พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พฤหัสฯ. 09 พ.ย. 2017 5:53 am
"โลงศพของอาตมา ก็คือ
ความดีที่ทำไว้ในโลก
ด้วยการเผยแผ่พระธรรม
ป่าช้าสำหรับอาตมา ก็คือ
บรรดาประโยชน์ และคุณทั้งหลาย
ที่ทำไว้ในโลก เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์
-:- ท่านพุทธทาสภิกขุ -:-
"เราทำงานคนเดียวไม่ได้
แต่ละคนมีดีคนละอย่าง
ควรหันหน้าเข้าหากัน
ทำงานด้วยกัน
เอาส่วนรวมเป็นหลัก
มิใช่เอาตนเป็นใหญ่"
-:- หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป -:-
ให้พวกเราทุกคนพยายามมีสติ
เฝ้าดูจิตใจของเรานี้
ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ไม่ใช่ว่าไปดูบุคคลอื่น
ว่าเขาทำอะไร หรือเขาพูดอะไร
แล้วเอาสิ่งที่ไม่ดีมาเผา
อารมณ์จิตใจของเรา
ทำให้จิตใจของเรานั้น
มีความทุกข์ใจ
มีความไม่สบายใจ
#นักประพฤติปฏิบัตินั้นต้องพึงมีสติ
#เฝ้าเห็นกิเลสภายในใจ
#ของเราอยู่เสมอ
พระอาจารย์อัครเดช ถิรจิตโต
การเกิดมาเป็นคน เป็นมนุษย์
เหมือนเขาให้มาค้าขาย
หากประมาทอวดดี ไม่เชื่อผู้รู้ ก็ขาดทุน
หากโชคร้ายเพราะประมาทเป็นเหตุ
ก็ต้องล้มละลายกลับไปอยู่นรกใหม่
ต้องใช้เวลาอีกนานแสนนาน
กว่าจะได้กลับมาทำการค้าใหม่
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
“การปฏิบัติธรรม การรู้ธรรมเห็นธรรมนั้น
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยสำหรับพวกเราเลย ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย มีธรรมเสมอกันหมด แต่ตัวเราแยกเป็นหญิงเป็นชาย ทำอาการกิริยาของโลกบัญญัติขึ้นมา ถ้าการแยกเป็นส่วน เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเนื้อ อาการ ๓๒ แล้วเท่ากันหมด”
_____________
#สุวโจวาท
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
วิธีเดินจงกรม
เมื่อไปถึงต้นทางแล้ว ให้ตั้งเจตนานึกในใจว่า สาธุ ข้าพเจ้าจะเดินจงกรมเพื่อเป็นการปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ขอจงให้จิตใจของข้าพเจ้าสงบเยือกเย็นเป็นสมาธิ เกิดมีสติปัญญา รู้แจ้งแทงตลอดในธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ เทอญ” แล้วจึงระลึกคำบริกรรมว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ๓ จบ และให้รู้ว่า คุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีอยู่ภายในจิตใจของเราแล้ว จึงลืมตาเอามือขวาจับมือซ้ายวางทับกันไว้เพียงสะดือ หรือพกผ้าจึงก้าวขาเดินต่อไป ระลึกคำบริกรรมเอาแต่ พุทโธ ๆ ๆ คำเดียว ให้เดินว่า พุทโธ กลับไป กลับมา ช้าหรือเร็ว แล้วแต่ความถนัดของตน และให้สติระลึกรู้ ทวนกระแสเข้าไปจนกว่าสติระลึกรู้เข้าไปถึงใจจริง ๆ
ด้วยเหตุนี้วิธีระลึกบริกรรมพุทโธ ไม่ออกเสียง ระลึกอยู่ในใจ ลิ้นก็ไม่ได้กระดิก คือให้ใจระลึก “พุทโธ ๆ ๆ ๆ” อยู่ภายในใจ เพื่อเป็นจุกหมาย ฝึกหัดสติระลึกรู้เข้าไป จนกว่าสติกับจิตใจรวมเข้าเป็นอันเดียวกัน ชำนิชำนาญแล้ว ไม่ช้าไม่นาน จิตจะสงบรวมเป็นสมาธิ มีลักษณะ เบาแข้ง เบาขา คล้าย ๆ กับมีสิ่งมาพยุงร่างกาย เบาไปหมดทั้งตัวดังนี้ เรียกว่าจิตรวมด้วยอิริยาบถเดินจงกรม
วิธีนั่งสมาธิภาวนา
ถ้าเดินจงกรมก่อนแล้ว เมื่อหยุดการเดินแล้วขึ้นไปบนกุฏิแล้วกราบที่นอน ๓ ครั้ง แล้วจึงนึกตั้งเจตนาว่า “สาธุ ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนา เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ขอให้จิตใจของข้าพเจ้าสงบเยือกเย็นเป็นสมาธิ เกิดมีสติปัญญา รู้แจ้งแทงตลอดโดยธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าจงทุกประการเทอญ” จึงบริกรรมว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ๓ จบ แล้วให้เข้าใจว่า คุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีอยู่ภายในใจของเราแล้ว จึงนั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย นั่งตั้งกายให้เที่ยงตรง คือ ไม่ก้มนัก ไม่เงยนัก ไม่เอียงซ้าย และเอียงขวา เมื่อนั่งเรียบร้อยดีแล้ว จึงหลับตาระลึกบริกรรมเอาแต่คำเดียวว่า “พุทโธ ๆ ๆ ๆ” เป็นอารมณ์ และวิธีระลึก บริกรรมเหมือนกับเดินจงกรม ต่างกันแต่อิริยาบถเดินหรือนั่งเท่านั้น แต่ให้สังเกตที่เราท่านระลึกบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ทวนกระแสเข้าไปจนกว่าสติกับจิตใจเข้าเป็นอันเดียวกันแล้ว และรู้สึกสบายใจจะหยุดบริกรรมก็ได้ แต่ให้ตั้งสติกำหนดรู้อยู่ตรงที่รู้ ไม่ให้ความรู้เคลื่อนไหวไปตามอารมณ์สัญญา ความนึกคิดอะไรทั้งนั้น ให้กำหนดรู้แน่วนิ่งเฉยอยู่แล้ว จิตจึงจะรวมสนิท ไม่มีนิมิตและอารมณ์รบกวน แล้วรู้สึกสบายกาย สบายใจ หายเหน็ดหายเหนื่อย หายปวดแข้งปวดขา หายปวดหลังปวดเอว รู้สึกสบายมาก ถ้าจิตรวมสนิท ดังที่แนะแล้ว
เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ อย่าเพิ่งด่วนออกจากสมาธิ ให้ตั้งสติไว้ แล้วพิจารณาเสียก่อนว่า ทีแรกเรานั่งสมาธิ ได้ละวางอารมณ์อย่างไร และได้ตั้งสติกำหนดรู้อะไร เรามีความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็นอะไรหรือไม่ จิตเราจึงสงบสุขสบายอย่างนี้ เราต้องสังเกตพิจารณาให้รู้ไว้ ภายหลังจะทำถูกแนวทางและวิธีที่เคยทำมาแล้ว เมื่อทำอีกทีหลัง ถ้าทำด้วยความอยากจิตสงบรวมอีกไม่ได้เลย เพราะความอยากเป็นข้าศึกแก่สมาธิโดยแท้
วิธีเดินจงกรมและวิธีนั่งสมาธิ โดยหลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่
บางคนภาวนาไม่อยากเห็นภาพต่างๆ เช่น นรก สวรรค์ เทวดา เป็นต้น
การที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรแปลก
ที่ว่าไม่แปลกก็เพราะว่า เมื่อเราเห็นแล้ว กิเลสของเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม
บางคนแถมยังทำให้เกิดกิเลสเพิ่มมากขึ้นอีกเสียด้วย
คือถือว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ ที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้
เลยไม่ยอมกราบไหว้ใครทั้งสิ้น จนกลายเป็น สัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์
ปิดกั้นทางมรรค ทางผล ทางนิพพาน ไปโดยปริยาย
เป็นความเห็นที่ผิดจากหลักศาสนา
พวกเราท่านพากันฝึกหัดสติลูบๆ คลำๆ กันอยู่อย่างไรเล่า
จึงมิรู้ช่องแนวทางพ้นทุกข์เสียที
ด้วยเหตุนี้ ขอให้พากันยึดหลักสติปัฏฐาน ๔
เป็นหลักฝึกสติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
นี่แหละ บรรดาสิ่งสมมุติที่เราไปยึดถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเรานั้น
ก็จะได้เพียงชีวิตหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา หรือสมบัติต่างๆ
เมื่อเราตายไปแล้ว เราจะยึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอีกไม่ได้
เราจะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นติดตามไปสวรรค์ นรก หรือที่ไหนๆ ก็ไม่ได้
ตรงกับคำว่า “สมบัติของโลก ก็ต้องอยู่ในโลก”
หนังสือ คติธรรมของหลวงปู่คำดี ปภาโส
“...หูทิพย์ ตาทิพย์ และการเทศน์ที่เผ็ดร้อนของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต...”
“...ลูกศิษย์ที่เคยติดตามปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ต่างก็ตระหนักดีถึงเรื่องหูทิพย์ตาทิพย์และปรจิตวิชาของท่านว่า น่าอัศจรรย์และน่ากลัวมาก เฉพาะปรจิตวิชารู้สึกว่าท่านจะรวดเร็วมาก ใครคิดไม่ดีขึ้นที่ใด ขณะใดเป็นต้องได้การทันทีแทบทุกครั้ง ฉะนั้น เวลาอยู่กับท่าน ต่างองค์ต่างระวังสำรวมอินทรีย์อย่างเต็มที่ ไม่เช่นนั้นต้องโดนแน่ ไม่มีทางปิดบังหรือหลีกเลี่ยงได้
ตัวอย่างในเรื่องนี้ เกิดในช่วงที่หลวงปู่(มั่น)อยู่เชียงใหม่ ท่านเทศน์อบรมพระและยกตัวอย่างการปฏิบัติของท่านว่าเต็มไปด้วยความลำบากลำบนต้องสลบไปถึง ๓ หน กว่าจะได้ธรรมมาสอนผู้อื่นได้
พอหลวงปู่เทศน์จบ มีพระองค์หนึ่งคิดอยู่ในใจว่า “โอ้โฮ! ทำความเพียรถึงขั้นสลบไปเช่นนี้มันเกินไป เราไม่เอาด้วยแน่ๆ ใครจะไปนิพพานก็เชิญไปเถิด เราไม่อยากไปแน่ เพราะไม่อยากสลบ เพียงเห็นเขาสลบก็กลัวจะตายอยู่แล้ว” หลังจากนั้นพักหนึ่ง พระธรรมเทศนากัณฑ์ใหม่ก็เป็นไปอย่างเผ็ดร้อนมาก ราวกับจะฉีกดิบๆ สดๆ เอาที่เดียวว่า
“ท่าน...(ระบุชื่อ)... ไม่เชื่อผมหรือ? ท่านเข้าใจว่าผมโกหกเล่นๆอย่างนั้นหรือ? ถ้าไม่เชื่อก็นิมนต์ไปซะซิ จะมาอยู่ให้หนักสำนักทำไม ท่านมาเอง ผมมิได้นิมนต์ท่านมา เมื่อไม่เชื่อก็ต้องไปเอง อย่าให้ทันได้ขับไล่ แม้จะอยู่ก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้ามิได้ประกาศไว้เพื่อสอนโมฆบุรุษเช่นท่าน”
“ความคิดแบบท่านไม่ควรนำมาคิดในเพศของพระที่กำลังอาศัยผ้าเหลืองเป็นอยู่ เพราะผู้ทรงเพศนี้เป็นเพศที่เชื่อธรรม แต่ท่านมิได้เชื่อผมและเชื่อธรรม จึงคิดค้านความพ้นทุกข์ที่เป็นไปตามแบบของพระพุทธเจ้า”
“ที่ใดสนุกกิน สนุกนอน ไม่ต้องทำความเพียรให้ลำบาก ก็นิมนต์ท่านไปที่นั่น ถ้ารู้ธรรมเห็นธรรมของจริงด้วยวิธีนั้น ในสถานที่นั้น ก็ขอนิมนต์กลับมาโปรดผมคนกิเลสหนาปัญญาทึบบ้าง จะยกมือสาธุสุดศอกสุดแขน และขอบคุณบุญคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมนั่นแหละ”
“การสอนของผมก็สอนด้วยความจริง ว่าผู้หวังพ้นทุกข์ต้องเป็นผู้อาจหาญไม่กลัวตาย แต่ท่านไม่เชื่อว่าเป็นความจริง จึงขอเกิดตายเพื่อแบกหามทุกข์อยู่ในโลก ท่านอยากอยู่ในโลกกองทุกข์ก็เชิญท่านอยู่ไป แต่อย่ามาคัดค้านทางเดินของธรรมที่เป็นศาสดาสอนโลกแทนพระพุทธเจ้า จะเป็นขวากหนามทิ่มแทงพระศาสนาอันบริสุทธิ์... ถ้าไม่คิดแก้ไขเสียในขณะนี้ท่านจะเสียคน และยังจะทำให้ผู้อื่นเสียตามท่านอีกมากมาย ซึ่งน่าสลดเสียดายอย่างยิ่ง...”
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (ประวัติ ข้อวัตรและปฏิปทา)
โครงการหนังสือบูรพาจารย์เล่ม ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๘)
โดย รศ.ดร.ปฐม – รศ.ภัทรา นิคมานนท์
เวลาจิตสงบมันเหมือนเสียงเงียบไม่มีเสียงเลย เบา เวลาจิตไม่สงบ เหมือนมีจั๊กจั่นดัง พอเสียงมันสงบแล้ว มันเย็นสบาย นะไม่ยากหรอก เพียงแต่ให้ขยันพุทโธเท่านั้นแหละ ลองดูสักวันเดียว วันนี้ตื่นขึ้นมาแล้ว จะพุทโธไปตลอด จะไม่คิดอะไรจะไม่คุยอะไรกับใคร คิดได้ทุกวันไม่เบื่อหรือ คิดแล้วมันได้อะไรบ้าง ได้แต่ความฟุ้งซ่านได้แต่ความอยาก ได้แต่ความโกรธ คิดถึงคนที่เราเกียจนี้มันโกรธขึ้นมาแล้ว คิดถึงสิ่งที่เราไม่ชอบก็วิตกกันขึ้นมาแล้ว คิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายก็วิตกกันขึ้นมาแล้วไม่กล้าคิดกัน กลัวกัน กลัวคิดแล้วเดี๋ยวจะตายอย่างนั้นแหละ ถ้าคิดถึงความตายแล้วมันจะตายมันไม่ตายหรอก ถ้าความคิดเรามันศักดิ์สิทธิ์ก็คิดให้มันรวยซิ ดูซิมันจะรวยจริงหรือเปล่า มันไม่รวยหรอก ถ้าความคิดวิเศษก็ดีนะซิ คิดให้มันรวย ความคิดมันก็ความคิด ความจริงก็ความจริงมันคนละเรื่องกัน ความตายเป็นความจริง มันตะตายเมื่อไหร่มันไม่ได้อยู่ที่เราคิดหรือไม่คิดหรอก แต่คิดไว้มันดี มันจะทำให้เราปลงได้ ทำใจได้แล้วมันจะไม่ทุกข์ ที่ให้คิดถึงความตายบ่อยๆ มันจะได้ไม่ทุกข์แล้วมันจะไม่โลภ ถ้ารู้ว่าจะตายมันอยากจะได้ไหม เงินทองอยากจะได้อะไรบ้างไหม มันไม่อยากได้อะไร มันอยากจะได้ความสงบเท่านั้นแหละ อยากจะหายจากความทุกข์ใจที่กำลังเกิดจากความคิดว่า จะตายนี้เท่านั้นเอง ถ้าหยุดคิดใช้พุทโธได้เดี๋ยวมันก็หาย หายแล้วมันจะไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อนกับความตาย ต้องพยายามฝึกใจควบคุมใจบังคับใจให้คิดแต่พุทโธๆไป หรือสวดมนต์ไปก็ได้สลับกันบ้าง สวดอะระหัง สัมมา สวากขาโต สุปะฏิปันโน พุทธัง สะระณัง คัจฉามิไป แล้วก็กลับมาพุทโธใหม่ ธัมโมบ้างก็ได้ สังโฆบ้างก็ได้ ให้ใจมีธรรมะหล่อเลี้ยงจิตใจ อย่าให้มันมีแต่เรื่องของกิเลสมาหล่อเลี้ยงจิตใจ ถ้ามีเรื่องกิเลสมาหล่อเลี้ยงใจก็ร้อน ร้อนยิ่งกว่าร่างกายอีก ตอนนี้อุณหภูมิ ๓๕ ที่ร่างกาย แต่ใจมันขึ้นไปถึง ๑๐๐ แล้ว ใจมันเดือดพล่านเลย
ต้องฝึกต้องบังคับตัวเอง จะปล่อยให้มันพุทโธขึ้นมาเองมันไม่มีวันหรอก เราต้องบังคับมัน ถามตัวเองว่าตอนนี้ เราพุทโธอยู่หรือเปล่า ต้องถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่ถามเดี๋ยวก็ลืมแล้ว เดี๋ยวก็เผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว หมั่นพุทโธไปเถิดของดี พุทโธแล้วใจจะเย็นใจจะสบาย หายเครียด หายทุกข์ หายวุ่นวาย.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
...การปฏิบัติ ยากหรือง่าย
หรือ บรรลุเร็วหรือช้า
ขึ้นอยู่กับกิเลส กับความรู้
ความฉลาดของผู้ปฏิบัติ
.
"ถ้ามีกิเลสหนา ปัญญาทึบ"
ก็จะปฏิบัติยาก แล้วก็จะบรรลุช้า
"ถ้ามีกิเลสบาง
ปัญญาฉลาดแหลมคม"
ก็จะบรรลุเร็ว และปฏิบัติง่าย
.
แต่ สิ่งเหล่านี้มันก็
"ไม่เป็นอุปสรรคอะไร"
ถ้าตราบใดที่ผู้ปฏิบัติ
"มีความเพียรไม่ย่อท้อ"
.
ถึงแม้จะยากก็..สู้ไป
ถึงแม้จะช้าก็..ปฏิบัติไป
ก็จะสามารถที่จะ
"บรรลุมรรคผล ได้เหมือนกัน"
..........................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 15/5/2559
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
...ถึงระยะก็เป็นไปเอง...
..ถ้าหากมีศรัทธา เร่งในการประพฤติปฏิบัติอยู่ตลอด มันก็ต้องเกิดขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง พอมันเต็มรอบ ได้สัดได้ส่วนกันแล้ว มันเป็นไปเอง เราไม่ได้ตกแต่งมันหรอก เราไม่ได้ปรารถนา เราไม่ได้อ้อนวอน มีการกระทำอย่างเดียว ถึงระยะมันก็เต็มของมันเอง คล้าย ๆ กับเทน้ำใส่ขวด ถึงระยะมันก็เต็มเอง..
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..
“บาปกรรมมีอยู่แล้ว”
..บาปกรรม มันก็มีอยู่แล้ว เราก็ดูคนแต่ละคน ก็พอรู้จัก ไม่ต้องว่า เรารู้หรือไม่รู้หรอก ก็แสดงให้เห็นกันอยู่อย่างนั้น ผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ก็มีมาก มีอายุมั่นยืนก็มี ซ้ำมิหนำ มีโภคสมบัติข้าวของนานัปการ ก็มีมากอยู่ แต่บางคน ก็ทุกข์ยากลำบาก หาขอทาน ถือกระเบื้องขอทาน ไปบ้านนั้นเมืองนี้ ขอเฉย ๆ ก็ดีอยู่ แต่บางทีไปปล้นไปจี้เอา อย่างที่ว่ามาแล้ว อันนี้ก็เรียกว่า เป็นกรรมไม่ดี ทำลายผู้อื่น ผลทั้งหลายแหล่มันก็สะท้อนกลับมาหาตัวเจ้าของเอง มันต้องคิดขึ้น จากจิตใจเสียก่อน คือเจตนาตัวนั้น ก็เรียกว่า ใจ มโนกรรมตัวนี้ มันคิดไปในด้านฝ่ายต่ำ ในทางไม่ดี ทางที่สร้างบาปสร้างกรรม มันก็เลยได้กรรมหละ แต่ว่าผู้ที่ได้ทนทุกข์ทรมาน ก็คือตัวของเราเอง ผู้กระทำนี้หละ มาทุกข์ตอนมีร่างกาย ก็ทุกข์ในร่างกาย เพราะร่างกายไม่สมประกอบ ไม่สมบูรณ์แบบ ขาดตกบกพร่องไปนานัปการ เนื่องจากเหตุการณ์ คือการกระทำทั้งนั้น..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง สอนตามหลักธรรมชาติ
"ผูกใจไว้ด้วยบทภาวนา"
การนั่งสมาธิ ก็นั่งเพื่อให้ใจสงบ ไม่ให้คิดอะไร ใจจะไม่คิดอะไรก็ต้องมีเครื่องกำกับ เช่นคำบริกรรมพุทโธๆ หรือการดูลมหายใจเข้าออก เอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ บริกรรมพุทโธไปโดยที่ไม่ต้องดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ ให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆ ไป หรือจะดูลมหายใจอย่างเดียวก็ได้ ดูลมหายใจเข้าหายใจออก ที่ปลายจมูกหรือจะเอา ๒ อย่างปนกันก็ได้ หายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธก็ได้ แล้วแต่ความพอใจ แล้วแต่ความถนัด หรือถ้าเรายังดูลมไม่ได้ หรือพุทโธไม่ได้ จะสวดมนต์ไปภายในใจก่อนก็ได้
สวด อิติปิโส สวด อะระหังสัมมา สวากขาโต สุปะฏิปันโน สวดไปเพื่อป้องกันไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ แล้วพอใจรู้สึกเบาเย็นสบาย ถ้าดูลมได้ก็ดูลมต่อไป ถ้าพุทโธได้ก็พุทโธต่อไป แล้วใจก็จะเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่ความสุขความสบายใจ โดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องมีเงินทอง ไม่ต้องมีสิ่งของต่างๆ มาให้ความสุขกับเรา เราสามารถหาความสุขภายในตัวของเราได้ แล้วต่อไปเราจะได้ไม่ต้องพึ่งใคร ไม่ต้องพึ่งเงินทอง ไม่ต้องพึ่งสิ่งของ ไม่ต้องพึ่งบุคคลต่างๆ และไม่ต้องพึ่งร่างกายของเรา จะได้ไม่ต้องทุกข์กับเขา เพราะไม่ช้าก็เร็วเขาก็จะต้องมีวันจากเราไปนั่นเอง
ดังนั้น ตอนนี้เรามาหัดทำใจให้สงบกัน เราได้ยินได้ฟังมามากมายพอสมควรแล้ว ตอนนี้ถูกบังคับให้นั่ง ถ้ามันไม่ถูกบังคับ มันก็จะไม่นั่งกัน กิเลสมันไม่ยอมให้นั่งง่ายๆ เวลานั่งแล้วก็ไม่ต้องกังวลกับร่างกาย ร่างกายจะเอนไปทางไหนก็ไม่ต้องไปสนใจ คันตรงไหนก็ไม่ต้องไปสนใจ มีอะไรมาให้รู้ก็อย่าไปสนใจ ให้รู้อยู่กับลม หรืออยู่กับพุทโธ หรืออยู่กับการสวดมนต์ของเราไป ใจจะได้เป็นสมาธิเป็นหนึ่ง ถ้าไปสนใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันก็จะทำให้ใจแตก ใจไม่รวมเป็นหนึ่ง เราต้องการให้ใจรวมเป็นหนึ่ง เราต้องอยู่กับเรื่องเดียว อยู่กับพุทโธ หรืออยู่กับลม หรืออยู่กับการสวดมนต์
ขอให้เราพยายามทำกัน แล้วเราจะได้พบกับสิ่งที่ดีที่วิเศษ ที่มีอยู่ในตัวของเราเอง ที่จะอยู่กับเราไปตลอดไม่มีวันสิ้นสุด แม้ร่างกายนี้จะตายไป เราก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย และความสงบที่เราได้ก็จะไม่จากเราไป เพราะมันอยู่กับเรา "อยู่ที่ใจ".
หนังสือสติธรรม
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"การสวดมนต์แบ่งบุญ"
ถาม : การสวดมนต์เป็นบุญไหมคะ สามารถแผ่บุญกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวรได้ไหมคะ แล้วเขาจะได้รับไหม
พระอาจารย์ : สวดมนต์เป็นการทำใจให้สงบ ทำสมาธิ เป็นบุญเฉพาะตน ไม่สามารถที่จะแผ่ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้ ทุกคนต้องทำกันเอง ใครอยากจะมีความสงบก็ต้องทำเอง คนอื่นทำให้เราไม่ได้ แผ่ให้เราไม่ได้ แบ่งความสงบให้เราไม่ได้ ถ้าแบ่งได้ พระพุทธเจ้าก็แบ่งนิพพานให้เราแล้ว เราก็ไม่ต้องมานั่งทุกข์กันอย่างทุกวันนี้ ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด
แต่ความสงบนี้ เป็นธรรมที่แผ่กันไม่ได้ให้กันไม่ได้ ต้องทำเอง จะให้ได้แต่เฉพาะบุญที่เกิดจากการทำทาน เช่น วันนี้ญาติโยมมาทำบุญ ทำทาน แล้วอยากจะแบ่งให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว บุญนี้แบ่งได้ เป็นบุญชนิดเดียวเท่านั้นที่แบ่งได้ บุญชนิดอื่นนี้แบ่งกันไม่ได้ ของใครของมัน.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
หลวงตามหาบัว ท่านได้เงินมา ท่านก็สงเคราะห์โลก ท่านทำกับโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ไปช่วยเหลือโรงพยาบาลซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ซื้อเครื่องใช้ไม้สอยเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลต่างๆ สร้างตึกให้กับโรงพยาบาล ซื้อรถให้กับโรงพยาบาลต่างๆ
เพราะท่านเห็นว่าไม่มีใครไปช่วยทางโรงพยาบาล มาทำบุญกับท่านคนเดียวแล้วท่านจะเอาเงินนี้ไปทำอะไร วัดของท่านก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินใช้ทอง หรือเอาเงินมาสร้างเจดีย์ สร้างโบสถ์ให้มันวิจิตรพิศดาร เป็นอาคารหมื่นล้านแสนล้าน มันเกิดประโยชน์อะไร มันก็เป็นที่อยู่ของสุนัขกับนกพิราบเท่านั้น
สังเกตุไหม ไปดูโบสถ์ ดูเจดีย์ แล้วเป็นที่อยู่ของใคร
มันก็มีแต่ นกพิราบ มีแต่ สุนัข ที่มันอยู่แถวนั้นแหละ
สร้างไปแล้วได้อะไรขึ้นมา
ฉะนั้น เวลาเราทำบุญ ขอให้ใช้ปัญญา คิดถึงความเดือดร้อนเป็นเป้า แล้วก็คิดถึงความตระหนี่ ความโลภในใจของเราเป็นเป้า เราทำเพื่อแค่นี้เอง ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้ที่เดือดร้อน และกำจัดความโลภความตระหนี่ของเราเท่านั้นเอง
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ธรรมะบนเขา ณ จุลศาลา เขตปฏิบัติธรรมเขาชีโอน
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี
วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖
คนที่ไม่โกรธตอบนั่นนะเป็นคนดี
นี่จำให้ดีนะ ความยั่วยุให้โกรธ มันมีอยู่เสมอในที่ทุกสถาน ฉะนั้นบรรดาท่านที่เป็นนักปฏิบัติจงดูพระพุทธดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ถ้าจิตใจของเราฝึกฝนดีแล้ว คือทรงพรหมวิหาร ๔ ดีแล้ว จนเป็นฌานสมาบัติ หรือว่าทรงกสิณ ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งดีแล้ว เป็นฌานสมาบัติอย่างต้นนะ อย่างเล็ก ๆ เราจะไม่แสดงอาการโกรธตอบ และยิ่งกว่านั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ ทรงตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานเป็นอรหันต์ คือเป็นยอดอรหันต์ จะโกรธตอบ ท่านกลับกล่าวว่า
" คนที่ไม่โกรธตอบนั่นนะเป็นคนดี คนโกรธตอบเป็นคนเลว "
จำไว้ตรงนี้แล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติ ทำกายทำใจให้พร้อมนะ ท่านจงอย่านึกว่าท่านจะไม่ถูกเขาด่า
จงอย่าคิดว่าจะไม่ถูกใครเขาแกล้ง
จงอย่าคิดว่าจะไม่มีใครเขาเบียดเบียนท่าน
และจงอย่าคิดว่าอารมณ์โกรธจะไม่เกิดขึ้นกับใจของท่าน ถ้าคิดแบบนี้ก็ประมาทเกินไป
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.