดก็ให้อยู่กับคำบริกรรมบทนั้นๆ
หากจิตมันเกิดเป็นสมาธิ เกิดรวมลงได้แล้ว
เออ...มันจะผุดขึ้นมาหรอกธรรมะน่ะ
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
เทศน์อบรมพระ เมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๓๙
"สมบัติภายนอกข้าวของเงินทองมัน
ก็เป็นสมบัติภายนอกสมบัติภายใน
คือการรักษาศีลภวานาในอนิจจัง ทุกข์ขังอนัตตา
ขอให้ท่านทั้งหลายจง
ประสบแต่ความสุขความเจริญในที่ทุกสถานในการทุกเมื่อทุกท่านทุกคนเทอญ"
หลวงตาสมหมาย อตฺตมโน
ขอได้พากันบำเพ็ญตามกำลัง ชีวิตของเราทุก ๆ คนในโลก
จะอยู่ก็ไม่กี่วัน เที่ยงแท้จะแตกดับอยู่แล้ว
รีบขวนขวายหาคุณงามความดีในเมื่อมีชีวิตอยู่
หาได้มากน้อยเป็นของเรา เมื่อมีคุณงามความดีซึ่งเราได้สั่งสมไว้มากแล้ว
หากว่าเราไม่สิ้นกิเลส ยังจะกลับมาเกิดในโลกอีก
ก็จะเป็นผู้ไม่ผิดหวังในสถานที่เกิดและสิ่งที่เราต้องประสงค์
บุญเป็นเครื่องแก้ความขาดเขินบกพร่อง ความทุกข์ทรมาน
ท่านต้องแก้เราได้แน่ ๆ สิ่งที่จะให้สมหวังคือบุญนี้เอง
ท่านผู้สมหวังได้ผ่านทุกข์พ้นไปแล้ว คือพระพุทธเจ้าของเรา
ท่านก็อาศัยบุญนี้เองเป็นคุณช่วยท่าน
ผู้ที่จะให้สมหวังในกาลข้างหน้าก็บุญนี้เอง
โปรดจำให้แม่น เพียรอย่าถอย ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่เสียท่า
ตายไปแล้วก็ไม่เสียที จงทำดีให้มาก
.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ "ธัมมะในลิขิต"
"ความจริงมันเป็นของธรรมชาติ"
ถาม : ขอพระอาจารย์เมตตาแนะนำการปฏิบัติในการพิจารณาความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน ขอบคุณครับ
พระอาจารย์ : ไม่เที่ยงก็มันก็บอกอยู่ในตัวแล้วไม่เที่ยงไง ไม่เที่ยงก็บ่ายโมงก็ไม่เที่ยงแล้ว (หัวเราะ) 11 โมงก็ไม่เที่ยงแล้ว ไม่เที่ยงก็คือมันไม่เที่ยงตลอดเวลาไง มันเปลี่ยนไปตามเวลา เดี๋ยว 11 โมง เดี๋ยวก็เที่ยง เดี๋ยวก็บ่ายโมง เดี๋ยวก็ 2 โมง ถ้า 2 โมงมันก็ไม่เที่ยงแล้ว เหมือนร่างกายเราเนี่ย มันหนุ่มมันสาวไปตลอดหรือเปล่า เดี๋ยวมันก็แก่ลงไปแล้ว ก่อนที่มันจะมาเป็นหนุ่มเป็นสาว มันก็เป็นเด็กมาก่อนเป็นอะไรมาก่อน อันนี้ก็ไม่เที่ยงมันเปลี่ยนไป คำว่าไม่เที่ยงก็คือมันเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีการเกิดมีการดับนี้เรียกว่าไม่เที่ยงอนัตตาก็คือมันเป็นธรรมชาติ มันไม่ใช่ของเราไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้เราไปเรียกว่ามันเป็นของเราเอง ความจริงมันเป็นของธรรมชาติ เราไปสั่งให้มันไม่แก่ได้หรือเปล่า เราสั่งธรรมชาติ เช่น ลมไม่ให้มันพัดได้หรือเปล่า ไม่ได้ เราก็สั่งร่างกายไม่ให้มันไม่แก่ไม่ได้เหมือนกัน ร่างกายมันก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นเหมือนลม เหมือนฝนฟ้าอากาศที่เขาต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา ทุกอย่างในโลกนี้ก็เป็นธรรมชาติหมด เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมบังคับให้เป็นของเราได้ตลอดเวลา เงินทองมีกองเท่าภูเขาเดี๋ยวก็หมด เป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นประธานาธิบดีเดี๋ยวก็หมด เพราะนี่คือธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างมันจะต้องมีวันหมด แล้วเราก็ไปสั่งไปห้ามมันไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติมันไม่ได้เป็นของเรา อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ของเรา เป็นของธรรมชาติ ต้องปล่อยวางแล้วเราจะไม่ทุกข์ ถ้าไปยึดไปติดไปอยากให้มันเป็นของเรา เวลาไม่เป็นของเรามันก็จะทำให้เราทุกข์ขึ้นมา
การปฎิบัติธรรมนี้ไม่ได้ต้องการจะไปเปลี่ยนธรรมชาติ ต้องการจะดับความทุกข์ที่เกิดจากความหลงของเราไปมองว่าธรรมชาติเป็นของเราเท่านั้นเอง ให้เราคืนทุกอย่างให้เป็นของธรรมชาติไป คืนเงินทอง คืนทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง คืนสามีภรรยา คืนบุตรธิดา คืนร่างกายของเราให้กับธรรมชาติเขาไป แล้วเราจะไม่ทุกข์.
สนทนาธรรมะบนเขา
วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.