นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 16 ม.ค. 2025 10:54 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 20 ส.ค. 2017 9:55 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
"อย่าหวังว่าจะได้รับความรักจากคนที่คุณรัก
เพราะคนที่คุณรัก ไม่ได้รักคุณหมดทุกคน"
-:- ท่านพุทธทาสภิกขุ -:-





"พระพุทธศาสนานี้สอนธรรม คือ
สอนให้ทำเอา ปฏิบัติเอา ไม่ใช่คิดเอา"
-:-หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร-:-








การตายนั้น...นักปราชญ์บัณฑิตท่านเห็นเหมือนกับว่า
เป็นการแก้ผ้าขี้ริ้วออกโยนทิ้งไปจากตัวเท่านั้น
จิตก็เหมือนกับตัวคน กายก็เหมือนกับเสื้อผ้า
ไม่เห็นว่าเป็นการสลักสำคัญอะไรเลย

แต่พวกเรานี่สิกลัวนัก พอเห็นเสื้อผ้าขาดนิดขาดหน่อย
ก็รีบหาอะไรมาปะมาเย็บให้มันติดต่อเข้าไปใหม่
ยิ่งปะยิ่งเย็บ มันก็ยิ่งหนา ยิ่งหนาก็ยิ่งอุ่น ยิ่งอุ่นก็ยิ่งติด ยิ่งติดก็ยิ่งหลง
ผลที่สุดเลยไปไหนไม่รอด

นักปราชญ์บัณฑิตนั้น
ท่านเห็นว่าการอยู่การตายไม่สำคัญเท่ากับการทำประโยชน์
ถ้าการอยู่ของท่านมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นแล้ว
ถึงผ้ามันจะเก่า เสื้อมันจะขาดจนเป็นผ้าขี้ริ้ว ท่านก็ทนใส่มันได้
แต่ถ้าเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใครแล้ว ท่านก็แก้มันโยนทิ้งไปเลย

ผิดกับคนธรรมดาสามัญอย่างเราที่ไม่มีใครอยากตาย
พอพูดถึงตาย ก็กลัวเสียแล้ว ถึงร่างกายมันจะตายก็ยังอยากจะให้มันอยู่
บางคนร่างกายมันจะอยู่ ก็อยากจะให้มันตาย
ตายไม่ทันใจเอามีดมาเชือดคอให้มันตายเร็วเข้า เอาปืนมายิงให้มันตายบ้าง
กระโดดให้รถไฟทับตายบ้าง กระโดดลงแม่น้ำให้มันจมตายบ้าง ฯลฯ
อย่างนี้นี่เป็นเพราะอะไร ?
เพราะอวิชชา ความไม่รู้เท่าความเป็นจริงในสังขาร
หลงผิด คิดผิดทั้งหมด
อย่างนี้มันก็จะต้องตายไปตกนรกหมกไหม้ ไม่รู้จักผุดจักเกิด

ทุกคนย่อมรักตัวของตัวเองยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด
แต่การรักตัวนั้น มี ๒ สถาน คือ
รักอย่างลืมตัว เผลอตัวและหลงตัว นั้นอย่างหนึ่ง
การรักเช่นนี้ไม่เรียกว่า การรักตัว เพราะไม่กล้าจะทำความดีให้แก่ตัวเอง
จะทำความดีก็กลัวอย่างนั้นกลัวอย่างนี้
กลัวว่าตัวเองจะได้รับทุกข์ยากลำบากต่างๆ
เช่น อยากไปวัด ก็กลัวไกล กลัวลำบาก กลัวแดดกลัวฝน
จะถือศีลอดข้าวเย็นก็กลัวหิวกลัวตาย จะให้ทานก็กลัวยากกลัวจน
จะนั่งภาวนาก็กลัวปวดกลัวเมื่อย เช่นนี้เท่ากับคนนั้นตัดมือ
ตัดเท้า ตัดปาก ตัดจมูก ตัดหู ฯลฯ ของตัวเอง
ผลดีที่จะได้อันเกิดจากตัวก็เลยเสียไป นี่เป็นการรักตัวในทางที่ผิด

การรักอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เมตตาตัว
คือ หมั่นประกอบบุญกุศลและคุณความดีให้มีขึ้นในตน
ขณะใดที่จะเกิดประโยชน์จากตา หู จมูก ปาก มือ เท้า ฯลฯ ของตนเองแล้ว
ก็ไม่ยอมปล่อยโอกาสให้เสียไป
มือของเราที่จะให้ทานก็ไม่ถูกตัด เท้าของเราที่จะก้าวเดินไปวัดก็ไม่ถูกตัด
หูของเราที่จะได้ฟังเทศน์ก็ไม่ถูกตัด ตาที่จะได้พบเห็นของดีๆ ก็ไม่ถูกปิดมืด
เราก็จะได้รับผลได้อันดีจากตัวของเราอย่างเต็มที่
อย่างนี้เรียกว่า เมตตาตัว เป็นการรักที่ถูกทาง ผู้นั้นจะมีแต่ความสุข

คนใดที่ขาดเมตตาตัวเองเท่ากับฆ่าตัวเอง เรียกว่า เป็นคนใจร้าย
เมื่อฆ่าตัวเองได้ ก็ย่อมฆ่าคนอื่นได้ด้วย
เช่น เขาจะไป ห้ามไม่ให้เขาไป เขาจะดู ห้ามไม่ให้เขาดู
เขาจะฟัง ห้ามไม่ให้เขาฟัง ฯลฯ
ทำให้ผลประโยชน์ของคนอื่นที่ควรจะได้พลอยเสียไปด้วย
นี่แหล่ะเป็นการฆ่าตัวเองและฆ่าคนอื่นให้ตายไปจากคุณความดี

ท่านพ่อลี ธัมมธโร







ผู้สั่งสมบุญย่อมนำมาซึ่งความสุข

“สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย” ผู้สั่งสมบุญย่อมนำมาซึ่งความสุข

บุญภายนอกเปรียบเหมือนเปลือกผลไม้ เช่น ขนุน มะม่วง ทุเรียน เป็นต้น
บุญภายในเปรียบเหมือนเนื้อหนัง
เราจะอาศัยบุญภายในหรือบุญภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
ผลไม้ถ้าไม่มีเปลือกนอกก็เป็นเนือ้เป็นหนังขึ้นมาไม่ได้ หรือมีแต่เปลือกไม่มีเนื้อในก็กินไม่ได้
ฉะนั้น บุญภายนอกต้องอาศัยบุญภายในด้วยเป็นการช่วยเหลือกันแต่คุณภาพต่างกัน

บุญภายนอกเป็นเครื่องห่อหุ้มบุญภายใน

บุญภายนอก ได้แก่ วัตถุ กายต้องอาศัยวัตถุ อาหารเรียกว่า ปัจจัย ๔
แต่จะเป็นสุขเพราะอาหารอย่างเดียวก็ไม่ได้
ถ้าเรากินแต่อาหารแล้วไม่นุ่งผ้าหรือไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องเปียกน้ำเปียกฝน ฯลฯ
หรือเจ็บไข้ไม่มียารักษาก็เป็นทุกข์
ตัวเราคือ ธาตุ ๔ นี้จำต้องอาศัยวัตถุภายนอก คือ ปัจจัย ๔ ด้วย
จึงจะประกอบบุญกุศลได้สำเร็จเต็มที่
เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้บริจาคสิ่งเหล่านี้ก็จะสำเร็จประโยชน์ชาตินี้และเบื้องหน้า

บุญภายใน ได้แก่ การดัดตัวของเราเองให้เป็นบุญกุศล
ตัวเราเปรียบเหมือนต้นไม้ในป่า เช่น ต้นตะโก
ถ้าเรานำมาใส่กระถางดัดแปลงกิ่งก้านให้สวยงามก็จะมีราคาสูงขึ้น
คนที่ไม่ดัดกาย วาจา ใจของตัวเองก็เรียกว่า เป็นคนที่มีราคาต่ำ

เราควรดัดมือดัดแขนให้รู้จักไหว้กราบพระ ดัดเท้าให้รู้จักเดินไปวัด
ดัดหูให้รู้จักฟังธรรม ฟังคำที่เป็นคุณเป็นประโยชน์
ดัดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราให้สิ่งที่ไหลเข้าไปล้วนแต่เป็นบุญเป็นกุศล
จมูกก็อย่าหายใจเปล่า ให้หายใจเอา “พุทโธ” เข้าออกเหมือนกับน้ำที่ไหลเข้าไปในร่างกาย
ใจของเราก็จะเย็นสบายเป็นสุข ปากก็หมั่นสวดมนต์ภาวนา
อย่าด่าแช่งเสียดสีหรือพูดเท็จต่อใคร กล่าวแต่สิ่งที่เป็นธรรมและไม่ดื่มเหล้าเมายา

ให้เก็บบุญเอาตามตัวของเรา มีมือ เท้า แขน ขา ตา หู จมูก ลิ้น เหล่านี้เป็นต้น
ส่วน “แก่นของบุญ” นั้นคือ “ใจ” ต้องทำใจของเราให้สงบระงับจาก โลภะ โทสะ โมหะ
ทางอายตนะนั้นเปรียบด้วยเปลือกหรือกระพี้ก็ทำประโยชน์ได้เหมือนกัน
ถ้าเรารู้จักสะสมความดีก็เป็นประโยชน์แก่ตัว คนมั่งมีคือ คนที่บริจาคเสมอ
ส่วนคนจนก็คือ คนที่ไม่บริจาคให้ทานอะไร
พระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญคนมั่งมีว่า มีดวงใจเป็นแก้วประดับ
คือรัตนะ ๓ ได้แก่ พุทฺธรตฺนํ ธมฺมรตฺนํ สงฺฆรตฺนํ นี้เป็นใจที่มีศรัทธา

โรคทางกายไม่สำคัญเท่าไร เพราะเมื่อเราตายแล้วถึงจะรักษาหรือไม่รักษามันก็หาย
ส่วนโรคทางใจนั้น เราตายแล้วมันก็ยังไม่หาย
ทำให้ต้องเวียนตายเวียนเกิดอีกหลายชาติหลายภพ

ร่างกายเปรียบด้วยบ้าน ใจเปรียบด้วยคนที่อาศัย
ทรัพย์สมบัติเงินทองบ้านช่องไร่นาและลูกหลานเหล่านี้เราต้องทิ้งไปทั้งนั้น
จึงควรรีบสะสมบุญกุศลไว้และบริจาคสิ่งที่เป็นทาน
อันเป็นสิ่งที่เราจะนำไปด้วยได้นั้นเสียแต่ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นี้เถิด

ท่านพ่อลี ธัมมธโร








"ทุกข์ทางใจกับทุกข์ทางกายเป็นคนละเรื่องกัน"

ถาม : พระโสดาบันตัดกามตัณหาได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ พระสกิทาคามี ๕๐ เปอร์เซ็นต์พระอนาคามี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของภวตัณหาและวิภวตัณหาเล่าครับ

พระอาจารย์ : อันนี้เป็นความอยากในความสุขทางความสงบ อยากในรูปฌาน อยากในอรูปฌาน ก็เรียกเป็นวิภวตัณหา

ถาม : ทุกขเวทนาทางกาย ถือเป็นทุกข์ในอริยสัจหรือไม่ครับ หรือแค่ทุกขเวทนาทางใจครับ

พระอาจารย์ : อ๋อ ทุกขเวทนาทางร่างกายนี้เป็นเวทนา ไม่ได้เป็นอริยสัจ ไม่ได้เป็นทุกข์ในอริยสัจ เพราะไม่ได้เกิดจากความอยาก ทุกข์ในอริยสัจนี้ เกิดจากความอยาก เช่นร่างกายสุขสบาย แต่พอได้ยินข่าวไม่ดีก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะว่าใจไม่อยากจะรับข่าวไม่ดี พอรับข่าวไม่ดีก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา อยากจะได้รับแต่ข่าวดีๆ พอได้รับข่าวไม่ดีใจก็ทุกข์ขึ้นมา อันนี้เป็นทุกข์ทางใจ ทุกข์ที่เกิดจากความอยาก แต่ทางร่างกายนี้สุขสบายดี ร่างกายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่เจ็บตรงนั้นไม่ปวดตรงนี้ ก็ถือว่าไม่มีทุกขเวทนาทางกายในตอนนั้น ฉะนั้นทุกข์ทางงใจกับทุกข์ทางกายนี้เป็นคนละเรื่องกัน เพราะใจกับร่างกายนี้เป็นคนละคนกันนั่นเอง คนหนึ่งเจ็บ อีกคนหนึ่งไม่เจ็บ เช่นเป็นฝาแฝด แฝดพี่แฝดน้อง แฝดน้องไม่เจ็บ แต่แฝดพี่เจ็บอย่างนี้ ไม่เกี่ยวกัน.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







การภาวนาเปรียบได้กับการนิมนต์พระเข้าบ้าน

๑. เวลาที่เรานั่งภาวนา ให้นึกว่าร่างกายเรานี้เปรียบเหมือนกับบ้าน
การที่เราภาวนา “พุทโธ” เข้าไป มันก็เปรียบกับว่า เรานิมนต์พระเข้าไปในบ้านของเรา
การนิมนต์พระเข้าไปในบ้านนั้นก็ให้นกึถึงมรรยาทของโลกว่า เขาจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง
๑.๑ เขาจะต้องปูอาสนะไว้สำหรับท่าน
๑.๒ หาน้ำดื่มหรืออาหารที่ดีๆ มาถวาย
๑.๓ ต้องสนทนาปราศรัยกับท่าน
(หมายเหตุ : หัวข้อ ๑.๓ ยังไม่ได้นำเสนอรายละเอียดไว้ในบทความนี้)

๒. “การปูอาสนะ” นั้นก็ได้แก่การที่เรานึก “พุท” ให้ติดเข้าไปกับลม
นึก “โธ” ให้ติดออกมากับลม เมือ่เราตั้งสติคอยนึกกำหนดอยู่เช่นนี้
“พุทโธ” ก็จะแนบกับลมหายใจของเราอยู่เสมอ
ถ้าการนึกของเราพลาดไปจากลมขณะใดแล้วก็เท่ากับอาสนะของเราขาด

และการปูอาสนะนั้น เขาจะต้องมีการปัดกวาดสถานที่ให้สะอาดเสียก่อน
ก็คือ ในชั้นแรกให้เราสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ และแรงๆ
ปล่อยกลับออกมาก็เช่นเดียวกันสัก ๒-๓ ครั้ง
แล้วจึงค่อยๆผ่อนลมหายใจให้เบาลงทีละน้อยๆจนพอดีที่เราจะจำได้
แต่อย่าให้เกินพอดีไปหรือน้อยกว่าพอดี ต่อจากนี้เราก็กำหนดลมหายใจ
พร้อมกับคำภาวนาว่า “พุทโธๆ” พระท่านก็จะเดินเข้าไปในบ้านของเรา
ถ้าใจของเราไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก คือ สัญญา อดีต อนาคต อันใดอันหนึ่งแล้ว
ก็เท่ากับหนีพระออกไปจากบ้านของเรา อย่างนี้ย่อมเป็นการผิดมรรยาท...ใช้ไม่ได้

๓. เมื่อพระท่านเข้ามาในบ้านของเราเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องจัดหาน้ำหรืออาหารดีๆมาถวาย
และสนทนากับท่านด้วยเรื่องที่ดีๆ เรียกว่า “ธรรมปฏิสันถาร”
ส่วนอาหารที่ดี ก็ได้แก่ มโนสัญเจตนาหาร ผัสสาหาร
และวิญญาณาหาร นี่เป็น “อามิสปฏิสันถาร”

อามิสปฏิสันถารนี้ คือ การปรับปรุงลมหายใจให้เป็นที่สบายของกายและจิต
เช่น สังเกตดูว่าลมอย่างไหนเป็นคุณแก่ร่างกาย ลมอย่างไหนเป็นโทษแก่ร่างกาย
หายใจเข้าอย่างใดสะดวก หายใจออกอย่างใดสะดวก หายใจเข้าเร็วออกเร็วสบายไหม ?
หายใจเข้าช้าออกช้าสบายไหม ? เราจะต้องทดลองชิมดูให้ดี นี่ก็เท่ากับว่า เป็นอาหารชนิดหนึ่ง

เพราะเหตุนี้การที่เรามาตั้งใจกำหนดอยู่ในลมหายใจ จึงเรียกว่า “มโนสัญเจตนาหาร”
แล้วเราก็ปรับปรุงลมหายใจจนรู้สึกว่า ลมนั้นเรียบร้อยสะดวกสบาย
เมื่อสะดวกสบายอย่างนี้แล้วก็ย่อมจะเกิดคุณธรรมขึ้นในตนอย่างนี้
จึงจะเรียกว่า เราต้อนรับท่านด้วยการบริโภคที่ดี
เมื่อท่านฉันอิ่มแล้วท่านก็จะต้องให้ศีลให้พรเราให้มีความสุข ให้หายไปจากความทุกข์

เช่นที่ท่านแสดงว่า “พระพุทธเจ้ากำจัดทุกข์ได้จริง” นั้นก็คือ
ความทุกข์กายของเราก็จะหายไป ถึงจะมีบ้างก็นิดหน่อย ไม่มาก
ส่วนความทุกข์ใจก็จะหายไป ใจของเราก็จะเย็น

เมื่อใจเย็นเป็นสุข ใจก็สงบเบิกบาน สว่างไสว ที่เรียกว่า “พระธรรมกำจัดภัยได้จริง”
นั่นก็คือ มารต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องรบกวนร่างกาย
เช่น “ขันธมาร” ความเจ็บปวดเมื่อย ฯลฯ เหล่านี้ก็จะหายไป
ใจนั้นก็จะอยู่โดยปราศจากทุกข์โทษภัยเวร นี่ก็เท่ากับพรของพระที่ท่านให้แก่เรา

ท่านพ่อลี ธัมมธโร






ให้เชื่อกรรม

" พระพุทธองค์สอนให้..เชื่อกรรม
กรรมนี้..เป็นของจริงแน่นอน
หลวงพ่อเองเกิดอุบัติเหตุ ๓ ครั้ง
ก็เพราะกรรม ขนาดบวชมา
ตลอดชีวิต ก็ใช้กรรมมาตลอด
มันหลงเหลือตรงไหน..ใช้แล้ว
ก็แล้วไป ที่เหลือก็ใช้กันไป "

___________________________

หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร
วัดป่าหมู่ใหม่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่







ความสงบให้มันเพียงพอ

มีแต่ความมืดกับสว่าง มันเป็นอยู่อย่างนี้
ปีนั้นเดือนนี้ทางโลกเขาใส่ชื่อสมมุติไปหมด
อัตภาพร่างกายของเรานั้นมีแต่ชื่อเรียกไปหมด
ถ้าเป็นขี้ก็เต็มตัวไปหมดขี้หัวขี้กลากขี้ไคล
สุดท้ายก็เป็นดินเป็นน้ำไป มาหลงของสมมุติใช้ตกแต่งตัวเอง
พิจารณาเข้าไป แล้วก็แก้ไขเข้าไป
จิตใจของเราให้มันรู้จริงเห็นจริง ให้จิตมันรวมดู
นี่จิตของหมู่พวกมันไม่รวมสักที
พอไปนั่งภาวนาก็มีแต่ปลงความคิดของตัวเองอยู่อย่างนั้นนะ
เพราะอยากได้อันนั้น อยากเห็นอันนี้
อยากเห็นกายทิพย์ อยากเห็นหูทิพย์ไปนั่น
โอ๊ย มันเกินพระพุทธเจ้าท่าน ในตำราไม่มีนะที่ท่านบรรลุ
แต่กิเลสตัณหาก็ยังปลดเปลื้องออกจากใจไม่ได้
ยังมีความร้อนความกังวลอยู่ในหัวใจอย่างนั้น
ความร้อนมันก็เป็นกิเลสนั่นแหละ ความรัก ความชังนั้น
ถ้าไม่มีมันก็ไม่ร้อนใจนะ ต้องแก้ให้มันถึงฐานของมัน
ต้องพิจารณาให้ถึงฐานของมัน ความสงบก็ให้มีเพียงพอ
โดยมากครูบาอาจารย์ท่านฝึกครั้งแรก มีแต่ฝึกให้เกิดความสงบเสียก่อน
ถ้าจิตมันรวมลงได้แล้ว มันเป็นไปเองเลย
ปัญญามันเกิดขึ้นเองเลย นั่นถึงจะเป็นวิปัสสนา
เราไปคิดเองค้นเอง มันเลยเป็นสัญญาไปหมดนั่นแหละ
ค้นก็ค้นไปกับสัญญานั่นแหละ ได้ยินมาจากครูบาอาจารย์อย่างนั้น
ท่านเห็นอย่างนั้นที่จริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะ
แต่จำเอามาจากสัญญาของเราเอง แล้วก็พูดไปคิดไป
ถ้าตัวจริงแท้ๆ ปัญญามันเกิดขึ้นกับตัวเราเองนะ
ถึงจะเห็นตัวจริงนั่นแหละ ธรรมของพระพุทธเจ้า...
.
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี






เป็นไปตามนิสัย
ท่านอาจารย์ฝั้นท่านเก่งทางกระแสจิต ดูพวกผีพวกอะไร เห็นเหมือนกันกับเราดูคน ท่านเห็น..ท่านอาจารย์ฝั้น บางทีมาดูนอกๆ นี้ก็เห็นอีก ดูต้นไม้ดูผลไม้อะไรจิตรวมอยู่ข้างใน พอจิตรวมแล้วมันสว่างจ้าเปิดเผยหมดเลย ท่านเล่าให้ฟังเองนะอยู่ที่วัดธาตุนาเวง ไปกรรมฐานท่านพักอยู่ที่นั่น ท่านนั่งภาวนาตาใจไปเห็นเรียบร้อยแล้ว ตาเนื้อยังเซ่อซ่ายังไม่ยอมรับ คือนั่งกลางคืนท่านว่า มันสว่างไปหมด ผลหมากรากไม้ที่ไหนอะไรๆ มันจะเห็นเหมือนตาเนื้อ นี่เห็นแบบโลกๆ ท่านว่าอย่างนั้น เห็นแบบธรรมยังละเอียดกว่านี้ไปอีก
ทีนี้พอจิตรวมสงบลงไปแล้วท่านก็ดูรอบๆ วัด เหมือนเอาตาเนื้อไปดู เอาตาใจละดู ไปเห็นมะละกอต้นหนึ่งมันสุกอยู่ข้างศาลา มองไปเห็น โอ๋ สุกสวยงามมาก ดูกลางคืนนะ ตื่นเช้าท่านไม่เชื่อตาท่าน เลยเอาตาฝ้าๆ ไปดู ไปดูมีจริงๆ โอ้ ชัดเจนมากท่านว่า ท่านเล่าเองนะ ไปดูมะละกอลูกนั้นสุกสวยงามมาก ท่านว่าอย่างนั้น นี่ละท่านอาจารย์ฝั้นรู้สึกว่าแปลกๆ อยู่ มันเป็นไปตามนิสัย อันนี้ไม่มีใครบอกใคร แต่เมื่อเป็นขึ้นตามนิสัยแล้วนิสัยอันนี้มันก็เบิกกว้างของมันไปเอง สนใจไปเอง พิจารณาไปเอง รู้ไปเองเรื่อยๆ เป็นตามนิสัย ถ้าหากว่านิสัยไม่มีมันก็ไม่ไป
พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงแสดงไว้ว่า ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของนิสัยแต่ละรายๆ นิสัยไหนที่เชี่ยวชาญทางไหนก็ให้สืบต่อเรื่องราวอะไรๆ รู้ได้ตามนั้น ถ้านิสัยไม่ออกไปเกี่ยวก็ไม่ไปยุ่ง ท่านว่าอย่างนั้น ท่านเปิดโอกาสให้ตามนิสัย ไม่มีการบังคับ อย่างที่ท่านว่าตื่นเช้ามาท่านไปดูมะละกอ ท่านว่า ท่านพูดเองนะ ไปดูเอง อู๊ย สุกจริงๆ ท่านว่า กลางคืนไปเห็นหมด ตอนเช้าเลยไปดูมะละกอสุก ลูกสวยงาม
ทีนี้ย่นเข้ามาท่านไปพักอยู่ที่เขาใหญ่ ท่านไปเที่ยวทางเขาใหญ่ก็มีพระองค์หนึ่ง ดูว่ามีเณรหรือตาปะขาว กับพระองค์หนึ่ง เขานิมนต์ท่านไปพักอยู่ที่นั่น อยู่ในเขาใหญ่ ท่านก็เลยพัก นี่ละตาใจเป็นอย่างนั้นละ ปฏิเสธไม่ได้นะตาใจ ปั๊บนี่แม่นยำเลยๆ พอไปพักอยู่ที่นั่นเขามาหาท่านตอนเย็นๆ ไม่ใช่มากลางคืน มาตอนเย็นๆ เขามาหาท่าน อยู่ที่เขาใหญ่ ทางขึ้นเขาใหญ่ ท่านไปภาวนาที่นั่น เห็นว่าสะดวกสบายดี กับตาปะขาวกับพระองค์หนึ่ง ดูว่าอย่างนั้นละ
ท่านพิจารณาอยู่นะท่านอาจารย์ฝั้น เขาเล่าให้ฟังว่าที่นี่ยังมีผีกองกอยนะ เขาว่าอย่างนั้น มันเป็นตัวอย่างไรก็ไม่รู้ แต่มันร้องเสียงกองกอยๆ กลางคืนเงียบๆ ว่าอย่างนั้น ท่านก็ฟังไว้ ท่านนิ่งๆ คอยฟัง แถวนี้มีเขาบอกอย่างนั้น ท่านไปพักอยู่ที่นั่น บอกว่าแถวนี้มีผีกองกอย ท่านก็ถามผีกองกอยเป็นอย่างไร พูดรูปร่างของมันไม่รู้ละ แต่เสียงมันร้องกองกอยๆ ท่านก็ฟัง พอตกกลางคืนก็มาจริงๆ นี่ละตาธรรมกับตาโลกีย์ตาโลก ผีเป็นโลก ใจของท่านเป็นธรรม ไปดูกัน
พอตกกลางคืนก็มาจริงๆ เขาบอกว่ามันมีผีกองกอยแถวนี้ มันถึงชัดอย่างนั้น ใครจะไปค้านท่านได้ท่านลงเห็นขนาดนั้นแล้ว ท่านก็นั่งภาวนาเงียบๆ เสียงกองกอยๆ เพราะตาท่านเป็นตาสำคัญ ตาธรรม ท่านเห็นไปหมดท่านอาจารย์ฝั้น กองกอยๆ มา ท่านก็นั่งภาวนาเตรียมรับดูมันจะเป็นอย่างไรผีกองกอย ท่านว่าอย่างนั้น จะดูผีกองกอย ดูด้วยตาใจ มันจะปิดอยู่ได้อย่างไร ร้องกองกอยๆ อย่างเขาว่าจริงๆ เสียงร้องกองกอยๆ กลางคืนดึกๆ ท่านก็นั่งอยู่ มาหาดูว่าพระองค์หนึ่ง ตาปะขาวคนหนึ่ง มาทางด้านนั้น ท่านนั่งอยู่
ทีนี้พอมันเข้ามาทางด้านของพระพอสมควรที่ท่านจะดูแล้ว ท่านก็หมุนจิตไปดู อู๊ย กลัวมากนะ ท่านว่าอย่างนั้น ผีกองกอยนี่กลัวธรรมมาก กลัวเอาจริงๆ เหมือนหมากลัวเสือ ป่าราบไปเลยทีเดียว กลัว พอตาธรรมท่านสอดมองดูปั๊บ เรียกว่าสายตารับกันปั๊วะทีเดียวไปเลย เรียกว่าป่าเลิกไปเลย กลัวขนาดนั้นละท่านว่าอย่างนั้น โอ๊ย เห็นแล้วผีกองกอย เห็นตัวมันแล้ว มันเหมือนลิงนะ ท่านว่าอย่างนั้น เห็นรูปร่างมัน รูปร่างในนามธรรม ไม่ใช่รูปร่างอย่างนี้ คือจิตท่านดูมันเหมือนลิง พอตามันกับตาเราสบกัน ตามันก็เป็นตานามธรรม ตาจิตท่านเป็นตานามธรรม พอสบกันปั๊บปุ๊บทีเดียวเลยล้มระนาวไปเลย กลัวมาก กลัวท่านนั่นละ นี่ท่านเล่าให้ฟัง
ท่านอาจารย์มั่นก็มีอะไรต่างๆ เหมือนกัน นั่นละมันเป็นไปตามนิสัย เหล่านี้มันเป็นไปตามนิสัย ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องสนใจ ท่านก็บอกไว้ในธรรม ถ้ามีแล้วใครจะสนใจให้แยกไปทางไหนๆ ในสิ่งที่รู้ปลีกย่อยก็ขยายกันออกไป ถ้าไม่มีอย่างนั้นก็ไม่ต้องสนใจ ท่านว่า ท่านแสดงไว้ในธรรม
อย่างท่านอาจารย์ฝั้นนี่สำคัญอยู่ กองกอยๆ มา พอตามาสบท่านเท่านั้นละ โหย กลัวเหมือนหมากลัวเสือ กลัวขนาดนั้นละ ปั๊วะทีเดียวไปเลยทีเดียว กลัวมาก พอตาสอบกัน ตาธรรมกับตาผีสบกัน ไปเลย โธ่ ฤทธิ์ของท่านไม่ใช่เล่นนะ ท่านจะเอาเราไปที่ท่านมรณภาพ ตอนนั้นเราไปพักอยู่ที่วัดดงศรีชมภู ไปพักอยู่หลายวัน ทีนี้เราจะกลับ พอดีตกกลางคืนตอน ๖ โมง ๕๐ นาที ท่านสิ้นใจ ตอนเช้ามาดลบันดาลท่านจะไม่ให้เรากลับอุดร ท่านจะให้เราไปนู้น
จนเราออกปากพูดดังโก้กๆ เลย มันจะเกิดเหตุวันนี้มีแน่ๆ คอยดูนะ มันสะเทือนจิตสามหนแล้ว หนนี้แรงมาก เราบอกอย่างนั้น จะมีคอยดูมีแน่ๆ พูดป้างๆ เหมือนบ้าละเราก็ดี เพราะมันกระเทือนจิตถึงสามหน หนที่สามนี่กระเทือนมากทีเดียว ความจริงท่านเสียกลางคืน ตอน ๖ โมง ๕๐ นาที พอดีท่านเอียนมาจากกรุงเทพ มาฉันจังหันที่บ้านตังล้ง พอมาฉันแล้วมาทราบข่าวว่าท่านอาจารย์ฝั้นมรณภาพเมื่อคืนนื้ดูว่า ๖ ทุ่ม ๕๐ นาที ดูว่าอย่างนั้น เล่าให้ท่านเอียนฟัง ท่านเอียนเลยเอาข่าวนี้ไป
ทีนี้รถของเราจะมาอุดรมาไม่ได้ ติดขัดตลอด จนกระทั่งร้องโก้กๆ วันนี้มันจะมีเรื่องอะไรนะ เหมือนกลั่นเหมือนแกล้งกัน เหมือนโลกๆ กลั่นแกล้งเราอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาไม่ให้เรามา เราก็ได้พูดมันจะเกิดเรื่องวันนี้ คอยดูก็แล้วกัน พูดออกมาเลย กระเทือนจิตถึงสามหน พอดีท่านเอียนไปลงรถปั๊บรถติดเครื่องมันไม่ติด ติดปุบๆๆ ดับ ติดปุบๆ ดับ จะออกออกไม่ได้ ท่านอาจารย์ฝั้นไม่ให้ไป เห็นไหม
พอท่านเอียนลงรถปั๊บวิ่งมาเลยมากระซิบ ท่านอาจารย์ฝั้นเสียเมื่อคืนนี้ตอน ๖ โมง ๕๐ นาที ว่าอย่างนั้น เออ เอาละที่นี่รถไม่ต้องติดเครื่อง เหยียบคันเร่งเลย อันนี้เองที่ว่ามันจะเกิดเรื่อง มันเกิดจริงๆ นะ เหมือนกลั่นเหมือนแกล้งกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เรามาอุดร กลั่นแกล้งเราจะให้เราไปนู้น เป็นอย่างนั้นละธรรม เวลากลั่นแกล้งก็กลั่นแกล้งจริงๆ จนร้องโก้กเลยเรา วันนี้จะเกิดเรื่องละคอยดู เกิดจริงๆ เรื่องท่านอาจารย์ฝั้นห้ามไม่ให้เรามาทางนี้ ให้เราไปหาท่านก่อน พอทราบแล้วไม่ต้องติดเครื่อง เหยียบคันเร่งเลย ไปผึงเลย
ไปพรรณา พระเณรรอกันอยู่แล้ว รอเราองค์เดียว ท่านเสียในคืนวันนี้ ตอนเย็นเราก็ไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านเสด็จไปประทับที่ภูพาน ท่านเสด็จมาเยี่ยม ท่านก็ถามถึงว่าท่านอาจารย์มาหรือยัง ว่ายัง ไปหาท่านเสียก่อนไปค้างนั้นคืนหนึ่งตื่นเช้าถึงได้มา อย่างนี้ละเรื่องราว มันกลั่นมันแกล้งกันอยู่ไม่ให้ไป ท่านอาจารย์ฝั้นกับเรา
มันก็เข้ากันได้ท่านอาจารย์ฝั้นกับเรา เจดีย์ใหญ่ๆ นี่ใครเป็นคนสร้างขึ้น ๑๒ ล้าน เราหาเงินให้หมด สร้างให้หมดเลย ๑๒ ล้าน เหลือเงินอยู่ ๘ แสน พอสร้างเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็มอบให้วัดอุดมสมพรทั้งหมดเลย ๘ แสนที่เหลือจากสร้างเจดีย์ ๑๒ ล้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว เงินมันก็มาเองละปุ๊บปั๊บๆ เพราะทราบว่าเราเป็นหัวหน้า พากันมาขอ ประชุมกันไม่รู้กี่ปี สามปีไม่สำเร็จ ที่จะสร้างเจดีย์ท่านอาจารย์ฝั้นเราปัดไว้ตั้งแต่ต้น อย่าให้เราสร้างเลย เราสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พ่อแม่ครูจารย์มั่นแล้วอย่าให้เราสร้าง ให้พากันพิจารณากันเสีย เราว่าอย่างนั้น เราก็ปล่อยไป แล้วประชุมอยู่สามปีไม่ได้เรื่องเลย
พอปีที่สามมีคณะกรรมการมาประชุมห้าคน สุดท้ายก็ยกขบวนมาเลย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจสกลนคร กับประชาชนญาติโยมเต็มมานี่ หลั่งไหลกันไป มาพูดถึงเรื่องความสุดๆ สิ้นๆ ให้ฟังว่าเจดีย์ของท่านอาจารย์ฝั้นนี้จะขึ้นไม่ได้แล้ว หมดแล้ว เมื่อเช้านี้มาประชุมห้าคนคณะกรรมการ หมดหวังแล้วจึงพากันมาขอท่านอาจารย์ ทีนี้เราก็เคารพท่านอาจารย์ฝั้นมาแต่ไหนแต่ไรด้วย ก็คงไม่มีทางไปแล้ว เราก็เลยรับให้ นั่นละเรื่องราว รับไว้ก็รับหมดเลย เจดีย์ทั้งหมดเราสร้างให้หมดเลย ๑๒ ล้าน เหลือเงินอยู่ ๘ แสนเราก็เลยมอบให้ท่านแปลงหรืออะไรอยู่ที่นั่น เราไม่ลืม ตกลงเราสร้างให้หมดนะเจดีย์หลังนั้น ท่านอาจารย์ฝั้นกับเราเป็นอย่างนั้นละ เจดีย์ ๑๒ ล้านก็เราสร้างให้หมดเลย เหลือเงินอยู่ ๘ แสนก็เลยมอบเงินนี้ให้ท่านแปลงในวัดนั้น วัดนี้รับพึ่งเป็นพึ่งตายจริงๆ นะ เศษเหลืออะไรควรจะให้วัดนี้เลยมอบให้วัดนี้ทั้งหมด เหลือเงินอยู่ ๘ แสน วัดอุดมสมพร

#เป็นไปตามนิสัย

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑







“มรรคผล ไม่หมดเวลา”
..ผู้ไม่มีสติพินิจพิจารณาใคร่ครวญ ก็หลงไปตามอำนาจฝ่ายต่ำไปหละ ก็ถือว่าหมดครั้ง หมดคราว หมดมรรค หมดผล หมดระยะไปแล้ว ทุกวันนี้ เข้าป่าเข้าดง ภาวนา ก็ไม่ได้อะไรหรอก หมดระยะแล้ว หมดไปแต่นานแล้ว ..มันจะหมดไปได้ยังไง พวกนั้นก็คน พวกเราก็คนเหมือนกัน ว่าแต่มีการกระทำเกิดขึ้นเวลาไหน ผลมันก็มีเวลานั้นหละ ไอ้เรื่องว่าหมดเวล่ำ เวลา หมดครั้ง หมดคราว อันนี้ มันเรื่องของกิเลสมันล้อเลียนไว้หรอก เขาหลอกใช้อยู่ตลอด เราไม่รู้เรื่องก็หลงไปหละ..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง นิวรณ์ธรรม ๕







..ทำอย่างต่อเนื่อง....

..ทำไม่ให้เป็นวรรคเป็นตอน ทำให้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ผลสุดท้ายมันก็เกิดขึ้นมาเองหรอก ข้อสำคัญเราพยายามทำไม่หยุด คล้าย ๆ กับเราขัดสิ่งของ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำไปเรื่อย ๆ ทำไม่หยุด มันก็ค่อยเกลี้ยงเกลาสะอาดขึ้นมาเอง ลักษณะแก้ไขในด้านจิตใจก็ทำนองเดียวกัน..

..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..









...ความอยากมันไม่มีสิ้นสุด
ต่อไปเครื่องบินก็จะเร็วขึ้น
จากโตเกียวไป
จากกรุงเทพฯไปแอลเอนี้
อาจจะแค่ชั่วโมงเดียว
แทนที่จะสิบกว่าชั่วโมง
.
...แต่มันก็เหมือนกันล่ะ
ไปเร็วไปช้า
ใจมันก็ยังร้อนเหมือนเดิม
มันไม่ร้อนเรื่องนี้
มันก็ไปร้อนกับเรื่องอื่น
.
...มันมีเรื่องให้ร้อนอยู่เรื่อยๆ
เพราะ ความอยากนี้เป็นไฟ
"เป็นเชื้อไฟของใจ "
.
...ใจเราร้อนเพราะ "ความอยาก"
ใจเราเย็นเพราะ "ไม่มีความอยาก"
...................................
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 2/8/2559
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





"พระเปรต" จากหนังสือ "ธรรมพเนจร"
อัตโนประวัติหลวงปู่จันทา ถาวโร

...สมัยหนึ่ง อาตมาไปวิเวกกับพระอาจารย์บุญพิน กตปุญโญ และพระจ่อย ไปอยู่ที่ถ้ำจำปา อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ถ้ำจำปาอยู่บนภูพาน ในถ้ำนั้นมีพระพุทธรูปทำด้วยไม้ และหินอยู่มาก โยมที่บ้านกะลึมบอกว่า มีผีเฝ้ารักษาไว้ แล้วโยมก็พาไปทำที่พักให้อยู่หน้าถ้ำ

พอค่ำลง ก็ทำความเพียร เดินจงกรมจนถึง ๓ ทุ่ม จากนั้น ก็ไหว้พระ สวดมนต์แล้วอุทิศส่วนบุญ เสร็จแล้วก็เข้าที่ นั่งภาวนา กำหนดพุทโธ ธัมโม สังโฆ ไม่นานจิตก็รวม พอจิตสงบ เกิดแสงสว่างจ้า ไม่นานเห็นเทพบุตรตนหนึ่งมาบอกว่า

“ท่านอาจารย์หันปลายเท้าเข้าหน้าถ้ำ นั้นเป็นทางไปพระนิพพานนะ”

ถามเขากลับไปว่า “ทางไปพระนิพพานคืออะไร ?”

เขาก็ว่า “พระพุทธรูปนั่นแหละ ผู้เป็น นายโก ผู้นำโลกคือหมู่สัตว์เข้าพระนิพพานได้ ทีนี้ท่านหันเท้าเข้าไปอย่างนั้นมันผิดแล้ว”

“โอ๋...โยมเขาทำให้อย่างนั้น ต้องขออภัยด้วย พรุ่งนี้จะให้เขาทำให้ใหม่”

เสร็จแล้วเขาก็ลากลับไป จากนั้นไม่นาน ก็มีเปรตพระ ๓ ตนเข้ามาหา เป็นคนโบราณรูปร่างสูงใหญ่ มีเครายาวถึงหน้าอก เข้ามานั่งใกล้ ๆ ลูบขาข้างซ้าย แล้วพูดว่า

“ท่าน ๆ ผมกับท่านใครจะแก่พรรษากว่ากัน ?”

ก็ตอบเขาไปว่า “หลวงพ่อนั่นแหละ แก่กว่า”

“ก็คงจะจริงอย่างท่านว่านั่นแหละ พรรษาของผมนั้นแก่กว่าท่าน แต่ว่าคุณธรรมของท่านนั้น แก่กว่าผมนะ”

“แก่กว่าเพราะเหตุใด ?”

“แก่เพราะท่านเจริญธรรม เดินจงกรม ยืนภาวนา นั่งสมาธิ อดนอนผ่อนอาหาร นี่มันแก่อย่างนี้ เพราะการเจริญธรรมถูกต้อง”

จากนั้นก็เลยถามเขาต่อไปอีกว่า

“พวกท่านเป็นพระ บวชในศาสนาพุทธอันบริสุทธิ์แล้ว สมควรที่จะเจริญสมณธรรม อย่างต่ำก็ไปสวรรค์ ๖ ชั้น อย่างกลางก็พรหมโลก (รูปพรหม ๑๖ ชั้น) อย่างสูงก็อรูปพรหม ๔ ชั้น และอย่างถึงที่สุด ก็วิมุตติหลุดพ้นไปพระนิพพาน ข้ามโลกสงสารไปได้ เพราะมีกิจอันเดียว แต่เหตุใดท่านจึงมาเป็นเปรตค้างอยู่ที่นี่”

“ท่านเอ๊ย...พวกข้าพเจ้าเกิดมาพบปะศาสนาในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา (เป็นเจ้าเมืองเวียงจันทร์เรืองอำนาจและสร้างวัดต่าง ๆ มากมาย) เมื่อบวชมาแล้ว อุปัชฌาย์อาจารย์ก็ไม่แนะนำพร่ำสอนให้เดินจงกรม ยืนภาวนา นั่งสมาธิ อดนอน ผ่อนอาหาร พิจารณาธาตุขันธ์ เหมือนอย่างพวกท่านในขณะนี้”

“บวชเป็นพระตั้ง ๑๐๐ กว่าพรรษา ก็ไม่ได้ภาวนาอะไร อยู่สนุกสนาน ฉันเช้า ฉันเพล แล้วก็ทำกิจการงานต่าง ๆ ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงม้า เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เหมือนอย่างฆราวาสญาติโยมเขา”

“บวชมาแล้วก็ล่วงเกินสิกขาบทวินัยไตรสิกขาน้อยใหญ่เสียสิ้น ศีลวัตร ศีล ๒๒๗ ก็ล่วงเกิน จะเหลือก็แต่ปาราชิก ๔ ถึงเหลือก็เศร้าหมอง ล่วงเกินพระวินัยด้วยการขุดดิน ฟันไม้ จับจ่ายเงินทอง กินข้าวแลงแกงร้อน (ฉันอาหารยามวิกาล) นั่งนอนเสื่อสาดยัดด้วยนุ่นและสำลี (ต้องอาบัติปาจิตตีย์) กินลาบดิบ ลาบวัว ลาบควาย พอญาติโยมเขาฆ่าวัวความยอยู่ในบ้าน ก็สั่งเอาเนื้อสันใหญ่ ๆ ตับ ไต เอามาลาบก้อยกินกันสนุกสนาน กินกับเหล้ากับยา สนุกสนาน”

นั่นแหละ ขุดดินฟันไม้ จับจ่ายเงินทอง ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ กินข้าวแลงแกงร้อนก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์นะ นั่นแหละ

“พอถึงช่วงเดือน ๑๒ เขาลงจับปลากัน ก็ให้เณรไปขอปลาและกุ้งเป็น ๆ มาลาบกินกันสนุกสนาน บางทีก็เข้าป่าหากระต่ายและอีเห็นมาหมกมาคั่ว (ทำอาหาร) กินกันสบาย”

“ทีนี้ฤดูทำนา เขาก็มานิมนต์ไปช่วยเขาดำนา แล้วก็กินเหล้ากินยา ลาบวัวลาบควาย สนุกสนานคุยสาว (จีบผู้หญิง) นะท่าน ถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็ไปเก็บเกี่ยวกับเขา กินเหล้ากินยา เล่นสาว (พูดเกี้ยวผู้หญิง) สนุกสนาน เวลานวดข้าว เขาก็มานิมนต์ไปนวดกับเขา เวลาเอาข้าวขึ้นยุ้งขึ้นฉาง เขาก็มานิมนต์ไปสวดมนต์ข้าวนะ แหม..กินเหล้ากินยาวันยังค่ำ ท่านเอ๊ย...สนุกสนาน ได้กินลาบไก่ ต้มไก่ สนุกสนาน”

“วันพระก็ตีกลองให้ผู้สาว (หญิงสาว) มาดายหญ้าในบริเวณวัด แล้วก็เล่นสาวสนุกสนาน งานบุญพระเวสสันดร มีการละเล่นต่าง ๆ ก็เล่นสาวสนุกสนาน จับโน่นจับนี่ เมื่อมีโยมตายในหมู่บ้าน เขานิมนต์ไปสวดกุสสลา มาติกาในงานศพ มีการละเล่นในงานนั้น ก็หยิบหยอกกับผู้สาว จับก้นจับขาจับของดี ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง นั่นแหละ ทำอยู่อย่างนั้นเป็นนิจ”

“ทีนี้มาถึงเดือน ๕ เมษายน ขึ้นปีใหม่ อุปัชฌาย์อาจารย์ก็บอกว่า เอ้า...พระเราเป็นนาคนะ ฤดูนี้เราเป็นนาค เล่นน้ำได้ ไม่เป็นบาปเป็นกรรม นั่นแหละ มันก็สนุกสนาน เล่นน้ำปล้ำผู้สาว จับอกจับก้น จับของลับกันสนั่นหวั่นไหว แต่อาจารย์ไม่ให้เสพนะ ถึงอย่างนั้นมันก็เกิดความกำหนัดยินดีในกาม นั่นแหละกระทำกันอยู่อย่างนั้นเป็นนิจ เสร็จแล้วก็มีการขอขมาลาโทษกัน ทำพิธีสู่ข้างเล่าขวัญ (พิธีขอขมา) อันนี้ต้องอาบัติทุกกฎนะ”

“นั่นแหละ ความไม่ดีทั้งหลายที่พวกข้าพเจ้าทำขึ้นจึงได้ส่งผลให้มาเกิดเป็นเปรตตกค้างอยู่ที่นี่”

นอกจากเปรตพระ ๓ ตนนี้แล้ว ก็ยังมีเปรตแม่ขาวนางชี (แม่ชี) ตกค้างอยู่ที่นั้นอีกมาก

พอถามว่า เมื่อไหร่จะพ้นกรรม เขาก็บอกว่าไม่รู้ ถามว่าทำอย่างไรจึงจะพ้นกรรมได้ เขาก็ไม่ทราบ จึงได้กำหนดจิตถามพระธรรมว่า

“เปรต ๓ ตนนี้ กับแม่ชีนั้น
เคยเป็นญาติของเราบ้างไหม ?”

“โอ๋...เป็นมาหลายภพหลายชาติแล้ว แต่มาภพนี้ชาตินี้ เขาทำกรรมไม่ดี จึงมาเกิดเป็นเปรต นั่นแหละ จงช่วยเหลือเขาเสีย ถ้าเราไม่ช่วยแล้ว ก็ไม่มีใครช่วยเขาหรอก”

จากนั้น จึงพูดกับเปรตเหล่านั้นว่า

“พระพุทธรูปที่อยู่ในถ้ำนั้น อย่างเพิ่งหึงหวงห่วงอาลัยนะ เมื่อมีพระเณรหรือญาติโยมมาเอา ก็ให้เขาไปเถิด เราจะได้พ้นจากบาปกรรมได้ เอ้า...เตรียมรับพระไตรสรณคมน์และศีล ๕ จะช่วยให้พ้นจากสภาพเปรตไปเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก และเมื่อข้าพเจ้าเดินจงกรมเสร็จแล้ว ก็มารับส่วนบุญนะ”

เจริญสมณธรรมอยู่ที่นั่นได้ ๒ - ๓ เดือน
ก็มีแม่ชีคนหนึ่งมาบอกลาว่า

“ท่านอาจารย์ ดิฉันพ้นจากบาปกรรมชั่วช้าลามกแล้ว จะได้ไปเกิดที่เมืองมนุษย์อีก”

“ไปดีเถิด จงภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ ไปนะ ไปที่ อ.บ้านผือ หรือที่ จ.อุดรธานี โน่นแหละดี เพราะจะมีพระกรรมฐานผ่านมามาก”

ทีนี้พอล่วงมาถึงเดือน ๖ ก็ได้บอกพวกเปรตทั้งหลายว่า ปีนี้จะกลับไปจำพรรษากับหลวงปู่บัว สิริปุณโณ ที่วัดป่าบ้านหนองแซง ปีหน้า ถ้าบุญพาวาสนาส่ง จะกลับมาโปรดอีกนะ แต่แล้วก็อย่าได้ประมาท ขอให้พากันเดินจงกรม บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาบุญ ยืนภาวนา บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาบุญ ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฝึกจิต อบรมจิต สอนจิต ทรมานจิต ให้มันเป็นไปในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้จิตอยู่กับนักปราชญ์ คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ นั่นแหละ จะเป็นจิตเกษมสำราญ พ้นจากกำเนิดเป็นเปรต ไปเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก โดยเร็วพลัน ช่วยตัวเองนะ อัตตาหิ อัตตะโนนาโถ (ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน) พึ่งคนอื่นชื่นใจเป็นบางครั้ง ไม่เหมือนดั่งพึ่งตนผลทวี ตนจะเป็นคนดี หนีทุกข์โทษภัย ในวัฏฏสงสาร มีพระนิพพานเป็นที่ไปเบื้องหน้า ก็เพราะตนทำดี สะสมบุญดีให้เกิดมีขึ้น เพราะตนพึ่งตน อันนี้ข้อสำคัญมั่นหมาย

นั่นแหละ ต่อแต่นั้น ก็ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่บัว พอออกพรรษาแล้วก็กลับมาที่เก่าอีก ไปแล้วรู้สึกว่าเป็นเบา ๆ นะ พวกเปรตทั้งหลายนั้นหายไปหมดแล้ว เมื่อภาวนาจิตสงบแล้ว มีพวกเทวดาทั้งหลายมาขอรับพระไตรสรณคมน์และศีล ๕ เสร็จแล้วเทศน์ให้ฟัง แล้วก็ถามเขาว่า

“พวกเปรตพระ ๓ ตน กับแม่ชีทั้งหลาย
หายไปไหนกันหมด”

เขาก็ตอบว่า

“ท่านมาโปรดเขา เมื่อปีกลายโน้น เขาก็ได้เจริญสมณธรรมตามอย่างที่ท่านสอนนั้น แล้วก็รักษาศีลอย่างบริสุทธิ์ จึงได้ไปเกิดที่เมืองมนุษย์กันหมดแล้วละท่าน”

นั่นแหละ เรื่องการไปวิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ได้สงเคราะห์ฝูงเปรตทั้งหลาย และผีสางคางแดงทุกอย่าง

นี่แหละการไปเจริญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ นั้น ก็ได้ธรรมะเกิดขึ้นสอนใจ เขาเป็นอย่างไรตกทุกข์ได้ยาก เป็นเปรตเป็นผีค้างโลกโลกีย์อย่างนั้น ก็เพราะทำบาปหยาบช้าลามก ลืมตน คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต ๆ พาไปหาผล คบคนชั่วพาตัวยากจน คบใครก็เป็นอย่างนั้น ทีนี้ก็น้อมมาเป็นธรรมะสอนเรา ถ้าเราเป็นผู้ประมาทแล้ว ต่อไปก็จะไม่แคล้วคลาดจากสมบัติ อย่างที่เขาได้นะ นั่นแหละ ข้อสำคัญมั่นหมาย


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 153 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO