โลกไม่ได้วุ่นวายหรอก ใจเราต่างหาก ที่วุ่นวาย หลวงพ่อชา สุภัทโท
อย่างครูบาอาจารย์ท่านว่า "ทำให้สุด ขุดให้ถึง" มันจะประมวลมาเองแหละ ธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านเห็นอย่างไร ผู้ปฏิบัติก็ต้องเห็นอย่างนั้น เรื่องภพชาติหรือเรื่องอะไรก็ตาม มันเกิดขึ้นเองนะ นั่นแหละมันถึงจะเห็น แต่ถ้าไม่เห็นไม่พบอะไร ความเกียจคร้านก็เข้าครอบงำนะซิ . หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เทศนาธรรม เมื่อวันที่ ๕ กรกฏาคม ๒๕๓๗
"ผู้ที่ตกในสภาวะอับจน ก็ไม่ควรหมดอาลัยตายอยาก ควรทําจิตใจให้สงบระงับตั้งมั่นอยู่ ก็จะค่อยๆหาทางออกให้แก่ตนได้ เพราะปัญหาทุกอย่าง ที่ไม่มีทางออกทางแก้ย่อมไม่มีในโลก
ดูเอาเถอะว่า แม้แต่ปัญหาเรื่องความทุกข์ อันเกิดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระพุทธองค์ก็ยังหาคําตอบไว้ให้ได้ สําหรับปัญหาอื่นๆ อันเล็กน้อย จะไม่มีคําตอบได้อย่างไร"
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
พระพุทธเจ้า ทรงสอนว่า
"อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย"
ความสงสัย จะไม่มีวันสิ้นไปได้ ด้วยการคิด ด้วยทฤษฎี ด้วยการคาดคะเน หรือด้วยการถกเถียงกัน หรือจะอยู่เฉยๆ
ไม่ปฏิบัติภาวนาเลย ความสงสัย ก็หายไปไม่ได้อีกเหมือนกัน
กิเลส จะหายสิ้นไปได้ด้วย การพัฒนาทางจิต ซึ่งจะเกิดได้ ก็ด้วยการปฏิบัติ ที่ถูกต้องเท่านั้น
หลวงพ่อชา สุภัทโท
หน้าที่ ของเรานั้น ... ทำ "เหตุ" ให้ดีที่สุดเท่านั้น ส่วน "ผล" ที่จะได้รับ เป็นเรื่องของเขา ... ถ้าเราดำเนินชีวิต โดยมีการ "ปล่อยวาง" เช่นนี้แล้ว ... ทุกข์ ก็ไม่รุมล้อมเรา
หลวงพ่อชา สุภัทโท
กรรมทั้ง ๒ คือ ดี และ ชั่ว อันไหนแรงกว่า อันนั้นให้ผลก่อน อันไหนอ่อนกว่า อันนั้นให้ผลทีหลัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทิ้ง ไม่ใช่ว่าเลิก ไม่ใช่เหมือนกับคนเป็นหนี้กัน เห็นเขาไม่ให้แล้ว ก็เลิก ไม่ทวงแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น ตามอยู่เสมอ เป็นปัจจัยที่จะให้ผล ตามควรแก่กาลเวลา
หลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร วัดปางกึ๊ด อ.แม่แตง เชียงใหม่
หนทางไกลแสนไกล ยังสามารถวกกลับทางเดิม และเดินใหม่ได้ แต่หนทางของสรีระนี้ เมื่อถึงซึ่งความชราแล้ว ไม่เคยย้อนกลับมาเป็นเด็กหนุ่มอีกเลย ย่อมถึงซึ่งมรณะเป็นที่สุด
หลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร วัดป่าปางกึ๊ด อ.แม่แตง เชียงใหม่
เบื้องต้นที่เราจะ"..ภาวนาว่าพุทโธๆ.." การนึกก็ดีหรือการ...กำหนดลมก็ดีให้เบาๆที่สุด แต่การเบาๆนั้น อย่าไปอึดอัด เบาๆ แบบสบายๆ เบาๆ แบบเบาๆ ว่างๆ แล้วก็รักษาความสม่ำเสมอไว้ มีสติรู้ดูจิตไว้เฉยๆ ก็จะรู้เองว่าวาระจิตเป็นอย่างนี้ แล้วก็สงบขึ้น เมื่อความสงบครั้งสองครั้ง ต่อๆไปแม้เราไม่ต้องตั้งใจอย่างนี้ เพียงนึกว่าจะภาวนา จิตเคยสงบด้วยความวูปลง แต่พอเริ่มจะภาวนาเมื่อชำนาญแล้ว จิตจะเกิดความวูปลงเองโดยธรรมชาติของเขาเพราะฝึกไว้จนเกิดธรรมชาติขึ้น เมื่อจิตสงบวูปลงแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไร ก็ดูจิตที่วูปลงนั้นที่สงบนั้น ดูเขาเรื่อยไปว่าเขาจะสงบถึงไหน เร็วก็ตามช้าก็ตาม พิสดารก็ตาม ปกติก็ตาม ที่สงบลงไปนั้น ดูเฉยๆประคองไว้เฉยๆ ทำให้นานๆเข้า เวลาที่เราดูนิ่งๆอยู่นานๆนั้น ไม่ใช่เสียหายอะไร อย่านึกว่าไม่มีประโยชน์ ดูอะไรนิ่งๆ มีประโยชน์คือจิตได้นิ่ง เพราะจิตของเราที่เกิดมาไม่ได้นิ่งแบบนั้นเลย เมื่อเรามีโอกาส ได้ดูของนิ่งทางจิตก็ดูจิตที่นิ่งให้นานๆ จิตจะได้จดจำและจะได้เป็นบ่อเกิดของพลังคือปัญญา สมาธิเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นพลังที่เกิดปัญญา สมาธิอาศัยศีลดังกล่าวมาแล้วในวันก่อนคืนก่อน เพราะฉะนั้นต่อนี้ไปจึงพยายามหาอุบายให้จิตของตนสงบง่ายๆ แต่อย่าไปนึกอยาก ปฏิบัติด้วยการเป็นกลางของจิตให้สม่ำเสมอไว้ ภาวนาไปจิตก็จะสงบ ต่อนี้ไปจงตั้งใจภาวนารวบรวมจิตของตนให้สงบต่อไป.
หลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร เมื่อจิตไม่ก้าวหน้าพึงพิจารณากายหน้า ๑๕ - ๑๗
ทิฐิมานะก็อีกตัวหนึ่ง ยกตัวเองอยู่นั่น แต่เห็นคนอื่นชั่วไปหมด แล้วอรรถธรรมของพระพุทธเจ้าจะโผล่ขึ้นได้ยังไง เพราะมันติดอยู่ จิตมันไม่สะอาด ให้ชำระจิตตนเองให้สะอาด โอ๊ย...กว่าจิตมันจะรวมได้ มันเป็นสัปปายะหมดล่ะ วางจิตลงเป็นผ้าเช็ดเท้าหรือเป็นดินโน่น แล้วอรรถธรรมของพระพุทธเจ้าจะโผล่ขึ้นมาให้เห็นเอง
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เทศน์เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๗
”การกระทำสำคัญที่สุด”
หนังสือมันก็อ่านได้ท่องจำได้ แต่ใจมันไม่ได้รู้อย่างถ่องแท้ ถึงจะรู้ว่าแก้ไขอย่างนั้นอย่างนี้จากตำรา ก็พูดได้ แต่หัวใจของเรา มันไม่ได้ขาดจากความลังเลสงสัยเลย เพราะฉนั้น การกระทำมันจึงสำคัญที่สุด เหมือนอาหาร ถ้าเราไม่กินก็เท่านั้นแหละ ก็ไม่รู้จักรสชาติ ให้พากันตั้งใจปฏิบัตินะ
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เทศน์เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๘ (ค่ำ)
มัจจุราชมันไล่เข้าๆ แล้วนะ มันบีบเข้าๆ อนู่นั่น คนเรานี้ มันก็เท่านั้น เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดๆ อยู่อย่างนั้น มีแต่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านไม่อุปทานความยึดมั่น
ฟังไป ก็ไม่เอาไปพิจารณา ไปกำกับจิตของเจ้าของ มันก็ไม่เกิดผลนะ มันเอาแต่ความจำ "ความจริง" มันไม่เกิดกับใจเจ้าของ
หลวงปู่ลี กุสลธโร
พระพุทธเจ้าท่านสอนได้ สอนให้มีปัญญา ท่านสอนได้ แค่บอกทางเท่านั้น จะเดินหรือไม่? ก็เป็นเรื่องของเรา ทำให้กันไม่ได้ ถ้าจะให้สิ้นสุดจริงๆ ตัวเอง ต้องทำเอาเอง ...เหมือนกับคนไข้ มีแต่ถามอาการเท่านั้น เกิดร้อนเกิดหนาว เจ็บโน่นปวดนี่เท่านั้น ใครก็ช่วยกันไม่ได้ ก็ตัวใครตัวมันนั่นล่ะแบกหามเอาเท่านั้น ถ้าใครมีปัญญา ก็ไม่ไปแบกไปหามล่ะ! ปล่อยไปตามธรรมชาติ กายก็ส่วนกาย ใจก็ส่วนใจ มันออกจากกันได้
หลวงปู่ลี กุสลธโร
"สมัยนี้ก็เหมือนกัน เที่ยววิ่งหาแต่ครูบาอาจารย์ มีแต่นักสืบทั้งนั้น วิ่งโน่นวิ่งนี่ สืบไปโน่นสืบไปนี่ มีแต่ดูข้างนอกมันไม่ดูหัวใจเจ้าของเอง ถ้ามันเกิดแล้วใครล่ะจะเห็น กิเลสมันก็อยู่นั่นล่ะ กายมันไม่มีกิเลสหรอก"
หลวงปู่ลี กุสลธโร
"การสวดมนต์ไหว้พระนั้น ถึงแม้ว่า เราจะออกเสียง หรือ ไม่ออกเสียงก็ตาม พวกเทพเจ้าเหล่าเทวดา เขามีหูทิพย์ ตาทิพย์ เขาก็จะได้ยินเสียง ที่เราสวดมนต์ไหว้พระ ด้วยพระสูตรต่างๆ
เมื่อเขาได้ยิน เขาก็จะเกิดความปีติยินดี ในการสวดมนต์ไหว้พระกับเรา เขาก็จะพากันมาร่วม อนุโมทนาบุญกับเราด้วย
ถ้าจิตเราสงบลงไปบ้างสักเล็กน้อย เราก็จะได้ยินเสียง ที่เขามาอนุโมทนากับเรา เสียงที่เขาเปล่งสาธุการนั้น มันดังปานฟ้า สิถล่มทลายลงมาทับดิน"
-:- หลวงปู่ชอบ ฐานสโม -:-
"ในทางโลก การได้มามากๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
แต่ในทางธรรม การสละสิ่งที่มีมากๆ ให้หมดไป แม้แต่สิ่งละเอียดอ่อน ภายในใจได้ ท่านว่าประเสริฐสุด"
-:- หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป -:-
“ปลาหนองเดียวกัน ไม่ว่าปลาเล็ก ปลาใหญ่ ปลาอะไรก็ชั่ง เมื่อน้ำแห้ง ย่อมตายหมดเสมอกัน เวลายังอยู่ด้วยกัน อย่าขัดข้องกันนักเลย จงทำตัวให้พอเหมาะพอสม และอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข สงบเถิด”
-:- หลวงปู่จันทร์ สิริจันโท -:-
"คนที่เขาว่าเราไม่ดีนั้น เขาก็ไม่ได้มาทำให้เราดี ให้เราชั่ว เราเอง เป็นคนที่ทำให้เราดี เราเอง เป็นคนที่ทำให้เราชั่ว"
-:-หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล-:-
“การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง”
ถาม : คำกล่าวที่ว่าธรรมทานชนะการให้ทั้งปวงหมายความว่าอย่างไร และการให้ทานอย่างไรที่เรียกว่าการให้ธรรมทานที่ฆราวาสสามารถทำได้ครับ
พระอาจารย์ : คือธรรมะ การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง หมายถึงว่าประโยชน์ที่ได้จากการให้ธรรมะนี้ชนะประโยชน์จากสิ่งต่างๆ จากการให้สิ่งต่างๆ เช่นให้เงินให้ทองให้ข้าวให้ของก็เพียงแต่ไปช่วยแก้ปัญหาทางร่างกาย ไม่มีข้าวกินมีเงินทองก็ไปซื้อข้าวมากินได้ ก็ดับความทุกข์ทางร่างกายได้ แต่มันก็เป็นการดับทุกข์ชั่วคราว เดี๋ยวยังไงร่างกายก็ต้องตายไปอยู่ดี แต่ถ้ามีธรรมะนี้มันจะดับความทุกข์ทางใจได้ แล้วความทุกข์ทางใจนี้ถ้าดับได้แล้วมันก็ดับอย่างถาวรไม่มีวันกลับมาเกิดอีกต่อไป
ฉะนั้นการให้ธรรมะมันจึงมีประโยชน์กว่า เพราะใจเป็นสิ่งที่ถาวร ใจนี้ไม่ตายไปกับร่างกาย พอร่างกายตายไปแล้วทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองที่มีไว้สำหรับดูแลร่างกายก็หมดประโยชน์ไป แต่ธรรมะนี่จะรักษาใจไปตลอดหลังจากที่ร่างกายตายไปแล้วใจก็ยังอยู่ต่อ ใจก็จะปราศจากความทุกข์ต่อไป แต่ถ้าใจมีความสุขเพราะว่าร่างกายมีความสุข แต่พอเวลาร่างกายตายไปใจก็จะทุกข์ขึ้นมาถ้าไม่มีธรรมะ
ฉะนั้นธรรมะนี้ดีกว่า เพราะรักษาใจได้ สิ่งอย่างอื่นนี้รักษาใจไม่ได้ ให้ตำแหน่งให้ยศก็มาทำให้ใจพ้นทุกข์ไม่ได้ ให้คำสรรเสริญให้รางวี่รางวัลอะไรต่างๆ ก็ไม่สามารถทำให้ใจพ้นทุกข์ได้ ดีใจเดี๋ยวเดียว เขาให้รางวัลก็ดีใจ กินเลี้ยงกันไปวันสองวันก็หมดแล้วเดี๋ยวก็ไปทุกข์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ใหม่แล้ว แต่ถ้ามีธรรมะแล้วจะไม่ทุกข์กับเรื่องใดทั้งสิ้น การให้ธรรมะจึงชนะการให้ทั้งปวง เพราะประโยชน์ที่ได้รับจากการมีธรรมะนี้มันมีประโยชน์มากกว่าประโยชน์จากการมีลาภยศสรรเสริญ เพราะมันเป็นประโยชน์ชั่วคราว ดับความทุกข์ใจไม่ได้ แต่ธรรมะนี่เป็นประโยชน์ที่ถาวร ดับความทุกข์ใจได้อย่างถาวร ไม่ต้องมีความทุกข์อีกต่อไป ไม่ต้องกลับมาเกิดมาแก่มาเจ็บมาตายอีกต่อไป
ฆราวาสอยากจะทำธรรมทานก็ถ้าไปได้เห็นหนังสือที่อ่านแล้วมีประโยชน์ อยากจะเผยแผ่ก็ไปพิมพ์ ถ้ามีเงินหรือมีเพื่อนฝูงร่วมกันบริจาคก็พิมพ์หนังสือแจกไม่เอาไปขาย หรือถ้ามีธรรมะในใจบรรลุธรรมแล้วก็สอนธรรมะให้แก่ผู้อื่นต่อไป นี่พระพุทธเจ้าทำธรรมทานทุกวัน แสดงธรรมวันละสี่รอบ สามสี่รอบ ตอนบ่ายแสดงธรรมให้กับญาติโยม ตอนค่ำแสดงธรรมให้กับภิกษุสามเณร ตอนดึกแสดงธรรมให้กับเทวดา ตอนเช้าก่อนออกจะบิณฑบาตเล็งญาณดูว่าวันนี้จะไปแสดงธรรมให้กับใครเป็นกรณีพิเศษ ท่านให้ธรรมทานทุกวัน ทั้งๆ ท่านไม่มีความจำเป็นจะต้องมีธรรมะแล้ว เพราะท่านพ้นจากความทุกข์แล้ว ท่านมีธรรมะเต็มเปี่ยมแต่ภายในหัวใจแล้ว แต่ท่านเห็นคุณค่าประโยชน์ของธรรมะสำหรับคนที่ยังไม่มี คนที่ไม่มีธรรมะพอมีแล้วจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้าไม่มีธรรมะต่อให้มีเงินทองกองเท่าภูเขาก็หลุดพ้นจากความทุกข์ไม่ได้.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
“สร้างบุญบารมี”
การที่พวกเราได้เกิดมาเป็นมนุษย์กันแล้วก็มามีความแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน บางคนก็รวย บางคนก็ไม่รวย บางคนสวย บางคนไม่สวย บางคนฉลาด บางคนไม่ฉลาด บางคนมีอาการครบสามสิบสอง บางคนมีอาการไม่ครบสามสิบสอง บางคนมีอายุยืนยาวนาน บางคนมีอายุสั้น บางคนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง บางคนมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ความแตกต่างเหล่านี้เกิดจากอะไร
ถ้าเราไม่ได้มาพบกับพระพุทธศาสนาเราก็จะไม่รู้คำตอบแต่ถ้าเราได้มาพบกับพระพุทธศาสนาได้มาศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเราก็จะได้คำตอบ เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ทรงเห็นว่าสัตว์โลกอย่างพวกเราที่มาเกิดแล้วมีความแตกต่างกันนั้น เกิดจากบุญบารมีที่เราได้สร้างหรือไม่ได้สร้างกันมาในอดีตแต่ชาติ จึงทำให้เรามีความแตกต่างกัน ถ้าสร้างบุญบารมีมากก็จะได้รับประโยชน์มาก ถ้าสร้างน้อยก็ได้รับประโยชน์น้อย เราจึงมีความแตกต่างกันเพราะบารมีที่เราสร้างมาไม่เหมือนกันไม่เท่ากัน
ถ้าเราอยากจะให้ชีวิตของเราภพชาติของเราในอนาคตดีขึ้นไปกว่าปัจจุบันนี้ เราก็ต้องมาสร้างบุญบารมีกัน ก่อนที่เราจะสร้างบุญบารมีได้เราก็ต้องเรียนรู้ก่อนว่าบุญบารมีมีอะไรบ้าง และวิธีสร้างบุญบารมีต่างๆ นี้สร้างกันอย่างไร ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้เราก็จะไม่สามารถสร้างบุญบารมีต่างๆ ได้ เหมือนกับการขับรถยนต์ถ้าเราอยากจะขับรถยนต์เราก็ต้องไปเรียนไปศึกษาวิธีขับรถยนต์ เมื่อเรียนแล้วเราก็มาหัดขับกัน พอเราขับกันไป ต่อไปเราก็จะสามารถขับได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว เพราะเราได้ศึกษาได้ฝึกฝนอบรม ฉันใดบุญบารมีต่างๆ ที่เราต้องมาสร้างกันเพื่อให้เรามีชีวิตมีภพชาติที่ดีกว่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้ เราก็ต้องมาศึกษาถึงบุญบารมีต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราสร้างกัน และศึกษาวิธีสร้างบุญบารมีเหล่านี้ว่าสร้างอย่างไร.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐
“เพียรสร้างบุญบารมี”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
#ที่มาของคาถาหลวงพ่อชา นายทหารท่านหนึ่ง มาเฝ้ากราบอ้อนวอนขอพระเครื่องของหลวงพ่อ แต่ท่านไม่มี ท่านเมตตาบอกว่า
“เอาไปทำไมของอย่างนั้น เอาต่อนมันไม่ดีกว่ารึ”
(ต่อน หมายถึง ชิ้น – เนื้อ – ตัว คือ น้ำกับต่อน ก็คือ น้ำกับเนื้อนั่นเอง) ท่านบอกแล้วก็สั่งให้หากระดาษมาจดคาถาใส่ลงไป ม้วนเป็นหลอดกลม ๆ ส่งให้นายทหารท่านนั้น
หลวงพ่อมหาอมร เขมจิตโต (เจ้าคุณมงคลกิตติธาดา วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ อ.ม่วงสามสิบ) ได้บอกว่า
"เมื่อเห็นหลวงพ่อจดอะไรให้เขาก็สนใจไปขอดู พบว่าเป็นคาถาสั้น ๆ ดังนี้ พุทโธ ภควา อรหัง อะ ท่านให้ท่อง 7 จบ แล้วอธิษฐานเอา ตามปรารถนา"
คาถานี้ เมื่อนำมาบรรจุไว้ในเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อ ปรากฏว่า เขียนผิด เพี้ยนไปเป็น “ภควา พุทโธ อรหัง อะ” แต่หลวงพ่อก็ไม่ว่าอะไร ท่านกลับแสดงความเห็นว่า เขียนอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน
ภายหลังคุณชัยสิทธิ ได้สนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ได้กราบเรียนถามหลวงพ่อในวันหนึ่งว่า คาถานี้หลวงพ่อไปเอามาจากไหน
หลวงพ่อตอบว่า
“ในหนังสือสวดมนต์ 7 ตำนานไง ชอบอันไหนก็เอามา ดีทั้งนั้นแหละ”
ถึงแม้ว่าไฟ มันจะไหม้บ้านเราก็ตาม ถึงแม้ว่าน้ำ มันจะท่วมบ้านเราก็ตาม ถึงแม้ว่าภัยอะไรต่างๆ มันจะมาเป็นอันตรายต่อบ้านต่อเรือนเราก็ตาม ก็ให้มันเป็นเฉพาะบ้าน เฉพาะเรือน อย่าให้มันไหม้หัวใจเรา หลวงปู่ชา สุภัทโท
บุญกุศลมหาศาล
การทานมุ่งในการเสียสละด้วยความบริสุทธิ์ใจ ๑
คือไม่มีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่ทานเพื่อมุ่งของตอบแทน ไม่ใช่ทานเพื่อมุ่งให้หน้าตาใหญ่โตอะไร ทานเพื่อเป็นการบูชา
สิ่งที่เรานำไปบริจาคนั้น เป็นของที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรง คือได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ๑
แล้วก็บุคคลที่รับไทยทานของเราก็เป็นบุคคลที่มีความบริสุทธิ์ ๑
ถ้าหากว่าความบริสุทธิ์สามส่วนนี้มารวมกัน
ไม่ต้องเรียกว่าผ้าป่า ไม่ต้องเรียกว่ากฐิน เป็นบุญกุศลมหาศาลทั้งนั้น
ความงามของต้นไม้ ไม่งามจากความสะอาด ผัก หญ้า งามจากสิ่งสกปรก จากดิน จากปุ๋ย จากของสกปรก
ผู้มีจิตเจริญสมาธิ มันก็งาม คือสิ่งที่ไม่ดีผ่านเข้ามามันยิ่งเจริญ แต่ก่อน สิ่งไม่ดีผ่านเข้ามา แย่ ต้องมีสิ่งดีมาสู่ จึงเจริญ
แต่สำหรับผู้มีจิตเป็นสมาธิ มันกลับช่วยให้ดี เพราะความไม่ดี เช่นนินทาไม่ดี ทุกข์ไม่ดี ไม่ทำความกระเทือนต่อผู้มีสมาธิ ยิ่งเสื่อมยศ เสื่อมลาภ ยิ่งมีทุกข์มาก ยิ่งเจริญมาก ยิ่งเบื่อหน่าย เป็นเหตุผลักดันจิตให้เจริญยิ่งๆขึ้น บางทีเจริญด้วยนินทา เหมือนถูกมีดถาก ยิ่งถากยิ่งดี บางทีเสื่อมลาภ ยิ่งวิเศษ แต่คนสามัญไม่ดี จิตตก เพราะต้องการลาภ แต่ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิ มันคลายออก ทำให้ไม่ยินดีในเรื่องลาภ เห็นเป็นเครื่องฆ่าคน ทำให้มีมานะ
ผู้มีจิตเป็นสมาธิต้องดีอย่างนี้ คนไหนจะมาลบเหลี่ยม ลบชื่อเรา เช่น เขาเรียกเราว่า หมา ยิ่งสบาย ยิ้มแย้ม เพราะหมา มันไม่มีตะราง ไม่มีกฏหมาย เขาเรียกเจ้าคุณ ไม่ค่อยชอบ เกะกะ แข้งขายาว แต่คนหลงๆ เขาชอบ คนจิตเป็น"สัมมาสมาธิ" เขาลดยศยิ่งสบายใจ เขาราดด้วยของสกปรก ยิ่งงาม เมื่อผู้ใดมีสติ มีสมาธิ ไม่มีหวั่น ยิ่งเจริญขึ้นเรื่อย
ท่านพ่อลี ธมมธโร
อันนี้ยอมสารภาพนะ หลวงตานี้อำนาจวาสนาน้อยไม่มีวัตถุมงคลแหละ ต้องการตั้งแต่หัวใจเป็นมงคลอย่างเดียว วัตถุเป็นมงคลนี้หลวงตาไม่สนใจ พระพุทธเจ้าก็ไม่พาสนใจกับวัตถุมงคล ยิ่งกว่าหัวใจเป็นมงคล เอาเท่านั้นเข้าใจหรือยัง หัวใจเป็นมงคลนั้นขลังมากนะ วัตถุเป็นมงคลนี้ทำคนให้ทะนง ลืมเนื้อลืมตัว มีพระห้อยคอไปนี้ก็เลยนึกว่าตัวมีพุทโธแล้ว มีพระขลัง ๆ แล้ว มันสำคัญไปอย่างนั้น . หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์อบรม-ให้สัมภาษณ์หนังสือนิตยสาร "ดิฉัน" (โดย คุณหญิงทิพยวดี ปราโมช ณ อยุธยา) ที่กุฏิหลวงตา ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑ (เย็น)
...เวลาสอนนี้ คนฟังไม่ค่อยเข้าใจ บอกว่า พอจิตสงบ แล้วก็ให้เจริญปัญญา .
ก็เลยคิดว่า นั่งสมาธิ พอจิตนิ่งก็ให้เจริญปัญญา อันนี้ไม่ใช่การปฎิบัติที่ถูกต้อง .
อันที่ถูกต้องคือ อันที่หนึ่ง ฝีกสมาธิ ทำจิตให้นิ่งนานๆ ให้มันนิ่งทั้งว้นทั้งคืน ไม่ใช่นิ่งแต่เฉพาะเวลานั่งสมาธิ ออกจากสมาธิมาก็ต้องนิ่ง .
เพราะความนิ่งนี้ ต้องเอามาใช้ ตอนที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ เอามาใช้ตอนออกจากสมาธิ .
"เพราะถ้าจิตไม่นิ่ง.. ..เอามาเจริญปัญญาไม่ได้" ...................................... . คัดลอกการสนทนาธรรม ธรรมะบนเขา 3/10/2560 พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามญ ชลบุรี
“ให้มีสติ” ..พระพุทธองค์ ท่านแนะแนวในหลักพระวินัยให้ประพฤติปฏิบัติ รักษากิริยามารยาทความประพฤติของตัวเอง ให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย เห็นโทษในพระวินัยแต่ละข้อ แม้ว่าจะน้อยขนาดไหนก็ตาม ก็ต้องให้ระมัดระวัง ถ้าไม่ระวัง ก็แสดงว่า ไม่มีสติ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร เทศนา เรื่อง ธรรมวินัยเป็นเครื่องไกลกิเลส
"ต้องมองทั้งสองด้าน"
...คนเราไม่รู้จักคิดย้อนหน้าย้อนหลัง เห็นแต่หน้าเดียวไปเลย จึงไม่จบสักที ทุกอย่างมันต้องเห็นสองหน้า มีความสุขเกิดขึ้นมา ก็อย่าลืมทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นมา ก็อย่าลืมสุข มันเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน เช่นว่า อาหารนั้นเป็นคุณแก่มนุษย์แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย อย่างนี้ เป็นต้น
แต่ความเป็นจริงอาหารเป็นโทษก็มีเหมือนกัน มิใช่มันจะให้คุณอย่างเดียว มันให้โทษด้วยก็มี เมื่อใดเราเห็นคุณก็ต้องเห็นโทษของมันด้วย เห็นโทษก็ต้องเห็นคุณด้วย เมื่อใดมีความชัง ก็ให้นึกถึงความรัก คิดได้อย่างนี้ จะทำให้จิตใจของเรา ไม่ซวนเซไปมา.
"หลวงปู่ชา สุภทฺโท"
“ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”
ถาม : ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หนูรู้สึกว่าการนั่งสมาธิควบคุมใจด้วยสติให้ต่อเนื่องนี้เป็นอะไรที่ยากมาก ทำอย่างมากไม่เกินชั่วโมง ทั้งที่เมื่อก่อนหนูนั่งได้นานกว่านี้จนอยู่กับความเจ็บปวดไม่ไหวถึงลุก แต่หลังๆมานี้ พอรู้อุบายว่าเจอความเจ็บต้องทำอย่างไร เวลามีความคิดเข้ามาแทรกทำอย่างไร ยิ่งรู้อุบายในการรับมือเวลานั่งภาวนามากเท่าไร กลับรู้สึกว่ายิ่งควบคุมใจได้ยากมากเท่านั้น เจอกับสภาพแบบนี้คือการควบคุมใจให้นั่งสมาธิได้ยาก ยากกว่าตอนที่ไม่รู้อะไรเลย จะทำอย่างไรคะ ขอหลวงพ่อเมตตาให้อุบายด้วยค่ะ
พระอาจารย์ : คือความรู้ต่างๆ ที่เรารู้นี้มันไม่ได้เป็นตัวที่จะมาควบคุมใจของเรา ตัวที่จะควบคุมใจของเราก็คือสติ เพราะฉะนั้นความรู้นี้มันมีไว้สำหรับขั้นปัญญา ส่วนขั้นควบคุมใจนี้เราต้องใช้สติ ดังนั้นความจริงเราไม่ควรจะไปรู้อะไรก็ได้ในขั้นนี้ ให้รู้จักวิธีเจริญสติควบคุมใจของเรา ให้สงบให้นิ่งให้ได้ก่อน เท่านั้นที่สำคัญ
ดังนั้นความรู้เหล่านี้จึงไม่เป็นประโยชน์ในขณะที่เรายังไม่สามารถควบคุมใจของเราให้สงบได้ รู้ไปก็เป็นเหมือนความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ความรู้เหล่านี้จะมีคุณมีประโยชน์ต่อเมื่อ เราสามารถควบคุมใจของเราได้แล้ว เมื่อเราควบคุมใจเราได้ เราสามารถเอาความรู้เหล่านี้มาสั่งสอนใจแล้วให้ใจปฏิบัติตามความรู้เหล่านี้ได้ แต่ตอนนี้ใจมันไม่ยอมปฏิบัติตามความรู้เหล่านี้ มันจะไปตามความอยากของกิเลสตัณหา เราจึงต้องใช้สติมาตัดกำลังมันก่อน มาให้มันสงบตัวลงก่อน เมื่อกิเลสตัณหาสงบตัวลงแล้วเราก็ถึงค่อยเอาความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนี้ให้เรามาสั่งสอนจิตใจ เพื่อให้จิตใจเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ต่อไป
ดังนั้นขั้นนี้ถ้ายังควบคุมใจไม่ได้ อย่าไปรู้มากเลย รู้มากก็เป็นความรู้แบบท่วมหัวเอาตัวไม่รอดอยู่ดี พยายามเอาตัวเดียวคือสตินี้ให้ได้ก่อน พยายามควบคุมใจ เวลามันทุกข์มันวุ่นวาย เวลามันพยศมันดื้อก็หยุดมันได้ให้ได้ก่อน เอาแค่หยุดมันก่อน ไม่ต้องสอนให้มันไปทำอะไรวิเศษวิโสหรอก ตอนนี้เอาแค่หยุดมันก่อน เวลามันดื้อเวลามันจะสร้างความทุกข์ความวุนวายใจก็หยุดมันก่อน หยุดด้วยสติก่อน ถึงแม้ว่ามันจะหยุดได้ชั่วคราวมันก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรหยุดมันเลย พอหยุดมันได้ชั่วคราวแล้วต่อไปถึงค่อยใช้ปัญญามาหยุดมันอย่างถาวรอีกทีหนึ่ง.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
เหมือนกับเราเขียนหนังสือ เราเคยเขียนแล้ว ก.ไก่ ก.กา จะไม่เขียนอีก พอไปถึงระยะที่ควรเขียนก็ต้องเขียนตัวเก่า การพิจารณาธรรมะก็ทำนองเดียวกัน ไม่ต้องพิจารณาไปที่อื่นที่ไกล พิจารณากายพิจารณาใจของตน
ผู้พูดธรรมะก็เหมือนกัน พูดของเก่า ผู้ปฏฺิบัติธรรมะก็ปฏิบัติของเก่า เพราะไม่มีอะไรใหม่ในโลก ถ้าพิจารณากันจริงจังแล้วไม่มีอะไรใหม่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ มันก็ของเก่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ของเก่า มันหลงก็หลงของเก่า รู้ก็รู้ของเก่า
ยังมีชีวิตอยู่ก็พิจารณาดูมัน มันหลงเพราะเหตุใด มันรู้เพราะเหตุใด
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
“ทุกข์ หมดไป ไม่เป็น"....
“ทุกข์” ควร “กำหนดรู้” “ไม่ใช่” “ปฏิบัติ” แล้ว “หมดทุกข์” “ทุกข์” หมดไป “ไม่เป็น เมื่อ “กาย” กับ “จิต” ยัง “อาศัย” กัน ทุกข์ของ “ขันธ์” ยังมีตลอดเวลา แต่จิตที่จะไปติดข้องที่จะไปยึดถือ ไปลุ่มหลง ว่าทุกข์ให้โทษแก่เราอย่างนั้นอย่างนี้ ควรจะให้มันหายออกไป ไม่ควรจะมาบีบบังคับกายใจเรา “ถ้าคิดไปอย่างนั้น”... คิดไปเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มเติมขึ้น เพราะสิ่งนั้น มันเป็น “ของจริง” ของมัน..... จะขับไล่มันไปที่ไหน มันไปไม่ได้.....“ให้กำหนดรู้ตามจริง” ของมัน ว่า “นี่คือทุกข์” แต่ ผู้ที่ไป “รู้ทุกข์” เป็น “ทุกข์” หรือไม่ นั่นแหละ เป็นเรื่องที่ “ควรกำจัด” เป็นเรื่องที่ควร “ปฏิบัติ” เพื่อ “ทราบตามความเป็นจริง” “ทุกข์” คือ “เวทนา” ตัวหนึ่ง “จิต” ผู้มา “รู้” ก็เป็นอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่เวทนา ที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ความรู้นี้ จะเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เฉยๆก็ตาม “จิต” มัน “รู้” ตื่นอยู่ หลับอยู่ มันก็ “รู้” นี่คือเรื่องของ “จิต”
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร
พระบรมครูของเราท่านเห็นว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้พวกเราทั้งหลายปล่อยวาง เมื่อถึงเวลาสุดท้ายของทุกคน เพราะว่ามันเอาไปไม่ได้ จำเป็นมันก็ต้องวางอยู่นั่นเองล่ะ แต่เราก็วางมันไว้ก่อนเสียจะไม่ดีกว่าหรือ เราแบกก็รู้สึกว่ามันหนัก เมื่อมันหนักแล้วเราก็ทิ้งมันเสียก่อนจะไม่ดีหรือ . หลวงปู่ชา สุภัทโท คัดจากหนังสือ"น้ำไหลนิ่ง” ตอน บ้านที่แท้จริง
ความเป็นของใจก็เหมือนกับผลไม้ เมื่อมันยังอ่อนยังดิบอยู่ก็รสหนึ่ง เมื่อมันสุกแล้ว ไม่ต้องไปหาน้ำอ้อยน้ำตาลจากที่ไหนมาใส่ มันก็หวานขึ้นเอง ความหวานของมันเกิดขึ้นจากที่ฝาดๆ เปรี้ยวๆ นั่นแหละ จิตใจของเราท่านก็ทำนองเดียวกัน ความบริสุทธิ์เป็นอย่างไร ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เอง ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่าทอดธุระ อย่าท้อถอย อย่าไปตะครุบเรื่องเสื่อม เรื่องเจริญต่างๆ มีหน้าที่ปฏิบัติก็ปฏิบัติเรื่อยไป เมื่อถึงที่สุดแห่งความหลุดพ้นเป็นอย่างไร ก็ไม่มีทางสงสัยในตนเอง ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ ให้รู้ ให้เห็น ให้เป็นในตัว เพราะธรรมะเท่านั้นที่จะให้ความสุขอย่างประเสริฐ ไม่มีสุขใดจะสุขเลิศเท่ากับจิตหลุดพ้นจากกิเลสถึงธรรมะ ธรรมทำคนให้บริสุทธิ์ได้อย่างนั้น
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมโร
คิดดูง่ายๆ สิ่งที่เราหวงแหนทุกอย่าง ยิ่งหวงมากห่วงมากก็ยิ่งทุกข์มาก เช่น ลูกของเรา สามีภรรยาของเรา พ่อแม่ของเรา เราถือเป็นของของเรา พวกเหล่านั้นหากป่วยไข้ จิตใจของเราจะต้องกังวลวุ่นวาย วิ่งเต้นหาหยูก หายา หามด หาหมอมารักษา ไม่เป็นอันกินอันนอนถ้าป่วยหนักเข้า ทั้งๆ ที่เราอยู่สบายกายของเราไม่มีไข้ไม่มีเจ็บอะไร แต่ก็เป็นไปเพราะความรัก อำนาจของใจที่ไปยึดไปเกี่ยวข้อง
คนอื่นซึ่งนอกจากความรักของเรา ไม่ไปเกี่ยวข้อง ไม่ไปยึดถือ เขาป่วยเขาเป็นเขาล้มเขาตาย สบาย..ไม่มีการคิดอะไร ว่าคนนั้นป่วยหนัก คนนั้นตายไป.. เสียจิตเสียใจอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มี จิตของพวกเราที่ไม่มีธรรม อคติอย่างนี้
ถือยึดในสิ่งของของตน แล้วไม่ยึดไม่ถือ ไม่ถือว่าเป็นของของตนญาติของตน คนของตน ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นมีคุณค่าเสมอกัน คนเราตายหรือคนเขาตาย ก็คือตายด้วยกัน คนเขาเจ็บ คนเราเจ็บก็คือเจ็บด้วยกัน แต่พวกเราท่านนี่ไม่พิจารณา จิตจึงยึดเป็นบางเกาะบางดอนบางสิ่งบางอย่าง นี่คือ "จิตไม่เสมอ" จิตยังไม่เห็นอรรถธรรม ไม่พิจารณาตามความเป็นจริง
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
”ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา" " จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้น จะมองอะไรก็เป็นนิยายนิกธรรมทั้งสิ้น ส่วนผู้ไม่ได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้องปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่างๆมาเป็นธรรม เป็นยอดไตรปิฎกได้ ยกตัวอย่างเช่น สังกิจจสามเณรไปบิณฑบาต เห็นเชาไถนา เห็นเขาไขน้ำ นำเอามาเป็นอุบายจนเกิดปัญญาแล้วท่านก็สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ เพราะเหตุที่ท่านได้นำเอาดินที่ชาวนากำลังไถมาเป็นอุบายว่า ดินไม่มีใจทำไมเขาจึงนำเอาไปตามประสงค์ได้ น้ำไม่มีใจ ทำไมเขาจึงทำเอาตามประสงค์ได้ เรามีใจ ทำไมไม่ทำใจให้เป็นไปตามประสงค์ เพราะเหตุนั้นธรรม จึงมีอยู่ทุกหย่อมหญ้ามิใช่หรือ” . หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
|