Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

กายดี วาจาดี ใจดี

อังคาร 31 ต.ค. 2017 5:36 am

"กายดี วาจาดี ใจดี
กะเป็นบุญ ใจขุ่นกะเป็นบาป
ธรรมะกะอยู่นำโตเฮานี้หละ
ตู้พระไตรปิฎกใหญ่
กะอยู่นำโตเฮานี้หล่ะ แห่งมีศีลพร้อม
แห่งประเสริฐยิ่งกว่าคนในโลกเด้อ"
-:- หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต -:-




"คนอื่นเขาจะเป็นอย่างไร ก็ช่างเขา
เขาจะเป็นคนดี หรือคนไม่ดี เห็นแก่ตัว
ก็ช่างเขา
เราอย่าไปรับ เอามาใส่ใจของเรา
คนเราส่วนใหญ่ มีทุกข์ เพราะว่า
ไปรับเอาสิ่งภายนอกมาให้ตัวเองเป็นทุกข์"
-:- หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม -:-



"คนเรานั้น มารัก มาหลง มาติด
มาเห็นว่าสวย มาเห็นว่างาม
จนเกิดฉันทะ ราคะนั้น
เห็นอยู่ที่ผิวหนังเท่านั้น
ถ้าลอกผิวหนังออก ลองพิจารณา
ใคร่ครวญ ดูสิ่งที่เรารัก เราหลง
สิ่งที่เราเห็นกันว่าสวย ว่างามนั้น
มันอยู่ตรงไหน
ลอกส่วนที่มันปกปิดความจริง
ซึ่งมีเพียงนิดเดียว แต่ปัญญาเรา
มองผ่านทะลุเข้าไปไม่ได้
ส่วนใหญ่ เหลือเป็นอย่างไร
น่ารักไหม น่าหลงไหม
สวยงามไหม ให้เปล่าๆ เอาไหม
แถมกระดาษราคาเท่านั้น เท่านี้
ให้อีกเอาไหม
ถึงกับจ้างแล้ว ยังไม่มีใครเอา
ก็แสดงว่า มันไม่ใช่ของที่น่ารัก
น่าหลง ของสวย ของงาม
อย่างที่เราเข้าใจ
ถ้าเห็นความจริง เป็นความจริง
ใครล่ะ! จะปฏิเสธ"
-:- หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ -:-



เรื่อง...คนจะตายต้องเห็นนิมิตก่อน
๑. เวลาก่อนจะตาย ถ้าเห็นไฟ กองไฟหรือดวงไฟ
แสดงว่าคนนั้นตรงไปนรกทันที ไม่ผ่านสำนักพระยายม
๒. ถ้าเห็นป่า จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
๓. ถ้าเห็นก้อนเนื้อ จะเกิดเป็นคน
๔. ถ้าเห็นสิ่งที่เป็นบุญกุศล ของที่ท่านเคยทำ หรือวัดที่เคยทำบุญ พระที่เคยไหว้ จะเป็นพระพุทธรูปก็ตาม พระสงฆ์ก็ตาม เป็นอันว่าสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลอย่างนี้
จะไปก็เกิดบนสวรรค์ ไปสู่สุคติ
~หลวงพ่อพระราชพรหมยาน~หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง~




คำสอนหลวงพ่อเรื่อง "สังขารุเปกขาญาณ
.. สังขารุเปกขาญาณ หมายความว่า
"วางเฉยในขันธ์ ๕ เสียทั้งหมด" ถ้าเรา
เฉยในขันธ์ ๕ ได้ เราก็เฉยในทุกสิ่งทุก
อย่างได้ ขันธ์ ๕ ของใครที่เราวางเฉย
เราก็วางเฉยในขันธ์ ๕ ของเราด้วย
วางเฉยในขันธ์ ๕ ของคนอื่นด้วย
ที่นอกจากตัวเรา วางเฉยในขันธ์ ๕ ของ
สัตว์ด้วย แล้วก็วางเฉยในทุกสิ่งทุกอย่าง
ในโลกเสียด้วย เฉยที่ไหน? "เฉยที่ใจ
ใจเฉย" ร่างกายมันจะแก่ก็เชิญแก่
เรารู้แล้วว่ามันจะแก่ คิดว่าร่างกาย
มันจะป่วยก็เชิญป่วย เรารู้แล้วว่ามัน
จะป่วย ร่างกายของเราจะตายก็เชิญตาย
เรารู้แล้วว่าเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องตาย
ถ้ามีเกิดมันก็ต้องมีตายเป็นของธรรมดา
ไม่สามารถจะหลีกจะเลี่ยงไปได้ และ
ต่อไปก็เฉยต่อไปอีก "ราคะ" ความรัก
ที่ชาวบ้านเขาพอใจกัน เราก็เฉยมันเสีย
ไม่รัก ก็จะไปรักมันทำไมมันไม่มีอะไรจีรัง
ยั่งยืน ที่เราเห็นว่าวัตถุสวยคนสวย
มันสวยไม่จริงเดี๋ยวมันก็พัง มันทรุด
โทรมเราก็เฉย "ความโลภ" อยากจะเป็น
เศรษฐี มหาเศรษฐี จะมั่งมีทรัพย์เหลือ
คณานับเราก็เฉยมันสิ ทำไมจึงเฉย?
เพราะไอ้ความร่ำรวยทั้งหลายแหล่
เหล่านี้ ไม่ได้เป็นปัจจัยของความสุข
จริงๆ "มันเป็นความทุกข์" ตัวอย่างมี
เยอะ ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้เราก็เฉย
เฉยในความรวย
ถ้าใครเขานินทาว่าร้าย ทำให้ทุกข์
สะดุ้งสะเทือนใจด้วยอำนาจของความ
โกรธ เราก็เฉยมันสิ ไอ้ที่เขาด่าเขาว่า
"เขาด่าขันธ์ ๕" เขาไม่ได้ด่าเราคือจิต
และไอ้ความหลงใหลใฝ่ฝันในอามิส
คือรูปโฉมรูปพรรณเราก็เฉยมัน คิดว่า
"ขันธ์ ๕ นี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา"
เราอาศัยมันชั่วคราว พังแล้วก็แล้วกันไป
แล้วมันเองก็เป็นปัจจัยของความทุกข์
มันไม่ได้สร้างความสุขให้แก่ใคร
ในเมื่อขันธ์ ๕ มันเป็นปัจจัยของ
ความทุกข์ ไม่ใช่ปัจจัยของความสุข
เรื่องอะไรที่เราจะไปสนใจ ในเมื่อเรา
ไม่สนใจในขันธ์ ๕ เราก็ชื่อว่าไม่สนใจ
ในความเกิด
เราไม่สนใจในความรักคือ ราคะ
เราไม่สนใจในโลภะคือ ความโลภ
เราไม่สนใจในความโกรธ เราไม่สนใจ
ในความหลง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก
ไม่มีอะไรที่เราจะติดใจว่ามันเป็นเรา
เป็นของเรา
อย่างนี้อารมณ์ของบรรดาพระสาวก
ขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าที่
กำลังรับฟังอยู่ก็ชื่อว่า "เป็นอารมณ์ของ
อรหันต์" ..
(พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)





ศิษย์คนหนึ่ง เมื่อฟังท่านพ่อสอนให้จับลมไว้ ก็ไม่เข้าใจความหมายของท่าน กลับนั่งภาวนาเกร็งเนื้อเกร็งตัวอยู่เพื่อกักขังลมไว้ แต่ทำห้รู้สึกเหนื่อย ไม่สบาย ต่อมาวันหนึ่งในหณะนั่งรถเมล์ไปวัดมกุฏฯ เขาก็สมาธิอยู่ สังเกตได้ว่า ถ้าปล่อยลม ตามธรรมชาติ ก็รู้สึกสบายขึ้น ทั้งใจก็ไม่หนีจากลมด้วย
พอถึงวัดมกุฏฯ เขาก็บ่นกับท่านพ่อ
"ทำไมท่านพ่อสอนให้จับลมไว้ ยิ่งจับก็ยิ่งไม่สบาย ต้องปล่อยตามธรรมชาติจึงจะดี"
ท่านพ่อก็หัวเราะ ตอบว่า
"ก็ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น"จับ"หมายความว่าเกาะ ติดตามเขาอยู่ ไม่หนีจากเขา เราไม่ต้องไปบีบบังคับ สะกดเขาไว้ เขาจะเป็นยังไงก็ดูเขาไปเรื่อยๆ"
"การที่เราสังเกตลมนั้นเป็นตัวเหตุ ส่วนความสุขที่เกิดขึ้นเป็นตัวผล ต้องสนใจกับตัวเหตุให้มากๆ ถ้าเราทิ้งเหตุ ไปเพลินกับตัวผล เดี๋ยวมันจะหมด แล้วเราจะไม่ได้อะไรเลย"
"เมื่อรู้ลมแล้วก็ให้รู้จริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้เฉยๆ"
"การดูลมต้องเอาความสบายเป็นหลัก ถ้าลมสบายใจสบาย นั่นแหละใช้ได้ ถ้าลมไม่สบาย-ใจไม่สบาย นั่นแหละใช้ได้ อันนั้นต้องแก้ไข"ฯ
"เวลาภาวนาต้องใช้ความสังเกตเป็นข้อใหญ่ ถ้ารู้สึกไม่สบายให้ปรับปรุง แก้ไขลมให้สบายขึ้น ถ้ารู้สึกหนักก็นึกแผ่ลมให้มันเบาๆ ให้นึกว่าลมเข้าะออกได้ทุกขุมขน"
"ที่ท่านบอกว่าให้กำหนดในส่วนต่างๆ ของร่างกายหมายความว่า ให้กำหนดความรู้สึกที่มีอยู่ในตัว"
"ลม เราจะเอาเป็นที่พักของใจได้ เป็นที่พิจารณาก็ได้ เวลาจิตไม่ยอมลง ก็แสดงว่ามันอยากจะทำงาน เราก็หางานให้มันทำ คือให้มันเที่ยวพิจารณาลมในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ว่าตรงไหนลมเดินสะดวกดี ตรงไหนมันเดินไม่สะดวก แต่อย่าให้ใจหนีออกนอกกายนะ ให้มันวนเวียนอยู่ในนั้น จนมันเหนื่อย พอเหนื่อย แล้วมันจะหาที่พักหยุดกับที่โดยเราไม่ต้องไปกดไปบังคับมัน"ฯ
"ทำลมให้เหนียว แล้วนึกให้ระเบิดออกไปในทุกส่วนของร่างกาย
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก





...ครูบาอาจารย์ก็
"แก้กิเลสเราไม่ได้" ท่านมีแต่
คอยแนะนำวิธีแก้ให้กับเรา
แต่ถ้าเราไม่เอามาแก้
"ก็แก้ไม่ได้อยู่ดี"
.
จงมองว่า..ร่างกายเป็นเครื่องมือ
ไว้สำหรับ "แก้ปัญหาของใจ"
.
ต้องมีร่างกายเพื่อจะ"ได้ยินได้ฟังธรรมะ"
เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว..จะได้
เอาร่างกายมาทำงาน "มาแก้กิเลส"
เดินจงกรม นั่งสมาธิ "ต่อสู้กับกิเลส"
................................................
.
คัดลอกจาก (จุลธรรมนำใจ ๑)
วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๘
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





ที่ท่านว่า"ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ" ท่านแสดงไว้กลางๆ ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นย่อมดับเป็นธรรมดา นี่ท่านพูดกลางๆ เอาไว้ แต่ผู้เห็นธรรมจะไม่พูดอย่างนั้น เช่นอย่างพระอัญญาโกณฑัญญะจะไม่พูดอย่างนั้น เพราะกระเทือนอย่างหนัก กระเทือนธรรมข้อนี้อย่างหนัก ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ พระอัญญาโกณฑัญญะออกเป็นอุทานขึ้นมาเลย สิ่งใดก็ตามเกิดขึ้นแล้วดับทั้งนั้น
อุทานของพระอัญญาโกณฑัญญะจะเกิดขึ้นอย่างนี้ สิ่งใดก็ตามเกิดแล้วดับทั้งนั้น อะไรล่ะไม่ดับ นั่น อยู่ในนั้นละ อยู่ในจิตที่ไม่ดับ มันจ้าอยู่ภายในจิตนี่ไม่ดับ นอกนั้นดับหมด อันนี้ไม่ดับ นี่ท่านได้พยานที่ว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ ท่านได้อย่างนี้ ความรู้ของพระอัญญาโกณฑัญญะเกิดขึ้นในเวลานั้น ไม่ได้เป็นความรู้แบบตำรับตำรา เป็นความรู้ที่เจอกันอย่างจังๆ เพราะฉะนั้นจึงออกอุทานได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่สะทกสะท้านเลยว่า อะไรก็ตามเกิดแล้วดับทั้งนั้น อะไรไม่ดับ นี่มันเห็นอยู่ในนั้น มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คือจิตไม่ดับ มรรคผลนิพพานที่จิตเริ่มครองแล้ว เป็นอริยบุคคลขั้นต้น ครองอยู่นั้นแล้ว จ้าอยู่นั้น ไม่ดับ นี่ไม่ดับ สิ่งเหล่านั้นดับทั้งหมด นั่น มันต้องมีข้อรับกัน ปฏิเสธกันรับกันด้วยเหตุด้วยผลภายในใจซิ นี่ละการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนั้น
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศนาธรรมเรื่อง"ถ้ามีสติแล้วกิเลสจะยุบยอบ"
๑๘ กรกฏาคม ๒๕๕๑





"การภาวนาต้องทิ้งเป็นขั้นๆ เหมือนเขาจะยิงจรวดในอวกาศพอพ้นจากโลก แล้วกระสวยอวกาศก็ต้องทิ้งยานแม่จึงจะไปถึงโลกพระจันทร์ได้"
"เวลาจิตอยู่ตัวแล้ว ถึงจะทิ้งลมมันก็ไม่ได้วอกแวกไปไหน เหมือนเราเทปูน ถ้าปูนยังไม่แข็งตัว เรายังทิ้งแบบไม่ได้ แต่เมื่อปูนแข็งตัวดีแล้ว มันก็อยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยแบบ"
"กระจายลมแล้วจนกายเบา จิตเบา ไม่มีตัวเหลือแต่ตัวรู้ จิตก็จะใส เหมือนน้ำที่ใส เราชะโงกลงไปในน้ำก็เห็นหน้าตัวเอง จะได้เห็นจิตตัวเองว่าเป็นยังไง"
"พอลมเต็มเราก็วางซะ แล้วนึกถึงธาตุไป ธาตุน้ำ ธาตุดิน ทีละอย่างๆ พอกำหนดธาตุได้ชัดเจน เราก็ผสมธาตุ คือรวมให้พอดีทุกอย่าง ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป พอดีทุกส่วน แล้วก็วางอีก ให้อยู่กับอากาศธาตุ ความว่าง เมื่ออยู่กับความว่างจนชำนาญพอแล้ว เราก็ดูว่าอะไรที่ว่า"ว่าง" แล้วก็กลับมาหาตัวผู้รู้ เมื่อใจเป็นหนึ่งอย่างนี้แล้ว เราก็วางอาการของความเป็นหนึ่ง แล้วดูซิว่า อะไรที่มันยังเหลืออยู่ในนั้น"
"พอเราทำอย่างนี้ได้ เราก็ฝึกเข้า-ฝึกออกจนชำนาญ แล้วพิจารณาดูอาการของใจ ตอนที่มันเข้า-ออกอยู่นั้น ปัญญาก็เริ่มปรากฏในที่นั่น"
"การพิจารณาตัวเอง เรื่องธาตุจะต้องมาเป็นอันดับแรก เราแยกธาตุ รวมธาตุ เหมือนเราเรียนแม่กบแม่เกย ต่อไปเราจะผสมกับอะไรก็ได้"
"ฐานอันนี้ เอาให้มั่นคงก็แล้วกัน แล้วต่อจากนั้นจะสร้างกี่ชั้นๆ มันก็เร็ว"
"จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก มันก็อยู่ที่ตัวเรา"ฯ
"หลักอานาปาน์ที่ท่านพ่อใหญ่เขียนไว้ในตำราเป็นแต่หลักใหญ่ๆ เท่านั้น ส่วนปลีกย่อยนั้นเราต้องปฏิภาณของเราเอง เอาหลักวิชาของท่านดัดแปลงพลิกแพลง ให้เข้ากับจริตของเรา เราจึงจะได้ผล"
"ที่ในหนังสือเขาว่า อานาปานสติเป็นกรรมฐานที่ถูกกับจริตของทุกคนนั้น ที่จริงไม่ใช่ เพราะคนที่กำหนดลมได้ผล ต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียด"
"เคยมีครูบาอาจารย์มาว่าท่านพ่อใหญ่ "ทำไมสอนคนให้ดูลม มันจะมีอะไรให้ดู มีแต่สูดเข้า-สูดออก แล้วดูแค่นี้จะเกิดปัญญาได้อย่างไร" ท่านพ่อใหญ่ก็ตอบว่า "ถ้าดูแค่นั้น ก็ได้อยู่แค่นั้น"
นี่เป็นปัญหาของคนดูไม่เป็น
มีลูกศิษย์คนหนึ่งเล่าถวายท่านพ่อฟังว่า แต่ก่อนเขานึกว่าที่ท่านพ่อให้ไล่ลม ขยายลม กำหนดธาตุ เล่นธาตุ ฯลฯ เหล่านี้เป็นแค่อุบายให้ใจสงบสบายๆ เท่านั้น แต่ภายหลังจึงรู้ว่าเป็นอุบายวิปัสสนาสำหรับเกิดปัญญาด้วย ท่านพ่อ ก็ย้อนถามว่า
"เพิ่งจะรู้หรือ"
๒-๓ วันต่อมา ท่านก็เล่าเหตุการณ์นี้ให้ศิษย์อีกคนหนึ่งฟังแล้วพูดตอนท้ายว่า
"ดูซิ ขนาดคำสอนของพระพุทธเจ้าเขายังประมาทอยู่ได้"
"ผู้มีปัญญาย่อมใช้อะไรๆ ให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น"
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก



“พระรัตนตรัย”
พวกเราชาวพุทธเป็นพวกที่มีโชคมีวาสนามาก ที่ได้มาเกิดมาพบกับพระพุทธศาสนาเพราะพระพุทธศาสนามีที่พึ่งที่ดีที่สุดที่เลิศที่สุดที่ประเสริฐที่สุด ที่มีคุณค่ามีความสามารถในการปกป้องรักษาจิตใจของพวกเราได้มากยิ่งกว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ สิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม จะวิเศษขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องรักษาจิตใจของพวกเราให้พ้นจากความทุกข์ต่างๆ ได้ มีแต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือพระรัตนตรัยเท่านั้นที่จะปกป้องรักษาคุ้มครองจิตใจของเราไม่ให้ทุกข์กับภัยต่างๆ
ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ใจของพวกเรานี้จะต้องมีแต่ความทุกข์ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด แต่พอมีพระพุทธศาสนาแล้ว มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ใจของเราก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้
ดังนั้นขอให้พวกเราจงเห็นคุณค่าของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยิ่งกว่าสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ เพราะสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นที่พึ่งได้เพียงชั่วคราวทางร่างกาย แต่ทางจิตใจนี้เป็นที่พึ่งไม่ได้เลย ต่อให้มีความร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีระดับไหนก็ตาม ก็ยังต้องมีความทุกข์ใจอยู่ ต่อให้เป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังจะต้องมีความทุกข์ใจอยู่ เพราะการเป็นมหาเศรษฐี เป็นประธานาธิบดี เป็นพระราชามหากษัตริย์นี้ ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองรักษาใจไม่ให้พบกับความทุกข์ได้ ทำได้เพียงแต่รักษาร่างกายให้อยู่อย่างสุขสบายเท่านั้น แต่ใจนี้เป็นเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นมหาเศรษฐีหรือคนยากคนจน ไม่ว่าจะเป็นพระราชามหากษัตริย์หรือคนธรรมดาสามัญ ก็ยังตกอยู่ในความทุกข์ต่างๆ ที่มากระทบกับจิตใจ
แต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้เท่านั้น ที่จะสามารถทำให้จิตใจนี้ไม่ทุกข์กับอะไรเลย ไม่ทุกข์กับภัยต่างๆ ไม่ทุกข์กับความเกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะมายับยั้งความทุกข์ที่เกิดจากการเกิดแก่เจ็บตายได้ ไม่มีอะไรที่จะมาป้องกันภัยให้จิตใจไม่ไปประสบกับภัยต่างๆ ภัยของใจคืออะไร ภัยของใจก็คืออบาย ๔ สถาน คือการต้องไปเกิดในอบาย ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นนรก นี่คือภัยของใจของพวกเราทุกๆ คน
ถ้าเราไม่มี “พระรัตนตรัย” มาปกป้องคุ้มครองป้องกันภัยต่างๆ เหล่านี้ ใจของพวกเราไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องไปพบกับภัยเหล่านี้ มากหรือน้อยเท่านั้นเอง และภัยที่เกิดจากความแก่ความเจ็บความตาย ก็เป็นภัยที่ไม่มีอะไรที่จะสามารถคุ้มครองป้องกันให้กับจิตใจของเราได้ นอกจากพระรัตนตรัย.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๐
“คุณค่าของพระรัตนตรัย”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






เวลามีชีวิตอยู่ก็ประมาท ไม่สนใจกับอรรถกับธรรม
มาวัดวาอาวาสไม่สนใจ ตายแล้วค่อยมาขอส่วนบุญ
ส่วนบุญมันก็ต้องส่วนบุญอย่างนั้นละ
คนคับแคบตีบตัน คนตระหนี่ถี่เหนียว
เขาทำทานไม่อยากทำแต่อยากได้ แน่ะ มันก็เสียละซิ
..........................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๑
"ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตร"





ความรัก ความชัง เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรม
เราก็รู้อยู่แล้วว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น
ต้นเหตุที่สิ่งเหล่านี้เกิดเพราะมีตัณหา
ดังนั้นเมื่อรู้ตัวการที่ก่อให้เกิดทุกข์ฉะนี้แล้ว
จะมัวรีรอให้เสียชาติเกิดอยู่ทำไม
.
หลวงปู่จูม พันธุโล วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี





การติฉินนินทามันมีมาแต่โลกดินแดน
ท่านว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน การได้การเสียคือได้มาเสียไป
นินทาสรรเสริญ ความสุข ความทุกข์เหล่านี้เป็นธรรมชาติที่มีมาดั้งเดิม
ท่านเรียกว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน เป็นของลบสูญไปไม่ได้
เมื่อโลกสมมุติยังมีอยู่ เรื่องนินทาสรรเสริญจะเป็นคู่เคียงกันไปอย่างนี้
นี่พระองค์ทรงสอนพระอานนท์ อย่าไปหวั่นกับเรื่องนินทา สรรเสริญ
ให้ดูตัวของเรา เราบกพร่องตรงไหนให้ดูตรงนั้น แก้ไขตรงนั้น
อย่าไปสนใจกับคนอื่น นั่น ฟังซิท่านพูด ให้ดูตัวนี้
ควรติติตรงนี้ ควรแก้แก้ตรงนี้ อย่าไปติคนอื่นแก้คนอื่น
ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย นั่น
...........................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖
"การรบกันเป็นของดีที่ไหน"
ตอบกระทู้