“คำว่า เจริญก้าวหน้าทางธรรม มิใช่เจริญด้วยยศศักดิ์ เหมือนทางโลก หากหมายถึง ใจที่นิ่ง หนักแน่นมั่นคง คลายความยึดติดในโลก หากผู้ใด ยังหลงในยศศักดิ์ ก็ชื่อว่า หลงตน และหลงโลก เพราะสิ่งนั้น เป็นของประจำโลก -:- หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป -:-
"การให้ผลของกรรม ไม่ใช่ว่าจะทันตาเห็น เสมอไป ออกผลชาตินี้ก็มี ชาติหน้าก็มี ชาติต่อๆ ไปก็มี เมื่อพาลทำความชั่ว แล้วได้ความสะดวกสบาย เขามักจะสรุปว่า กฎแห่งกรรมไม่มีจริง เพราะทำชั่วได้ดี เหมือนคนกินยาพิษ ยืนยันว่า ไม่น่าจะอันตราย เพราะตอนนี้ ยังไม่รู้สึกอะไร และมันอร่อยเหลือเกิน" -:- พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ -:-
"นักชก ระวังหมัด นักปฏิบัติ ระวังกิเลส นักชก ก็หมดยกสุดท้าย ความตาย ก็สุดท้ายของชีวิต คบคนชั่วทำไม นักปราชญ์มีถมไป ทำไมจึงไม่คบ" -:- หลวงปู่สาย เขมธมฺโม -:-
พวกเรานี่หนังสือตำรับตำราครูบาอาจารย์ดูหมด แต่ไม่สนใจปฏิบัติ เราปฏิบัติอยู่แต่นอก ๆ เอาไปมอบไว้กับพระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์ ของไม่ได้บกพร่องที่ไหน มันบกพร่องที่ใจของเราที่ไม่ได้สนใจจะปฏิบัติ เพราะฉะนั้นคนสมัยนี้จึงไม่ค่อยถึงมรรคถึงผล หัวใจคนมันเสื่อม ศาสนาไม่ได้เสื่อม เราถือศาสนากันแบบลม ๆ แล้ง ๆ ถือไม่จริงไม่จัง ถือกันเล่น ๆ เห็นศาสนาเป็นของเล่น พอจะพูดกันได้แต่กับคนปฏิบัติ คนไม่ปฏิบัติหิ้วแต่ปิ่นโตไปวัด หิ้วแต่สังฆทาน ก็ไม่มีโอกาสจะเข้าถึงศาสนา จึงขอเตือนว่า พวกเรามาอยู่ในขั้นหนึ่งแล้ว เพียงแต่ขอให้ตั้งใจปฏิบัติ อย่ามีแค่อยากพ้นทุกข์เฉย ๆ แต่ปฏิบัตินิด ๆ หน่อย ๆ เหตุมันไม่สมผลเลย ความรู้สึกของเรามันเป็นความรู้สึกของกิเลส ถ้าเราตามใจกิเลส ทำตามความรู้สึกเจ้าของ นั่นแหละคือทำตามกิเลส เพราะกิเลสกับเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราจะเขี่ยกิเลสออก เราจะแก้กิเลสได้ เราต้องทำให้เหนือ เคยนั่งภาวนา ๒ ชั่วโมง ก็ต้องนั่งให้ได้ ๓ ชั่วโมง ให้มันเหนือความรู้สึกเจ้าของ มันจึงจะเป็น "ธรรม" ขึ้นมา ถ้าเราจะนั่งปฏิบัติแบบที่เราเคยนั่งมาแบบไหนก็ทำแบบนั้น มันก็อยู่ที่เก่าที่เดิม ใจมันไม่ถูกเปลี่ยน เมื่อมันไม่ถูกเปลี่ยน จะถึงอรรถถึงธรรมได้ยังไง ความเพียรไม่ถึง อย่างบางคนนั่งภาวนา ๓๐ นาที มันก็อยู่แค่ ๓๐ นาที เท่านั้นล่ะ ให้มันฝืนขึ้นไปเรื่อย ๆ อันไหนที่กิเลสชอบ ธรรมไม่ชอบ ที่ธรรมชอบ กิเลสไม่ชอบ อย่างนี้จึงจะเป็น "ธรรม" เพราะใจเรายังไม่เป็นอรรถเป็นธรรม เราจะเชื่อใจเราไม่ได้ คนไหนเชื่อเจ้าของเท่ากับเชื่อกิเลส คนไหนฝืนความรู้สึก ถ้ากิเลสไม่ชอบนั่งสมาธิเราต้องนั่ง ให้มันฝืนไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่ฝืนก็จะจมอยู่อย่างนี้ ถ้าปฏิบัติกิเลสไม่สะเทือน จะให้มันออกจากใจมันก็ไม่ออก เพราะฉะนั้น คนที่จะปฏิบัติจนออกจากวงล้อมนี้ไปได้ ต้องเหมือนกับคนกัดเพชรขาด เราจึงจะเข้าใจวิธีการแก้กิเลส ถ้าไม่อย่างนั้น ก็อยู่ในวงล้อมกิเลส มันไสหัวให้ปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติ มันให้เลิกนั่งเราก็เลิก ถ้าอย่างนี้มันก็ติดอยู่ในวงล้อมของกิเลส ให้กิเลสเป็นตัวบ่งชี้ เราปฏิบัติมาได้เท่าไร กี่วันกี่เดือนกี่ปีก็เท่าเดิม เราไปอ่านประวัติครูบาอาจารย์ดูสิ ข้างนอกแม้กิริยาอาการของท่านจะเรียบร้อย แต่ภายในท่านเข้มแข็ง ไม่เข้มแข็งเอากิเลสไม่อยู่ เด็ดกิเลสไม่ขาด สิ่งไหนที่เราแพ้มันง่าย ๆ หลงกลมันได้เร็วที่สุด มันก็เอาอันนั้นล่ะมาล่อ เอ้า พอละนะ เดี๋ยวจะตายละนะ เอาสิ่งนี้มาล่อ ปฏิบัติไปอย่ากลัวตาย ไม่อย่างนั้นเราต้องมาตายซ้ำ ๆ ซาก ๆ อีก ผู้ไม่กลัวตาย จะไม่กลับมาตายอีก เพราะเอาความตายออกจากใจไปแล้ว ผู้ปฏิบัติที่เอาทุกข์ออกจากใจแล้วก็จะไม่กลับมาทุกข์อีก พระอาจารย์โสภา สมโณ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๙
ถาม : ถ้าเรานั่งสมาธิจนขาปวดนี่คือต้องสู้ต่อหรือว่าเรา พระอาจารย์ :ไม่สู้ เราเพียงแต่ปล่อยมันปวดไปเท่านั้นเอง อย่าไปสู้กับมัน ถาม : ปล่อยคือ ยังนั่งต่อไป พระอาจารย์ : นั่งต่อไป มันจะปวดก็เรื่องของมันอย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปอยากให้มันหายแล้วมันจะไม่ทุกข์ ที่มันทุกข์ที่มันนั่งไม่ได้เพราะอยากให้มันหาย พออยากแล้วมันก็ทุกข์ขึ้นมาในใจ ไอ้ที่ทนไม่ได้ไม่ใช่เพราะความปวดของร่างกายแต่ความทุกข์ของใจที่อยากจะให้ความปวดหายไป ก็ความอยากอีกเหมือนกัน แบบเดียวกับที่โยมเขาถามมา ก็อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไอ้นี่ก็อยากให้ความปวดหายไป มันก็เป็นความทุกข์ขึ้นมา ดังนั้นอย่าไปอยาก มันปวดก็ให้มันปวดต่อไป ปวดมากกว่านี้ได้ไหม ถามมันดู ท้ามันไปเลย ถาม : ไม่ต้องเปลี่ยนลุกมาเดิน พระอาจารย์ : ไม่ต้องเปลี่ยนหรอก ถ้าเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ หยุดความอยากไม่ได้ก็ใช้การท่องพุทโธไปช่วยก็ได้ ท่องพุทโธๆไปไม่สนใจกับมันแล้วเดี๋ยวความทุกข์ใจก็จะหายไป เหมือนกับความกลัวอย่างนี้ เวลาเรากลัวเราพุทโธๆไป เดี๋ยวความกลัวก็หายไป เวลาเราอยากให้ความเจ็บหายไป เราก็พุทโธๆ ไป เดี๋ยวความอยากให้ความเจ็บหายไปมันก็จะหายไปเอง แล้วก็จะนั่งอยู่กับมันได้ เหมือนเวลาเรานั่งดูหนังตั้ง ๒ ชั่วโมงยังนั่งได้เลย ใช่ไหม ต่อไปเวลาคุณนั่งดูหนังลองนั่งขัดสมาธิดูซิว่าจะนั่งได้ไหม รับรองนั่งได้ ๒ ชั่วโมงก็นั่งดูได้อย่างสบาย เพราะคุณมีงานทำไง ใจมันมีงานทำมันไม่สนใจกับความปวด ดังนั้นเราต้องหางานให้ใจทำเวลาที่มันปวด ร่างกายปวดก็ใช้พุทโธเป็นงาน พุทโธๆ ไปสวดมนต์ไปก็ได้ แล้วมันก็จะลืมเรื่องความปวดไป มันก็จะลืมเรื่องความอยากให้ความปวดหาย ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด ความทุกข์ใจนี่แหละที่ไปขยายความปวดของร่างกายให้รู้สึกว่าใหญ่ขึ้นอีก ๑๐ เท่ามา พอไม่มีความทุกข์ใจ ความปวดใจก็นิดเดียวเท่านั้นเอง ความปวดของร่างกายก็นิดเดียว ลองไปทำดูนะ ถาม : หนูก็เคยนั่งนาน พอปวดขามันก็ทนได้กับปวดขา แต่พอนานเข้ามันก็จะหนักเข้าเรื่อยๆ พอบอกพุทโธๆ ถี่มันก็จะสั่นๆ สุดท้ายมันทนไม่ได้ นั่งได้แค่ ๓ ชั่วโมงทั้งที่ตั้งใจอยากนั่งให้ได้ ๕ ชั่วโมง พระอาจารย์ : ก็อย่าไปอยากซิ ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้นก่อน ได้เท่านั้นก่อน สิ่งที่เราอยากจะได้ไม่ใช่ชั่วโมง เราอยากจะเห็นอริยสัจ เราจะเห็นความอยากที่เกิดขึ้นในใจ อยากจะใช้ปัญญาหยุดความอยากนี้ต่างหาก เช่นเวลาเราเกิดความทุกข์กับความเจ็บของร่างกายเราต้องพิจารณาว่ามันเกิดจากความอยากของเราใช่ไหม อยากให้มันหายใช่ไหม แล้วเรามีวิธีที่จะทำให้มันหายหรือเปล่า ถ้าเราทำไม่ได้เราก็ต้องยอมรับมันไป เพราะว่าความเจ็บมันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนัตตาก็คือเราไปสั่งมันไม่ได้ พอเราสั่งมันไม่ได้ก็อยู่กับมันไป พอเราอยู่กับมันได้ ใจเราก็จะไม่ทุกข์กับมัน ต้องการให้เห็นตัวนี้มากกว่าไม่ใช่เอาชั่วโมงเป็นหลัก ให้เห็นอริยสัจ ๔ ถาม : พอปวดหนักเข้า พุทโธๆถี่มันไม่ไหว แล้วมันก็ปวดหนักขึ้นเรื่อยๆ พระอาจารย์ :เพราะว่ามันไม่พุทโธจริง มันพุทโธไปก็อยากจะหายพร้อมๆ กันไป ต้องไม่อยากหายเลย ต้องอยู่กับพุทโธอย่างเดียวต้องไม่สนใจกับความเจ็บเลยมันก็จะสงบ มันก็จะหายทุกข์ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
เหตุที่เราจะเดือดร้อนขุ่นมัว ก็เพราะปล่อยจิตให้คว้าโน่นคว้านี่ไม่อยู่เป็นสุข คือคว้าอดีตอนาคตซึ่งเหมือนน้ำลายถ่มทิ้งแล้วคว้ากลับเข้ามาใส่ปากอีก ย่อมน่าสะอิดสะเอียนต่อลิ้นไม่น้อยเลย อารมณ์หรือสิ่งที่ชั่ว อะไรก็ตามที่ผ่านพ้นไปแล้ว เราก็รู้แล้วว่าไม่ดียังคว้ากลับคืนมาเผาจิต อันนี้ยิ่งร้ายกว่าน้ำลายที่ถ่มทิ้งเสียอีก เลยหาความเย็นไม่ได้เลย หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ตอบจดหมายลูกศิษย์ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๙
หัวใจดวงนี้ ถ้าเราไม่มีสติไม่มีปัญญารักษา ใจดวงนี้ล่ะจะถูกกิเลสขยำย่ำยี ความดีที่จะสิงสถิตย์อยู่ในจิตใจแทบจะไม่มีเลย ถูกกิเลสเอาไปทำร้ายทำลายทั้งหมด การนั่งสมาธิภาวนา การปฏิบัติด้านจิตตภาวนานี่ล่ะจะกวาดสิ่งไม่ดีออกจากจิตใจ เอาสิ่งที่ไม่ดีออก มีสติระวังรักษาจิตใจเจ้าของให้อยู่กับปัจจุบันมากที่สุด ถ้าไม่อย่างนั้นกิเลสจะเอาไปครอง เอาจิตดวงนี้ไปขยำย่ำยี บุญจะเกิดไม่ได้เลย บาปเกิดปั้บ ผลจากบาปก็เกิดปุ๊ปในจิตใจ ไม่ว่าจะยากดีมีจน โง่หรือฉลาด สิ่งเหล่านี้เข้าไปทำลายหมด แม้จะทำบุญกิเลสก็ไม่ได้ทำด้วย เรามานั่งนี่ กิเลสก็ไม่ได้มานั่งด้วย มันก็ฟุ้งซ่านรำคาญ มันก็คิดเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย นี่คือกิเลส กิเลสมันยอมใครเมื่อไร กิเลสมันปล่อยใครเมื่อไร มันไม่ปล่อย บุญตัวนี้ล่ะจะเข้าสู่คำสอนของพระพุทธเจ้า เข้าสู่ความเป็นพระสงฆ์ในจิตในใจ บุญเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราก็ได้ทำมาแล้ว การรักษาศีลของศรัทธาญาติโยมก็ได้ทำในชีวิตประจำวันแล้ว แต่ตัวนี้อย่าให้ขาด การทำบุญอย่างหนึ่งที่ได้อานิสงส์มากก็คือการรักษาใจรักษาความดี ในขณะที่กระทำทางกายทางวาจาสวดมนต์ไหว้พระ จิตใจเราไม่เอนไม่เอียงออกนอก อยู่ในการสวดการกราบการไหว้ ใจก็จะอยู่กับการกระทำ มันตั้งเจตนาไว้แล้ว เมื่อตั้งเจตนาดี บุญก็ไหลเข้า ไหลเข้า ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่รักษาจิตรักษาใจก็ไม่มีความหมาย ปัญญามันไม่ได้ไคร่ครวญ เราทำก็สักแต่ว่าทำ เรากราบพระเราไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน พระธรรมอยู่ตรงไหน พระสงฆ์อยู่ที่ใด เราว่านะโมก็ถูกกิเลสตีออก ตีออก ถูกกิเลสฉุดกระชากลากออก ลากออก คิดดูสิ ขนาดเรากราบพระเรายังไม่ได้ตั้งใจ ในไตรสรณคมณ์ที่ว่า พุทธธัง ธัมมัง สังฆัง ทุติยัมปิ ตะติยัมปิ ยังเพื่อย้ำให้ใจเข้าถึง อาจจะครั้งแรกพุทธัง ธัมมัง สังฆัง อาจจะได้ด้วยปาก แต่ใจเราไม่ได้ไปด้วย ก็จึงมีทุติยัมปิ ครั้งที่สอง ตั้งใหม่ซิ ตั้งไปแล้วอาจจะได้แค่ทุติยัมปิ พุทธังก็ได้ แต่ทุติยัมปิ ธัมมัง เราไม่ได้ ยิ่งทุติยัมปิ สังฆัง ได้แต่ปาก แต่ใจเราไม่ได้ไปด้วย ก็ขาด พอครั้งที่สาม เราพลาดครั้งที่หนึ่ง ลืมครั้งที่สอง แล้วครั้งที่สามล่ะ ส่วนมากก็ระลึกได้เดี๋ยวเดียว เหมือนเวลาที่เราทำบุญ ขณะที่เราประเคนของครูบาอาจารย์พระสงฆ์ ในขณะจิตที่ตั้งให้เป็นบุญ ตั้งไม่ได้นาน เพราะอะไร เพราะใจเราไม่มีธรรมรักษา ถูกกิเลสแย่งพื้นที่ ถูกกิเลสตีออก ตีออก เราจึงรักษาความดีไม่ได้ ใครรักษาใจไม่ได้ก็คือรักษาความดีไม่ได้ พระอาจารย์โสภา สมโณ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐
"บัณฑิตผู้มีความฉลาด ย่อมไม่ดูหมิ่นบาปบุญแม้เพียงเล็กน้อย บาปนิดหน่อยก็ไม่ทำ บุญนิดหน่อยก็ย่อมทำ" หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ความสุขหรือความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เขามันอยู่ที่เรา หลวงพ่อชาเคยสอนว่า กัดได้ทั้งดีทั้งชั่วนะ ที่ท่านบอกว่าความชั่วกัดเราได้ก็คงชัดเจน แต่ที่ท่านบอกว่าความดีกัดเราได้อาจชวนบางคนให้สงสัย ความหมายของท่าน คือ กิเลสพร้อมที่จะครอบงำชีวิตเราตลอดเวลา ผู้ที่ไม่ฝึกจิตอย่างสม่ำเสมอย่อมไม่รู้เท่าทัน กิเลสทำให้ทุกอย่างเศร้าหมองได้แม้แต่สิ่งที่เราถือว่าดี หรือสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญของชีวิต เช่น ความรัก ความรักที่อยู่เหนือกิเลสเรียกว่าเมตตา ความรักประเภทนี้ทุกคนควรจะรู้จักเพราะมันมีพลังวิเศษ ทำให้จิตใจเราสูงเหมือนเทพเหมือนพรหมได้ ท่านจึงนับว่าเป็นพรหมวิหาร ความรักทั่วไปมักมีกิเลสปะปนไม่มากก็น้อย ผู้มีปัญญาจึงควรพิจารณาความรู้สึกของตนให้ดีว่า ทุกวันนี้เราเป็นทุกข์เพราะความรักบ้างไหม ถ้าเป็นทุกข์แล้วเป็นเพราะกิเลสตัวไหน ทำอย่างไรกิเลสตัวนั้นจะน้อยลงหรือหายไป การพัฒนาจิตใจของเรา เพื่อไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของความหึงหวง ความอิจฉา ความน้อยใจ ความคาดหวังเกินควร เป็นต้น เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม การฝึกให้รู้จักเอาใจเขาใส่ใจเรา ให้ซื่อสัตย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ให้รู้จักพูดสิ่งที่ควรพูดในเวลาสมควรพูดด้วยคำพูดที่สุภาพอ่อนโยน สิ่งเหล่านี้ช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์น้อยที่สุด เหตุให้เกิดสุขมากที่สุด อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ ความสุขหรือความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เขา ม้นอยู่ที่ใจเรา พระอาจารย์ชยสาโร สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
"ผู้ที่ทิ้ง ท่านจึงเบา ผู้ไม่เอา ท่านจึงสบาย" คุณแม่จันดี โลหิตดี
"รู้ที่เกิดจากจิต คือ รู้จริง รู้ที่เกิดจากสมอง คือ รู้หลอก พุทโธ คือ ยาชะลอความหลง ธรรม คือ ธรรมชาติ ธรรมไม่มีที่หมาย กาย คือ ลายแทง จิต เป็นขุมทรัพย์" คุณแม่จันดี โลหิตดี
ผู้ที่ภาวนาได้ยาก เพราะมองออกแต่ข้างนอก ไม่ดูใจตัวเอง จิตจึงไม่สงบ" คุณแม่จันดี โลหิตดี
|