Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

รสแห่งธรรม

อาทิตย์ 24 ก.ย. 2017 9:32 am

"สูเจ้าทั้งหลาย จงดูโลกนี้
ตระการดุจราชรถที่คนเขลา
เขาหมกอยู่ แต่ผู้รู้ หาข้องอยู่ไม่
เราไม่กลัวการตาย
แต่เรากลัวการเกิดมากกว่า"

-:- หลวงพ่อเกษม เขมโก -:-






"ตกน้ำไม่ไหล
ตกไฟไม่ไหม้
ที่ดียิ่งขึ้นไปก็คือ
ไม่ตกอะไรเสียเลย"

-:-ท่านพุทธทาสภิกขุ-:-





"มีศีล มีธรรม มีเมตตา กรุณา
มุทิตา อุเบกขา แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
จึงเป็นคนดีได้

ถ้าไม่มี ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน
เห็นกัน ก็กัดกัน มีอาหารกิน มันก็ไม่แบ่งใคร
มันหวงแต่ตัวคนเดียว กินไม่หมดโน่นแหละ
จึงให้เขา"

-:- หลวงปู่ท่อน ญาณธโร -:-





"อดทน คำสั้นๆ แต่สามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้"
-:- สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (หลวงปู่มานิต ถาวโร)-:-






“ทำเสียก่อนจึงมาถาม อย่าถามก่อนทำ ทำไปแล้วจะรู้เอง

คำ ๆ นี้เป็นคำที่คุณแม่พูดย้ำอยู่เสมอ แล้วต่อด้วย
..มันอยู่ในจิตนี้แหละลูกเอ๋ย
โง่มันก็มาจากจิต ปัญญามันก็เกิดจากจิต
อย่ามัวเสาะหาที่อื่นที่ไกล อย่าไปแต่งไปเติมเสาะหามาใส่

อย่าไปอยากรู้อยากเป็นอยากเห็น ทำไปก่อน
มันจะต้องเกิดของมันเองได้ ลูกแม่ต้องพึ่งตัวเอง
หาเอาเอง ทำเอาเอง ปฏิบัติเอาเอง
เพราะภายในนั้นมันเกิดเอง ดับเอง
กิเลสความชั่วร้ายใด ๆ ความอยากใด ๆ
ความยึดถือใด ๆ มันก็เป็นไปของมัน มันบ้าไปเอง
ไม่ใช่อะไรที่ไหนหรอก เพราะเรานี้มันยังโง่ยังเขลาอยู่
มันจึงพากันเป็นบ้าหน้าบ้าหลังอยู่
ทำไปเถอะอย่าขี้คร้าน
เห็นเองแล้วรู้เองเป็นเองทั้งนั้น ต้องหาเอาเอง
คอยคิดอ่าน คอยเฝ้าดูต้องรู้เท่าทันของไม่ดีในตน

รู้แล้วละ รู้แล้วทิ้งจนกว่ามันจะหมดไปเอง
จึงปล่อยวางได้ จึงหลุดพ้นไปได้
ปล่อยก็ปล่อย จิตวางจิต ปล่อยใจวางใจ นี้แหละลูกเอ๋ย..”

คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ







“ธรรมะโอสถ”

ถาม : เมื่อเจ็บป่วยเราควรจะรักษาด้วยหมอหรือธรรมะโอสถดีครับ

พระอาจารย์ : ถ้าเราปฏิบัติเราก็ต้องเอาธรรมะโอสถก่อน เพราะว่าร่างกายนี้รักษายังไงถึงแม้มันจะหายมันก็ต้องมาเจ็บอยู่ดี แล้วเราก็จะไม่สามารถรักษาใจได้ ฉะนั้นถ้าเราเป็นนักปฏิบัติเราต้องรักษาใจก่อน เช่นเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย บางทีเราปล่อยให้มันเจ็บไป แล้วเรามาวัดใจเรา มาทดสอบใจเราว่าเราปล่อยมันได้หรือเปล่า มันเป็นข้อสอบ ถ้าเราอยากจะทำข้อสอบก็ต้องให้มันป่วยมันถึงจะทำได้ ตอนที่มันไม่ป่วยมันก็เป็นการทำการบ้าน คิดว่าเดี๋ยวร่างกายเราต้องเจ็บ มันก็คิดได้ แต่มันจะทุกข์หรือไม่ทุกข์นี้มันยังไม่รู้ มันจะมารู้ตอนที่มันเจ็บจริงๆ ป่วยจริงๆ แล้วปล่อยมันได้หรือเปล่า ไม่รักษามันได้หรือเปล่า ปล่อยให้มันตายได้หรือเปล่า ถ้าปล่อยได้ ใจหายป่วยล่ะ พอใจหายป่วยถ้าเกิดหายเกิดร่างกายยังไม่ตาย ต่อไปก็รักษามันก็ได้ไม่รักษามันก็ได้ไม่สำคัญ เพราะร่างกายนี้รักษายังไงสักวันหนึ่งมันก็รักษาไม่ได้อยู่ดี

ฉะนั้นถ้าเราเป็นนักปฏิบัติเราต้องเอาธรรมะโอสถก่อน เพราะมันเป็นรางวัลหรือเป็นข้อสอบของเราที่เราต้องทำให้ได้ เพราะถ้าเราทำได้แล้วต่อไปเราจะไม่ทุกข์กับความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







...ให้ปฏิบัติอยู่ในศีลธรรม...

..บางหมู่ บางพวก ซึ่งประพฤติปฏิบัตินอกเหนือไปจากศีลธรรม หรือมีศีลธรรมบ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่พอได้มาเป็นคน ก็ตกลงต้องไปเป็นสัตว์ ที่เรียกว่าตกอยู่ในอบายภูมิ ไปเป็นเปรตบ้าง อสูรกายบ้าง สัตว์นรกบ้าง และเป็นบรรดาสัตว์เดรัจฉานทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีกันอยู่ทุกหนทุกแห่งทั่วพื้นโลก..

..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..





“ รสแห่งธรรมชนะรถทั้งปวง”

มรรคขั้นแรกคือทาน เราทำทานเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องไปหาเงินหาทอง เราจะได้มีเวลามารักษาศีลมาภาวนาได้ ถ้าเรายังใช้เงินใช้ทองซื้อของตามความอยากต่างๆ เราก็จะต้องซื้ออยู่เรื่อยๆ เพราะความอยากจะไม่มีวันหมด ซื้ออะไรมาแล้วเดี๋ยวเห็นของอะไรใหม่ก็อยากจะซื้อใหม่ ถ้าไม่ได้ซื้อก็ทรมานทุกข์ทรมานใจ ก็ต้องซื้อเพราะทนไม่ไหว ทนกับความทุกข์ทรมารใจไม่ไหว เวลาเกิดความอยากใช้เงินแล้วถ้าไม่ได้ใช้เงินนี้มันจะตายให้ได้มือไม้สั่นไปหมด แต่พอได้ใช้เงินแล้วสบายใจ แต่สบายเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวความอยากใช้เงินใหม่ก็โผล่ขึ้นมาอีก แล้วถ้าไม่มีเงินก็ต้องไปหาเงินมาต้องทำงานมากขึ้น ถ้ายิ่งใช้มากก็ต้องยิ่งทำงานมากขึ้น เวลาก็จะหมดไปกับการหาเงินกับการใช้เงินซื้อความสุขปลอมที่มีทุกข์ติดตามมาด้วย พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ผู้ที่ยังใช้เงินใช้ทองซื้อความสุขต่างๆ ให้เอามาทำบุญทำทานแทน เพราะการทำบุญทำทานก็เป็นการซื้อความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นการซื้อความสุขแบบไม่ได้ทำตามความอยาก แต่เป็นการฝืนความอยากเป็นการหยุดความอยาก ทำให้เวลาเราทำบุญความอยากที่จะไปเที่ยวมันก็จะหมดกำลังไป แล้วต่อไปเราก็ไม่ต้องไปเที่ยวเราก็จะได้ไปบำเพ็ญรักษาศีลไปภาวนาได้

นี่คือข้อที่ ๑. คือทาน ถ้าเรามีทรัพย์มีเงินทองที่เราจะเอาไปซื้อความสุข ทางร่างกายทางตาหูจมูกลิ้นกาย ซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ ซื้อของที่ไม่จำเป็น ก็ให้เราหยุด เอาเงินนี้มาทำบุญ เพราะไม่มีเงินแล้วต่อไปมันก็ไม่เดือดร้อน ไม่มีเงินไปซื้อของต่างๆ ตามความอยากก็จะไม่เดือดร้อน เพราะความอยากมันจะหมดไป ทุกครั้งที่เราอยากแล้วเราไม่ทำตามความอยาก ความอยากมันก็จะหมดกำลังไปในที่สุด แล้วต่อไปเราไม่มีเงินทองเราก็จะไม่เดือดร้อน ถ้าเราต้องมีก็มีเฉพาะเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเราใช้แบบมักน้อยสันโดษก็ไม่ต้องใช้มาก เงินทองค่าแรงขั้นต่ำวันละสามร้อยนี้เหลือกินแล้ว มื้อละร้อย ถ้าอยู่แบบประหยัดอยู่แบบมักน้อยสันโดษ เราจะไม่ต้องใช้เงินทองมาก เราก็ไม่ต้องเสียเวลาหาเงินทองให้มาก เราจะได้มีเวลามารักษาศีล รักษาศีล ๘ แล้วก็ภาวนากัน

นี่คือหน้าที่ของการทำทานเพื่อเปิดทางให้เราได้ไปรักษาศีลและไปภาวนา ถ้าเราไม่ทำบุญทำทาน เอาเงินไปเที่ยวกันเอาเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือยกัน เราจะไม่มีเวลามารักษาศีล ๘ มาภาวนา เพราะเราจะต้องเสียเวลาไปกับการหาเงินหาทองเพื่อมาซื้อของต่างๆ เพื่อมาซื้อความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วพอเงินทองหมดก็ต้องไปหาเงินใหม่ ต้องทำงานอยู่เรื่อยๆ จะไม่มีเวลาที่จะมาบำเพ็ญรักษาศีลบำเพ็ญจิตตภาวนาได้แบบเต็มรูปแบบ ทำได้ก็แบบมือสมัครเล่น นานๆ ก็มาสักครั้งหนึ่ง ปีหนึ่งมาสักครั้งหนึ่ง มาอยู่วัดสักสามวัน มันจะไปได้อะไร มันก็ได้เพียงแต่ของชิมเท่านั้น เหมือนกับไปชิมอาหาร จะไม่ได้กินอาหาร เพียงแต่ได้ชิม เพราะเวลาไม่พอ ถ้าอยากจะกินอาหารอยากจะสัมผัสกับรสแห่งธรรมที่ชนะรถทั้งปวง จำเป็นจะต้องให้เวลากับการบำเพ็ญคือการรักษาศีลกับการบำเพ็ญจิตตภาวนาให้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเท่านั้น ถึงจะสามารถสัมผัสกับรสแห่งธรรมที่ชนะรถทั้งปวงได้ ฉะนั้นผู้ที่บรรลุธรรมนี้เป็นผู้ที่ปฏิบัติแบบมืออาชีพทั้งนั้น ไม่ได้เป็นมือสมัครเล่น ไม่ได้ปฏิบัติปีละสามวันเจ็ดวัน แต่ปฏิบัติทุกวันถึงจะสามารถเข้าถึงรสแห่งธรรมชนะรถทั้งปวงได้.

ธรรมบนเขา

วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๐

“ฝึกจิตให้อยู่กับความว่างเปล่า”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ตอบกระทู้