พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 28 ส.ค. 2017 4:33 am
" ธรรมเนียมประเพณี"
ถาม : อย่างเวลาที่นั่งสมาธิหรือว่าเจอพระสงฆ์นี้ครับ บางทีนั่งขัดสมาธิกับนั่งพับเพียบอะไรอย่างนี้ครับ นั่งขัดสมาธิจะถือว่าไม่เรียบร้อยหรือเปล่าครับ หรือว่าจริงๆ แล้วอย่างตัวผมเองผมนั่งขัดสมาธิแล้วรู้สึกสบายกว่าครับ
พระอาจารย์ : ก็คือโดยมารยาทเขาถือท่านั่ง คนโบราณนี้เขามีท่านั่งอยู่สองท่า คือขัดสมาธิกับพับเพียบ เวลาเขาพบปะกัน เวลาทำกิจร่วมกันเขาจะนั่งพับเพียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้น้อยไปหาผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่นี้จะนั่งขัดสมาธิได้ แต่ผู้น้อยต้องนั่งพับเพียบ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ แต่ถ้าเวลานั่งสมาธินี้เขาอนุญาตให้นั่งขัดสมาธิได้ เพราะเป็นท่าที่นั่งปฏิบัติ แต่ถ้าไม่ได้นั่งสมาธิ เช่นเวลาครูบาอาจารย์ท่าน แสดงธรรมนี้ครูบาอาจารย์ท่านก็นั่งพับเพียบ เราก็ต้องนั่งพับเพียบตาม แต่ถ้าเวลารับประทานอาหารท่านอนุญาตให้นั่งขัดสมาธิได้นั่งท่าสบายได้ แต่ถ้าเวลาสนทนากันอะไรกันนี้ ธรรมเนียมประเพณีเขาให้นั่งพับเพียบกัน อันนี้ต้องว่าไปตามประเพณี แต่ไม่ได้มีความเสียหายร้ายแรงอะไร เพียงแต่ว่าจะทำให้เรากลายเป็นคนเชยไป เป็นคนไม่รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควรเท่านั้นเอง ญาติโยมส่วนใหญ่มาฟังธรรมที่นี่เขาก็คิดไปในแง่ว่าเวลาเขาฟังธรรม เขานั่งสมาธิกัน เขาก็เลยนั่งขัดสมาธิกัน (หัวเราะ) เราก็ไม่ถือสาหรอก เราก็ไม่ว่าอะไร ท่านั่งไม่สำคัญหรอกสำหรับเรา สำคัญที่สติแค่นั้น เวลาฟังแล้วใจตั้งใจฟังหรือเปล่า ถ้าตั้งใจฟังแล้ว อันนี้แหละเป็นตัวสำคัญกว่าท่านั่ง แต่ท่านั่งนี้มันเป็นเรื่องของสมมติบัญญัติ เป็นเรื่องของประเพณี ที่เขาทำกันมา ก็เลยก็ต้องมีท่านั่งในท่าต่างๆ เหมือนการแต่งกาย เราก็มีการแต่งกายหลายแบบใช่ไหม ไปงานศพเราก็แต่งกายแบบหนึ่ง ไปงานแต่งงานเราก็แต่งกายแบบหนึ่ง ไม่ใช่ไปงานศพก็แต่งสีฉูดฉาด เวลาไปงานแต่งงานก็ไปใส่ชุดดำอย่างนี้ อย่างนี้มันก็ผิดกาลเทศะ ท่านั่งนี้ก็เหมือนกับกาลเทศะเท่านั้นเอง เข้าใจหรือยัง
ถาม : เข้าใจแล้วครับ นั่งพับเพียบเหน็บชอบกิน อย่างงั้นเราสลับไปสลับมาได้นะครับ
พระอาจารย์ : (คนอื่นเขานั่งได้) ได้ๆ หรือเราจะฝึกทนไปเพื่อจะได้ฝึกจิตให้แข็งขึ้น เขาถือว่าเป็นการฝึกจิตไปในตัว เวลานั่งแล้วมันไม่สบาย ใจก็ต้องพยายามมีสติควบคุมใจให้มันนิ่ง แล้วต่อไปเราก็จะอยู่กับความไม่สบายของร่างกายได้ ถ้าเราต้องขยับอยู่เรื่อยๆ ต่อไปถ้าเกิดเวลาไม่สบายเราขยับไม่ได้จะทำยังไง ใจเราก็จะทรมาน แต่ถ้าเรารู้จักทำใจตอนที่ร่างกายไม่สบาย เราก็ทำใจให้นิ่งให้สงบใจเราก็จะไม่ทรมาน แล้วเวลาต่อไปเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็จะไม่ทรมานกับความเจ็บไข้ได้ป่วย.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
นิพพานคือเมืองพอ นอกนั้นไม่พอ โลกอันนี้ไม่พอ เพราะกิเลสเข้าแทรกอยู่พอได้อย่างไร กิเลสไม่เคยพาทำใครให้พอ ได้เท่าไรยิ่งอยากได้ มีมากเท่าไรยิ่งอยากมีมาก กินไม่มีวันอิ่มพอก็คือกิเลสกินหัวใจคน ให้อยากให้ดีดให้ดิ้นรนกระวนกระวายอยู่อย่างนั้น มีเท่าไรก็ไม่พอ มีหมื่นไม่พออยากได้แสน มีแสนอยากได้ล้าน มีล้านอยากได้ล้านล้าน ได้จนลืมเป็นลืมตาย วันหนึ่งลืมระลึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ ลืมระลึกถึงความตายของตัวเอง มีแต่ความดิ้นความดีด ครั้นเวลาหมดลมหายใจแล้วก็ตายเช่นเดียวกับโลกทั่ว ๆ ไป มีหนำซ้ำความลืมเนื้อลืมตัว ความหลงไม่อิ่มพอนั้นยังพาให้เจ้าของล่มจมไปมากต่อมาก นี่การวิ่งตามกิเลสเป็นอย่างนั้น กิเลสไม่เคยพาใครอิ่มพอ
.
คำว่าธรรมนั้นมีความอิ่มพอ สร้างได้มากได้มาก เช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่าน ท่านเหล่านี้เป็นผู้ถึงเมืองพอแล้ว พอทุกสิ่งทุกอย่าง บุญก็พอ บาปก็พอ เหมือนน้ำล้นแก้วนั้นเอง น้ำเต็มแก้วเป็นอย่างไร จะเอาน้ำที่ไหนมาเทใส่ให้มากกว่านั้นก็ไม่ได้ ล้นออกหมด ๆ เรียกว่าพอแล้ว จะเอาน้ำมหาสมุทรทะเลมาเทใส่ก็เต็มแล้วเหมือนกันหมด นี่แหละผู้อิ่มพอแล้ว ท่านเรียกว่า ปุญญปาป ปหินบุคคล ผู้มีบุญและบาปอันละเสียได้แล้ว ถึงเมืองพอแล้วได้แก่พระนิพพาน
...................................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดชัยมงคล อ.บ้านแพง จ.นครพนม
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๙
"อย่าไปทำตามความอยาก "
ความสงบหายไปเพราะอำนาจของความอยาก พออยากอะไรปั๊บนี้ มือไม้สั่นใจสั่นแล้ว เงินในกระเป๋านี้ร้อนขึ้นมาแล้ว ควักออกมาใช้ต้องซื้อไอ้โน่นไอ้นี่ แล้วมันถึงจะหายสั่นแต่มันหายเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวความอยากใหม่ก็โผล่ขึ้นมาอีก ก็สั่นขึ้นอีก นี่คือโทษของการทำตามความอยาก เพราะมันไม่หมดมันไม่จบ อยากได้สิ่งนี้แล้วเดี๋ยวก็อยากจะได้สิ่งนั้นต่อ ได้สิ่งนั้นแล้วเดี๋ยวก็กลับมาอยากได้สิ่งนี้อีก กลับไปกลับมากับความอยากอยู่เรื่อยๆ เพราะความสุขที่ได้จากความอยากมันเดี๋ยวเดียว ได้ขณะที่เราได้ดังใจอยาก แล้วสักพักนึงมันก็หายไปแล้ว แล้วเดี๋ยวความอยากใหม่ก็โผล่ขึ้นมาอีก
วิธีที่จะทำให้เราไม่ต้องมาวุ่นวายกับความอยากก็คือ อย่าไปทำตามความอยาก เห็นไหมคนที่เขาเลิกบุหรี่เลิกสุราได้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเขาไม่ไปทำตามความอยาก เวลาอยากสูบบุหรี่ เขาก็ไม่ไปสูบ ทุกครั้งที่อยากสูบบุหรี่ก็ไม่สูบ เดี๋ยวความอยากก็หมดไปเอง คนที่อยากจะเลิกดื่มสุราก็เช่นเดียวกัน พออยากจะดื่มสุราก็ต้องไม่ดื่ม พอไม่ดื่มสักพักแล้ว เดี๋ยวความอยากก็หายไป แต่ช่วงที่ไม่ดื่มตอนนั้นแหละมันทรมานใจ แต่คนที่มีสมาธิมีความสงบแล้ว จะไม่ทรมาน จะสามารถสู้กับความอยากได้อย่างสบาย เพราะมีความสงบมีความสุขจากสมาธิมาคอยให้ความสุข ก็เลยไม่รู้สึกทรมานใจเหมือนกับคนที่ไม่มีสมาธิ คนที่ไม่มีสมาธิจึงเลิกอะไรได้ยาก ติดอะไรแล้วนี้เลิกได้ยาก เวลาอยากแล้วนี้ใจมันสั่น
แต่ถ้ามาฝึกสมาธิได้ ใจสงบแล้ว เวลาไปเลิกอะไรนี้ใจจะไม่สั่น จะรู้สึกเฉยๆ แต่รู้ว่ามันอยากอยู่ เพียงแต่ว่า ถ้าเรามีปัญญาเราก็บอกว่า ต่อไปนี้ไม่ทำแล้วทำตามความอยาก พอเราไม่ทำตามความอยากอีกต่อไป ความอยากมันก็จะไม่กลับมารบกวนใจเราอีกต่อไป.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ด้านจิตใจ ต้องอาศัยสติ ความสังวร ระมัดระวัง ความระลึกรู้ รู้เท่าทันอยู่ทุกระยะ ถ้าหากไอ้นี้เอาไม่อยู่ ต้องอาศัยความอดทนคือขันติ อันนี้ เป็นสิ่งที่กางกั้นจิตใจได้หน่อยหนึ่ง ถ้าหากเราพยามบำเพ็ญสติ หรือขันติให้แก่กล้าแล้ว สามารถที่จะทวนกระแสจิตใจได้
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
(พระเทพวิสุทธิมงคล)
วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง)
ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด
"ถ้ามีธรรม"
มีธรรมเท่านั้นที่จะทำให้ใจหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหาและความทุกข์ อยู่ที่ไหนจะมีแต่ความสุข จะยากดีมีจนไม่สำคัญ เพราะไม่ใช่เหตุของความสุขทุกข์ภายในใจ เหตุคือธรรมกับกิเลส
ถ้ามีธรรมไม่มีกิเลสก็จะมีแต่ความสุข ถ้ามีกิเลสไม่มีธรรมก็จะมีแต่ความทุกข์ ไม่ได้อยู่ที่ร่ำรวยหรือยากจน ไม่ได้อยู่ที่มีตำแหน่งสูงหรือไม่สูง ไม่ได้อยู่ที่การยกย่องสรรเสริญหรือตำหนิติเตียนนินทา ไม่ได้อยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรส
แต่อยู่ที่ธรรมกับกิเลสเท่านั้น ถ้ามีธรรมใจก็จะสงบมีความสุข จะอิ่มจะพออยู่ตลอดเวลา ไม่อยากจะได้อะไร ไม่อยากจะมีอะไร ไม่อยากจะเป็นอะไร อยู่เฉยๆดีที่สุด สบายที่สุด.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ศีล แปลว่า ความปกติ เป็นการรักษาใจให้ปกติ
อันเป็นบาทเบื้องต้นของการภาวนา
หากรักษาศีลได้บริสุทธิ์ การภาวนาก็จะก้าวหน้ารวดเร็ว
ผู้มีศีลย่อมต้องมีจิตใจผ่องใส เป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย
ในสังคมที่อยู่ร่วมกันนี้ ถ้าทุกคนรักษาศีล 5
บ้านเมืองก็จะสงบราบรื่น ปราศจากขโมย ไม่มีการฆ่าฟันกัน
อานุภาพแห่งศีล ย่อมรักษาตัวผู้รักษาศีล
และสังคมโดยรอบได้
.
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
“ต้องหมั่นเจริญสติให้มากทำใจให้สงบ”
ถาม : หนูเคยคิดว่าควบคุมความอยากมีใครให้เข้ามาในชีวิตได้
โดยการปฏิบัติธรรม และบอกกับตัวเองในความยุ่งยากในการใช้ชีวิตมันก็ได้เพียงสักระยะหนึ่ง ความหงอยเหงาและอารมณ์นั้น มันก็เข้ามารบกวนหนูอีก ทำอย่างไรหนูจึงจะกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปได้ โดยเด็ดขาดคะ
พระอาจารย์ : ก็ต้องหมั่นปฏิบัติธรรมนี่แหละ หมั่นเจริญสติ หมั่นทำใจให้สงบให้ได้ ถ้าใจสงบแล้วก็จะมีความสุขในตัวเอง จะไม่รู้สึกเหงาว้าเหว่เวลาอยู่ตามลำพัง แต่ถ้าใจไม่สงบนี้เวลาอยู่ตามลำพังจะรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ วิธิแก้ก็ต้องหมั่นเจริญสติให้มาก แล้วก็หมั่นนั่งสมาธิเพื่อทำใจให้สงบ เมื่อใจสงบแล้วก็จะมีความสุขภายในใจโดยที่ไม่ต้องมีอะไรมาให้ความสุข ไม่ต้องมีคนนั้นคนนี้มาให้ความสุขกับเรา.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"แก้โรคซึมเศร้า"
ถาม : อาจจะเริ่มเป็นโรคซึมเศร้า
พอมีอะไรกระทบก็จะเศร้าเหงาขึ้นมา
คือ คงสะสมมานานแล้ว พยายามภาวนา ถ้าทำบ่อยมากๆ อาการจะหายไปหรือไม่ หรือควรจะหาหมอทานยาคะ
พระอาจารย์ : ถ้าทำใจให้สงบได้
อาการเหล่านี้จะหายไปหมด อาการเหล่านี้ มันเกิดจากความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วเวลาไม่ได้ดังใจอยาก มันก็
เกิดอาการซึมเศร้าผิดหวังขึ้นมา ถ้าเรา
หยุดความคิดปรุงแต่ง ไม่ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เราอยากได้ มันก็จะจางหายไปจากใจ ใจก็จะว่าง พอว่างแล้ว อารมณ์ต่างๆ คือความว้าเหว่ ความซึมเศร้า มันก็จะหายไป
ดังนั้นพยายามเจริญสติให้มาก
พยายามบริกรรมพุทโธๆไป
เวลาเกิดความซึมเศร้าขึ้นมา
แต่อย่าไปอยากให้ได้ผลทันทีทันใด
ยิ่งอยากให้ได้ผลทันทีทันใด
มันจะไม่ได้ผล เพราะว่าเราไม่ได้บริกรรม เรามัวแต่คิดอยาก อยากให้มันได้ผล เราต้องลืมเรื่องผล ลืมเรื่องอารมณ์ซึมเศร้ามันจะซึมเศร้าก็ปล่อยมัน ช่างมันไปผลยังไม่ปรากฏก็ไม่ต้องไปสนใจมัน ขอให้เราบริกรรมของเราไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวผลมันก็จะปรากฏขึ้นมาเอง เหมือนกับการรับประทานอาหาร อย่าไปอยากให้มันอิ่ม อยากแล้วมันไม่อิ่มหรอกถ้าไม่รับประทาน
ขอให้รับประทานไปเรื่อยๆ เดี๋ยวถึงเวลามันก็อิ่มเอง.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้นะ ให้ไปปฏิบัติ
ท่านทั้งหลายมีสมบัติเงินทองอะไรอย่าไปภาคภูมิใจนะ
ให้ภาคภูมิใจกับศีลบริสุทธิ์ สมาธิแน่นหนามั่นคง
ปัญญามีความแพรวพราวภายในใจ
จิตใจหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบอยู่ที่ไหนสง่างาม
นี่มหาเศรษฐีธรรม เศรษฐีนอกนั้นโลกเขามีแล้ว
อย่าไปแย่งตำแหน่งเขา เอาเศรษฐีธรรมไม่มีใครมาแย่ง
ตั้งใจปฏิบัติให้ได้เป็นเศรษฐีธรรม
พระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่านเป็นเศรษฐีธรรมทั้งนั้น
หาความทุกข์ไม่มี มีแต่บรมสุขเต็มเนื้อเต็มตัว
ดับแล้วปั๊บไปนิพพานเลย ไปนิพพานเลย
..........................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระสงฆ์และฆราวาส ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
เนื่องในโอกาสคณะพระกรรมฐานภาคกลางและภาคตะวันออก
กราบทำวัตรองค์หลวงตาและรับฟังโอวาทธรรมเนื่องในกาลเข้าพรรษา
เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ (เวลา ๑๓.๓๐ น.)
“ใจนิ่ง”
วิธีที่จะทำใจให้เป็นอุเบกขา
ในเบื้องต้นก็ต้องใช้การเจริญสติ
เพื่อทำใจให้สงบ ให้หยุดความคิดปรุงเเต่ง ถ้าใจสงบไม่คิดปรุงเเต่ง ใจก็จะนิ่งใจก็จะเป็นอุเบกขา แต่ถ้าอยากจะให้ใจนิ่งให้ใจสงบอย่างถาวร ก็ต้องใช้ปัญญามาสอนใจ เบื้องต้นใจจะนิ่งชั่วคราว เวลาที่เราหยุดความคิดปรุงเเต่ง ใจเข้าสู่สมาธิได้ตอนนั้นใจก็จะนิ่งใจก็จะสงบ ใจจะนิ่งเฉยจะอยู่กับความจริง แต่พอออกจากสมาธิมา พอมาเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เห็นก็มีความอยากเข้ามาแทรก อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ขึ้นมาทันที
วิธีที่เราจะรักษาความนิ่งความสงบของใจให้อยู่กับความจริงต่อไป ก็ต้อง
ทำลายความอยากที่แทรกเข้ามาความอยากนี้ก็เป็นเหมือนขโมยที่จะมาขึ้นบ้านจะขโมยทรัพย์ของเรา เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องไล่ขโมยออกไปจากบ้าน เรามีอาวุธ เรามีปืนเราก็ยิงมัน ถ้าเราไม่มีอาวุธ เรามีโทรศัพท์ เราก็โทรศัพท์เรียกตำรวจมา เพื่อให้มาจับขโมย มาไล่ขโมยไป
ความอยากนี้ก็เป็นเหมือนขโมย
ที่จะมาขโมยความนิ่ง ความสงบของใจไป ถ้าเราอยากจะให้ใจของเรานิ่ง ให้ใจของเราสงบ ให้อยู่กับความจริงได้ เราก็ต้องทำลายความอยาก อาวุธที่เราจะใช้ทำลายความอยาก ก็คือปัญญานี่เอง
ปัญญาก็คืออะไร ก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าสอนใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปทำอะไรไม่ได้ จะไปเปลี่ยนความจริงไม่ได้ ตอนนี้ลมพัดจะไปให้มันหยุดอย่างนี้ หยุดไม่ได้ ถ้าอยากให้ลมหยุดพัดนี้ มันก็จะทุกข์ใจไปเปล่าๆ เพราะจะไม่สามารถหยุดมันได้ ตอนนี้สามีจะจากเราไป ก็ห้ามเขาไม่ได้ ตอนนี้ภรรยาจะจากเราไป ก็ห้ามเขาไม่ได้ ตอนนี้เงินทองจะหมดไป ก็ห้ามไม่ได้ ตอนนี้เจ้าหนี้จะมาทวงหนี้ ก็ห้ามเขาไม่ได้ แต่ถ้าเราทำใจเฉยๆอยู่กับความจริง ใครจะมาใครจะไป ก็อยู่กับความจริงนี้ไป ใครจะไปก็ปล่อยเขาไป ใครจะมาก็ปล่อยเขามา เจ้าหนี้จะมาก็ให้เขามา เขาจะทวงหนี้ก็ปล่อยเขาไป มีก็ให้เขาไป ไม่มีก็ไม่ให้ จะให้ทำอย่างไร จะให้ไปทุกข์ก็ไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้เปลี่ยนความจริงอยู่ดี แต่ใจเรานิ่งไม่เป็นกัน เพราะเราไม่เคยฝึกสอนใจให้นิ่งกัน
นี่แหละการปฏิบัติของพวกเรานี้ ก็เพื่อที่จะทำใจของเราให้นิ่งในทุกเวลานาที กับทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ความโลภไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นได้เลย
วัตถุสิ่งของเงินทองทั้งหลายที่ได้มาจากความโลภนั้น
ดูเผินๆเหมือนเป็นการยกฐานะเพิ่มความมั่งคั่ง
แต่ลึกลงไปจะเป็นการทำลายมากกว่า
สิ่งที่ได้จากความโลภมักจะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร
มักจะเป็นการได้จากความต้องเสียของผู้อื่น
ผู้อื่นทั้งหลายที่ต้องเสียนั่นแหละจะเป็นเหตุทำลาย
ความไม่ไว้วางใจทั้งหลายจะเป็นเครื่องทำลายอย่างยิ่ง
จะเป็นเหตุให้อะไรร้ายๆตามมา
เมื่อถึงเวลาอะไรร้ายๆนั้น ก็จะทำลายผู้มีความโลภจนเกินการ
เมื่อเวลานั้นมาถึงก็จะสายเกินไป จนไม่มีผู้ใดจะช่วยได้
ฉะนั้นก็ควรหมั่นพิจารณาให้เห็นโทษของกิเลส
คือความโลภเสียตั้งแต่ยังไม่สายเกิน
.
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
...ที่เราวุ่นวายกันก็เพราะ
ความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง
นี่พอรักแล้วใจก็สั่นละ เห็นไหม
พอชังแล้วใจก็สั่น พอกลัวใจก็สั่น
พอหลงก็สั่น
แต่ถ้าใจสงบ ใจมีสมาธิแล้ว
จะไม่สั่น เห็นอะไรก็ไม่สั่น
ได้ยินอะไรก็ไม่สั่น
ใครจะด่าก็ไม่สั่น
ใครจะชมก็ไม่ได้ตื่นเต้นดีใจ
"สักแต่ว่ารู้ไป"
นี่คือประโยชน์ของ "สมาธิ"
จะทำให้ใจเรานี้ "ไม่อ่อนไหว"
ไปกับสิ่งที่มากระทบ
........................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 27/8/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
...ถ้าอยากจะดับความทุกข์
ก็ต้อง.."ไม่ทำตามความอยาก"
ถ้ามีปัญญาและมีอุเบกขา
ที่ได้จาก "สมาธิ"ก็จะสามารถ
ไม่ทำตาม "ความอยาก"ได้
พอไม่ทำตามความอยากได้แล้ว
ความอยากก็จะอ่อนกำลังลงไป
ครั้งต่อไป ก็จะมีกำลังน้อยลงไปเรื่อยๆ
จนในที่สุด มันก็จะ
ไม่มีกำลังมาฉุดลาก "จิตใจ"
ให้ไปหาความทุกข์ได้เลย
"จิต"ก็จะหลุดพ้นจาก "ความทุกข์"ได้
.................................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 11/7/2558
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
มนุษย์หรือสัตว์ก็มีจิตอันเดียว ผู้ไม่เคยเป็นญาติพี่น้องกันไม่มีในโลก
บางทีเขาเคยเกิดเป็นมนุษย์ เคยบวช เคยเป็นเพื่อน
จิตอันเดียวกันนี่แหละแต่เสวยวิบากกรรมต่างกัน
ทำให้ชาตินี้เขาเกิดมาเป็นช้าง แต่ก่อนเขาคงมีอะไรเกี่ยวข้องกับท่านพ่อลี
คงเป็นศิษย์อาจารย์กันมา อย่าว่าแต่ช้างเลย
พวกเรานี้เกิดตายเป็นสัตว์มาสักเท่าไหร่ มีใครรู้เห็นได้บ้าง
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้มีศีลธรรม ให้รักษามนุษย์สมบัติเอาไว้
ไม่อย่างนั้นจะตายไปเกิดเหมือนสัตว์ทั้งหลาย
ให้สังเกตง่ายๆนะ ถ้าจิตใจวุ่นวาย จะตายไปเกิดเป็นสัตว์ทันที
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
คัดจากหนังสือ “ ๙๐ ปี เศรษฐีธรรม”
"วิธีชนะ ที่จะไม่ต้องเบียดเบียนใคร
เป็นความดีชั้นตรี
ถ้าเป็นการชนะ ชนิดที่เกื้อกูลเขา
ทำให้เขากลับเป็นคนดี
ก็นับว่าเป็นความดีชั้นโท
ส่วนความดีชั้นเอก ก็คือ
ความดีที่ชนะความชั่วของตนเอง”
-:-สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ-:-
"คนที่จิตสูงไม่เต็มที่
เมื่อถูกเขาด่าว่าอะไร
มักเก็บเอาไปคิด เอาไปนึก
เพราะคนเราส่วนมาก
สำคัญว่าตนฉลาด
แต่กลืนกินอารมณ์ที่ชั่ว
อารมณ์ที่ชั่วเหมือนอสรพิษ
เป็นลักษณะของคนโง่
แต่มุนีท่านไม่ถือ
ท่านว่าเป็นโลกธรรม
ที่เกิดมาใครๆ ต้องพบ
ประสบทุก ๆ คนไป"
-:-หลวงปู่หลุย จันทสาโร-:-
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.