Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

วิสัยโลก

อังคาร 07 พ.ย. 2017 7:01 pm

"เราสร้างความดีขึ้นเรื่อยๆ
ความชั่วก็เกิดกับเราไม่ได้"
-:- หลวงปู่ชา สุภัทโท



"วิสัยโลก จะต้องมีรัก
แต่ให้มีสติควบคุมใจ
มิให้ความรัก มีอำนาจเหนือสติ"
-:- สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ -:-




"รู้สิ่งใด แล้วติดสิ่งนั้น ก็เป็นสมมุติ
แต่ถ้ารู้สิ่งใดแล้ว ไม่ติดสิ่งที่รู้
ก็จะเป็นวิมุตติ โดยอัตโนมัติ”
-:- หลวงปู่ทา จารุธัมโม -:-



เรื่อง การห้อยพระที่ถูกต้อง
พระของฉัน หรือของๆที่ฉันออกแจกก็ตาม ฉันไม่เคยบอกว่าของๆฉันเป็นของคงกระพันชาตรี อันนี้ต้องจำกันไว้ด้วย ใครที่รับของๆฉัน แล้วจงทราบว่า ฉันไม่เคยรับรองเรื่องคงกระพันชาตรีเพราะเรื่องนี้ถ้าใครรับรองคนนั้นก็โง่ มันเป็นกฏของกรรม คนที่เหนียวๆ ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า แต่ก็ทะลุทุกราย ถ้ากรรมชั่วมันเข้ามาถึงแล้ว กรรมใดที่เป็นบาปมันก็เปิดโอกาสให้คนหนังเหนียวนี่ตายเพราะอาวุธนับไม่ถ้วน
ความมุ่งหมายในการใช้พระคล้องคอ โดยมากพวกเรามักเข้าใจผิดกัน ที่พระท่านทำไว้ให้คล้องคอ ก็หมายถึงว่า บุคคลที่มีใจเคารพในพระพุทธเจ้า มีใจเคารพในพระธรรม มีใจเคารพในพระอริยสงฆ์ แต่ทว่ามีกำลังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการยังอ่อนอยู่ ฉะนั้น จึงได้ทำรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าก็ดี รูปเปรียบเทียบของพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ดี ที่เป็นที่เคารพนับถือห้อยคอไว้ ถ้าหากว่าเรานึกถึงพระท่านไม่ออก จะได้นำพระขึ้นมาดู รูปนี้เป็นรูปขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแนะนำให้เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามระบอบแห่งความดีที่เรียกว่า พระธรรมวินัย
นี่คือความเป็นจริงเป็นความมุ่งหมายของผู้ทำต้องการอย่างนั้น หมายความว่าคนที่มีพระห้อยคอ ควรจะทำใจอย่างพระหรือ
มิฉะนั้นคนที่มีพระห้อยคอ ก็ควรที่จะทำตามพระแนะนำ ให้
ปฏิบัตดี ปฏิบัติชอบ แต่พวกเราก็กลับมาพลิกแพลงเสีย
เอาพระไปตีกับชาวบ้านเขา ไปยุให้พระตีกัน
พระที่นำมาห้อยคอนี่ พระท่านทำขึ้นมาก็ด้วยอาศัยอำนาจ
ของพระพุทธานุภาพนะ อำนาจของพระพุทธานุภาพนี่สามารถ
ที่จะช่วยคนที่ยังไม่ถึงอายุขัยให้พ้นจากอันตรายได้ ที่เรียกว่า "พระเครื่อง" อันนี้ใช้ได้ แต่ถ้าหากจะเรียก "เครื่องรางของขลัง" อันนี้ใช้ไม่ได้ พระทุกองค์ท่านทำมาไม่ใช่ของขลังท่านทำมาด้วย วิธีที่เรียกว่า พุทธศาสตร์ ไม่ใช่ ไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์
กับไสยศาสตร์มีค่าต่างกัน
พวกของขลังนี่เป็นไสยศาสตร์ เขาทำมาเพื่อขาย
สำหรับพุทธศาสตร์ เขาทำเพื่อการสงเคราะห์
เพื่อให้บุคคลที่มีพระประเภทนี้ไว้ ถ้ามีจิตใจเคารพในคุณพระรัตนตรัย ถ้าไม่ถึงอายุขัย
ถ้าอันตรายของชีวิตพึงจะเกิดขึ้น ก็สามารถปลอดภัยจากอันตรายนั้นได้
จาก หนังสือสมบัติพ่อให้
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง





ทำบุญ ทำทาน คืออะไร แล้วได้อะไร
เวลาที่เราทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ว่าจะทำกับใคร แล้วเขาจะเอาไปทำอะไรต่อ มันก็ยังเป็นบุญอยู่นั่นเอง เพราะบุญคือการชนะใจเรา ชนะสิ่งที่ต่ำ สิ่งที่คอยฉุดลากให้ไปสู่ความทุกข์ สู่ความไม่สบายใจ คือ ความตระหนี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว
เวลาที่ได้ให้ทาน แสดงว่าได้ชนะความโลภ ได้ชนะความตระหนี่ ได้ชนะความเห็นแก่ตัวแล้ว นี่แหละคือผลที่เราได้ เป็นบุญแล้ว บุญนั้นเกิดขึ้นในใจของเรา เราได้ชนะสิ่งที่ไม่ดี ได้ชำระขัดเกลาใจของเราให้สะอาดขึ้น เมื่อได้ชำระขัดเกลาสิ่งเหล่านี้ให้เบาบางลงไป ก็ทำให้ใจของเรามีความสุขมากขึ้น
โอวาทธรรม:พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




ไปที่ไหนอย่าลืมพุทโธ ระลึกไว้เสมอภายในใจ
เรียกว่าเราระลึกธรรมอันเลิศเลอภายในจิตใจของเรา
ไม่ว่าจะระลึกพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
เป็นธรรมอันเลิศเลอด้วยกัน ฝังอยู่ภายในใจ
ใจของเราก็มีคุณค่าตลอดเวลา
ไม่ว่าการยืนการเดินการนั่งการนอน
การเคลื่อนย้ายไปทางไหน มีพุทโธติดใจแล้ว
เรียกว่าใจที่มีคุณค่า ใจมีราคา ใจมีหลักยึด ใจมีฝั่งมีฝา
ให้พากันระลึกอันนี้ไว้ภายในใจอย่าให้ลืม
นี่ละชาวพุทธเราต้องมีหลักเกณฑ์เป็นเครื่องยึด
คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ และเชื่อบุญเชื่อกรรม
อย่าเชื่อตามความอยากความทะเยอทะยาน
เพราะสิ่งเหล่านี้พาคนให้ล่มจมมามากต่อมากแล้ว
ให้เชื่อเหตุเชื่อผลเชื่อบุญเชื่อกรรมเชื่อธรรมของพระพุทธเจ้า
เราจะเป็นคนดิบคนดี
.....................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดหนองบัว ประจวบคีรีขันธ์
เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒(เย็น)
"ตาสอนหลาน"






ใจมีความสงบมากเท่าใด ก็ยิ่งเห็นความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เห็นที่พึ่งของใจโดยลำดับๆ และแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น ทีนี้ความเพียรต้องเริ่ม ต้องเร่ง เพราะรู้หน้าที่การงานของตน ทำกิจการงานใดอยู่ก็ตาม พอถึงเวลาที่จะบำเพ็ญก็ปล่อยวางและเอาจริงเอาจัง การงานภายนอกนั้นน่ะปล่อยทันทีเลย ทำไมจึงปล่อย? แต่ก่อนทำไมว่ามันยุ่งๆ แล้วทำไมมันปล่อยได้ คนๆ นั้นแท้ๆ เวล่ำเวลาก็เป็นเวลาอันเก่า มืด แจ้งอันเก่า ทำไมเวลานี้มันปล่อยได้ แต่ก่อนๆ ทำไมมันปล่อยไม่ได้ เป็นเพราะเหตุใด ก็เพราะกิเลสผูกมัดไว้นั่นแหละ กิเลสสร้างขวากสร้างหนามไว้ให้เหยียบให้ตำเท้า เดินไปไม่ได้ ให้นั่งคราง นอนครางอยู่อย่างนั้นแหละ จะว่ายังไง
.
ทีนี้พอถอดถอนเสี้ยนหนาม คือกิเลสอันเป็นตัวอุปสรรคนั้นออกแล้วก็ก้าวไปได้ ก้าวไปได้ ก้าวไปได้ ทำได้ ถึงเวล่ำเวลาแล้วใครจะมาห้ามหรือมาขัดขวางไม่ได้ เพราะคิดถึงเวลาจะตายใครจะมาห้ามได้ มันยังตายได้คนเรา หากไม่มีเวลาว่างเลย ทำไมเวลาตายมันจึงว่างได้? เวลาจะทำความพากเพียรทำไมมันจึงไม่ว่าง นี่คืออุบายวิธีแก้เจ้าของให้ว่าง ตอนนี้แหละเหมาะสมอย่างยิ่ง ตายแล้วมันไม่ว่างหรอก ไม่ว่างอย่างไรก็ไม่ว่างที่จะทำความเพียรนั่นเอง เวลานี้เป็นเวลาที่ว่างที่สุด ตอนยังมีชีวิตอยู่นี่คือตอนว่างอย่างเห็นได้ชัด
.
การแก้อย่างนี้ เรียกว่า “อุบายปัญญา” เครื่องปราบกิเลส กิเลสที่มาก่อกวนที่มาทำการกีดขวาง แก้ด้วยวิธีนี้ ผลก็ปรากฏขึ้นมาให้เย็นใจ สบาย เพียงสมาธิเท่านั้นก็เห็นคุณค่าของใจ และเห็นคุณค่าของศาสนา เห็นคุณค่าแห่งความพากเพียรของตน เป็นลำดับลำดาอยู่แล้ว
............................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
"ถึงเมืองอิ่มพอ"




“ มีปัญญาแต่ยังไม่มีกำลัง”
ถาม :ถ้าเวลานั่งให้หนูใช้พุทโธ
พระอาจารย์ : เวลาเราไม่ได้นั่งให้ใช้พุทโธ เวลาทำการทำงานแล้วคิดโน่นคิดนี่ก็พุทโธ พุทโธไป หยุดมัน เวลานั่งก็ดูลมไปถ้าหนูถนัดลมก็ดูลมไป
ถาม : แต่ มันก็ฟุ้งนะคะคือหนูก็ฟุ้งแต่หนูก็ดึงกลับมา
พระอาจารย์ : อ่าพยายามดึงมาบ่อยๆแล้วต่อไปมันจะฟุ้งน้อยลงไปเรื่อยๆ
ถาม : แล้วหนูอยากรู้ว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่าเรามีปัญญาแล้ว
พระอาจารย์ : ปัญญาเรามีแล้วนี่ เรารู้ ตอนนี้เรามีปัญญาแล้วแต่เราไม่มีกำลังที่จะไปแก้ปัญหานี้ ไม่มีสติ ไม่มีสติหยุดความอยาก ที่อยากจะไปยุ่งกับเรื่องต่างๆ ถ้าเรามีพุทโธ พุทโธมันก็จะหยุดมันได้
ถาม :ใช่ค่ะอย่างเวลาที่หนูก็พยายามมาอยู่กับที่ลม อยู่ที่พุทโธพอ ช่วงนั้นวินาทีนั้นมันก็โอเคได้ แต่พอไปเจอไปเห็นอีกก็
พระอาจารย์ : ก็เราก็พุทโธต่อไปสิ เราอย่าไปหยุดพุทโธ พอหยุดปั๊บความอยากมันก็โผล่พุ่งออกมาเลย แล้วปัญญาก็หายไปหมดเลย คิดว่าเป็นโทษเป็นภัยนี้หายไปหมดเลย
ถาม : ถ้าอย่างนั้นหนูหนีก่อนดีกว่าค่ะ
พระอาจารย์ : เออหนีก่อนดีกว่า ลงเวทีก่อน ไปซ้อมกระสอบทราย ไปชกกระสอบทรายใหม่ ขึ้นไปโดนเขาชกอย่างเดียว โดนกิเลสชก ไม่ใช่โดนใครชกหรอก กิเลสความอยากมันชกเราตลอดเวลา เอาสิ เอาสิดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ แล้วก็มาน้ำตาตกใน.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






ถ้า "มีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้" อยู่ที่ไหน” นั้นแลคือ “ตัวภพ”
พออันนั้น “สลายลง” ไปแล้วมัน "ไม่มีจุด” เพราะ “จุด” มันเป็น “สมมุติ”.
“สิ่งใดที่เกิด สิ่งนั้นก็ต้องดับ”
“หลักธรรมชาติ” ของ "ตัวมันเอง" แล้วจะ “ไม่ดับ คือ”
“จิตที่บริสุทธิ์” นั้นจะ “ไม่ดับ” “ทุกสิ่งทุกอย่างดับไป” แต่ “ผู้ที่รู้ว่าดับ” นั้น “ไม่ดับ”.
***** อันนั้นดับไป อันนี้ดับไป “ผู้ที่รู้" ว่า "สิ่งเหล่านั้นดับไป" นั้น “ไม่ดับ” *****
ถ้า “สงวนจิต" ก็เท่ากับ "สงวนอวิชชา”
เอ้า ถ้า “จิตจะฉิบหาย” ไปด้วยกันก็ขอให้ “ฉิบหายไป”
เอา “กิเลส” ออกให้หมด อะไรจะดับ ก็ดับให้หมด เอาไฟเผาเข้าไปเลย นี่แหละที่ว่า “เผาอวิชชา”
แท้จริง “จิตไม่ดับ” พอ “อวิชชาดับ” ไปพับ “อันนี้ก็เปิด” แทนที่ “จะดับ” ไปด้วยแต่ “ไม่ดับ”
"หลักความจริง" อันเป็น "หลักธรรมชาติ" ที่รู้ในหลักความจริงก็ย่อมเชื่อต่อหลักความจริงอันนั้นเหมือนกันหมด เพราะ “พุทธะแท้” “ธรรมะแท้” “สังฆะแท้” อยู่ที่ “ใจ”"
"ใจที่บริสุทธิ์แท้" คือ "พุทธะ ธรรมะ สังฆะ" โดยสมบูรณ์ "ไม่มีกาลสถานที่" เข้าไปเกี่ยวข้องวุ่นวายเหมือน "สมมุติ" ทั่วๆ ไป.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี




“ ซ้อมฝึกปฏิบัติไปในตัว”
ทำอย่างพระนี้ มีอาชีพก็เพียงวันละชั่วโมง ไปบิณฑบาตกัน บิณฑบาตก็เป็นอาชีพของพระ อาชีพหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง บิณฑบาตเสร็จกลับมา ฉันเสร็จก็หมดแล้ว ทีนี้ก็ซ้อมปฏิบัติกัน พระที่อยู่บนเขานี้ ตอนเช้าก็เดินลงไปตีสี่กว่า เดินไปให้ทันสว่างที่วัดข้างล่าง เพื่อที่จะได้ขึ้นรถไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน บิณฑบาตที่หมู่บ้านเสร็จ กลับมาก็มาฉันที่ศาลา ขณะที่บิณฑบาตขณะที่ฉันก็ปฏิบัติ ปฏิบัติด้วยสติ ที่คอยควบคุมจิตตลอดเวลา ไม่ให้จิตคิดโน่นคิดนี่ คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ให้อยู่กับงานที่กำลังทำ เดินบิณฑบาตก็เหมือนเดินจงกรมไป ถึงเวลาเปิดฝาบาตรก็เปิดถึงเวลาปิดก็ปิด แต่ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ ไม่ไปมอง เดินไปมองร้านโน้นมองร้านนี้มองคนนั้นมองคนนี้ พระจะเดินแบบทอดสายตาลงไปข้างหน้า มองแค่เฉพาะเวลาโยมใส่บาตร ให้โยมใส่บาตรก็เปิดฝาบาตร ไม่มองหน้าโยม โยมใส่บาตรเสร็จก็ไป นี่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ ทำไปในตัว ฝึกสติ สตินี้มีไว้เพื่อหยุดความคิด
ถ้าไม่มีสติมันก็จะคิดเพ้อเจ้อ คิดเพ้อฝัน คิดเรื่อยเปื่อย คิดแล้วก็เกิดอารมณ์ เกิดความอยากต่างๆขึ้นมา ทำให้ใจร้อน นักปฎิบัติอาชีพนี้ ไม่ว่าเขาทำอะไรที่จำเป็นต้องทำ เขาก็ทำไปแบบปฏิบัติไป ควบคู่กันไป บิณฑบาตก็บิณฑบาตไป แต่ใจก็ปฏิบัติสติไป ฝึกสติคอยควบคุมความคิด ไม่ให้คิด ให้อยู่ในปัจจุบัน ให้อยู่ที่งานที่กำลังทำ เวลากลับมาถึงวัด ฉันก็ไม่คุยกัน ต่างคนต่างฉันกัน เวลาฉันก็ดูอาหารพิจารณาอาหาร พิจารณาใจ ดูว่ามีความอยากกับอาหารหรือเปล่า ถ้ามีความอยากก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา ให้มันไม่อยาก ให้กินแบบไม่อยากกินแบบกินยา ยานี้เรากินเราไม่ค่อยอยากกิน แต่เราต้องกิน กินแบบกินยายังไง ก็ให้นึก มันอยากก็ให้นึกถึงอาหารที่มันน่ากินแล้วเวลามันเข้าไปในปากแล้วมันน่ากินไหม อาหารที่อยู่ในจานเห็นแล้วน้ำลายไหล นี่แสดงว่าอยากแล้ว เวลามันเข้าไปในปากเคี้ยวผสมกับน้ำลาย แล้วคายออกมานี้ ยังอยากจะกินเข้าไปไหม ให้นึกถึงภาพของอาหารที่อยู่ในปาก อย่าไปคิดถึงอาหารที่อยู่ในจาน ถ้านึกถึงอาหารในจานแล้วมันอยากกิน แต่คิดถึงอาหารที่อยู่ในปากแล้วถ้าคายออกมาแล้วมันกินไม่ลง หรืออยู่ในท้อง หรือเวลาถ่ายออกมา
นี่คือวิธีพิจารณาอาหารเพื่อไม่ให้กินด้วยความอยาก พิจารณาว่าในที่สุดมันก็ต้องกลายเป็นอุจจาระไป อาหารอันวิเศษราคาแพงๆ ไปนั่งตามร้านอาหารสั่งอาหารชนิดนั้นชนิดนี้มา เดี๋ยวก็มากลายเป็นอุจจาระไป หน้าที่ของอาหารก็มีเพื่อเลี้ยงดูร่างกายเท่านั้นเอง ไม่ให้ร่างกายมันหิว หรือดับความหิวที่เกิดจากการขาดอาหาร แต่ยังไปรับประทานอาหารด้วยการติดรสชาติอาหาร ติดรูปของอาหาร มันจะเป็นกิเลส มันจะทำให้อยากกินมาก กินเท่าไหร่ก็ไม่พอ ทั้งๆที่ร่างกายไม่ต้องการ แต่เราก็ยัดอาหารเข้าไป ให้ร่างกายมันพองขึ้นมา เห็นไหมคนที่พองก็เพราะกินอาหารด้วยความอยาก นึกถึงอาหารเห็นอาหารที่อยู่ในจานแล้วอดไม่ได้ ต้องกิน บางทีร่างกายมันอิ่มแล้วแต่ใจมันไม่อิ่ม กินแบบนี้มันก็จะเป็นโทษ เพราะมันจะหิวอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้ากินแบบกินยานี้ มันจะไม่หิว กินหนเดียว พระวัดนี้ฉันมื้อเดียว ไปบิณฑบาตเสร็จ กลับมาพิจารณาอาหารฉันไป ฉันเสร็จก็ล้างบาตร เสร็จแล้วก็ช่วยกันกวาดถูศาลาให้เรียบร้อย เก็บข้าวเก็บของให้เรียบร้อย แล้วก็ขึ้นรถขึ้นมาอยู่บนเขา พอมาถึงก็แยกกันไปอยู่ตามที่พักของตน ไปเดินจงกรม ไปนั่งสมาธิ ไปควบคุมจิตต่อไปด้วยสติ
เบื้องต้นนี้ต้องฝึกสติให้มาก เพื่อทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิก่อน พอควบคุมจิตได้ สั่งให้จิตเข้าสมาธิได้แล้ว ทีนี้เวลาไม่ได้อยู่ในสมาธิก็มาใช้ปัญญา มาพิจารณาสภาวะธรรมต่างๆที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย ว่าสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่นี้ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ของเรา สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป แล้วสิ่งต่างๆที่เราอยากได้ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ได้มาแล้วเดี๋ยวมันก็จากเราไปเหมือนกัน พิจารณาเพื่อให้เราไม่อยากได้อะไร เพราะเวลาที่จากเราไป มันทำให้เราทุกข์กัน.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





วิธีการปฏิบัติ ไม่ว่าจะภาวนาในแง่ใด เช่น อานาปานสติเป็นสำคัญ เวลาลมหมดไป สร้างอุปสรรคขึ้นแก่ตนด้วยความกลัวตายนั้นแหละ ความกลัวตายนี่เหลือเกิน มันเป็นนิสัยสันดานของสัตว์โลก ไม่ว่าท่านว่าเราเป็นเหมือนกัน ไม่ต้องไปเรียนกันที่ไหน แม้แต่สัตว์เขาก็รู้กลัวตาย นี่เมื่อลมหมดไปในความรู้สึกเท่านั้นก็กลัวตายจึงสร้างอุปสรรคให้ตนเองเสีย ไปได้แค่นั้นก็หยุด ๆ ไม่เลย ถ้าปัญหานี้ยังแก้ไม่ตก เพราะฉะนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ว่านี้ ถึงลมจะหมดก็หมดไปเถอะ เมื่อผู้รู้ยังครองร่างอยู่นี้แล้วไม่ตาย เท่านั้นก็ผ่านไปได้ตามความสะดวกสบาย ตามหลักธรรมชาติของการภาวนา
นี่เราพูดถึงเรื่องสมาธิ ที่จะให้เกิดปัญญาต้องใช้ความใคร่ครวญ ความพินิจพิจารณา มีการบังคับบัญชากันในปัญญาขั้นเริ่มแรก เช่นเดียวกับสมาธิขั้นเริ่มแรกต้องมีการบังคับบัญชากันอย่างหนัก จนกว่าจิตจะมีความสงบร่มเย็นกลายเป็นสมาธิ และสร้างฐานของตนขึ้นมาด้วยความมั่นคงได้
จากนั้นก็เริ่มปัญญา การพิจารณาปัญญาก็ต้องพิจารณาด้วยความบังคับเหมือนกัน เราอย่าเข้าใจว่าเมื่อมีสมาธิแล้วปัญญาจะตามมาเอง นั้นเป็นความเข้าใจผิด ส่วนมากคิดกันอย่างนั้น เพราะคิดเอา ไม่ใช่เป็นด้วยหลักธรรมชาติแห่งการปฏิบัติ รู้เห็นด้วยการปฏิบัติ ถ้าในภาคปฏิบัติแล้วไม่เป็นอย่างนั้น สมาธิจะมีอยู่มากน้อย ถ้าไม่ใช้ปัญญาเลยก็เป็นแต่สมาธิอยู่อย่างนั้นเอง
เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ปัญญาให้เป็นปัญญา โดยอาศัยสมาธิซึ่งมีความอิ่มตัวอยู่แล้วด้วยความสงบ ไม่หิวโหยกับอารมณ์ ไม่ส่ายแส่ไปนั้นไปนี้ เวลาเราบังคับให้ทำงานอะไรก็เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ระเหเร่ร่อนเพราะความหิวโหยบังคับ เนื่องจากสมาธิคือความสงบใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว นี้แหละที่ท่านว่าสมาธิอบรมปัญญา
คืออบรมนี่น่ะเป็นเครื่องหนุนปัญญาให้ได้ทำงานด้วยความสะดวก พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้น ถ้าไม่มีสมาธิไม่มีความสงบเลยนั้น พิจารณาอะไรมักเป็นสัญญาไปเสีย เป็นสัญญาอารมณ์ เพราะความหิวโหยของจิตพาให้คิดให้เร่ร่อน ออกจากหลักของปัญญาไปกลายเป็นสัญญาอารมณ์ไปเสีย เลยไม่ได้เรื่อง
พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑






"อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"
อนิจจัง...ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่สามารถจะอยู่ยงคงทนต่อไปได้ ย่อมดับย่อมสลายไปตามกาล พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่เที่ยงแท้แน่นอนไปได้
ทุกขัง...เมื่อมีสิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลก แล้วเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา ของเขา ยามจากไป ยามดับไปสลายสิ้น สิ่งที่รักที่พอใจนั่นแหละ พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
อนัตตา...ความจริงในโลกนี้ มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมันเอง ไม่มีใครไปต่อเสริมเติมแต่งได้ ถึงอย่างไรก็ยังเป็นธรรมชาติ แม้ร่างกายเรานี้จะยึดตัวตนว่า เป็นของเราของเขาไม่ได้ เพราะเขาเป็นเพียงธาตุๆ หนึ่งที่ประชุมกันเท่านั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ทั้งสิ้น
ถ้าโยมไม่รู้สรณะ พุทธะ พระไม่รู้กรรมฐาน ศาสนาจะตั้งอยู่ไม่ได้เลยจะทำจะพูดจะคิดสิ่งใด ก็จงทำ จงพูด จงคิด แต่ในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นเถิด.
"หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ"




นั่งภาวนาจิตเข้าข้างในมันก็หายหนาว"
เทศน์หลวงตา วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๑
"อยู่ในป่านอนไม่ได้ตลอดคืนก็มี มีแต่นั่งภาวนา ตอนกลางวันต้องเดินให้มาก กลางคืนเดินไม่ได้ หนาว หนาวก็ต้องนั่งภาวนา พอนั่งภาวนาจิตเข้าข้างในมันก็หายหนาว หายเงียบเลย พอออกมามันก็หนาวอีก ตลอดรุ่งไม่ได้หลับเลยก็มี อยู่ในป่า
แต่พูดนี้ไม่มีผ้าห่มนะ คือท่านเที่ยวกรรมฐานท่านไม่มีผ้าห่มละพระกรรมฐาน มีผ้าสามผืนเท่านั้น เอาจีวรกับสังฆาพับแล้วก็มีเท่านั้นละ หลับก็หลับ ไม่หลับก็ไม่หลับ แต่ไม่หลับคืนหนึ่งตลอดรุ่งเลย มันหนาวมากเวลาอยู่ในป่า"






"ความท้อแท้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพิจารณาธรรม"
...ถ้าเราท้อแท้ในการพิจารณาธรรมให้ติดต่อ การเห็นธรรมตามเป็นจริงก็ไม่ชัด เมื่อไม่ชัด ความปีติยินดี ความอื่มใจก็ไม่มี ความอ่อนแอและขี้เกียจก็ได้ช่อง วิชาผลัดวันประกันพรุ่งและหลีกเลี่ยง แก้ตัวก็สอบได้ชั้นเอก ติดนิสัยเสียเวลาไปวันละเล็กละน้อย บวกคูณทวีไปในตัว กลายเป็นหมันไปโดยไม่รู้ตัว.
"หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต"




...ต้องประพฤติปฏิบัติ...
..นอนยังไงมันก็นอนได้ นั่งอยู่ก็ยังนอนได้เรื่องของจิต แต่ควรหาวิธีนอนจิตนอนใจ แม้ไม่นอนอยู่สักครั้งทำงานอยู่ตลอดวันเวลา ถ้าหากมีสติ ก็ตื่นตัวอยู่อย่างนั้น อยากตื่นตอนไหนก็ได้ ไม่อยากตื่นก็ได้ ไม่นอนสักครั้ง ก็ไม่ง่วงนอน รสชาติธรรมะ มันเป็นของเลอเลิศถึงขนาดนั้นนะ แต่เราต้องประพฤติปฏิบัติ จนได้ประสบการณ์..
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..




ความเมา ความมักสนุก นั่นมันทำให้เพลินในโลก คั่นเอาศีลมาเป็นฮั้ว ป้องกันความซั่วซ้า คั่นศีลดี ใจมันกะเย็น บำเพ็ญภาวนากะได้ไปง่าย… (ความเมา ความมักสนุก นั่นมันทำให้เพลินในโลก ถ้าเอาศีลมาเป็นรั้ว ป้องกันความชั่วช้า ถ้าศีลดี ใจมันก็เย็น บำเพ็ญภาวนาก็ได้ไปง่าย)
โอวาทธรรม :องค์หลวงปู่บุญมี ปริปุณฺโณ
ตอบกระทู้