Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

การตัดกรรม

พุธ 13 ก.ย. 2017 5:55 am

"เราก็เกิดมาในโลกนี้
เพื่อมาสร้างบารมี ไม่ใช่เกิดมาเล่น
เกิดมาแสวงหาความสุข สนุกชั่วคราว
ไม่มีประโยชน์อะไร ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง
ความตายเป็นของแน่นอน

โลกนี้ เป็นแต่ทางผ่าน เท่านั้นเองล่ะ
มาเกิดแล้ว หมดอายุ หมดบุญ
แล้วก็ผ่านไป ก็หาที่เกิดใหม่
บุญบาปนำไป หมดบุญหมดกรรม
ที่นำไปเกิด ในที่นั้นๆ ก็วกกลับมา
เกิดบนโลกนี้อีก มาเฝ้าโลกนี้อีกอยู่
มาเฝ้าแล้ว ไม่เห็นมีใครได้อะไร
ได้แต่บุญกับบาปที่ทำ

เราก็เกิดในโลกนี้ ไม่ใช่ว่ามาเกิดเล่นนะ
ให้คิด ให้พิจารณากันให้ดี เกิดมาเพื่อ
มาสร้างบารมี อาศัยบุญบารมี นำดวงจิตนี้
ให้พ้นจากทุกข์ ไปตามลำดับนะ"

-:-หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ-:-






"การตัดกรรม คือ
การหยุดทำความชั่ว หยุดทำบาป

การตัดเวร คือ การหยุดการพยาบาท
อาฆาตจองเวร ซึ่งกันและกัน คือไม่แก้แค้น
ซึ่งกันและกัน

รู้จักคำว่า ให้อภัยซึ่งกันและกัน
และผู้ที่ทำผิด ก็ให้รู้จักคำว่าขอโทษ
ผู้ที่ถูกขอโทษ ก็รู้จักคำว่าให้อภัย
อันนี้ เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร"

-:- หลวงพ่อพุธ ฐานิโย -:-






"เครื่องประดับใดๆ ในโลก
ก็สู้ธรรมะไม่ได้
ถ้ามีธรรมะประดับใจตนแล้ว
ย่อมเป็นผู้เจริญรุ่งเรืองแน่นอน"

-:-หลวงปู่ท่อน ญาณธโร-:-





“กำหนดลมหายใจ”
..แต่ก่อนท่านประพฤติปฏิบัติกันจริงจัง ปฏิบัติอะไรหละ กาย กับวาจา กับใจนี้เท่านั้นหละ แต่แล้วใจนั้นหละเป็นส่วนใหญ่ ถ้าใจดีแล้ว กายกับวาจาก็ดีไปด้วย เริ่มแรกก็อย่างที่พูดให้ฟังนั้นหละ ดึงความความรู้เข้ามาเป็นสมาธิเสียก่อน อย่าวิ่งไปทางโน้นทางนี้เหมือนหมาบ้า กำหนดว่าให้อยู่นี้ ก็ให้อยู่ ที่กำหนดท่านบอกไว้แล้ว คืออารมณ์สมถะ ๔๐ อย่าง จะเอาอันไหนก็ได้ เอาอันเดียวเท่านั้นหละ เข้าได้ทางหนึ่ง เข้าได้หมดทุกอย่าง ทางเข้าไปหาใจนะสมถะ อะไรบ้างหละ พุทโธ ๆ นี้ก็ใช่ หรือกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ก็ใช่ หรือจะว่า ธัมโม ๆ ก็ได้ ว่า สังโฆ ก็ได้ ไม่ว่าอะไรว่าตาย ๆ นี้ก็ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับคำพูด เพียงแต่เอาความรู้ ให้อยู่กับความนึก ไม่ใช่พูดออกเป็นเสียงนะ นึกพุทโธ ก็นึกอยู่ในใจ ให้ความรู้อยู่กับพุทโธนั้น นี้หมายความว่า เป็นเหยื่อล่อสำหรับดึงความรู้ทั้งหลายแหล่ ให้มารวมอยู่ในจุดนั้น หรือกำหนดลม ก็ให้มารู้อยู่ในลมนี้ ให้ความรู้มารวมกันอยู่นั้น..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ทำใจให้ประเสริฐ






...เครื่องบำรุงจิตใจ...

..ความสุขในโลกปัจจุบันทุกวันนี้ ชอบหาสิ่งอื่นมาเป็นเครื่องบำรุงจิตใจ ถ้าหูได้ฟังไพเราะ ใจก็จะสบาย ตาได้ดูของดิบของดี ก็ว่าจะสบาย แต่แล้วก็สบายชั่วระยะนิดเดียวเท่านั้น บางคนก็ไปพักตากอากาศ บางคนก็ไปเที่ยวบ้านโน้นบ้านนี้ ไปดูงานโน้นไปดูงานนี้ ไปดูหนัง ดูละคร ดูลิเก ร้อยอันพันประการ คิดว่าอยากจะให้จิตใจดีหมดหละสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ดีชั่วระยะหนึ่ง ทั้งดีทั้งเสียเงินด้วย บางทีก็เกิดเสียใจด้วยซ้ำ เรื่องจิตใจที่ดีมีความสุขนั้น นอกจากเรามีศีลธรรมแล้วไม่มีหรอก ไม่มีสิ่งอื่นนอกจากศีลธรรม ที่ทำให้จิตใจนี้ดี ไปหลายภพหลายชาติ หลายกัปหลายกัลป์ ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของใครของมัน..

..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..







"วิเคราะห์ด้วยปัญญาด้วยเหตุด้วยผล"

การปฎิบัติธรรมปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านี่แหละ เป็นเหตุที่จะทำให้เราได้ประโยชน์สุขอย่างแท้จริง ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายที่เราได้พบกัน อันนี้เราจึงต้องมาดูกิจกรรมของเราดูการกระทำของเราว่า วันๆ หนึ่งนี้เราให้เวลากับการทำกิจกรรมอย่างไรบ้าง เราปฏิบัติธรรมกันมากน้อยเพียงไร เราหาลาภยศสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายกันมากน้อยเพียงไร ถ้าเราไม่มาพิจารณามาวิเคราะห์แล้วมากำหนดเวลาของการปฏิบัติของเรา เราก็จะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเวลาเราทำอะไรแล้วมันมักจะติดเป็นนิสัย มันจะไม่เปลี่ยนของมันเอง มันจะเปลี่ยนต่อเมื่อมีเหตุการณ์มาบังคับ หรือว่าการวิเคราะห์ด้วยปัญญาด้วยเหตุด้วยผล ว่าการกระทำแบบนี้มันขาดทุนไม่ได้กำไร การกระทำแบบนี้ได้กำไรไม่ขาดทุน ถ้าเรามีการวิเคราะห์เราก็จะได้รู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำต่างๆ ของเรา ถ้าการกระทำอันไหนมันไม่เกิดผลประโยชน์ที่ยั่งยืน เราก็ควรจะตัดไป การกระทำอย่างไหนที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ที่ยังยืน เราก็เลือกปฏิบัติการกระทำแบบนั้น

นี่คือเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ออกบวชกัน ได้ปฎิบัติธรรมกัน เพราะท่านได้วิเคราะห์ได้พิจารณาแล้ว ท่านเห็นแล้วว่าการกระทำกิจกรรมทางโลก ทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ มันเป็นการกระทำที่จะทำให้ได้ประโยชน์สุขชั่วคราวชั่วแค่ภพนี้ชาตินี้เท่านั้น พอตายไปก็จะสูญไปหมด สูญหายไปหมด แล้วก็ต้องกลับมาหาใหม่อยู่เรื่อยๆ หาได้เท่าไหร่ก็ต้องหมดไปเรื่อยๆ แต่การกระทำกิจกรรมทางธรรม คือการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านี้จะทำให้เราได้ประโยชน์สุขที่ถาวร ที่จะทำให้เราไม่ต้องกลับมาสร้างใหม่อยู่เรื่อยๆ ผลที่เราจะได้รับจากการปฎิบัติธรรมมันจะอยู่กับใจของเรา และจะเพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับจนครบเต็มร้อย คือได้ไปถึงพระนิพพาน ได้ความสุขเต็มร้อย ได้ดับความทุกข์เต็มร้อย แล้วเราก็จะได้ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป เพราะเมื่อใจเรามีแต่ความสุขไม่มีความทุกข์ เราก็ไม่ต้องทำอะไร เราก็อยู่กับความสุขนั้นไปตลอดไม่มีวันสิ้นสุด

นี่คือประโยชน์สุขที่เราจะได้รับจากการปฎิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่วิเคราะห์ไม่พิจารณาดู เราก็ยังจะติดอยู่กับกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เราก็จะไม่มีวันที่จะไปปฎิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ เพราะเราก็จะอ้างเหตุนั้นเหตุนี้ แต่ถ้าเราวิเคราะห์เราก็จะเห็นว่าการอ้างของเรานี้มันไม่ได้สำคัญเลย เพราะว่าผลที่เราได้รับจากการทำกิจกรรมต่างๆ ทางโลกนี้มันเป็นผลที่ชั่วคราวเท่านั้นเอง เป็นผลที่เหมือนกับไม่เป็นผล คือได้มาแล้วเดี๋ยวมันก็หมดไปหายไป เหมือนกับไม่ได้ เสียเวลาไปเปล่าๆ เปรียบเหมือนกับเวลาที่เราไปก่อเจดีย์ทรายไว้ที่ชายทะเล เราอาจจะก่อเจดีย์อย่างพิจิตรพิสดารสวยงาม แต่พอน้ำขึ้นมา น้ำมันก็จะซัดทำลายเจดีย์ที่เราสร้างกันไว้ให้หมดไป แล้วพอน้ำลงเราก็มาก่อกันใหม่มาสร้างกันใหม่ กี่ครั้งกี่ครา พอน้ำขึ้นมามันก็จะทำลายเจดีย์ทรายที่เราทำไว้ซัดหายไปหมด ผลประโยชน์ที่เราได้รับจากการทำกิจกรรมทางโลก มันก็เป็นเหมือนกับการก่อเจดีย์ทรายนี่เอง ก็ขึ้นมาแล้วเดี๋ยวมันก็ถูกน้ำซัดไปหมด น้ำที่มาซัดลาภยศสรรเสริญ มาซัดความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายให้หมดไป คืออะไร ก็คือเวลานี้เอง เวลานี้มันจะมากลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ ต่อให้เราสร้างอะไรให้มันวิเศษขนาดไหนก็ตาม วันเวลามันก็จะมาซัดให้มันหายไปหมด ดูซากปรักหักพังของปราสาทต่างๆ ของราชวังต่างๆ เดี๋ยวนี้เป็นซากปรักหักพังไปหมด แต่ในสมัยก่อนนั้นเป็นของสวยงาม แต่พอกาลเวลาผ่านไป เวลามันก็จะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์เราสร้างกันขึ้นมา จึงไม่รู้ว่าเสียเวลาไปกับการสร้างสิ่งเหล่านี้กันทำไม สร้างไว้แล้วเดี๋ยวมันก็หมดไป สู้มาสร้างสิ่งที่มันไม่หมดไปไม่ดีกว่าหรือ มาสร้างมรรคผลนิพพานกัน ที่จะไม่มีวันหมด พอเราสร้างมันได้แล้วมันก็จะอยู่กับใจของเราไปเรื่อยๆ

นี่คือการพิจารณาของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านเห็นว่ากิจกรรมทางโลก ทางลาภยศสรรเสริญ ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้ จะให้ผลประโยชน์ชั่วคราว เป็นเหมือนกับการก่อเจดีย์ทรายที่ชายทะเล พอน้ำซัดขึ้นมาปั๊บมันก็หายไปหมด ทำก่อขึ้นมาแทบเป็นแทบตาย พอน้ำซัดขึ้นมามันก็หมดไป ลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายที่พวกเราหมั่นสร้างกันขึ้นมาหมั่นหากันขึ้นมาแทบเป็นแทบตาย วันๆ หนึ่งนี้พวกเราหมดเวลาไปกับการหาลาภยศสรรเสริญ หารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะกัน แล้วพอเวลาที่เราตายไป ลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายที่เราหามาได้มากน้อยเพียงไร เข้าสูญไปหมด เวลาเราจากโลกนี้ไป เราเอาลาภยศสรรเสริญ เอาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายไปไม่ได้เลย ให้เราวิเคราะห์อย่างนี้พิจารณาอย่างนี้ แล้วมันจะได้ทำให้เราเห็นความโง่เขาเบาปัญญาของพวกเราว่า เรากำลังวิ่งตะครุบเงากัน หรือวิ่งจับลมกัน จับลมจับยังไง ก็จับไม่ได้ลม วิ่ง ตะครุบเงาก็ตะครุบยังไงเงาก็ตะครุบมันไม่ได้ หาอะไรมาได้มากน้อยเพียงไร เดี๋ยวมันก็จะสูญไปหมดหายไปหมด เวลาที่เราตายจากโลกนี้ไป ให้เรามาตะครุบเอาสิ่งที่เราสามารถเก็บเอาไว้ได้ดีกว่า สิ่งที่เราเก็บไว้ได้ก็คือประโยชน์สุขที่เราจะได้รับจากการบรรลุมรรคผลนิพพานนี้เอง.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๐

"ปฎิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น"

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






"ธรรมที่ได้ยิน ได้เห็นได้ฟังมายังเป็นธรรมนอกอยู่
ธรรมอะไรที่เกิดจากความรู้ของตัวเอง แม้เท่าเมล็ดงาก็มีรสมีชาติ
ท่านถึงว่ารสแห่งธรรมะชนะรสทั้งปวง"

หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ







"ความหมายโผฏฐัพพะ ผัสสะ"

ถาม : โผฏฐัพพะคืออะไรคะ

พระอาจารย์ : สิ่งที่มาสัมผัสทางร่างกายไง เช่นลมพัด ของที่มากระทบ ของแข็ง ของนุ่ม ของนิ่ม ของหนุ่มหรือนิ่ม นุ่มนิ่ม นุ่มมั้ง เช่นมือของคนอื่นมาแตะร่างกายเราอย่างนี้ เรียกโผฏฐัพพะ หรือไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศ หรือไอร้อนจากแสงแดด อย่างพวกของที่ว่ามาแตะต้องทางร่างกาย

ถาม : ผัสสะคืออะไรคะ

พระอาจารย์ : ผัสสะก็การสัมผัสระหว่างสิ่งที่มาสัมผัสกับตาหูจมูกลิ้นกาย เช่นรูปเสียงกลิ่นรสนี้ ก็เรียกว่าผัสสะ รูปก็มาสัมผัสกับตา ก็เป็นผัสสะ เสียงมาสัมผัสกับหู ผัสสะก็มาจากคำว่าสัมผัสเนี่ยแหละ ผัสสะก็คือสิ่งที่มาสัมผัสกับอายตนะภายใน คือตาหูจมูกลิ้นกาย อายตนะภายในเราเรียกว่าตาหูจมูกลิ้นกาย อายตนะภายนอกเราเรียกว่าผัสสะ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เป็นภาษาพระ เป็นของคู่กัน รูปจะเข้ามาทางหูไม่ได้ รูปจะมาผัสสะมาสัมผัสทางหูไม่ได้ รูปมันต้องมาสัมผัสทางตา เสียงจะมาสัมผัสทางตาก็ไม่ได้ เอาตาไปฟังเสียงไม่ได้ เอารูปไปฟังเสียงไม่ได้ มันต้องคู่ใครคู่มัน ของใครของมัน เหมือนสามีภรรยาของฉัน ก็ต้องเป็นของฉัน เป็นของคนอื่นไม่ได้

ฉะนั้นผัสสะก็คืออายตนะภายนอก คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่จะมาสัมผัสกับอายตนะภายใน คือตาหูจมูกลิ้นกาย.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต








“คำว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ”

ถาม : ในการปฏิบัติธรรม ในการปฏิบัติของเรา หนูเคยเข้าใจว่า เราจะสามารถยึดพระพุทธพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึงได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็สอน อัตตาหิ อัตตโน นาโถ แล้วเรายังจะยึดไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งได้อยู่หรือเปล่าคะ เราควรวางใจให้ถูกอย่างไรคะ

พระอาจารย์ : คือเราก็เป็นเหมือนกับคนที่ไม่มียา ไม่มีผู้นำทาง หรือว่าเรามองไม่เห็นทาง ตาเราบอด ตอนที่ตาเราบอดเราก็ต้องอาศัยคนที่เขาตาดี พาเราไปรักษาตาที่โรงพยาบาล พอเรารักษาตาเสร็จแล้วตาเราหายแล้ว เราก็ไม่ต้องพึ่งคนที่พาเราไปไหนมาไหนอีกแล้ว เราก็เป็นที่พึ่งของเรา ธรรมก็อย่างนี้ ตอนนี้เราไม่มีธรรมอยู่ในใจเรา ใจเรามืดบอด มองไม่เห็นทางที่นำไปสู่การดับของความทุกข์ได้ เราก็ต้องอาศัยคนที่เขารู้จักทาง สอนให้เราเดินทางไปถึงจุดที่เราสามารถที่จะมองเห็นทางได้ด้วยตนเอง พอเราถึงจุดหมายแล้ว เราก็ไม่ต้องอาศัยคนนำทางอีกต่อไป แต่ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนี้ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องมีทั้ง ๒ ส่วน คือต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ต้องอาศัยตัวเราเองในการปฏิบัติ ถ้าเราเพียงแต่ให้พระพุทธเจ้าสอนเราแต่เราไม่ปฏิบัติ เราก็จะไม่สามารถที่จะบรรลุผลที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบรรลุได้

ดังนั้นมันไม่ขัดกัน ถ้าเรารู้จัก เข้าใจความหมายหรือหน้าที่ของแต่ละส่วน หน้าที่ของพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ก็คือ บอกทางสอนทางสอนวิธีของการปฏิบัติเพื่อให้เราได้พ้นทุกข์ ส่วนเรานี้ก็ต้องเป็นผู้ปฏิบัติเอง พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ปฏิบัติให้เราไม่ได้ ดังนั้นเราก็ต้องมีทั้ง พุทธัง ธัมมัง สังฆัง เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง และต้องมีตัวเราเองเป็นที่พึ่ง เพราะเราต้องปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า เราถึงจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต









"ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการกระทำของเรา"

เราจะปฏิบัติได้มากได้น้อยก็อยู่ที่เราคิด ว่าการกระทำ ถ้าเราต้องเลือกระหว่างการกระทำสองอย่าง ปฎิบัติธรรมกับการไปเที่ยวอย่างนี้ อันไหนจะดีกว่ากัน ถ้าเราไม่ใช้ปัญญาวิเคราะห์ดู ถ้าเราใช้อารมณ์เราก็จะไปเที่ยวกัน เพราะเราติดทางเที่ยวมากกว่าการปฎิบัติธรรม การที่เราจะดึงใจเราให้มาปฎิบัติธรรมจากการไปเที่ยวได้นี้ เราต้องใช้เหตุผลเท่านั้น เหตุผลก็คือประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการกระทำของเรา ถ้าเราไปเที่ยวเราก็ได้ประโยชน์เดี๋ยวเดียว เรามาปฏิบัติธรรมเราจะได้ประโยชน์ที่ยั่งยืนที่ถาวร

อย่างที่เล่าให้ฟังมีญาติโยมคู่นึงแม่ลูกจะไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วก็มาวิเคราะห์ดูว่าเที่ยวญี่ปุ่นไปเที่ยวกลับมาแล้วมันก็หมด แต่เอาเงินนี้มาทำบุญใส่บาตรให้พระทั้งวัดได้ทั้งพรรษานี้ เขาก็เลยคิดว่ามาทำบุญดีกว่า มาทำบุญเอาอาหารมาเลี้ยงพระดีกว่า แล้วเขาก็เลยตัดสินใจไม่ไปเที่ยว ถามเขาว่าถ้าไปเที่ยวนี้จะต้องหมดไปสักเท่าไหร่ เขาบอกอย่างน้อยก็แสนหนึ่ง เอาเงินแสนนี้มาทำบุญดีกว่า ได้ความสุขใจ ได้ความอิ่มใจที่นานกว่า ความสุขที่ได้รับจากการไปเที่ยว ไปเที่ยวกลับมาแล้วก็เหนื่อย ความสุขที่ได้ก็หายไปหมด เงินก็หมดไป เพราะคิดถึงการไปเที่ยวก็อยากไปเที่ยวอีก หิวอีก แต่ถ้าเราทำบุญแล้ว ทุกครั้งที่เราคิดถึงบุญที่เราทำ ก็มีความสุขใจอิ่มใจอยู่ตลอดเวลา.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๐

"ปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น"

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







“ทำความดีแล้วยังเป็นทุกข์
แสดงว่ายังไม่ปล่อยวาง ทำดีเเบบยึดถือ
ถ้าจะให้ดี ทำแล้วมีความสุขสบายใจ
อยากทำอะไรก็ทำไปในความดี เเล้วปล่อยวาง”

หลวงปู่สนั่น จิณฺณธมฺโม





...พวกที่ฆ่าด้วยความจำเป็น
โดยคิดว่าไม่บาปไม่ผิดกฏหมาย
"แต่ผิดกฏแห่งกรรม"
เพราะไปสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น
.
...เช่นเราไปฆ่าผู้อื่นนี่
ก็เหมือนกับเวลาที่เขามาฆ่าเรา
เวลาที่เราถูกเขาฆ่านี้มันดีหรือไม่ดี
แต่เวลาเราไปฆ่าเขา เรากลับว่าดี
.
...เวลาเราฆ่าเป็ดฆ่าไก่มากินนี้
เราดีเพราะอะไร เพราะเราบอกว่าจำเป็น
แต่เป็ดไก่ มันบอกว่าจำเป็นหรือเปล่า
.
...มันก็จะถามว่า
ทำไมจำเป็นต้องมาฆ่าเราด้วย
มันก็จะกลับมาฆ่าเรา
"มันก็จะเป็นกฏแห่งกรรม"
...........................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 12/9/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี








เหมือนกับทัพพีที่ไม่รู้รสของแกงน่ะ ทั้งที่แช่อยู่ในแกง
จิตนี่ก็เหมือนกัน มาบวชในศาสนา แต่ไม่รู้จักรสของวิมุติ มันก็เท่านั้น
เรียนก็จะยังไงล่ะ เรียนในตำรา เรียนให้ถึงพระนิพพานก็เรียนได้
แต่ก็จะยังสงสัยในพระนิพพาน เรียนนรกก็สงสัยนรกเท่านั้นน่ะ
ก็เพราะหัวใจมันไม่ได้เป็น มันเป็นแต่อยู่ในหนังสือเฉยๆ
ให้ค้นพิจารณาเข้าไปสิ เร่งสิความเพียร

..............................................................................

หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
เทศน์อบรมพระในพรรษา พุทธศักราช ๒๕๔๒





"ตัดความผูกพัน"

"การมาบวช" ไม่ใช่เป็นงานสังคม ไม่ใช่มาหามิตร งานนี้เป็นการตัดภพ - ตัดชาติ - ตัดทุกสิ่งอย่าง - ตัดความผูกพันกับบุคคล

ที่จำเป็น "ต้องตัด" เพราะไม่ตัดวันนี้ วันหน้าก็จะต้องถูกตัดอยู่ดี!
เพราะหลักของความเป็นจริงคือ "เราจะต้องพลัดพรากจากกันในที่สุด"
การพลัดพรากแบบที่ธรรมชาติบังคับมันเป็นการพลัดพรากอย่างทุกข์ทรมานแต่ถ้าพลัดพรากแบบที่พร้อมจะพลัดพรากจะเป็นการพลัดพรากกันอย่างสุขสบายใจ

ที่จำเป็น "ต้องตัด" ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเมตตาต่อกันเพียงแต่ไม่มีความยึดติดอยู่กับบุคคลต่างๆเพราะรู้ว่าไม่ช้าก็เร็วเราจะต้องแยกกันไปคนละทิศคนละทาง
ในขณะที่บำเพ็ญก็จำเป็นที่จะต้องตัดทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะได้อยู่ตามลำพังเพื่อจะได้มีเวลาบำเพ็ญอย่างเต็มที่แต่หลังจากที่เสร็จภารกิจของการบำเพ็ญแล้วก็สามารถกลับมาสงเคราะห์ญาติสนิทมิตรสหายได้และเป็นการสงเคราะห์ที่ได้ผลประโยชน์อย่างมากทีเดียว

นี่คือเรื่องของ "การตัด" ใจที่ยังผูกพันอยู่ต้องตัดให้มันขาด เพราะห่วงไปก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริง เราต้องพลัดพรากจากกันอยู่ดี จะห่วงหรือไม่ห่วง จะหวงหรือไม่หวง "เราทุกคนก็ต้องจากกันอยู่ดี"

# พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ตอบกระทู้