Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ธรรมะอยู่ใกล้ตัวเรา

เสาร์ 02 ก.ย. 2017 9:44 am

"อย่าเข้าใจว่า ธรรมะมันอยู่ห่างจากเรา
มันอยู่กับเรา ก็เป็นเรื่องของเรานี่แหละ

ลองดูซิ เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ
เดี๋ยวก็พอใจบ้าง เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น
เดี๋ยวก็เกลียดคนนี้ ธรรมะทั้งนั้นแหละโยม"

-:- หลวงปู่ชา สุภัทโท -:-





"วัดจะดี ไม่ใช่ดีเพราะโบสถ์สวย
หรือร่ำรวย ด้วยทรัพย์อสงไขย
แต่วัดดี เพราะพระเณรเก่งเคร่งวินัย
ยึดหลักใจ อรหันต์เป็นสันดาน"

-:-หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน-:-






"การหัดนึกย้อนหลัง
หัดนึกก่อนทำ
หัดนึกก่อนโกรธ
หัดให้มีความรู้ตัว
หัดให้มีความยับยั้ง

การหัดอยู่เสมอ
สติจักเกิดมีทวีเป็นลำดับ
จนถึงเป็นสติรอบคอบ
ถ้าไม่หัดทำ จะให้มีสติขึ้นเองนั้น
เป็นการยาก

เหมือนอย่างเมื่อประสงค์
ให้ร่างกายมีพลานามัยดี
ก็ต้องทำการบริหารให้ควรกัน"

-:-สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ-:-






"คนเรา มักลืมคิดถึงธรรมดาของชีวิต
ที่ต้องมีการพลัดพรากสูญเสีย
เมื่อมีหรือได้อะไรก็ตาม ก็ทึกทักเอาว่า
มันจะต้องอยู่กับเราไปตลอด
เรายอมไม่ได้ ที่มันจะพรากจากเราไป
น้อยนักที่เราจะเผื่อใจ นึกถึงความไม่เที่ยง
ของสิ่งที่เรามี"

-:-พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล-:-





คนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสติเตียนไว้
พวก ๑ มีเงินทองทรัพย์สมบัติมาก ก็เหมือนกับคนจน
พวกนี้อาศัยอริยทรัพย์ ๗ มีศรัทธาและศีลเป็นต้น ไม่มี
เป็นคนจนในธรรมวินัยนี้.
สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)






ร่างกายนี่มันซ่อมได้
เอาฟันใหม่มาใส่ ....ตอนนี้ใส่ฟันใหม่
โยมใส่ให้เกือบเต็มปากแล้ว

...................................................

ร่างกายของเรานี่ถ้าหากว่า
บำรุงรักษาดีๆนี่ มันทน
มันทนกว่าของอิ่น
อย่างฟันคนเรานี่ใช้70 80 ปี
.
70 80 ปี มันก็ร่วงหล่น
.
แล้วเค้าก็มีวิธีใส่ฟันใหม่
เอาฟันใหม่นี่มาใส่
แพงแท้ๆ
ซี่ละ100,000
.
เอาฟันใหม่มาใส่
ตอนนี้ใส่ฟันใหม่
โยมใส่ให้เกือบเต็มปากแล้ว
.
ก็ซ่อมกัน....
ร่างกายนี่มันซ่อมได้
..
ทีนี่้สำหรับใจนี่ สำคัญ
ใจนี่มันซ่อมยาก...
..
ซ่อมใจซ่อมอย่างไร โปรดรับฟัง
พระธรรมอันพระเสริฐจากหลวงพ่อวิริยังค์ต่อไปเถิด
...
(ขออนุโมทนา กับท่านอุบาสกอุบาสิกา)
(ที่ได้ถวายฟันใหม่ให้หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)






" สิ่งที่อุทิศให้นั้น จริงๆ แล้วเขาเรียกว่า 'รัศมีบุญ'
ไม่ใช่ตัวบุญโดยตรง อุปมาเหมือนกับแกจุดเทียนอยู่
แล้วอนุญาตให้คนอื่นเขาเอาเทียนมาจุดต่อ
เทียนของเราก็ไม่ได้ดับ ยังสว่างเท่าเดิม
ไม่ได้ลดน้อยลง ฉันใดก็ฉันนั้น "

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ





ภาวนามีอานิสงส์มากกว่าบุญทั้งหลาย
.
การทำบุญให้ทาน รักษาศีลนี้ เป็นกิ่งของการภาวนา ถ้าการภาวนามีหลักมีเกณฑ์ดีเท่าไร เรื่องการทำบุญให้ทานภายนอกนั้นจะมีกำลังดึงดูดกันเอง มีกำลังไปเอง เพราะอำนาจแห่งการภาวนา ความเชื่อมั่นในจิตของตัวเองจากภาวนานี้เป็นเครื่องหนุนให้ทำความดีหนักเข้า ๆ หนักเข้าในเรื่องบุญเรื่องกรรม ทุกอย่างหนักเข้าไป การภาวนาจึงเป็นของสำคัญ….
.
...การภาวนานี้มีอานิสงส์มากยิ่งกว่าการสร้างบุญทั้งหลายนะ จะได้สั่งสมบุญกุศลตลอด จะรู้เห็นอะไรไม่เห็นอะไรก็ตาม ส่วนบุญกุศลเกิดขึ้นจากการภาวนา เป็นรากฐานสำคัญและมีอานิสงส์มากด้วย จึงขอให้พากันตั้งอกตั้งใจทำภาวนา บำรุงลำต้นให้ดี กิ่งก้านสาขาดอกใบจะแตกกระจายออกไป
.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2545






ความอัศจรรย์ของธรรม

บ่ายวันหนึ่งมีคณะครูบาอาจารย์หลายรูป พาโยมมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์และเดินทางขึ้นมาบนวัดสนทนาธรรมเรื่องไดโนเสาร์สักพักท่านกตั้งคำถามเด็ดที่พระหลายๆรูปอยากฟังกับหลวงปู่

พระ ; หลวงปู่ครับ นั่งสมาธิอย่างไรให้เห็นวิญญาณไดโนเสาร์หรือรู้เห็นในสิ่งที่มนุษย์ที่ไม่เห็นครับ

หลวงปู่ ; นั่งไปเถอะ ทำไปเถอะ มันเห็นก็ชั่งมัน ไม่เห็นก็ชั่งมัน ของผมมันบังเอิญดอก บังเอิญที่วัดมันมี

พระ ; ผมก็นั่งครับ ทำไมพวกผมไม่เห็น ถ้ามันบังเอิญมีทำไมพวกผมไม่เห็ญวิญญาณวัววิญญาณควายที่อยู่ในวัดบ้าง

หลวงปู่ ; (ท่านก็หัวเราะ) เออ เออ ที่เห็นหน่ะมันไม่ใช่ทางนะ มันพ้นทุกข์ไม่ได้นะ คุณก็คน ผมก็คน คุณก็พระ ผมก็พระ คนทั้งหลายเขาเกิดมาจากท้องของคน เราไม่ได้เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ ทำไมจะให้มันรู้มันเห็นเกินคน คนก็คือคนไม่มีอะไรแตกต่างกันดอก คุณอย่าเห็นเรื่องบังเอิญเป็นความสำคัญ อย่าเห็นความบังเอิญเป็นเรื่องอัศจรรย์ การพบการเห็นไดโนเสาร์ไม่ใช่ของสำคัญวิเศษอะไร ถือว่ามันเป็นส่วนเกิน เป็นผลพลอยได้จากการปฏิบัติ เป็นผลพลอยได้จากการทำสมาธิ เป็นเครื่องพิสูจญ์สมาธิอย่างโลกๆ อย่าไปสำคัญมัน ความอัศจรรย์ของธรรมอยู่ที่ปฏิบัติแล้วเห็นผลจริง อะไรที่ปฏิบัติได้สอนตนได้นั้นหล่ะธรรม นั้นหล่ะความอัศจรรย์ของธรรม เอาธรรมมาหัดตน มาดัดตน มาสอนตน มาพัฒนาตน นั้นหล่ะธรรม นั้นหล่ะทำ พิสูจน์ได้ เห็นได้ด้วยการปฏิบัติ ปฏิบัติและเห็นผลตามที่ท่านสอน นั้นแนวทาง เราเป็นคนดีคนงาม งามด้วยศีล งามด้วยธรรม นั้นไงความอัศจรรย์ ความอัศจรรย์ของธรรม ไม่ใช่ทำให้คุณเหาะได้ ฟันแทงไม่เข้า แคล้วคลาดปลอดภัย พบเห็นไดโนเสาร์ นั้นไม่อัศจรรย์ เราปฏิบัติตามธรรม ธรรมคุ้มครองเราให้แคล้วคลาดปลอดภัย นั้นไงความอัศจรรย์ของธรรม ให้ปฏิบัติจะเห็นหรือไม่เห็นอย่าไปสำคัญมัน เราปฏิบัติพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติเพิ่มทุกข์ อย่าไปหาทุกข์มาเพิ่ม เข้าใจนะ

หลวงปู่หา สุภโร






"นิพพาน"

การเกิดแก่เจ็บตายนี้ จะไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่มีความอยากทั้งสามนี้ คือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็นนี้ ยังไม่ได้ถูกกำจัดให้หมดไปจากใจ เราจึงต้องมาบำเพ็ญธรรมขั้นสูงสุดคือขั้นวิปัสสนา ขั้นปัญญา ถึงจะสามารถกำจัดความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจได้ ยุตติการเวียนว่ายตายเกิดได้ ยุตติความทุกข์ที่ทำให้เราต้องหลั่งน้ำตามากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรได้ ต้องหยุดที่ความอยากทั้งสามประการนี้

แต่ก่อนที่เราจะขึ้นไปสู่ขั้นปัญญาได้เราก็ต้องไต่เต้าขึ้นไป เหมือนกับการเรียนหนังสือ เรียนหนังสือก็ต้องเริ่มต้นจากขั้นนุบาล แล้วก็ขยับขึ้นสู่ขั้นประถม ขั้นมัธยม ถึงจะขึ้นสู่ขั้นอุดมศึกษา ขั้นปริญญาได้ ปัญญานี้ถือว่าเป็นขั้นระดับปริญญา เป็นระดับอุดมศึกษา ก่อนจะขึ้นสู่ขั้นอุดมศึกษาได้ก็ต้องขึ้นไปสู่ขั้นมัธยมก่อน ขั้นมัธยมก็คือขั้นสมาธินี้เอง ก่อนจะเข้าสู่ขั้นสมาธิได้ก็ต้องผ่านขั้นศีล ๘ ไปก่อน ศีล ๘ หรือศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ไปก่อน แล้วก่อนที่จะขึ้นสู่ขั้นศีล ๘ ได้ ก็ต้องผ่านขั้นศีล ๕ ไปก่อน แล้วก่อนที่จะรักษาศีล ๕ ได้ ก็ต้องผ่านการทำบุญทำทานไปก่อน เพราะถ้าเราไม่ทำบุญทำทานนี้เราจะไม่มีความเมตตา เราจะมีแต่ความโลภ ความอยากได้เงินได้ทอง ได้ข้าวได้ของได้สิ่งต่างๆ เราก็อาจจะทำบาปกัน เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถหาได้โดยวิธีไม่ทำบาป เราก็จะทำบาปกัน

แต่ถ้าเราทำบุญทำทานได้เราจะมีความเมตตา มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ก็จะทำให้เราไม่อยากจะทำบาป คนที่ทำบุญนี้จะไม่ชอบทำบาป ก็จะทำให้รักษาศีล ๕ ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ได้ทำบุญ คนไม่ทำบุญนี้มักจะไม่รักษาศีลกัน แต่คนที่ทำบุญแล้วนี้จะรักษาศีลกันได้ ถ้ารักษาศีล ๕ ได้ เดี๋ยวก็ขยับเพิ่มเป็นศีล ๘ ได้ ตอนต้นก็ต้องรักษาศีล ๕ ไปก่อน เพราะวันพระก็มาลองรักษาศีล ๘ ดู พอรักษาศีล ๘ ได้ ก็จะมีเวลามาฝึกนั่งสมาธิได้ พอนั่งสมาธิได้ใจมีความสุขก็อยากจะรักษาศีล ๘ ให้มากขึ้น ก็จะรักษาเพิ่มจากอาทิตย์ละวันเป็นสองวันบ้างสามวันบ้าง หรือเพิ่มเป็นตลอดเวลาเลยก็ได้ ออกบวชเลยก็ได้ เพราะเห็นประโยชน์ของการรักษาศีลว่าเป็นการสนับสนุนในการมานั่งสมาธิทำใจให้สงบ พอนั่งสมาธิได้ ก็จะพบกับความสุขที่เหนือกว่าความสุขที่ได้จากการไปหาลาภยศสรรเสริญ ไปหารูปเสียงกลิ่นรสมาเสพ ก็จะทำให้ก้าวขึ้นสู่ขั้นวิปัสสนาได้

เมื่อเห็นว่าการหาลาภยศสรรเสริญ หารูปเสียงกลิ่นรสนี้มันเป็นการหาความทุกข์ เพราะความสุขที่ได้มันเป็นความสุขชั่วคราว ได้มาแล้วเดี๋ยวมันก็ต้องหมดไปต้องจากกันไป เวลาหมดไปจากกันไปความทุกข์ก็จะเข้ามาแทนที่ แต่ถ้าเรามีความสุขจากความสงบจากการนั่งสมาธิ เราก็จะฝืนความอยากได้ เราจะไม่เดือดร้อน เราก็จะหยุดความอยาก เพราะเราเห็นว่าการกระทำตามความอยากนี้เป็นการสร้างความทุกข์ สร้างการเกิดแก่เจ็บตาย เราก็จะหยุดมัน พอเราหยุดมันได้ ใจเราก็จะไม่มีเหตุที่จะมาพาให้เรามาเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป ไม่มีเหตุที่จะทำให้เราต้องทุกข์อีกต่อไป ใจของเราก็จะสุขไปตลอดเวลา ไม่มีวันสิ้นสุด คือใจของพระพุทธเจ้าใจของพระอรหันต์ ท่านได้พัฒนาจากขั้นต่ำคือขั้นทานสู่ขั้นศีล สู่ขั้นสมาธิและสู่ขั้นปัญญา ใจของท่านก็เลยเป็นนิพพานไป พลิกจากการเป็นสังสารวัฏ ใจที่เวียนว่ายตายเกิดมาเป็นใจที่ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เรียกว่าพระนิพพาน.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๐

"การพัฒนาชีวิต"

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




คนเราอยากจะมีอายุยืน ทำไมสนใจแต่ปริมาณชีวิตที่ยังมาไม่ถึง ไม่สนใจคุณภาพชีวิตที่มีอยู่แล้ว เราชอบเสียเวลากับความอยากได้อยากมีอยากเป็น โกรธคนนั้น เกลียดคนนี้ เรื่องเพ้อเจ้อก็เยอะ การปล่อยให้ชีวิตผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ก็เหมือนกับไม่ให้เกียรติชีวิตตัวเอง ไม่รักชีวิตจริง

ทุกคนต้องการให้อายุยืน ถ้าสมมุติว่าตอนนี้มียาจากเมืองนอก ฉีด 2-3 เข็มจะต่ออายุ 5 ปีเอาไหม โอ้โห จะมีคิวยาวเหยียดเป็นกิโล แต่ถ้าเรามาดูในแต่ละวัน เวลาที่เสียไปกับอารมณ์ที่เศร้าหมอง หรือด้วยความคิดเพ้อเจ้อก็น่าใจหาย ทำไมเราไม่สำนึกว่านี่กำลังฆ่าตัวตายนะ ฆ่าชีวิตโดยสิ่งที่ไร้ค่า ทำไมเราจึงปล่อยให้เป็นอย่างนั้น

ขอให้ดูแลจิตใจป้องกันไม่ให้เป็นเหยื่อของอารมณ์ ไม่หลงใหลอยู่กับสิ่งไร้ค่า หรือว่าเป็นพิษเป็นภัย ขอให้รักตัวชีวิตให้มากกว่านี้

พระอาจารย์ชยสาโร





วาจาสิทธิ์ครูบาเจ้าศรีวิชัย

"ตราบใดสายน้ำปิงไม่ไหลคืน จะไม่เหยียบแผ่นดินเชียงใหม่ตราบนั้น"...

นี่เป็นคำวาจาสิทธิ์ที่"ครูบาศรีวิชัย"ได้กล่าวไว้กับหลวงศรีประกาศ หลังจากที่ท่านพ้นข้อกล่าวที่ถูกทางคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่กล่าวร้าย นับว่าเป็นวาจาสิทธิ์ที่ออกมาจากปากนักบุญแห่งล้านนาไทย ก่อนที่ครูบาศรีวิชัยจะกลับสู่เมืองลำพูนจนกระทั่งวาระสุดท้ายของท่าน...

กาลต่อมา เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของครูบาศรีวิชัย ผู้ช่วยพัฒนาศาสนสถานที่ชำรุดทรุดโทรม กลับคืนสู่อดีตที่เจริญรุ่งเรือง บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือ พระสงฆ์ พ่อค้า ข้าราชการและประชาชน จึงมีการลงประชามติจัดสร้าง “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย”...ขึ้น

อนุสาวรีย์นี้สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ หล่อเท่าองค์จริงในท่ายืน จัดสร้างและออกแบบโดยช่างของกรมศิลปากร...การสร้างดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อย แต่คณะกรรมการไม่สามารถนำเอาขึ้นไปประดิษฐานที่เชียงใหม่ได้ เล่ากันว่าเมื่อจะเอาขึ้นไปคราวใด มักจะเกิดอุปสรรคและปัญหาเสมอ...

จนเวลาได้ล่วงเลยไปนานหลายปี “หลวงศรีประกาศ” ทนรอต่อไปไม่ไหว จึงได้นำเอาดอกไม้ไปบูชา นัยว่าเพื่อเป็นการบอกกล่าวอัญเชิญ และตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า...

“แม้จะมีเหตุขัดข้องอย่างไร ก็จะต้องจัดการเอาขึ้นไปให้ได้...”
ซึ่งก่อนจะนำขึ้นไปหลวงศรีประกาศ ได้โทรเลขสั่งชาวเชียงใหม่เตรียมขบวนแห่มารอรับที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ เมื่อได้เวลาจึงอัญเชิญรูปหล่อครูบาศรีวิชัยขึ้นรถด่วนเชียงใหม่ บรรดาคณะสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนและเจ้านายฝ่ายเหนือได้ร่วมกันจัดขบวนแห่มารอรับอย่างคับคั่งและทำการเฉลิมฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่...

และในวันที่รูปหล่อครูบาศรีวิชัยถูกอัญเชิญถึงจังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง... “ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ประชาชนซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแม่น้ำแม่ปิงต้องจดจำได้อย่างไม่มีวันลืมเลือน”....คือ....

“กระแสน้ำปิงได้ไหลบ่า หวนย้อนกลับคืนขึ้นเหนือ กระแสน้ำได้นองท่วมท้นจนเต็มเขื่อนภูมิพล ท่วมถึงเขตอำเภอฮอด.....”
สัจจวาจาของ “ครูบาศรีวิชัย” ที่ได้กล่าวไว้... "แม้แต่ธรรมชาติก็ยังไม่สามารถขัดขวางได้..."

การที่กระแสน้ำปิงได้ไหลย้อนกลับขึ้นไปนั้น เนื่องจากทางการสั่งปิดเขื่อนเพื่อใช้งานเป็นครั้งแรก ในการกักเก็บน้ำสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าและเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรได้มีไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง..

”คำพูดของท่านครูบาศรีวิชัยที่ท่านได้เอ่ยไว้กับหลวงศรีประกาศ...เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และแม้กระทั่งท่านใกล้จะมรณภาพที่ก็ยืนหยัดในวาจาสิทธิ์ของท่าน...ที่เป็นปริศนาซึ่งไม่มีผู้ใดจะคาดคิด….”

จะว่าเป็นเหตุบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่จะคิดกันไป....แต่มันก็เป็นเหตุการณ์ที่คนทั่วไปกล่าวกันว่าอัศจรรย์ยิ่งนัก....

“เขื่อนภูมิพลเปิดใช้ น้ำปิงไหลคืนขึ้นเหนือ.. สมดั่งคำวาจาสิทธิ์ของครูบาศรีวิชัยและท่านครูบาฯก็ได้ขึ้นมาที่เชียงใหม่จริง ๆ…”

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นี้ ตั้งอยู่ทางขึ้นดอยสุเทพ ก่อนถึงน้ำตกห้วยแก้ว

“อะยัง วุจจะติ สิริวิชะโย นามะ มหาเถโร อุตตะมะสีโล นะระเทเวหิ ปูชิโต โส ระโห ปัจจะยาทีนัง มะหะลาภา ภะวันตุ เม อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ…”อธิบายความตามข้างบนว่า...”พระมหาเถระรูปนี้..” ซึ่งพุทธศาสนิกชนพากันเรียกขานว่า “พระมหาเถระศรีวิชัย” ผู้มีศีลอันอุดม ผู้อันเหล่านรชนและเทวดาพากันบูชา ท่านเป็นผู้สมควรแก่เครื่องสักการะบูชาอันมีปัจจัยสี่เป็นต้น ขอให้ลาภเป็นอันมากจงเกิดมีแก่ข้าพเจ้า...
ข้าพเจ้าขออภิวาทซึ่งพระเถระเจ้ารูปนั้นตลอดเวลา ขอกราบไหว้ด้วยเศียรเกล้า ขอกราบไหว้ด้วยอาการทั้งปวง ขอให้สำเร็จประโยชน์ ขอให้สำเร็จประโยชน์ ขอให้สำเร็จประโยชน์ ข้าพเจ้าขออนุโมทนาฯ…






บาปที่ทำแล้วเราจะไปบวชชีพราหมณ์หรือทำบุญอะไร ๆ ก็ตาม จะทำบุญแก้บาปไม่ได้เพราะมันเป็นเงินคนละกระเป๋า

สมมุติว่าใจของเรานี้เปรียบเหมือนคลัง บาปบุญนี้เปรียบเหมือนสมบัติที่มีอยู่ในคลัง คราวใดเราเอาบาปออกมาค้า ผลกำไรก็ไปบวกบาปอยู่ที่ใจ เหตุนั้น การล้างบาปในพระพุทธศาสนาจึงไม่มี แต่เมื่อสร้างบารมีไปมากแล้วบาปก็เว้นพอแล้ว บุญก็สร้างพอแล้วจึงจะทรงเหนือบาปและบุญไปได้

ยกตัวอย่างเช่นพระอรหันต์กรรมเก่าตามมาถึงก็มาเจอแต่เรือนร้าง คือสกลขันธ์คือรูปนาม แต่มันไม่ถึงธรรมะของพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์พ้นจากกองนามรูปไปแล้ว แต่พวกเราที่ยังมีกิเลสหนา เมื่อผลของกรรมตามมาหามันก็ได้ทั้งหนังทั้งเขา เพราะเรายังไม่พ้นจากกิเลส.

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต





.. และในอันดับต่อไปขยับกำลังใจ
ขึ้นไปอีกนิดว่าสำหรับ "โลภะ" ความโลภ
"โทสะ" ความโกรธ "โมหะ" ความหลง
พระโสดาบันยังมีอยู่ แต่อยู่ในขอบเขต
ของศีล นี่เราทำลายความโลภด้วย

มีจิต "เมตตา" ความรัก "กรุณา"
ความสงสาร คือมีการให้ทานเป็น
ปกติ เป็นการตัดความตระหนี่ในจิต
"ความโลภ" ของเราเบาบางลงบ้างไหม
"ความโกรธ" เราทำลายไปด้วยอำนาจ
ของ "พรหมวิหาร ๔" เบาบางบ้างไหม

เรามีจิตเคยให้อภัยแก่บุคคล
ผู้มีความผิดที่เราเรียกว่า "อภัยทาน"
ไม่ถือโทษโกรธเขา ในเมื่อมีความรู้สึก
ขึ้นว่าเราโกรธ เราอาฆาต แต่พอยับยั้ง
ชั่งใจ ทรงใจได้ เราก็ให้อภัยไม่ถือโทษ
โกรธต่อไป อันนี้มีแก่เราหรือเปล่า

และ "ความหลง" คือมีปัญญาสูงขึ้น
คิดว่าร่างกายนอกจากจะตายแล้ว มันก็
เป็นปัจจัยของความทุกข์ ร่างกายไม่ใช่
เป็นปัจจัยแห่งความสุข มันเป็นสมมุติฐาน
แห่งความทุกข์ที่จะพึงมี

ถ้าเราหลงใหลใฝ่ฝันว่าต้องการ
ร่างกายอย่างนี้อีก เราก็จะพบกับ
ความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ ฉะนั้น
"เราต้องการหนีร่างกาย คือต้องไป
พระนิพพาน เพื่อให้พ้นจากวัฏฏะ"
อารมณ์อย่างนี้ของเรามีหรือเปล่า

นี่เราเรียนผ่านกันมาแล้ว ถ้าไม่มี
ก็แสดงว่าจิตของเราเลวไป ถ้ามีได้
อย่างนี้ ทรงเป็นปกติ ก็แสดงว่าเรา
เข้าถึงความเป็น "พระสกิทาคามี"
ทีนี้ต่อไปเราก็พิจารณาอีกทีว่า

เราศึกษากันมาถึงพระอนาคามี
ก็มานั่ง พระอนาคามีนี่ต้องมีอารมณ์
จิตเข้มแข็ง พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
"เป็นอธิจิตสิกขา มีอารมณ์จิตเข้มแข็ง
มาก" ไม่ใช่อ่อนแอ

คือว่าอารมณ์จิตของเราทรงอยู่ใน
"กายคตานุสสติกรรมฐาน กับ
อสุภกรรมฐาน" เห็นคน เห็นสัตว์ มี
สภาพสกปรกทั้งหมด ไม่มีอะไรน่ารัก
นอกจากสกปรกแล้ว อัตภาพอย่างนี้
เป็นปัจจัยของความทุกข์

ไม่มีการทรงตัว เป็นเรือนร่างที่จิต
จะเข้าอาศัยชั่วคราวเท่านั้น มันทำลาย
ตัวมันอยู่ตลอดวัน ไม่ช้าก็สลายตัว
เราตัดความมัวเมาในเพศเสียได้ทั้งหมด
ไม่มีความรู้สึกในเพศ อันนี้มีในจิตของเรา
หรือยังเรายังบกพร่องข้อไหนบ้าง

แล้วก็ประการที่ ๒ "เราตัดปฏิฆะ"
คำว่า ปฏิฆะ นี่คือ อารมณ์เข้ามากระทบ
จิต ไม่ใช่ความโลภ ไม่ใช่ความโกรธ
ความพยาบาท ปฏิฆะยังไม่ทันจะโกรธ
ยังไม่ทันจะพยาบาท

พอวาจาเข้ามากระทบจิต และอาการ
กายเขาแสดงเข้ามาปะทะจิตว่าแสดงถึง
ความเป็นศัตรู หรือกลั่นแกล้งเรา เราไม่
ยอมรับอารมณ์นั้นทันที ถือว่าเป็นเรื่อง
ธรรมดาของชาวโลก

เมื่อเกิดมาในโลกมันจะต้องกระทบ
อารมณ์ ๒ อย่างคือ "นินทาและสรรเสริญ"
ถือว่ามันเป็นของธรรมดา

"นินทาเราก็ไม่รับ เฉย ไม่มีความรู้สึก
สรรเสริญเราก็ไม่รับ ไม่พึงปรารถนา
จะถูกนินทาหรือถูกสรรเสริญ มีจิตสบาย
สบายคือทรงตัวเป็น เอกัคคตารมณ์
ไม่รับทั้ง ๒ อย่าง"

เห็นคำนินทาว่าร้ายเป็นปกติธรรมดา
ผ่านไป ได้ฟังคำสรรเสริญก็พึงนึกว่า
นี่เราต้องการเป็นทาส เขาจึงสรรเสริญ
ยกย่องเรามันเป็นปัจจัยแห่งทุกข์

"เราจะดีจะชั่วไม่ได้อยู่ที่คำนินทา
และสรรเสริญ มันอยู่ที่เรารวบรวม
กำลังใจของเราให้เป็นสุข"

ตอนนี้อารมณ์ของเราจะทรงตัว
แต่เวลาหลับตาและลืมตา เห็นคน
เห็นสัตว์ เห็นวัตถุที่สวยสดงดงาม
เราก็เบือนหน้าหนี เพราะรู้ว่าสิ่ง
ทั้งหลายเหล่านี้ มันสกปรก และ
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

และก็มีจิตไม่สนใจไม่รับสัมผัสใดๆ
จากคำนินทาและสรรเสริญ อารมณ์ที่
เป็นอิฏฐารมณ์ก็ดี อนิฏฐารมณ์ก็ดี
ไม่มีอยู่ในใจของเรา มีอารมณ์จิต
เป็นสุข อารมณ์อย่างนี้ ถ้าทรงตัว
ถือว่าเราเป็น "พระอนาคามี"

"อิฏฐารมณ์" ได้แก่ อารมณ์ที่น่า
ปรารถนา ที่ชอบใจ
"อนิฏฐารมณ์" ได้แก่ อารมณ์ที่ไม่
ชอบใจ

นี่เป็นการอนุโลมและปฏิโลมใน
การปฏิบัติพระกรรมฐาน เขาต้องทำ
แบบนี้ เมื่อฟังแล้วก็นำไปคิดใคร่ครวญ
พิจารณาให้จิตมันทรงตัวตลอดวัน
ทั้งเวลาลืมตาและหลับตา จึงจะใช้ได้

และพิจารณาว่าใจของเราทรงได้
อันดับไหน

"เราทรงพระโสดาบันได้หรือยัง
เป็นพระสกิทาคามีแล้วหรือยัง
เป็นพระอนาคามีได้แล้วหรือยัง
ถ้าพระโสดาบันยังไม่ได้ จงตั้งใจ
ไปนรกตามประสงค์"

เอาล่ะ ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาพุทธ
บริษัททั้งหลาย พากันตั้งกายให้ตรง
ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจ
เข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณา
ตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณ
บอกหมดเวลา สวัสดี ..
(พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
ที่มาจาก.. ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๔๑๗ หน้าที่ ๖๑-๖๓






ถ้าหากว่าจิตเราครบถ้วนในด้าน
"พรหมวิหาร ๔" ที่ไหนก็ตาม มันมีแต่
ความเยือกเย็นมันมีแต่ความสุขสุขทั้ง
เราและก็สุขทั้งบุคคลที่เนื่องกับเรา ทีนี้
เมื่อเราพิจารณาถึงพรหมวิหาร ๔

ว่ามันอาจจะมีบ้างหรือไม่มีบ้าง
ครบหรือไม่ครบ เราก็ดู "เทวตานุสสติ
กรรมฐาน" แลดู "หิริ โอตตัปปะ" คือ
ความอายบาป เกรงกลัวบาป
"บาป" ก็คือ "ความชั่ว" ชั่วทางกาย
ชั่วทางวาจา ชั่วทางใจ

กายมันไม่ดี พยายามประทุษร้าย
บุคคลอื่นเขา ลักทรัพย์เขา ละเมิดใน
กามารมณ์ วาจามันไม่ดี ชอบพูด
คำหยาบ พูดมดเท็จ พูดส่อเสียด
พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล นี่มันไม่ดีประเภท
นี้ กรรมไม่ดีทุกอย่าง

และกำลังใจก็เหมือนกัน คอยคิด
ประทุษร้ายบุคคลอื่นได้ตลอดเวลา
เป็นอันว่าอาการตามที่กล่าวมาแล้วนี้
ถ้ามันมีก็แสดงว่า "เราไม่รู้จักความชั่ว
ไม่อายความชั่ว"

ถ้าเราอายความชั่วนี้เราก็ไม่ทำ
กลัวว่าผลของกรรมชั่วจะสนองให้เรา
มีความทุกข์ เราก็ไม่พูด นี่อาการ
ทั้งหลายเหล่านี้ มีในจิตเราบ้างหรือ
เปล่า แล้วอารมณ์นึกถึงพระนิพพาน
เรามีบ้างหรือเปล่า

คิดถึงพระนิพพานวันละกี่ครั้ง นี่เป็น
การทบทวนกำลังจิต อันดับต่ำถ้าทำได้
อย่างนี้ ถือว่าต่ำที่สุดในเขตของพระพุทธ
ศาสนา

"ถ้าเรานึกถึงความตายเป็นอารมณ์
ไม่ประมาทในชีวิต เคารพพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ มีศีล ๕ บริสุทธิ์
(สำหรับฆราวาส ส่วนพระเณรก็มีศีล
ของตัว) ทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ
มีหิริ โอตตัปปะ ประจำใจ และมี
อุปสมานุสสติกรรมฐาน นึกถึงพระ
นิพพานเป็นอารมณ์"

ถ้าเราทรงได้ขนาดนี้เป็นปกติ ท่าน
เรียกกันว่า "พระโสดาปัตติผล" เป็น
อารมณ์ที่มีอารมณ์ต่ำที่สุดในด้านของ
ความดีในเขตของพระพุทธศาสนา
ก็ใคร่ครวญดูว่าเราทุกคนใครบ้าง
บกพร่องจุดไหนบ้าง

อันนี้ต้องจำไว้นะ แค่นี้นะ มันต่ำ
ที่สุด ถ้าเลวกว่านี้แล้วมันใช้อะไร
ไม่ได้เลย เลวกว่านี้เป็นเรื่องของสัตว์
ในอบายภูมิ ถ้าเรามีร่างกายเป็นคน
ก็พึงคิดว่า เราเป็นคนเทียบได้กับ
สัตว์นรก

ตายแล้วเราก็เป็นสัตว์นรกไป
กลับมาเป็นคนใหม่ไม่ได้ ใจของเรา
ต้องประณามไว้เสมอ อย่าทนงตนว่า
เป็นผู้วิเศษ คนไหนมีความรู้สึกตัวว่า
เป็นผู้ฉลาด บุคคลนั้นก็คือ "เป็นคน
โง่บัดซบ"

พระพุทธเจ้ากล่าวว่า "บุคคลใด
รู้ตัวว่าเป็นพาล" พาลนี่เขาแปลว่าโง่
พระพุทธเจ้ากล่าวว่า "บุคคลนั้นเป็น
บัณฑิต คือเป็นผู้รู้" คนที่รู้ตัวว่าเป็นพาล
มันจับความชั่วของตนไว้เสมอ

จ้องดูจิตว่าอารมณ์ชั่วมันจะเกิด
เมื่อไหร่ และเมื่อความชั่วมันจะเกิด
ขึ้นมาในด้านไหน ก็หาทางตัด นี่
บัณฑิตมีความรู้สึกอย่างนี้ ไม่เคย
มีความรู้สึกตัวว่าเป็นคนดี

มองหาความชั่วของตัวให้พบ
เมื่อหาชั่วพบ ทำลายความชั่วได้
แล้วมันก็ดีเอง นี่จัดว่าเป็นความดี
อันดับต้น สำหรับคนที่เข้าถึงพระ
พุทธศาสนา เพราะเราเรียนไว้อันดับสูง

นี่เราไม่ได้เรียนเปะปะๆ ตายแล้ว
จะไปไหนก็ช่าง อันนี้เราไม่ใช้ ถ้าอย่าง
เลวที่สุด ตายแล้วเราไปเกิดเป็นเทวดา
หรือพรหม และมีชาติเกิดจำกัด ๑ ชาติ
๓ ชาติ ๗ ชาติ เป็นอย่างมาก แล้ว
ไม่ลงอบายภูมิ นี่ศูนย์แห่งการศึกษา
เป็นอย่างนี้ ..

(พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
ที่มาจาก.. ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๔๑๗ หน้าที่ ๕๙-๖๑






" การประพฤติการปฏิบัติ ถ้าเราไปดูแต่ข้างนอก ไปฟังแต่ข้างนอก เราก็มองไม่เห็น หรือเห็นแต่มันละไม่ได้วางไม่ได้ เช่นว่าความเกิดอย่างนี้หละ เราก็มองเห็นคนเกิดมา คนแก่เราก็มองเห็น แต่เราละไม่ได้ ความเจ็บไข้ได้พยาธิเราก็มองเห็น แต่เราละไม่ได้ คนตายเราก็มองเห็น แต่เราละไม่ได้ อันนี้ในพระธรรมคุณท่านจึงบอกไว้ว่า “เอหิปัสสิโก” ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ท่านให้มาดูธรรม “โอปะนะยิโก” ท่านให้น้อมเข้ามา มาดู ดูความเกิด อะไรมันเกิดเล่า ตัวเรานี้เป็นผู้เกิด ถ้าเราเห็นความเกิดของเราว่าเป็นตัวทุกข์ มันก็ละเองถ้าเราไม่เห็นในตัวของเราว่าเป็นทุกข์แล้ว มันก็ละไม่ได้ เปรียบอุปมาอุปมัยเหมือนกับเรายกของหนัก ๆ ถ้าเรารู้จักว่ามันหนักแล้วเราก็วาง ถ้าเราไม่รู้จักหนัก มันก็ไม่วาง นี่หละฉันใดก็ฉันนั้น "...
โอวาทธรรมหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ตอบกระทู้