Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

สิ่งที่ล่วงไปแล้ว

พฤหัสฯ. 12 ต.ค. 2017 7:32 am

"สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน
อนาคต ที่ยังมาไม่ถึงนั้น เป็นสิ่งไม่ควร
ไปยึดเหนี่ยว เกี่ยวข้องเช่นกัน

อดีต ปล่อยไว้ตามอดีต
อนาคต ปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้น จะสำเร็จประโยชน์ได้
เพราะ อยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย"

-:- หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต -:-




"เรือที่นายช่างต่อดีแล้ว อย่างแข็งแรง
เมื่อถูกคลื่นกระทบแล้ว ไม่เสียหายฉันท์ใด
จิตของบุคคลใด เมื่อฝึกฝนให้ดีแล้ว
คลื่นของกิเลสกระทบเข้า
ย่อมไม่หวั่นไหว ก็ฉันท์นั้น
จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้"

-:- หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ -:-





"ไปว่าคนนั้นโลภ คนนี้โลภ
ก็เพราะตัวเอง มีความโลภอยู่
จึงไปเห็นความโลภของคนอื่น

คนที่ไปว่าคนโน้นไม่ดี
ก็เพราะตัวเองยังไม่ดี
จึงมองเห็นความไม่ดีของคนอื่น

ธรรมวินัยนี้ ถ้าจิตมันถึงแล้ว
มันไม่อยากจะไปคิดตำหนิใคร
ธรรมะนี่ ถ้าตั้งใจจะปฏิบัติกันจริงๆ แล้ว
มันไม่มีที่ไหนจะไปวัดกัน"

-:- หลวงพ่อพุธ ฐานิโย -:-






“การพิจารณากายในกาย”

ถาม : การพิจารณากายในกาย ควรพิจารณาอย่างไร เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่คะ

พระอาจารย์ : มันมีหลายวิธีกายในกายนี่ พิจารณาความเกิดแก่เจ็บตาย ก็เป็นวิธีหนึ่งเพื่อให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ร่างกายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีเวลาไหนที่มันเหมือนเดิม 1 วินาทีจากนี้ไปมันก็เปลี่ยนไปนิดหนึ่งแล้ว เปลี่ยนไปทีละนิดทีละนิด เรียกว่าเกิดแก่เจ็บตายในร่างกายนี้ ต้องไปสู่ความตายในที่สุด อนิจจัง
2.อนัตตาไม่มีตัวตน ในร่างกายมีอาการ 32 ทำมาจากดินน้ำลมไฟ อาหารที่กินเข้าไปนี้เป็นดินน้ำลมไฟ อากาศที่เราหายใจก็เป็นลม น้ำที่เราดื่มก็เป็นธาตุน้ำ ธาตุไฟก็คือความร้อนในร่างกาย นี่พอร่างกายตายไป ธาตุทั้งสี่ก็จะแยกทางกัน ร่างกายก็เย็นเฉียบ ธาตุไฟหายไปแล้วเดี๋ยวธาตุลมก็หายไป ลมก็ระเหย กลิ่นก็ระเหยออกมา แล้วต่อไปน้ำก็ไหลออกมา ทิ้งไปนานๆเข้ามันก็แห้งกรอบ ผุเปลื่อยกลายเป็นดินไป นี่คือร่างกายของเรา เป็นธาตุสี่ดินน้ำลมไฟ พิจารณาอย่างนี้เรียกว่ากายในกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง อีกอย่างก็คือพิจารณาอสุภะว่าไม่สวยงาม อันนี้พิจารณาร่างกายของคนอื่นเป็นหลัก ร่างกายของคนที่เราหลงรัก ว่าไม่สวยไม่งามต่อไปก็ต้องเป็นซากศพ เวลาเป็นซากศพเรายังจะเก็บเขาไว้อยู่ในบ้านเราหรือเปล่า เวลามีลมหายใจนี้หวง ใครมาแตะไม่ได้ พอไม่มีลมหายใจแล้วนี้ยกให้สัปเหร่อเลย ไม่หวงเลย ฉะนั้นต้องพิจารณาดูอาการ 32 ดูภายใน ว่าไม่น่าดูเลย อาการต่างๆอยู่ใต้ผิวหนังนี้ ลองฉายเอกซเรย์ดูสิ จะเห็นโครงกระดูก เห็นปอด เห็นตับ เห็นหัวใจ เห็นลำไส้ต่างๆ ถ้าเห็นอย่างนี้มันก็จะไม่หลงรัก ไม่รักใคร อยู่คนเดียวได้ ไม่ต้องเสพกามได้ นี่ก็คือเรื่องการพิจารณากายในกาย ที่เราต้องพิจารณาให้ครบทุกส่วน ทุกสัดทุกส่วน เพราะกิเลสมันไปยึดไปติดอยู่กับส่วนต่างๆเหล่านี้ ไปยึดติดว่าร่างกายนี้เที่ยง ไม่มีใครคิดว่าจะตายกันเลยใช่ไหม มีใครคิดบ้างไหมว่าวันนี้อาจจะเป็นวันตายของเรา แต่พอถึงเวลามันก็ตายได้ทันทีทันใด ไม่มีใครคิดเลย เพราะคิดว่าจะอยู่ไปเรื่อยๆ คิดว่าร่างกายเที่ยง ต้องคิดบ่อยๆว่าร่างกายไม่เที่ยง จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ ถ้าเตือนไว้แล้วเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นมันก็จะไม่ทุกข์ มันเตรียมตัวรับกับเหตุการณ์ได้ มันซ้อมไว้ก่อน ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา พอใครมาทำอะไรมัน เราก็ไม่ต้องไปเดือดร้อนแทนมัน แล้วเวลาเห็นใครสวยเห็นใครหล่อ อยากจะได้เขา ก็มองเข้าไปข้างในมองเขาเป็นศพไป พอเห็นเป็นศพก็ไม่เอาแล้ว นี่คือการพิจารณากายในกาย

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





”การกระทำสำคัญที่สุด”
.
หนังสือมันก็อ่านได้ท่องจำได้
แต่ใจมันไม่ได้รู้อย่างถ่องแท้
ถึงจะรู้ว่าแก้ไขอย่างนั้นอย่างนี้จากตำรา ก็พูดได้
แต่หัวใจของเรา มันไม่ได้ขาดจากความลังเลสงสัยเลย
เพราะฉนั้น การกระทำมันจึงสำคัญที่สุด
เหมือนอาหาร ถ้าเราไม่กินก็เท่านั้นแหละ
ก็ไม่รู้จักรสชาติ ให้พากันตั้งใจปฏิบัตินะ
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
เทศน์เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๘ (ค่ำ)





...ถ้าเรามาฝึกนั่งสมาธิได้นี้
แสนจะสบาย นั่งเฉยๆ
ไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องมีเงิน
ไม่ต้องมีใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ต่อไปร่างกายแก่ ก็จะไม่เดือดร้อน

.
พวกที่ชอบเที่ยว
ชอบหาความสุขทางร่างกายนี้
เวลาร่างกายแก่จะเดือดร้อน
จะไปเที่ยวไม่ไหว
มีเงินก็ไปเที่ยวไม่ไหว

.
ร่างกายมันไม่สู้ ต้องแบกกระเป๋า
ต้องอะไร ขึ้นเครื่องเหนื่อยกัน
ต่อไปเราต้องแก่กันทุกคน
ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย
ตอนนั้นเราจะหาความสุขอย่างไร

.
แต่ถ้าเราทำสมาธิได้ ทำใจให้สงบได้
"เราหาความสุขได้ตลอดเวลา"
เวลาแก่เราก็หาได้
เพราะเราไม่ต้องใช้ร่างกาย
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็หาความสุขได้
"ทำใจให้สงบได้".
............................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 9/10/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





“สติ เป็นสิ่งสำคัญ”

..ศีล ๕ ก็ตาม ศีล ๘ ก็ตาม ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นเรื่องของสติตัวเดียวหมด ฝึกหัดให้มีสติ เพื่อจะมาควบคุมดูแลจิตใจอันเดียว ถ้าไม่มีสติ จิตใจมันไปเลย มันไม่อยู่ อย่างพวกมีสติบ้างห่าง ๆ อย่างพวกเป็นโรคประสาท พวกเป็นบ้าเป็นอะไร นาน ๆ จึงคิดได้ครั้งหนึ่ง แม้แต่เราห่าง ๆ จึงคิดได้ครั้งหนึ่ง ก็เรียกว่ามีสติ พอป้องกันไม่ให้เป็นบ้าเท่านั้นนะคน ๆ หนึ่งทุกวันนี้ ถ้ามีสติเต็มที่แล้ว ก็เป็นพระอริยะเจ้าเลย สติตัวเดียวนี้หละ คือความระลึกรู้ รู้ในกิจการทุกอย่าง ในปฏิกิริยาทุกอย่างซึ่งแสดงออก ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ท่านสอนให้ฝึกหัดสตินี้หละ จนเป็นมหาสติปักฐาน..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติธรรม






...สติ คือนายประตู...

..พูดถึงอารมณ์ คือในส่วนที่ละเอียด โดยมาก ทั้งของดี ทั้งของไม่ดี มักจะปล่อยเข้าไปในตัวของเรา แล้วเข้าถึงจิตไป จนทำให้จิตเดือดร้อนวุ่นวาย เกิดอิจฉาพยาบาท อาฆาต จองเวร เกิดเดือดร้อนวุ่นวายขึ้น ก็เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ผ่านเข้าไปหาใจ คือไม่มีประตู ปิดไว้ ปล่อยเข้าไปเลย มีอันใดมา ก็ส่งผ่านเข้าไปหาใจ ๆ ก็เดือดร้อนวุ่นวาย โดยไม่ได้ปิดประตู คือ ไม่มีสติ เรื่องสติ คือความระลึกรู้อันนี้ คล้าย ๆ กับนายประตู ถ้าหากสิ่งไม่พอควรรับ ก็ไม่รับ สิ่งควรรับ จึงค่อยเปิดรับ นี้ขอให้เราพินิจพิจารณาดูให้ดี..

..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..






"อาตมามีเมียมีลูกแล้ว จึงได้ลาครอบครัวออกบวช เพราะได้ลิ้มรสความรักแล้ว เห็นว่าความรักเป็นความทุกข์อันแสบเผ็ดร้ายกาจ เป็นพิษร้ายแก่ชีวิตจิตใจ ทำให้ทุรนทุรายดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น

ความสุขที่เกิดจากความรักความเสน่หา เป็นความสุขเหมือนได้กินส้มตำแสบเผ็ดเอร็ดอร่อย แต่ผสมยาพิษเข้าไปด้วยทำให้เกิดอาการอึดอัด ท้องไส้ปั่นป่วนทุกข์ทรมานในภายหลัง

คนเราใคร ๆ ก็ปรารถนาความสมหวังในชีวิตรัก แต่เมื่อรักกันอยู่ด้วยกันแล้ว ความรักไม่เคยให้ความสมปรารถนาแก่ใครถึงครึ่งหนึ่งแห่งความปรารถนาเลย เพราะความรักนั้นเป็นธาตุที่ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนมีสุขน้อยแต่มีทุกข์มาก"

หลวงปู่จันทา ถาวโร






...ก็คิดว่าได้มาแล้วจะมีความสุข ได้ร้อยได้พันได้หมื่น ก็คิดว่าได้มากกว่านั้นจะมีความสุข ได้แสนได้ล้านก็ยังไม่เจอ คิดว่าได้มากกว่านั้นจะมีความสุข เป็นร้อยล้านเป็นพันล้านคิดว่าจะมีความสุข ก็ยังไม่เจอ...
...แล้วทีนี้ ต่างคนต่างหา ต่างคนต่างหา ก็ไม่เจอความสุขกัน ผลออกมายังไง ความสับสนความวุ่นวาย ความไม่สงบเกิดขึ้น นี่คำว่าตัณหา ยิ่งหายิ่งตัน ยิ่งหายิ่งตัน มันตีบมันตันขึ้นในจิตในใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความสงบเท่านั้นทำให้เกิดสุข...

(คติธรรมคำสอน หลวงปู่แบน ธนากโร)





...อย่าไปคิดอะไรทั้งนั้น
ให้นั่งดูลม ให้พุทโธไป
ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้
ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง
ทั้งโลกนี้ ในขณะนี้ไม่มีอะไร
มีแต่..พุทโธ พุทโธ
เพียงคำเดียว
หรือมีแต่..
ลมหายใจเข้าออก
เพียงอย่างเดียว
ถ้าทำอย่างนี้ไปได้แล้ว
"เดี๋ยวจิตจะสงบ..จะมีความสุข"
.....................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 8/10/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





“ต้นเหตุใหญ่”

..คนเรานี้มีลาภสักการะใหญ่ท่านว่า ผู้ที่เอาอัตภาพมาเป็นมนุษย์สมบูรณ์บริบูรณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครบครันหมด นี้ก็เรียกว่าสมบูรณ์หมดแล้ว สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมะได้ทั้งนั้น ธรรมะไม่ได้อยู่บ้านอื่นเมืองอื่น มันอยู่ในตัวของเรานี้ สติก็อยู่นี้ ธรรมะทุกขั้นก็อยู่ในนี้หมด ใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ได้อยู่ที่อื่น นรก สวรรค์ ก็อยู่นี่ ตัวต้นเหตุใหญ่มันอยู่กับจิตใจ จะว่าโก้ ว่าเก๋ ว่าสวย ว่างาม ว่าทุกข์ ว่ายาก ก็เป็นเรื่องของใจทั้งนั้น..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติธรรม





หลวงปู่แหวน : "พากันลำบากลำบน มากันทำไม?"
คณะญาติโยม : "ต้องการมากราบบารมีของหลวงปู่"
หลวงปู่แหวน : "บารมี ต้องสร้างเอา เหมือนอยากให้มะม่วง
ของตนมีผลดก ก็ต้องหมั่นบำรุงรักษาเอา
ไม่ใช่แห่ไปชื่นชมต้นมะม่วงของคนอื่น
ต้องไปปลูก ไปบำรุงต้นมะม่วงของตนเอง
การสร้างบารมี ก็เช่นกัน ต้องสร้าง ต้องทำเอาเอง"
.
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ





การภาวนาที่ถูกต้อง
.
จะยืนก็เป็นคนภาวนา จะเดินก็เป็นคนภาวนา จะนั่งก็เป็นคนภาวนา จะนอนก็เป็นภาวนาน่ะ เราจะรู้ไหมว่าเราจะตายเวลาไหน? มันจะตายเมื่อเรานั่งหลับตาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไอ้กิเลสมันจะเข้ามาแต่เรานั่งหลับตาหรือ? ใครเคยโกรธไหมเมื่อเดินอยู่เคยโกรธไหม? นอนๆอยู่เคยโกรธไหม? เมื่อเดินไปเคยโกรธไหม? หรือมันโกรธอยู่เมื่อเรานั่งหลับตามันเข้ามาน่ะ อย่างนั้นถ้ามันเป็นเช่นนี้เราจะไปอาศัยแต่เมื่อเรานั่งหลับตาแล้วจะภาวนาได้อย่างไร?
.
ภาวนาก็คือว่ารู้ทั่วถึง รู้รอบคอบนั่นเองแหละเป็นต้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นผู้มีสติความระลึกได้ เป็นผู้มีสัมปชัญญะความรู้ตัว เป็นผู้มีปัญญาความรอบคอบในการยืนการเดินการนั่งการนอน สามารถจะมองเห็นความบกพร่องสมบูรณ์บริบูรณ์ด้านจิตใจตนอยู่ทุกเวลา นั่นเรียกว่าคนภาวนา
.
หลวงปู่ชา สุภัทโท
คัดจากหนังสือ โพธิญาณเถโรวาท "เข้าวัดทำไม? เพื่ออะไร?"





.....เดินก็ให้มีสติในการเดิน นั่งก็ให้มีสติในการนั่ง ยืนก็ให้มีสติในการยืน แม้แต่นอนก็ให้มีสติในการนอน เว้นไว้แต่หลับ
.....ขณะใดเรามีสติประจำใจประจำจิต ขณะนั้นเรียกว่า เราเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมอยู่

(คติธรรมคำสอน หลวงปู่ขาน ฐานวโร)






...การปฏิบัติธรรม ก็คือการปฏิบัติเรานี้เอง
การปฏิบัติตัวของเรานี่ละเรียกว่า การปฏิบัติธรรม
การรักษาเรานี้ละเรียกว่า เป็นการรักษาธรรม
การพิจารณาเรานี้ล่ะ เป็นการพิจารณาธรรม
การรู้เรานี้ล่ะเรียกว่า รู้ธรรม...

(คติธรรมคำสอน หลวงปู่ขาน ฐานวโร)





“ขันธโลก”

..เรื่องของกายไม่รู้เรื่องหรอก ไม่มีจิตไม่มีใจ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันไม่รู้จักว่าเจ็บ ว่าปวดอะไร เหมือนอย่างดินอยู่ในแผ่นดินเรานี้หละ เอาเสียมสับ เอาจอบสับเท่าไหร่ มันก็ไม่พูดอะไร น้ำก็เหมือนกัน เอามีดไปฟัน มันก็อยู่อย่างนั้น ไม่ร้องไม่ครางอะไร ลมก็อยู่อย่างนั้น ลมเบาลมแรง ไม่มีตัว มันก็มาชนต้นไม้ ชนบ้านชนเรือน หักล้มลงอยู่อย่างนั้น ตัวมันอยู่ไหน ไม่เห็นเลย มันมายังไง ไฟก็ความร้อนมีอยู่กับตัวเรา อยู่ไหนก็มีเหมือนกัน แล้วใจตัวนี้ ดึงธาตุทั้งหลายแหล่ มารวมกัน มาคุมอยู่นี้ว่าตัวเป็นเจ้าของเอง จึงใหญ่ในขันธโลกอันนี้ ว่าโลกขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ธรรมะพระพุทธองค์ ท่านก็ตำหนิไว้ไม่หยุด ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่อย่างนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่อย่างนั้น คำว่า ไม่เที่ยง ก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องของเขา ถ้าทุกข์ มันก็ทุกข์กับเขาอยู่อย่างนั้นหละ ว่าไม่ใช่ตัวเองเท่าไหร่ ก็ยังห่วงกับเขาอยู่อย่างนั้น..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติธรรม






ลูกศิษย์ : การทำบุญกฐิน กับทำบุญสังฆทาน อย่างไหนได้บุญมากกว่ากัน?

หลวงปู่ผาง : บุญกฐิน ถ้ามีความสมบูรณ์ก็ได้บุญเยอะ แต่กฐินที่สมบูรณ์นั้น มีพิธีการยุ่งยาก เพราะต้องทำการ “กรานกฐิน” คือนำผ้าบังสุกุลมา กะ วัด ตัด เย็บ และย้อมสีผ้าจีวรนั้น ตากให้แห้ง ทุกอย่างต้องทำให้เสร็จใน ๑ ทิวา เท่านั้น และต้องทำโดยพระภิกษุสงฆ์ ให้คนอื่นทำให้ก็ไม่ได้ และต้องให้คณะสงฆ์พิจารณาว่า จะมอบจีวรนั้นให้แก่ภิกษุรูปใด ภิกษุที่ได้รับผ้าจีวรนั้น ก็จะต้องสละผ้าผืนเก่าออก แล้วนำผ้าผืนใหม่มาพินทุ ถือเอาเป็นของตนเอง พระภิกษุเหล่านั้นจะกล่าวคำ สาธุอนุโมทนา

ปัจจุบันใช้ผ้าจีวรสำเร็จรูป ไม่ได้ตัดเย็บ หรือย้อมเอง จึงถือว่าไม่ค่อยสมบูรณ์นัก อีกอย่าง การฉลองกฐิน มีการจัดงานใหญ่โต มีการฆ่าสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ เลี้ยงสุรา อาหาร ทำให้เกิดการทะเลาะกัน โต้เถียงกัน จึงไม่บริสุทธิ์ ถือว่าเป็น “กฐินบูด”

การถวายผ้าบังสุกุลประเสริฐที่สุด แม้จะเป็นของเล็กก็ได้บุญมาก เพราะทำด้วยใจบริสุทธิ์ หลวงปู่มั่นท่านไม่รับกฐิน เวลาญาติโยมมา ท่านจะถามว่า มาทำอะไร ถ้ามาทำบุญ ก็จะให้พรเลย ท่านนิยมรับผ้าบังสุกุล

ลูกศิษย์ : ถ้าวัดไหนไม่ได้รับกฐิน พระภิกษุวัดนั้น ก็ไม่ได้รับอานิสงฆ์ของ “กรานกฐิน” ใช่หรือไม่?

หลวงปู่ผาง : ไม่เป็นไร เพราะท่านก็รักษาศีล ก็ได้อานิสงฆ์ของผลที่ทำอยู่แล้ว

หลวงปู่ผาง ปริปุณโณ
วัดประสิทธิธรรม อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี






ถาม : พระภิกษุ ควรติดตามข่าวสารทางโลกหรือไม่

พระอาจารย์ : นักบวชจริงๆไม่ควรรับรู้อะไรเลย ต้องปิดทวารทั้ง๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย

สมัยอยู่วัดป่าบ้านตาด ท่านไม่ให้ดูหนังสือพิมพ์ ไม่ให้ฟังวิทยุ ไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับใครทั้งนั้น ให้ปิดทั้งหมด แม้แต่กิจนิมนต์ยังไม่ให้ออกไปเลย ไม่ให้ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ให้ดึงใจเข้าข้างในอย่างเดียว

ถ้าอยากจะบรรลุธรรมต้องดึงใจเข้าข้างใน ถ้าเปิดทวาร ใจมันก็จะส่งออก ท่านจึงให้ปิดทวารทั้ง๕ แล้วก็มาปิดทวารที่๖ ด้วย "สติ" ทวารที่๖ ก็คือ "ความคิด" ส่วน ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือทวารทั้ง๕ กิเลสมันจะออกไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ "ใจ" ก็คือ "ความคิด" ปิดทวารด้วยการอยู่ในที่ไม่มีการรับรู้เรื่องราวต่างๆ แล้วก็ใช้ "สติหยุดความคิด" ถ้าหยุดความคิด ใจก็จะเข้าข้างใน ใจก็จะสงบ แล้วใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ธรรมะบนเขา ณ จุลศาลา เขตปฏิบัติธรรมเขาชีโอน
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี
วันที่ 24 สิงหาคม 2559






ผู้ปฏิบัติธรรมต้องทำดุจผ้าขี้ริ้วซึ่งไม่มีราคา
ใครจะเช็ดเท้าหรือเหยียบย่ำไปด้วยดินโคลนของโสโครกหรือสะอาดอันใด
ก็ไม่มีความรังเกียจหรือยินดียินร้าย ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา
ซึ่งทรงลดทิฐิมานะของพระองค์ในการเป็นพระราชโอรส
ของกษัตริย์ขัตติยราชชาติสกุล ลงมาเป็นนักบวชอย่างคนธรรมดาสามัญ
ถือบิณฑบาตเที่ยวเดินไปตามหมู่บ้านชนบทน้อยใหญ่
โดยมิได้ทรงคำนึงว่าอาหารที่ได้มานั้นจะเป็นของดีเลวหยาบหรือประณีตประการใด
พระองค์ก็ทรงรับไว้และบริโภคได้ทั้งสิ้น ฉันใดก็ดี ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย
ก็ควรจะต้องดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์
พยายามปลดปล่อยละวางทิฐิมานะ ถือตัวถือตน
ความโอ้อวดในคุณธรรม ความรู้ความฉลาดและชาติสกุลของตน ๆ
ว่าเราเป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสิกา เราเป็นคนดี คนวิเศษกว่าคนนั้นคนนี้
เราจะต้องทำตัวให้มีความรู้สึกดุจผ้าขี้ริ้วหรือพรมเช็ดเท้า
ยอมรับความดีความชั่วทั้งหลายได้โดยดุษณีภาพ หรือโดยชื่นตาชื่นใจ
ถ้าหากเราไม่ยอมลดทิฐิมานะของตนลงต่อเหตุการณ์ของโลกเหล่านี้ได้แล้ว
เราก็ไม่สามารถที่จะก้มหัวลงสู่ข้อปฏิบัติได้อย่างเต็มใจ

..............................................................................

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
บันทึกธรรมของท่านอาจารย์ที่แสดง
ณ วัดอโศการาม เมื่อวันที่ ๒๐–๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒
(แม่ชีมธุรปาณิกา บันทึก)






“ โอวาทธรรม”

หลวงพ่อ: มาจากวัดมาบจันทร์เหรอ บวชกันนานหรือยัง ก็นั่งกันตามสบาย ใครเป็นหัวหน้า ท่านเหรอ

พระ : แปดพรรษาครับ

หลวงพ่อ : แล้วที่เหลือมีกี่พรรษาบ้างล่ะ

พระ : สี่พรรษา สามพรรษา ที่เหลือเป็นนวกะครับผม

หลวงพ่อ : จะสึกกันหรือเปล่าหรือจะอยู่กันต่อ สึกเหรอ อ๋อมาชิมรสแห่งธรรมก่อน รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ถ้าชิมแล้วถูกใจก็อาจจะอยู่ต่อถ้าชิมยังไม่ถูกใจก็แสดงว่ายังไม่ได้ผล ปฏิบัติยังไม่ได้ผลถ้าปฏิบัติได้ผลถ้าจิตสงบเมื่อไหร่นี้จะติดใจทันที แล้วจะไม่อยากสึก อยากจะอยู่ต่อไป เพราะว่าออกไปแล้วมันวุ่นวาย ออกไปแล้วต้องดิ้นรนต่อสู้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทำมาหากิน หาอะไรต่างๆมาให้ความสุข แต่ถ้าอยู่ บวชแล้วนั่งสมาธิทำใจให้สงบได้ ก็ไม่ต้องไปหาความสุขอย่างอื่น ความสุขจากความสงบนี้ เป็นความสุขที่ดีที่สุด และง่ายที่สุด ไม่ยุ่งยากเหมือนกับความสุขทางร่างกาย ความสุขทางร่างกาย ต้องมีร่างกายต้องมีรูปเสียงกลิ่นรสมาให้ร่างกายสัมผัสรับรู้ ต้องมีเงินมีทองเพื่อที่จะได้ไปหาสิ่งต่างๆมา ก็ต้องดิ้นรนกันก็ต้องไปหากันแทบเป็นแทบตาย หามาได้ก็เดี๋ยวเดียวก็หมดไปแล้ว ได้ความสุขเดี๋ยวเดียวก็หมดไป แล้วก็ต้องไปหาใหม่ แล้วต่อไปร่างกายก็หาไม่ไหว ร่างกายก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ แล้วก็ต้องตาย ตอนนั้นก็หาความสุขไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ แต่ถ้าหาความสุขทางใจได้ ก็ไม่ต้องใช้ร่างกายร่างกายแก่ร่างกายเจ็บร่างกายตายก็ไม่เดือดร้อน ฉะนั้นพยายาม นักบวชเรานี้ต้องการมาหาความสุขทางใจ หาความสงบกัน เพราะสุขอื่นที่เหนือกว่าความสงบไม่มี นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง ถ้าได้พบกับความสุขที่เกิดจากความสงบแล้ว ก็จะสละความสุขทางลาภยศสรรเสริญ ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไปได้ ก็จะอยู่ในผ้าเหลืองได้ ไม่ต้องไปเป็นฆราวาส ไปทำมาหากิน

ฉะนั้นถ้าออกไปก็อย่าทิ้งวิธีปฏิบัตินะ พยายามฝึกนั่งสมาธิไปเรื่อยๆ ฝึกสติบ่อยๆ แล้ววันดีคืนดีอาจจะได้ความสงบ แล้วก็อาจจะได้กลับมาบวชใหม่ มีอะไรอยากจะถามไหม หรือวันนี้ได้ฟังพอแล้วพอดีมีญาติโยมมาเลยไม่สะดวกให้เข้ามาก่อน วันนี้เลยได้นั่งฟังเทศน์ไปก่อนนะเพราะว่าที่มันแคบแล้วก็คนละเรื่องกัน เรื่องพระกับเรื่องโยมมันคนละเรื่องกัน จะมาปนกันมันก็ยุ่งยากเกี่ยวกับพระวินัยด้วยอะไรด้วยนะ

พระ : เรียนพยายามเนสัชชิกนะครับ พอในช่วงเดือนแรกๆก็จะเหมือนกับมีกำลังพอเริ่มนานๆมันเริ่มลามันก็จะ

หลวงพ่อ : เรียนอุบายใหม่ๆก็ได้สลับกัน มันอาจจะชินแล้วมันเบื่อก็ได้ ลองไปเปลี่ยนเป็นอดอาหารดูบ้างก็ได้ หรือพักเสียบ้าง เนสัชชิกสักพักแล้วก็หยุด แล้วก็กลับมาอยู่ปฏิบัติตามปกติดู เขาไม่ได้ให้ปฏิบัติไปตลอด เขาให้จัดเป็นช่วงๆ ทีละสามวันห้าวัน เจ็ดวันอย่างนี้ สลับกันไปสลับกันมา แล้วก็ดูว่ามันได้ผลดีไหม ถ้าไม่ได้ผลดีก็อาจจะไม่ถูกกับเรา เคยอาจจะลองมาเปลี่ยนเรื่องการอดอาหารดูหรือถ้ามีโอกาสไปอยู่คนเดียว ไปอยู่ที่เปลี่ยวๆที่น่ากลัวดู นี่มันมีอุบายหลายอย่างด้วยกัน ที่เราอาจจะต้องสลับผลัดเปลี่ยนดู
เพราะว่ากิเลสพอมันชินแล้วมันก็ด้านแล้ว เราก็เลยต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ มันรู้ทันแล้วมันไม่กลัวแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนอุบายใหม่หาวิธีใหม่นะ

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การเจริญสติ ต้องสติดีตลอดเวลา พยายามฝึกสติตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นขึ้นมานี้เรามีพุทโธหรือมีสติดูอาการเคลื่อนไหวของร่างกายทันทีเลย ว่าร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ ต้องอยู่กับมัน อย่าปล่อยให้มันไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าเรามีสติเวลานั่งสมาธิมันจะสงบได้ง่าย และพอมันสงบแล้ว มันจะมีพลัง มันจะมีกำลังสู้กับกิเลส สู้กับความอยากต่างๆได้ ถ้าไม่มีแล้ว กิเลสมันรุมเร้าหมด เดี๋ยวใจก็รุ่มร้อนขึ้นมา ฟุ้งซ่านขึ้นมา ดิ้นรนอยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากไปโน่นอยากมานี่ อยากมากๆเดี๋ยวก็ลาสิกขา ฉะนั้นสตินี้สำคัญที่สุด เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระพุทธเจ้าทรงตรัส ยิ่งใหญ่เหมือนกับรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างนี่เป็นรอยเท้าที่ใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์ทั้งหมดในป่า ไม่ว่าสัตว์ชนิดไหนนนี้รอยเท้าช้างครอบได้หมดเลย ธรรมทั้งหลายก็เหมือนกัน ธรรมทั้งหลายจะมีความสำคัญขนาดไหน ก็สู้ความสำคัญของสติไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีสติ ธรรมอย่างอื่นก็เกิดไม่ได้ สมาธิก็เกิดไม่ได้ ปัญญาก็เกิดไม่ได้วิมุตติหลุดพ้นก็เกิดไม่ได้ ฉะนั้นพยายามฝึกสติให้มากๆ เจริญสติให้มากๆก่อนแล้ว ก็นั่งสมาธิให้จิตรวมเป็นหนึ่ง เป็นอัปนาสมาธิให้ได้ พอได้รวมแล้วทีนี้ก็ ออกจากสมาธิมาก็ให้มาพิจารณาทางปัญญา พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาร่างกายก่อน ร่างกายไม่เที่ยงเกิดแก่เจ็บตาย ร่างกายไม่สวยไม่งามเป็นอสุภะ มีอาการ 32 ตายไปก็กลายเป็นซากศพ ดูทุกสัดทุกส่วน ทุกรูปแบบของร่างกาย เราจะได้ไม่หลง ไปหลงใหลคลั่งไคล้ เรากำลังบ้ากับศพกัน นี่เห็นไหมร่างกายทุกร่างกายต่อไปมันก็กลายเป็นศพกันทั้งนั้น ผัวเมียจะรักกันขนาดไหน พอตายไปนี้ก็ไม่เก็บเอาไว้ในบ้านแล้ว ใช่ไหม ยกให้สัปเหร่อแล้ว ส่งไปวัดแล้ว ฉะนั้นถ้าอยากจะกำจัดความกำหนัดยินดีในร่างกาย ก็ต้องหมั่นคิดถึงว่ามันเป็นซากศพ สมมติซิว่ามันเป็นศพเมื่อไหร่นี้ เรายังอยากจะอยู่กับมันหรือเปล่าพิจารณาว่าไม่มีตัวตน ดินน้ำลมไฟ ทำมาจากดินน้ำลมไฟร่างกายตายไปมันก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ปล่อยวาง และก็เวทนาก็พิจารณาว่า มันไม่เที่ยง เราควบคุมบังคับมันไม่ได้ เป็นอนัตตา มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มีสุขมีทุกข์ มีไม่สุขมีไม่ทุกข์ ถ้าเราไปอยากให้มันสุขเราก็จะเดือดร้อนเวลามันไม่สุข ถ้าเราอยากให้ทุกข์หายไป เวลามันไม่หายไปเราก็จะเดือดร้อน ฉะนั้นเราต้องรู้ว่าเราไปควบคุมบังคับมันไม่ได้ เราต้องหัดอยู่กับมัน มันสุขก็ปล่อยให้มันสุขไป มันทุกข์ก็ปล่อยมันทุกข์ ไปอย่าไปเปลี่ยนมัน ปล่อยมันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน แล้วใจเราจะไม่ทุกข์ ถ้าใจเราไปเปลี่ยนมันแล้วเปลี่ยนไม่ได้มันจะทำให้เราทุกข์

นี่คือธรรมะ ปัญญาที่เราจะต้องมาสอนใจหลังจากที่เราได้สมาธิแล้ว แล้วต่อไปเราก็จะปล่อยวางร่างกายได้ ปล่อยวางความเจ็บได้ ปล่อยวางความแก่ได้ ไม่เดือดร้อนกับความแก่เจ็บตายของร่างกาย เอ้าวันนี้ก็เย็นแล้ว เอาแค่นี้ก่อนดีไหม ถ้าเปลี่ยนใจได้ก็เปลี่ยนใจนะพวกที่จะสึก ลองต่อสักพรรษาหนึ่งซิ (ยิ้ม)

สนทนาอบรมพระ ธรรมะบนเขา

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







" มื้อนี่พวกเฮามาที่นี่ก็มาอบรมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งพวกเฮาพากันนับถือแต่บรรพบุรุษ แต่พ่อแต่แม่ อายุของพระพุทธศาสนา ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว ด้วยความที่คนนับถือเขาก็ขึ้นชื่อลือชาว่าเมืองไทยนี้พุทธศาสนาเจริญ ศาสนาเจริญมันบ่แม่นเจริญด้านวัตถุต้องเจริญด้านจิตใจ จิตใจที่แสดงออกว่าเป็นศีลเป็นธรรม จังสิว่าศาสนาเจริญ บัดนี้พวกเฮาต้องการความเจริญทุกคน เพิ่นก็ว่า..

"ผู้ใดชังธรรม ผู้นั้นเป็นคนเสื่อม ผู้ใดรักธรรมผู้นั้นมีความเจริญ "

ให้พวกเฮาพยายามรักษาธรรมไว้เด้อ เพราะธรรมนี้เป็นของดีตั้งแต่ไหนแต่ไรมา พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาหลายพระองค์แล้วก็สอนความเดียวกัน ใครไปถึงหรือไปรู้ธรรมมีแต่ดี บ่มีเลวไปบ่กลับ เรียกว่าถึงพระนิพพาน บ่ว่าแต่ก่อนหรือปัจจุบันหรืออนาคต เป็นธรรมดวงนี้ที่พวกเราได้ยินได้ฟังอยู่นี้ แต่ธรรมว่าเพิ่นตรัสรู้ก่อนมรณภาพหรือตายไปก่อน เพิ่นก็บ่ได้เอาไป ธรรมนี้ยังอยู่นำพวกเฮาด้วยกันทุกคนเพราะธรรมเกิดก่อน ธรรมเป็นของเก่าแต่ไหนมา เพิ่นเว่าหรือสอนพวกเฮา เพิ่นสอนของที่มีอยู่ "

____________________

หลวงปู่บุญมี ปริปุญโณ
ตอบกระทู้