พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พุธ 20 ก.ย. 2017 7:29 am
"อันเพื่อนดี มีเพียงหนึ่ง ถึงจะน้อย
ดีกว่าร้อย เพื่อนคิด ริษยา
เหมือนเกลือดี มีน้อย ด้อยราคา
ยังดีกว่า มีน้ำเค็ม เต็มทะเล"
-:-ท่านพุทธทาสภิกขุ-:-
...เข้าใจหรือยัง
เรื่องสมาธิกับปัญญา
ทำกันคนละเวลา
เหมือนเวลาพักผ่อนหลับนอน
กับเวลาทำงานนี้
มันทำพร้อมกันไม่ได้หรอก
พอจะนอนปั๊บ
ก็เรียกมันขึ้นมาทำงานนี้
มันจะมีแรงทำงานที่ไหนล่ะ ใช่ไหม
เวลาพักผ่อนหลับนอนนี้
เราไม่ไปดึงมันออกมาทำงานหรอก
เวลาพักผ่อนหลับนอน
เราปล่อยให้มันนอนอย่างเต็มที่
พอมันอิ่ม มันมีกำลังแล้วมันตื่นขึ้นมา
แล้วทีนี้ก็ "ดึงมันขึ้นมาทำงานได้"
............................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 19/9/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
“ยอมรับว่าเป็นกรรม”
..แล้วทีนี้ เมื่อเวลาโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งมันแทรกขึ้นมาในตัวของเรา บางคนก็มีโรคประจำตัว โรคท้องบ้าง โรคทุกอย่างในอวัยวะต่าง ๆ แสดงขึ้นมาอยู่อย่างนั้น เราสามารถที่จะค้นคว้าหาเหตุ โรคเหล่านี้เป็นมาจากไหน เป็นมาจากกรรม คราวไหน ครั้งไหน ถ้ารู้อย่างนั้น เราก็พินิจพิจารณาต่อไป จนรู้ที่สร้างกรรมสร้างเวรมา แล้วก็ไปขออโหสิกรรมจากเขา ยอมรับเลยว่าตัวเองเป็นกรรม ถ้าเขาให้อโหสิกรรมแล้ว แล้วเลย ไม่ต้องใช้ยาให้ยากหรอก หายเลย โรคเจ็บหู เจ็บตา ปวดท้อง ปวดไส้ หรือเป็นโรคนั้นโรคนี้ประจำอยู่ในตัวเจ้าของเอง เรื่องเศษของกรรมทั้งนั้น แล้วถ้าทำได้ ก็แก้ไขได้ไม่น้อยนะ ทำให้ร่างกายสบายไปไม่น้อย จิตใจเราก็รู้ถึงความจริง ก็ยิ่งเกิดศรัทธากล้าหาญในการจะประพฤติปฏิบัติธรรมะ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ทำใจให้ประเสริฐ
"ต้องแก้ไขที่ตัวเรา"
......เราอยู่ในโลกนี้ เราต้องอยู่ให้ฉลาดประกอบด้วยปัญญา ตัวเรารู้ว่าเราปฏิบัติผิดไม่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องพยายามแก้ไขที่ตัวเราให้ถูกต้อง คือเราต้องหาอุบายวิธีอยู่เสมอว่า ทำอย่างไร ตัวเองจึงจะอยู่ให้เป็นสุขไม่วุ่นวายใจ อันนี้ สำคัญากทีเดียว.
"หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ"
ถาม : ผมได้พากเพียรอย่างหนักในการปฏิบัติพระกรรมฐาน แต่ยังไม่มีท่าว่าจะได้ผลคืบหน้าเลย ?
คำตอบหลวงปู่ชา : เรื่องนี้สำคัญมาก อย่าพยายามที่จะเอาอะไรๆ ในการปฏิบัติ ความอยากอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้นหรือรู้แจ้งนั้นจะเป็นความอยากที่ขวางกั้นท่านจากการหลุดพ้น
ท่านจะเพียรพยายามอย่างหนักตามใจท่านก็ได้ จะเร่งความเพียรทั้งกลางคืนและกลางวันก็ได้
แต่ถ้าการฝึกปฏิบัตินั้นยังประกอบด้วยความอยากที่จะบรรลุเห็นแจ้งแล้ว ท่านจะไม่มีทางพบความสงบได้เลย
แรงอยากจะเป็นเหตุให้เกิดความสงสัยและกระวนกระวายใจ ไม่ว่าท่านจะฝึกปฏิบัติมานานเท่าใด หรือหนักเพียงใด ปัญญา(ที่แท้)จะไม่เกิดขึ้นจากความอยากนั้น ดังนั้นจงเพียงแต่ละความอยากเสีย
จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติ แต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุถึงอะไร อย่ายึดมั่นถือมั่นแม้ในเรื่องการฝึกปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง
**
จากหนังสือ คำตอบหลวงปู่ชา มรดกธรรม เล่มที่ ๓๔ หน้า ๑๓
คำตอบหลวงปู่ชา ข้อที่ ๒
ถาม : เรื่องการนอนหลับล่ะครับ ผมควรนอนมากน้อยเพียงใด ?
คำตอบหลวงปู่ชา : อย่าถามผมเลย ผมตอบให้ท่านไม่ได้ บางคนหลับนอนคืนละประมาณ ๔ ชั่วโมงก็พอ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญก็คือ ท่านเฝ้าดูและรู้จักตัวของท่านเอง ถ้าท่านนอนน้อยเกินไป ท่านก็จะไม่สบายกาย ทำให้คุมสติไว้ได้ยาก
ถ้านอนมากเกินไป จิตใจก็จะตื้อ เฉื่อยชา หรือซัดส่าย
จงหาสภาวะที่เหมาะกับตัวท่านเอง ตั้งใจเฝ้าดูกายและจิต จนท่านรู้ระยะเวลาหลับนอนที่พอเหมาะสำหรับท่าน ถ้าท่านรู้สึกตื่นตัวแล้วและยังซุกตัวของีบต่อไปอีก นี่เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมอง จงมีสติรู้ตัวทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้น
********
จากหนังสือคำตอบหลวงปู่ชา หน้าที่ ๑๔
คำตอบหลวงปู่ชา ข้อที่ ๓
ถาม : เรื่องการขบฉันล่ะครับ ผมควรจะฉันอาหารมากน้อยเพียงใด ?
คำตอบหลวงปู่ชา : การขบฉันก็เหมือนกับการหลับนอน ท่านต้องรู้จักตัวของท่านเอง อาหารต้องบริโภคให้พอเพียงตามความต้องการของร่างกาย
จงมองอาหารเหมือนยารักษาโรค ท่านกินมากไปจนง่วงนอนหลังฉันอาหารหรือเปล่า และท่านอ้วนขึ้นทุกวันหรือเปล่า จงหยุดแล้วสำรวจกาย และจิตของท่านเอง ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร จงทดลองฉันอาหารตามปริมาณมากน้อยต่างๆ หาปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกายของท่าน ใส่อาหารที่จะฉันทั้งหมดลงในบาตรตามแบบธุดงควัตร แล้วท่านจะกะปริมาณอาหารที่จะฉันได้ง่าย
เฝ้าดูตัวท่านเองอย่างถี่ถ้วนขณะที่ฉัน จงรู้จักตัวเอง สาระสำคัญของการฝึกปฏิบัติของเราเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรพิเศษที่ท่านต้องทำมากไปกว่านี้
จงเฝ้าดูเท่านั้น สำรวจตัวท่านเอง เฝ้าดูจิตแล้วท่านก็จะรู้ว่า อะไรคือสภาวะที่พอเหมาะสำหรับการปฏิบัติของท่าน
********
จากหนังสือคำตอบหลวงปู่ชา หน้าที่ ๑๔-๑๕
คำตอบหลวงปู่ชาข้อที่ ๔
ถาม : จิตของชาวเอเซียและชาวตะวันตกแตกต่างกันหรือไม่ครับ
คำตอบหลวงปู่ชา : โดยพื้นฐานแล้วไม่แตกต่างกัน ดูจากภายนอกขนบธรรมเนียม ประเพณี และภาษาที่ใช้อาจดูต่างกัน แต่จิตของมนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติซึ่งเหมือนกันหมด ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ความโลภและความเกลียดก็มีเหมือนกัน ทั้งในจิตของชาวตะวันออกหรือชาวตะวันตก ความทุกข์และความดับแห่งทุกข์ก็เหมือนกันในทุกๆคน
*******
จากหนังสือคำตอบหลวงปู่ชา หน้าที่ ๑๕
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.