Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

สารพัดธรรม

พุธ 08 พ.ย. 2017 6:38 am

"ทุกข์ไม่ทำ ทำไม่ทุกข์
ทุกข์ไม่พูด พูดไม่ทุกข์
ทุกข์ไม่คิด คิดไม่ทุกข์
ทำ พูด คิด ไม่ติดทุกข์"
-:- หลวงปู่เสาร์ ติสสปัญโญ -:-



*สารพัดธรรม(ทำ)*
"หลวงปู่ฝั้นฯรำพึงนั่งภาวนาประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง...นานเกือบ ๑๔ ชั่วโมง"
ระหว่างจำพรรษาอยู่บนภูระงำ ปรากฎว่า ท่านได้รับความทุกข์เวทนาเป็นอันมาก ตามเนื้อตัวปวดไปหมด จะนั่งจะนอนก็ปวดเมื่อยไปทุกอิริยาบถ ท่านจึงตัดสินใจออกไปนั่งภาวนาทำความเพียรอยู่ในที่โล่งแจ้ง ตั้งใจว่าจะภาวนาสละชีวิต คือ ภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมรณภาพ โดยนั่งภาวนาถึงความทุกข์ ความเวทนา ที่เกิดขึ้นในร่างกาย และด้วยความสำรวมใจที่แน่วแน่ จิตของท่านก็พลันสงบวูบลงไป ร่างกายเบาหวิวความทุกข์ทรมานทั้งหลายแหล่ก็พลอยปราศนาการไปหมดสิ้น
ตั้งแต่ทุ่มเศษจนกระทั่ง ๙ โมงเช้า ท่านนั่งภาวนาอยู่ในอิริยาบถเดียวอยู่ตลอดเวลา จนพระเณรทั้งหลายที่กลับจากบิณฑบาต ไม่กล้ารบกวน แต่พอพระเณรเข้าไปกราบ ท่านก็รู้สึกตัวและถอนจิตออกจากสมาธิลืมตาขึ้นดู
พระเณรต่างก็นิมนต์ให้ท่านฉันจังหัน แต่ท่านแย้งว่ายังไม่ได้ออกบิณฑบาตเลย พระเณรต้องกราบเรียนว่า ขณะนั้นใกล้จะ ๑๐ โมงอยู่แล้ว ต่างไปบิณฑบาตกลับมากันหมดแล้ว ท่านจึงรำพึงขึ้นมาว่า ท่านได้นั่งภาวนาประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง นึกไม่ถึงเลยว่าจะข้ามคืนมาจนถึงขณะนี้
ปรากฎว่าจากการนั่งบำเพ็ญสมาธิภาวนาบนภูงำครั้งนั้น ยังผลให้ท่านระลึก พุทโธ ได้เป็นครั้งแรก อาการอาพาธปวดเมื่อยหายไปหมด พ้นจากการทุกข์ทรมาน ตัวเบา กายเบา สบายเป็นปกติ และทำให้ท่านคิดขึ้นได้ด้วยว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยทำความเพียร นั่งสมาธิอยู่ได้นานถึง ๔๙ วัน เมื่อเป็นเช่นนี้ หากท่านจะนั่งนานยิ่งกว่าที่ท่านเคยนั่งในขณะนี้อีกสักเท่าไร ก็ควรจะต้องนั่งได้
(หมายเหตุ...จำพรรษาที่ ๗ ที่ภูระงำ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔)
***ขออนุโมทนา ขอขอบคุณและขออนุญาตเผยแผ่เป็นธรรมทานแก่ผู้ที่มีความศรัทธา ข้อความข้างบนนี้เป็นโอวาทธรรมส่วนหนึ่ง จากหนังสือ "ภาพ ชีวประวัติและปฏิปทา พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร หน้า ๗๕ - ๗๗



“เวลาฉันอาหาร แทนที่จะพิจารณาว่าสุดท้ายมันจะออกมาเป็นยังไง กลับกินด้วยความอยาก ปากยังอมอยู่ ตาก็ดูหาของที่อยาก เตรียมป้อนใส่ปากต่ออีก"
โอวาทธรรม หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร




"..โลกทั้งหลายวิ่งหาความสุขทั่วโลกดินแดน ไม่มีใครเจอความสุขนะ เพราะกิเลสพาวิ่ง วิ่งไปใหนก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งเดือดร้อนวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด
คือกิเลสพาสัตว์ให้คิดให้ปรุงยุ่งเหยิงวุ่นวาย
แต่ถ้าคิดเรื่องอรรถเรื่องธรรมเข้าสู่ใจแล้ว จิตจะเข้าสู่ความสงบ เมื่อจิตสงบแล้ว จะเย็นใจสบายใจ .."
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน




ความรัก......จะเสมอด้วยตนเองนั้นไม่มี
แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาแล้วไม่มี
ความร้อนแรงของไฟเสมอด้วยไฟราคะแล้วไม่มี
ข่าย (เครื่องดัก) เสมอด้วยโมหะแล้วไม่มี
ความผิด......เสมอด้วยโทสะแล้วไม่มี
ความทุกข์.....เสมอด้วยขันธ์แล้วไม่มี
หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร
วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน




"คนเราเกิดมา มีร่างกายเป็นที่อยู่อาศัย อุปมาเป็นบ้านที่กำลังไหม้ไฟ เพราะการเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้เป็นเหตุ เช่นเดียวกัน
บัดนี้ไฟกำลังไหม้บ้านเรือนเราอยู่เสมอ ๆ ตลอดเวลา ผู้มีสติ ผู้มีปัญญา นำสมบัติอันมีค่า ค่อย ๆ ขนออกจากบ้านที่กำลังไหม้ไฟอยู่นี้ เพราะเมื่อบ้านหลังนี้ ถูกไฟไหม้หมดแล้ว ก็จะได้มีสมบัติสิ่งของจับจ่ายใช้สอยของตนต่อไป"
พระสุพรหมยานเถร
วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน




"แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรม ก็ต้องปฏิบัติธรรมที่กายและใจเรานี้ หาได้ไปปฏิบัติที่อื่นไม่ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องหอบสังขารนี้ไปที่ไหน ถ้าตั้งใจจริงแล้ว นั่งอยู่ที่ไหน ธรรมก็เกิดที่ตรงนั้น"
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล




"ศีล" คือ ปรกติจิต ที่อยู่ปราศจากโทษ เป็นจิตที่มีเกราะบังป้องกันการกระทำชั่วทุกอย่าง
"สมาธิ" ผลสืบเนื่อง จากการรักษาศีล คือจิตที่มีความมั่นคง มีความสงบ เป็นพลังที่จะส่งต่อไปอีก
"ปัญญา" ผู้รู้ คือ จิตที่ว่าง เบาสบาย รู้แจ้งแทงตลอด ตามความเป็นจริงอย่างไร
"วิมุตติ" คือ จิตที่เข้าถึงความว่าง จากความว่าง คือละความสบาย เหลือแต่ ความไม่มี ไม่เป็น ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล



ให้ใจอยู่กับใจนี้ ก็คือให้มีสติกํากับใจ ให้เป็นสติถาวร ไม่ใช่เป็นสติคล้ายๆ หลอดไฟที่จวนจะขาด เดี๋ยวก็สว่างวาบ เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็สว่าง แต่ให้มันสว่างติดต่อกันไปตลอดเวลา เมื่อสติมันติดต่อกันไปอย่างนี้แล้ว ใจมันก็มีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า #อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา ตัวรู้ก็คือ "สติ" นั่นเอง
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล



เรื่อง อานิสงส์อุทิศดวงตาและอุทิศศพ
ผู้ถาม :- “ถ้าเราจะไม่เกิดอีกแล้ว และเราอุทิศดวงตาให้สภากาชาด แต่ถ้าบางทีเราไม่ถึงซึ่งพระนิพพานและเราต้องมาเกิดอีก อยากทราบว่า ตาเราจะบอดหรือไม่ครับ…?”
หลวงพ่อ :- “บอดแน่ ๆ เลย เสร็จ..ไม่มีตาดูน่ะซิ”
ผู้ถาม :- “ก็นั่นนะซิครับ กลัวจังเลยว่าจะไม่มีตาดู”
หลวงพ่อ :- “ต้องตอบว่า ตาจะแจ่มใสดีกว่าตาเดิม เพราะอานิสงส์อุทิศลูกตาเป็นทาน ไม่ใช่ตาบอดนะ”
ผู้ถาม :- “ลูกเคยตั้งใจไว้ว่า การบริจาคดวงตาและร่างกายเมื่อหลังจากตายแล้ว จะได้ประโยชน์ หลวงพ่อว่าดีไหมคะ…?”
หลวงพ่อ :- “บุญน้อยไปให้เมื่อตายแล้ว ต้องให้เมื่อเป็น”
ผู้ถาม :- “ก็ตาบอดซิคะ”
หลวงพ่อ :- “ใส่ตาใหม่ ใส่ตาแก้วมันสวยกว่าตาเก่า ตาใสแจ๋วแต่มองอะไรไม่เห็น อย่างพระพุทธเจ้าสมัยเมื่อเป็นพระเวสสันดรไงล่ะ เขามาขอของภายนอกก็คิดว่า ทำไมไม่ขอดวงหทัย…ทำไมไม่ขอดวงตา…ทำไมไม่ขอแขนซ้ายแขนขวา…ถ้าขอดวงตาเราจะควักให้ ขอแขนซ้ายจะตัดให้ ขอแขนขวาจะตัดให้ เป็นต้น
แต่ว่าการตั้งใจแบบนั้นก็เป็นกุศลนะ กุศลย่อมเกิดตั้งแต่เริ่มคิด ตัดสินใจว่าจะให้ เวลาตายไปแล้วก็ได้บุญแน่ แต่สงสัยซิ…ไปเกิดใหม่ตาจะโบ๋ เพราะมีคนสงสัยหลายคนมาถาม”
ผู้ถาม :- “แล้วจริง ๆ โบ๋ไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ไม่โบ๋ เพราะไปเกิดใหม่ ไม่ได้เอาตาดวงเก่าไปด้วย กายเก่าไม่ได้ไป เกิดใหม่ก็อาศัยบุญใหม่ การเกิดนี่ต้องมีบุญนะ คนไม่มีบุญเลยเกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้ ต้องมีบุญช่วยให้เกิด แต่ว่าต้องสร้างกายใหม่ ไม่ใช่กายเก่า
แต่ว่าตามหลักของการปฏิบัติท่านบอกว่า ถ้าคนเจริญสมาธิจิตอยู่ คือทรงสมาธิเวลาตาย ถ้าจิตออกทางตา ตาทิพย์ จิตออกทางหู หูทิพย์ จิตออกทางปาก ปากทิพย์ จิตออกทางจมูก จมูกทิพย์ ถ้าจิตออกมือ มือทิพย์ ออกทางหน้าท้อง ถ้าท้องทิพย์ละแย่เลย”
ผู้ถาม :- “ทำไมหรือครับ…?”
หลวงพ่อ :- “เลี้ยงไม่อิ่มนะซิ”
ผู้ถาม :- “อ๋อ…” (หัวเราะ)
หลวงพ่อ :- “คำว่า “ทิพย์” หมายความว่าเกิดประโยชน์แก่สายนั้น ตาดี อาจจะได้ทิพจักขุญาณ หรือว่าเป็นคนที่มีหูดีไวเป็นพิเศษ แก่เฒ่ามากแล้วคนอื่นเขาหูตึง เราก็ไม่ตึงไม่พร่า ปากดี พูดแล้วคนอื่นชอบฟัง เกิดประโยชน์จากปาก อย่างนี้เป็นต้น”
ผู้ถาม :- “แล้วที่บอกว่ากายทิพย์ออกจากร่าง ความจริงออกทางไหนครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ที่เขาฝึกเอากายออกไปใช่ไหม…?”
ผู้ถาม :- “ครับ
หลวงพ่อ :- “ไม่ต้องหาช่องละนั่นไปเลย เวลาออกแบบนั้น ก็เหมือนกับเข้านั่นแหละ เข้าไม่เลือกช่อง ออกก็ไม่เลือกช่อง เพราะเป็นนามธรรม อย่างกลางคืนเรานอนอยู่ห้องแคบ ๆ ถ้าผีมาหรือเทวดามาตั้งพัน เราก็เห็นได้ แต่ไม่มีห้องกั้น เพราะว่าสภาพเป็นทิพย์”
ผู้ถาม :- “ทีนี้ก็มีคนคนหนึ่งได้ทำพินัยกรรมไว้ว่า ถ้าตายแล้ว ขออุทิศศพให้โรงพยาบาล ทีนี้ลูกหลานก็ไม่สบายใจ เพราะถ้าอุทิศให้โรงพยาบาลแล้ว กลัวพ่อจะไม่ไปผุดไปเกิดเพราะไม่ได้เผาศพ หลวงพ่อมีความเห็นว่าอย่างไรครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ความจริงถ้าฉันเป็นลูกเป็นหลานฉันจะดีใจมาก ไม่ต้องเปลืองเงินทำศพ มีผลเท่ากันนะ พอตายลงไปปั๊บ ไอ้จิตนี่มันก็ไปตามสภาพตามกฎของกรรมอยู่แล้ว มันไม่อยู่หรอก มันไม่มานั่งห่วงซากศพ ไอ้ที่ว่านั่นห่วงซากศพน่ะไม่จริง”
ผู้ถาม :- “เวลาคนตายไปแล้วใหม่ ๆ กี่วันถึงจะรู้ว่าตายครับ…?”
หลวงพ่อ :- “เอาตัวรู้หรือว่าใจรู้ ถามให้ถูก แต่ความจริงนะ ถ้าตายเดี๋ยวนั้นก็รู้เดี๋ยวนั้น ไม่ใช่กี่วัน ฉันเคยตายหลายวาระฉันรู้ ไม่ต้องไปถามชาวบ้านที่ไหนหรอก พอมันออกจากร่างปั๊บ ก็เห็นร่างกายเนื้อนอนอยู่แล้ว อารมณ์จิตนึกรังเกียจทันที ไม่ใช่พอใจ ไม่ใช่เสียดายนะ แต่รังเกียจไอ้ตัวนั้น
ฉะนั้นไอ้เรื่องตายแล้วจะเผาหรือไม่เผา ไม่ต้องวิตกกังวล จิตใจเป็นไปตามสภาพของมันอยู่แล้ว ถ้าฉันเป็นลูกเป็นหลาน ฉันยุส่งเลย เอาไปให้เขาเถอะ ตายปุ๊บเราก็ยกไปโรงพยาบาล ไม่ต้องนิมนต์พระมาบังสกุลด้วย”
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง
ตอบกระทู้