Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

หลักธรรมชาติ

อาทิตย์ 12 พ.ย. 2017 1:36 pm

โอวาทครั้งสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
.
ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ ก็มากมายเข้าแล้ว แผ่นดินนับวันแคบ มนุษย์แม้จะถึงตาย ก็นับวันมากขึ้น นโยบายในทางโลกีย์ใดๆก็นับวันประชันขันแข่งกันขึ้น พวกเราจะปฏิบัติลำบากในอนาคต เพราะเนื่องด้วยที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนาจะไม่วิเวกวังเวง
.
ศาสนาทางมิจฉาทิฐิ ก็นับวันจะแสดงปฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่แก่ธรรมดังไฟที่กำลังใหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลันเถิด ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร ทั้งโลกภายในหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ทั้งโลกภายนอกที่รวมเป็นสังขารโลก ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด ความเบื่อหน่ายคลายเมาไม่ต้องประสงค์ ก็จะต้องได้รับแบบเย็นๆและแยบคายด้วยจะเป็นสัมมาวิมุตติ และสัมมาญาณะอันถ่องแท้ ไม่ต้องสงสัยดอก พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ ทรงอยู่ในปัจจุบัน จิตในปัจจุบัน ที่เธอทั้งหลายตั้งอยู่หน้าสติ หน้าปัญญา อยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแหละ
.
บันทึกโดยพระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต จากหนังสือ"เพชรน้ำหนึ่ง”





“โทษของการกระทำสิ่งไม่ดี”
..โทษของการกระทำสิ่งไม่ดี คล้าย ๆ กับว่าเป็นยาพิษ ๆ พอไปแตะต้องเข้าแล้ว มันก็แสดงพิษเลย หรือพวกเหล้า ไปแตะต้องมันก็แสดงขึ้นมาเลย มึนเมาขึ้นมาเลย เรื่องบาปก็คล้าย ๆ เป็นของฝ่ายต่ำทำนองเดียวกัน ของแต่ละอย่าง มันก็รักษาคุณภาพ ของใครของมันไว้ ของหวานก็รักษารสหวานไว้ ของขมก็รักษารสขมไว้ เราไปแตะต้องมันก็ขมเลย ถ้าของขม ของหวานก็หวานเลย ของเปรี้ยวก็เปรี้ยวเลย ของเบื่อ ของเมา ก็เบื่อเลย เมาเลย ลักษณะบาปบุญก็เหมือนกัน ถ้าผู้ใดไม่ต้องการบาป แต่ว่าสร้างอยู่ไม่หยุด รสชาติของมัน ก็ต้องเป็นเรื่องของบาป อยู่เหมือนเดิมนั้นหละ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง สอนตามหลักธรรมชาติ





" การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่เข้าสู่อนุปาทิเสสะนิพพานแล้ว มาแสดงเป็นรูปขันธ์ให้เห็นอยู่นั้นก็ดี
ที่แท้แล้วก็เป็นธรรมะของเจ้าตัวที่ใช้รูปขันธ์นามขันธ์อยู่นั้น
แสดงออกเป็นปุคคลาธิษฐานมาให้เห็นชัดต่างหาก
ด้วยอำนาจของตนที่เคารพและเชื่อถือเพียงพอ จึงกลายเป็นตัวตนเราเขามาให้เห็นในทางสมมุติ และปรมัตถ์เจือกันในตัวมาให้เห็นชัด
เป็นธรรมพิเศษแต่ละรายบุคคลที่เห็นที่รู้ ตรงกับคำว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
คำว่าเรา ไม่เฉพาะแต่พระองค์ หมายถึงพระอรหันต์ทั้งปวงด้วย
ทั้งปวงนี้หมายถึงพระอรหันตสาวกด้วยสาวิกาด้วย พระปัจเจกด้วยสัมมาสัมพุทธะทั้งปวงด้วย
การเห็นน้อยองค์มากองค์ขึ้นอยู่แต่ละรายของท่านผู้เห็น ฯ "
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต




ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสโครก
คือ อุจจาระ ปัสสาวะ (มูตร คูถ ทั้งปวง)
สิ่งที่ออกจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น
ก็เรียกว่าขี้ทั้งหมด เช่น ขี้หัวขี้เล็บ ขี้ฟัน ขี้ไคล เป็นต้น
เมื่อสิ่งเหล่านี้ร่วงหล่นลงสู่อาหาร
มี แกง กับ(ข้าว) เป็นต้น
ก็รังเกียจต้องเททิ้งกินไม่ได้
และร่างกายนี้ต้องชำระอยู่เสมอ
จึงพอเป็นของดูได้
ถ้าหากไม่ชำระขัดสี
ก็จะมีกลิ่นเหม็นสาบ
เข้าใกล้ใครก็ไม่ได้
ของทั้งปวงมีผ้าแพรเครื่องใช้ต่าง ๆ
เมื่ออยู่นอกกายของเรา
ก็เป็นของสะอาดน่าดู
แต่เมื่อมาถึงกายนี้แล้ว
ก็เป็นของสกปรกไป
เมื่อปล่อยไว้นาน ๆ เข้าไม่ซักฟอก
ก็จะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลย เพราะเหม็นสาบ
ดังนี้จึงได้ความว่าร่างกายของเรานี้
เป็นเรืองมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ
ของไม่งามปฏิกูลน่าเกลียด
เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นปานนี้
เมื่อชีวิตหาไม่แล้วยิ่งจะสกปรก
หาอะไรเปรียบเทียบมิได้เลย
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต





...อาการสมาธิ...
..บางทีคล้ายแผ่นดินพลิก เหมือนแผ่นดินจะทับ ถ้าไปอยู่ในถ้ำ ก็เหมือนถ้ำจะพังหล่นลงทับ บางคนไม่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ก็กลัวหละ อ้าว แผ่นดินมันจะพลิกทับแล้วหรือ จะไปอยู่ตรงไหนหละที่นี้ เผลอไปตามเรื่องของเขา เป็นอาการอำนาจฝ่ายต่ำ หาหนทาง ทดสอบสติของเรา บางคนก็หลงไปตาม บางที ผู้ที่สร้างบาปสร้างกรรมมาก่อน เดี๋ยวก็เป็นเสือ จะกระโดดกัด ก็ตื่นกลัวหละ บางทีก็เป็นงู แล้วแต่จะเป็นมารูปแบบไหน เป็นอะไรก็ตาม เวลาจะนั่ง ต้องตั้งใจว่า จะนั่งอยู่นี้แม้จะตายก็ตาม...
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..





“สร้างกำลัง สร้างบุญ”
ตอนนี้เราไม่มีกำลัง ถ้าเป็นนักวิ่งมาราธอนก็ยังไม่เคยวิ่ง 100 เมตรก็ยังวิ่งไม่ไหว กิโลหนึ่งยังวิ่งไม่ไหว แล้วจะวิ่งตั้ง 40 กิโล จะไหวเหรอ แต่ทำไมคนอื่นเขาวิ่งได้ เขาก็เหมือนเรา ก็เพราะว่าเขาฝึกเขาซ้อม เขาซ้อมวิ่งกัน วิ่งวันละเล็กวันละน้อย แล้วก็ค่อยๆเพิ่มไปตามกำลัง พอมันวิ่งแล้วมันก็จะมีกำลังวังชาเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวในที่สุดก็วิ่งได้ ต่างกันตรงที่จะวิ่งช้าหรือวิ่งเร็ว วิ่งได้ คนที่วิ่งเร็วก็ได้รางวัล รางวัลที่หนึ่งวิ่งเร็วกว่าเขาที่สุด ก็ได้รางวัลที่หนึ่ง คนที่วิ่งช้าก็อยู่ที่ท้ายแถว แต่ก็ยังวิ่งได้อยู่ เพียงแต่ว่าช้า พวกเราก็เหมือนกันนี่ พวกเราก็เป็นเหมือนนักวิ่งมาราธอน ถ้าเราอยากจะยุติการเกิดแก่เจ็บตาย เราก็ต้องมาสร้างกำลัง ให้มามีกำลังที่สามารถที่จะหยุดความอยากทั้งสามข้อนี้ได้ ถ้าเรามีกำลังเต็มร้อย เราก็จะสามารถหยุดความอยากทั้งสามนี้ได้
พระพุทธเจ้านี้เป็นคนแรกที่มีกำลังเต็มร้อย ที่สามารถหยุดความอยากทั้งสามนี้ได้ แล้วหลังจากนั้นท่านก็ไปสอนคนอื่น คนอื่นพอฟังแล้วเชื่อฟัง ก็ลองเอาไปปฏิบัติลองเอาไปทำดู ก็สามารถทำให้มีกำลังเต็มร้อยขึ้นมา และสามารถหยุดความอยากทั้งสามนี้ได้อย่างเต็มร้อยเหมือนกัน ก็ ได้ไปถึงจุดหมายปลายทาง คือพระนิพพาน พระนิพพานคือจิตใจที่สะอาด ไม่มีความอยากต่างๆ อันนี้เรียกว่านิพพาน นิพพานนี้ไม่ได้เป็นสถานที่ ไม่ได้เป็นเชียงใหม่ ไม่ได้เป็นฝรั่งเศส ไม่ได้เป็นอเมริกา แต่เป็นจิตใจที่ได้รับการชำระด้วยธรรมะ จนสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีความอยากทั้งสามนี้ หยุดความอยากทั้งสามนี้ได้ หยุดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาได้ พอหยุดได้จิตก็เป็นนิพพานขึ้นมา เพราะว่าไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด
จิตที่ยังหยุดความอยากไม่ได้เรียกว่า วัฏจิต วัฏจักร วัฏจักรก็คือสงสารวัฏ ที่เกิดแก่เจ็บตายของสัตว์ นอกจากภพของมนุษย์แล้ว ก็ยังมีภพของเทวดา ของพรหม ภพของเดรัจฉาน ของเปรต ที่หลังจากที่เราตายจากการเป็นมนุษย์นี้แล้ว ก่อนที่เราจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ เรายังต้องไปเกิดเป็นเทวดา หรือเกิดในนรกก่อน แล้วแต่บุญหรือบาปที่เราได้ทำไว้ ว่าอันไหนมีกำลังมากกว่ากัน ถ้าสมมติว่าตอนนี้เราตายไปวันนี้ ถ้าบาปกับบุญที่มีอยู่ในใจนี้ อันไหนมีมากกว่า มันก็จะพาเราไป ถ้าบาปมีมากกว่า ก็จะดึงใจเราไปอบาย อบายก็มีอยู่สี่ภพด้วยกัน ภพของเดรัจฉานภพของเปตร ของอสุรกาย และภพของนรก เป็นที่ไปรับใช้ผลบาป เป็นเหมือนไปติดคุกติดตะราง เพราะเป็นที่ที่มีแต่ความทุกข์มากกว่าความสุข แต่ถ้าเราทำบุญมากกว่าทำบาป เวลาตายไปบุญจะดึงเราไปสวรรค์ชั้นต่างๆ มีสวรรค์ชั้นเทพ มีสวรรค์ชั้นพรหม และสวรรค์ที่สูงกว่านั้นคือสวรรค์ของพระอริยะเจ้า อันนี้ก็อยู่ที่บุญที่เราทำกัน บุญก็มีหลายชนิด นอกจากการทำบุญทำทานแล้ว ก็ยังมีบุญที่เกิดจากการไม่ทำบาป บุญที่เกิดจากการภาวนา ทำใจให้สงบ บุญที่เกิดจากการเจริญปัญญา ทำให้เกิดมีดวงตาเห็นธรรม อันนี้ก็จะพาให้เราได้ไปสู่สวรรค์ชั้นต่างๆ.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




“ บุญก็ทำให้ใจเราอิ่ม”
ถาม : ทำบุญโดยการบริจาคเงิน สิ่งของ คือทำมากได้มาก ขอให้พระอาจารย์ช่วยอธิบายอีกครั้งเจ้าค่ะ
พระอาจารย์ : ก็เหมือนกินข้าวแหละ กินมากก็อิ่มมาก กินน้อยก็อิ่มน้อย บุญก็ทำให้ใจเราอิ่ม เอ้าลองสังเกตดูทำบุญ 100 บาทกับทำบุญ 1000 บาท อันไหนจะอิ่มกว่ากัน ทดลองดู วันนี้ก็ได้นะ เมื่อกี้ทำไปเท่าไร ลองเพิ่มอีก 10 เท่าดูสิ ดูซิมันจะอิ่มขึ้นหรือเปล่า
ก็นั่นแหละความอิ่มใจไง ยิ่งเสียสละมากใจก็ยิ่งอิ่มมาก เพราะความตระหนี่มันหายไป ความโลภมันหายไป ความโลภมันทำให้เราไม่อิ่ม ทำให้เราหิว พอเราบริจาคเงินนี่มันกลับตัดความโลภไป แทนที่อยากจะได้เงิน กลับไม่อยากได้ อยากเสียเงิน พอได้เสียเงินปั๊บ แทนที่จะหิวกลับอิ่มขึ้นมา แต่ถ้าโลภนี้ ยิ่งโลภยิ่งได้เท่าไหร่ ยิ่งอยาก ยิ่งหิวใหญ่ ได้สิบก็อยากจะได้ร้อยใช่ไหม ได้ร้อยก็อยากจะได้พัน ถ้าเราให้สิบแล้วมันไม่อิ่มเราก็ให้ร้อย ถ้าให้ร้อยยังไม่อิ่มก็ให้สักพันนึง มันก็จะอิ่ม.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๑๑ พฤษจิกายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





...การจะทำอะไรให้สำเร็จได้
ทางพระพุทธศาสนา
ต้องมี..อธิษฐาน ความตั้งใจ
ต้องมี..สัจจะ ความจริงใจ
ต้องมี..วิริยะ ความพากเพียร
และมี..ขันติ ความอดทน
.
ถึงจะสามารถทำสิ่งที่ตัวเอง
ต้องการจะทำให้..สำเร็จลุล่วงไปได้
นี่คือ..อธิษฐานของ "ศาสนาพุทธ"
ไม่ได้ "ขอ"
.
แต่คนไทยเราก็..
ไปชอบเลียนแบบศาสนาอื่น
"ขอ" เขาขอพระเจ้า
เราก็ขอพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
.
ทั้งๆที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ไม่เคยสอนให้ขอ..สอนให้ทำ
ศาสนาพุทธ เขาเรียกศาสนา "ทำ"
"ทำงาน ทำทาน ทำศีล ทำภาวนา"
.
ไม่ใช่ ศาสนา..ขอ
เข้าใจไหม ศาสนา..ทำ
"ถึงต้องตั้งใจทำ ไม่ใช่ตั้งใจขอ"
แต่เราชอบเอา..อธิษฐานมาเป็น..ขอ
............................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 10/11/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี






"เวลาในชีวิตของเรามีไม่มาก
ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องไปพยายามสอนคนอื่น
เดินไปเดินมา ก็ให้สอนตัวเอง
เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น"
หลวงปู่ชา สุภัทโท





ผู้ปฏิบัติจิตภาวนา
ถ้าส่งจิตออกไปภายนอกร่างกายแล้ว
เป็นอันผิดมรรคภาวนา
เพราะบรรดาพระธรรมคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้าที่พระองค์
ได้ทรงสั่งสอนประกาศพระศาสนา
อยู่ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น
แนวการปฏิบัติไม่พ้นจากกาย
ดังนั้นกายจึงเป็นสนามรบ
กายจึงเป็นยุทธภูมิที่ปัญญาจะต้องค้น
เพื่อทำลายกิเลสและกองทุกข์
ซึ่งจิตของเราทำเป็นธนาคาร
เก็บสะสม(กิเลสและกองทุกข์)ไว้ภายใน
หอบไว้ หาบไว้ หวงไว้ จนนับภพนับชาติไม่ได้
สัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าชนิดใดในสังสารวัฎนี้
ล้วนแต่ติดอยู่กับกายนี้ทั้งสิ้น
ทำบุญทำบาปก็เพราะกายอันนี้
มีความรัก มีความชัง
มีความหวง มีความแหน ก็เพราะกาย อันนี้
เราสร้างทรัพย์สมบัติขึ้นมา ก็เพราะกายอันนี้
เราประพฤติผิดศีล ประพฤติผิดธรรม ก็เพราะกายอันนี้
ในการบวชพระ
พระอุปัชฌาย์ ที่จะให้ผ้ากาสายะ
แก่กุลบุตร ผู้เข้ามาขอบรรพชาอุปสมบท
ก็สอนให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย
เป็นส่วนหนึ่งที่เห็นได้โดยง่าย
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต





ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญา
ฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อ
ถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม
คืออาศัยการสำเหนียก
กำหนดพิจารณาธรรมอยู่
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ก็เป็นรูปธรรมที่มีอยู่ปรากฏอยู่
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ก็มีอยู่ปรากฏอยู่ ได้เห็นอยู่ ได้ยินอยู่
ได้สูด ดม ลิ้ม เลีย และสัมผัสอยู่
จิตใจเล่า......ก็มีอยู่
ความคิดนึกรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ
ทั้งดีและร้ายก็มีอยู่
ความเสื่อม ความเจริญ
ทั้งภายนอกภายใน ก็มีอยู่
ธรรมชาติอันมีอยู่โดยธรรมดา
เขาแสดงความจริง
คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ให้ปรากฏอยู่ ทุกเมื่อ
เช่นใบไม้มันเหลือง
หล่นร่วงลงจากต้น
ก็แสดงความไม่เที่ยงให้เห็น
ดังนี้เป็นต้น
เมื่อผู้ปฏิบัติมาพินิจพิจารณา
ด้วยสติปัญญาโดยอุบายนี้อยู่เสมอแล้ว
ชื่อว่าได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ
ทั้งกลางวันและกลางคืนแล..
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ตอบกระทู้