"คนเราเกิดมา ย่อมมีความตาย เป็นธรรมดา เวลาเกิดมา เรามิได้เอาอะไรมาเวลาตาย เราก็มิได้เอาอะไรไป
บุญกับบาปเท่านั้น เป็นสมบัติประจำชีพ บุญนำไปสู่สุคติ บาปนำไปสู่ทุคติ คนผู้รักตน จึงพยายามทำความดี อันจักเป็นที่พึ่งของตน ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า"
-:-หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ-:-
"ขอให้อ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะแก้ไขตัวเองอยู่เสมอ
ไม่ว่าใครเป็นผู้เสนอความเห็น ก็ขอให้เราพร้อมที่จะรับฟัง
เพราะอะไร? เพราะต้องเป็นธัมมกาโม เป็นคนรักธรรม มากกว่ารักหน้าของตัวเอง"
-:-พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ-:-
"ทำในกรอบของเรา"
ถาม : หลักคำสอนที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์สอนไว้ว่า ให้พิจารณาดูตัวเราเอง ไม่ควรไปว่ากล่าวผู้อื่น แม้เขาจะผิดจริง หากเราไปพูดตักเตือนเขาด้วยความปรารถนาดีห่วงใยในฐานะคนรักกัน หรือ สามีภรรยา การทำแบบนี้ถือว่าเราผิดหลักการขั้นต้นนี้หรือเปล่าครับ
พระอาจารย์ : คือถ้าเรามีหน้าที่หรือว่ามีคนเขาต้องการให้เราว่ากล่าวตักเตือนเขา เราก็ทำได้ แต่นี่ท่านพูดถึงในกรณีที่ไม่ใช่หน้าที่ของเรา แล้วไม่มีใครต้องการให้เราไปว่ากล่าวตักเตือนเขา เราก็ไม่ควรที่จะไปกระทำ ทำในกรอบของเรา เช่นเรามีลูกมีครอบครัว มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่อาจจะต้องคอยบอกคอยเตือนกัน คอยสั่งคอยสอนกัน ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็เหมือนกับการละเว้นการกระทำหน้าที่ แต่เราก็ไม่ไปว่ากล่าวตักเตือนครอบครัวของคนอื่น ใช่ไหม คนอื่นเขาจะทำยังไงก็เรื่องของเขา นอกจากว่าเขามาขอร้องให้เราช่วยเขา ว่ากล่าวตักเตือนเขานี้ อันนี้ก็เป็นกรณีไป.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"ทุกข์"
พระพุทธเจ้า พระอรหันต์นี้ท่านก็ยังอยู่เหมือนพวกเรา แต่ท่านอยู่กับความสงบ ท่านก็เลยไม่ต้องมีร่างกายเหมือนพวกเรา
พวกเราอยู่กับความอยากก็เลยต้องมีร่างกาย พอมีร่างกายก็ต้องมีปัจจัย ๔ พอมีความอยากไปไหนมาไหนก็ต้องมีรถยนต์ มีรถยนต์ก็ต้องมีน้ำมัน มีน้ำมันก็มีรถติด มีรถชนกันมีอุบัติเหตุ มีอะไรต่างๆ ที่กำลังมีอยู่ขณะนี้มันเกิดจากความอยากไปไหนมาไหนเท่านั้นเอง ถ้ามันไม่อยากไปไหนมาไหนมันก็ไม่ต้องมีรถยนต์ คนที่ไม่เข้าใจฟังแล้วก็คิดว่า ถ้าไม่มีความอยากก็โลกนี้ก็ไม่มีอะไร ก็ไม่มีอะไร มีไปทำไม มีแล้วมันทุกข์ทั้งนั้น แต่ก็เขาไม่เห็นความทุกข์จากสิ่งที่มีกัน กลับไปเห็นว่ามีความสุขกัน มีบ้านก็มีความสุข มีรถยนต์ก็มีความสุข มีสามีมีภรรยามีบุตรมีธิดามีอะไรต่างๆ มีความสุข จะไม่มีไปทำไม เวลามันมีก็สุข เวลามันไม่มีซิ จะทำอย่างไร เวลาไม่มีก็กระโดดตึกตาย มันไม่คิดตอนที่มันไม่มี เวลามีมันก็มีความสุขกัน แต่เวลามันไม่มีหรือว่ามีแล้วมันเบื่อจะทำอย่างไร เบื่อก็ต้องหาสิ่งใหม่ สิ่งนี้เบื่อแล้วก็ต้องไปหาสิ่งใหม่ หามาเท่าไรเดี๋ยวมันก็เบื่ออีก
นี่คือความหลง หลงไปคิดว่าความสุขอยู่ที่การมีสิ่งต่างๆ มองไม่เห็นความทุกข์ที่เกิดจากการมีสิ่งต่างๆ เพราะสิ่งต่างๆ มีมาก็ต้องมีไปเป็นธรรมดา มีได้ก็ต้องมีเสีย มีเกิดก็ต้องมีดับ ต้องมีการพลัดพรากจากกัน มองไม่เห็นความทุกข์มองเห็นแต่ความสุขในสิ่งต่างๆ มองไม่เห็นความทุกข์ในสิ่งต่างๆ
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราหัดมองว่าสิ่งต่างๆ มันเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะว่ามันต้องมีการจากกัน ทุกข์เพราะว่ามันเบื่อกัน คนถึงมีภรรยามีสามีหลายคน ทำไมมีคนเดียวไม่ได้ เวลาอยากจะได้เวลาเจอกันตอนที่ยัง ไม่ได้ก็อยากจะได้กันเหลือเกิน อยากจะไปอยู่ด้วยกัน อยากจะเป็นของกันและกัน พอเป็นแล้วเป็นอย่างไร เบื่อแล้ว เป็นไปไม่นานก็เบื่อแล้ว เบื่อขี้หน้ากันแล้ว
ของต่างๆ ที่เราคิดว่าจะให้ความสุขกับเรานี้ เดี๋ยวมันก็ทำให้เราเบื่อ เบื่อแล้วก็ต้องทำให้เราไปหาสิ่งใหม่มา หาสิ่งใหม่มาเดี๋ยวมันก็เบื่ออีก พออะไรมันจำเจซ้ำซากมันดีขนาดไหนก็เบื่อ ไม่เชื่อลองกินอาหารจานโปรดทุกวันดูซิ กินวันละ ๓ มื้อ กินอาหารจานโปรด ดูซิจะกินได้สักกี่วัน
นี่คือสิ่งต่างๆ ที่เราคิดว่าจะให้ความสุขกับเรา มันจะกลายเป็นความทุกข์เวลาที่เบื่อมัน หรือเวลามันจากเราไป หรือเวลามันเสียไปมันเสื่อมไปมันเปลี่ยนไป นี่คือธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ มีการเปลี่ยนแปลงมีการเสื่อมมีการหมด.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
...ต้อง "ฝึกวิปัสสนา" ว่า อะไรจะเกิดก็เกิด "อย่างมากก็แค่ตาย" ให้คิดอย่างนี้.. แล้วต่อไปจะไม่กลัวอะไร . คนเราทุกคน เกิดมามันต้องตาย . ...พระพุทธเจ้าสอน ให้เจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ แล้วความกลัวตายจะหายไป "แล้วจะอยู่อย่างสบาย" . จะอยู่แบบทุกข์หรืออยู่แบบสุข "ก็ตายเหมือนกันใช่ไหม" . ถ้ากลัวตาย..ก็ทุกข์ไปจนถึงวันตาย ถ้าไม่กลัวตาย..ก็สุขไปถึงวันตาย. ....................................... . คัดลอกการสนทนาธรรม ธรรมะบนเขา21/12/2558 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
“พุทโธ อย่างเดียว” ..ถ้าหากเรารู้ในตัวของเราแล้ว ก็ไม่มีปัญหานะ อันนี้ทุกคน ก็พยายามประพฤติปฏิบัติ ให้มันรู้ ให้มันเห็น ไม่ว่าแต่พระเจ้าพระสงฆ์ พวกฆราวาสญาติโยม ยิ่งประพฤติปฏิบัติรู้มาก อย่างคุณแม่นารี ท่านให้ออกจากวัดป่าสุทธาวาส อายุร้อยกว่าปี นี้หละ ก็มาได้จากคำว่า พุทโธ ๆ ตัวเดียวเท่านั้นหละ ..ท่านอาจารย์สม อยู่อุดร ท่านไปสอนให้ อยู่บ้านนอก คุณแม่นารีก็เชื่อมั่นลงไป ก็ว่า พุทโธ ทำงานอะไรก็เอา พุทโธ ตัวเดียว จะกินข้าว กินน้ำ ทำการทำงาน ก็ทำอยู่เหมือนเพื่อนนั้นหละ เอาแต่ พุทโธ อยู่ไม่ได้ขาด ถึงระยะมันได้สัดได้ส่วนพอดี ก็พรึบลงทันที ลงพรึบเลย ร่างกายพังลงหมด เหลือแต่ใจกับร่างกระดูก นั่น ดูแต่ใจตัวเดียว ใจจะแจ้งไม่แจ้ง ก็อยู่อย่างนั้น ..กินข้าวก็ไม่ได้ กำลังจะกินข้าวลงไป มองเห็น ก็สะอิดสะเอียน มันจะอ้วก จะอาเจียนออก อยู่จนกินข้าวไม่ได้ จึงได้มากราบ หลวงปู่ใหญ่ หลวงปู่มั่น ท่านแนะนำให้ใหม่ จึงค่อยพอกินได้ แต่ว่าปัญญาไม่ค่อยเดิน แต่ผลสุดท้ายท่านก็รู้ รู้หมด ขนาดพระเจ้าพระสงฆ์ ยังได้ไปถามนางพิจารณาให้ดูบ้าง..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
“ใครๆ ก็มีผิดพลาดด้วยกันทุกคนทั้งเขาทั้งเรา คิดไปดูเขาเราผิดแล้วนั่น มันผิดมาแต่เรานั่นแล้ว ให้อภัยกัน ผู้ปฏิบัติธรรมต่างคนต่างให้อภัย ถ้ามีโอกาสที่จะแนะนำตักเตือนกันก็ให้เตือน ถ้ายังไม่มีโอกาสเตือนก็พักไว้ก่อนๆ เก็บความรู้สึกไว้ให้ดีอย่าให้ออกบ่อยๆ เอะอะปากเปราะๆ ปากบอนใช้ไม่ได้นะ อยู่ด้วยกันหัวใจมีหลายดวง ความคิดมีหลายประเภท แล้วจะมาประมวลให้เป็นความคิดของเราคนเดียวไม่ได้นะ ต้องแยกโน้นแยกนี้ความคิดของคนหลายคน แล้วเอาธรรมเป็นเกณฑ์ตั้งเอาไว้ เวลาจะแนะนำตักเตือนกันก็ให้เตือนด้วยความเป็นธรรม ผู้ฟังก็ฟังด้วยความเป็นธรรมถึงถูกต้อง ผู้อยู่ด้วยกันเป็นหมากัดกันอยู่ในวัดในวาใช้ไม่ได้เลย”
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
เราตรวจคะแนนให้คนอื่น ข้อนี้ถูกข้อนั้นผิด เราเคยตรวจดูตัวเองบ้างหรือเปล่า วันเวลาผ่านไปตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คะแนนฝ่ายดีกับคะแนนฝ่ายชั่วนั้น ข้างไหนมันมากน้อยกว่ากัน กลับไปตรวจตัวเองเด้อ . หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต
เรื่อง "บอกบุญ ออกแรง แต่ไม่ออกเงิน จะได้บุญหรือไม่ ?
(วิสัชนาธรรมโดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล)
ปุจฉา • กราบเรียนถามพระอาจารย์ค่ะ ถ้าเราอยากทำบุญแต่มีเงินน้อย แล้วเราไปบอกบุญคนอื่นที่เขาอยากร่วม เช่น งานบุญนี้ซื้อของไป ๘๐๐ บาท คนอื่นช่วยมา ๗๐๐ เราออกแค่ ๑๐๐ หรือไม่ออกเลย แต่เราออกแรงทุกอย่าง ทั้งค่าติดต่อ ค่ารถ และร่วมแรงด้วยใจ แบบนี้เราจะบาปไม๊คะ เพราะคนที่ร่วมบุญไม่ถามรายละเอียดเลย เราก็ไม่ได้บอก แต่เราไม่ได้เอาเงินไปทำอย่างอื่นเลยนะคะ เพียงแต่ไม่มีเงินมากพอที่จะทำน่ะค่ะ พระอาจารย์ช่วยอธิบายได้ไหมคะ เพราะจะทำแบบนี้มานานแล้ว รู้สึกกังวลใจว่าเราบาปน่ะค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ
พระอาจารย์ไพศาล • การทำบุญนั้นทำได้หลายอย่าง นอกจากออกเงินแล้ว ออกแรงก็ได้บุญ เช่น ไวยาวัจมัย คือบุญที่เกิดจากการขวนขวายทำกิจส่วนรวม สิ่งที่คุณทำนั้นจัดว่าเป็นไวยาวัจมัยได้ ที่จริงถึงคุณจะไม่ได้ออกแรงหรือออกเงินเลย(เพราะขัดสน) เพียงแค่คุณยินดีในบุญที่คนอื่นทำ ก็ได้บุญเช่นกัน เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งนางวิสาขาสร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ เมื่อเพื่อนคนหนึ่งรู้เข้าก็อนุโมทนา เธอใส่ใจในการอนุโมทนาอย่างจริงจัง ไม่นานก็ตาย ปรากฏว่าอานิสงส์ดังกล่าวส่งผลให้นางไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บางคนเพียงแค่บอกทางไปทำบุญ อานิสงส์นั้นก็ส่งผลให้ไปเกิดในสวรรค์ ดังนั้นจึงควรเข้าใจว่าการทำบุญนั้นไม่ต้องใช้เงินก็ได้ สิ่งสำคัญก็คือใจที่เป็นบุญ เป็นกุศล เช่น มีเมตตา ความปรารถนาดี
บุญจะมีอานิสงส์มากหรือน้อย อยู่ที่การวางใจเป็นสำคัญ แม้คุณไม่ได้ออกเงิน แต่อนุโมทนาที่ผู้อื่นได้ออกเงินถวายทาน คุณก็ได้บุญแล้ว เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย หรือบุญที่เกิดจากการยินดีในความดีที่ผู้อื่นได้ทำ ดังนั้นถึงแม้คุณไม่ได้ถือผ้าไตรและประเคนถวายพระสงฆ์ คุณก็ได้บุญแล้ว หากมีใจปีติยินดีที่ได้ทำบุญ
ความเป็นห่วงว่าจะได้บุญหรือไม่ต่างหาก ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง บุญย่อมลดลงตามส่วน หรือทำบุญแล้วอยากได้อานิสงส์มาก ๆ บุญก็น้อยลงไปด้วย เพราะใจนั้นมีกิเลสเจือปน ตรงข้าม หากทำบุญแล้ว มุ่งประโยชน์แก่ผู้รับ ไม่ปรารถนาหรือคาดหวังประโยชน์ที่จะเกิดแก่ตนเลย คือทำบุญด้วยใจปล่อยวางอย่างแท้จริง กลับจะได้บุญมาก ใครที่ทำบุญแล้วอยากได้โน่นได้นี่ หรือเป็นนั่นเป็นนี่ พึงพิจารณคำสอนของพระสารีบุตรที่ว่า “บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ให้ทานเพราะเห็นแก่อุปธิสุข(โลกียสุข) ย่อมไม่ให้ทานเพื่อภพใหม่ แต่ บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อกำจัดกิเลส เพื่อไม่ก่อภพต่อไป”
ครูบาอาจารย์ที่ยังไม่ได้สำเร็จมรรคผลจะสอนคนอื่นให้สำเร็จมรรคผลได้ไหม
มีโยมถามหลวงปู่ดูลย์ บอก หลวงปู่ ธรรมเทศนาของครูบาอาจารย์ที่ท่านยังไม่ได้สำเร็จมรรคสำเร็จผล จะสอนคนอื่นให้สำเร็จมรรคสำเร็จผลได้ไหม หลวงปู่ดูลย์ก็ตอบแบบง่าย ๆ ว่า หมอที่เป็นโรคภูมิแพ้ รักษาโรคภูมิแพ้คนอื่นให้หายได้ไหม หรือรักษาโรคหวัดให้คนอื่นได้ไหม ก็คือยานั้นก็เป็นยาอยู่อย่างเดิม แต่คนที่ให้ยาอาจจะหย่อนเรื่องธรรมะ แต่ธรรมะยังคงเป็นธรรมะอยู่อย่างเดิม
หลวงปู่หล้าก็บอกว่า ถ้าจะให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เสียก่อนจึงมาสอนคน พระพุทธศาสนาก็คงไม่แพร่หลายขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดก็ตาม พอที่จะสั่งสอนได้ ก็สั่งสอนไป เมื่อเราเรียนกอไก่ขอไข่ อ่านออกเขียนได้ไปเท่าไร ก็สอนไปตามนั้น แต่อย่าไปสอนผิด เป็นบาปทางจิตใจ ทำให้เขาเข้าใจผิด
อย่างในประวัติของหลวงปู่ชา มีพระท่านไปสนทนาเกี่ยวกับพระวินัย ไปเจอสหธรรมิก ก็ไปพูดเกี่ยวกับวินัยสิกขาบท จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับ แต่องค์ที่อธิบายพระวินัยให้เพื่อนพระฟังก็มาพิจารณาว่า เราอธิบายถูกต้องหรือเปล่า พอทบทวนก็เห็นว่าผิด ถ้าองค์นั้นจำไปอย่างที่เราพูด ถ้าองค์นั้นตายในค่ำคืนนี้ เราไม่ได้ไปแก้ไข องค์นั้นก็จะเอาธรรมที่เราอธิบายให้องค์อื่นฟัง องค์อื่นก็จะเข้าใจพระวินัยคลาดเคลื่อน ท่านก็ถือเทียนมาหาพระองค์นั้นเลย บอกว่า นี่นะ ที่สนทนากัน ผมพูดพระวินัยผิดไป ตามที่จริงเป็นอย่างนี้ ๆ นะ
นี่ ครูบาอาจารย์ท่านรับผิดชอบในพระธรรมวินัย สมัยก่อนไม่มีเทปหนังสือเหมือนทุกวันนี้ ท่านบอกกล่าวกันด้วยคำพูด ท่านรับผิดชอบกันถึงขนาดนั้น ท่านเคารพในธรรม จะกล่าวอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ได้ เรารู้อย่างไร มั่นใจว่าไม่ผิด จึงสอนอย่างนั้น นี่คือการแนะนำสั่งสอน ทำให้พระธรรมวินัยไม่วิปริต
หลวงพ่ออินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก จากพระธรรมเทศนา "ข้อคิดก่อนฟังธรรม" แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙
บางคนไม่อยากทำบุญ เพราะมักอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดี อันที่จริงมันคนละเรื่อง เรื่องการทำบุญมันเรื่องของการเสียสละ ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจแต่ประการใด เรื่องของศาสนาไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ไม่มีผลใดสำหรับคนบุญ โอวาทธรรม หลวงปู่บุญส่ง ฐิตสาโร
|