"เมตตานี้ จะต้องให้ยุติธรรม ต้องหวังให้คนทั้งหลาย ทั้งที่เป็นมิตร ทั้งที่เป็นศัตรู
วางจิตให้เป็นกลาง ต่อคนทั้งสองจำพวกนี้ เราต้องการ ให้คนทั้งสองจำพวก เป็นสุขถ้วนหน้ากัน"
-:-หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ-:-
"มีสติ ฝึกภาวนา เป็นอริยทรัพย์ ติดตัวไปได้หลายหมื่นชาติ
ส่วนสมบัติทางโลกชาติเดียว ยังเอาไปไม่ได้"
-:-หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต-:-
"คุยธรรมะ ฟังธรรมะ เข้าใจธรรมะ แต่เวลาปฏิบัติ ไม่ได้ปฏิบัติ ก็เรียก คนไม่มีธรรมะ
คนมีธรรม คือคนมีสติ คนมีสติ คือคนมีธรรม คนที่มีธรรมะ คือว่าเวลาโกรธแล้ว รู้ตัวเองว่าโกรธ
และก็สามารถห้ามความโกรธไว้ นั่นแหละเรียกว่า คนมีธรรมะ"
-:-หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ-:-
"...ต้องนั่งสมาธิบ่อยๆ สวดมนต์ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ทำใจให้สงบ พอใจสงบแล้วก็จะเข้าใจเองว่า ตัวเราคือใครกันแน่ ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าตัวเราเป็นใครอยู่ที่ตรงไหน ตัวเรากับร่างกายนี้คนละตัวกัน อยู่คนละที่กัน ร่างกายนี้อยู่ในโลกธาตุ อยู่ในโลกดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนใจนี้อยู่ในโลกทิพย์ โลกทิพย์ก็มีหลายชั้น ชั้นสวรรค์ ชั้นพรหม ชั้นเทพ ชั้นมนุษย์ และก็เลื่อนลงไปสู่ชั้นเดรัจฉาน ชั้นเปรต ชั้นนรก นี่เป็นที่อยู่ของร่างทิพย์โลกทิพย์ ใจเป็นร่างทิพย์ ถ้าอยู่ชั้นต่ำก็ร้อน เช่นนรกนี่ร้อน มีความทุกข์มาก ชั้นเปรตก็หิวมาก ชั้นผีชั้นอสุรกายก็กลัวมาก วิตกกังวลวุ่นวายใจมาก ชั้นเดรัฉานก็อย่างที่เราเห็นกัน ชั้นมนุษย์ก็อย่างที่เราเห็นกัน มีมนุษย์กับเดรัจฉานเท่านั้นที่มีกายหยาบ แต่ชั้นอื่นๆ นี้ไม่มีกายหยาบไม่มีร่างกาย มีแต่ร่างทิพย์.."
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโตเมตตาเล่าว่า "ท่านอาจารย์อุ่นหล้า เวลาทอดกฐินที่วัดป่าบ้านตาด ท่านจะมานั่งรอเย็บผ้า ตัดผ้าเสร็จก็ส่งให้ท่านเย็บ พอเย็บออกมานี้เรียบร้อยสวยงามมาก ใครๆก็นึกว่าหลวงปู่อุ่นหล้าเป็นพระธรรมดา ที่ไหนได้ไม่ใช่พระธรรมดาน่ะ"
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวนาราม จ.ชลบุรี จากหนังสือคู่ธรรม กรรมฐานหน้า ๒๕๓
มีแต่ เกิด กับ ดับ "...ของเกิดขึ้นทั้งหมด เกิดแล้วไม่ดับไม่มี สังขารเป็นส่วนรูป ส่วนนาม....เกิดแล้ว จะต้องสลายตัว
เขาไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นข้าศึก ไม่ได้เกิดมาให้เรายึดถือ ไม่ได้เกิดมาเพื่อแผดเผาจิตใจของเราของสัตว์โลก
มีแต่ความไม่เข้าใจชัดในสิ่งที่เกิดมาเพื่อดับเท่านั้น แล้วไปยึดถือเอาไว้ ไปหวงแหนเอาไว้ เอามาแผดเผาเจ้าของเอง
หน้าที่การงานของเรามีเท่านี้ คือให้มุ่งศึกษา ผลของการศึกษา "เรา" นี้ล่ะ จะเป็น ผู้รู้ ที่เห็น เป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ เราจะเป็นผู้สำเร็จมรรคสำเร็จผล...
หลวงปู่แบน ธนากโร
"ติดเพื่อความปล่อยวาง"
.....หลักของการบริกรรมภาวนา ใครจะยกเอาอะไรมาบริกรรมภาวนาก็ได้ ในขั้นต้น เราหาอุบายที่จะผูกจิตให้ติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเหนียวแน่นเสียก่อน เมื่อจิตไปยึดอยู่เพียงสิ่งเดียว ลองพิจารณาดูซิว่า การที่ไปยึดกับสิ่งๆ เดียงนั้น ความเบาใจจะมีไหน แตกต่างกับการที่จะไปยึดอยู่กับหลายๆ สิ่งหรือไม่
เมื่อเราสามารถทำจิตให้ติดกับสิ่งใดอย่างเหนียวแน่นแล้ว ถ้าสามารถที่จะอยู่กับสิ่งๆ นั้นได้เป็นเวลานานๆ เรายอมรับว่าจิตสงบหรือไม่ ทีนี้เมื่อจิตมาสงบอยู่กับสิ่งๆ เดียว มันก็เป็นอุบายให้จิตสงบยิ่งขึ้นไปจนกระทั่งไม่นึกถึงสิ่งนั้นจนสภาพจิตกลายเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดกับสิ่งใด
จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทรงสอนเราเพื่อไม่ให้ยึดในสิ่งใดๆ ทั้งนั้น แต่เพื่อเป็นอุบายที่จะสร้างพลังจิตเพื่อการปล่อยวางสิ่งทั้งปวง เราต้องฝึกหัดจิตของเราให้ติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเหนียวแน่น ให้มีหลักเกาะ มีที่พึ่ง ให้มีวิหารธรรมเสียก่อน เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อจิตของเราติดกับสิ่งๆ นั้น มันก็ติดเพื่อความปล่อยวาง.
"หลวงพ่อพุธ ฐานิโย"
“ฐานของจิต”
จุดยืนของใจหรือฐานของจิต เราต้องดึงจิตเข้าไปที่ฐาน ถ้าจิตยืนอยู่บนฐานแล้ว จิตจะมีความมั่นคง มีความหนักแน่น ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหวกับรูปเสียงกลิ่นรสโผสฐัพพะ ที่ใจมาสัมผัสรับรู้ เท่านี้เอง นี่คือเคล็ดลับของชีวิต เคล็ดลับของความสุขใจ อยู่ตรงนี้แหละ ดึงใจให้มันไปอยู่ตรงจุดนั้นให้ได้ ตรงจุดที่เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ แล้วเวลาอะไรมากระทบนี้มันจะสักแต่ว่ารู้แค่นั้นเอง มันจะไม่ดีใจไม่เสียใจ ไม่วิตกไม่กังวล ไม่ห่วงใย ใจของเราตอนนี้มันถูกกิเลสตัณหาโมหะอวิชชาหลอกให้ออกจากจุดนั้น หลอกให้เรามาอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรส แล้วก็ไปดีใจเสียใจกับรูปเสียงกลิ่นรสกัน เราต้องดึงใจเราให้กลับไปอยู่ที่ฐาน อยู่ที่อุเบกขา แล้วเวลารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสแล้วก็จะไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวาย ไม่หนักอกหนักใจ
สิ่งที่จะดึงใจให้เราไปที่ฐานได้ ไปที่อุเบกขาได้ นั่นก็คือ สติและปัญญา ขั้นต้นนี้ใช้สติ เพราะสตินี้ เป็นธรรมที่ง่ายกว่าปัญญา สตินี้เพียงแต่ระลึกรู้อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องอื่น มันก็จะเข้าสู่อุเบกขาได้ เช่นอยู่กับกรรมฐานใดกรรมฐานหนึ่งกรรมฐานมีอยู่ ๔๐ ชนิด อนุสติก็มีอยู่ ๑๐ ชนิดด้วยกัน เช่นพุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า จะระลึกโดยวิธีเจริญบทพุทธคุณก็ได้ ท่องอิติปิโสฯ ไปภายในใจ ท่องอยู่เรื่อยๆ อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือจะใช้คำบริกรรมพุทโธพุทโธไปก็ได้ พุทโธพุทโธไป อย่าปล่อยให้ใจคิด ถ้าใจไม่คิดก็หยุดพุทโธก็ได้ ถ้าใจไม่คิดใจรู้เฉยๆ ก็หยุดพุทโธ แต่ถ้าใจคิดเราก็ต้องพุทโธพุทโธจนกว่ามันจะหยุดคิด ถ้ามันหยุดคิดเราก็หยุดพุทโธได้ นี่อนุสติก็มีอยู่ ๑๐ พุทธานุสติ ธรรมมานุสติ ก็บทธรรมคุณหรือบริกรรมสังโฆ สังโฆ สังฆานุสติก็ระลึกถึงพระสังฆคุณ หรือสังโฆสังโฆไป เทวานุสติหลับตา เราก็ดูลมหายใจเข้าออกไป แต่ถ้าเราไม่ได้นั่งเฉยๆ เราก็ใช้พุทธานุสติ เช่นเราเดินหรือทำอะไรอยู่แล้วใจมันยังคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ เราก็ใช้พุทธานุสติหรือบริกรรมพุทโธพุทโธ ดึงใจให้หยุดคิด ให้กลับมาอยู่กับเรื่องที่เรากำลังทำอยู่ อยู่กับงานที่เรากำลังทำอยู่ นี่เป็นวิธีเจริญสติ พุทธานุสติก็ได้ หรือกายคตาสติก็ได้ กายคตาสติก็ให้ดูร่างกาย ดูร่างกายก็ดูได้สองแบบ ดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย ตอนนี้ร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้อยู่กับการกระทำของร่างกายเพียงอย่างเดียว ไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องอื่น กำลังเดินก็ให้อยู่กับการเดิน กำลังรับประทานก็ให้อยู่กับการรับประทาน กำลังดื่มก็ให้อยู่กับการดื่ม ไม่ว่าร่างกายทำอะไรก็ให้ใจเราดูร่างกายเพียงอย่างเดียว อย่าปล่อยให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรียกว่ากายคตาสติ กายคตาสติอีกแบบหนึ่งก็ ให้ดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
“ผู้รู้”
ถาม : หนูภาวนาพุทโธตลอด ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วเห็นพุทโธมันแยกออกจากจิต ที่หนูเห็นเรียกว่าจิตผู้รู้ใช่ไหมคะ
พระอาจารย์ : ก็ผู้รู้แหละเป็นผู้เห็น แต่เรายังไม่เห็นผู้รู้ เราต้องเห็นผู้รู้ จะเห็นผู้รู้ก็ต้องทุกอย่างหายไปหมด ถึงจะเหลือแต่ผู้รู้ เหมือนจะเห็นจอทีวีนี้ต้องปิดทีวีก่อน พอปิดทีวีแล้วก็จะเห็นจอ พอเปิดทีวีขึ้นมาจอก็หายไป ภาพก็มาทับอยู่บนจอ ผู้รู้ก็ถูกความคิดถูกภาพอะไรต่างๆ ที่มีอยู่ในใจมันทับเอาไว้ ถ้าเราอยากจะให้มันเป็นผู้รู้ ก็ต้องให้ความคิดหายไป พอความคิดหายไป ภาพหรืออะไรต่างๆ มันก็จะหายไปหมด แล้วก็จะเหลือแต่ผู้รู้ตัวเดียว ทีนี้เราก็จะรู้ว่า อ๋อ นี่แหละคือผู้รู้เป็นอย่างนี้นี่เอง
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"...ในโลกนี้มีทั้งสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ เราจะเป็นทุกข์เพราะสิ่งที่เรารักและหวงแหนมากทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ ทุกคนต้องเจอ......นี่คือแก่นแท้ ..."
ธรรมเทศนาพระอาจารย์แบน ธนากโร 12 ตุลาคม 2559 วัดดอยธรรมเจดีย์
"รักษาศีล 8 ให้มันได้ มันก็มีอานิสงส์มาก กว่าการให้ทาน ฝึกรักษาศีล ก่อนออกจากบ้านเหมือนกันกับข้ออพรหมจริยา ไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัวกัน อย่าถูกอย่าต้องกันให้เรา รักษาให้มันได้ ให้มันรู้ ให้มีสติด้วยใจให้มีพุทโธ พุทโธ พุทโธ ตลอดเวลา อย่าให้เผลอ ไม่ใช่มานั่งขัดสมาธิอยู่วัดอย่างเดียวทำได้ทุกที่ทุกเวลาในอริยาบททั้ง4 ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรือตื่นขึ้นมาก็ให้ไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิ อยู่ที่บ้านก็ทำได้คือกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ตายไปเฉยๆ เปรียบเหมือนกับคนนอนไม่ปิดบ้านไม่ปิดประตูหน้าต่าง มันก็นอนไม่สนิทกลัวโนนกลัวนี้ฉะนั้นจะนอนหรือตื่นนอนก็ให้มี พุทโธ ธัมโมสังโฆ ตืนมาก็ให้เตรียมกายทำแต่ความดี ถ้าตื่นมาไม่ทำอะไรไม่สร้างคุณงามความดีมันก็ไม่มีอะไรจะได้และไม่ได้อะไรเลย เพิลถึงว่านอนก็ให้ไหว้พระก่อนนอน จะไปทำการทำงานก็ให้มีสติอยู่กับใจตลอดเวลาเอาล่ะรับพร" หลวงตาสมหมาย อตฺตมโน
“เอาชนะตัวเอง” ..บางคนไม่ได้อะไร ได้แต่ความง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจขี้คร้านมักง่ายไปอย่างนั้น เลยไปตามอำนาจใจอยู่ตลอด ไม่กล้าหาญเด็ดเดี๋ยว ไม่แก้กันสักครั้ง ถ้าเป็นนักมวย ยอมเขาทุกครั้งไม่มีทางชนะ แพ้เขาตลอด เขาตีถูกนิดเดียว ก็ล้มลงเลยไม่มีทางสู้ อันนี้ถ้าทำเอาชนะตัวเองมันไม่ยากนะ ถ้าเอากันจริงจัง ฉะนั้น ท่านจึงได้สอนไว้ว่า ผู้ใดชนะตนได้ครั้งหนึ่ง ดีกว่าชนะสงครามโลก ๙ ครั้ง ๑๐ ครั้งนะท่านว่า อันนี้เราก็ชนะสงครามโลก โลกอะไร โลกขันธโลก คือโลกขันธ์ห้าก้อนนี้ เอาขันธ์ห้าก่อนนี้หละเป็นสนามรบ รบกับจิตใจ รบกับกิเลส มันพูดไปแบบนั้น เราไม่พูดตามมัน ฝืนมัน แก้มันอยู่อย่างนั้น หนักเข้ามันก็ไปได้เท่านั้นนะ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร เทศนา เรื่อง ทำใจให้ประเสริฐ
|