“คนมั่งมีศรีสุข เงินทองข้าวของ กองเป็นล้านๆ เท่าภูเขา แต่ไม่มีศีลธรรมภายในใจเลย คนนี้สู้คนจนๆ แต่มีธรรมในใจไม่ได้”
-:- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน -:-
"เราอย่าเป็นคนเชื่อง่าย ใครบอกอะไร เชื่อไปหมด เราต้องหูหนัก และปากเบา
หูหนัก คือ อย่าไปเชื่อง่าย ปากเบา คือ ชอบถาม มีอะไรก็ให้ถาม อย่าไปเชื่อก่อน ถามว่ามันเป็นอย่างไร เราไม่ค่อยถามกัน ใครลืออะไรมาก็เชื่อ"
-:- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล -:-
"ไม่ใช่นิ่ง เพื่อนิ่ง แต่นิ่ง เพื่อรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลาย ที่ไม่นิ่ง" -:- พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ -:-
การรักษาไม่ให้ความชั่วภายนอกเกิดขึ้น จะไปรักษาคนอื่น รักษาทางโลก มันรักษาไม่ได้ ให้รักษาภายใน รักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของตัว อย่าให้มันมีความชั่ว มาเกี่ยวข้อง
เมื่อเรารักษาตัวของเราได้ โลกส่วนอื่น มันเป็นอย่างไร นั่นเป็นหน้าที่ของเขา การปฏิบัติ คือโอปนยิโก น้อมเข้ามาภายใน ดูกาย ดูใจของตัว
-:- พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร -:-
" มื้อนี่พวกเฮามาที่นี่ก็มาอบรมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งพวกเฮาพากันนับถือแต่บรรพบุรุษ แต่พ่อแต่แม่ อายุของพระพุทธศาสนา ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว ด้วยความที่คนนับถือเขาก็ขึ้นชื่อลือชาว่าเมืองไทยนี้พุทธศาสนาเจริญ ศาสนาเจริญมันบ่แม่นเจริญด้านวัตถุต้องเจริญด้านจิตใจ จิตใจที่แสดงออกว่าเป็นศีลเป็นธรรม จังสิว่าศาสนาเจริญ บัดนี้พวกเฮาต้องการความเจริญทุกคน เพิ่นก็ว่า..
"ผู้ใดชังธรรม ผู้นั้นเป็นคนเสื่อม ผู้ใดรักธรรมผู้นั้นมีความเจริญ "
ให้พวกเฮาพยายามรักษาธรรมไว้เด้อ เพราะธรรมนี้เป็นของดีตั้งแต่ไหนแต่ไรมา พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาหลายพระองค์แล้วก็สอนความเดียวกัน ใครไปถึงหรือไปรู้ธรรมมีแต่ดี บ่มีเลวไปบ่กลับ เรียกว่าถึงพระนิพพาน บ่ว่าแต่ก่อนหรือปัจจุบันหรืออนาคต เป็นธรรมดวงนี้ที่พวกเราได้ยินได้ฟังอยู่นี้ แต่ธรรมว่าเพิ่นตรัสรู้ก่อนมรณภาพหรือตายไปก่อน เพิ่นก็บ่ได้เอาไป ธรรมนี้ยังอยู่นำพวกเฮาด้วยกันทุกคนเพราะธรรมเกิดก่อน ธรรมเป็นของเก่าแต่ไหนมา เพิ่นเว่าหรือสอนพวกเฮา เพิ่นสอนของที่มีอยู่ "
____________________
หลวงปู่บุญมี ปริปุญโณ
*สารพัดธรรม(ทำ)* "หลวงปู่ขาวฯ สอน หลวงปู่จันทาฯ 'ข้อห้ามสำหรับนักภาวนา'"
หลวงปู่ขาว บอกว่า การทำความเพียร อดนอนผ่อนอาหารนั้น ต้องกินน้อยนอนน้อย พูดน้อย แล้วสิ่งทั้งปวงที่มันผิดในระยะที่ทำความเพียรนั้นมีอะไรบ้าง หลวงปู่ก็บอกว่า "อย่าเพิ่งเอาหนังสือมาอ่าน อย่าเพิ่งทำงาน การงานอะไรน้อยนิดไม่ให้มีทั้งนั้น เว้นไว้แต่ข้อวัตรหาฟืนต้มน้ำร้อน เข็นน้ำใส่ตุ่ม อันนั้นไม่เป็นไร เป็นกิจวัตร แต่จะไปก่อสร้างอย่างโน้น อย่างนี้ไม่ได้ ไม่เป็นไปเรื่องภาวนา จะเอาหนังสือมาอ่านก็ผิด แปลว่าเราส่งจิตออกไปภายนอก อันนั้นผิด ยังมีความสงสัยอยู่ เกิดวิจิกิจฉาหรือสีลัพพตปรามาส ลูบ ๆ คลำ ๆ ของภายนอกอยู่ ถ้าทำอย่างนั้น จิตก็เลยออกนอกไปเสีย ความเพียรนั้นไม่ดี ไม่ปลอดภัย เศร้าหมอง การทำความเพียรนั้น ต้องเอาอารมณ์เดียว คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น ไม่หวั่นไหว มันจึงจะเป็นไป หลวงปู่ว่า "ถ้าเอาหนังสือมาอ่าน เช่น หนังสือพิมพ์สมัยนั้นไม่มี แต่สมัยนี้มีหนังสือพิมพ์นะ พระบางคณะ บางวัดเอาหนังสือพิมพ์มาดูกันสนั่นหวั่นไหว นั่นแหละสั่งให้โยมซื้อมาให้ด้วย อ่านหนังสือพิมพ์แล้วว่าได้ปัญญา โอ๋...ก็ได้ปัญญาเรื่องโลก เรื่องสงสาร ไปเห็นรูปผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อย เห็นของลับบ้าง ไม่เห็นบ้าง มันก็เป็นบ้าเท่านั้นแหละ นั่นแหละ บ้า...บ้าปัญญา ไปดูของภายนอก ทำใจให้เศร้าหมองเท่านั้น ถ้าจะทำความเพียรจริง ๆ ไม่ให้อ่านทั้งนั้น ดูหลักธรรมะก็ไม่ให้ดู อะไรก็ไม่ให้ดู ทำความเพียรเอา ธรรมะมันเกิดขึ้นมาเองดอก เมื่อจิตสงบแล้วนั่นแหละ ต้องสะอาดทุกอย่าง ไม่มีอะไรทั้งนั้นมาเจือปน"
ทุกท่านทุกคนต้องฝึกนะ ฝึกให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ฝึกตัวเองให้มีความสุขในปัจจุบัน ฝึกตัวเองให้มีความสุขในหน้าที่การงานในปัจจุบัน หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อ.วังน้ำเขียว นครราชสีมา
” ความเชื่อผิดๆ เรื่องการใส่บาตรและถวายสังฆทาน อาหาร ยา ฯลฯ ”
ถาม : การใส่บาตร และ การถวายอาหาร แด่พระควรเป็นอาหารสด แต่ถ้าบางคนการถวายมาม่าหรือของแห้งที่จะต้องเอาไปประกอบอาหารใหม่จะบาปหรือไม่?
ตอบ : ไม่บาปหรอก เพียงแต่ว่าพระท่านเก็บไว้ไม่ได้
อาหาร ที่เป็นอาหารนี้ ท่านเก็บไว้ได้เพียงแค่ช่วงระยะเที่ยงวันเท่านั้นเอง หลังจากเที่ยงวันแล้ว ส่วนที่เป็นอาหารนี้ ท่านต้องสละไปหมด เพราะพระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้พระสะสมของไว้ในกุฏิของตน แต่ทรงอนุญาตให้สะสมไว้ในคลังของวัดได้ เช่น ถ้าญาติโยมอยากจะถวายของให้เก็บไว้นานๆ อย่าไปใส่บาตร อย่าไปประเคนกับมือ
อย่างที่อาตมารับของนี้ ส่วนใหญ่จะให้วางไว้เฉยๆ ถ้าญาติโยมวางไว้เฉยๆนี้ ถือว่าพระยังไม่ได้รับประเคน พระยังเอาไปใช้ไม่ได้ แต่เก็บไว้ได้ตลอดเวลาไม่มีวันหมดอายุ เวลาต้องการจะใช้ก็ให้ลูกศิษย์หยิบมาประเคนให้ จึงจะใช้ได้ แต่..ถ้ารับประเคนด้วยมือเอง ของมันจะมีอายุ
ของพระ ท่านแบ่งไว้ 3 ชนิดด้วยกัน
1) “อาหาร” – ชนิดอาหารนี้มีอายุแค่..ถึงเที่ยงวัน
หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ถึงแม้รับตอนนี้ก็หมดอายุทันทีเลย ใครถวายมาม่า ถวายปลากระป๋องมา รับปั๊บนี้ก็ต้องสละแล้ว เก็บไว้กินพรุ่งนี้ไม่ได้ เรียกว่า อาหาร
ดังนั้นถ้าของเป็นอาหารอยากจะถวายพระให้เก็บไว้นานๆ เอาวางตั้งไว้เฉยๆ ตั้งไว้ตรงหน้าก็ได้ บอกขอถวาย อันนี้ก็ได้เท่ากับถวายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องทำให้มันถูกพระวินัย พระยังไม่ถือว่าเป็นของของตน เป็นของของส่วนกลางอยู่ ถือเป็นของคณะสงฆ์ แต่เวลาต้องการจะใช้ค่อยให้ลูกศิษย์มาประเคน เอาไปเก็บไว้ที่กุฏิไม่ได้ ต้องเก็บไว้ที่ที่เก็บของของวัด วัดจะมีที่ที่เก็บของส่วนกลางไว้ ของทั้งหมดที่ไม่ได้รับประเคนก็ให้เอาไปไว้ที่นั่น เวลาจะใช้ค่อยให้ลูกศิษย์เอามาประเคนให้อีกที พวกอาหารก็มีอายุเพียงครึ่งวัน เช้าถึงเพล
2) “เภสัช ตามพระกำหนดมี 5 ชนิด คือ พวกน้ำตาล น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส น้ำผึ้ง”
– ท่านอนุญาตถ้ารับประเคนนี้ท่านให้เก็บไว้ได้ ๗ วัน และฉันได้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงถือว่าเป็นยา
– สมัยก่อนเขาคงกินพวกยา พวกนี้รักษาอาการเจ็บท้องปวดท้อง มันคงจะไปเคลือบกระเพาะหรือไปทำอะไร ท่านก็เลยอนุญาตให้มีเภสัช 5 ชนิดด้วยกัน (พวกน้ำตาล น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส น้ำผึ้ง)
– พวกนี้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน พอหลังจาก 7 วันแล้วถ้ายังมีเหลืออยู่ ก็ต้องสละให้คนอื่นไป
– สละให้กับพระด้วยกันไม่ได้ ต้องสละให้ฆราวาสญาติโยมไป ลูกศิษย์ลูกหาไป หรือเอาไปทำบุญทำทานไป
3) “ยา(รักษาอาการเจ็บป่วย) “ จริงๆ เช่น ยาแก้ปวดหัว ปวดท้อง ยาอะไรต่างๆ
– เก็บไว้ที่กุฏิด้วย เพราะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะได้หยิบได้ทันท่วงที
– ถ้าเป็นยานี้ถวายได้ตลอดเวลา และเก็บไว้ได้ตลอดเวลาไม่มีวันเสื่อม นอกจากตามที่เขาเขียนไว้ที่ในสลาก เสื่อมไปตามวันที่เขาเขียนไว้ในสลากเท่านั้น
นี่คือเรื่องของการประเคนของให้กับพระ เราต้องรู้จักแยกแยะ แต่สมัยนี้ญาติโยมไม่รู้กันก็เลยรวมกันหมดเลยที่เขาใส่ในกระเเป๋งสีเหลืองนี้ เขาอยากจะถวายให้ครบทั้ง 4 คือ ปัจจัย 4 ยาก็ใส่เข้าไป อาหารก็ใส่เข้าไป จีวรก็ใส่เข้าไป ถึงแม้จีวรจะเอามาห่มไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นผ้าเหลืองๆ ชิ้นหนึ่งก็ถือว่าเป็นจีวรแล้ว กระเเป๋งก็คงถือว่าของถวายมั๊ง… ไว้ครอบหัวเวลาฝนตก
– ทำบุญก็อยากจะถวายปัจจัย 4 ให้ครบ เขาก็เลยใส่มา แล้วมาถึงก็บังคับให้พระรับประเคน ให้วางไว้เฉยๆ ก็กลัวว่าไม่ได้บุญอีก
– บางทีบางคนขนกลับไปก็มี พอบอกว่า “ให้วางไว้เฉยๆ ได้ถวายแล้ว” ฉันไม่ได้บุญ ท่านไม่รับฉันไม่ได้บุญ ฉันไปดีกว่าไปถวายที่อื่นดีกว่า อย่างนั้นก็มีเพราะการไม่รู้ ไม่มีการสอนไม่มีการบอก
– แล้วพระที่มาบวชใหม่ทีหลังก็ไม่รู้เรื่อง เขาเอาอะไรมาถวายก็รับประเคนหมด แล้วเขาก็แบบถือว่าไปว่ากันใหม่ คือตอนนี้รับประเคนแบบหลอกๆไปก่อน รับประเคนให้ญาติโยมดีอกดีใจ แล้วค่อยไปแยกแยะของทีหลัง ของที่เป็นอาหารก็เก็บไว้ส่วนหนึ่ง ถ้าอยากจะได้อะไรค่อยให้ลูกศิษย์มาประเคนให้ใหม่ เขาทำกันแบบนี้
ซึ่งทางสายวัดป่าท่านไม่ทำ ท่านทำแบบไม่หลอก ทำแบบจริงๆ เลย บอกประเคนไม่ได้ก็ประเคนไม่ได้ วางไว้ต้องวางไว้ เพื่อจะได้สอนญาติโยมไปในตัว
– ญาติโยมที่ไปทำบุญที่วัดป่าจึงได้บุญด้วย ได้ปัญญาด้วย ได้บุญ คือ ความสุขใจ แล้วก็ได้ปัญญาได้ความรู้ที่ถูกต้องในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพระให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แทนที่จะส่งเสริมให้พระปฏิบัติผิดพระธรรมวินัย เพราะด้วยความเกรงใจญาติโยม
นี่คือเรื่องของการถวายของ ที่เราต้องควรจะศึกษา.
_________________________
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวราราม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗
"การรู้ธรรม เห็นธรรม ไม่ใช่เพราะคนอื่นบอก เราเป็นผู้ปฎิบัติ เราเป็นผู้รู้ยิ่งกว่าใครๆ ทั้งหมด ในตัวเรา..." หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
กิเลสดี เพราะทำให้คนสร้างความดี ตัวอย่างเช่น หากจะตั้งปัญหาถามว่า เรารักษาศีลกันทำไม ก็จะตอบได้ว่า รักษาศีล เพื่อให้กาย วาจา เรียบร้อย กิเลสหยาบๆ ทำให้กาย วาจา ไม่เรียบร้อย กิเลสหยาบๆ นี้ เราจะปราบได้ด้วยศีล. พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร)
|