นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 1:32 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ไม้ซกงก หกพันง่า
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 12 พ.ย. 2017 1:35 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
ไม้ซกงก หกพันง่า
กะปอมก่าแล่นขึ้น มื้อละฮ้อย
กะปอมน้อยแล่นขึ้น มื้อละพัน
ตัวใด๋มาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อๆ
"ไม้ซกงก" คือ ตัวของเรานี่แหละ ร่างกายของเรา
"หกพันง่า" หมายถึง อายตนะทั้ง ๖
"กะปอมก่า" คือ กิเลสตัวใหญ่
รัก โลภ โกรธ หลง อันแก่กล้า
"แล่นขึ้นมื้อละฮ้อย" (มื้อละร้อย) คือ มันวิ่งขึ้นใจ
คนเราวันละร้อย
"กะปอมน้อยแล่นขึ้นมื้อละพัน"
คือ กิเลสที่มันเล็กน้อยก็วิ่งขึ้นสู่ใจวันละพัน
"ตัวใด๋มาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อๆ"
คือ กิเลสที่ไม่รู้ ไม่ระวัง ก็จะเกิดขึ้นทุกวันๆ
-:- หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต -:-




"ถ้าเราไปเกิดพยาบาทกับบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งขึ้นมา มีความไม่พอใจหนักหนาในกิริยาอาการในสิ่งที่เขาทำกับเรา เราจะเกิดความขัดเคืองร้อนใจขึ้นมา นี่เรียกว่าเป็น อารมณ์ที่เป็นยาพิษ เป็นอาหารที่มีพิษต่อจิตใจเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าหากว่าเราขาดสติสมาธิปัญญาเครื่องที่จะเข้าไปแก้แล้ว อาหารเหล่านี้หรือว่าอารมณ์เหล่านี้ ก็จะทำให้จิตใจของเราย่ำแย่ลงไปโดยหาที่ลงหาที่่ว่างไม่ได้ นั่งก็ร้อน นอนก็ร้อน กินก็ร้อน อยู่อย่างร้อนตลอดเวลา เพราะใจเกิดไฟขึ้นมาแล้ว เพราะใจได้รับอาหารที่เป็นพิษแล้วคือ อารมณ์แห่งพยาบาทและอาฆาตในสิ่งที่เขามาทำให้เราเกิดความไม่ปรารถนาในอาการที่เขากระทำนั้น ถ้าหากว่า ผู้ที่ได้ฝึกหัดปฏิบัติในทางหลักธรรมคือ สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ให้มีเป็นกำลังของใจ หรือว่าเป็นเครื่องอยู่ของใจ ก็จะสามารถนำธรรมเหล่านี้เข้าไปแก้อารมณ์เหล่านั้นได้ เข้าไปแก้ความเห็นเหล่านั้นได้ในกรณีเมื่ออารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นมา....สมาธิธรรมคือฐานของใจ..."
หลวงตาสมหมาย อัตตมโน
วัดป่าสันติกาวาส อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี



“ต้องไปอยู่ที่วิเวก ”
ถาม : เวลานั่งสมาธิก็นึกถึงรูปภาพของคนตาย แต่ไม่สามารถเห็นว่าตัวเราก็จะเป็นแบบนี้เจ้าค่ะ
พระอาจารย์ : เพราะมองไม่นานพอ แล้วก็มีงานอย่างอื่นให้ไปมอง ก็เลยมองไม่เห็น ต้องออกบวช ออกจากรูปเสียงกลิ่นรส ออกจากเรื่องของคนเป็น ไปอยู่ที่วิเวก จะได้คิดเรื่องตายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีเรื่องอื่นมากลบ ถ้าอยากจะบรรลุเร็วๆ ก็ต้องทิ้งทุกอย่างไป ไม่เช่นนั้นจะไม่สำเร็จ เพราะไม่มีเวลาพิจารณาความตายอย่างต่อเนื่อง
ถาม : เป็นแค่ภาพ จินตนาการ
พระอาจารย์ : ใหม่ๆก็ต้องจินตนาการไปก่อน ให้มันฝังใจ เหมือนในพระไตรปิฎกที่มีพระพิจารณาโครงกระดูกตลอดเวลา เวลาใครเดินผ่านมาท่านจะไม่เห็นคน จะเห็นแต่โครงกระดูก เวลามีคนมาถามว่าเห็นคนนั้นไหม ท่านบอกว่าไม่เห็น เห็นแต่โครงกระดูก ไม่รู้ว่าเป็นของใคร ต้องอยู่คนเดียวปลีกวิเวก สูตรตายตัวของการภาวนาก็คือ ๑. ปลีกวิเวก ๒. สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ๓. เจริญสติอย่างต่อเนื่อง เช่นพิจารณากระดูกอย่างต่อเนื่อง หรือบริกรรมพุทโธๆอย่างต่อเนื่อง ๔. รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร รับประทานมากเกินไปก็จะทำให้ง่วงนอน ทำให้ขี้เกียจ
ธรรมะบนเขา (จุลธรรมนำใจ ๓๒)
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




“ฟังด้วยสติ”
การที่จะรักษาจิตให้มีความสุขได้นั้น ในเบื้องต้นต้องมีสติ คือสติจะเป็นตัวคอยควบคุมจิต ไม่ให้คิดไปในเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ถ้าจะคิดก็คิดแต่เรื่องที่จำเป็น เช่นวันนี้จะต้องไปทำอะไรบ้าง เมื่อรู้แล้วก็หยุดคิด แล้วก็หันเอาจิตกลับมาให้ตั้งอยู่กับปัจจุบัน คือให้อยู่กับร่างกายให้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ร่างกายจะเคลื่อนไหวในอิริยาบถใด จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็ให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวนั้น เฝ้าดูกายอยู่ตลอดเวลา และเฝ้าดูใจความคิดปรุงของใจ ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ ถ้ากำลังคิดเรื่องราวไม่เข้าเรื่อง ก็หยุดด้วยการกำหนดให้ใจอยู่กับอารมณ์ ธรรมะที่เคยใช้อยู่เป็นประจำ ถ้าเคยใช้บริกรรมพุทโธๆๆอยู่ ก็ขอให้บริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะทำอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความคิด ก็ขอให้จิตบริกรรมอยู่กับคำว่าพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ ถ้าทำอย่างนี้แล้วจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน จะไม่สร้างอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา ความทุกข์หรืออารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ก็เกิดจากความคิดปรุงแต่งของจิตนี้เอง
ถ้าปล่อยให้จิตคิดไปเรื่อยๆ เห็นอะไรมาสัมผัสก็คิด ก็จะทำให้จิตแกว่งไปแกว่งมา เห็นสิ่งใดที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความไม่พอใจ เห็นสิ่งใดที่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความยินดี เกิดความอยาก เกิดความดิ้นทุรนทุราย เพื่อที่จะหามาให้ได้ ในสิ่งที่ตนเองต้องการ เมื่อได้มาแล้วก็ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อรักษาไว้ จิตเลยไม่มีโอกาสที่จะสงบนิ่ง เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสผ่านทวารทั้ง ๕ แต่ถ้าจิตมีสติแล้ว เวลามีอะไรเข้ามาสัมผัส เช่นรูปเข้ามาสัมผัสกับตา เสียงเข้ามาสัมผัสกับหู จิตมีสติรู้อยู่ ก็เพียงแต่รับรู้ว่าเป็นรูป เป็นเสียง รู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง คือเมื่อเข้ามาสัมผัสแล้ว เดี๋ยวก็หายไป เสียงมากระทบหูแล้วก็ผ่านไป ไม่จำเป็นที่จะต้องให้มีอารมณ์ตามมา เสียงจะดีหรือจะชั่ว ไม่ได้อยู่ที่เสียงนั้นๆ แต่อยู่ที่ใจต่างหาก ผู้ที่ไปให้ความหมายกับเสียงนั้น
เสียงเดียวกันสำหรับคนๆหนึ่งรู้สึกว่าไพเราะเพราะพริ้ง แต่กับอีกคนหนึ่งกลับเป็นเหมือนมีดบาดหัวใจ เช่นพ่อแม่พูดชมลูกคนหนึ่งว่าเป็นคนดี ลูกที่ไม่ได้รับคำชม ก็มีความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ ลูกที่ได้รับคำชมก็เกิดความดีอกดีใจ ทั้งๆที่เป็นเสียงของคนๆเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่คนสองคนเมื่อฟังแล้ว กลับมีอารมณ์ มีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป นั่นก็เป็นเพราะว่าฟังโดยไม่มีสติ ฟังโดยไม่มีปัญญานั่นเอง ฟังด้วยอารมณ์ ฟังด้วยความหลง ฟังด้วยอัตตาตัวตน ฟังว่าเขาชมคนนั้น เขาไม่ชมเรา เมื่อไม่ชมเรา เราก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เสียอกเสียใจขึ้นมา แต่ถ้าฟังด้วยสติ มันก็เป็นเสียงเท่านั้นเอง เสียงออกมาจากปากคน จะมาทำให้เราวิเศษ หรือทำให้เราเลวได้อย่างไร เพราะความดีความชั่วไม่ได้อยู่ที่ปากคน แต่อยู่ที่การกระทำของเรา ถ้ากระทำความดี ถึงแม้จะไม่มีใครมาชม เราก็ยังดีอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้ากระทำความชั่ว ถึงแม้จะมีใครมายกย่องสรรเสริญ เราก็ไม่ดีตามคำยกย่องสรรเสริญของเขาเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ใจของเรากลับดีอกดีใจ ลืมไปว่าเราเพิ่งไปกระทำความชั่วมาหยกๆ
นี่คือลักษณะของจิตที่ไม่มีสติควบคุมดูแลนั่นเอง ปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์อยาก อารมณ์ชอบ อารมณ์รัก อารมณ์ชังทั้งหลาย เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรที่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความยินดี ดีอกดีใจ เมื่อได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความเสียใจ เกิดความอึดอัดใจ ไม่สบายใจขึ้นมา
แต่ถ้าได้ศึกษาธรรม แล้วปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว รับรองได้ว่าต่อไปเวลาได้ยินได้ฟังอะไร จิตจะเป็นอุเบกขา คือจะวางเฉยทั้ง ๒ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นคำชมก็ดี หรือเป็นคำติก็ดี เพราะฟังด้วยสติ ฟังด้วยปัญญา รู้ว่าเสียงก็เป็นเพียงแต่เสียงเท่านั้นเอง ถ้าไม่เอาความหมายมาคิด มาแบก มายึด มาติด แล้วละก็ เสียงนั้นเมื่อพูดไปแล้ว มันก็ผ่านไป เมื่อไม่เอามายึดเป็นของเราเสียอย่าง ก็ไม่มีปัญหาอะไร.
ธรรมะบนเขา (กำลังใจ ๑๑)
วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๖
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




หาคนดีมีศีลธรรมในใจ
หายากยิ่งกว่าเพรชนิลจินดา
ได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียว
ย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆ
เพราะเงินเป็นล้านๆ
ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจ
เหมือนได้คนดีทำประโยชน์
.
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต




"ดูนางวิสาขา เป็นตัวอย่าง"
.....เป็นฆราวาสก็สามารถที่จะเข้าถึงอริยบุคคลได้ อย่างนางวิสาขาก็เป็นผู้หนึ่งที่ยังครองเรือน แต่จิตของนางวิสาขานั้นสมบูรณ์ด้วยศีลห้า สมบูรณ์บริสุทธิ์ทีเดียว แม้แต่จะคิดไปในทางที่ละเมิดก็ไม่มี จิตอย่างนี้เป็นจิตประเสริฐ ศีลห้าจึงเป็นศีลที่ยังจิตยังใจให้ประเสริฐ เป็นอริยบุคคลขึ้นมาได้.
"หลวงปู่แบน ธนากโร"




นักปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์ท่านก็ดูอยู่
เทวดาท่านก็ดูอยู่ เขาเห็นเราตลอด
มนุษย์เราตาบอด จะไปเห็นอะไร
เทียวไปเทียวมาทางเก่าหลายสิบครั้ง
เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดก็ไม่เห็นอะไร
มันตาบอด ถ้าตาดีมันจะเห็นน่ะ
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
เทศน์เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗





พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของศาสนายังถูกโลกธรรมรุมตี
แต่ก็คงเป็นพระพุทธเจ้าตามเดิมจนวันเข้านิพพาน
เราทุกคนมีพุทธประจำตัว เมื่อชำระให้บริสุทธิ์แล้ว
แม้โลกธรรมจะรวมหัวกันหมดทั้งโลกมาโจมตี
ก็คงบริสุทธิ์อยู่ตามเดิม เพราะความบริสุทธิ์นั้นไม่ใช่โลกธรรม ๆ
จึงไม่สามารถแทรกซึมหรือลบล้างความบริสุทธิ์นั้นได้
ความจริงแท้ ๆ (แก่นแท้) มีอยู่กับท่านผู้ใด
จะเป็นหญิงชาย หรือนักบวชใด ๆ เพียงว่าผู้นั้นแย้มออกมาเท่านั้น
เราก็พอรู้หรือเข้าใจได้ เราอย่าหลงกระพี้คือเห่าหอนของโลก
หูตาเรามี ใจเรามี ดูให้ดี ฟังให้ดี คิดให้ดี จะเห็นของดี
(นักปราชญ์ภายนอกภายใน) หนีจากตาหูและใจ ปัญญาของเราไปไม่พ้น
ต้นไม้บางชนิดมีแก่นอยู่ข้างนอก เช่นต้นตาลเป็นต้น
บางชนิดมีแก่นอยู่ข้างใน มีไม้พะยูงเป็นต้น คนเราก็ฉันนั้น
ดีนอกก็มี เช่น มีแต่กิริยามารยาทคำพูดถูกกาละ
สำนวนโวหารไพเราะ ภายในเหมือนถ่านไฟ
ดีในก็มี เช่น สมัยนี้ดีในมีน้อย ส่วนดีนอกตามสัญญาจะเหลือโลกอยู่แล้ว
เราสมาคมคบหาใคร ดูให้ถึงตา ถึงหู ถึงใจ
อย่าหลงตามใคร เมื่อถึงใจแล้วจับให้มั่น
ใครจะเห่าหอนแทะกัดไปอย่างไรไม่ต้องหวั่นไหว
นั่นแลท่านว่าใจนักปราชญ์
อนึ่ง สมัยนี้นักวิทยาศาสตร์เจริญ สุนัขบ้าก็ชุมไปตาม ๆ กัน
เรารีบเตรียมยาไว้ติดตัว ไม่อย่างนั้นจะแย่
................................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ ธัมมะในลิขิต




พระบรมศาสดากล่าวไว้ว่า "นัตถิ พาลา อทานัง"
คนพาลไม่สรรเสริญทาน บัณฑิตเท่านั้นสรรเสริญทาน
และทรงอธิบายว่า ถ้าขาดจากการบริจาคทาน
เกิดชาติหน้าเป็นคนยากจน ทำพอจะได้ก็ไม่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ตรงกันข้าม
ผู้ขาดการรักษาศีลเกิดชาติหน้าเป็นผู้มีอายุสั้น
ผู้ขาดจากการภาวนาเกิดในชาติหน้าเป็นผู้มักจะหลง หลงศาสนา
เขาโกหกพกลมให้นับถือในสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารก็ไปหลงนับถือกับเขา
ถ้าขาดความเคารพกับผู้ใหญ่ซึ่งมีวัยวุฒโฑคุณวุฒโฑเหนือกว่าตน
เกิดชาติหน้าก็เป็นคนเกิดในตระกูลต่ำเหล่านี้เป็นต้น
.
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต






วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ รำลึก ๖๘ ปี อาจาริยบูชาคุณองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกัมมัฏฐาน
"..พิจารณาสังขารภายนอกว่า มีความเจริญขึ้นหรือเจริญลง สังขารมีอะไรใหม่ หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดไป พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้ ตายแล้วจะเสียการ ให้ท่องในใจอยู่เสมอว่าเรามีความ แก่-เจ็บ-ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน.."
● ชีวประวัติย่อท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ●
◎ ชาติกำเนิดและการอุปสมบท
ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อจันทร์ เพีย ( พระยา ) แก่นท้าวเป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา
เกิดวันพฤหัสบดีเดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ( ปัจจุบันคือ บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี )
มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรง ว่องไว สติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิดฉลาดดี
เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือเรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวด เร็ว เพราะมีความทรงจำดี และมีความขยันหมั่นเพียรชอบการเล่าเรียนศึกษา
เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ท่านใดเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะ เอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้
เมื่ออายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขา เพื่อช่วยการงานทางบ้านท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยงาน ของบิดามารดาเต็มความสามารถ ท่านเล่าว่าเมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่งอีกอย่าง หนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า
"เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก"
คำสั่ง ของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่ามีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดา มารดาบวชท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ ท่านได้เข้าศึกษา ในสำนักท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล
อุปสมบท เป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม)อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระ อุปฌาย์ พระครูสีทาชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ ( สุ่ย ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖
พระอุปัชฌายะขนานนามมคธให้ว่า "ภูริทัตโต"แปลว่า "ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด" เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบต่อไป เมื่อแรกอุปสมบทท่านพำนักอยู่วัดเลียบ โดยได้เรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์เสาร์ เมื่องอุบลราชธานีเป็นปกติ และได้ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลราชธานีเป็นครั้งคราว
ในระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วน แห่งพระวินัย คือ อาจาระความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรียบร้อยดีจนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกรมนั่งสมาธิกับการสมาทานธุดงควัตรต่างๆ
◎ บำเพ็ญเพียร
ในสมัยต่อไปได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนา แก่สหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน
ในกาลต่อมาได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษาแล้ว ไปเชียงใหม่ กับท่านเจ้าคุณพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ( จันทร์ สิริจนฺโท ) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมาจังหวัดอุีดรธานี พักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ( ปัจจุบันคืออำเภอ โคกศรีสุพรรณ ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม ๕ พรรษาเพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษา อบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป
◎ ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ
๑. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนใช้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตรเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต
๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยจึงงด
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ
ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มากก็คือ อรัญญิกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ในเสนาสนะป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรงไม่รบกวน
นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี
◎ กิจวัตรประจำวัน
ท่านปฏิบัติกิจประจำวันเป็นอาจิณวัตรเพื่อเป็นแบบอย่างแก่สานุศิษย์ และพร่ำสอนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติเป็นอาจิณวัตรต่อไปนี้
- เวลาเช้า ออกจากกุฏิ ทำสรีรกิจ คือ ล้างหน้า บ้วนปาก นำบริขารลงสู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัด แล้วเดินจงกรม
- พอได้เวลาภิกขาจารก็ขึ้นสู่โรงฉัน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล สะพายบาตรเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต
- กลับจากบิณฑบาตแล้ว จัดแจงบาตร จีวร แล้วจัดอาหารใส่บาตร นั่งพิจารณาอาหาร ปัจจเวกขณะ ทำภัตตานุโมทนาคือยถาสัพพีเสร็จแล้ว ฉันจังหัน ฉันเสร็จแล้วล้างบาตร เก็บบริขารขึ้นกุฏิ
- ทำสรีรกิจ พักผ่อนเล็กน้อย แล้วลุกขึ้นล้างหน้า ไหว้พระ สวดมนต์ และพิจารณาธาตุอาหาร ปฏิกูล ตังขณิก อตีตปัจจเวกขณะ แล้วชำระจิตจากนิวรณ์ นั่งสมาธิพอสมควร
- เวลาบ่าย ๓-๔ โมง กวาดลานวัด ตักน้ำใช้ น้ำฉันมาไว้ อาบน้ำชำระกายให้สะอาดปราศจากมลทิน แล้วเดินจงกรมจนถึงพลบค่ำจึงขึ้นกุฏิ
- เวลากลางคืนตั้งแต่พลบค่ำไป สานุศิษย์ก็ทยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติ ท่านได้เทศนาสั่งสอนอบรมสติปัญญาแก่สานุศิษย์พอสมควรแล้ว สานุศิษย์ถวายการนวดฟั้น (เฟ้น) พอสมควรแล้ว ท่านก็เข้าห้อง ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ แล้วพักนอนประมาณ ๔ ทุ่ม เวลา ๓.๐๐ น. ตื่นนอน ล้างหน้าบ้วนปาก แล้วปฏิบัติกิจอย่างในเวลาเช้าต่อไป
กิจบางประการ เมื่อมีลูกศิษย์มากและแก่ชราแล้ว ก็อาศัยศิษย์เป็นผู้ทำแทน เช่น การตักน้ำใช้ น้ำฉัน เพราะเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากชราภาพ ส่วนกิจอันใดเป็นสมณประเพณีและเป็นศีลวัตร กิจนั้นท่านปฏิบัติเสมอเป็นอาจิณ มิได้เลิกละ
ท่านถือคติว่า “เมื่อมีวัตรก็ชื่อว่ามีศีล ศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ”
ท่านกล่าวว่า “ต้นดี ปลายก็ดี ครั้นผิดมาแต่ต้น ปลายก็ไม่ดี”
ท่านกล่าวว่า “ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี”อุปมารูปเปรียบเหมือนอย่างว่า “การทำนา เมื่อบำรุงรักษาลำต้นข้าวดีแล้ว ย่อมหวังได้แน่ซึ่งผลดังนี้”ท่านจึงเอาใจใส่ ตักเตือนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติศีลวัตรอันเป็นส่วนเบื้องต้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไว้เสมอ
◎ ปัจฉิมวัย
ในวัยชรานับแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบท ไปตามสถานที่วิเวกผาสุขวิหารหลายแห่ง คือ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ บ้าง แถวนั้นบ้าง
ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยุ่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต ตลอดเวลา ๘ ปีในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอน ศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนา เป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวันศิษย์ ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้ และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ แล้วให้ชื่อว่า "มุตโตทัย"
มาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างเข้า ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถ อาการอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ใกล้ไกล ต่างก็ทะยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษาแล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเวลานั้น ไว้ใน "ประวัติท่านพระอาจารย์มั่นฯ" ไว้ว่า
" องค์ท่าน เบื่องต้นนอนสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงข้างขวา แต่เห็นว่าท่านจะเหนื่อยเลยค่อย ๆ ดึงหมอนที่หนุนอยู่ข้างหลังท่านออกนิดหนึ่ง เลยกลายเป็นท่านนอนหงายไป พอท่านรู้สึกก็พยายามขยับตัวกลับคืนท่าเดิม แต่ไม่สามารถทำได้เพราะหมดกำลัง พระอาจารย์ใหญ่ก็ช่วยขยับหมอนที่หนุนหลังท่านเข้าไป แต่ดูอาการท่านรู้สึกเหนื่อยมาก เลยต้องหยุดกลัวจะกระเทือนท่านมากไป ดังนัน การนอนท่านในวาระสุดท้าย จึงเป็นท่าหงายก็ไม่ใช่ ท่าตะแคงข้างขวาก็ไม่เชิง เป็นเพียงท่าเอียง ๆ อยู่เท่านั้น เพราะสุดวิสัยที่จะแก้ไขได้อีก
อาการท่านกำลังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง บรรดาศิษย์ซึ่งโดยมากมีแต่พระกับเณรฆราวาสมีน้อยที่นั้งอาลัยอาวรณ์ด้วยความหมดหวังอยู่ขณะนั้น ประหนึ่งลืมหายใจไปตาม ๆ กัน เพราะจิตพะว้าพะวังอยู่กับอาการท่านซึ่งกำลังแสดงอย่างเต็มที่เพื่อถึงวาระสุดท้ายของท่านอยู่แล้ว ลมหายใจท่านปรากฏว่าค่อยอ่อนลงทุกทีและละเอียดไปตาม ๆ กัน ผู้นั้งดูลืมกระพริบตาเพราะอาการท่านเต็มไปด้วยความหมดหวังอยู่แล้ว ลมค่อยอ่อนและช้าลงทุกทีจนแทบไม่ปรากฏ วินาทีต่อไปลมก็ค่อย ๆ หายเงียบไปอย่างละเอียดสุขุมจนไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าท่านได้สิ้นไปแล้วแต่วินาทีใด เพราะอวัยวะทุกส่วนมิได้แสดงอาการผิดปกติเหมือนสามัญชนทั่ว ๆ ไปเคยเป็นกัน ต่างคนต่างสังเกตจ้องมองจนตาไม่กระพริบ สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องพอให้สะดุดใจเลยว่า "ขณะท่านลาขันธ์ลาโลกที่เต็มไปด้วยความกังวลหม่นหมองคือขณะนั้น " ดังนี้
พอเห็นท่าไม่ได้การ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ พูดเป็นเชิงไม่แน่ใจขึ้นมาว่า "ไม่ใช่ท่านสิ้นไปแล้วหรือ " พร้อมกับยกนาฬิกาขึ้นดูเวลา ขณะนั้นเป็นเวลาตี ๒ นาฬิกา ๒๓ นาที จึงได้ถือเวลามรณภาพของท่าน
พอทราบว่าท่านสิ้นไปแล้วเท่านั้นมองดูพระเณรที่นั้งรุมล้อมท่านอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นแต่ความโศกเศร้าเหงาหงอยและน้ำตาบนใบหน้าที่ไหลซึมออกมา ทั้งไอทั้งจามทั้งเสียงบ่นพึมพำไม่ได้ถ้อยได้ความใครอยู่ที่ไหนก็ได้ยินเสียงอุบอิบพึมพำทั่วบริเวณนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบเหงาเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก เราก็เหลือทน ท่านผู้อื่นก็เหลือทน ปรากฏว่าเหลือแต่ร่างครอบตัวอยู่แวลานั้น ต่างองค์ต่างนิ่งเงียบไปพักหนึ่งราวกับโลกธาตุได้ดับลง
ในขณะเดียวกับขณะที่ท่านอาจารย์ลาสมมติคือขันธ์ก้าวเข้าสู่แดนเกษม ไม่มีสมมติความกังวลใด ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องวุ่นวายอีก ผู้เขียนแทบหัวอกจะแตกตายไปกับท่านจริง ๆ เวลานั้นทำให้รำพึงรำพันและอัดอั้นตันใจไปเสียทุกอย่าง ไม่มีทางคิดพอขยับขยายจิต ที่กำลังว้าวุ่นขุ่นเป็นตมเป็นโคลนไปกับการจากไปของท่าน พอให้เบาบางลงบ้างจากความแสนรักแสนอาลัยอาวรณ์ที่สุดจะกล่าว ที่ท่านว่าตายทั้งเป็นเห็นจะได้แก่คนไม่เป็นท่าคนนั้นแล
...ดวงประทีปที่เคยที่เคยสว่างไสวมาประจำชีวิตจิตใจได้ดับวูบสิ้นสุดลง ปราศจากความอบอุ่นชุ่มเย็นเหมือนแต่ก่อนมา ราวกับว่าทุกสิ่งได้ขาดสะบั้นหั่นแหลกเป็นจุณไปเสียสิ้น ไม่มีสิ่งเป็นที่พึ่งพอเป็นที่หายใจได้เลย มันสุดมันมุดมันด้านมันตีบตันอั้นตู้ไปเสียหมดภายในใจ ราวกับโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเป็นสาระพอเป็นที่เกาะของจิตผู้กำลังกระหายที่พึ่ง ได้อาศัยเกาะพอได้หายใจแม้เพียงวินาทีหนึ่งเลย ทั้งที่สัตว์โลกทั่วไตรภพอาศัยกันประจำภพกำเนิดตลอดมา แต่จิตมันอาภัพอับวาสนาเอาอย่างหนักหนา จึงเห็นโลกธาตุเป็นเหมือนยาพิษเอาเสียหมดเวลานั้น ไม่อาจเป็นที่พึงได้ ปรากฏแต่ท่านพระอาจารย์มั่นองค์เดียวเป็นชีวิตจิตใจเพื่อฝากอรรถฝากธรรมและฝากเป็นฝากตายทุกขณะลมหายใจเลย...."
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ณ ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ เวลา ๐๒.๒๓ น. สิริอายุรวมได้ ๘๐ ปี
"..ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอนคอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานเปล่าๆ โดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียว ซึ่งเป็นสมบัติของพระะพุทธเจ้า มาเป็นสมบัติของตน ด้วยความเข้าใจผิด ว่าตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ มิได้ลดน้อยลงบ้างเลย จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย" โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต





"จิต" เป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเรา
ที่ควรได้รับการเหลียวแลด้วยวิธีเก็บรักษาให้ดี
ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิต อันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน
วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะก็คือภาวนา ฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร
ตรวจดูจิตว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไป จะได้ซ่อมสุขภาพจิต
นั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือความคิดปรุงแต่งของจิตว่า
คิดอะไรบ้าง มีสาระประโยชน์ไหม คิดแส่หาเรื่อง
หาโทษ ขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั้น พอรู้ผิด-ถูกของตัวบ้างไหม
พิจารณาสังขารภายนอกว่า มีความเจริญขึ้นหรือเจริญลง
สังขารมีอะไรใหม่หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดไป
พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้
ตายแล้วจะเสียการให้ท่องในใจอยู่เสมอว่า
เรามีความแก่-เจ็บ-ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน
.
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต




"ตามรอยโค" เมื่อถึง "ตัวโค" แล้ว "พุทโธ กับ จิต" ก็เป็น "อันหนึ่ง" อันเดียวกัน
ผู้กำหนด "พุทโธ" เดินไปไหนอย่าให้เผลอคำว่า "พุทโธ" "พุทโธ" ไม่ให้ขาดวรรคขาดตอนกับ "ความรู้สึก"
ระหว่าง "จิต" กับ "พุทโธ" ให้ติดต่อกันเป็นสาย "พุทโธกับความรู้" นั้นจะค่อยกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่นี่เราจะบริกรรม หรือ ไม่บริกรรม ก็ไม่เป็นปัญหา ในขณะนั้น เหลือแต่ "ความรู้ล้วนๆ"
"พุทโธ" นี้เปรียบเหมือนเรา "ตามรอยเท้าของโค" เพื่อจะ "จับตัวโค" ให้ได้ โคตัวนั้นไปที่ไหน "อย่าปล่อยรอย" ให้ "ตามรอย" โคตัวนั้นไป เป็นลำดับๆ ไปที่ไหนตามไปเรื่อยๆ "จนถึง" ตัวโค
เมื่อถึง "ตัวโค" แล้ว เรื่องของ "รอยโค" นั้น ก็หมดปัญหาเพราะไปถึง "ตัวโค" แล้ว "ลมหายใจ" ก็เหมือนกับ "รอยโค" อันเดียวกัน
คำว่า "พุทธะ" เป็นเหมือนกับ "โคตัวนั้น" "พุทโธกับจิต" ก็จะกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก็จะหมดปัญหาในคำว่า "พุทโธ" ใน
"จิต"
เมื่อตั้งตัวได้ย่อมมี "ความสงบร่มเย็น" เป็นสุขในเวลานั้นไม่สงสัย นี่ผลที่เกิดจากการ บริกรรมพุทโธ เพื่อเห็นจุด “ผู้รู้” ที่เรียกว่า “ดวงใจ” อันแท้จริง
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี






...พยายามทำให้มาก...
..การประพฤติปฏิบัติศีลธรรม จะไปคาดคะเนไว้ก่อนล่วงหน้าหละโอ๊ย ! ตั้งความอยากไว้ข้างหน้าแล้ว ขัดขวางไว้เลยหละ เหมือนกับว่า เขากั้นรั้วไว้ ทำไปเลย เรามีหน้าที่ทำ ทำมากเท่าไหร่ก็ไม่ว่า พยายามทำให้มาก ไม่ได้ท้อ ไม่ได้ถอย ผลมันจะเกิดขึ้นหรอก..
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..



คำว่าจิตรวมกับสมาธินี้ต่างกันนะ รวมหลายครั้งหลายหนเข้าไปค่อยสร้างกำลังขึ้นมาจนกลายเป็นสมาธิได้ในตัว นั่นจิตเป็นสมาธิ คือความแน่นหนามั่นคงของใจ จะคิดจะปรุงแต่งเรื่องอะไรก็ตาม จิตนี้มีฐานอันมั่นคงของตัวเองเป็นความสงบแน่วแน่อยู่ภายในตัวเอง นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ จิตที่รวมคือเวลาที่จิตสงบเข้าไปรวมเข้าไปปราศจากความคิดความปรุงทั้งหลาย เรียกว่าจิตสงบหรือจิตรวม ถอนออกมาแล้วมันก็มีความคิดความปรุงตามธรรมดาของมัน บางทีอาจเกิดความวุ่นวายขึ้นได้เพราะความคิดกวนใจ
เราพยายามทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จิตของเราจะมีความสง่างามขึ้นมา ความสงบของใจ ความสบายใจจะขึ้นพร้อมกัน จากนั้นก็เป็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์เป็นขั้นของใจ ทีนี้เมื่อเราเห็นใจของเรามีความแปลกประหลาดและปล่อยวางภายนอกได้ สิ่งภายนอกที่มันเคยยุ่งเหยิงวุ่นวายเกาะนั้นเกี่ยวนี้ มันจะปล่อยเข้ามา ๆ จิตมาอยู่กับความสงบเย็นใจ สบายทั้งวันทั้งคืน ไปไหนไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายสำหรับผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรม ไม่กังวลกับการอยู่การกินการหลับการนอน อะไรไม่ยุ่งทั้งนั้น มีตั้งแต่หมุนตัวเข้าสู่อรรถสู่ธรรมด้วยสติสตังในการภาวนาเท่านั้น นี่เรียกว่าผู้ภาวนาเพื่อมรรคเพื่อผล ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ จะต้องได้เป็นผู้ทรงมรรคทรงผลได้โดยไม่ต้องสงสัยเพราะธรรมนี้เป็นสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบทุกอย่างแล้ว"
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดมเหยงคณ์ จ.อยุธยา
เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๕




...ทุกข์เพราะเรารัก
เราหวงร่างกาย ห่วงร่างกาย
.
แล้วก็ต้องคอยดูแล เลี้ยงดู
คอยปกป้อง รักษาภัยต่างๆ
ที่จะมากระทบกับร่างกาย
.
ต่อให้เราดูแลรักษาดีขนาดไหน
ป้องกันดีขนาดไหน
ก็ยังไม่พ้นความแก่ ความเจ็บ
ความตาย กันอยู่ดี
.
การมีร่างกายมันก็เลย
เป็นการมีความทุกข์
คนที่ไม่ต้องการมีความทุกข์
ก็ต้องไม่มีร่างกายเท่านั้น
.
การที่จะไม่มีร่างกายก็ต้อง
"หยุดความอยาก" ความอยากที่
พาให้เรามามีร่างกายกัน คือ
"ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ"
.......................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 11/11/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





อย่างหลวงปู่มั่นท่านได้ทำนายไว้แล้วนะเรื่องศาสนาว่า “วัดป่ามันจะกลายเป็นวัดบ้าน วัดบ้านจะกลายเป็นคนตาย คนตายจะกลายเป็นบ้า” ท่านทำนายไว้หมดแล้วนะ
เดี๋ยวนี้ดูสิโลกมันร้อนมากนะ พอได้เข้าหาพระหาเจ้า พอได้เห็นครูบาอาจารย์ จิตใจมันก็สบายดูซิ คนได้เข้าหาครูบาอาจารย์ มันก็สบายเย็นใจ แค่เห็นวัดเท่านั้นแหละ เห็นกริยามารยาทของครูบาอาจารย์ จิตมันก็สงบสบาย
ถ้าได้ออกไปทางโลก เดี๋ยวก็วิ่งกลับมาทางธรรมอีก เป็นอยู่อย่างนั้นสังเกตดูซิ ถ้าใจมันไม่ร้อน ไม่วิ่งกลับมาหรอก
วุ่นวายมากนะสมัยนี้ ความเจริญกับความเสื่อมอยู่ด้วยกันนะ จะไปอะไรมากมาย แต่ขนาดครอบครัวก็แย่งชิงกันเป็นใหญ่ในบ้านแล้ว เรื่องเป็นเจ้าเป็นนายก็เหมือนกันนะ แย่งชิงเก้าอี้ เพื่อความเป็นใหญ่กันอยู่นั้นแหละสักหน่อยก็ปลดออกจากตำแหน่ง สักหน่อยก็แต่งตั้งขึ้นใหม่อยู่อย่างนั้น
โลกนี้คิดไปคิดมาแล้วที่ไหนมันมีความสุข ไม่เห็นมีความสุขนะ ถ้าคิดใคร่ครวญดูจริงๆ ให้ไปคิดอ่านใคร่ครวญ เข้าไปดูซิ

*******************
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดเกษรศิลคุณธรรมเจดีย์ (วัดภูผาแดง) อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 39 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO