นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 4:56 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 27 ส.ค. 2017 9:44 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
"มองตัวเองให้มาก จึงจะเป็นคนดีได้
มัวแต่มองท่านผู้อื่นแล้วไซร้
ก็กลายเป็นคนพาลไปไม่รู้ตัว

เพราะนิสัยคนพาล ย่อมเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวัตร
โบราณท่านกล่าวว่า อุจจาระของตน
นั่งดมอยู่ ก็พอดมได้ อุจจาระท่านผู้อื่นเล่า
มากระทบจมูกเข้า ก็เกิดเป็นพิษเป็นภัยขึ้น"

-:-หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต-:-







"ทุกลมหายใจเข้า หายใจออก
อย่าได้มัวเมาประมาท
มระณัง เม ภะวิสติ เราต้องตาย
เราต้องตาย ภายในร้อยปี
ไม่มีบุคคลใด จะอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย
ไม่ตาย ไม่มี

เราเกิดมาอย่างนี้แล้ว ชรา พยาธิ
มันติดตามอยู่ตลอดกาล เมื่อชราความแก่
พยาธิ ความเจ็บไข้มาเตือน
เราท่านทั้งหลาย เป็นคราวๆ อยู่

มระณัง เม ภะวิสติ เราต้องตายนั้น
มันเป็นความแน่นอน"

-:-หลวงปู่สิม พุทธาจาโร-:-







"กรรมใหม่ สำหรับทำ
กรรมเก่า สำหรับรู้

อย่ามัวรอกรรมเก่า
ที่เราทำอะไร มันไม่ได้แล้ว
แต่หาความรู้จากกรรมเก่านั้น
เพื่อเอามาปรับปรุง

การทำกรรมปัจจุบัน
จะได้พัฒนาตัวเราให้สามารถ
ทำกรรมอย่างเลิศประเสริฐได้
ในอนาคต"

-:-สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์-:-








"จิตของเรานี้
เป็นใหญ่ อยู่ในตัวของเรา
เป็นสิ่งสำคัญ เป็นหัวหน้า

คนเรานี้ ถ้าใจดี
กายวาจาก็จะพลอยดีไปตามกัน
ถ้าจิตใจไม่ดี กายวาจาก็พลอยไม่ดีไปด้วย

จงจำไว้ว่า ใจเป็นสิ่งสำคัญ
ศีล สมาธิ ปัญญา จะตั้งอยู่มั่น
ก็ต้องอาศัยมูลฐานอันสำคัญ คือ จิต"

-:-ครูบาเจ้าพรหมา พรมจักรโก-:-






คนเราส่วนมาก ถ้าเป็นอยู่สุขสบาย มีกินมีใช้ ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่จนตรอกจนมุม ชอบจะประมาท ไม่แสวงหาที่พึ่ง เวลาถึงคราวจนตรอกจนมุมจึงจะหาที่พึ่ง ปกติส่วนมากจะเป็นอย่างนั้น มันจะไม่ค่อยทัน ให้เราเตรียมตัวเอาไว้ก่อน พึ่งทาน พึ่งศีล พึ่งพุทโธ ธัมโม สังโฆ และใจจะได้มีที่เกาะ อย่างทานอย่างศีลนี้ ถ้าเราได้ทำไว้แล้ว ระลึกได้เมื่อไรจะเย็นใจ ไม่เหมือนทำความชั่ว ซึ่งคิดแล้วเศร้าใจ ไม่สบาย

ถึงจะภาวนาไม่เป็น แต่ถ้าว่าเราได้ให้ทานเอาไว้ รักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะศีลห้า ใจเราก็ไม่เดือดร้อน ถ้าไม่มีอะไรเสียเลย ถึงคราวจำเป็นมา ใจจะไม่มีที่เกาะ เหมือนว่าวเชือกขาด แล้วแต่ลมจะพาไป

หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม
๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๗






"นักปฏิบัติจริงๆ แล้วไม่ต้องคบกับใครก็ได้ นอกจากครูบาอาจารย์"
ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ถาม : พระที่อยู่ด้านล่าง ท่านสนใจอ่านหนังสือธรรมะด้านปฏิบัติไหมคะ

พระอาจารย์ : ส่วนใหญ่ท่านบวชตามประเพณี มีเป้าหมายต่างกัน เป็นเรื่องนานาจิตตัง เป็นเรื่องของอินทรีย์ ถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าก็จะมุ่งไปทางสำนักปฏิบัติ ถ้าอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็จะอยู่วัดในเมือง เหมือนรับประทานอาหาร เราเลือกร้านกัน ร้านอาหารมีหลายระดับ ตั้งแต่ริมถนนจนถึงระดับ ๕ ดาวในโรงแรม ๕ ดาว อยู่ที่กำลังทรัพย์ ถ้ามีทรัพย์มากก็คงไม่รับประทานอาหารริมถนน ถ้ามีทรัพย์น้อยก็ต้องกินอาหารข้างถนน มีทรัพย์มากก็ไปกินร้านอาหาร ๕ ดาว ถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าก็จะไปกินอาหารของพระอรหันต์ เป็นเหมือนบัว ๔ เหล่า สะสมบุญบารมีมาไม่เท่ากัน พัฒนาจิตใจมาไม่เท่ากัน ไม่อย่างนั้นคนที่เกิดในสมัยพระพุทธเจ้า ก็ต้องบรรลุเป็นพระอรหันต์กันหมด เพราะมีพระพุทธเจ้ามีพระอรหันต์อบรมสั่งสอน พระที่บวชอยู่ในสมัยนั้นก็ไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทุกรูป เพราะมีอินทรีย์ที่ไม่เท่ากัน

เรื่องเหล่านี้ไม่ควรไปสนใจมาก ควรสนใจอินทรีย์ของเราดีกว่า อินทรีย์เรามีขนาดไหน เพิ่มขึ้นได้หรือเปล่า ทำให้มากกว่านี้ได้หรือเปล่า มัวแต่ไปสนใจเรื่องของคนอื่น ลืมดูเรื่องของตัวเอง อย่าไปมองคนอื่นมากเกินไป ถ้ามองก็มองให้เป็นธรรม คือมองเพื่อเปรียบเทียบ ว่าเขาเก่งกว่าเราหรือด้อยกว่าเรา ถ้าเขาเก่งกว่าเราๆก็ต้องพยายามผลักตัวเราให้เก่งเท่ากับเขาให้ได้ ถ้าเขาด้อยกว่าเราก็อย่าลดตัวเราให้ด้อยเท่ากับเขา ต้องระมัดระวัง เพราะยังอยู่ในฐานะที่เจริญและเสื่อมได้ ยังไม่ถึงจุดที่ไม่เสื่อม ถ้าไม่ระวังถ้าประมาทก็จะเสื่อมลงได้ ถ้าไปคบค้าสมาคมกับคนที่มีอินทรีย์ที่ต่ำกว่า จะถูกเขาชวนไปในทางของเขา ลงมันง่ายกว่าขึ้น ขึ้นมันยากกว่าลง เวลาลงมันง่าย ชวนไปเที่ยวมันง่าย ชวนไปวัดไปปฏิบัติธรรมมันยาก ต้องคบคนที่ชอบไปวัดปฏิบัติธรรม เขาจะคอยชวนเราไปเรื่อยๆ อย่าไปคบกับคนที่ชอบเที่ยว เขาจะชวนเราไปเที่ยว

ท่านสอนว่า อเสวนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวนา เอตัมมังคะละมุตตะมัง การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต เป็นมงคลอย่างยิ่ง คนพาลคือคนที่มีอินทรีย์ต่ำกว่าเรา เรียกว่าคนพาลได้ บัณฑิตคือคนที่มีอินทรีย์สูงกว่าเรา อินทรีย์คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ถ้ามีมากกว่าเรา เขาจะชวนให้เราไปเติมให้มากขึ้น ถ้ามีน้อยกว่าเขาจะชวนให้เราลดน้อยลงไป จะได้อยู่ในระดับเดียวกับเขา เช่นเขานั่งสมาธิได้วันละชั่วโมง เรานั่งได้ ๒ ชั่วโมง เขาก็จะชวนให้เรานั่งวันละชั่วโมง ต้องสังเกตคนที่เราคบค้าสมาคมด้วย เขามีอิทธิพลต่อการประพฤติของเรา อย่างเข้าหาครูบาอาจารย์นี้ท่านจะคุยแต่เรื่องธรรมะตลอด คุยแต่เรื่องปฏิบัติตัดกิเลส ท่านไม่คุยเรื่องอื่น ถ้าไปคุยกับคนอื่น ก็จะคุยเรื่องที่เที่ยว เรื่องสถานที่รับประทาน ที่ไหนอร่อย ที่ไหนไม่อร่อย ถ้าเรามีอินทรีย์สูงกว่าเขา ถ้าเขาชวนไปเที่ยว เราจะไม่ยินดีถ้าเราชอบไปวัด เราจะคบกับคนที่ชอบไปวัด หรือไม่ต้องคบกับใครเลย

นักปฏิบัติจริงๆแล้วไม่ต้องคบกับใครก็ได้ นอกจากครูบาอาจารย์ ที่เราต้องพึ่งพาอาศัย ให้การอบรมสั่งสอน ให้ความรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ถ้าไม่สามารถคบคนที่เก่งกว่าเราหรือเท่าเราได้ ก็ให้อยู่คนเดียวดีกว่า อย่าไปคบกับคนที่ด้อยกว่าเรา เพราะจะฉุดเราลงต่ำ การอยู่คนเดียวไม่เป็นการเห็นแก่ตัว เป็นการปลีกวิเวก เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิบัติ ต่อการเจริญก้าวหน้าในทางปฏิบัติ ถ้ามีโอกาสที่จะปลีกวิเวกได้ก็ไปเลย อย่าคิดว่าเห็นแก่ตัว ถ้าเราทำภาระหน้าที่ของเราเรียบร้อยแล้ว มีเวลาว่างที่จะปลีกตัวได้ก็ปลีกไป เช่นเวลาอยู่ในวัดมีภารกิจต้องทำร่วมกัน ก็ต้องทำร่วมกัน ปัดกวาดร่วมกัน บิณฑบาตก็ทำร่วมกัน พอไม่มีกิจที่ต้องทำร่วมกัน ก็ปลีกตัวไปอยู่ที่ของตน ไปนั่งสมาธิ ไปเดินจงกรม.

กัณฑ์ที่ ๔๑๒ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (จุลธรรมนำใจ เล่มที่ ๒๑)

“ใจเป็นตัววัดผล”

ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






ลองสังเกตุดูน่ะว่า คนที่ล้มเหลว
มักจะเป็นประเภทน้ำเต็มแก้ว
ไม่เคยฟังใคร มีเหตุผลแก้ตัว
ให้ตนเองเสมอ และที่สำคัญ
มักจะโยนความผิดให้คนอื่นเสมอ

โอวาทธรรม หลวงปู่ อุ่นหล้า ฐิตธัมโม






"...จะสุข ก็เพราะใจปรุงให้สุข
จะทุกข์ ก็เพราะใจปรุงให้ทุกข์
ดังนั้นสิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุด
คือ #การปรุงของใจคนนี้แหละ
มิใช่การกระทำของคนอื่น
คนอื่นจะทำอะไรอย่างไร
ถ้าเราระวังการปรุงของใจเราเอง
ให้ถูกต้องแล้ว
ความทุกข์ของเราจะไม่เกิด เพราะการกระทำของเขาเลย..."

“...ใจ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มีฤทธิ์มีอำนาจที่สุด
ความสุขความทุกข์ ความดีความชั่ว
ความเย็นความร้อน ความสงบความวุ่นวาย เกิดจากใจทั้งสิ้น
'ใจ' เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
#ผู้มีปัญญาเห็นค่าของใจ สูงกว่าค่าของสิ่งอื่นใดทั้งหมด..."

"...การหัดตาย ก็คือการปล่อยใจจากสิ่งทั้งหลาย ก่อนที่จะถูกความตาย #บังคับให้ปล่อย..."

"...ผลของกรรม ไม่ได้เป็นไปตามความเชื่อ
#แต่เป็นไปตามความจริง..."

"...ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นทางแยก จะไปสูงไปต่ำ จะไปดีไปร้าย เลือกได้ในชีวิตนี้เท่านั้น #พึงสำนึกข้อนี้ให้จงดี
แล้วจงเลือกเถิด...เลือกให้ดีเถิด..."

"...คนที่ถือกำเนิดเป็นคนนั้น ยังไม่จัดเป็นคนโดยสมบูรณ์ เพราะเหตุเพียงเกิดมามีรูปร่างเป็นคน #ต่อเมื่อมีการปฏิบัติ ประกอบด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
สมกับความเป็นคน จึงเรียกว่าเป็น คนโดยธรรม เมื่อมีธรรมของคนสมบูรณ์ จึงจะเชื่อว่าเป็นคนโดยสมบูรณ์..."

"...ชีวิตนี้เท่านั้น ที่จะนำไปสู่ความสวัสดีมีสุข ได้อย่างแท้จริง เพราะชีวิตนี้เท่านั้น #ที่พร้อมสำหรับการบำเพ็ญ บุญกุศลทุกประการ
จะทำดีเพียงไร ก็ทำได้ในชีวิตนี้..."

โอวาทธรรม 'สมเด็จพระญาณสังวรฯ' พระสังฆราชองค์ที่ 19
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์








*** ทำ ๔ ข้อนี้ให้ได้ ไปนิพพานหมด ***

"ชาตินี้พวกเราควรจะพอกันเสียที เกิดทุกชาติก็ตายทุกชาติ เคยเป็นใหญ่ เคยเป็นกษัตริย์ มีทรัพย์สมบัติมากมายเอาติดมาไม่ได้เลย...

๑. ให้นึกถึง มรณัสสติกรรมฐาน ไว้ เพราะเป็นสมถะและตัด สักกายทิฏฐิ ไปด้วย เพราะคิดถึงความเสื่อม คือตายเป็นปกติ
๒. มี อนุสสติ ครบ เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์
๓. ทรง ศีล บริสุทธิ์
๔. นึกถึง พระนิพพาน เป็นอารมณ์

พวกเราทำ ๔ ข้อนี้ให้ได้ ไป นิพพาน หมด ไม่ต้องทำอะไรมากมายไปกว่านี้ เพราะเราทำทุกอย่างมาเต็มหมดแล้ว"

-------------------------------------------
จากหนังสือ โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง
โอวาทหลวงพ่อฯ เล่ม 1 หน้า 6








เมื่อจะขอโทษท่านผู้เป็นเจ้ากรรมนายเวร
ก็พึงทำเช่นเดียวกับเมื่อจะตอบแทนพระคุณท่านผู้มีพระคุณ

คือทำบุญทำกุศลด้วยตั้งใจจริงที่จะอุทิศให้
แล้วตั้งใจจริงบอกกล่าวให้รับรู้
ให้ยอมรับความเจตนาจริงใจที่จะขอโทษและตอบแทน

การบอกกล่าวด้วยใจจริงเช่นนี้
ต่อผู้ไม่มีตัวตนปรากฏให้เห็นเช่นนี้
ไม่ใช่ความหลง ไม่ใช่ความไร้เหตุผล
แต่เป็นความปฏิบัติที่ถูกต้อง และจะได้ผล
อาจพาพ้นมือแห่งกรรมไม่ดีที่ตามอยู่ได้

ที่มา "อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม "พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร







"...การแก้หัวใจที่ไม่สงบ ก็ต้องใช้ความพยายามแก้ไขดัดแปลงมากๆ ไม่ใช่จะนิ่งเพ่งดูจำเพาะหัวใจอันนั้นอันเดียวอย่างนั้น การเพ่งอย่างนั้นก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่สำหรับผู้ที่มีกำลัง

ถ้าผู้ที่ไม่มีกำลังแล้ว นิวรณ์ธรรมก็เข้ามาทับ หรือเรียกว่า อารมณ์ทั้งหลายเข้ามาชิงความดีของเราที่จะตั้งอยู่ไม่ได้ มันคอยให้ส่ายออกไป โน้มน้าวหาอารมณ์เข้ามาป้อนใจอยู่ตลอดเวลา สมาธิก็ไม่สามารถจะตั้งได้

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ มันก็จะต้องดูเล่ห์ดูเหลี่ยมคู่ของใจเรา ใครจะพูดขนาดไหนมันก็ไม่เข้าใจเรา เราต้องดูเอาเอง ดูที่หัวใจลงไป..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท






"...ความไม่พอใจ เมื่อสะสมมากเข้า
ก็กลายเป็นความโกรธโดยไม่รู้ตัว

โกรธมากเท่าไร ก็ลืมตัวมากเท่านั้น

จึงเผลอทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ
ซึ่งกลายเป็นปัญหากับส่วนรวม

บางทีจะก่อปัญหา มากกว่า
คนที่เราไม่พอใจเขาเสียอีก..."

โอวาทธรรมคำสอน..
พระอาจารย์ไพศ่าล วิสาโล







"...พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ตลอดเวลา ใจจะได้รู้เห็นตามความเป็นจริง จะได้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย คลายจากความยินดีในสังขารร่างกายอันไม่เป็นแก่นสาร

เมื่อเห็นทุก ๆ อย่าง เห็นเป็นอนัตตา กิเลสก็ไม่มีที่อยู่ อัตตา คือบ้านที่อยู่อาศัยของกิเลส เมื่ออัตตาไม่มีอยู่ในหัว กิเลสหมดไปโดยอัตโนมัติ ภพชาติหมด..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่คำพอง ปัญญาวุโธ (หลวงตาน้อย)
วัดป่านานาชาติ รัฐเวอร์จิเนีย






"...การภาวนา เป็นเรื่องของการบำเพ็ญ เพื่อความสุข ไม่ใช่เพื่อความทุกข์ แม้จะมีความยากลำบากบ้างก็อย่าท้อถอย ให้เห็นเป็นธรรมดาของการจะทำสิ่งมีค่าให้เกิดขึ้น..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร






"...สิ่งที่เรียกว่า "ความสุข"
ย่อมมีแปลกๆ กันไป เป็น ชั้นๆ

เช่นเดียวกับคำว่าอาหาร
อาหาร ของคนชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง

หรือคนต่างชาติ ต่างมุมโลกต่างๆ
ย่อมแปลกกันไป แต่ก็เรียกว่า อาหาร ด้วยกัน

นี้ฉันใด คำว่า "สุข" ก็ฉันนั้น
ย่อมแตกต่างกันไป ตามความเหลื่อมล้ำ

ต่ำสูงของความรู้สึก ที่อยู่ภายในใจ
เป็นคนๆ หรือชั้นๆไป..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพุทธทาสภิกขุ






"สมัยนี้ก็เหมือนกัน เที่ยววิ่งหาแต่ครูบาอาจารย์
มีแต่นักสืบทั้งนั้น วิ่งโน่นวิ่งนี่ สืบไปโน่นสืบไปนี่
มีแต่ดูข้างนอกมันไม่ดูหัวใจเจ้าของเอง
ถ้ามันเกิดแล้วใครล่ะจะเห็น กิเลสมันก็อยู่นั่นล่ะ กายมันไม่มีกิเลสหรอก"

หลวงปู่ลี กุสลธโร






เบิ่ง ให้เบิ่งหัวใจเจ้าของนั่นล่ะ
อย่าไปเบิ่งหัวใจผู้อื่น
คั่นคุมเจ้าของแท้ๆต้องเห็น
คั่นพิจารณาสภาพร่างกาย
ก็พิจารณาอยู่ฮั่น
แต่พื้นเท้ามาศรีษะ
แต่ศรีษะลงมาพื้นเท้า
ให้พิจารณาอยู่ฮั่น
เอาแหมะ 24ชั่วโมงนี่
บ่ ให้มันปากเลยต้องเกิดแน่

หลวงปู่ลี กุสลธโร







จะไปพูดอะไรเรื่องกายทิพย์ หูทิพย์
แต่กายตัวเองยังไม่เห็นเลย
เพราะว่าใจของเรามันไม่สะอาด
ถ้าเราทำใจให้สะอาดดูซี
มันเกิดขึ้นเลยล่ะ

หลวงปู่ลี กุสลธโร






คำสอนหลวงพ่อเรื่อง "อารมณ์สุดท้าย"<=..

.. ก็ถามท่านว่า ตอนที่จิตมันจะสบายถึงที่สุด ทำยังไง ท่านบอก ทีแรกก็ย่ำต๊อกบ้าง เดินจงกรมบ้าง เรื่อยเฉื่อยไปเอาเรื่องไม่ได้ ก็เหนื่อย ตอนเหนื่อยมันเหนื่อยมาก ตอนเหนื่อยมากเห็นจะเป็นลีลาของพระอานนท์

พระอานนท์ก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์นะ คืนนั้นท่านเหนื่อยมาก เดินจงกรมหนักเกินไป ท่านก็คิดถึงผลการตัดกิเลสมันก็ไม่ได้ ท่านก็เลยคิดว่ามันคงเหนื่อยเกินไป นอนเสียหน่อยเถอะ พักผ่อนหน่อย พอจิตคลายนิดเดียวก็เป็นอรหันต์เลย

นี่แสดงว่าการจะมีผลในการปฏิบัติทุกขั้นน่ะไม่ใช่เครียด ต้องมีอารมณ์สบายๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ใช้มัชฌิมาปฎิปทา" อันนี้ฉันเคยชนมาหลายขั้นหลายตอนแบบนี้ โดยมากฉันมีฤทธิ์บ้ามาก ทำอะไรถ้าไม่ได้ให้มันตายไป

ถ้า ๓ วันนี้ไม่ได้จุดนี้ตามต้องการ ให้มันตายเสียดีกว่า ตั้งไว้เลย "ผลที่สุด ผลจะได้จริงๆ อีตอนที่มันเหนื่อยแล้วจะมานอน คลายตัวนี่แหละ" เดินเล่นนิดหนึ่ง มานั่งเล่นหน่อยนั่นแหละ ตรงนี้แหละผ่านไปเป็นจุดๆ ใช่ไหม

อันนี้ท่านก็เหมือนกัน ทั้ง ๗ องค์ คือว่าอารมณ์สุดท้ายเหมือนกัน ท่านบอกว่า พอเหนื่อยคิดว่าไม่เป็นเรื่องหรอก ทำใจสบายๆ ดีกว่า พวกที่ได้มโนมยิทธิบอกว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า เราได้มโนมยิทธิแล้วไม่ต้องลำบาก

มันจะได้แค่ไหนก็ช่างหัวมันเถอะ เอาแค่จับพระนิพพานเป็นอารมณ์ไปนั่งเล่นบนพระนิพพานดีกว่า ท่านกินข้าวแล้วก็ไปนั่งเล่นจนเขาหาว่าบ้า จนกระทั่งพระที่อยู่ด้วยกันเขาก็เกลียด ญาติโยมบางกลุ่มเขาก็เกลียด

หาว่าพระนี่บ้าๆ บอๆ นั่งหลับตาปี๋อยู่เรื่อย ท่านบอกว่าจิตเป็นสุข เมื่อตอนก่อนๆ ถ้าเขาหาว่าบ้า พอเขาพูดอย่างนี้ท่านก็บอกว่าโกรธ "มาตอนนี้จิตมันยิ้ม เขาหาว่าบ้าท่านก็ยิ้มในใจ เราสบายเขาจะลำบาก" ตอนนี้ไม่โกรธ กลับมีจิตเมตตาสงสาร

ถึงเวลาทำงานกันก็ช่วยเขาทำ ไอ้เวลาทำงานมือก็ทำงาน แต่ใจไปอยู่บนนิพพาน ในที่สุดท่านก็บอกว่า ถึงเวลาที่จิตมันสบายจริงๆ ก็บอกไม่ถูก อยู่ๆ มันก็ไม่เกาะอะไรเสียเลย ไม่นานหรอก ใช้อารมณ์แบบนี้อยู่ ๒-๓ วัน มันก็ไม่เกาะอะไรเลย เฉยๆ

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าไม่รู้จะไปไหนได้ มันก็ไม่มีใครยืนยัน ไปคุยกับท่านแล้วก็เลยถามสมเด็จฯ สมเด็จฯ ท่านไปด้วย ท่านบอกว่า "เขากำลังใช้อนุโลมปฏิโลมอยู่" คือว่าให้มันแน่ใจ แน่ไหมแน่

โดยมากเข้าถึงจุดนี้เขาจะทำแบบนี้ทุกคน จะไม่ไว้ใจตัวเอง ผมว่าไม่ไว้ใจน่ะไม่ไว้ใจแน่ ถึงแม้ได้รับคำพยากรณ์แล้วก็ยังไม่ไว้ใจตัวเอง "คำว่าประมาทไม่มี อัตนา โจทยัตตานัง มีเป็นปกติ" เป็นหัวใจของพวกนี้เขา

คำว่าอนุโลมปฏิโลมไม่ใช่นั่งหลับตาปี๋ พวกนั่งหลับตาไม่ค่อยเป็นนะ บางทีก็นั่งปกติ คุยกันใช้ได้หมด พวกนี้ "เห็นหน้าคนปั๊บเขาคิดเป็นอริยสัจหมด" พวกที่แต่งตัวสวยมากมีทุกข์มาก แต่งตัวน้อยมีทุกข์น้อย

สวยมากผ้ามันแพง กลัวเปรอะใช่ไหม ไอ้ผ้าเก่าๆ นั่งที่ไหนก็ได้ ระวังอย่างเดียวจะทับขี้หมาหรือเปล่า แค่นี้เอง "ท่านเห็นเป็นอริยสัจหมด" แต่ก็ถือเป็นธรรมดา ท่านก็ไม่ตำหนิใครที่ไม่เข้าใจอริยสัจ ท่านก็รู้ดี เพราะตัวท่านโดนมาแล้วใช่ไหม

เห็นคนปั๊บอันดับแรกจับจุดเดียว "ทุกข์หรือเปล่า" นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ และ "เวลาคุยกันไปคุยกันมาเดี๋ยวก็เลี้ยวเข้าหาทุกข์ ป่วยไหม ปวดหัวไหม ปวดหลังไหม" อันนี้ระวังเขาจะจับอริยสัจ เราปวดเขาก็นึกในใจว่าทุกข์

รวยขนาดไหนก็ทุกข์ "ตัวนี้เป็นตัวยืนของพระอริยะ" ถ้าสูงสุด "เขายืนตัวทุกข์ตัวเดียวเห็นว่าทุกอย่างมันทุกข์" แต่ว่าใจไม่ได้ทุกข์ไปด้วย ขันธ์ ๕ มันต้องทุกข์ สภาพของมันเป็นอย่างนี้ แต่ว่ามันพังเมื่อไรเราสบายเมื่อนั้น เราพร้อม

แต่ถ้ายังไม่พังก็แล้วกันไป ก็ให้มันเป็นประโยชน์ เวลาหิวหาข้าวให้มันกิน เวลาปวดท้องขี้ก็เดินไปส้วม มันใช้เรายุ่ง เราต้องใช้มันบ้าง เท่านั้นเอง นี่อารมณ์ปกตินะ ..
(พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
ที่มาจาก.. ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๕๒ หน้าที่ ๓๗-๔๐


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 231 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO