Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

บำรุงเหตุให้เต็มที่

พุธ 18 ต.ค. 2017 5:18 am

“บำรุงเหตุให้เต็มที่”
..หลักการ วิธีการในด้านธรรมะ พระพุทธองค์ท่านมอบไว้เป็นมรดกตกทอด มาถึงพวกเรา ท่านไม่ได้เอาไปด้วยสักอักขระ สักอักษรหรอก มอบไว้กับโลกนี้หมด เพื่อให้บรรดาสัตว์โลกทั้งหลายแหล่ ประพฤติปฏิบัติให้ได้รู้ได้เห็น หูจะแจ้ง ตาก็จะแจ้ง ก็จะได้รู้ได้เห็นเกิดความสลดสังเวช หาทางหนีไปสู่ความบริสุทธิ์อย่างท่านพาไป พระพุทธเจ้า พระอริยะเจ้า อันนี้ท่านพูดอย่างนั้น ไม่ใช่ไปได้แต่ท่านนะ เราก็ไปได้เหมือนกัน ว่าแต่มีการประพฤติปฏิบัติ บำรุงเหตุให้ได้อย่างเต็มที่เหมือนท่าน..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง วันอาสาฬหบูชา





“ความสุขเพียงชั่วคราว”

ถ้าเรายังหาความสุขจากลาภยศสรรเสริญ จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่ เวลาที่ร่างกายนี้ตายไปแล้ว เราก็ยังจะต้องกลับมามีร่างกายอันใหม่ เหมือนกับตอนที่เรามีร่างกายกันตอนนี้ ก่อนที่เราจะได้ร่างกายอันนี้มา เราก็มีร่างกายอีกร่างหนึ่งในอดีตชาติ แต่เราจำไม่ได้เราไม่รู้กัน เราเคยมีร่างกายแบบนี้มาก่อนไม่ใช่ร่างเดียว มีเป็นแสนล้านร่าง มีมาตลอดเวลา เพราะเราต้องมีร่างกายนี้ เพราะเรายังอยากได้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะกัน เรายังอยากได้ลาภยศสรรเสริญกัน พอร่างกายตายไปก็ไปหาร่างกายอันใหม่มาทำหน้าที่ต่อ เพราะความอยากมันไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ความอยากมันอยู่กับใจ ใจก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ใจนี่แหละเป็นผู้ที่แสวงหาความสุขต่างๆ ไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายเป็นเพียงผู้ทำเป็นผู้รับใช้คำสั่งของใจ ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ใจสั่งให้ร่างกายมาหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย พอร่างกายตายไปก็ต้องหาร่างกายอันใหม่ ก็จะได้มีตาหูจมูกลิ้นกายอันใหม่เพื่อที่จะได้มาหาความสุขอันใหม่

แต่การมีร่างกายนอกจากมีได้ความสุขแล้ว มันก็ได้ความทุกข์อันมหันต์เช่นเดียวกัน ทุกข์ ตอนที่เกิดมานี้ก็ทุกข์แล้ว ทุกข์เพราะต้องดิ้นรนเลี้ยงชีพ ต้องหาอาหารหาน้ำหาอากาศมาเลี้ยงชีพ และนอกจากนั้นยังต้องต่อสู้กับภัยต่างๆ ทั้งภัยธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ภัยจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือสัตว์เดรัจฉานด้วยกัน ถ้าพลาดเผลอหรือว่าโชคไม่ดีก็อาจจะถูกเขาฆ่าตายได้ ต้องคอยหลบคอยระวังอยู่ตลอดเวลาและยังต้องมาเจอกับความแก่ที่หลบยังไงก็หลบไม่ได้ เจอกับความเจ็บไข้ได้ป่วยที่หลบไม่ได้ เจอกับความตายที่หลบไม่ได้ เวลาเจอกับสิ่งเหล่านี้มันเป็นความสุขหรือเป็นความทุกข์ มันเป็นความทุกข์ แต่มันก็ไม่เข็ดกัน พอร่างกายตายไปความอยากมันก็จะหลอกให้ใจมาหาร่างกายอันใหม่

อันนี้เป็นภารกิจของกิเลสตันหาที่จะคอยหลอกใจให้มาทุกข์กับร่างกายอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมาเองก็เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง เห็นว่าเกิดนี้มันเป็นทุกข์ เห็นว่าแก่เจ็บตายนี้มันเป็นทุกข์ ฉะนั้นต้องหยุดการเกิดแก่เจ็บตายให้ได้ และการจะหยุดการเกิดแก่เจ็บตายให้ได้ก็ต้องค้นหาสาเหตุว่ามันมาจากอะไร พระพุทธเจ้าก็ทรงค้นพบสาเหตุว่ามันมาจากตันหาทั้ง ๓ ก็คือ
...กามตัณหา ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
...ภวตัณหา ความอยากได้ลาภยศสรรเสริญ ความอยากได้ร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ เรียกว่าภวตัณหา
...วิภวตัณหาคืออะไร ก็คือความอยากให้ลาภยศสรรเสริญกับร่างกายนี้ไม่เสื่อมไม่เสียไม่หมด ให้อยู่กับใจไปตลอด

แต่ความอยากเหล่านี้มันก็ให้ความสุขเพียงชั่วคราว เพราะเวลาอยากแล้วไม่ได้นี้มันก็จะกลายเป็นความทุกข์ไป เวลาอยากได้รูปเสียงกลิ่นรสแล้วไม่ได้รูปเสียงกลิ่นรส เวลานั้นก็กลายเป็นความทุกข์ไป เช่นเวลาอยากไปเที่ยวแล้วไม่ได้ไปเที่ยว อยากซื้อของอยากได้ของชิ้นนั้นชิ้นนี้แล้วไม่ได้ก็เสียใจ หรือถ้าได้มาแล้วเดี๋ยวเวลาหายไปหรือหมดไปก็เสียใจอีก เพราะของทุกอย่างมันไม่เที่ยง ห้ามมันไม่ได้สั่งมันไม่ได้ ท่านถึงสอนให้เราพยายามใช้ปัญญามองให้เห็นว่า การเกิดแก่เจ็บตายนี้มันเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะว่าร่างกายมันไม่เที่ยง การหาลาภยศสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายมันก็ไม่เที่ยง มันเป็นความสุขชั่วคราว ได้มาแล้วเดี๋ยวมันก็ต้องหมดไป พระพุทธเจ้าเป็นคนแรกที่ได้ปัญญาอันนี้ แล้วก็ได้ทรงค้นพบว่าสาเหตุที่ทำให้กลับมาเกิดอยู่เรื่อยๆ ก็คือความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี้เอง พระพุทธเจ้าก็เลยหยุดมัน หยุดด้วยการทำทาน มีสมบัติ มีพระราชสมบัติมี ปราสาทสามฤดู มีภรรยา มีบุตร มีราชโอรส ก็สละไปทิ้งไว้ในวัง แล้วพระองค์ก็เสด็จออกจากพระราชวังไป ไปอยู่ตามป่าตามเขา ไปรักษาศีล ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ รักษาศีลของนักบวช คือไม่ทำกิจกรรมทางตาหูจมูกลิ้นกายอีกต่อไป.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๐

“ฝึกจิตให้อยู่กับความว่างเปล่า”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





พระอาจารย์เดช เตชวัณโณ (เดช ผาเด็ง)

สำนักสงฆ์ผาเด็ง ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่..

พระอาจารย์เดช เตชวัณโณ ท่านเป็นคนบ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยกำเนิด..

พระอาจารย์เดชท่านเป็นหลานของ " เสือเกตุ โคกมน " (หลวงปู่เกตุ สำนักสงฆ์ภูมะโรง อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ)..

ซึ่งหลวงปู่เกตุนั้นท่านมีศักดิ์เป็นหลานชายของหลวงปู่ชอบทางฝ่ายโยมมารดาขององค์ท่าน..

พระอาจารย์เดช เตชวัณโณ ท่านจึงมีศักดิ์เป็น “ เหลน ” ขององค์ท่านหลวงปู่ชอบ ฐานสโม โดยสายเลือด..

ท้าวความถึงอดีต หลวงปู่เกตุภูมะโรง ท่านถูก องค์ท่านหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ผู้เป็นลุงทรมานทิฐินักเลงเสือร้ายโดยให้บวชปฏิบัติเป็นตาผ้าขาวถือศีลแปดนานเกือบสิบปีจนหลวงปู่เกตุท่านภาวนาได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันแล้วองค์ท่านหลวงปู่ชอบจึงอนุญาตให้บวช..

โดยหลวงปู่ชอบท่านได้นำ “ ตาผ้าขาวเกตุ ” หลานชายขององค์ท่านไปมอบให้กับ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ ภูทอก เป็นผู้พาไปอุปสมบทเมื่อปี ๒๕๑๗..

พระอาจารย์เดช เตชวัณโณ ท่านเป็นคนนิสัยสมถะพูดน้อย มีจิตใจเอื้อเฟื้อหมู่คณะในทางธรรม ท่านจะไม่ค่อยชอบยุ่งเกี่ยวอะไรกับใครมากมักปฏิบัติตนแบบเงียบๆซ่อนเร้นตัวตนคล้ายกันกับอดีตของ ท่านพระอาจารย์สมศรี อัตตสิริ และ “ หลวงพ่อยางผาแด่น ” หลวงพ่อคำผอง กุสลธโร ผู้เป็นครูบาอาจารย์รุ่นพี่ พี่ชายธรรม..

องค์ท่านหลวงปู่ชอบจึงมอบพระอาจารย์เดชให้ หลวงพ่อคำผอง กุสลธโร นำขึ้นไปฝึกฝนเป็นพญาช้างป่าต่อจากองค์ท่านที่บ้านกระเหรี่ยงผาแด่น จังหวัดเชียงใหม่..

พระอาจารย์เดช เตชวัณโณ ท่านเป็นสายเลือดที่เกิดจากอกใจในธรรมของ องค์ท่านหลวงปู่ชอบ ฐานสโม โดยตรง..

แต่ท่านไปเติบใหญ่ได้ดีเพราะน้ำท่าค่าน้ำนมธรรมของ หลวงพ่อคำผอง กุสลธโร บ้านกระเหรี่ยงผาแด่น จังหวัดเชียงใหม่..

นอกจาก องค์ท่านหลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นผู้ปลูกฝังนิสัยทางธรรมให้แล้ว พระอาจารย์เดชท่านยังได้รับการฝึกฝนจากครูบาอาจารย์รุ่นพี่หลายท่าน อาทิเช่น หลวงพ่อบัวคำ มหาวีโร หลวงพ่อคำผอง กุสลธโร หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร พระอาจารย์จันทร์เรียน คุณวโร พระอาจารย์ขันตี ญาณวโร พระอาจารย์ผจญ อสโม พระอาจารย์สมศรี อัตตสิริ..

และครูบาอาจารย์ท่านผู้เป็นพี่ชายใหญ่ในธรรม " ช้างเผือกผาแด่น " หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ร่วมกันฝึกฝนให้กับท่าน พระอาจารย์เดช เตชวัณโณ..

ซึ่งครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านได้ฝึกฝนอบรมธรรมให้กับ พระอาจารย์เดช เตชวัณโณ มานี้ไม่มีครูบาอาจารย์ท่านใดปฏิเสธในความเป็น “ เดช ผาเด็ง ”..

ผู้เป็นสายเลือดในทายาทธรรมของ องค์ท่านหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ผู้นี้..






"มีดพร้า ที่วางไว้นอกกายของเรา
เป็นอย่างหนึ่ง ที่เหน็บพกไว้ เป็นอย่างหนึ่ง
และที่ถือไว้ กับมือเรา เป็นอีกอย่างหนึ่ง

เวลาจะนำออกมาใช้ ให้ทันท่วงที
มีดที่วางไว้นอกกาย ย่อมนำมาใช้ช้ามาก
ที่เหน็บพก ก็เร็วขึ้นบ้าง ส่วนมีดที่เราถือไว้ในมือ
ย่อมใช้ได้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ธรรม ที่เราเรียนมา อย่างหนึ่ง
ธรรม ที่ได้จากการศึกษาอบรม
กับอาจารย์อย่างหนึ่ง
และธรรม ที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา
ซึ่งเนื่องจากอบรม กับครูอาจารย์นี้
เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน

ธรรม ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนมา
โดยที่ไม่ได้อบรมทางด้านจิตใจเลย
เช่นเดียวกับ มีดที่วางไว้นอกกาย

ธรรมที่จำมา ได้จากการอบรมสั่งสอน
ของครูอาจารย์ ว่าท่านสอนอย่างไร
เช่นเดียวกับ มีดที่เหน็บไว้ในพก

ส่วนธรรม ที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติ
ซึ่งเนื่องมาจากอุบาย ที่ได้จากอาจารย์
เป็นผลประจักษ์ขึ้นกับใจ เช่นเดียวกับ
มีดที่ถือไว้ในมือ

และธรรมส่วนนี้แล จะเป็นเครื่องรักษา
ความปลอดภัยให้แก่เรา ได้มากกว่า
ธรรมทั้งสองประเภทนั้น"

-:- หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน -:-






"อภัยทาน" เป็นทานอันสูงส่ง
เมื่อผู้อื่นล่วงเกิน เราต้องเตรียมใจ
ให้อภัยแก่เขาที่ไม่รู้

คนไม่รู้เขาก็ทำคิด ไปตามความไม่รู้
ของคนไม่ได้ปฏิบัติบูชาภาวนา

ใจเราผู้ภาวนา ต้องให้อภัย
ไม่ต้องไปทำความเดือดร้อนต่อกันไปอีก
เรียกว่า "อโหสิกรรม"

-:- หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร -:-





จำไว้นะ..ถ้าไม่มีใครคบจงเลือกเดินคนเดียว

ถ้าหาคนมีศีลเสมอกันหรือสูงกว่าเดินไปด้วยกันไม่ได้ พระพุทธองค์ทรงให้เลือกเดินไปคนเดียว เพราะเลือกคบคนอย่างไร เราก็จะเป็นอย่างนั้น

ถ้าคบคนพาล คนโกง หลงกามคุณ ถ้าสติเราไม่พอ อีกไม่นาน เราก็จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

#ถ้าไม่มีคนมีศีลธรรมรอบตัวเลยจงเลือกเดินคนเดียวและมีสติเป็นเพื่อน

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน





คำว่า พุทโธ นี้ ผีเกรงกลัวที่สุด เพราะอานุภาพของ พุทโธ และจิตที่เป็นสมาธิ พวกภูติผีต่างๆ จึงไม่อาจทำอันตรายใดๆ แก่เราได้ และเมื่อเราแผ่เมตตาให้ พวกนั้นก็น้อมรับในส่วนบุญ กลายเป็นมิตรไปกับเราเสียอีก

ถ้าหากท่านผู้ใดกลัวผีก็ขอให้ภาวนา พุทโธ พุทโธ จนจิตเป็นสมาธิ ความกลัวจักหายไปเอง

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
ตอบกระทู้